BASIC

รู้จักกับ Video Functions

กล้องดิจิตอลในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น DSLR หรือ Mirrorless รวมทั้งกล้องคอมแพคล้วนให้ความสำคัญกับการบันทึกวิดีโอ เพราะวิดีโอได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้าง Content ที่น่าสนใจในสื่อโซเชียล รวมทั้งการบันทึกวิดีโอในระดับอาชีพสำหรับการตัดต่อ ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า กล้องดิจิตอลจะมีเมนูการบันทึกวิดีโอรูปแบบต่างๆ มาให้มากกว่าเมื่อ 5-6 ปีก่อน โดยเฉพาะกล้องระดับ Advanced หรือระดับ Professional ก็จะมีฟังก์ชั่นในส่วนวิดีโอมากขึ้น หลายๆฟังก์ชั่นอาจสร้างความมึนงง สับสน ให้นักถ่ายภาพว่ามันคือระบบอะไร มีไว้ทำอะไร ลองมาดูกันเลยครับ

Exposure Mode ในกล้องดิจิตอลระดับ Advanced หรือระดับโปร จะสามารถบันทึกวิดีโอได้ทั้งโหมด P, A , S และ M โดยเลือกได้จากเมนูนี้ หากต้องการความสะดวก โหมด P จะช่วยให้คุณบันทึกวิดีโอได้ง่ายๆ กล้องจะจัดการค่าแสงให้อัตโนมัติ แต่ข้อเสียคือจะไม่สามารถเปลี่ยนรูรับแสง หรือ ความเร็วชัตเตอร์ จะเป็นค่าที่กล้องเลือกให้ และเมื่อมีการเคลื่อนกล้องไปในฉากที่มีค่าแสงแตกต่างกันมากๆ ค่าแสงบนภาพจะเปลี่ยนไปมา ทำให้ภาพดูวูบวาบน่ารำคาญ และเมื่อถ่ายย้อนแสงซับเจกต์จะมืด ต้องใช้ระบบชดเชยแสงช่วย ซึ่งในขั้นตอนการชดเชยแสงจะทำให้ภาพดูวูบวาบจากมืดมาสว่าง ในการบันทึกวิดีโอของมืออาชีพจึงมักจะไม่ใช้โหมด P แต่มักจะใช้โหมด M เพราะสามารถควบคุมค่าแสงให้คงที่ตอลดคลิป แม้แพลนกล้องไปจุดที่สว่างหรือมืด กล้องจะไม่ปรับแสงตาม แสงน้อยภาพก็จะมืดลงตามปกติ และโหมด M จะสามารถเลือกความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงที่ต้องการได้ ส่วนโหมด S และ A ก็จะให้ผลคล้าโหมด P แตกต่างตรงที่โหมด S ผู้ใช้จะคุมความเร็วชัตเตอร์ได้ ส่วนโหมด A ผู้ใช้จะคุมรูรับแสงที่ต้องการได้

File format เป็นเมนูเลือกรูปแบบของไฟล์วิดีโอที่บันทึก ซึ่งกล้องแต่ละยี่ห้อจะมีรูปแบบไฟล์ให้เลือกแตกต่างกันบ้าง บางรุ่นจะเลือกได้ระหว่าง MPEG4 กับ AVCHD บางยี่ห้อจะให้เลือกระหว่าง XAVCS กับ AVCHD เป็นต้น รูปแบบไฟล์ที่ใช้ในกล้องดิจิตอลมีดังนี้

MPEG4 เป็นรูปแบบการบีบอัดไฟล์ เพื่อให้มีขนาดเล็กลง โดยการนำความแตกต่างของข้อมูลในแต่ละภาพมาบีบ โดย MPEG4 จะมีการเข้ารหัสไฟล์ดีกว่า MPEG1 และ MPEG2ให้คุณภาพสูง โดยขนาดไฟล์ค่อนข้างเล็ก รองรับสื่อวิดีโอในปัจจุบันได้ทุกรูปแบบ

MOV เป็นไฟล์ที่พัฒนาโดยบริษัท Apple สามารถเปิดได้ด้วยโปรแกรม Quick Time โดยสามารถใช้งานได้ทั้ง Mac และ Windows คุณภาพขึ้นอยู่กับบิตเรทและการบีบอัดข้อมูลที่ใช้

AVCHD เป็นฟอร์แมตที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับการบันทึกวิดีโอความคมชัดสูง ไปให้กับสื่อ เช่น เครื่องเล่น DVD ที่บันทึกได้ ฮาร์ดดิสก์หรือไดร์ฟ และเมมโมรี่การ์ด โดยใช้การเข้ารหัสสัญญาณที่มีประสิทธิภาพสูง ฟอร์แมต MPEG4 AVC / H.264 ในการบีบอัดข้อมูลภาพวิดีโอ และระบบ Dolby Digital Linear PCM สำหรับการบีบอัดข้อมูลเสียง แต่ AVCHD จะมีข้อจำกัดในการดูภาพกับสื่อดิจิตอลทั่วๆ ไป ความนิยมในการใช้งานจึงไม่มากนัก

XAVC S เป็นฟอร์แมตที่โซนี่พัฒนาเพื่อการบันทึกวิดีโอคุณภาพสูงจนถึงระดับ 4K โดยขนาดไฟล์ ไม่ใหญ่มากนัก แต่ให้คุณภาพสูง รูปแบบการบันทึกจะเป็น MPEG4 ที่มีการเข้ารหัสเฉพาะ แต่ยังรองรับการดูภาพกับสื่อดิจิตอลส่วนใหญ่

REC Quality คุณภาพในการบันทึกวิดีโอ มักจะใช้ในการเลือกคุณภาพการบันทึกของความละเอียดวิดีโอ เช่น 4K , Full HD , HD , VGA เป็นต้น บางรุ่นจะเลือกเฟรมเรท (ความเร็วในการบันทึกภาพ / วินาที) และบิตเรท (ปริมาณข้อมูลทีถูกบันทึกในแต่ละวินาที) ไปด้วย ในการใช้งานผู้ใช้จึงต้องเลือกความละเอียดของวิดีโอก่อนเป็นลำดับแรก ว่าจะบันทึกด้วยความละเอียด 4K หรือ Full HD ถ้าต้องการไฟล์ความละเอียดสูงก็เลือก 4K แต่ถ้าอุปกรณ์ตัดต่อความแรงยังไม่สูงพอก็ควรเลือก Full HD เพื่อให้สามารถทำงานได้ โดยลดทอนคุณภาพลงเล็กน้อย ส่วนความละเอียดระดับ HD และ VGA นั้น ไม่ควรใช้แล้วในปัจจุบัน เพราะความละเอียดตํ่าเกินไป ส่วนเฟรมเรทนั้น ระหว่าง 60p กับ 30p นั้น ถ้าคุณต้องการไฟล์ที่มีการเคลื่อนไหวนุ่มนวล ราบเรียบ ไม่กระตุก แม้การเคลื่อนไหวจะรวดเร็วก็ควรเลือกที่ 60p (หรือ 50p) ขนาดไฟล์จะใหญ่กว่า 30p (25p) ประมาณเกือบเท่าตัว แต่ไฟล์ที่ได้ยังสามารถนำไปทำภาพ slow motion ระดับ 2 เท่าได้ จึงเป็นเฟรมเรทที่น่าใช้สำหรับฟอร์แมต Full HD หรือ 4K (มีเฉพาะในกล้องระดับโปรบางรุ่น) ส่วนเฟรมเรทที่สูงกว่านี้จะเป็นการบันทึก slow motion เช่น 100p , 120p ,ซึ่งจะไม่สามารถบันทึกเสียงได้ บันทึกได้เฉพาะภาพเท่านั้น

ส่วนบิตเรทจะเป็นสิ่งบ่งบอกคุณภาพไฟล์ ตัวเลขบิตเรทสูงๆ เช่น 100Mbps จะมีการบีบอัดข้อมูลน้อยกว่า 50Mbps จึงให้คณภาพสูงกว่า แต่ก็จะใช้หน่วยความจำของการ์ดมากขึ้นเท่าตัว เวลาในการบันทึกก็จะลดลง การตัดต่อก็จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่แรงขึ้น เพื่อลดเวลาการเรนเดอร์และการทำงาน ปัจจุบันกล้องมิลเลอร์เลสบางรุ่น เช่น Fujifilm X-T3 และ Panasonic Lumix GH-5S สามารถบันทึกด้วยบิตเรทที่สูงถึง 400Mbps การบันทึกวิดีโอ 1 นาที จะใช้หน่วยความจำไปถึง 4-5 GB

AF Track Sensitivity เป็นเมนูเลือกความเร็วในการตอบสนองต่อการโฟกัสไปยังวัตถุที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่โฟกัส เช่น คุณเคลื่อนกล้องตามซับเจกต์อยู่ แต่จู่ๆ ก็มีคนเดินตัดหน้าระหว่างกล้องกับซับเจกต์ เมนูนี้จะเลือกการตอบสนองว่า จะให้กล้องโฟกัสไปยังวัตถุใหม่ทันทีหรือช้า (ยังล็อกที่ซับเจกต์หลักอยู่) ดังนั้นหากตั้งที่ตอบสนองช้า กล้องจะล็อกโฟกัสที่ซับเจกต์เดิม (หากวัตถุที่บังอยู่ในพื้นที่โฟกัสไม่นาน) แต่ถ้าตั้งการตอบสนองเร็วกล้องจะแทรคเข้าไปที่วัตถุใหม่ทันที แต่การตั้งการตอบสนองช้า จะทำให้กล้องชิฟท์โฟกัสช้าลงด้วย เมื่อคุณย้ายจุดโฟกัส

AF Drive Speed ในการบันทึกวิดีโอ กล้องระดับสูงๆบางรุ่น จะสามารถเลือกความเร็วในการโฟกัสเข้าหาวัตถุได้หลายระดับ ให้เหมาะกับรูปแบบภาพที่ช่างภาพต้องการ เช่น ถ้าคุณเป็นบล็อกเกอร์รีวิวสินค้ามักจะต้องการให้กล้องโฟกัสเร็วหน่อย ยกโพรดักส์ขึ้นมา กล้องก็โฟกัสเข้าเลยไม่ต้องรอนาน ยกโพรดั๊กส์ลง ก็กลับไปโฟกัสที่ใบหน้าทันที เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการถ่ายภาพเวดดิ้ง พรีเวดดิ้ง ก็อาจปรับให้การโฟกัสช้าลง ให้ภาพดูนุ่มนวลมากขึ้น แต่เมนูนี้อยู่ในกล้องบางยี่ห้อเท่านั้น

ISO Auto เป็นการปรับความไวแสงอัตโนมัติ ซึ่งช่างภาพมืออาชีพหลายคนชอบใช้ เพราะสะดวกในการทำงานเพราะเมื่อเปลี่ยนมุม แสงเปลี่ยน จะไม่ต้องมาเซ็ตค่าความเร็วชัตเตอร์กับรูรับแสงใหม่ ปล่อยให้กล้องเปลี่ยน ISO ไปตามสภาพแสง แต่ผู้ใช้ควร Limit ความไวแสงสูงสุดที่จะให้กล้องใช้โดยเลือกจากความไวแสงที่เรายังพอใจในคุณภาพที่ได้ กล้องก็จะใช้ความไวแสงไม่เกินค่าที่ Limit ไว้

LOG ในกล้อง DSLR หรือ Mirrorless ระดับสูงจะมีฟังก์ชัน LOG ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะใช้ชื่อแตกต่างกัน เช่น S Log , V Log , F Log หรือ Canon Log เป็นต้น เป็นฟังก์ชันที่มืออาชีพใช้เพื่อให้กล้องบันทึกภาพด้วยไดนามิคเรนจ์กว้าง เก็บรายละเอียดได้ทั้งส่วนมืดและส่วนสว่าง โดยภาพจะมีสีทึมๆ ต้องนำไฟล์ไป Grading ก่อนเพื่อให้ได้ไฟล์ที่มีสีสดใส สวยงามและเก็บรายละเอียดได้มากกว่าการบันทึกปกติ

Aperture Adjust เป็นเมนูที่มีในกล้องบางรุ่น ใช้ชื่อเรียกต่างกัน ออกแบบให้สามารถปรับรูรับแสงได้ละเอียดมากกว่าทั่วไป เช่น 1/6 EV หรือ 1/8 EV เพื่อให้สามารถปรับค่าแสงแต่ละระดับได้ละเอียดและการปรับค่าแสงจะไม่เปลี่ยนแบบวูบวาบเหมือนการปรับขั้นละ 1/3 EV

Auto Slow Shutter เมนูนี้มีไว้เพื่อให้กล้องลดความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าเฟรมเรทที่คุณเลือกได้เมื่อบันทึกด้วยโหมด P หรือ A เพราะถ้าไม่ปรับตั้งเมนี้ ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าสุดที่กล้องจะใช้ก็คือความเร็ว 1/เฟรมเรท เช่น ถ้าตั้งเฟรมเรทที่ 30p กล้องจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุด 1/30 วินาที ถ้าใช้เฟรมเรท 60p กล้องจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุด 1/60 วินาที ทำให้ไม่สามารถบันทึกภาพในสภาพแสงน้อยๆ ได้ แต่ถ้าเปิดระบบที่ตำแหน่ง ON กล้องจะลดความเร็วชัตเตอร์ลงตามสภาพแสงโดยอัตโนมัติ ดังนั้นหากกล้องอยู่บนขาตั้ง สิ่งที่อยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหวก็จะคมชัด แต่วัตถุที่เคลื่อนไหวก็จะเบลอ แม้จะเป็นภาพวิดีโอ เพราะความเร็วชัตเตอร์ตํ่า ไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวได้

Audio recording เมนูใช้เปิดเพื่อบันทึกเสียงลงในไฟล์วิดีโอด้วย หากเปิดกล้องจะบันทึกเฉพาะภาพไม่บันทึกเสียง ในการใช้งานจึงต้องระวังว่าเมนูนี้ถูกปิดไว้หรือไม่

Auto rec level เป็นเมนูปรับระดับสัญญาณ การรับเสียงของไมโครโฟน ควรปรับให้เหมาะสมกับระดับความดังของเสียง การปรับความแรงสัญญาณ จะทำให้เสียงดังขึ้น แต่เสียงอาจแตกพร่าและมีเสียงรบกวน ควรตรวจสอบจากสเกลสัญญาณ ไม่ควรแต่สุดขอบสีแดง การปรับสัญญาณต่ำจะทำให้เสียงเบาเกินไป แนะนำให้เปิดเมนูแสดงสเกลระดับเสียงบนหน้าจอเสมอ เพื่อให้สามารถตรวจสอบสัญญาณเสียงได้ว่า แรงหรือเบาเกินไป เพื่อป้องกันความผิดพลาด สัญญาณเสียงไม่เข้า

Zebra Pattern เป็นเมนูที่กล้องจะแสดงส่วนของภาพที่มีความสว่างจ้าเกินกำหนด ซึ่งถ้าบันทึกบริเวณนี้จะไม่มีรายละเอียด มองเห็นเป็นสีขาวอย่างเดียว ฟังก์ชั่นนี้จะแสดงเป็นเส้นทแยงมุม ขาวดำ คล้ายม้าลาย เพื่อให้ผู้ใช้ทราบว่าไม่ใช่ส่วนสีขาวแต่เป็นส่วนที่มีแสงจ้ามากเกินไป เพื่อเป็นแนวทางในการปรับค่าแสงให้เหมาะสม กล้องบางรุ่นสามารถเลือกระดับการแสดงแสงได้หลายค่า เช่น 70% , 80% , 90% และ 100% เป็นต้น ซึ่งโดยปกติมักจะปรับไว้ที่ 80-90 % เพื่อดูว่าส่วนไหนของภาพโอเวอร์จนไม่มีรายละเอียด

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic