ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การถ่ายภาพและการตกแต่งภาพสามารถจัดการให้ได้ตามความต้องการของผู้ถ่ายทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการมีเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทในการถ่ายภาพหรือตกแต่งภาพ ทั้งในตัวกล้อง หรือสมาร์ทโฟนก็ตาม แต่การตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ยังคงเป็นกระบวนการหนึ่ง ที่ช่างภาพหลายคนใช้งานอยู่ โดยเฉพาะโปรแกรม Photoshop ที่ผมจะมาแนะนำ 5 Adjustment หรือชุดคำสั่งสำหรับตกแต่งภาพบน Jpeg ไฟล์ ในครั้งนี้นั่นเองครับ
Adjustment
หรือชุดคำสั่งสำหรับปรับแต่งภาพที่ผมจะแนะนำ จะเป็นชุดคำสั่งที่ผมได้ใช้งานอยู่บ่อยๆ และควรจะนำมาใช้งาน ซึ่งหลายๆ คำสั่งจะใช้งานคล้ายคลึงกัน และอาจให้ผลลัพธ์ที่คล้ายหรือใกล้เคียงกัน แต่การเลือกใช้ชุดคำสั่งก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคลครับ ชุดคำสั่งไหนที่ทำงานง่าย ทำความเข้าใจได้ง่าย และสะดวกต่อการใช้งานผมก็แนะนำให้ใช้คำสั่งนั้นหละครับ คำสั่งที่ผมจะแนะนำมีอะไรบ้าง ลองไปดูกันครับ
Color Balance
เป็นคำสั่งที่นำความรู้เรื่องวงล้อสีมาประยุกต์ใช้งานครับ โดยเฉพาะพื้นฐานความรู้เรื่องสี RGB (สีของแสง โดยเพิ่มสีลงบนพื้นสีดำ) และ CMYK (สีสำหรับสิ่งพิมพ์ โดยลบพื้นสีขาวโดยการเพิ่มสีลงไปในพื้นสีขาว) แล้วนำไปใช้อย่างไรบ้าง? โดยส่วนมากผมจะใช้ในการปรับแก้สีที่ถ่ายมาแล้วมันได้สีที่ไม่ตรงกับความต้องการ หรืออยากปรับแก้สีในภายหลังนั่นเองครับ เช่น ถ่ายมาแล้วภาพติดสีแดง หรือสีเหลืองมากไป เราก็ใช้คำสั่งนี้ช่วยแก้ โดยการนำความรู้เรื่อง “สีคู่ตรงข้าม” มาแก้นั่นเองครับ เช่น ภาพติดเหลืองมากไป เราก็เพิ่มสีตรงข้ามเหลืองเข้ามา นั่นก็คือสี Blue หรือสีน้ำเงิน เข้ามานั่นเองครับ ซึ่ง ในแถบคำสั่งของ Photoshop เขาจะวางมาให้เราเรียบร้อยแล้วครับ หน้าที่เราเพียงแค่มองให้ออกว่าภาพเราติดสีไหนอยู่ และ เราควรแก้ด้วยสีอะไร หากนึกไม่ออกก็ให้ดูจากวงล้อสีนั่นเองครับ
Level
ในส่วนของคำสั่ง Level นั้น ถ้าจะให้ดีก็ควรจะอ่าน Histogram เป็น ก็จะดีมากครับ เพราะกราฟ Histogram ก็จะไปแสดงผลในแถบคำสั่งปรับแต่ง Level เหมือนกันเลยครับ หากอ่านค่า Histogram เป็น เราก็จะรูว่าภาพที่เราถ่ายมาขาดข้อมูลในส่วนไหน เช่น หากกราฟเทมาฝั่งซ้ายมากกว่า คือฝั่งค่าที่เป็น 0 หรือ โทนมืด แล้วไม่มีกราฟใดๆ เลยในฝั่งขวา ที่มีค่า 255 ซึ่งเป็นค่าของโทนสว่าง แสดงว่าภาพของเรานั้นอยู่ในโทนมืดหรือมีสีดำในภาพถ่ายมากกว่าสีขาวหรือโทนสว่างนั่นเอง หากวัตถุประสงค์ในการถ่ายภาพคือเน้น Low key ก็ปล่อยผ่านได้ หรือปรับนิดๆ หน่อยๆ ตามต้องการได้ แต่ถ้าอยากปรับให้ทั้งสองโทน ทั้งมืดและสว่างมีข้อมูลในภาพเพิ่มขึ้น หรือให้ภาพพอดีอย่างที่เราต้องการ เราก็สามารถใช้คำสั่ง Level ช่วยในการปรับแก้ได้ครับ
ในการปรับแก้ เราจะปรับแก้ในช่อง Input Levels เป็นหลักครับ โดยในช่องนี้ก็จะมีสัญลักษณ์ สามเหลี่ยมวางอยู่ในแกนนอน โดยสามเหลี่ยมซ้ายสุด (สีดำ / Black Point) จะมีค่าเป็น 0 คืออยู่ในส่วนมืด, สามเหลี่ยมกลาง (เทา / Mid-Tone Point) จะอยู่ที่ค่า 1.00 ก็คือโทนกลาง คือสีเทานั่นเอง และสามเหลี่ยมซ้ายสุด (ขาว / White Point) จะอยู่ที่ค่า 255 คือโทนสว่างนั่นเองครับ
เวลาปรับก็จำง่ายๆ ตามสีของสามเหลี่ยมเลยครับ อยากเพิ่มลดส่วนไหนของภาพ คุณสามารถปรับได้โดยการลากปุ่มสามเหลี่ยมแล้วเลื่อนซ้ายขวาได้เลยครับ เช่น อยากเพิ่มความสว่างก็เลื่อนสามเหลี่ยมสีขาวให้มาทางซ้าย ครับ หรืออยากเพิ่มโทนมืดก็เลื่อนสามเหลี่ยมดำมาทางขวาครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น การปรับก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรับอะไรในภาพ และควรจะดูภาพจริงตอนเราปรับเป็นหลัก ส่วน Histogram นั้นจะเป็นไกด์ให้เรารู้ครับว่าภาพของเราขาดข้อมูลในโทนไหนอยู่นั่นเองครับ
Curves
Curves คำสั่งที่ใช้สำหรับปรับความมืด-สว่าง ของภาพ โดยสามารถดึงส่วนมืดให้สว่างขึ้น และดึงส่วนสว่างให้มืดลงได้ในเครื่องมือเดียวกัน หรือจะทำให้สีในภาพสดขึ้น หรือสดน้อยลงเฉพาะสีใดสีหนึ่งก็ได้
คำสั่ง Curves จะแสดงเป็นกราฟเส้นทแยงจากล่างขึ้นบน 45 องศา และยังไม่ถูกดัดเป็นเส้นโค้ง จุดฝั่งซ้ายจะอยู่ด้านล่างสุด เป็นจุดที่อยู่ในส่วนที่เป็นโทนมืดหรือดำ และจุดฝั่งขวาจะอยู่ด้านบนสุด จะเป็นจุดที่อยู่ในโทนสว่างหรือสีขาว
ซึ่งจะมีแกนแนวนอนหรือ Input คือ ค่าต้นทางของภาพที่นำเข้า หรือต้นฉบับ (หมายเลข 1 ในภาพ) และแนวตั้ง หรือ Output คือ แสดงค่าหลังจากที่เราปรับเส้นแล้ว (หมายเลข 2 ในภาพ)
หากเราลากจุดล่างสุด(ซ้าย) หรือ Input เป็น 0 ลากขึ้นไปในแกน Output และหากเราเคลื่อนจุดไปจนถึงจุดบนสุดของเส้นแนวตั้ง (Output) ส่วนที่เป็นสีดำในภาพจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเทา (Output = 128โดยประมาณ) และสว่างขึ้นจนเป็นสีขาว (Output = 255) ในที่สุดครับ
และในทางกลับกัน หากเราดึงจุดบนสุด(ขวา) ลงมา เราก็จะได้ส่วนที่เป็นสีขาวในภาพค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเทา และมืดที่สุดจนเป็นสีดำหากเราดึงมาจนถึงจุดต่ำสุดของเส้น Output นั่นเอง
หากจะทำเป็น Curves ก็เพียงแค่จุดไปบนเส้นจุดใดจุดหนึ่งที่เราอยากจะเปลี่ยน เช่น อยากเปลี่ยนส่วนที่เป็นโทนมืดในภาพให้สว่างขึ้น คุณก็เพียงแค่จุดไปบนเส้นในโทนมืด หรือใกล้กับจุดซ้ายล่างนั่นแหละครับ แล้วดึงขึ้นไป โทนมืดในภาพก็จะค่อยๆ สว่างขึ้นนั่นเองครับ ในทางกลับกัน หากจะดึงส่วนสว่าง คุณก็จุดบนเส้นใกล้ๆ กับจุดขวาบนแล้วดึงลงมานั่นเองครับ เพียงเท่านี้ เส้นตรงก็จะกลายเป็นเส้น Curve แล้วหละครับ การแต่งภาพด้วยคำสั่งนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนและความเข้าใจอย่างมาก และต้องหมั่นฝึกฝนบ่อยๆ ครับ
Hue / Saturation
Hue เป็นการแบ่งสีอย่างกว้างๆ เป็นค่าสีที่เป็นสมบัติเฉพาะตัวของสีนั้นๆ หรือเป็นเนื้อสีแท้ๆ โดยที่ไม่มีสีอื่นเข้าไปผสม เช่น สีแดง สีน้ำเงิน หรือสีเขียว และ ไม่มีสี ขาว เทา ดำ มาผสมเลย นั่นเองครับ การปรับแต่งโดยใช้ค่ำสั่งนี้ หากเราเลื่อนแถบ Hue สีที่มีอยู่ในภาพก็จะเปลี่ยนพร้อมกันทั้งหมดเลยครับ แต่เราก็ยังสามารถเลือกทำเฉพาะบางสีได้ครับ โดยใช้เครื่องมือที่เป็นรูปนิ้ว (หมายเลข 1 ในภาพ) แล้วไปจิ้มตรงบริเวณสีที่เราต้องการปรับ แล้วแถบวงล้อสีก็จะแสดงเฉพาะพื้นที่สีที่เราเลือกทำงาน (หมายเลข 2 ในภาพ) แล้วเราก็เลือนที่แถบ Hue ไปซ้าย ขวา ตามที่เราต้องการ หรือแก้ไขโดยอาศัยความเข้าใจวงล้อสีเข้ามาช่วยนั่นเองครับ ซึ่งผมว่าคำสั่งนี้เหมาะสำหรับการแต่งภาพแนวๆ แฟนตาซี หรือ Colorful ครับ
Saturation คือค่าความอิ่มตัวของสี การแต่งภาพด้วยเครื่องมือนี้ก็คือการไล่ระดับจากสีที่มีความอ่อน – เข้ม เข้าหาหรือออกจากสีเทานั่นเองครับ โดยสีที่มีความอิ่มตัวน้อยที่สุดคือสีเทา ดังนั้นการเติมสีเทาให้กับสีต่างๆ จะทำให้สีมีความสดใสและความอิ่มตัวลดลง เนื่องจากมีการเจือสีเทาเข้าไปผสม ยิ่งผสมเข้าไปมากเท่าไหร่ความสดใสและความอิ่มตัวยิ่งน้อยลงนั่นเอง ในทางกลับกัน หากเราต้องการทำให้รูปภาพสีสดขึ้น เราก็ดึงสีเทาที่ผสมอยู่ในสีออกไปนั่นเอง
การปรับค่าในคำสั่งนี้ก็ไม่มีอะไรยากเย็นเท่าไหร่นัก เพียงแค่เลื่อนสเกลในแถบ Saturation ไปทางขวา หรือมีค่าเป็น + นั่นเองครับ ในแถบสีหากเราสังเกตดูก็จะเห็นว่าทางซ้ายจะเป็นสีเทา ทางขวาจะเป็นสีแดง ซึ่งนั่นหมายความว่า หากเราเลื่อนไปทางขวาก็จะเป็นการผลักสีให้ออกห่างจากสีเทา หรือลดสีเทา ทำให้สีมีความอิ่มและสดใสขึ้นครับ แต่ก็ควรระวังนะครับ ในภาพ jpeg หากปรับให้สดใสมากเกินความจำเป็นก็จะทำให้ภาพเละเป็นปื้นได้ครับ
Channel mixer
คำสั่งนี้ต้องบอกว่าใช้ยากมากครับสำหรับมือใหม่ แต่ถ้าหากดูวงล้อสีแล้วดูสีคู่ตรงข้ามประกอบ หรือมีความเข้าใจวงล้อสีอยู่แล้วก็พอจะทำความเข้าใจได้ไม่ยากครับ
ขอธิบายคร่าวๆ แบบนี้นะครับ ในหนึ่งภาพดิจิตอลที่เราถ่ายมา จะมีแม่สี 3 สี คือ Red Green Blue (RGB model) ผสมอยู่ในภาพนั่นเองครับ แต่อยู่ที่ว่าสีใดจะมีปริมาณมากน้อยกว่ากัน ตัวอย่างเช่น สีเขียวของใบไม้ก็ไม่ได้มีแค่สีเขียว แต่จะมีสีอื่นผสมมาด้วย แต่อาจจะมีปริมาณที่น้อยกว่าสีเขียวนั่นเองครับ (สามารถดูได้จาก Info ของคำสั่ง Channel mixer ด้วยการเลื่อนเมาท์ไปชี้ที่จุดใดจุดหนึ่งของภาพ แล้ว Info จะแสดงข้อมูลสีให้เห็นครับว่ามีค่าสีแดง เขียว น้ำเงิน เท่าไหร่)
พอเรารู้ว่ามันผสมสีกันได้ เราก็สามารถตกแต่งภาพด้วย Channel mixer ได้ครับ เช่น อยากจะ “เพิ่ม” สีแดง (หมายเลข 1 ในภาพ) เข้าไปในพื้นที่ที่มี สีเขียว (หมายเลข 2 ในภาพ) เราก็เลือกที่ Output channel เป็น Red แล้วดูที่แถบด้านล่าง (หมายเลข 2 ในภาพ) แถบสีแดงในภาพก็จะเป็น 100% ส่วนที่ต้องการปรับคือพื้นที่สีเขียว เราก็เลือกปรับที่แถบสีเขียว หากจะเพิ่มแดงเข้าไป เราก็เลื่อนแถบสีเขียวไปทางขวามือ ก็จะเป็นการ “เพิ่ม” สีแดงเข้าไปในพื้นที่สีเขียวนั่นเองครับ แต่!!
อย่างที่บอกครับในหนึ่งภาพประกอบไปด้วยสีทั้ง 3 สี สีแดงที่เพิ่มเข้าไปอาจไปเพิ่มในพื้นที่อื่นๆ (สีแดงมากเกินไป) ที่เราไม่ต้องการได้ด้วยเช่นกัน
ถ้าเราสังเกตที่ Total (หมายเลข 3 ในภาพ) ด้านล่างแถบสีน้ำเงิน จะมีเครื่องหมาย ! ครับ ให้ดูค่าตรงนั้น ถ้าแสดงเครื่องหมาย ! แสดงว่าสีแดงที่เราเติมไปมันเกิน เราสามารถแก้ได้ด้วยการเลื่อนแถบสีน้ำเงินลงมา(เลือนมาทางด้านซ้าย) จนกว่าเครื่องหมาย ! จะหาไป และโดยส่วนมากจะหายไปเมื่อค่าอยู่ที่ 100% ครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรดูภาพที่ตัวเองกำลังปรับแต่งประกอบไปด้วยนะครับ ชอบแบบไหนก็ปรับอย่างที่เราต้องการนั่นแหละครับ
นี่เป็นเพียงหลักการเบื้องต้นของการใช้งาน Channel mixer ครับ จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไรก็สุดแล้วแต่ช่างภาพแต่ละท่านหละครับ
ทั้ง 5 ข้อที่อธิบายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือตกแต่งภาพเพื่อเป็นแนวทางครับ จริงๆ แล้วมันมีรายละเอียดยิบย่อยอีกมากมาย ผมเลยขอหยิบยกมานำเสนอเพียงเท่านี้นะครับ
ขอให้ทุกท่านถ่ายภาพและตกแต่งภาพอย่างมีความสุขนะครับ