BASIC PHOTO TECHNIQUES SPECIAL ARTICLE

5สิ่งควรรู้สำหรับมือใหม่ ก่อนถ่ายภาพสัตว์ป่า

หากคุณอยากจะเป็นช่างภาพสัตว์ป่า คุณอยากที่จะเห็นหรือถ่ายภาพสัตว์ต่างๆ ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพสัตว์ป่าให้ได้ตามที่คุณต้องการนั้นเป็นเรื่องยาก หลายครั้งที่ผมได้รับประสบการณ์จากมืออาชีพ  มันทำให้ผมต้องไตร่ตรองถึงความท้าทายในการถ่ายภาพสัตว์ป่า เนื่องจากการถ่ายภาพสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ และในการถ่ายภาพสัตว์ป่าตามธรรมชาติ คุณจะต้องพิจารณาสภาพแวดล้อมและสภาพแสงด้วย ดังนั้นการถ่ายภาพสัตว์ป่าจึงต้องอาศัยความคล่องแคล่วในการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก

5 ข้อต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะ ก่อนการเข้าไปถ่ายภาพสัตว์ป่าครั้งต่อไปของคุณ

1. ถ่ายเป็นไฟล์ RAW

ต้องดูเป็นงานๆ ครับ ว่าเราจำเป็นที่จะใช้รูปด่วนมากน้อยเพียงใด แต่ถ้าไม่ด่วน พอมีเวลาให้ตกแต่งภาพบ้างก็ควรถ่ายเป็น Raw ไฟล์ดีกว่าครับ เพราะ RAW ไฟล์ มีข้อมูลภาพทั้งหมดที่ถ่ายจากกล้องของคุณ เพราะถ้าเป็นไฟล์ JPEG นั้น ภาพจะถูกบีบอัดและประมวลผลภายในกล้องของคุณแล้วเรียบร้อย นั่นหมายความว่าข้อมูลที่บันทึกบางส่วนไว้จะหายไปเมื่อคุณถ่ายภาพ JPEG ดังนั้นการถ่ายภาพในรูปแบบ RAW ไฟล์ ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลของภาพต้นทางครบถ้วนโดยยังไม่มีการประมวลผลเพื่อมาปรับแต่งภายหลังได้ดีกว่านั่นเอง ยิ่งกับงานถ่ายภาพสัตว์ป่าที่เราไม่สามารถถ่ายแก้ไขภาพที่มีปัญหาได้บ่อยๆ หรือไม่สามารถเซ็ตอะไรได้ด้วยแล้วยิ่งต้องถ่ายเป็นไฟล์ Raw ไว้ก่อนครับ

2. ความเร็วชัตเตอร์ : คุณต้องเร็วและช้า

ภาพจะชัดไม่ชัด นอกจากโฟกัสถูกจุดแล้ว ความเร็วชัตเตอร์ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการถ่ายภาพครับ ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการภาพที่คมชัดหรือคุณต้องการตั้งใจเบลอ (แบบสร้างสรรค์) โดยทั่วไปสำหรับสัตว์ป่าเราต้องการให้ภาพมีความคมชัด ดังนั้นเราจึงต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วพอที่จะหยุดการเคลื่อนไหวได้ หลักทั่วไปที่คุณควรคำนึงเกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์ คือ ความเร็วต้องมากกว่าหรือเท่ากับทางยาวโฟกัสที่ยาวที่สุดของเลนส์ที่ใช้  เช่น หากคุณใช้เลนส์เดี่ยวขนาด 400 มม. และต้องการภาพที่คมชัดคุณต้องแน่ใจว่าความเร็วชัตเตอร์ของคุณอยู่ที่อย่างน้อย 1/400 วินาที ครับ ถ้าจะให้ปลอดภัยผมแนะนำให้เพิ่มเป็นสองเท่า หากสภาพแสงพอนะครับ  และถ้าหากสัตว์เคลื่อนที่เร็ว เช่น ถ่ายภาพนกบิน ความเร็วชัตเตอร์จะต้องสูงพอที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของนกได้ ซึ่งความเร็วชัตเตอร์อาจต้องสูงขึ้นไปจากปกติ เช่น 1/1000-1/2000 วินาที เป็นต้น

ในทางกลับกันหากคุณต้องการใช้การเบลอ (อย่างตั้งใจ) โดยเฉพาะฉากหลัง เช่น นกกำลังบินอยู่ มีพื้นหลังเป็นทุ่งหญ้า ให้ลองที่ 1/10 ถึง 1/125 วินาที และทดลองใช้จนกกว่าจะพอใจในความเบลอของภาพครับ แต่อย่าลืมว่าคุณจะต้องแพนตามตัวแบบของคุณ หากคุณต้องการให้ภาพนั้นคมชัดในขณะที่แสดงภาพเบลออย่างสร้างสรรค์ในพื้นหลัง คุณต้องแพนให้กล้องเคลื่อนตามนกได้ทันและไม่เร็วหรือช้ากว่านกด้วยนะครับ ^^

3. คุณไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับ ISO มากนัก

หลายปีก่อนหน้านี้ หากช่างภาพต้องถ่ายภาพที่ ISO 800-1600 ภาพก็มักจะมี Noise มากเกินไปและไฟล์ใช้งานไม่ได้ โชคดีที่กล้องระดับกึ่งมืออาชีพและระดับมืออาชีพรุ่นหลังๆ มานี้สามารถจัดการ ISO ที่ค่อนข้างดีเยี่ยม และมีสัญญาณรบกวนน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ควรจะรู้ถึงความสามารถสูงสุดของกล้องของคุณ ตัวอย่างเช่น กล้องตัวที่ผมใช้ ผมจะรู้สึกดีว่าควรใช้ ISO ไม่เกิน 3200 เป็นต้น แต่สำหรับกล้องตัวอื่น ค่าที่ปลอดภัยอาจเป็น ISO1600 หรือ 6400 ก็ได้ครับ แต่ถ้าหากคุณต้องการถ่ายด้วยชัตเตอร์สปีดสูงขึ้น คุณก็ควรเพิ่ม ISO ให้สูงขึ้น เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดไว้ก่อน และมาปรับตกแต่งด้วยโปรแกรมในภายหลังอีกที เพราะสมัยนี้ผู้ผลิตโปรแกรมเองก็พัฒนาในเรื่องของการจัดการ Noise ในภาพได้ดีขึ้นมาเยอะเหมือนกันครับ

4. เลือกรูรับแสงที่เหมาะสม

รูรับแสงหรือ f-stop ควบคุมระยะชัดลึก รูรับแสงที่กว้าง (ค่าตัวเลขต่ำๆ) จะทำให้มีระยะชัดลึกที่ตื้น รูรับแสงแคบ (ตัวเลขสูง) จะทำให้ได้ระยะชัดลึกที่ลึกขึ้น ตัวอย่างเช่นคุณถ่ายภาพหมีและถ่ายภาพสองภาพโดยภาพหนึ่งที่รูรับแสง f/4 และอีกภาพหนึ่งที่รูรับแสง f/16 จุดโฟกัสของคุณคือส่วนหัวของหมีทั้งสองภาพและจุดโฟกัสนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ภาพที่ถ่ายด้วยรูรับแสง f/4 จะมีดวงตาของหมีอยู่ในโฟกัสก็จะชัด และพื้นหลังจะเบลออย่างมาก ภาพที่ถ่ายที่ f/16 จะมีโฟกัสชัดที่ดวงตา ตัวหมีและพื้นหลังก็จะมีความชัดมากขึ้นกว่าค่า f กว้างนั่นเอง

5. ศึกษาคู่มือกล้องและเลนส์ และเรียนรู้กล้องของคุณ

บางครั้งก็ไม่มีกฎตายหรือ หรือคำแนะนำใดเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งหนึ่งที่มันสามารถช่วยให้คุณทำงานได้อย่างราบรื่นก็คือ การศึกษากล้องที่คุณใช้ ศึกษาคู่มือการใช้งานของกล้องหรืออุปกรณ์ถ่ายภาพของคุณให้เกิดความชำนาญ เพราะในสถานการณ์จริงมันอาจไม่มีเวลาให้คุณได้เรียนรู้กล้องของคุณเลย หากมีความชำนาญดีแล้ว มันก็จะช่วยให้คุณมีโอกาสได้ภาพดีๆ มากขึ้นนั่นเอง การศึกษากล้องที่จำเป็น เช่น การใช้ปุ่มต่างๆ บนตัวกล้องและเลนส์ การจดจำว่าปุ่มไหนอยู่ตำแหน่งไหน เวลาจะปรับต้องปรับตรงไหน เป็นต้น หรืออาจรวมไปถึงรับรู้ถึงข้อจำกัดของกล้อง เช่น ISO สูงที่สุดที่ยอมรับได้ ค่าชัตเตอร์สูงสุดเท่าไหร่ ถ่ายภาพในโหมดต่อเนื่องได้กี่ภาพต่อวินาที สิ่งเหล้านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นที่คุณต้องนำมาใช้งานในหน้างานอย่างคล่องแคล่ว เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการได้ภาพครับ