บ้านนาต้นจั่น ชุมชนเล็กๆ ในตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ชุมชนที่มีการร่วมมือในการทำกิจกรรมอย่างเข้มแข็ง โดยเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกันทอผ้าของแม่บ้าน ซึ่งใช้เวลาว่างหลังจากฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาคุณภาพและลวดลายของผ้าทอให้หลากหลายมากขึ้น ก่อนที่จะมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มโฮมสเตย์ขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มนั่นเอง
การเดินทางไปยังบ้านนาต้นจั่นนั้น ผมและทีมงานยังคงใช้พาหนะในการเดินทางคันเดิมคือ รถยนต์ Toyota C-HR 1.8 HV Hi รถ Crossover ใหม่ล่าสุดที่ได้รับการออกแบบใหม่หมด จากแนวคิด Ever Better Car ในการสรรค์สร้างยนตกรรมที่ดียิ่งกว่า รูปลักษณ์และเหลี่ยมสันต่างๆ ในการดีไซน์ตัวรถได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของเพชร จึงทำให้รูปร่างหน้าตาของ C-HR ดูสวยงามโฉบเฉี่ยวแบบสปอร์ตคูเป้อย่างลงตัว
Toyota C-HR 1.8 HV Hi ใช้เครื่องยนต์ Hybrid ที่ผสานการทำงานระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า และยังให้ความประหยัดที่ดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่โดดเด่น ที่ผมถือว่าเป็นการผสมผสานการออกแบบเพื่อให้ใช้งานได้อย่างลงตัว โดยเทคโนโลยีทั้ง 4 อย่าง คือ เทคโนโลยี Hybrid ใหม่ ที่ผสานพลังระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อให้ประสิทธิภาพในการขับขี่ที่สูงสุดเทคโนโลยี TNGA หรือ Toyota Global New Architecture สำหรับการออกแบบโครงสร้างตัวถังที่แข็งแกร่ง เพื่อให้ตอบสนองการขับขี่ที่ดียิ่งขึ้น มีจุดศูนย์ถ่วงตํ่า ทำให้ลดอาการโคลง เวลาเข้าโค้งได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว
เทคโนโลยี Toyota Safety Sense ที่เป็นที่สุดแห่งเทคโนโลยีความปลอดภัย เพราะได้รวมเอาระบบความปลอดภัยต่างๆ มาไว้ด้วยกัน อาทิ ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกเลน พร้อมดึงพวงมาลัยกลับอัตโนมัติ ระบบเตือนก่อนการชน ระบบปรับลดไฟสูงอัตโนมัติ และระบบปรับตั้งความเร็วอัตโนมัติ พร้อมเรดาร์ตรวจจับระยะห่างระหว่างรถคันหน้า เป็นต้น เป็นเทคโนโลยีที่ผมเองชื่นชอบ และใช้งานบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเวลาที่ต้องขับรถทางไกล ซึ่งบางครั้งก็มีรถที่แทรกเข้ามาด้านหน้าในระยะใกล้ แต่เรด้าร์ตรวจจับระยะห่างก็ทำงานได้เป็นอย่างดี และลดความเร็วของรถลงแบบรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยครับ
และสุดท้ายเทคโนโลยี T-Connect Telematics ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมต่อตัวรถกับผู้ขับขี่ให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อความสนุกในการขับขี่นั่นเอง โดยคุณสมบัติเด่นของระบบ T-Connect Telematics อาทิ มี Wi-Fi ให้ใช้งานได้อย่างสะดวก มีระบบแจ้งเตือนระยะเข้า
บำรุงรักษารถ ระบบค้นหารถยนต์ ระบบตรวจสอบตำแหน่งในกรณีถูกโจรกรรม หรือระบบแจ้งเตือนขณะจอดรถ และเกิดความผิดปกติขึ้นกับรถ เป็นต้นครับ ผมเองยังไม้ได้ตั้งค่าการใช้งานอะไร เพราะใช้รถช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น แต่สำหรับเจ้าของรถจริงๆ หลายๆ ฟังก์ชั่นมีประโยชน์กับการใช้งานมากครับ
หลายๆ ครั้งที่ขับรถในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น เราอาจจะต้องเบรกอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งต้องแตะเบรกค้างเมื่อเจอสภาพการจราจรที่ติดขัด ฟังก์ชั่น Break Hold ของ C-HR เป็นหนึ่งในฟังก์ชั่นที่ผมชื่นชอบ เพราะช่วยให้ผู้ขับขี่สะดวกมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องแตะเบรกค้างไว้ตลอดในขณะที่รถติด สามารถเข้าเกียร์ และปล่อยเท้าออกจากเบรกได้เลย เมื่อต้องการออกตัว ก็สามารถเหยียบคันเร่งออกตัวไปได้เลยครับ แต่ที่ผมชอบที่สุดคือ ระบบความปลอดภัย อย่างเซ็นเซอร์รอบคันที่แจ้งเตือนมุมอับต่างๆ ทั้งซ้ายและขวา รวมทั้งระบบ Blind Spot Monitor ซึ่งจะแจ้งเตือนที่กระจกมองข้าง เมื่อมีรถตามมาข้างหลัง ในมุมมองที่ไม่เห็นจากกระจกมองข้าง ซึ่งช่วยได้เป็นอย่างดี เมื่อต้องเปลี่ยนเลนนั่นเอง หรือเมื่อรถมีการคร่อมเลนโดยไม่ได้เปิดไฟเลี้ยว ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนจะแจ้งเตือน พร้อมดึงพวงมาลัยให้หมุนกลับมาเลนเดิมแบบเบาๆ ด้วย
ตลอดทั้งเส้นทางนั้น เป็นทางลาดยางทั้งหมด ซึ่งช่วงล่างของ C-HR ได้รับการปรับเซ็ตมาได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว ให้ความนุ่มนวลดีมาก เมื่อขับในเส้นทางปกติ และไม่มีอาการโยกหรือโคลงเมื่อต้องเข้าโค้ง การตอบสนองของพวงมาลัยฉับไวและแม่นยำดีมาก ทำให้ผมเพลิดเพลินกับการเล่นสนุกกับโค้งต่างๆ อยู่พอสมควรทีเดียว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและร้านค้าชุมชน
ผ้าหมักโคลน บ้านนาต้นจั่นนั้น ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างยาวนาน โดยชาวชุมชนนั้น อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจาก เชียงราย, ลำปาง และอุตรดิตถ์ เมื่อกว่า 160 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ และสวนผลไม้ และเมื่อว่างเว้นจากฤดูทำนาทำไร่ ก็จะทอผ้าเอาไว้ใช้ในครอบครัว โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกกันว่า “กี่” และปัจจุบันที่มีการรวมกลุ่มทอผ้านั้น ยังคงใช้กี่พื้นเมืองเป็นอุปกรณ์หลักเช่นเดิม
จุดกำเนิดของผ้าหมักโคลนนั้น ถือเป็นเรื่องบังเอิญที่ชาวนาชาวไร่ออกไปทำนา แล้วผ้านุ่งส่วนล่างก็จะเลอะนํ้าเลอะโคลนอยู่เป็นประจำ และจากการสังเกตของคนรุ่นก่อน และเล่าสู่กันมาจากรุ่นต่อรุ่น โดยสังเกตเห็นว่า เวลาซักทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ใส่ไปทำนา ส่วนที่เปื้อนโคลนนั้นจะมีความนุ่มนิ่มกว่าส่วนที่ไม่เปื้อนโคลน ดังนั้น จากความเป็นคนช่างสังเกต ก็เลยก่อให้เกิด “ผ้าหมักโคลน” ขึ้นมานั่นเอง
ชาวบ้านจะทอผ้าด้วยกี่โบราณตามใต้ถุนบ้านของตัวเอง
กรรมวิธีในการผลิตผ้าหมักโคลนในปัจจุบันนั้น เกิดการพัฒนาคุณภาพในการผลิตให้สูงขึ้น และนํ้ายาที่นำมาย้อมผ้าสีสันต่างๆ นั้น ก็เกิดจากการค้นคว้าและทดลองนำเอาพืชผักที่หาได้ง่ายๆ ในหมู่บ้าน มาผลิตเป็นนํ้ายาสำหรับย้อมผ้า เช่น ใบสะเดา, ใบมะม่วง, ใบเพกา, เปลือกมังคุด หรือลูกมะเกลือ เป็นต้นครับ
ผมโทรสอบถามที่ศูนย์ก่อนที่จะเดินทางมาแล้ว ว่ามีกิจกรรมย้อมผ้าทุกวันหรือไม่ เพราะต้องการภาพถ่ายประกอบคอลัมน์นั่นเอง แต่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ชี้แจงว่า ยังไม่แน่ใจนัก เพราะขึ้นอยู่กับสมาชิกกลุ่มว่ามีผ้าทอที่จะส่งมาฟอกย้อมหรือไม่ แต่ผมวางแผนการเดินทางเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงเดินหน้าต่อไป ไม่มีถอยละครับ วัดดวงกันเลยทีเดียว
ผมเดินทางถึงบ้านนาต้นจั่นในช่วงสายๆ เมื่อเดินทางถึงศูนย์ สอบถามเรื่องการย้อมผ้า เจ้าหน้าที่บอกโชคดีมาก เพราะมีกลุ่มชาวบ้านจากถิ่นอื่นเข้ามาดูงานที่บ้านนาต้นจั่นพอดี เลยมีการสาธิตการต้มและย้อมผ้าให้ดู “จะเข้าบ้านพักก่อนมั๊ยคะ” เจ้าหน้าที่ถามกลับมา ผมเลยบอก “ขอเก็บภาพก่อนละกันครับ” ว่าแล้วก็คว้ากล้อง เดินดุ่มๆ ไปที่เตาต้มด้านหลังศูนย์ ลั่นชัตเตอร์ไปหลายแช๊ะ หลายมุม พร้อมสอบถามรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการในการทำผ้าหมักโคลน
สีย้อมผ้า ได้มาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติใกล้ๆ ตัวนั่นเอง
ผ้าหมักโคลน จากความบังเอิญสู่ภูมิปัญญาที่น่าภูมิใจ
ต้ม เคี่ยว คน เพื่อให้นํ้าสีซึมเข้าเนื้อผ้าอย่างสม่ำเสมอ
เริ่มแรก หลังจากที่ได้ใยผ้า หรือผ้าทอมาจากสมาชิกแล้ว ก็จะนำผ้าเหล่านั้นมาหมักในตุ่มนํ้าโคลนที่เตรียมไว้ โดยนํ้าโคลนนั้น ก็จะมาจากการนำโคลนมากรองเอาส่วนเกินต่างๆ อย่างกรวด หรือหินเล็กๆ น้อยๆ ให้เหลือเฉพาะเนื้อโคลนล้วนๆ จากนั้นจะนำไปผสมกับนํ้าและเกลือตามความเหมาะสม และคนให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน โดยจะใช้เวลาในการหมักประมาณ 3-6 ชั่วโมง จากนั้นก็บิดให้หมาด แล้วนำไปตากให้แห้ง จากนั้นนำผ้ามาล้างนํ้าก่อนจะเอาไปตากให้แห้งแล้วล้างนํ้าซํ้าอีกครั้ง ก่อนที่จะเอาไปย้อมสีตามที่ต้องการอีกที ในกระบวนการย้อมสี จะต้องต้มนํ้าสีให้เดือด นำผ้าลงไป แล้วคนให้สีซึมเข้าเนื้อผ้าอยู่ตลอด ซึ่งการคนผ้าในเตาต้มอยู่ตลอดเวลาก็เพื่อที่จะให้สีย้อมติดเข้าไปในเนื้อผ้าอย่างทั่วถึงนั่นเองครับ หลังจากที่ต้มและคนอยู่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็จะนำผ้าไปล้างนํ้า และนำขึ้นตากให้แห้ง ก่อนที่จะนำไปตัดเย็บเป็นชุดตามที่ต้องการครับ
ผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จรูปแล้ว มีวางจำหน่ายในร้านค้าชุมชน
กว่าจะได้ผ้าหมักโคลนมาสักผืนหรือสักชุด ต้องผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน แต่ละตอนก็ต้องใช้เวลา ไม่สามารถรวบรัด หรือตัดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งออกไปได้ ต้องใช้ทั้งประสบการณ์และความอดทน ดังนั้น จึงเปรียบเสมือนหนึ่งในจิตวิญญาณของชาวชุมชนที่ถ่ายทอดออกมาผ่านเนื้อผ้า ซึ่งเมื่อเทียบถึงราคาจำหน่ายตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน แล้วแต่ชิ้นงาน ก็ถือว่าไม่แพงครับ และเป็นงาน Handmade โดยแท้อีกด้วย
ครั้งนี้ ผมพักที่โฮมสเตย์ในบ้านนาต้นจั่นนั่นเองครับ ซึ่งมีอยู่หลายหลัง ซึ่งไม่ใช่โฮมสเตย์ที่ต่างคนต่างทำ แต่เป็นโฮมสเตย์ที่รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นโฮมสเตย์ขึ้นมา มีการบริหารโดยสมาชิกที่คัดเลือกกันขึ้นมาและกระจายนักท่องเที่ยวที่เป็นลูกค้าไปตามคิวของแต่ละหลัง แต่โฮมสเตย์แต่ละหลัง จะถูกจัดให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
ซึ่งความเป็นมาของกลุ่มโฮมสเตย์นั้น เกิดขึ้นจากการที่คณะกรรมการชุมชนได้รับทุนจากธนาคารเจบิก ให้เดินทางไปดูงานด้านโฮมสเตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้นำกลับมาพัฒนาหมู่บ้านตนเอง จนผ่านการประเมินโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2549 ซึ่งก็ถือเป็นเครื่องการันตีถึงมาตรฐานในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปสัมผัสถึงอัตลักษณ์ของชาวชุมชนที่มีการร่วมไม้ร่วมมือกัน และเป็นชุมชนที่ใช้ชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี
หลังจากที่เก็บภาพกันพอหอมปากหอมคอแล้ว ผมและทีมงานตามน้องอาย เจ้าหน้าที่ของศูนย์เดินทางไปยังโฮมสเตย์ที่เป็นที่พักของพวกเรา ซึ่งเป็นบ้านไม้ยกพื้น โดดเด่นที่มีสะพานไม้สักทอดยาวจากริมถนนเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งโฮมสเตย์หลังนี้มีชื่อว่า “บ้านอชิ” ซึ่งเป็นบ้านของพี่แหม่ม ผู้นำกลุ่มในปัจจุบันนั่นเอง
ช่วงก่อนอาหารเย็น เรานั่งพูดคุยกับพี่แหม่ม เลยได้รู้ว่า ผู้นำชุมชนยุคบุกเบิก และเดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ก็คือคุณแม่ของพี่แหม่มนั่นเอง พี่แหม่มเล่าให้เราฟังว่า ชาวชุมชนส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มญาติๆ กัน ดังนั้น การขอความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ จึงค่อนข้างคุยกันง่าย และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี อีกทั้งการวางพื้นฐานในการจัดการมาตั้งแต่เริ่มต้น จึงทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง จนยากที่กลุ่มนายทุน หรือกลุ่มที่แสวงหาผลประโยชน์เป็นหลัก จะแทรกเข้ามาได้
“เคยมีนายทุนเข้ามาดูพื้นที่ในหมู่บ้าน อยากจะทำรีสอร์ท แต่ชาวบ้านไม่มีใครยอมขายที่ให้ ชาวบ้านไม่ยอม ชาวบ้านไม่ต้องการรีสอร์ท ชาวบ้านอยู่กันแบบเศรษฐกิจพอเพียง” พี่แหม่มเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็เห็นความชัดเจนในความร่วมมือที่เข้มแข็งของชาวชุมชนนั่นเอง
“มื้อเที่ยงเราเป็นข้าวเปิ๊บนะ” ผมบอกทีมงาน “ข้าวเปิ๊บ” เป็นอาหารพื้นบ้าน มีลักษณะเหมือนก๋วยเตี๋ยว แต่ไม่ใช้เส้นแบบตลาดทั่วๆ ไป เส้นข้าวเปิ๊บ จะเป็นแป้งแผ่นบางๆ ที่ได้มาจากการนึ่ง คล้ายๆ กับการทำแผ่นก๋วยเตี๋ยวปากหม้อครับ ไส้ก็จะเป็นผักชนิดต่างๆ พอเส้นสุกแล้วจะวางผักลงไป แล้วก็ใช้แป้งห่อ ใส่ชาม ราดด้วยนํ้าซุป โป๊ะด้วยไข่ดาว เวลาปรุงก็ใช้เครื่องปรุงแบบเดียวกับก๋วยเตี๋ยวนั่นละครับ อร่อยหรือเปล่า ผมคงตัดสินแทนคนอื่นไม่ได้ แต่…ผมจัดไปสองชามครับ แฮ่!!.. แต่ถ้าใครมีความสามารถพิเศษในการรับประทานละก็ จะลอง “ข้าวเปิ๊บล้มยักษ์” ชามใหญ่โตมโหฬาร ก็ไม่ว่ากันครับ นอกจากข้าวเปิ๊บแล้ว ยังมีของกินอย่างอื่น เช่น ข้าวพันไข่, ข้าวพันพริก รวมทั้งก๋วยเตี๋ยวแบบปัจจุบันอีกหลายแบบครับ
ข้าวพันไข่ อีกเมนูหนึ่งที่น่าชิม
ตกคํ่า มื้อเย็นของเรา มาแบบขันโตกกันเลยทีเดียว แต่เมฆฝนที่ตั้งเค้ามาตั้งแต่ช่วงเย็นๆ เริ่มจะประกาศศักดาของตัวเองเข้าแล้ว ลมเริ่มแรงมากขึ้นทุกขณะ ก่อนจะโหมกรรโชก และหอบเอาสายฝนสาดผ่านหน้าบ้านเข้ามาเป็นระยะๆ “เทียนกับไฟแช็กคะ เวลามีพายุไฟดับบ่อยๆ” น้องอายบอก พร้อมยื่นทั้งสองสิ่งให้กับเรา และสักพัก ไฟก็ดับจริงๆ แล้วผมก็ได้สัมผัสกับบรรยากาศเมื่อยามที่ยังเป็นเด็กเล็กๆ อีกครั้ง ..อุ๊บส์!!..ลืมตัวอะครับ เดี๋ยวรู้อายุกันพอดี
เช้าวันใหม่ น้องอายมาที่โฮมสเตย์ตั้งแต่เช้า พร้อมกับชุดใส่บาตร ซึ่งน้องอายมาบอกกับพวกเราไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า พระจะเดินบิณฑบาตประมาณ 6 โมงเช้า บรรยากาศช่วงเช้ากำลังเย็นสบาย กอรปกับได้ฝนเมื่อคืนด้วย พอใส่บาตรเสร็จ ขนมกับกาแฟก็รอเราอยู่ที่ระเบียงบ้านแล้ว “วันนี้จะพาไปทานข้าวเช้าที่บ้านสวนนะคะ” พี่แหม่มบอกกับเรา บ้านสวนที่ว่านี้ เป็นสวนผลไม้ของคุณพ่อพี่แหม่ม ปลูกอยู่เชิงเขา บรรยากาศร่มรื่นและเงียบสงบมากทีเดียว ไฟฟ้าที่ใช้มาจากโซลาร์เซลล์ รอบๆ บ้านพักเป็นผลไม้นานาชนิด ทั้งกล้วย, มะม่วง, ทุเรียน ผมละอยากจะมาช่วงทุเรียนสุกจริงๆ ครับ แต่ตอนนี้ยังอ่อนๆ อยู่ “ทานข้าวเสร็จแล้ว เราไปจุดชมวิวกัน ต้องเดินขึ้นเขาไปอีก 850 เมตร” พี่แหม่มบอกยํ้าอีกครั้งเรื่องจุดชมวิว จากที่เราคุยกันไว้ตั้งแต่เมื่อคืน
จุดชมวิวห้วยต้นไฮ
จุดชมวิวห้วยต้นไฮ สามารถชมวิวได้ทั้งสองด้านคือทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ด้านบนมีที่พักและห้องนํ้าไว้บริการ ซึ่งก่อนที่จะขึ้นมานั้น จะต้องติดต่อศูนย์บริการก่อน และจะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางมาด้วย เพราะจุดชมวิวนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของทริปท่องเที่ยวที่อยู่ในความรับผิดชอบของชุมชนด้วยนั่นเอง “นํ้าที่ใช้ข้างบนนี้ ชาวบ้านขนกันขึ้นมาเอง ดังนั้น ปกติห้องนํ้าจะถูกล็อกไว้ แต่ถ้าหากว่ามีนักท่องเที่ยวขึ้นมา เราก็จะเปิดให้บริการคะ” พี่แหม่มอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับ ที่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน ทำให้การท่องเที่ยวเป็นระเบียบมากขึ้น การจัดการที่เป็นระบบก็จะทำให้ธรรมชาติที่มีอยู่นั้น คงทนถาวรไปชั่วลูกชั่วหลาน ไม่ใช่มาเที่ยวได้ ขนของกินขึ้นมาได้ แต่เก็บกลับลงไปไม่ได้ อีกหน่อยขยะก็ล้น และส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ คงจะไม่มีใครอยากจะเดินขึ้นเขามาเกือบๆ หนึ่งกิโลเมตร เพื่อมาสูดกลิ่นไอธรรมชาติแบบนั้นเป็นแน่แท้
ผมและทีมงานกลับออกจากบ้านนาต้นจั่นด้วยความภูมิใจที่เห็นชาวชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันจนเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง รักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แน่นอนว่านั่นคือหนึ่งในสเน่ห์ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนสถานที่แห่งนี้ และเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ต้องการเสพบรรยากาศวิถีชุมชนโดยแท้ ไม่ใช่แบบสรวลเสเฮฮา เพียงแค่เปลี่ยนที่กิน เปลี่ยนที่คุยกันเท่านั้น
“คันนี้ต่อ wi-fi ได้ด้วยเหรอครับ” หนึ่งในทีมงานที่ไปด้วยถามขึ้นมา เมื่อถูกเปลี่ยนมานั่งด้านหน้า และสังเกตเห็นว่ามีรหัส wi-fi แปะอยู่ที่คอนโซลหน้า “ใช่แล้ว ต่อใช้ได้เลย” ผมตอบกลับไป “สุดยอดดดดด” น้องทีมงานเอ่ยชมด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีในรถ Toyota C-HR 1.8 HV Hi คันนี้ ผมกดคันเร่งเพิ่มขึ้นจากที่ขับเอื่อยๆ อยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ Hybrid เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เมื่อกดคันเร่งหนักขึ้น เครื่องยนต์จะทำงานเสริมกับระบบ Hybrid เพื่อเรียกแรงม้าให้ตอบสนองการขับขี่ที่รวดเร็วขึ้น เป็นจุดหนึ่งที่ผมชื่นชอบในเทคโนโลยีของรถคันนี้ครับ
ทริปต่อไป จะพาไปดูกรรมวิธีในการผลิตเครื่องเบญจรงค์ หนึ่งในเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่ชาวต่างชาติชื่นชอบ ส่วนจะไปกับรถยนต์โตโยต้ารุ่นไหนนั้น พบกันฉบับหน้านะครับ..สวัสดีครับ
การเดินทางไปบ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้าสู่จังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 117 ตรงเข้าสู่จังหวัดพิษณุโลก และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 12 ไปยังจังหวัดสุโขทัย ช่วงจังหวัดสุโขทัย ให้ใช้ทางเลี่ยงเมืองหมายเลข 125 จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 101 มุ่งตรงไปยังอำเภอศรีสัชนาลัย แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหมายเลข 102 จากทางแยก ขับไปประมาณ 4.5 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางเข้าหมู่บ้านทุ่งพล้อ และเลี้ยวขวาตรงสี่แยกก่อนเข้าหมู่บ้าน จากนั้นขับไปตามเส้นทางหลักประมาณ 13 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านนาต้นจั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชน หรือศูนย์ผ้าหมักโคลนบ้านนาต้นจั่นนั่นเอง
เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
? ขอบคุณครับ
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/