TRAVELS

ท่องเที่ยววิถีไทย : หนึ่งเดียวในโลก “ประเพณีวิ่งควาย” จังหวัดชลบุรี

ทะเลงาม ข้าวหลามอร่อย อ้อยหวาน จักสานดี ประเพณีวิ่งควาย เป็นคำขวัญของจังหวัดชลบุรี จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ซึ่ง “ประเพณีวิ่งควาย” หนึ่งในคำขวัญของจังหวัด ถือเป็นประเพณีที่แปลกและมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก จัดขึ้นในพื้นที่ของจังหวัดชลบุรีเท่านั้น โดยมีการจัดกันอย่างต่อเนื่องมากว่า 100 ปี แล้ว โดยแรกเริ่มของประเพณีนี้นั้น เกิดขึ้นจากงานเทศกาลเทศน์มหาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่วัดใหญ่อินทาราม ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองชลบุรีในปัจจุบัน โดยชาวบ้านจะเดินทางมาชุมนุมกันที่วัด และนำเครื่องกัณฑ์ใส่ควายเทียมเกวียน และมาพักที่วัดเพื่อรอการติดกันเทศน์ ซึ่งในระหว่างที่รองานนั้น ชาวบ้านจะนำควายของตนไปอาบนํ้า ล้างตัวที่สระนํ้าภายในวัด ซึ่งในระหว่างที่ต่างคนต่างก็นำควายไปยังสระนํ้านั้น ก็เกิดนึกสนุก จึงได้มีการประลองฝีเท้าควายเกิดขึ้น และถือเป็นการทดสอบความแข็งแรงของควายของตนไปด้วยในตัว จึงกลายเป็นจุดกำเนิดประเพณีวิ่งควายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ขบวนแห่เกวียนกัณฑ์ ก่อนเริ่มพิธีอย่างเป็นทางการ

ประเพณีวิ่งควายนั้น จะจัดเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 14 คํ่า เดือน 11 ซึ่งเป็นวันก่อนออกพรรษาหนึ่งวัน เพื่อเป็นการทำขวัญควายด้วย รวมทั้งเพื่อให้ควายได้พักผ่อนหลังจากตรากตรำกับการงานในท้องนามายาวนาน และมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าถ้าปีไหนไม่มีประเพณีวิ่งควาย หรือไม่ได้มีการจัดวิ่งควาย ในปีนั้น วัว ควายจะเป็นโรคระบาดล้มตาย หรือถ้าเกิดมีควายของใครเจ็บป่วยขึ้นมา เจ้าของควายมักจะนำควายของตนไปบนบานศาลกล่าวกับเทพารักษ์ และเมื่อหายเป็นปกติแล้ว ก็จะต้องนำควายนั้นมาวิ่งแก้บนนั่นเอง

พาหนะในการเดินทางไปชมประเพณีวิ่งควายในครั้งนี้ เป็นรถยนต์ Ativ Sedan 4 ประตู โดย ผมได้รับรถในรุ่น S Plus (S+) ซึ่งเป็นรุ่นท๊อปสุด สีแดงสดใส มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 16 วาวล์ รหัส 3NR-FE4 Dual VVT-i ความจุ 1.2 ลิตร ให้กำลัง 86 แรงม้า ที่ 6000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 108 นิวตัน-เมตร ที่ 4000 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT-i ซึ่งตัวรถได้รับการออกแบบได้สวยงาม แลดูปราดเปรียว จากเส้นสายที่โค้งเรียวตั้งแต่กระจังหน้าขนาดใหญ่ โค้งรับกับชุด ไฟหน้าที่ยาวเรียวลู่ไปข้างหลัง และรับกับชุดไฟท้ายเรียวยาว ทำให้ภาพลักษณ์ของ Ativ แลดูกระฉับกระเฉงและปราดเรียวมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และความปลอดภัยครบครัน โดยเฉพาะถุงลมนิรภัย ซึ่งถือเป็นความโดดเด่นของ Ativ ที่ให้มามากถึง 7 ตำแหน่ง ห้องโดยสารออกแบบได้กว้างขวาง ให้ความรู้สึกโล่ง โปร่งสบาย เบาะนั่งเป็นแบบหนังเดินตะเข็บด้วยด้านแดง ดูสปอร์ตสวยงาม และโอบหุ้มกระชับลำตัวดีทีเดียว พวงมาลัยเป็นแบบปรับไฟฟ้า EPS ปรับความหน่วงตามความเร็วของรถ มีนํ้าหนักหน่วงมือ เมื่อความเร็วรถสูงขึ้น แต่ค่อนข้างหมุนลื่น เมื่อใช้งานในเมืองที่ความเร็วตํ่า ซึ่งก็ช่วยให้ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอย รวมทั้งในยามที่การจราจรหนาแน่นได้อย่างสะดวกดีทีเดียว นอกจากนี้ยังมีปุ่มปรับควบคุมเครื่องเสียง และรับโทรศัพท์จากพวงมาลัยได้อีกด้วย คอนโซลหน้าออกแบบได้สวยงาม โดยวางเส้นสายเป็นรูปตัว S สีดำ Piano Black และเป็นตำแหน่งของอุปกรณ์ใช้งานต่างๆ ทั้งเครื่องเสียง เครื่องปรับอากาศ และอยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้เป็นอย่างดี การเก็บเสียงภายในห้องโดยสารถือว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียวครับ ช่วงล่างรู้สึกถึงความนุ่มหนึบดีทีเดียว โดยในช่วงขาออกนั้นผมใช้เส้นทางด่วนยกระดับ ตัวรถมีการการยึดเกาะถนนที่ดีเยี่ยม เมื่อลองทดสอบเปลี่ยนเลนอย่างกะทันหัน และมีความนุ่มหนึบนั่งกันอย่างสบายๆ ล่ะครับ ส่วนการซับแรงสั่นสะเทือน เมื่อต้องวิ่งผ่านเส้นทางขรุขระ ในเส้นทางบางช่วงของอ่างเก็บนํ้าบางพระ ที่ผมลัดเลาะไปหามุมถ่ายภาพก็ทำได้ดีเช่นกันครับ ถือว่าเป็นการปรับเซ็ตมาได้อย่างดีเยี่ยมล่ะครับ

ระบบเกียร์ของ Ativ นั้นออกแบบให้เลือกใช้ได้ทั้งที่ตำแหน่ง D ซึ่งเป็นตำแหน่งเกียร์สำหรับการขับขี่ปกติ, S สำหรับการขับขี่ที่ต้องการลดความเร็วรถแบบ Engine Breake และ B สำหรับความต้องการ Engine Breake ที่มากขึ้น สำหรับการขับขี่ลงเนินเขาสูงชันนั่นเองครับ การขับขี่ในเส้นทางรอบๆ อ่างเก็บนํ้าบางพระนั้น เป็นเส้นทางแบบ 2 เลนวิ่งสวนทางกัน และเป็นเส้นทางคดเคี้ยว มีรถราใช้งานเยอะเป็นบางช่วง ในช่วงที่ถนนโล่งๆ ผมลองคิ๊กดาวน์ที่ตำแหน่งเกียร์ D เพื่อทดสอบการตอบสนองของเครื่องยนต์ ก็ถือว่าตอบสนองได้เป็นอย่างดีครับ ไม่ได้รวดเร็วฉับไวเหมือนเครื่องยนต์ใหญ่ๆ แต่ก็ไม่ถือว่าอืดซะทีเดียว ซึ่งจริงๆ แล้ว ผู้ขับขี่ก็ต้องรู้สมรรถนะของรถยนต์ที่ตนเองใช้อยู่ล่ะครับ ว่ามีความสามารถขนาดไหน และดึงเอาสมรรถนะที่มีอยู่มาใช้ให้ถูกที ถูกเวลา

สำหรับการแข่งขันวิ่งควายในยุคแรกเริ่มนั้น เป็นเพียงการบังคับให้ควายขณะวิ่งในระยะที่กำหนด โดยมีกติกาว่าห้ามคนขี่ตกจากหลังควายเท่านั้น ก่อนที่จะพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นการวิ่งควายในปัจจุบัน ที่มีการตกแต่งควายด้วยผ้าหลากสีสัน หรือตกแต่งด้วยเครื่องประดับให้แลดูสวยงาม จากนั้นเจ้าของควายจะนำควายมาวิ่งแข่งกันโดยเจ้าของเป็นผู้บังคับขี่หลังควายไปด้วย ท่ามกลางกองเชียร์ที่คอยส่งเสียงเชียร์และลุ้นอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะตอนที่คนขี่ตกหลังควายจะได้รับเสียงเฮมากเป็นพิเศษ

เจ้าของกำลังเช็ดถู ทำความสะอาดเจ้าอั่งเปา เพื่อส่งเข้าประกวดควายสวยงาม ประเภทพ่อพันธ์แม่พันธ์

ประเพณีวิ่งควายในปีนี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-24 ตุลาคม โดยวันแข่งขันวิ่งควายนั้น จัดในวันที่ 23 ตุลาคม ภายในการก็จะมีทั้งการออกร้านของหน่วยงานต่างๆ การจำหน่ายสินค้าโอทอป รวมทั้งการประกวดแฟนซีควายประเภทสวยงามและตลกขบขัน การประกวดควายงามพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์, การประกวดน้องนางบ้านนา, การประกวดสาว (เหลือ)น้อยบ้านนา และการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านประเภทต่างๆ อาทิ การปีนเสานํ้ามัน เป็นต้นครับ

ผมไปถึงสนามแข่งวิ่งควายแต่เช้าตรู่ เพื่อไปดูบรรยากาศต่างๆ ภายในงาน ซึ่งมีเจ้าของควาย นำควายของตนเองมาลงทะเบียนกันเป็นระยะๆ ผมก็เดินเก็บภาพบรรยากาศไปเรื่อยๆ ล่ะครับ ก่อนเปิดงานจะมีขบวนแห่การแห่ริ้วขบวนเกวียนกัณฑ์ ขบวนคำขวัญของจังหวัดชลบุรี รวมทั้งเป็นขบวนอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยของแต่ละอำเภอ และหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย ซึ่งมีการประดับประดาตกแต่งทั้งเกวียนและควายกันอย่างสวยงามครับ

ภายในขบวนแห่ มีทั้งขบวนแห่เครื่องกัณฑ์เทศน์, ขบวนนางงามน้องนางบ้านนา, ขบวนคำขวัญประจำจังหวัด และขบวนของหน่วยงานต่างๆ

ภายหลังพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการจบลง ก็เป็นการเริ่มการแข่งขันวิ่งควายกันเลยล่ะครับ ซึ่งในปีนี้มีการแข่งขันวิ่งควายจำนวน 5 รุ่น ประกอบด้วยรุ่นซุปเปอร์จิ๋ว, รุ่นจิ๋วพิเศษ, รุ่นจิ๋วเล็ก, รุ่นจิ๋วใหญ่ และรุ่นใหญ่ ซึ่งการแข่งขันจะแบ่งเป็นรอบๆ รอบละ 5 ตัว คัดเอาผู้ชนะในแต่ละรอบ เพื่อเข้าไปชิงหาผู้ชนะเลิศในรอบถัดๆ ไป ด้านข้างลู่แข่งควาย มีอัฒจรรย์สำหรับผู้ชม ซึ่งเมื่อใกล้ๆ เวลาก็แน่นขนัดกันเลยทีเดียว ทิปส์เด็ดของการแข่งขันวิ่งควายที่ไม่เหมือนการแข่งขันอื่นๆ คือ เวลาที่นำควายมาแข่ง จะไม่ได้นำมาเฉพาะควายตัวที่ใช้แข่งเท่านั้นครับ แต่จะพามาหมดทั้งครอบครัวของควายตัวนั้น และจัดที่สำหรับครอบครัวควายไว้ที่เต็นท์ด้านหลังเส้นชัยครับ ..ทำไมต้องทำแบบนั้นล่ะ?

ควายที่เป็นฝูงหรือครอบครัวเดียวกับควายที่ลงแข่ง จะถูกนำมาผูกล่อไว้ที่เต็นท์พักด้านหลังเส้นชัย เพื่อล่อให้ควายแข่งวิ่งเข้ามาหานั่นเอง

ก่อนการแช่งขัน เจ้าของควายจะนำควายมาเดินให้คุ้นชินกับสนามแข่ง

หลายๆ ท่านอาจจะสงสัย ..ก็เพราะว่าควายจะวิ่งกลับมายังฝูง หรือครอบครัวของเค้านั่นเองครับ ถ้าไม่มีครอบครัวมาเป็นจุดล่อ ควายก็อาจจะวิ่งกระเจิดกระเจิงไปคนละทิศคนละทาง ไม่วิ่งไปตามลู่วิ่งก็เป็นได้ ถือเป็นกุศโลบายแห่งภูมิปัญญาชาวบ้านจริงๆ ก่อนการแข่งขัน เจ้าของควายหรือผู้ขับขี่ จะนำควายมาเดินตามลู่วิ่ง เพื่อให้ชินกับเส้นทางเสียก่อน จากนั้นก็จะเป็นการซักซ้อมวิ่งก่อนการแข่งขันจริง จุดถ่ายภาพสำหรับผู้ที่สนใจอันดับแรกก็คือ จุดที่อยู่หลังเส้นชัยนั่นแหละครับ เพราะจะเป็นจุดที่มองจากเส้นสตาร์ทได้ตรงๆ และเลนส์ที่ใช้ก็ควรจะเป็นเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ ระยะ 200มม. ขึ้นไป เพราะจะช่วยให้แยกตัวควายกับผู้ขับขี่ออกจากฉากหลังได้ง่าย และได้ภาพขนาดใหญ่ขึ้น โดยไม่ต้องรอให้ควายวิ่งเข้ามาใกล้ๆ เนื่องจากควายอาจจะวิ่งชนได้ โดยเฉพาะควายรุ่นใหญ่ๆ ที่มักจะมีความเร็วมากทีเดียว

ถึงแม้บางตัวผู้ขับขี่จะตกไปแล้ว แต่ควายก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาวิ่งกลับไปหาฝูงของเค้า

บางครั้งผู้ขับขี่ก็อาจจะลงแข่งหลายประเภทก็ได้ ก็ต้องนำควายมาเดินให้ชินสนามทุกตัวที่ขับขี่

การเล็งองค์ประกอบภาพ ก็ไม่ควรหลับตาข้างที่ไม้ได้เล็งในช่องวิวไฟน์เดอร์ ควรจะลืมตาดูระยะจริงของควายที่วิ่งเข้ามาด้วย จะได้เตรียมตัวหลบได้ทัน และเมื่อควายวิ่งเข้ามาใกล้ๆ ก็ควรจะดูทิศทางการวิ่งของควายด้วยว่าเค้าจะไปทางไหน ไม่ใช่ว่าพอควายเข้ามาใกล้ๆ ก็วิ่งออกข้างเลย เพราะอาจจะวิ่งไปทางเดียวกับควายตัวนั้นก็ได้ครับ

ถ่ายภาพแบบแพนกล้อง ให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวที่รวดร็ว

และก็มีอุบัติเหตุแบบนี้เกิดขึ้นทุกๆ ปีเช่นเดียวกัน เหตุการณ์อันตรายอย่างหนึ่งคือ เมื่อมีทั้งผู้ชมและช่างภาพอยู่ในบริเวณเดียวกัน เมื่อต้องวิ่งหลบก็เกิดการชนกันเกิดขึ้นเพราะไม่ได้นัดกันก่อนว่าจะวิ่งไปทางไหน ทำใหเสียหลักล้มก็ได้เช่นกันครับ ทางที่ดี ใช้เลนส์ยาวๆ เมื่อได้ภาพแล้ว ก็ควรหลบไปก่อนที่ควายจะมาถึงดีกว่าครับ

เช้าของอีกวัน ผมมีโปรแกรมไปถ่ายภาพยังจุดท่องเที่ยวยอดฮิตจุดหนึ่งของชลบุรี นั่นคืออ่างเก็บนํ้าบางพระ และเป็นจุดปั่นจักรยานยอดฮิตอีกจุดหนึ่งเช่นกัน ซึ่งมีทางจักรยานให้ปั่นได้รอบบึง และตามรายทางก็จะมีร้านอาหารร้านค้าที่รองรับการบริการนักปั่นด้วย สังเกตได้จากราวแขวนจักรยานนั่นเอง แต่ผมไม่ได้ไปปั่นจักรยานหรอกนะครับ ผมต้องการไปถ่ายภาพนก ซึ่งมีอยู่หลากหลายชนิดทีเดียว ทั้งนกนํ้า และนกป่าล่ะครับ

บรรยากาศในอ่างเก็บน้ำบางพระ ที่จะมีชาวบ้านพายเรือออกเก็บผักหาปลาเป็นกิจวัตรประจำวัน

นั่งร้านหาปลาของชาวบ้านในยามร้างผู้คน ก็จะเป็นที่เกาะพักของเหล่านกน้ำต่างๆ

Ativ เป็นรถที่ออกแบบให้เน้นในเรื่องความประหยัด ซึ่งผมเองเติมนํ้ามันเต็มถังตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ ในราคาตัวเลขเพียง 3 หลัก ขับวิ่งไปวนมาหามุมถ่ายภาพเป็นระยะทางเกือบๆ 200 กิโลเมตร เกจ์นํ้ามันเพิ่งลดลงไปแค่บล็อกเดียวจากทั้งหมด 8 บล็อก ก็ประหยัดได้จริงล่ะครับ ทั้งๆ ที่ผมคิ๊กดาวน์ ทั้งลองเครื่อง ทั้งเร่งแซงอยู่หลายๆ ครั้งเหมือนกัน ก็ถือเป็นรถที่ตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดี ทั้งสมรรถนะของตัวรถ ของเครื่องยนต์ และอัตราการสิ้นเปลืองล่ะครับ

ทริปหน้า ผมยังคงแวะเวียนอยู่ในจังหวัดชลบุรี คราวนี้จะพาไปที่อ่างศิลา แหล่งครกหินลือชื่อ ที่มีคำเล่าลือกันมาว่า ครกหินอ่างศิลา “จำนำได้” ..ฮ๊า จริงดิ!!
แล้วพบกันฉบับหน้าครับ ..สวัสดีครับ…

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/