การถ่ายภาพมาโคร นอกจากจะต้องเตรียมพร้อมด้านความรู้พื้นฐานการถ่ายภาพและอุปกรณ์แล้ว สิ่งที่นักถ่ายภาพควรเรียนรู้คือการตั้งค่าการทำงานของกล้องที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพ ไปดูเทคนิคการตั้งค่ากล้องที่เหมาะกับการถ่ายภาพมาโครกันเลยครับ
1.ใช้ Manual Focus
การใช้แมนนวลโฟกัสเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดของการถ่ายภาพมาโคร ช่างภาพส่วนใหญ่มักใช้ระบบออโต้โฟกัสที่ให้ความสะดวกมากกว่า แต่กับการถ่าย Macro การใช้ออโต้โฟกัสอาจจะไม่ได้รับสะดวกเหมือนการถ่ายภาพอื่นๆ เพราะวัตถุที่ต้องการถ่ายถ่ายมีขนาดเล็กมาก ทำให้การหาโฟกัสของกล้องทำได้ยาก และปัญหาอีกข้อคือระบบออโต้โฟกัสของเลนส์มาโครส่วนใหญ่จะช้าและความแม่นยำตํ่ากว่าเลนส์ทั่วๆ ไปโดยเฉพาะกับเลนส์มาโครที่อัตราขยายสูงๆ ซึ่งปัญหาการโฟกัสจะเพิ่มมากขึ้นไปอีกหากถ่ายในที่แสงน้อย แนะนำให้ฝึกการใช้แมนนวลโฟกัสให้คล่องดีที่สุด
2.เลือกใช้ Mode M หรือ Mode A/AV
การถ่ายภาพมาโครให้มีคุณภาพดีนอกเหนือจากความคมชัดแล้วคือการควบคุมระยะความชัดลึกให้ได้ระยะตามที่ต้องการ นักถ่ายภาพสามารถเลือกใช้โหมดถ่ายภาพใดๆ ก็ได้ที่ตัวเองถนัดกับการถ่ายภาพแทบทุกประเภท แต่สำหรับการถ่ายภาพมาโคร แนะนำให้ใช้ Mode M หรือ Mode A/AV
Mode M ผู้ใช้งานสามารถควบคุมการตั้งค่ากล้องได้ทุกอย่างตามที่ต้องการทั้งความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ค่าความไวแสง และอื่นๆ ช่างภาพที่มีความชำนาญมักเลือกใช้โหมดถ่ายภาพนี้
Mode A/AV ผู้ใช้งานกำหนดค่ารูรับแสงตามที่ต้องการ กล้องจะเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมให้เอง โหมดนี้ให้ความสะดวกมากกว่าโหมด M
แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเลือกใช้โหมดใดต้องเลือกใช้รูรับแสงแคบเพื่อควบคุมระยะชัดลึกของภาพ
3.ใช้ Live View
กล้องยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น Mirrorless หรือ DSLR จะมีโหมด Live View มาให้ใช้งานด้วย โหมดนี้มีประโยชน์มากสำหรับการถ่ายภาพมาโคร นอกจากจอ LCD จะมีขนาดใหญ่ มองภาพสะดวกกว่าการใช้ช่องมองภาพแล้ว ยังมีประโยชน์อีกข้อที่สำคัญคือสามารถตรวจสอบการโฟกัสภาพได้สะดวกและเห็นผลชัดเจน ทันที สามารถตรวจจุดโฟกัสได้ง่ายๆ ด้วยการขยายภาพที่แสดงบนจอ LCD และประโยชน์อีกข้อในกล้อง DSLR คือการใช้ Live View กล้องจะยกกระจกสะท้อนภาพขึ้น เป็นผลพลอยได้ในการช่วยลดความสั่นไหวของกล้องได้อีกด้วย
4.ใช้ระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง
Burst Mode หรือการถ่ายภาพต่อเนื่อง กล้องจะถ่ายภาพไปเรื่อยๆ จนกว่าจะปล่อยนิ้วจากปุ่มชัตเตอร์ กล้องรุ่นใหม่ๆ สามารถทำความเร็วได้สูงมากกว่า 10 fps โหมดนี้นอกจากจะมีประโยชน์กับการถ่ายภาพกีฬา สัตว์ป่า นก ยังใช้ประโยชน์กับการถ่ายภาพมาโครได้ดีอีกด้วย เพราะการถ่ายภาพมาโคร หากวัตถุมีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย จะส่งผลต่อการคลาดเคลื่อนของจุดโฟกัสและอาจทำให้ภาพเบลอหรือระยะความชัดลึกที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปด้วย การใช้ Burst Mode นี้จึงเหมือนเป็นการถ่ายภาพเผื่อหลายๆ เฟรมเพื่อมาคัดเฟรมที่ดีที่สุดไปใช้งาน
5.ใช้การตั้ง Self-Timer
เทคนิคการตั้งค่าข้อสุดท้ายคือการตั้งระบบหน่วงเวลาถ่ายภาพ หรือ Self-Timer การถ่ายภาพมาโครที่ต้องการควบคุมทั้งระยะชัดลึก และได้ภาพที่คมชัด ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการกดปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพคือกล้องจะมีการสั่นไหว ทั้งจากกลไกการทำงานของม่านชัตเตอร์ กระจกสะท้อนภาพและแรงกดของนิ้วที่กดปุ่มชัตเตอร์ ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ภาพขาดความคมชัดได้ การใช้ Self-Timer จึงเป็นการเลือกใช้การตั้งค่าที่ปลอดภัยและมั่นใจได้ว่าจะได้ภาพที่คมชัดแน่นอน
แปลและเรียบเรียงจาก 5 Camera Settings That All Macro Photographers Should Know” โดย Jaymes Dempsey (https://digital-photography-school.com/5-camera-settings-macro-photographers-should-know/)
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่