Shooting Destination

ท่องเที่ยวเมืองรอง : เยือนถิ่นวีรชนบางระจัน

“ศึกบางระจัน จำให้มั่นพี่น้องชาติไทย เกียรติประวัติสร้างไว้แก่ชนชาติไทยรุ่นหลัง แม้ชีวิต ยอมอุทิศคราชาติอับปาง เลือดไทยต้องมาไหลหลั่งทาทั่วพื้นแผ่นดินทอง” เพลงปลุกใจ กระตุ้นเลือดรักชาติที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ จากวิชาเรียนประวัติศาสตร์ ที่เขียนถึงชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่าที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ก่อนการเสียกรุงครั้งที่ 2 ซึ่งเรื่องราวของชาวบ้านบางระจันนั้น ถูกนำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์หลายๆ เวอร์ชั่นให้ได้ชมกันในยุคปัจจุบันนั่นเอง

ผมและทีมงานยังคงใช้รถยนต์ Toyota Ativ รุ่น S Plus (S+) คันเก่ง คันเดิมในการเดินทางไปเยือนถิ่นวีรชนบางระจัน โดยเป็นทริปต่อเนื่องจากการเดินทางไปเที่ยวอ่างทอง จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกันนั่นเอง โดย Toyota Ativ มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 16 วาวล์ รหัส 3NR-FE4 Dual VVT-i ความจุ 1.2 ลิตร ให้กำลัง 86 แรงม้า ที่ 6000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 108 นิวตัน-เมตร ที่ 4000 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT-i ซึ่งตอบสนองการขับขี่ได้ดีเยี่ยม ถึงแม้ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ถูกวางตัวอยู่ในกลุ่ม ECO Car ที่เน้นในด้านความประหยัดเป็นหลักนั่นเอง

ในด้านของความปลอดภัย Toyota Ativ ยังจัดเต็มไปกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และความปลอดภัยครบครัน โดยเฉพาะถุงลมนิรภัยที่ให้มาถึง 7 ตำแหน่ง ครอบคลุมทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า รวมทั้งผู้โดยสารด้านหลังด้วยเช่นกันครับ นอกจากนี้ยังได้รับการปรับเซ็ตช่วงล่างมาได้เป็นอย่างดี ให้ความรู้สึกถึงความนุ่มหนึบดีทีเดียว ในช่วงที่ถนนว่างๆ นั้น ผมลองทดสอบเปลี่ยนเลนอย่างกะทันหัน ตัวรถก็มีการยึดเกาะถนนที่ดีเยี่ยม อีกทั้งเมื่อต้องขับผ่านเส้นทางที่ขรุขระ ไม่ราบเรียบบ้าง ก็ให้ความนุ่มนวล ซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีและนั่งกันอย่างสบายๆ ทีเดียวครับ

จุดเด่นหนึ่งของ Toyota Ativ ที่ผมชอบคือระบบเกียร์ อัตโนมัติแบบ CVT-i ที่ออกแบบให้เลือกใช้ได้ทั้งที่ตำแหน่ง D ซึ่งเป็นตำแหน่งเกียร์สำหรับการขับขี่ปกติ, S สำหรับการขับขี่ที่ต้องการลดความเร็วรถแบบ Engine Breake และ B สำหรับความต้องการ Engine Breake ที่มากขึ้น สำหรับการขับขี่ที่จะต้องลงเนิน หรือไต่เขาสูงชันนั่นเองครับ ซึ่งตำแหน่งเกียร์ ทั้ง S และ B มีส่วนช่วยให้การควบคุมรถมั่นคงมากขึ้น และทำให้การขับขี่ปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย โดยรถจะปรับรอบเครื่องยนต์ให้สูงขึ้น และจะได้แรงบิดที่มากขึ้นด้วย สำหรับการขับขี่ในเส้นทางปกติ ผมจะใช้ตำแหน่ง S สำหรับการเร่งแซงให้ตัวรถตอบสนองได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งรอบเครื่องจะอยู่ที่ประมาณ 3500 รอบต่อนาที และถ้าหากเป็นการขับขี่ที่จะต้องขึ้นเนินเขาที่สูงชันมากๆ ผมจึงจะปรับชิฟท์มาที่ตำแหน่ง B ครับ รอบเครื่องจะถูกปรับขึ้นไปประมาณ 4500-5000 รอบต่อนาที เพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยมากขึ้นนั่นเองครับ

พวงมาลัยเป็นแบบปรับไฟฟ้า EPS ปรับความหน่วงตามความเร็วของรถ มีนํ้าหนักหน่วงมือเมื่อความเร็วรถสูงขึ้นแต่ค่อนข้างหมุนลื่น เมื่อใช้งานในเมืองที่ความเร็วตํ่าให้ความคล่องตัวในยามขับขี่ นอกจากนี้ยังมีปุ่มปรับควบคุมเครื่องเสียง และรับโทรศัพท์จากพวงมาลัยได้อีกด้วย เป็นรถยนต์ที่ขับสนุกทั้งในเมืองและตามต่างจังหวัดที่มีถนนหนทางเป็นทางโค้งมากมายด้วยเช่นกันครับ

จากอ่างทองผมและทีมงานมุ่งหน้าไปยังตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน ซึ่งเปิดให้บริการเฉพาะในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยตัวตลาดจะตั้งอยู่ข้างๆ วัดโพธิ์เก้าต้น หรือตัวตลาดใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดโพธิ์เก้าต้นนั่นเองครับ โดยวัดโพธิ์เก้าต้น หรือชื่อเดิมว่าวัดไม้แดง เคยเป็นสถานที่ที่วีรชนชาวบ้านบางระจันเคยใช้ตั้งค่ายเป็นที่มั่นในการต่อต้านกองทัพพม่าที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2308

บรรยากาศของตลาดย้อนยุค อุดมไปด้วยของกินทั้งคาวและหวาน

ปลาช่อนแดดเดียว สดๆ ใหม่ๆ จริงๆ

ข้าวโพดคลุกน้ำตาล ตกแต่งให้ดูสวยงามน่ากิน แต่ราคาย่อมเยา

จากวิชาประวัติศาสตร์ที่เคยได้รํ่าเรียนมา กล่าวไว้ว่า ครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2307 กองทัพพม่า ซึ่งนำโดยแม่ทัพเนเมียวสีหบดี ได้ยกทัพมาเพื่อตีกรุงศรีอยุธยา โดยเข้ามาทางด้านด่านระแหง แขวงเมืองตาก ทำการกวาดต้อนผู้คนและเสบียง เพื่อตัดกำลังของกรุงศรีอยุธยาจากทางหัวเมืองเหนือ ในขณะที่แม่ทัพมังมหานรธา ตีเข้ามาทางหัวเมืองใต้ และมีเป้าหมายที่จะมาสมทบกันที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2308 กองทัพของเนเมียวสีหบดีได้มาตั้งทัพอยู่ที่เมืองวิเศษชัยชาญ และจัดให้ทหารพม่ากองหนึ่งออกเที่ยวกวาดต้อนผู้คน ทรัพย์สิน และเสบียง จากชาวเมืองวิเศษชัยชาญ ทำให้ราษฎรต่างโกรธแค้นต่อการกดขี่ข่มเหงของทหารพม่า จึงแอบสมคบคิดกันตั้งกองกำลังเพื่อต่อสู้ขึ้นมา

ค่ายบางระจันเกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้นำชาวบ้าน 11 คน ที่หนีทัพพม่ามาฝึกฝนกองกำลังอยู่ที่บ้านบางระจัน และสร้างเป็นค่ายขึ้นมาตั้งรับกองกำลังพม่า โดยผู้นำชุดแรกคือ นายแท่น, นายโชติ, นายอิน และนายเมือง ที่มาจากวิเศษชัยชาญ จากนั้นก็ตามมาสมทบอีก 7 คน คือ ขุนสรรค์, พันเรือง, นายทองเหม็น, นายจันหนวดเขี้ยว, นายทองแสงใหญ่, นายดอกไม้ และนายทองแก้ว ต่างคน ต่างก็มีฝีมือในการรบในแต่ละด้าน และฝึกชาวบ้านให้มีความชำนาญการรบมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยัง มีพระอาจารย์ธรรมโชติ พระผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของอาคมและยาสมุนไพร ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านอีกด้วย

วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันที่ได้รับการกล่าวขานกันเป็นอย่างมากคือ สามารถป้องกันการโจมตีจากกองทัพพม่าได้ถึง 7 ครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงและสูญเสียค่อนข้างมาก เป็นการต่อสู้ครั้งที่ 4 โดยสุรินจอข่อง นำทัพทหารพม่ากว่า 1000 คน และทหารม้าอีก 60 ยกทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่บ้านห้วยไผ่ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง) ทางด้านค่ายบางระจันก็ได้จัดเตรียมกระบวนทัพสู้พม่า โดยจัดให้นายแท่นเป็นนายทัพคุมและพันเรืองเป็นปีกซ้าย ซึ่งอาวุธของชาวบางระจันก็มีทั้งปืนคาบศิลาบ้าง ปืนของพม่าและกระสุนดินดำของพม่า ซึ่งยึดได้จากการรบครั้งก่อนๆ บ้าง ส่วนที่เหลือ ก็เป็นอาวุธตามแต่จะหาได้ เช่น ขวาน เคียว หรือมีดพร้า เป็นต้น

กำลังพลของชาวบ้านบางระจันยกไปตั้งที่คลองสะตือสี่ต้น ซึ่งอยู่คนละฟากฝั่งคลองกับทัพพม่า ต่างฝ่ายต่างยิงตอบโต้กัน ฝ่ายชาวบางระจันที่ชำนาญภูมิประเทศกว่า ได้ขนไม้และหญ้ามาทำเป็นสะพานข้ามคลอง ข้ามไปรบพม่าแบบประชิดตัว ทหารพม่าล้มตายเป็นอันมาก ตัวสุรินทรจอข่องผู้นำทัพพม่า ถูกพลทหารไทยฟันตายในสนามรบ ส่วนนายแท่นผู้นำทัพไทยก็ถูกปืนที่เข่าบาดเจ็บสาหัสจนต้องหามออกมา

จากการพ่ายแพ้ถึง 7 ครั้ง ทำให้แม่ทัพใหญ่ของพม่าเกิดความวิตกเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านบางระจันมีกองกำลังที่เข้มแข็งขึ้นทุกที และไม่มีใครอาสาเป็นนายทัพอีกด้วย จนกระทั่งมีชาวรามัญที่เคยอยู่เมืองไทยมานาน รู้จักนิสัยคนไทยและภูมิประเทศดี ทำราชการอยู่กับพม่าจนได้รับตำแหน่งสุกี้ หรือพระนายกอง ได้รับอาสาจะขอไปตีค่ายบางระจัน เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคุมพล 2,000 พร้อมทั้งม้าและสรรพาวุธอีกมากมาย

สุกี้ดำเนินการศึกอย่างชาญฉลาด เมื่อเวลาเดินทัพก็ให้ตั้งค่ายรายไปตามทาง 3 ค่าย และใช้วิธีรื้อค่ายด้านหลังนำไปสร้างข้างหน้าสลับไปเรื่อยๆ ใช้เวลาถึงครึ่งเดือนจึงเดินทัพมาจนใกล้ค่ายบางระจัน สุกี้ใช้วิธีตั้งมั่นรบอยู่ในค่าย เพราะรู้ว่าทหารไทยเชี่ยวชาญการรบกลางแจ้ง ชาวค่ายบางระจันนำกำลังเข้าตีค่ายพม่าหลายครั้งไม่สำเร็จ แต่กลับทำให้เสียไพร่พลไปกับกลศึกนี้เป็นจำนวนมาก วีรกรรมหนึ่งที่ถูกเล่าขานต่อๆ กันมา คือนายทองเหม็นขี่ควายนำทัพชาวบางระจันออกไปสู้รบกับทหารของสุกี้ จนตัวถลำเข้าไปอยู่ท่ามกลางวงล้อมของทหารพม่า ถึงแม้ว่าจะมีฝีมือในการรบมาก แต่ก็สู้พลังของทหารที่รุมล้อมอยู่มากมายไม่ได้ จนถูกทุบตีจนสิ้นชีวิตในสนามรบ ว่ากันว่า สาเหตุที่นายทองเหม็นถูกทุบตีจนตาย ก็เพราะเป็นผู้ที่มีวิชาคงกระพันชาตรี ฟันแทงไม่เข้า การที่จะทำให้ถึงชีวิต ก็ต้องใช้การทุบตีจนตายเท่านั้นครับ

ในวิชาประวัติศาสตร์กล่าวถึงชาวบ้านบางระจันไว้ตอนหนึ่งว่า เคยทำหนังสือไปขอปืนใหญ่จากกรุงศรีฯ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกปล้นไปกลางทาง หรือถ้าหากแพ้ศึก ปืนใหญ่ก็จะถูกยึดเป็นของพม่า แต่พระยารัตนาธิเบศร์ไม่เห็นด้วย จึงออกเดินทางไปยังค่ายบางระจัน และทำการเรี่ยไรเครื่องภาชนะทองเหลืองทองขาวจากพวกชาวบ้าน เพื่อนำมาหล่อปืนใหญ่ โดยหล่อได้ 2 กระบอก แต่ปืนก็เกิดร้าว ใช้การไม่ได้

เมื่อขาดที่พึ่งทั้งจากผู้นำทัพที่เสียชีวิตในสนามรบ และขาดการช่วยเหลือจากทางการ ทำให้ชาวบ้านบางระจันก็เสียกำลังใจมากขึ้น หลายๆ ครอบครัวก็หลบหนีออกจากค่าย ผู้คนในค่ายก็เหลือน้อยลง อีกทั้งพม่าก็ระดมยิงปืนใหญ่ถล่มค่ายบางระจัน จนในที่สุดก็สามารถตีค่ายใหญ่บางระจันได้ ในวันจันทร์ แรม 2 คํ่า เดือนแปด ปีจอ พ.ศ. 2309 หรือตรงกับวันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2309 รวมเวลาที่ชาวบ้านบางระจัน ยืนหยัดต่อสู้กับทหารพม่าเป็นเวลาทั้งสิ้น 5 เดือน

แบบจำลองวิหารเดิมของวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ

เมื่อชนะศึก พม่าได้กวาดต้อนชาวไทยที่ยังเหลืออยู่ในค่าย กลับไปยังค่ายพม่า ส่วนพระอาจารย์ธรรมโชติซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์รวมใจ ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านบางระจันสู้รบกับพม่าอย่างองอาจห้าวหาญนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าท่านมรณภาพอยู่ในค่าย หรือถูกกวาดต้อนไปยังค่ายพม่า หรือหลบหนีไปได้ครับ

พ่อค้า แม่ขาย ก็จะแต่งตัวแบบชาวค่ายบางระจัน

ผมและทีมงานเดินถ่ายภาพ พร้อมหาของกินในตลาด ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ตรงที่พ่อค้า แม่ขาย จะแต่งตัวย้อนยุคกลับไปยังยุคบางระจันล่ะครับ บางคนก็มาพร้อมเสื้อยันต์สีแดงโดดเด่น ส่วนของกินก็มีนานาสารพัดทั้งคาวและหวาน ระหว่างที่เดินๆ กันอยู่ ก็จะมีเสียงเชิญชวนให้แวะชิมกันก่อน ไม่ซื้อไม่หา ไม่ว่าอะไรประมาณนั้นครับ ผมว่าถ้าแวะชิมทุกร้านนี่ มีจุกจนต้องคลานออกมาแน่ๆ ฮ่า ฮ่า!!

ค่ายบางระจันที่จำลองขึ้นมาภายในบริเวณวัดโพธิ์เก้าต้น ที่เป็นแนวค่ายเดิม

นักรบบางระจันยุคปัจจุบัน ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยว และถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

ตรงประตูระหว่างตลาดกับวัด ก็จะสร้างเป็นประตูค่าย พร้อมนักรบบ้านบางระจันให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วยครับ เดินลึกเข้าไปในบริเวณวัด ด้านติดริมคลอง จะมีศาลของนักรบบางระจันหลายๆ ท่านสร้างเอาไว้ ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงวีรกรรมที่หาญกล้า รวมทั้งมีแบบจำลองของค่ายให้รำลึกถึงบรรยากาศยุคนั้นด้วยเช่นกัน

ผมเดินถ่ายภาพมาจนถึงวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ ที่มีผู้คนมากราบไหว้ขอพรจากท่านไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในวิหารเดิมที่ท่านจำพรรษาอยู่ ใกล้ๆ กันนั้น เป็นสระนํ้าใหญ่ที่ว่ากันว่าเป็นสระนํ้ามนต์ศักดิ์สิทธิ์ ที่พระอาจารย์ธรรมโชติได้ปลุกเสกนํ้ามนต์เพื่อให้ชาวบ้านบางระจันได้ดื่มกินเพื่อความเป็นศิริมงคลก่อนออกไปสู้รบ หลายๆ ท่านอาจจะทำหน้างงๆ ว่านํ้ามนต์ ทำไมไม่ปลุกเสกในขันเหมือนวัดทั่วๆ ไป คำตอบคือ เนื่องจากว่าทหารไทยในค่ายบางระจันมีจำนวนมาก การทำนํ้ามนต์ให้เพียงพอกับความต้องการ จึงต้องทำเป็นจำนวนมากๆ ท่านจึงใช้วิธีปลุกเสกนํ้าทั้งสระนั่นเองครับ

ผมสังเกตเห็นว่า มีผู้คนหาบนํ้าจากคลอง มาเติมลงในสระอยู่ไม่ขาดสาย สอบถามได้ความว่า เป็นการแก้บน และเป็นการสร้างกุศลนั่นเองครับ โดยชาวบ้านที่มีเรื่องทุกข์ใจ ก็จะมาบนบานศาลกล่าวกับสระนํ้าศักดิ์สิทธิ์ เมื่อสำเร็จตามที่ประสงค์แล้ว ก็จะมาแก้บนโดยการหาบเอานํ้ามาเติมลงในบ่อนั่นเอง หรือบางคนที่ไม่สะดวกในการหาบเอง ก็มีผู้รับอาสาหาบแทนให้ แต่จะต้องติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่ของวัดครับ

อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานวีรชนบ้านบางระจัน

บรรยากาศภายในอาคารศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ฯ

ฝั่งตรงข้ามกับวัดโพธิ์เก้าต้น เป็นอุทยานวีรชนค่ายบางระจัน และอาคาร ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาตร์วีรชนค่ายบางระจัน ที่แสดงถึงวีรกรรมอันกล้าหาญและวิถีชุมชนในยุคนั้น รวมทั้งอนุสาวรีย์วีรชน ที่สร้างโดยกรมศิลปากร เป็นรูปปั้นของผู้นำทั้ง 11 ท่านนั่นเอง รอบๆ อนุสาวรีย์ เป็นสวนสาธารณะที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อน หรือปั่นจักรยานได้ โดยเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น. ครับ

เปลวแดดระยิบระยับที่แผดเผาอย่างไร้ความปราณี ทำเอาผมและทีมงานอ่อนล้าไปพอสมควรทีเดียว แต่เมื่อกลับมาที่รถ และได้ซึมซับเอาความเย็นจากเครื่องปรับอากาศของ Toyota Ativ ก็ช่วยให้เราสดชื่นขึ้นมากทีเดียว จริงๆ ถ้าได้งีบด้วยอีกหน่อย ก็จะเยี่ยมยอดเลยล่ะ ..ฮ่า!

ทริปหน้า ผมและทีมงาน จะเดินทางไปยังแดนอิสาน ไปสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ขึ้นมาจากระยะเวลายาวนานหลายร้อย หลายล้านปี ที่จังหวัดมุกดาหารและบึงกาฬ ส่วนพาหนะก็ New Toyota Avanza สดใหม่ป้ายแดงล่ะครับ สมรรถนะและฟิลลิ่งในการขับขี่จะเป็นอย่างไรบ้าง ติดตามได้ฉบับหน้าครับ ..สวัสดีครับ..


การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ต่อเนื่องไปสาย 32 มุ่งหน้าไปยังจังหวัดอ่างทอง เลี้ยวซ้ายที่เส้นทางหมายเลข 334 เข้าไปยังตัวเมืองอ่างทอง ต่อเนื่องไปยังเส้นทางหมายเลข 3064 ไปจนถึงเทศบาลโพธิ์ทอง เลี้ยวขวาไปยังเส้นทางหมายเลข 3454 ขับไปจนถึงเทศบาลท่าข้าม เลี้ยวซ้ายไปยังเส้นทางหมายเลข 3032 ขับตามเส้นทางไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ตลาดย้อนยุคและวัดโพธิ์เก้าต้นจะอยู่ด้านซ้ายมือ ส่วนอุทยานวีรชนค่ายบางระจัน จะอยู่ด้านขวามือ

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/