Knowledge

หามุมถ่าย “วัดและโบราณสถาน” ในวันที่มากมายด้วยผู้คน

วัดและโบราณสถานถ้ามีความสำคัญ มีชื่อเสียงมากก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากตามไปด้วย สำหรับนักถ่ายภาพแล้ว การเลือกเวลาในการเก็บภาพโบราณสถานเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะในช่วงเวลาที่ดีนั้นจะทำให้สถานที่เหล่านี้ดูสวยงามน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงเวลานั้น อาจจะเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวหรือนักถ่ายภาพหลายๆ ท่านเลือกไว้เช่นกัน  ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเก็บภาพท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก จะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ถึงจะยังคงสนุกกับการเก็บภาพได้อยู่

เมื่อเจอผู้คนมากๆ บางท่านอาจจะเลือกไม่เก็บภาพบริเวณนั้นไปเลย หรือบางท่านอาจจะมีเวลา รอนานๆ เพื่อให้ได้จังหวะที่คนน้อยลงหรือไม่มีเลย  แต่ถ้าไม่มีเวลารอขนาดนั้น ก็มีทริกเล็กๆ น้อยๆ ในการเก็บภาพลักษณะนี้มาฝากสำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่หรือนักท่องเที่ยวกึ่งถ่ายภาพ  ที่อาจจะมีเวลารอเก็บภาพไม่มาก แต่ก็ยังอยากได้ภาพที่ดูสวยงามหรือมุมเก๋ๆ เก็บไว้เป็นที่ระลึก  การลดความระเกะระกะของผู้คนโดยหาสิ่งอื่นเข้ามาเสริม  การหลบ  เลี่ยง บัง หรือการเลือกเก็บภาพในจังหวะเสื้ยวนาที  ซึ่งสถานการณ์ตรงหน้านั้นต้องลองพิจารณาว่าควรเลือกแบบใดมาใช้  อาจนำหลายๆ วิธีรวมกัน หรือเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง  ดังตัวอย่างที่รวบรวมมาฝาก วิธีการถ่ายไม่สลับซ้อนยุ่งยากมาก เหมาะกับมือใหม่ สามารถนำไปใช้ได้ง่าย


“Ephesus” เป็นเมืองโบราณ ของอาณาจักรโรมัน มีความรุ่งเรืองมากในอดีต จนได้รับการกำหนดให้เป็นเมืองหลวงแห่งเอเชียของอาณาจักรโรมัน ทั้งด้านความสำคัญและความสวยงาม ถ้ามีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศตุรกี ส่วนใหญ่ก็ต้องแวะเข้าชม  โอกาสที่จะเจอนักท่องเที่ยวล้นหลามจึงมีค่อนข้างสูง  ซึ่งวันที่ไปนักท่องเที่ยวมากมาย ตามรูปตัวอย่าง บางจุดรอจังหวะคนน้อยๆ แล้วค่อยเก็บภาพก็ได้อยู่บ้าง แต่จุดสำคัญที่เป็นอาคารห้องสมุดขนาดใหญ่มีคนเดินเข้าเดินออกตลอดเวลา บริเวณบันได มีคนนั่งพักนาน  แบบไม่ขยับเลยก็มี ช่วงที่ไปถึงเป็นจังหวะแสงดี แดดดี ฟ้าสวย แสงเฉียงข้างพอดีทำให้เห็นลวดลายของตัวอาคารชัดเจน จึงอยากเก็บมุมในระยะใกล้ๆ ให้เห็นลวดลายมุมกว้างๆไว้ มุมที่ลองเล็งในตอนแรกเห็นคนระเกะระกะนั่งๆ ยืนๆอยู่ด้านหน้าเต็มไปหมด จึงเดินสำรวจหามุมใหม่ โดยเลือกใช้วิธีการถ่ายแบบหลบผู้คน ยกกล้องถ่ายให้พ้นคนที่นั่งและคนที่เดินเข้าเดินออก  เพิ่มความน่าสนใจของสถานที่ด้วยซุ้มประตูโค้งที่อยู่ทางด้านขวา  ได้มุมเก๋ๆ เก็บไว้เป็นที่ระลึก โดยไม่เห็นผู้คนเดินระเกะระกะ  สำหรับภาพนี้ยังเห็นคนแพลมๆ เข้ามาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นมุมที่ถือว่าประทับใจกว่าตอนแรกที่เล็งกล้องไปแล้วมีผู้คนล้นหลาม บางคนเดินเฉียดกล้องเข้ามาเลยด้วยซ้ำ  ซึ่งถ้าเก็บภาพนั้นมาก็ได้นักท่องเที่ยวเด่นกว่าตัวอาคารห้องสมุด


“เสาแบบโรมันใน Ephesus” บริเวณทางเดินไปยังอาคารห้องสมุด ระหว่างทางจะมีกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่ๆ ยืนฟังไกด์อธิบายเกี่ยวกับสถานที่  เรียกว่าแม้แต่บริเวณต้นเสาก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก สำหรับมุมนี้เลือกใช้วิธีเลี่ยง ออกมานอกเส้นทาง (ไม่ได้เป็นเขตหวงห้าม) แต่เป็นพี้นทางเดินที่เป็นดินบางช่วงไม่เรียบเหมือนช่องทางเดินหลัก  จึงเป็นเหลี่ยมมุมที่เห็นนักท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย  เดินวนรอบๆ หาแสงเฉียงข้าง เพื่อเสาดูมีมิตกลม เห็นลวดลายสวยงาม แต่มุมที่แสงเฉียงข้างไม่ค่อยน่าสนใจเพราะปัญหาเรื่องคน  แสงเฉียงข้างที่ถ่ายย้อนไปอีกด้านก็เป็นกำแพงปูน  มุมทิศทางตามแสงเห็นคนน้อยก็จริง แต่ถ่ายแล้วเสาก็ดูแบนๆ จึงตัดสินใจเลือกถ่ายย้อนแสง เพราะโดยรวมมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ โชว์โครงสร้างของเสาแบบทึบเล่นระดับสูงต่ำ ปรับกล้องเก็บภาพเป็นแนวตั้งบวกกับหลบออกมาอยู่นอกเส้นทางหลักก็หลบผู้ได้ส่วนหนึ่ง ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ยังไม่สูงมากนัก เสามีแสงเงาทอดยาวจึงใช้เงาเสริมเป็นฉากหน้า ปรับกล้องด้วยช่องรับแสงแคบ ขยับมุมให้ดวงอาทิตย์อยู่ระหว่างเสาสองต้นที่เป็นโครงทึบ  เพื่อเห็นลักษณะแฉกที่จะเกิดขึ้นจากดวงอาทิตย์ได้ชัดเจน


“วัดในหลวงพระบาง สปป. ลาว” ช่วงเย็นแดดเป็นสีทอง สะท้อนกับตัวผนัง ลวดลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นสวยงาม  หลังจากเก็บภาพเน้นๆ แล้วต้องการเก็บภาพมุมกว้างที่เห็นตัวอาคารทั้งหลังไว้ด้วย  แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้น มีนักท่องเที่ยวเดินเข้าเดินออกตลอดเวลา  บางคนก็ยืนเก็บภาพอยู่นานสองนาน คนนี้ไปคนนั้นมา รอจังหวะดูแล้วไม่ได้การ เพราะพระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำลงทุกขณะ ระหว่างหันมามองดวงอาทิตย์ เห็นเงาที่ทอดยาวเป็นรูปเจดีย์และหลังคาแหลม ทำมุมเข้าหากันสวยงาม จึงเปลี่ยนวิธีการเก็บภาพใหม่  เลือกวิธีการเก็บภาพแบบลดความสำคัญของคนที่ยืนบริเวณนั้นด้วยการใช้เลนส์มุมกว้าง ใช้เงาสวยเป็นฉากหน้า  ทำให้พื้นที่โล่งๆ มีเรื่องราวน่าสนใจ ประกอบกับเงานั้นรับกับซับเจคส่วนที่ต้องการนำเสนอพอดี ภาพนี้ถ้าพิจารณาในภาพก็จะเห็นว่ามีคนตัวเล็กๆ ยืนอยู่ 4-5 คน ไม่ได้มากมายก็จริง แต่จากลีลาท่าทางที่เมื่อถ่ายเน้นๆ แล้วทำให้ได้ภาพที่ดูไม่ค่อยสวยงามเท่าที่ควร


“วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” พระบรมธาตุประจำปีเกิด ของผู้ที่เกิดในปีระกา นอกจากผู้ที่มา นมัสการพระธาตุประจำปีเกิดแล้ว นักท่องเที่ยวทั่วไปก็นิยมแวะมา นมัสการพระบรมธาตุฯ เป็นจำนวนมาก  เนื่องจากเป็นวัดที่มีชื่อเสียงของ จังหวังลำพูน  สำหรับวัดนี้มีโอกาสเก็บภาพโล่งๆ ได้ไม่ยาก มีพื้นที่รอบกว้างขวาง ผู้คนก็ไม่ได้เนืองแน่นตลอดเวลาเหมือนที่อื่นๆ  แต่ต้องการมุมเก๋ๆ แปลกๆ ที่ไม่ค่อยซ้ำกับมุมที่เคยเห็น  จึงเดินสำรวจโดยรอบ พบว่าบริเวณศาลาใกล้ๆ ทางเข้าประตูด้านข้างมีประตูเหล็กดัด  จึงใช้วิธีนำส่วนประตูที่ดูน่าสนใจมาปิดบัง  สร้างเป็นกรอบภาพบีบสายตาไปที่ส่วนสำคัญของภาพ แทนการเก็บภาพโดยรวมแบบโล่งๆ วางมุมให้เห็นส่วนที่เป็นองค์พระบรมธาตุฯ แบบเน้นๆ โดยยกหน้ากล้องเงยขึ้นเล็กน้อย  เพื่อหลบผู้คนที่เดินระเกะระกะอยู่บริเวณลาน  ภาพนี้ก็เห็นคนแพลมๆ เข้ามาอีกเช่นกัน  แต่เลือกภาพนี้มาฝากจะได้เห็นชัดเจนว่าด้านล่างมีคนลักษณะนี้  มุนนี้ไม่ได้ถ่ายเปรียบเที่ยบไว้  เนื่องจากถ่ายภาพนี้ไว้นานแล้ว


“Koutoubia Mosque” เป็นมัสยิดที่สำคัญในเมืองมาราเกซ ประเทศโมร็อกโก หนึ่งสถานที่ ที่หลายๆ คนปักหมุดไว้ ถ้ามีโอกาสไปเยือนต้องไม่พลาด  มาราเกซเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงและมีนักท่องเที่ยวแวะมาเยือนเป็นอันดับต้นๆ ของโมร็อกโก มัสยิดกูตูเบียที่อยู่ในบริเวณนี้จึงคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  ชาวโมร็อกโกก็มาเที่ยวชมกันเองมากพอสมควร สำหรับมุมของมัสยิดมุมนี้ถือเป็นมุมมหาชนมุมหนึ่ง ถ้าแสงดีแดดดี เวลาได้ ถ่ายภาพออกแล้วสวยแน่นอน แต่เนื่องจากเป็นมุมมหาชน อยากให้ได้ภาพ ต่างกับที่คนอื่นบ้าง จึงเลือกวิธีการเก็บภาพในเสี้ยวนาทีมาใช้  ดึงประโยชน์จากผู้คนจำนวนมากที่เดินผ่านไปผ่านมาในการสร้างความต่าง  รอจังหวะแล้วจึงกดชัตเตอร์ เล็งมุม วัดแสงไว้ให้เรียบร้อย แล้วยืนอยู่ใกล้ๆ  ทำตัวให้กลมกลืนกับสถานที่ เมื่อเห็นว่ามีจังหวะที่เล็งไว้  จึงโฉบเข้าไปกดชัตเตอร์มุมที่เล็งนั้น  มุมลักษณะนี้แนะนำว่า อย่ายืนจ้องเล็งค้างอยู่ บริเวณนั้น  เพราะผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา ถ้าเห็นเราทำท่าเล็งกล้องอยู่ ส่วนใหญ่จะเดินเลี่ยงไปทางอื่น


“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง จังหวัดสุโขทัย” วัดและโบราณสถานในบ้านเราส่วนใหญ่จะมีพี้นที่กว้างขวาง ผู้คนไม่เนืองแน่นจนทำให้หามุมเก็บภาพลำบาก (ยกเว้นช่วงมีงาน) วัดและโบราณสถาน ในต่างจังหวัดที่อยู่ไกลเมืองใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ที่จังหวัดสุโขทัย ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยว  บางครั้งอาจจะมีบ้าง  แต่รอสักระยะก็ไป  แต่ปัญหาก็ใช่จะไม่มีสำหรับนักถ่ายภาพ  เนื่องจากปกติ การเดินทางออกไปถ่ายภาพกันไกลๆ ค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงจึงนิยมรวมตัวกันไปเป็นกลุ่ม  อาจจะกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ก็แล้วแต่รวมตัวกันได้  ภาพที่นำมาฝากนี้ ไปกัน 1 คันรถตู้ ประมาณ 10 คน ซึ่งพฤติกรรมการเก็บภาพแบบจริงจัง ของเพื่อนสมาชิก บางทีก็จะยืนปักหลักนานกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป  นี่คือปัญหาที่ต้องหาทางแก้  เนื่องจากส่วนใหญ่ไปด้วยกัน พูดคุยถ้อยทีถ้อยอาศัย ขอให้หลบหรืออาจจะบอกให้ยืนเล็งเป็นแบบ ประกอบในภาพก็แล้วแต่สถานการณ์  แต่การทำจะบอกให้หลบทุกครั้งไปก็อาจจะรู้สึกเกรงใจเพื่อนๆ  ยิ่งถ้าไปกันกลุ่มใหญ่คงลำบากใจไม่ใช่น้อย

เนื่องจากวัดและโบราณสถานส่วนใหญ่ ถ้าแสงดีๆ การถ่ายมุมหน้าตรง ไม่ถ่ายเสยให้ โล้เอียงเบี้ยวผิดสัดส่วน ก็จะได้ภาพวัดและโบราณสถานแบบงามๆ เก็บไว้เป็นที่ระลึกตามหลักการถ่ายภาพแนวสถาปัตยกรรมที่ดีแล้ว  แต่ก็อย่างที่เล่ายาวมาตั้งแต่ต้นว่า ถ้าถ่ายแบบหน้าตรงแล้วไม่สะดวกก็ต้องเลี่ยงมานำเสนอมุมในแบบอื่นดู   สำหรับภาพนี้เป็นวันที่มีแสงบ้าง ไม่มีแสงบ้าง เพราะด้านทิศตะวันออกที่พระอาทิตย์ขึ้น มีกลุ่มเมฆขนาดใหญ่  เคลื่อนตัวเข้ามาบังดวงอาทิตย์เป็นระยะๆ  จังหวะที่แดดสวยๆ ทุกคนก็กำลังเก็บภาพหน้าตรงอยู่  จึงเลี่ยงมุมหน้า เดิมมาเก็บภาพด้านข้าง ประกอบกับวัดนี้มีเชื่อเสียงในเรื่องพระพุทธรูปปางลีลาอันอ่อนช้อยงดงาม จึงเลือกถ่ายเน้นในระยะใกล้ ซ่อนนักถ่ายภาพจำนวนหนึ่งไว้ด้านหลังเสา  ขยับหามุมให้เห็นตากล้องตัวเล็กๆ แค่คนเดียว เอาไว้เทียบสัดส่วนกับองค์พระฯ ที่อยู่ด้านหน้า  เนื่องจากเพื่อนนักถ่ายภาพกลุ่มนี้ค่อนข้างจริงจัง เมื่อปักขาตั้งกล้องลงไปแล้ว ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะดึงหลักนั้นขึ้น  ซึ่งช่วงเวลานั้น แสงตอนแรกที่ไม่ค่อยดี ณ เวลานี้แสงกำลังสวย ถ้ามัวแต่ ขอให้ขยับเข้าขยับออกเกิด พลาดช่วงจังหวะแสงดีๆไปก็น่าเสียดาย
…………………………………………………………………………………………………..

เรื่อง/ภาพ : ฤทัยรัตน์  พวงแก้ว

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจดูเทคนิค How To ที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/leaning-by-doing