Lenses Choices for Canon and Nikon
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้หลายคนเลือกซื้อกล้อง DSLR แทนกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลประสิทธิภาพสูงก็คือ การเปลี่ยนเลนส์ได้ของกล้อง DSLR ซึ่งทำให้สามารถขยับขยายการใช้งานด้วยการหาเลนส์ที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพได้ในอนาคต แม้ว่าจริงๆ แล้วกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลส่วนใหญ่แล้วจะติดเลนส์มาให้ในช่วงทางยาวโฟกัสที่เพียงพอสำหรับการถ่ายภาพทั่วไป หรือบางคนที่ซื้อกล้อง DSLR อาจจะไม่เคยซื้อเลนส์มาใช้เพิ่มจากเลนส์ที่มาพร้อมกล้องก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่สนุกและจริงจังกับการถ่ายภาพมากขึ้นกล้อง DSLR จะมีทางเลือกของเลนส์มากมายสำหรับการถ่ายภาพต่างๆ ให้เลือก โดยหลังจากผ่านการถ่ายภาพมาสักระยะหลังจากการซื้อกล้องกับการใช้เลนส์คิตที่มาพร้อมกล้องที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทั่วไปแล้ว ผู้ที่จริงจังกับการถ่ายภาพมักจะเริ่มรู้สึกอยากก้าวไปมากขึ้นในการถ่ายภาพซึ่งนอกเหนือไปจากการศึกษาเรื่องเทคนิคและทักษะการถ่ายภาพแล้วจะมีเรื่องของการมองหาเลนส์เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเพื่อคุณภาพที่สูงขึ้นหรือเหมาะกับวัตถุหรือลักษณะการถ่ายภาพที่ชื่นชอบมากขึ้น ซึ่งจะมีทางเลือกมากมายให้มองหาเพราะคำถามหนึ่งที่มักเกิดเมื่อคิดจะซื้อเลนส์เพิ่มเติมของผู้ถ่ายภาพไม่นานก็คือ เลนส์ที่ซื้อเป็นเลนส์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะซื้อได้หรือไม่ หรือจะมีเลนส์อื่นที่มีออฟติคดีกว่านี้
สำหรับผู้เริ่มถ่ายภาพที่ใช้กล้อง DSLR ของ Canon และ Nikon ต่อไปนี้คือเลนส์ที่ดีที่สุดที่มีความคุ้มค่าในการซื้อทั้งในด้านออฟติคและราคา โดยมีทั้งเลนส์ราคาประหยัดและราคาสูงสำหรับผู้ที่พร้อมจะจ่ายแพงขึ้น และเลนส์จากทั้ง Canon, Nikon รวมทั้งผู้ผลิตเลนส์อิสระเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่คิดจะเพิ่มเลนส์ในกระเป๋าของตนหรือเปลี่ยนเลนส์ใหม่เป็นรุ่นที่สูงขึ้น
Canon EF-S 10-18 mm F4.5-5.6 STM
หากมองหาเลนส์ซูมมุมกว้างขนาดกะทัดรัดสำหรับกล้อง DSLR ที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C นี่คือทางเลือกที่ดี โดยสามารถจับคู่กับกล้องระดับ Entry-Level ได้อย่างดีไม่ว่าจะเป็น EOS 1300D และ EOS 200D รวมไปถึงกล้อง DSLR ระดับสูงขึ้นมาอย่าง EOS 800D หรือ 77D เลนส์ใช้มอเตอร์ Stepping Motor Technology (STM) ซึ่งช่วยให้การโฟกัสเงียบพร้อมกับมีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพที่ชดเชยได้ 4 สตอปจึงทำให้สามารถใช้มือถือกล้องถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ตํ่าได้ถึง 1/5 วินาที แม้เลนส์จะมีเม้าต์เป็นพลาสติดและการโฟกัสแมนนวลแบบอีเล็กทรอนิก แต่ก็ไม่ทำให้ลดความน่าสนใจลงจากสิ่งที่ได้จากเลนส์ในราคาที่ค่อนข้างประหยัด ซึ่งจากทั้งหมดที่ได้จากเลนส์ทำให้ยากที่จะหาเหตุผลในการไม่เพิ่มเลนส์นี้เข้ามาในกระเป๋ากล้องหากกำลังวางแผนที่จะเพิ่มช่วงทางยาวโฟกัสสำหรับถ่ายภาพด้วยการมองหาออฟติคที่ดีในการเก็บสิ่งต่างๆ มากเท่าที่จะเป็นไปได้ไว้ในภาพ และแน่นอนว่าด้วยมุมรับภาพที่กว้างของเลนส์จึงทำให้เหมาะทั้งสำหรับใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์ ภายในอาคาร และสถาปัตยกรรม
Canon EF-S 60 mm F2.8 USM
หากเป็นเจ้าของกล้อง DSLR ของ Canon ที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด APS-C และหลงใหลการถ่ายภาพวัตถุให้มีขนาดในภาพเท่าของจริงหรืออัตราขยาย 1:1 สิ่งที่คุณต้องการคือเลนส์สำหรับการถ่ายภาพมาโครโดยเฉพาะนี้ โดยทางยาวโฟกัสของเลนส์จะเทียบเท่ากับ 96 มม. ในฟอร์แมต 35 มม. และด้วยความที่เป็นเลนส์สำหรับถ่ายภาพมาโครโดยเฉพาะจึงทำให้สามารถถ่ายภาพได้ใกล้สุดที่ระยะ 20 มม. เลนส์ใช้มอเตอร์ Ultrasonic Sonic Motor (USM) ของ Canon ซึ่งหมายถึงการโฟกัสวัตถุที่เงียบ พร้อมกับมีการโค๊ต Super Spectra เพื่อลดอาการแฟลร์และ Ghosting รวมทั้งยังสามารถควบคุมการโฟกัสแบบแมนนวลได้ตลอดเวลา จึงทำให้เลนส์ที่ราคาไม่สูงนี้เต็มไปด้วยการทำงาน นอกจากนี้เลนส์ยังให้ประโยชน์สองต่อจากทางยาวโฟกัสที่เหมาะสำหรับถ่ายภาพพอร์เทรตพร้อมกับที่ให้ฉากหลังวัตถุที่เบลออย่างสวยงามเมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุด เลนส์นี้จึงเป็นออฟติคที่มีความคุ้มค่าด้วยประโยชน์ในการถ่ายภาพ 2 ลักษณะสำหรับผู้ใช้กล้อง APS-C ของ Canon ที่ต้องการเลนส์ที่ใช้งานได้หลากหลายโดยไม่ต้องจ่ายสูงมาก
Canon EF-S 17-55 mm F2.8 USM
แม้จะไม่ใช่เลนส์ EF-S รุ่นใหม่เนื่องจากออกมาค่อนข้างนานแล้ว แต่เลนส์ซูมไวแสงนี้เป็นออฟติคที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้ Canon ที่ต้องการเลนส์รูรับแสงกว้างพร้อมกับให้คุณภาพที่น่าประทับใจ โดยระบบออโตโฟกัสของเลนส์มีความแม่นยำและเงียบ ขณะที่การทำงานลดการสั่นไหวของภาพ IS ช่วยให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้ตํ่ากว่าปกติ 3 สตอป สามารถโฟกัสแมนนวลได้ตลอดเวลา โดยทั่วไปแล้วจัดเป็นเลนส์ที่มีประโยชน์อย่างมากเมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยโดยไม่ต้องการปรับความไวแสงให้สูงขึ้น เลนส์ให้ความคมชัดในระดับที่สูงและดิสทอร์ชั่นน้อย จุดด้อยเดียวของเลนส์นี้คือความคมชัดเมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ช่วงทางยาวโฟกัส 55 มม. และอาการเหลื่อมสีในบางสถานการณ์ แน่นอนว่าการที่เป็นเลนส์ EF-S จึงทำให้เป็นเลนส์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับกล้อง DSLR ใช้เซ็นเซอร์ APS-C ของ Canon และมักได้รับความสนใจจากผู้ใช้กล้องอย่าง EOS 77D, 80D หรือ EOS 7D Mk II
Canon EF 50 mm F1.8 STM
เลนส์ 50 มม. ขนาดเล็กนี้ถูกปรับปรุงจากเลนส์รุ่นเก่าของ Canon ที่ถูกออกแบบมานานแล้ว โดยทำให้มีความทันสมัยขึ้นด้วยการใช้มอเตอร์ Stepper Motor หรือ STM เพื่อให้การทำงานของระบบออโตโฟกัสที่ราบลื่นและเงียบขึ้น สามารถใช้ได้กับทั้งกล้อง DSLR ฟูลเฟรมและ APS-C โดยจะกลายเป็นเลนส์เทเลโฟโตระยะสั้นทางยาวโฟกัส 80 มม. ที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพพอร์เทรตเมื่อติดกับกล้อง APS-C ไม่ว่าจะชอบถ่ายภาพบุคคลหรือวัตถุอื่นที่ต้องการสร้างสรรค์ภาพด้วยฉากหลังที่เบลอ เลนส์นี้สามารถช่วยได้โดยที่ไม่เดือดร้อนกระเป๋าเงิน เลนส์ถูกปรับปรุงจากเลนส์ 50 มม. F1/8 II รุ่นก่อนหน้านี้ให้ใช้ฟิลเตอร์ขนาด 49 มม. และมีวัสดุในการใช้ผลิตเลนส์ที่ดีกว่า แต่ให้ผลลัพธ์ทางออฟติคัลที่เหมือนกัน โดยหากหรี่รูรับแสงจาก F1.8 มาที่ F2.8 จะทำให้ได้รับความคมชัดมากขึ้น และอาการขอบภาพมืดจะหายไปตั้งแต่ F4 เป็นหนึ่งในเลนส์ที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการขยายเลนส์ในการใช้งานมากขึ้นกว่าเลนส์คิต
Canon EF 85 mm F1.4 IS USM
เลนส์เทเลโฟโตระยะสั้นรุ่นใหม่ในตระกูล L ที่น่าสนใจมากสำหรับนักถ่ายภาพพอร์เทรตและ Wedding ที่ต้องการคุณภาพของภาพที่ยอดเยี่ยมกว่าเลนส์ EF 85 มม. F1.8 USM แต่ก็ไม่อยากจ่ายสูงสำหรับเลนส์ที่มีความไวแสงรวมทั้งนํ้าหนักมากกว่าอย่าง EF 85 มม. F1.2L II USM โดยจุดเด่นหลักที่น่าสนใจของเลนส์เทเลโฟโตรุ่นใหม่นี้คือการทำงานลดการสั่นไหวของภาพที่สามารถทำงานเพื่อช่วยให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้ตํ่ากว่าปกติถึง 4 สตอป จึงทำให้เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สูงในสถานที่แสงน้อยอย่างในงานแต่งงานหรือในอาคาร เลนส์ใช้ฟิลเตอร์ขนาด 77 มม. ระยะโฟกัสใกล้สุด 0.85 เมตร พร้อมกับมีซีลป้องกันอากาศจึงช่วยให้ความมั่นใจมากขึ้นในการใช้งานหลากหลายสถานการณ์ จากทั้งหมดนี้ทำให้นี่จะกลายเป็นหนึ่งในเลนส์ยอดนิยมตัวต่อไปสำหรับผู้ใช้กล้องฟูลเฟรมของ Canon
Canon EF 70-300 mm F4-5.6 IS II USM
เลนส์ซูมเทเลโฟโตระยะกลางนี้มีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพ 4 สตอปพร้อมกับมอเตอร์ Nano USM ใหม่เพื่อให้การโฟกัสที่รวดเร็วและเงียบ นอกจากนี้เลนส์มีนํ้าหนัก 720 กรัม ใช้ไดอะแฟรมจำนวน 9 ใบ และมีทางยาวโฟกัสเท่ากับ 112-480 มม. บนกล้อง DSLR ที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพ APS-C อีกสิ่งที่น่าสนใจของเลนส์คือจอ LCD บนกระบอกเลนส์ที่สามารถแสดงข้อมูลได้ 3 โหมดคือ ทางยาวโฟกัสเลนส์ ระดับการสั่นไหวของกล้อง และระยะโฟกัสพร้อมสเกลระยะชัด เป็นหนึ่งในเลนส์ซูมระยะกลางที่เหมาะกับกล้อง DSLR ระดับกลางโดยเลนส์มีความสมดุลย์ทั้งในการพกพาและคุณภาพของภาพ
Canon EF-S 24 mm F2.8 STM
เลนส์แพนเค้กทางยาวโฟกัสเดี่ยวที่มีขนาดเลนส์บางมากนี้เป็นหนึ่งในเลนส์ที่มีราคาถูกมากในตลาด ตัวเลนส์มีความหนาเพียง 22.8 มม. จึงทำให้เป็นหนึ่งในเลนส์ที่สามารถติดกล้องเพื่อถือเดินถ่ายภาพได้ทั้งวันโดยไม่เป็นภาระ เลนส์ที่มีออฟติคน้อยนี้จึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพขณะท่องเที่ยวหรือ Street Photo โดยให้มุมรับภาพเทียบเท่ากับเลนส์ 38 มม. บนกล้อง APS-C ของ Canon ที่เลนส์ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ แม้เลนส์จะแสดงอาการขอบภาพมือที่รูรับแสงกว้างรวมทั้งดิสทอร์ชั่น แต่ทั้ง 2 สิ่งนี้สามารถแก้ไขได้ง่ายด้วยซอฟต์แวร์ จุดเด่นที่สำคัญของเลนส์คือมีการโฟกัสที่แม่นยำและให้ทั้งความคมชัดและรายละเอียดที่สมํ่าเสมอในภาพ ด้วยราคาที่ไม่สูง ขนาดกะทัดรัดพกพาสะดวก และประสิทธิภาพด้านภาพที่ค่อนข้างสูง ทำให้นี้คือหนึ่งเลนส์ที่ผู้ใช้กล้อง APS-C น่าจะมีไว้ในลิสต์เมื่อจะซื้อเลนส์เพิ่ม
Canon EF 24-105 mm F4L II USM
เป็นเลนส์ที่มาแทนที่หนึ่งในเลนส์สำหรับกล้องฟูลเฟรมที่ขายดีที่สุดของ Canon ซึ่งออฟติคมีอายุมากกว่า 10 ปีแล้วอย่าง EF 24-105 มม. F4L USM เลนส์ได้รับการออกแบบออฟติคัลใหม่จึงทำให้มีความคมชัดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ขอบภาพพร้อมกับมีดิสทอร์ชั่นแบบ Barrel น้อลงที่ช่วงทางยาวโฟกัสกว้างสุดของเลนส์ อาการขอบภาพมืดไม่รุนแรงนัก และเลนส์ใช้ระบบได้อะแฟรมอีเล็กทรอนิก EDM ที่ให้ความราบลื่นขึ้นและเงียบขึ้นในการเปลี่ยนรูรับแสงระหว่างถ่ายวิดีโอ เป็นเลนส์ 24-105 มม. สำหรับฟูลเฟรมที่ดีที่สุดของ Canon แต่ว่าจะไม่ได้ให้ความคมสูงจนน่าประทับใจอย่าง EF 24-70 มม. F2.8L II USM
AF-S Nikkor 70-200 mm F4 G ED VR
หากสิ่งที่มองหาสำหรับกล้องคือเลนส์เทเลซูมอเนกประสงค์ที่มีความคมชัดสูงเท่าที่จะเป็นไปได้ แน่นอนว่าเป้าหมายที่ถูกเล็งเอาไว้ย่อมเป็นเลนส์ซูมที่มีรูรับแสงกว้างสุดคงที่ แต่หากไม่ต้องการแบกเลนส์นํ้าหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัมอย่าง 70-200 มม. F2.8 ไปไหนมาไหนทั้งวันก็จะพบว่าเลนส์ในรุ่น F4 นี้คือทางออก เลนส์มีความคมชัดอย่างน่าประทับใจพร้อมกับการโฟกัสที่รวดเร็ว และการทำงานลดการสั่นไหวของภาพ VR เจนเนอเรชั่นที่ 3 ที่ช่วยให่สามารถใช้มือถือกล้องถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ 4 สตอป นอกจากนี้เลนส์ยังสามารถใช้ร่วมกับเทเลคอนเวอร์ขนาด 1.4x และ 2x ของ Nikon ได้ และแม้จะไม่ได้มาพร้อมกับเลนส์แต่ก็มี Collar สำหรับติดขาตั้งกล้องมาให้ซื้อเป็นอุปกรณ์เสริม
AF-S Nikkor 24-70 mm F2.8E ED VR
บางครั้งสิ่งที่ดีที่สุดเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ และเลนส์นี้คือสิ่งนั้นสำหรับการเป็นเลนส์ซูมมาตรฐานสำหรับกล้อง DSLR ฟูลเฟรมของ Nikon เพราะนี่คืออุปกรณ์สำหรับโปรรุ่นล่าสุดจาก Nikon ที่เพิ่มการทำงานลดการสั่นไหวของภาพเข้ามาและใช้ไดอะแฟรม Electromagnetic ซึ่งมีการปรับปรุงการทำงานเมื่อถ่ายภาพในโหมด Live View หรือสำหรับการถ่ายวิดีโอ ด้วยจำนวนของชิ้นเลนส์คุณภาพสูงและการโค๊ตที่ยอดเยี่ยมทำให้เป็นเลนส์ที่เหมาะสำหรับใช้ร่วมกับกล้อง DSLR ความละเอียดสูงอย่าง D850 ที่มีความละเอียด45.7 ล้านพิกเซล รวมทั้งยังสามารถใช้ร่วมกับกล้อง DSLR ฟอร์แมต DX ของ Nikon หรือกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพ APS-C ได้โดยจะมีทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับ 36-105 มม. พร้อมด้วยระบบออโตโฟกัสที่มีความเร็วสูงและคุณภาพในการผลิตที่สูงของเลนส์ทำให้นี่คือการรวมเอาสิ่งที่ยอดเยี่ยมไว้ด้วยกันอย่างแท้จริง
AF-S DX Nikkor 16-85 mm F3.5-5.6G ED VR
หากต้องการมากกว่าเลนส์ซูม 18-55 มม. ที่มาพร้อมกับกล้อง เลนส์นี้จะเป็นการอัพเกรดที่ดี เพราะสามารถให้ได้ทั้งช่วงซูมที่มากขึ้นตั้งแต่ช่วงทางยาวโฟกัสมุมกว้างเทียบเท่ากับ 24 มม. ไปจนถึงช่วงเทเลโฟโตที่ 128 มม. พร้อมกับให้ประสิทธิภาพทางออฟติคัลที่ดี และยังมีมอเตอร์โฟกัส Ultrasonic-type ที่รวดเร็วรวมทั้งการทำงานลดการสั่นไหวของภาพ เลนส์รุ่นนี้ถูกจำหน่ายมาเป็นเวลาพอสมควรแล้วซึ่งหมายความว่าอาจจะมีราคาไม่สูงนัก แต่หากมีงบประมาณที่มากขึ้นเลนส์ AFS DX Nikkor 16-80 มม. F2.8-4E ED VR ก็จะให้ความแตกต่างที่เหนือขึ้นไปอีกกับรูรับแสงกว้างสุดที่ไวแสงขึ้นรวมทั้งออฟติคของเลนส์ที่โดดเด่น
AF-P DX Nikkor 70-300 mm F4.5-6.3 G ED VR
เลนส์ซูมเทเลโฟโตมักเป็นเลนส์ทางเลือกแรกๆ สำหรับผู้ใช้กล้อง DSLR ที่จะซื้อมาใช้เพิ่มเติมจากเลนส์คิต 18-55 มม. ที่มาพร้อมกับกล้อง ซึ่งจะมีทางเลือกมากมายของเลนส์ในช่วงซูมนี้ที่นักถ่ายภาพต้องตัดสินใจ เฉพาะเลนส์จาก Nikon เท่านั้นก็มีถึง 6 ตัวเลือกสำหรับกล้อง DSLR ฟอร์แมต DX โดยเลนส์ซูมเทเลโฟโตสำหรับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด APS-C โดยเฉพาะที่ได้รับการอัพเดทล่าสุดคือ AF-P 70-300 มม. F4.5-6.3 VR ที่มีขนาดเลนส์กะทัดรัด พร้อมการทำงานลดการสั่นไหวของภาพซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับการซูมไปที่ช่วงเทเลโฟโตยาวๆ และมอเตอร์ AF-P ที่ช่วยให้ระบบออโตโฟกัสมีความเร็วและเงียบซึ่งทำให้เหมาะสำหรับการถ่ายวิดีโอ อย่างไรก็ตามเลนส์ที่มีตัวอักษร AF-P รวมอยู่ในรหัสเลนส์ด้วยหมายความว่าไม่สามารถใช้ร่วมกับกล้อง DSLR รุ่นที่มีอายุหรือเก่า ทำให้หากกล้องที่ใช้อยู่เป็นรุ่นเก่ากว่า 5 ก็จะต้องเลือกเลนส์ AF-S DX Nikkor 55-300 มม. F4.5-5.6G ED VR แทน
AF-S Nikkor 85 mm F1.8G
หากต้องการยกระดับการถ่ายภาพคนไปอีกขั้น เลนส์เทเลโฟโตระยะสั้นทางยาวโฟกัสเดี่ยวรูรับแสงกว้างคือสิ่งที่จะช่วยได้เลนส์ AF-S 85 มม. F1.8 ของ Nikon นี้ให้คุณภาพที่สูงในราคาที่สมเหตุสมผล พร้อมด้วยระบบออโตโฟกัสที่รวดเร็วและออฟติคที่ให้ความคมชัด เลน์ใช้รูรับแสงที่มีไดอะแฟรมวงกลม 9 ใบจึงให้ส่วนเบลอที่ฉากหลังน่าประทับใจ ตัวเลนส์เหมาะสำหรับใช้กับทั้งกล้อง DLR ฟูลเฟรมและฟอร์แมต DX โดยจะให้มุมรับภาพเทียบเท่ากับเลนส์ 135 มม. บนกล้อง APS-C หากต้องการสิ่งที่ดีกว่านี้ก็จะต้องลงทุนกับเลนส์ 85 มม. F1.4
AF-S DX Nikkor 35 mm F1.8G
เลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวรูรับแสงกว้างที่จะช่วยให้สามารถถ่ายภาพในอาคารได้โดยไม่ต้องใช้แฟลช หรือช่วยให้ได้ฉากหลังที่เบลอ เลนส์เดี่ยว 35 มม. ขนาดเล็กนี้ไม่เพียงเด่นที่เป็นทางเลือกที่มีราคาประหยัดสำหรับผู้ใช้กล้อง Nikon ฟอร์แมต DX ของเท่านั้น แต่เลนส์ยังมีความคมชัดสูงและให้มุมรับภาพเทียบเท่ากับเลนส์ 50 มม. ของกล้องฟูลเฟรมจึงทำให้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพหลากหลายแบบตั้งแต่ภาพ Street Photo ไปจนถึงภาพพอร์เทรต โดยหากต้องการเลนส์ที่สามารถใช้ร่วมกับกล้องฟูลเฟรมได้ก็จะต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่าสำหรับเลนส์ที่มีชื่อเหมือนกันคือ AF-S Nikkor 35 มม. F1.8G คุณสมบัติอื่นของเลน์คือสามารถโฟกัสได้ใกล้สุด 30 มม. ใช้ฟิลเตอร์ขนาด 52 มม. และใช้ฮูดเลนส์รุ่น HB-46 ของ Nikon
AF-P DX Nikkor 10-20 mm F4.5-5.6G VR
ผู้ใช้กล้อง DSLR เซ็นเซอร์ภาพ APS-C ของ Nikon ที่อยากได้เลนส์ซูมมุมกว้างนํ้าหนักเบา ราคาไม่แพงมานานจะสิ้นสุดการรอคอยกับเลนส์ซูม 10-20 มม. นี้ แม้ออฟติคัลของเลนส์จะไม่โดดเด่นแต่ก็อยู่ในระดับที่ดี ที่สำคัญคือเลนส์มีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ตามด้วยการที่เลนส์ถูกออกแบบให้เป็นเลนส์ AF-P จึงหมายถึงว่าสามารถใช้ร่วมกับกล้อง DSLR รุ่นใหม่ๆ ของ Nikon เท่านั้น ดังนั้นอย่าเพียงแค่เห็นช่วงซูมและราคาแล้วซื้อทันที แต่ควรตรวจสอบดูก่อนกว่ากล้องที่ใช้อยู่สามารถใช้งานร่วมด้วยได้หรือไม่หากไม่ใช่กล้องรุ่นใหม่นัก ซึ่งหากสามารถใช้ร่วมด้วยได้เลนส์ซูมมุมกว้างนี้จะมาช่วยเติมเต็มให้แก่เลนสฺคิตสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ภายในอาคาร และสถาปัตยกรรมที่มักต้องการเต็มสิ่งต่างๆ ไว้ในภาพให้มากที่สุด
AF-S Nikkor 50mm F1.8G
ในอดีตเลนส์ 50 มม. หรือเลนส์มาตรฐานเคยถูกจำหน่ายพร้อมกับกล้องฟิล์ม 35 มม. ในลักษณะเป็นเลนส์สำหรับถ่ายภาพทั่วไปเหมือนเลนส์คิตในปัจจุบัน แต่ก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นเลนส์ซูมภายหลัง และเลนส์นี้ก็ถูกมองข้ามจากนักถ่ายภาพมานานในช่วงเวลาหลังจากนั้น แต่อย่างไรก็ตามไม่นานมานี้เลนส์มาตรฐานได้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งสำหรับใช้ร่วมกับกล้อง DSLR ที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพ APS-C จากลักษณะของเลนส์นี้คือมักมีขนาดเล็ก นํ้าหนักเบา และราคาถูก แต่ที่สำคัญคือมีความคมชัดสูง และเหมาะสำหรับใช้ถ่ายภาพพอร์เทรต เลนส์ AF-S 50 มม. F1.8G เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้และยังสามารถใช้ร่วมกับกล้องฟูลเฟรมได้ด้วย อย่างไรก็ตามหากจะซื้อเลนส์ 50 มม. F1.8 ควรดูให้ดีและอย่าสับสนกับเลนส์ AF 50 มม. F1.8D ที่มีราคาถูกกว่าซึ่งไม่สามารถทำงานออโตโฟกัสร่วมกับกล้อง Nikon ซีรี่ส์ D3000 และ D5000 ซึ่งเป็นกล้องระดับ Entry-level ได้ โดยเลนส์ 50 มม. F1.8G ใช้ฟิลเตอร์ขนาด 58 มม. และประกอบด้วยเลนส์ 7 ชิ้นใน 6 กลุ่มในโครงสร้าง
Tamron 10-24 mm F3.5-4.5 Di II VC HLD
กับเลนส์ซูมที่ขายพร้อมกล้อง DSLR ใช้เซ็นเซอร์ APS-C ส่วนใหญ่ที่มีช่วงเริ่มต้นของซูมที่ 18 มม. ซึ่งไม่ให้มุมรับภาพที่กว้างมากนัก เลนส์ซูมมุมกว้างจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์การเติมเต็มเลนส์คิตสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์และสถาปัตยกรรม เลนส์ซูมมุมกว้าง 10-24 มม. จัดเป็นหนึ่งในไม่กี่รุ่นของเลนส์ประเภทนี้ที่มีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพซึ่งช่วยให้สามารถใช้มือถือกล้องถ่ายภาพได้ด้วยความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ โดยเลนส์ยังมีโครงสร้างที่ป้องกันความชิ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับนักถ่ายภาพที่มักถ่ายภาพกลางแจ้งในสภาพอากาศต่างๆ นอกจากนี้ออฟติคัลของเลนส์ยังมีความโดดเด่น แม้ว่าจะให้ผลลัพธ์ดีที่สุดเมื่อถ่ายภาพแบบ RAW เพื่อจัดการลดความคลาดสีและดิสทอร์ชั่นภายหลังการถ่ายภาพ ดีไซน์ภายนอกของเลนส์เรียบๆ ไม่โดดเด่นตามอย่างเลนส์รุ่นใหม่ๆ ของ Tamron เลนส์ใช้มอเตอร์ High/Low Torque Modulated Drive แบบใหม่เพื่อช่วยให้ระบบออโตโฟกัสมีความรวดเร็วขึ้น
Sigma 50mm F1.4 DG HSM Art
หากมองหาเลนส์ในเลนส์ 50 มม. ที่ดีที่สุด นี่คือหนึ่งในนั้น เลนส์นี้ไม่ได้มีความโดดเด่นที่ขนาดเล็ก นํ้าหนักเบา แต่ให้คุณภาพของภาพที่สูง เหมาะทั้งสำหรับการถ่ายภาพและวิดีโอ เลนส์ใช้ระบบ Hyper Sonic Motor (HSM) ของ Sigma เพื่อให้การโฟกัสมีทั้งความเร็วและเงียบ รวมทั้งใช้ชิ้นเลนส์กระจายแสงตํ่าเป็นพิเศษ Special Low Dispersion (SLD) เพื่อให้ความั่นใจถึงความคมชัดที่สูง ไฮไลต์ในส่วนพ้นระยะชัดที่รูรับแสงกว้างสุดถ่ายทอดออกมาได้อย่างสวยงาม ส่วนโครงสร้างเลนส์อยู่ในระดับพรีเมียมตามแบบเลนส์ในตระกูล Art ของ Sigma เลนส์ให้การจับถือที่ดีกับกล้อง DSLR ที่มีกริปขนาดใหญ่อย่าง Canon EOS 5D Mk IV และ Nikon D850 แต่เมื่อใช้ร่วมกับกล้อง APS-C ก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจในทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับ 75 มม. บนกล้อง Nikon และ 80 มม. บนกล้อง Canon จัดเป็นเลนส์ที่ให้ความคุ้มกับสิ่งที่จ่ายไป
Sigma 100-400 mm F5.6-6.3 DG OS HSM Contemporary
เป็นเลนส์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับกล้อง APS-C โดยเฉพาะนี้น่าสนใจสำหรับนักถ่ายภาพในระดับจริงจังที่กำลังมองหาเลนส์เทเลโฟโตสำหรับการถ่ายภาพอย่างจริงจังตัวแรก ด้วยการทำงานลดการสั่นไหวของภาพแบบออฟติคัล ไดอะแฟรมแบบ 9 ใบ วงแหวนซูมขนาดใหญ่และการทำงานล็อกตำแหน่งซูมที่ 100 มม. หมายความว่าเลนส์นี้มีการทำงานที่จำเป็นที่นักถ่ายภาพควรมองหาในเลนส์ซูมเทเลโฟโตคุณภาพสูง จะมีจุดด้อยเฉพาะในเรื่องคุณภาพการผลิตและการใช้งานในบางด้านเนื่องจากเลนส์ไม่มีการซีลป้องกันอากาศและไม่มีวงแหวนติดขาตั้งกล้องหรือเกลียวขนาด 1/4 นิ้วสำหรับใช้ร่วมกับขาตั้งกล้อง ตัวเลนส์และฮูดของเลนส์ถูกออกแบบมาให้ใช้งานในลักษณะดึงเข้า-ออก คุณภาพสูงสุดของเลนส์อยู่ที่ประมาณ F8 นี่คือหนึ่งในทางเลือกที่ดีที่สุดในราคาที่ไม่สูงสำหรับผู้ที่มองหาเลนส์ซูมที่ครอบคลุมทางยาวโฟกัสถึงช่วงเทเลโฟโตที่มีคุณภาพทางออฟติคัลที่ดี และมีนํ้าหนักเบา
Sigma 50-100 mm F1.8 DC HSM Art
ด้วยตัวอักษร DC ของเลนส์หมายความว่าเลนส์ซูมจาก Sigma นี้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้ร่วมกับกล้องที่มีเซ็นเซอร์ภาพ APS-C จึงทำให้ช่วงซูมของเลนส์ครอบคลุม 3 ทางยาวโฟกัสยอดนิยมสำหรับการถ่ายภาพพอร์เทรตคือ 85, 100 และ 135 มม. ในเลนส์ตัวเดียว พร้อมกับที่มีรูรับแสงกว้างสุดความไวแสงสูงถึง F1.8 ตลอดช่วงซูม จึงทำให้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับที่ต้องการลดภาระเรื่องนํ้าหนักอุปกรณ์ถ่ายภาพ อย่างไรก็ตามด้วยการที่ไม่มีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพจึงทำให้นักถ่ายภาพต้องรองรับการสั่นไหวของกล้องด้วยตัวเองหรือใช้ขาตั้งกล้องเพื่อป้องกันการสั่นของกล้อง เลนส์ให้คุณภาพที่น่าประทับใจตลอดช่วงซูม แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระวังขณะใช้ถ่ายภาพคือกับกล้อง APS-C รุ่นเล็กจะรู้สึกหรือหนักที่ด้านหน้าขณะถือ เลนส์นี้สามารถจับคู่ได้อย่างลงตัวกับเลนส์ซูม 18-35 มม. F1.8 ของ Sigma ในการเป็นเลนส์ซูมสำหรับกล้อง APS-C แม้จะมีราคาที่ค่อนข้างสูงแต่ก็เป็นเลนส์ที่น่าสนใจ
Tamron SP AF 17-50 mm F2.8 XR Di II VC LD Aspherical (IF)
ในขณะที่นักถ่ายภาพบางส่วนอัพเกรดเลนส์ที่มาพร้อมกับกล้องเป็นเลนส์ที่มีช่วงซูมยาวขึ้น แต่นักถ่ายภาพบางส่วนจะเลือกเลนส์ที่มีออฟติคัลประสิทธิภาพสูงพร้อมกับรูรับแสงกว้างแทน ซึ่งเลนส์ Tamron 17-50 มม. F2.8 คือตัวอย่างที่ดีของเลนส์สำหรับการอัพเกรดในลักษณะหลัง แถมยังมีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพแบบออฟติคัลมาให้ซึ่งเป็นการเพิ่มความอเนกประสงค์ในการใช้งานให้มากขึ้นสำหรับกล้อง DSLR ของ Canon และ Nikon ขณะที่รุ่นเก่าที่ไม่มีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพก็ยังคงมีจำหน่ายอยู่ในหลายเม้าต์ เลนส์มีการโฟกัสที่รวดเร็ว แต่จุดด้อยคือด้วยการออกแบบของเลนส์ที่ทำมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้วทำให้วงแหวนโฟกัสแมนนวลของเลนส์หมุนในขณะที่ระบบออโตโฟกัสทำงาน นอกจากเลนส์จาก Tamron แล้วเลนส์ 17-50 มม. F2.8 EX DC HSM ที่มีทั้งช่วงซูมและรูรับแสงกว้างสุดเท่ากันจาก Sigma ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี
Tamron 18-200 mm F3.5-6.3 Di II VC
เลนส์ซูเปอร์ซูมหรือเลนส์ที่มีช่วงซูมสูงได้รับความสนใจจากนักถ่ายภาพจากความสามารถในการถ่ายภาพได้ครอบคลุมวัตถุที่หลากหลายโดยไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์ แต่โดยทั่วไปแล้วเลนส์ซูมลักษณะนี้มักมีราคาที่แพง จึงเป็นสาเหตุให้เลนส์ซูเปอร์ซูมจาก Tamron นี้น่าสนใจเพราะมีราคาที่ประหยัดกว่าเลนส์จากผู้ผลิตอื่นพอสมควร โดยที่ไม่ได้มีประโยชน์ในการถ่ายภาพด้อยกว่าเลนส์เทเลโฟโตเพราเลนส์มีทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับ 28-300 มม. อย่างไรก็ตามสิ่งที่เลนส์นี้เหมือนกับเลนส์ซูเปอร์ซูมทั่วไปที่ต้องแลกช่วงซูมกับคุณภาพทางออฟติคัล โดยความคมชัดที่ช่วงเทเลโฟโตจะน้อยกว่าช่วงมุมกว้าง แต่ก็ไม่แตกต่างไปกว่าเลนส์แบบเดียวกันที่มีราคาแพงกว่า จึงหมายความว่าในการเป็นเลนส์อเนกประสงค์นี่คือเลนส์ที่มีความคุ้มราคาโดยไร้คู่แข่ง ตัวอักษร Di-II ของเลนส์หมายถึงเลนส์ถูกออกแบบมเพื่อกล้อง DSLR ใช้เซ็นเซอร์ภาพ APS-C ขณะที่ตัวอักษร VC หมายถึง Vibration Compensation หรือการทำงานลดการสั่นไหวของภาพ และเพื่อช่วยให้ใช้งานได้มั่นใจขึ้นในสถานการณ์ถ่ายภาพต่างๆ เลนส์มีการซีลป้องกันความชื้นที่โครงสร้างเพื่อป้องกันเลนส์จากการเปียกฝนโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งทำให้เลนส์มีความคุ้มราคายิ่งขึ้น
Tamron 60 mm F2 Di II Macro
หากเลนส์ที่มองหาสำหรับกล้อง DSLR เซ็นเซอร์ภาพ APS-C คือเลนส์มาโครที่มีราคาไม่สูงนัก เลนส์ Tamron 60 มม. F2 Di II LD (IF) เป็นเลนส์จากผู้ผลิตอิสระที่เป็นทางเลือกที่ดี โดยเลนส์สามารถให้อัตราขยาย 1:1 มีรูปทรงที่จับถือได้ดี ระบบโฟกัสแบบเคลื่อนชิ้นเลนส์ภายใน และหน้าต่างแสดงสเกลระยะโฟกัสของเลนส์ แต่สิ่งที่ควรรู้ก็คือระบบออโตโฟกัสของเลนส์ไม่เร็วนักและไม่เงียบในขณะที่หาโฟกัส เลนส์ให้คุณภาพที่ยอดเยี่ยมเมื่อหรี่รูรับแสงลงมาที่ F2.8 และสามารถควบคุมความคลาดสีได้ดี นอกจากจะเป็นเลนส์ที่มีประโยชน์ในการถ่ายภาพมาโครแล้ว ยังเหมาะสำหรับเป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวเพื่อถ่ายภาพพอร์เทรตด้วย โดยเลนส์จะให้เพอร์สเปคทีฟเหมือนเลนส์ 90 มม. ของกล้องฟูลเฟรม หากมองหาเลนส์มาโครแท้ๆ ที่มีรูรับแสงกว้างขนาดนี้ในตลาดในงบที่จำกัด คงไม่มีทางเลือกใดที่ดีไปกว่านี้
Tamron SP 85 mm F1.8 Di VC USD
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานักถ่ายภาพได้เห็นสิ่งใหม่ๆ หลายอย่างจากผู้ผลิตเลนส์อิสระ ซึ่งเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยในชุด SP (Special Performance) ของ Tamron ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราเป็นเลนส์ที่รวมเอาทั้งความไวแสงของรูรับแสงกว้างสุด F1.8 เอาไว้กับการทำงานลดการสั่นไหวของภาพที่ไม่มีมาก่อน นอกจากนี้ยังมีราคาที่สามารถจับต้องได้สำหรับนักถ่ายภาพในระดับที่จริงจังด้วย เลนส์ 85 มม. นี้จึงเป็นเหมือนเลนส์ในฝันสำหรับนักถ่ายภาพโดยเฉพาะผู้ที่ชอบถ่ายภาพพอร์เทรตทั้งสำหรับกล้องฟูลเฟรมและ APS-C โดยเลนส์จะมีเม้าต์ Canon, Nikon และ Sony
แปล / เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)
หรือสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://fotoinfo.online/all-about-photo/basic