Shooting Destination

ท่องเที่ยวเมืองรอง : เยือนถิ่นบึงกาฬ ไปชม “วาฬสามตัว“

ถือเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สรรสร้างขึ้นมา โดยไม่มีการปรุงแต่งแต่อย่างใด สำหรับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดบึงกาฬ นั่นคือ “หินสามวาฬ” หลายๆ คนอาจจะแย้งมาว่า ไม่ใหม่แล้ว ไปมาหลายรอบแล้ววว ..แฮ่!! ก็ยังใหม่สำหรับผมล่ะนะครับ พึ่งจะได้มาเยือนเป็นครั้งแรก แต่บึงกาฬน่ะ มาหลายรอบแล้วครับ

ผมและทีมงาน เดินทางมาจากจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งพาหนะของเราก็ยังคงเป็น Toyota Avanza 1.5G A/T คันเก่งคันเดิมครับ ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้รับการปรับโฉมมาใหม่ โดยเฉพาะด้านหน้าที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน ว่าดูสวยงาม โฉบเฉี่ยวทันสมัยมาก กับไฟหน้าแบบสองชั้นแบบ LED มีช่องระบายอากาศสีดำขนาดใหญ่ ให้ความรู้สึกสปอร์ตและดุดันดีทีเดียว

Toyota Avanza 1.5G A/T มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร 102 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที ให้แรงบิดสูงสุด 134 นิวตันเมตรที่ 4,200 รอบต่อนาที ขับเคลื่อนด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ที่มีการปรับเซ็ตมาเป็นอย่างดี ทำให้การเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวลดีทีเดียว ซึ่งกับพลัง 102 แรงม้า อาจจะไม่ได้ทำให้การเร่งแซงปรู๊ดปร๊าดฉับไวเหมือนรถเครื่องใหญ่ๆ แรงม้าเยอะๆ ล่ะครับ

แต่กับการใช้งานของผม ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใดครับ เพราะไม่ใช่ว่าอยากจะแซงก็กดแซงเลยอะไรแบบนั้นครับ แต่ก็ต้องดูสภาพการจราจรด้วยว่าเอื้ออำนวยต่อการแซงแค่ไหน ถ้าถนนโล่งๆ ไม่มีรถสวนทางมา ผมก็เร่งแซงไปตามปกติ แต่ถ้าหากต้องการเร่งแซงให้รวดเร็วทันใจมากขึ้น ผมจะใช้วิธีชิฟท์เกียร์เองมาที่ตำแหน่ง 3 ส่วนตำแหน่ง 2 หรือ L ผมจะเอาไว้เมื่อต้องปีนป่ายทางชันหรือขับขึ้นเนินสูงครับ จะได้แรงบิดที่มากขึ้นเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยครับ

ที่บึงกาฬ ผมมีสมาชิกมาสมทบอีกหนึ่งครับ เป็นสายเที่ยว ตามไปถ่ายภาพด้วย แต่เป็นสายเที่ยวแบบบ้าหอบฟาง จะไปไหนก็แล้วแต่ จัดเต็มทั้งกระเป๋าเดินทาง กระเป๋ากล้อง และอุปกรณ์ถ่ายภาพ บางครั้งก็หอบหิ้วเต็นท์มาด้วย “เผื่อไม่มีที่นอน” เค้าว่าอย่างนั้นครับ แต่ถึงจะขนมาเยอะแค่ไหน Toyota Avanza 1.5G A/T ก็ไม่หวั่นครับ เพราะเป็นรถครอบครัวที่ออกแบบให้มี 7 ที่นั่งมาเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ถึงทีมเราจะนั่งกันแค่ 4 มีสัมภาระยังกับมาเป็น 10 ผมก็ใช้วิธีพับเบาะแถวสามเก็บ เท่านี้ก็ได้พื้นที่เก็บสัมภาระมากขึ้นอีกบานเบอะทีเดียว การพับเบาะก็ง่ายๆ ครับ โยกก้านปรับข้างๆ ตัวเบาะ ให้พนักพิงพับเก็บลงไปก่อน จากนั้นดึงก้านล็อกที่ใต้ที่นั่งเข้าหาตัว จากนั้นก็ยกเบาะพับไปติดพนักพิงของแถวสอง แล้วใช้สายรัดผูกรัดเอาไว้ กันเบาะโยกไป-มาเวลารถวิ่งเท่านั้นเองครับ

อย่างหนึ่งที่ผมชอบคือ เบาะนั่งที่โอบกระชับลำตัวค่อนข้างดีทีเดียว ซึ่งสำหรับการขับขี่ทางไกลแล้ว ถ้าเบาะนั่งไม่สบายล่ะก็ จะเกิดอาการเมื่อยล้าอยู่พอสมควรล่ะครับ แต่ครั้งนี้ ผมขับรถยาวกว่า 600 กิโลเมตร ก็ยังสบายๆ ไม่ได้รู้สึกปวดเมื่อยแต่อย่างใดครับ ซึ่งถ้าปรับเบาะและพวงมาลัยอยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดความเมื่อยล้าลงไปได้พอสมควรทีเดียวล่ะครับ

ส่วนเบาะด้านหลัง ผมเองไม่ได้นั่งยาวๆ เพราะส่วนมากจะทำหน้าที่เป็นสารถี แต่ก็มีโอกาสได้นั่งอยู่บ้าง ในยามที่ให้น้องๆ ในทีมช่วยขับ ซึ่งสำหรับสรีระไม่อ้วนมาก กับส่วนสูง 170 เซนติเมตร นั่งได้อย่างสบายๆ ครับ มีพื้นที่วางขาเยอะพอสมควร มีระบบปรับอากาศส่วนตัว ถึงจะปรับอุณหภูมิไม่ได้ แต่ก็สามารถปรับระดับของพัดลม ให้ความเย็นเผื่อไปถึงเบาะแถวสามได้อีกด้วยครับ

“หินสามวาฬ” มีลักษณะเป็นกลุ่มหินขนาดใหญ่เรียงกันอยู่สามก้อน ยื่นยาวออกไปเป็นหน้าผา ถ้ามองจากมุมไกลๆ หรือภาพถ่ายทางอากาศสูงๆ จะดูเหมือนมีวาฬสามตัวแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางหมู่มวลไม้เขียวชะอุ่ม จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกนั่นเองครับ โดยหินสามวาฬนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเขตพื้นที่อนุรักษ์เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงชมภู ซึ่งถ้าหากจะเรียกแบบง่ายๆ สั้นๆ ให้ชาวบ้านเข้าใจถึงจุดหมายรวมๆ จะเรียกเป็นภูสิงห์ครับ การเดินทางนั้นก็สะดวกทีเดียว มีป้ายบอกทาง และเป็นทางราดยางเข้าไปถึงจุดบริการนักท่องเที่ยวเลยล่ะครับ

การขึ้นไปชมหินสามวาฬนั้น จะต้องใช้บริการรถรับส่ง จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ในราคาเหมาคันละ 500 บาท เป็นรถกระบกยกสูงหน่อยนึงล่ะครับ เพราะเส้นทางบนเขาบางช่วงก็มีนํ้าขัง และเป็นเส้นทางขรุขระ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายสำหรับผู้ขับขี่ที่ยังไม่มีความชำนาญในการขับรถในสภาพเส้นทางแบบนั้น รวมทั้งยังเป็นเส้นทางที่แคบ และความไม่คุ้นเคยกับเส้นทางด้วย การกำหนดให้ใช้รถบริการ จึงเป็นวิธีที่สะดวกและปลอดภัยที่สุดครับ สำหรับใครที่มากันเองสองหรือสามคน ก็จะใช้วิธีแชร์รถกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ว่าอะไรนะครับ คิดราคาต่อหัวกันไปเลย แฟร์ๆ ดีครับ เพราะรถคันนึง นั่งได้สูงสุดถึง 10 คน ล่ะครับ แล้วเค้าก็จะพาแวะชมจุดท่องเที่ยวต่างๆ ระหว่างทาง ทั้งไปและกลับ ถึง 10 จุดทีเดียวครับ

เส้นทางเดินไปบนหลังวาฬตัวแรก ที่ว่ากันว่าเป็นวาฬพ่อ

ตามหลักฐานทางภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา คาดว่า “หินสามวาฬ” น่าจะมีอายุราวๆ 75 ล้านปี เป็นหินที่แยกตัวกันออกมาเป็น 3 ก้อนใหญ่ๆ 3 ขนาด วางเรียงขนานกัน ดูเหมือนวาฬ 3 ตัว พ่อ แม่ และลูก แหวกว่ายเคียงข้างกันไปครับ หลังจากที่เราติดต่อแจ้งความประสงค์ที่จะเดินทางไปยังหินสามวาฬ และจ่ายค่ารถกันเรียบร้อยแล้ว จากนั้นเราก็เตรียมนํ้าดื่มสำรองระหว่างทางไว้ด้วยเช่นกันครับ เพราะต้องใช้เวลาในการเที่ยวชมรวมๆ ทุกจุดประมาณ 4 ชั่วโมงครับ

เส้นทางเริ่มต้นนั้น ยังคงเป็นทางราดยาง แต่พอผ่านไปได้ซักประมาณหนึ่งกิโล ก็เริ่มเข้าสู่เส้นทางดิน และแคบหลายๆ ช่วง การขับสวนทางกันก็ต้องดูจังหวะของรถคันอื่นด้วยเช่นกันครับ ยิ่งเป็นวันหยุดที่มีนักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ รถวิ่งขึ้นลงก็จะเยอะตามไปด้วยครับ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่เป็นคนขับรถ ก็จะทำหน้าที่เป็นไกด์นำทางไปด้วยในตัว

แนวผาหินที่ทอดยาวไปตามพื้นที่ของภูสิงห์

จุดแรกที่เราไปคือ ลานธรรมภูสิงห์ ซึ่งมีก้อนหินใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายๆ กับสิงโตกำลังหมอบอยู่ ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อภูสิงห์ด้วยนั่นเอง ลานธรรมภูสิงห์ มีพระพุทธรูป “หลวงพ่อพระสิงห์” ให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้ขอพรกันด้วย “เดี๋ยวเราก็ไปต่อกันที่หินสามวาฬครับ” คนขับรถแจ้งมา ก่อนที่เราจะเดินทางต่อ โดยรถบริการจะไปหยุดอยู่ที่จุดชมวิวถํ้าฤาษี ซึ่งหลังจากที่ลงรถแล้ว เราก็เดินไปยังฝั่งซ้าย ซึ่งเป็นหินก้อนใหญ่ยื่นยาวออกไปเป็นแนวหน้าผา โดยจุดชมวิวถํ้าฤาษี ที่ว่ากันว่าก่อนนี้ มีฤาษีมาพักบำเพ็ญเพียรอยู่ที่นี่ จึงถูกเรียกว่าจุดชมวิวถํ้าฤาษี นั่นเอง

“วาฬใหญ่จริงๆ แล้วอีกสองตัวอยู่ตรงไหนล่ะ” เสียงนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่งที่ขึ้นมาพร้อมๆ กับกลุ่มของเรา “โน่นๆ อยู่ตรงโน้นอ่ะ” อีกคนพูดพร้อมๆ กับชี้มือไปยังก้อนหินอีกด้าน “เอ..มันต้องเรียงกันสามก้อนนะ” ผมรำพึงในใจ เพราะจากที่หาข้อมูลมา หินสามวาฬจะตั้งอยู่เรียงกันสามก้อน ไม่ใช่อยู่คนละที่แบบนี้ ..อ้าววววว…ไหนผมบอกว่าคนขับรถบริการเป็นไกด์นำเที่ยวในตัวด้วยหนิ แล้วทำไมไม่รู้ว่านี่คือหินสามวาฬหรือเปล่า ครับ!! เรามีไกด์มาด้วย แต่น้าเค้ากำลังง่วนกับการโทรเช็กว่า เค้าลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ที่ไหน เลยไม่ได้แนะนำจุดนี้กับเรานั่นเอง โอเคนะครับ..เคลียร์นะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า

ผมสังเกตว่ามีคนเดินกลับมาจากอีกด้านหนึ่ง เดินไปยังเส้นทางนั้น พอเดินเลยศาลาพักผ่อนมาซักพัก ก็เจอป้ายบอกทางไปยังหินสามวาฬ ผมเลยเรียกน้องทีมงานให้เดินมาทางนี้ อีกนัยหนึ่งก็จะให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นได้ยินด้วยเช่นกัน ว่าหินสามวาฬนั้น จะต้องเดินไปเส้นทางนี้ครับ

จากเส้นทางที่เป็นแนวป่า ก็ค่อยๆ เผยโฉมของก้อนหินขนาดใหญ่ทอดยาวออกไปด้านหน้า ซึ่งเราจะต้องเดินตามหินใหญ่นั้นไป เหมือนเดินไปบนหลังวาฬนั่นแหละครับ หินที่สามารถเดินไปได้มีสองก้อนหลักๆ คือ ก้อนด้านซ้ายสุด ที่สามารถเดินตรงไปได้เลย และก้อนกลางจะต้องเลาะลงไปตามทางเดินเล็กๆ ริมป่าไผ่ฝั่งขวามือของก้อนซ้าย ซึ่งจะสามารถถ่ายภาพเพื่อนๆ หรือนางแบบของเราที่อยู่บนหินก้อนแรกได้สบายๆ ถือเป็นมุมสุดฮิตเวลาที่มาเที่ยวที่หินสามวาฬนี่ล่ะครับ

วาฬที่แหวกว่ายอยู่ท่ามกลางหมู่มวลไว้เขียวขจี

บนก้อนหินทั้งสองก้อน จะไม่มีราวกั้น ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ควรเดินไปริมๆ ขอบก้อนหินให้มากนักครับ เพราะเป็นแนวหน้าผาสูงชัน ซึ่งอาจจะลื่นตกลงไปได้นั่นเองครับ เราถ่ายภาพกันอยู่นานพอสมควรทีเดียว ยังดีที่ช่วงนั้นแดดไม่จัดมากนัก เป็นช่วงครึ้มฟ้า ครึ้มฝน แต่ก็ซึมซับเอาไอร้อนมาได้อยู่พอสมควรล่ะครับ นี่ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน ก็น่าจะระอุแสบผิวเอาเรื่องทีเดียวล่ะครับ

กำแพงหินภูสิงห์ที่เกิดจากวิถีของธรรมชาติปั้นแต่งขึ้นมาอย่างน่ามหัศจรรย์

ออกจากหินสามวาฬ เราแวะเที่ยวในจุดที่ไม่ต้องเดินไกลๆ เพราะปกติแล้ว เรามักจะใช้เวลามากกว่านักท่องเที่ยวทั่วๆ ไป เนื่องจากต้องถ่ายภาพประกอบหลายๆ มุมด้วย จึงต้องใช้เวลามากกว่าปกตินั่นเองครับ จุดที่ต้องเดินไกลๆ ใช้เวลาเยอะๆ เลยต้องตัดออกไปครับ เราวนกลับมาที่กำแพงภูสิงห์เป็นจุดแรก ซึ่งกำแพงภูสิงห์นั้น เป็นผนังของก้อนหินที่เกิดเป็นลวดลายรูปทรงแปลกตาจากการกัดเซาะของลมและนํ้าเป็นเวลานานๆ ครับ และหินช้าง ซึ่งเป็นแนวหน้าผายาวพอสมควร และมีหินก้อนใหญ่ที่มีรูปร่างเหมือนกับหัวช้างที่มาของชื่อนั่นเองครับ จุดถัดมาเป็นหัวใจภูสิงห์ และสร้างร้อยบ่อ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน หัวใจภูสิงห์ เป็นหินที่แตกหัก และหล่นลงมาติดอยู่ระหว่างซอกหิน ซึ่งเจ้าหินก้อนนั้น ก็มีรูปทรงคล้ายๆ หัวใจ จึงเป็นที่มาของชื่อล่ะครับ

ประตูภูสิงห์ จุดถ่ายภาพยอดฮิตของนักท่องเที่ยว

สร้างร้อยบ่อ บ่อน้ำบนลานหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ส่วนสร้างร้อยบ่อ เป็นบ่อนํ้าเล็กๆ หลายๆ หลุม หลายๆ บ่อ ที่อยู่บนลานหิน ซึ่ง “สร้าง” ในภาษาอิสานก็หมายถึงบ่อนํ้านั่นเองครับ โดยบ่อนํ้าบนลานหินนั้น มีทั้งขนาดเล็ก และใหญ่ หลายๆ บ่อยังคงมีนํ้าขังอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งนํ้าดื่ม นํ้าใช้ของพระที่ธุดงค์ หรือพระที่มาจำวัดอยู่ที่ศาลาตรงทางเดินเข้าไปครับ จุดสุดท้ายที่เราแวะคือ ประตูภูสิงห์ ซึ่งมีลักษณะเป็นช่องระหว่างก้อนหินใหญ่ๆ สองก้อน สามารถเดินออกไปชมวิวได้ครับ

น้ำตกถ้ำพระ แหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลจากหินสามวาฬนัก สามารถพ่วงเป็นทริปเดียวกันได้เลย

น้ำตกถ้ำพระในฤดูน้ำหลากนับว่าเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมต่างๆ มากมาย

ระหว่างเดินทางกลับลงมา ผมและน้องทีมงานที่นั่งตรงกระบะหลัง ต้องคอยหลบเจ้าบุ้งขนฟูๆ สีดำ ที่ห้อยตัวลงมาจากต้นไม้สูงใหญ่เป็นระยะๆ ตามเส้นทางรถเหมือนไทรย้อยอะไรแบบนั้นครับ ซึ่งมีบางตัวที่เกาะโดนตัวผมด้วย ครั้งแรกคิดว่าเราไปชนเค้าเองระหว่างที่นั่งรถ แต่จากการสังเกตตามแนวเส้นทาง หลายๆ ช่วง สรุปได้ว่า เค้าจะทิ้งตัวลงมาจากใยที่ชักอยู่ ลงมาที่รถครับ เราไม่ได้ไปชนเค้าหรอก ซึ่งสัณนิษฐานว่าอาจจะเป็นธรรมชาติของเค้า ที่ต้องการย้ายจากถิ่นเดิม โดยอาจจะเป็นการทิ้งตัวลงมาเกาะกับสัตว์ที่เดินผ่านไปมา เพื่ออาศัยไปด้วยประมาณนั้น แต่กับปริมาณที่เยอะอยู่พอสมควร ก็ทำให้เราขนลุก ขนพองอยู่ไม่น้อยล่ะครับ ลงมาถึงพื้นล่างก็ต้องสำรวจกันยกใหญ่ว่ามีหลงเหลืออยู่ตามเสื้อผ้าบ้างหรือเปล่า ..กื่ย!!!!

เมฆดำเริ่มเคลื่อนคล้อยเข้ามาปกคลุมเมฆหม่นๆ เป็นสัญญานว่าฝนกำลังจะมาแล้ว ผมและทีมงานเก็บของขึ้นรถ ก่อนที่จะเคลื่อนตัวออกมาจากพื้นที่อนุรักษ์เขตป่าสงวนแห่งชาติภูสิงห์มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองบึงกาฬเพื่อหาที่พัก ฝนเริ่มลงหนาเม็ด บรรยากาศเริ่มมืดลง แต่ไฟหน้า LED ส่องสว่างขับไล่ความมืดไปจากพื้นถนนช่วยให้มองทางได้ชัดเจนครับ

ทริปหน้า เราจะเดินทางลงไปเยือนถิ่นใต้กันบ้าง ไปจังหวัดระนอง และชุมพร ซึ่งทั้งสองจังหวัดก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ส่วนจะเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นไหนนั้น ติดตามได้ฉบับหน้าครับ

..สวัสดีครับ…

การเดินทาง

จากมุกดาหาร ใช้เส้นทางหมายเลข 212 เลาะริมโขง ผ่านจังหวัดนครพนมไปยังตำบลโคกก่อง อำเภอเมือง และเลี้ยวเข้าเส้นทางหมายเลข 3007 ไปประมาณสามกิโลเมตรครึ่ง และเลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทางไปยังจุดบริการนักท่องเที่ยวภูสิงห์ได้เลย

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/