ชาวบ้านหลายคนว่า.. พระราชดำริของในหลวง ที่ทรงพระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศนั้น เปรียบเสมือนสายฝนอันชุ่มฉ่ำที่พร่างพรมลงมาในยามที่พสกนิกรของพระองค์รู้สึก ร้อน แล้ง และสิ้นหวัง
นั่นคงเป็นความรู้สึกที่ไม่ห่างเหินเกินจินตนาการของประชาชนคนไทยในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งรับรู้ รับฟัง และเฝ้าติดตามคลื่นแห่งปัญหา ละลอกแล้ว ละลอกเล่า ที่ได้ถูกบรรเทา-ทุเลาลงด้วยพระปรีชาอันก่อเกิดจากการ ‘เข้าถึง’ และ ‘เข้าใจ’ ในแก่นแกนของปัญหานั้นๆ อย่างหาที่เปรียบมิได้
ในอดีต ‘ผืนป่ากุยบุรี’ ซึ่งอยู่ในอำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งของประเทศไทย มักไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญต่อการพัฒนาหรือแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ นัก เนื่องจากที่นี่ไม่ใช่ผืนป่าที่อยู่ในชัยภูมิโดดเด่นหรือเลื่องลือทางด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่าตามความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป เมื่อเทียบกับดงพญาเย็น เทือกเขาอินทนนท์ หรือป่าโซนตะวันตกอย่างทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
ทว่าในข้อเท็จจริง ป่ากุยบุรี หามิได้ด้อยค่าไปกว่าผืนป่าใดๆ ในประเทศไทย เพราะล้วนต่างทำหน้าที่คล้ายคลึงกันนั่นคือ เป็นแหล่งพักพิงของพรรณไม้ สัตว์ป่า ตลอดจนเป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต ผู้คน และการเกษตรที่อยู่ห่างไกลออกมา แต่ที่สำคัญกุยบุรียังเป็นบ้านหลังใหญ่ของช้างป่า สัตว์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งชนชาติไทยมาแต่ครั้งบรรพกาล
ป่าผืนนี้สามารถเชื่อมต่อขึ้นไปถึงกลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าตะวันตก และป่าผืนใหญ่บริเวณรอยต่อระหว่างราชอาณาจักรไทยกับพม่า นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่อาศัยหากินอยู่ในบริเวณนี้ในอดีต มีปริมาณและความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์
ทว่านับย้อนไปเพียงไม่กี่ทศวรรษ ภายหลังประเทศไทยได้ปรับเข็มเบนทิศเปลี่ยนแนวคิดจากสังคมเกษตรไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม นับแต่นั้น กุยบุรีและผืนป่าแห่งอื่นๆ ของประเทศ ก็พากันดำดิ่งสู่ยุคแห่งการผลาญล้างทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งสำหรับการผลิตสินค้ารูปแบบต่างๆ ป้อนเข้าสู่สายพานแห่งอุตสาหกรรมโลก
อำเภอกุยบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์หลายแห่ง ถูกขีดเขี่ยให้กลายเป็นดินแดน The Pineapple Land หรือฟาร์มสัปปะรดของโลก โดยมีหน้าที่ผลิตและส่งผลไม้ที่มนุษย์ทั่วโลกนิยมบริโภคเข้าไปบรรจุกระป๋องตามโรงงานอุตสาหกรรมที่แข่งกันผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามชุนชนต่างๆ
สิบปีแรก.. ของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการเกษตรดั้งเดิมไปสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ สัปปะรดได้กลายเป็น ‘ผลไม้เทพเจ้า’ ที่ตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง ทั้งเรื่องราคาขายดี ปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ ทนฝน-ทนแล้ง และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายครั้งต่อปี
สิบปีต่อมา.. เป็นยุคที่ชาวบ้านและกลุ่มนายทุนเริ่มไล่ล่าที่ดินเพื่อขยายพื้นที่การเพาะปลูกผลไม้เทพเจ้าชนิดนี้กันขนานใหญ่ เพื่อสร้างผลกำไรและการต่อรองตามระบบทุนนิยมที่สูงขึ้น ด้วยวิธีง่ายๆ นั่นคือ การบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่า นอกเขตกรรมสิทธิ์ออกไปเรื่อยๆ แบบไร้ขอบเขต และไร้ซึ่งการคำนึงของผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต อย่างเรื่องความเสื่อมโทรมของสภาพป่าและธรรมชาติ รวมไปถึงการไร้ที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ป่า จนอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและพรรณไม้บางชนิด
สิบปีที่สาม.. ความขัดแย้งขยายตัวแผ่ซ่านเข้าสู่ในทุกมิติของชุมชนหลังยุคอุตสาหกรรมใหม่ เมื่อความต้องการพื้นที่เพาะปลูกมีมากถึงขีดสุด การเข้ายึดครองและทำลายพื้นที่ป่าสงวนจึงต้องลงมือทำกันอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ชาวบ้าน-บุกรุก นายทุน-สนับสนุน เจ้าหน้าที่ป่าไม้-เป็นใจ ฝ่ายปกครอง-นิ่งเฉย ผืนป่าหลายแห่งของประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดใกล้เคียงที่แต่เดิมเคยเชื่อมโยงถึงกัน จึงถูกบุกรุก แผ้วถาง และจับจอง เพื่อนำมาทำไร่สัปปะรดกันอย่างง่ายดาย กอปรกับผืนป่าบางแห่งจำเป็นต้องสงวนไว้เพื่อความมั่นคงทางการทหาร จึงยิ่งส่งผลให้บ้านหลังใหญ่ที่เคยสุขสงบของสัตว์ป่ากลายสภาพเป็นเกาะแก่งกลางทุ่ง-กลางชุมชนอย่างที่เห็นชินตากันในปัจจุบัน เมื่อพื้นที่อาศัยหากินถูกบีบคั้นให้ลดน้อยถอยลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ถูกแทนที่ด้วยผลไม้ชนิดใหม่ซึ่งให้รสชาติที่หอมหวานส่งกลิ่นเย้ายวนมากมายนับหมื่นๆ ไร่ แถมไม่ไกลกันยังมีบ่อน้ำไว้ให้ได้กินได้ลงเล่นอย่างสบาย นั่นจึงกลายเป็นที่มาของมหากาพย์ซึ่งถูกเรียกขานให้ชินปากในเวลาต่อมาว่า ‘ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า’
เมื่อความรุ่งโรจน์แห่งยุคอุตสาหกรรมใหม่ตวัดเหวี่ยงผ่านจุดสูงสุด ไม่นาน.. ความถดถอยและตกต่ำของวัฏจักรแห่ง The Pineapple Industry ที่ชาวบ้าน นายทุน และรัฐบาล เคยชื่นชมหนักหนาว่าสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับคนกุยบุรี ก็บ่ายหน้าสู่หุบเหว
ทั้งปัญหาด้านราคาผลผลิตตกต่ำ อันเนื่องมาจากเหตุผลหรูๆ ของนักการตลาดที่ว่า.. ‘โอเวอร์ ซัพพลาย’ (over supply)
ทั้งปัญหาด้านสุขภาพเสื่อมโทรม อันเนื่องมาจากการสะสมของสารพิษตกค้างจำพวกปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในร่างกาย ดิน น้ำ และอากาศ
ทั้งปัญหาด้านหนี้สิน อันเนื่องมาจากการกู้ยืมเงินนอกระบบมาลงทุนก่อนแล้วค่อยหักทุนคืน
ทั้งปัญหาด้านความแห้งแล้งผิดธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้อย่างกว้างขวาง
รวมไปถึงความรุนแรงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ที่ซึ่งฟางเส้นสุดท้ายขาดสะบั้นลงเมื่อมีการวางยาพิษและไล่ยิงช้างที่ลงมากินพืชไร่ตายไปถึง 4 ตัวในเวลาไล่เรี่ยกัน
สิบปีที่ผ่านมา..
ขณะที่ชาวบ้าน ช้างป่า รวมไปถึงทรัพยากรทางธรรมชาติอื่นๆ กำลังตกอยู่ในสภาพเลวร้ายถึงขีดสุด พลันเมฆฝนที่เคยเหือดหายก็ได้ก่อตัวขึ้นจากน้ำพระทัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงติดตามปัญหาที่เกิดในพื้นที่อำเภอกุยบุรีอย่างต่อเนื่อง ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พระองค์ทรงเริ่มต้นจัดการปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำของชาวบ้าน ช้างป่า และสัตว์อื่นๆ ก่อน
โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริกับ พลโท ประวิตร วงษ์สุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศในขณะนั้น) และรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้การสนับสนุนกรมชลประทานในการพิจารณาเพิ่มปริมาณการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำยางชุม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นป่ากุยบุรี ตลอดจนส่งให้กับพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พลโทไพศาล กตัญญู แม่ทัพภาคที่ 1 เลขาธิการ กปร. (คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ) อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ วังไกลกังวล สรุปใจความว่า..
ให้พิจารณาการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำยางชุม และสามารถเก็บกักและระบายออกท้ายเขื่อน โดยไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างเดิม ให้ทำให้เร็วที่สุด เริ่มหลังฝนนี้ ใช้เวลา 2 ปี เสร็จปี 2548 โดยให้ กปร. สนับสนุนงบประมาณเพื่อเริ่มต้นได้เร็ว และให้พิจารณานำน้ำจากอ่างโดยวางท่อนำน้ำไปทำบ่อพักไว้บริเวณที่เป็นเนิน และทำระบบกระจายน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์
ให้พิจารณาก่อสร้างฝายต้นน้ำ (Check Dam) สระน้ำขนาดเล็กตามลำห้วยในพื้นที่เหนืออ่าง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วม เกิดความชุ่มชื้น และช้างป่ามีน้ำกินด้วย
ให้กองทัพภาคที่ 1 กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสำนักงาน กปร. ร่วมกันแก้ไขปัญหาผลกระทบของโครงการและช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้าง
ทั้งนี้เห็นได้ว่า แนวทางการแก้ปัญหานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้วิธีจัดการกับปัญหาอย่างเป็นระบบ ในลักษณะเดียวกันกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่นๆ ดังที่ สำนักงาน กปร. ได้รวบรวม ‘หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ไว้ให้ประชาชนทั่วไปศึกษาอย่างน่าสนใจคือ..
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน มีพระราชดำรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” นั้นหมายความว่า ต้องมุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนและครอบครัวในชุมชนที่เข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนและหมู่บ้าน ซึ่งหลายชุมชนยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว จึงไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่ความล่มสลายได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหา ทรงมองปัญหาในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็กๆ (Micro) คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า..
“..ถ้าปวดหัว ก็คิดอะไรไม่ออก เป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวก่อน มันไม่ได้เป็นการแก้อาการจริงแต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้ แบบ(Macro) นี้ เขาจะทำแบบรื้อทั้งหมด ฉันไม่เห็นด้วย อย่างบ้านคนอยู่ เราบอกบ้านนี้มันผุตรงนั้น ผุตรงนี้ ไม่คุ้มที่จะซ่อม เอาตกลงรื้อบ้านนี้ ระเบิดเลย เราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ วิธีทำต้องค่อยๆ ทำ จะไประเบิดหมดไม่ได้..”
การอนุรักษ์ช้างป่ากุยบุรีถือเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและ ประธานมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ เล่าไว้ในภาพยนตร์สารคดีเทิดพระเกียรติ ‘ในหลวงกับช้างป่ากุยบุรี’ อย่างน่าสนใจว่า..
“..หลังจากปัญหาช้างที่กุยบุรีได้เกิดขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเป็นห่วงปัญหาเรื่องนี้นะครับ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับพวกเราหลายครั้ง ผมจำได้ว่าถึง 6 ครั้งด้วยกัน ปัญหาใหญ่ๆ ก็คือ ปัญหาความไม่สมบูรณ์ที่เกิดขึ้น มีความแห้งแล้งเกิดขึ้น ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ช้างก็ออกมารุกรานพื้นที่ชาวบ้าน ปัญหาก็เรียบง่ายอย่างนี้ เพราะฉะนั้น มีพระราชกระแสรับสั่งให้พวกเรานั้นไปสร้างแหล่งน้ำให้เพียงพอในบริเวณป่า แล้วก็ไม่ใช่แต่เพียงชายป่าด้วย ให้สร้างลึกเข้าไปในป่า เพราะช้างนั้นเป็นสัตว์ที่อยู่ในป่าลึกไม่ใช่แค่บริเวณชายป่า..”
พระราชกระแสรับสั่ง ครั้งที่ 1
ให้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี โดยใช้รูปแบบการฟื้นฟูเช่นเดียวกับโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี
พระราชกระแสรับสั่ง ครั้งที่ 2
ให้ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก โดยปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้มาก
ให้ปลูกสัปปะรดที่คุณภาพไม่จำเป็นต้องดีนัก สำหรับเป็นอาหารช้าง โดยที่ลูกค้าของสัปปะรดคือช้าง เพื่อให้คนและช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปรกติสุข ให้ชาวบ้านมาช่วยดูแลพืชอาหารช้าง พร้อมทั้งให้ค่าตอบแทนเขาด้วย ถ้าชาวบ้านไม่มีที่พัก ให้จัดที่พักอาศัยให้โดยไม่ต้องแพงนัก และให้ปลูกผักสวนครัวในพื้นที่ด้วย
ให้สำรวจตรวจสอบพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่จะทำ ‘เช็คแดม’ (Check Dam) ซึ่งหากว่าพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมก็ให้ดำเนินการได้เลย
ให้พัฒนาที่ดินโดยใช้ระบบหญ้าแฝกเพราะมีระบบรากยาว ช่วยอุ้มน้ำสร้างความชุ่มชื้นได้มากและจะพัฒนาดินด้วย
เนื่องจากแม่น้ำกุยบุรีเป็นแม่น้ำสายสำคัญ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อยและตื้นเขินในฤดูแล้ง ควรมีการสร้างฝายหรือเขื่อนเก็บกักน้ำ รวมถึงการขุดลอกหรือหาแนวทางแก้ไขโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตรและการใช้สอยของราษฎรในบริเวณลุ่มน้ำดังกล่าว
พระราชกระแสรับสั่ง ครั้งที่ 3
เนื่องจากมีสัตว์ป่าอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในป่าลึก จึงควรมีการปลูกพืชเสริมเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ป่า โดยทดลองนำพันธุ์พืชขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปโปรยในกลางป่าบริเวณต่างๆ เพื่อให้เติบโตและเป็นอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งอาจจะเป็นทฤษฎีใหม่อีกแบบ
พระราชกระแสรับสั่ง ครั้งที่ 4
ช้างควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างให้เพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างที่ออกมาชายป่าต้องให้ความปลอดภัยกับ ช้างบ้าง
พระราชกระแสรับสั่ง ครั้งที่ 5
เมื่อช้างมีอาหารรับประทานก็จะไม่มารบ กวนชาวบ้าน และให้นำเมล็ดพันธุ์ไปโปรยเพิ่มเติมอีกเพื่อจะได้เป็นอาหารของช้างป่าในปีต่อไป
พระราชกระแสรับสั่ง ครั้งที่ 6
การปลูกพืชเป็นอาหารช้าง ควรปลูกให้ลึกเข้าไปในป่ามากๆ และปลูกกระจาย อย่าปลูกเพียงแห่งเดียว ให้ปลูกหลายๆ แห่ง การโปรยหว่านทางอากาศก็เช่นเดียวกัน ให้โปรยหว่านเข้าไปในป่าลึกๆ และจัดชุดสำรวจด้วยว่าได้ผลหรือไม่ ต้องการให้ช้างหากินอยู่ในป่าลึกๆ ก็ควรทำในป่าลึกๆ เข้าไป ให้มีการทำเช็คแดมหรือฝายชะลอน้ำในป่าลึกๆ เข้าไป และการปลูกพืชให้ช้างไม่ควรใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ให้ทหารที่มีหน้าที่ในการลาดตระเวนอยู่แล้วนำพืชหรือเมล็ดพันธุ์พืชติดตัวไปด้วย และทำการปลูกในขณะลาดตระเวณเข้าไปในป่าลึกๆ
จากคำบอกเล่าของ ดร.สุเมธ นี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงมีพระเมตตาแต่เพียงพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น หากแต่ยังโปรยปรายน้ำพระทัยไปสู่ช้างป่าและสัตว์ซึ่งอาศัยอยู่ในผืนป่าทั้งปวงอีกด้วย
ผลของการดำเนินโครงการอนุรักษ์ช้างป่ากุยบุรี โครงการฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอเนกอนันต์อันหาที่สุดมิได้
จากพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในโครงการฯ กว่า 12,000 ไร่ ในยุคเริ่มที่แทบจะทำการเพาะปลูกพืชไร่อะไรไม่ได้เลย จะหาสัตว์ป่าตามธรรมชาติดูสักชนิดก็ยากยิ่งกว่าการงมแท่งเข็มในมหาสมุทร ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้วว่า ผืนป่าแห่งนี้ได้กลายมาเป็นบ้านหลังใหม่ของช้างป่ากว่า 200 ตัว กระทิงฝูงใหญ่อีกเกือบ 100 ตัว รวมถึงเสือโคร่ง วัวแดง เก้ง กวาง หมาไน สมเสร็จ และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน
จากเขื่อนกักเก็บน้ำในโครงการฯ ที่เคยแห้งขอดยามฤดูแล้ง วันนี้ท้องน้ำเหนือเขื่อนได้กลายที่เป็นแหล่งพักพิงอย่างถาวรของนกน้ำและนกทุ่งหลายชนิด รวมไปถึงพันธุ์ปลาตามธรรมชาติมากมายให้ชาวบ้านโดยรอบได้อาศัยทำมาหากินตลอดทั้งปี อีกทั้งยังมีน้ำเหลือพอที่จะหล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงอย่างไม่ขาดสาย
ภาพที่ปรากฏต่อสายตาผู้มาเยือนผืนป่ากุยบุรีในวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยตอกย้ำถึงพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์นี้ได้อย่างดีว่า..
“เพื่อให้ช้าง ป่า กับคน อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกันตลอดไป”
เรื่องและภาพ : ชวลิต แสงอินทร์
นิตยสารโฟโต้อินโฟ ฉบับเดือน ธันวาคม 2553