แน่นอนว่าหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้ภาพนกได้รับความสนใจจากผู้ดูภาพคือเลนส์ เพราะหากใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต 800 มม. จะช่วยให้สามารถถ่ายภาพนกที่มีขนาดใหญ่โดดเด่นในภาพได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเพียงแค่นี้จะเพียงพอ เนื่องจากหากนักถ่ายภาพไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จะทำให้เกิดภาพถ่ายนกที่ดี โอกาสที่เกิดขึ้นคือการถ่ายภาพต่อเนื่องจำนวนมากแล้วหวังผลว่าภาพนั้นจะออกมาดี ซึ่งผลที่ออกมามักจะเป็นเพียงแค่การบันทึกภาพทั่วไป ต่อไปนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพนกซึ่งจะช่วยให้นักถ่ายภาพเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดภาพนกที่ดี
ไม่จำเป็นต้องมีเลนส์ราคาแพงเพื่อถ่ายภาพนก
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาพถ่ายนกที่ยอดเยี่ยมคือสิ่งต่อไปนี้ คุณภาพและทิศทางของแสง, องค์ประกอบภาพ, ความรู้เกี่ยวกับนกและพฤติกรรมของมัน, ฉากหลัง, ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้, ค่าบันทึกภาพที่ถูกต้อง, ตำแหน่งของนักถ่ายภาพ รวมทั้งความอดทน ความสังเกต และการฝึกฝนรวมทั้งความชอบจะเห็นได้ว่ามีหลายสิ่งที่ทำให้เกิดภาพนกที่ดี ขณะที่ในส่วนของอุปกรณ์กล้องซึ่งใช้เซ็นเซอร์ภาพ APS-C ที่มีประสิทธิภาพดีพร้อมกับเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงตั้งแต่ 300 มม. ขึ้นไปก็เพียงพอสำหรับการถ่ายภาพนก โดยสิ่งสำคัญที่นักถ่ายภาพควรเข้าใจคือ การถ่ายภาพนกมีมากกว่าแค่กล้องและเลนส์ทางยาวโฟกัสสูง แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่ายิ่งเลนส์มีทางยาวโฟกัสสูงขึ้นก็จะช่วยให้ถ่ายภาพนกที่มีความหวาดระแวงได้ง่ายขึ้น เพียงแต่ว่าตัวเลนส์ไม่สามารถทำให้เกิดภาพนกที่ยอดเยี่ยมได้ แต่หากนักถ่ายภาพไม่ได้มีเลนส์เทเลโฟโตทางยาวโฟกัสสูงๆ ก็ไม่ได้หยุดนักถ่ายภาพจากการถ่ายภาพนกที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงหากไม่สามารถใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโตทางยาวโฟกัสสูงก็ไม่ได้หมายความว่านักถ่ายภาพจะถ่ายภาพนกบางชนิดที่เด่นในภาพได้
ให้ความสำคัญกับตา
เมื่อดูภาพนก สิ่งหนึ่งที่ผู้ดูภาพอยากเห็นคือดวงตา เพราะโดยทั่วไปแล้วตาเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับการมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันเมื่อถ่ายภาพนก โดยหากไม่มีแสงหรือประกายที่ตาจะทำให้ภาพนั้นดูขาดชีวิตหรือลดความน่าสนใจลงไป โดยนกจะดูมีชีวิตชีวาขึ้นเมื่อปรากฏแสงในดวงตาหรือประกายในตา อย่างไรก็ตามต่อไปคือสิ่งสำคัญเพื่อเน้นความสำคัญกับประกายในตาของนกคือ พยายามถ่ายภาพโดยที่โฟกัสให้ตาของนกคมชัดเสมอ, สังเกตว่ามีประกายตาที่นกหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะเกิดขึ้นได้ง่ายหากแสงเข้าที่ด้านหน้าของนก และพยายามถ่ายภาพนกในระดับสายตาหรือใกล้เคียงที่สุด
แสงและองค์ประกอบภาพ
การถ่ายภาพเกี่ยวกับแสง โดยเฉพาะแสงในบางลักษณะจะช่วยให้ภาพถ่ายมีความสวยงามได้ แสงในช่วงเช้าและบ่ายมักเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับถ่ายภาพนก เนื่องจากมีลักษณะของแสงที่อ่อนรวมไปถึงมักเป็นช่วงเวลาที่นกทำกิจกรรมต่างๆ ด้วย
แสงที่มีลักษณะซอฟต์ในช่วงเช้าหรือบ่ายมีคุณสมบัติที่ดีคือไม่ทำให้เกิดเงาที่แข็งบนนก, ช่วยให้ขนนกมีความแวววาว และทำให้เกิดประกายในตาของนก การจัดองค์ประกอบภาพนกจะช่วยให้นักถ่ายภาพถ่ายทอดเรื่องราวในภาพได้ ซึ่งวิธีง่ายๆ ในการจัดองค์ประกอบภาพนกคือการทำตามหลักองค์ประกอบภาพพื้นฐานทั่วไปสำหรับการถ่ายภาพ และสามารถสร้างความแตกต่างให้แก่ภาพได้ กับหลักการจัดองค์ประกอบภาพพื้นฐานต่อไปนี้ ใช้กฏสามส่วนในการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อเลี่ยงการวางตำแหน่งนกไว้ที่กลางภาพ, ใช้สีที่ตัดกันโดยการพยายามเลือกฉากหลังที่มีสีตรงกันข้ามกับนก, พยายามถ่ายภาพนกให้มีขนาดใหญ่ในเฟรม และเลือกใช้ฉากหลังที่เรียบ
ภาพนกขนาดใหญ่ในเฟรม
โดยปกติแล้วเมื่อถ่ายภาพนกมักเป็นการถ่ายภาพนกเดี่ยวๆ ซึ่งหากเป็นไปได้การพยายามถ่ายภาพนกให้มีขนาดใหญ่ในเฟรมจะสามารถสร้างความน่าสนใจในภาพได้ และต่อไปนี้เป็นข้อดีของการพยายามถ่ายภาพนกให้มีขนาดใหญ่เต็มเฟรมภาพ
- ทำให้โฟกัสได้ง่ายขึ้น
- สามารถทำให้ฉากหลังเบลอและมีโบเก้ที่ฉากหลังได้ง่ายขึ้น
- สามารถวัดแสงให้ถูกต้องได้ง่ายขึ้น
- สามารถจัดองค์ประกอบภาพในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น
บันทึกแอ็คชั่นและพฤติกรรม
โดยปกติหลายช่วงเวลานกมักจะมีแอ็คชั่นไม่ค่อยอยู่นิ่งนัก แต่การถ่ายภาพนกที่มีแอ็กชั่นมักจะต้องการทักษะและความอดทนมากกว่านกที่เกาะอยู่นิ่งๆ สำหรับคำแนะนำเบื้องต้นในการถ่ายภาพนกที่กำลังทำสิ่งต่างๆ อยู่คือ ถ่ายภาพในช่วงเช้าตรู่หรือบ่ายจัดใกล้เย็นในขณะที่นกกำลังทำสิ่งต่างๆ, ใช้โหมดถ่ายภาพต่อเนื่องเพื่อถ่ายภาพติดต่อกันหลายภาพในขณะที่นกกำลังมีแอ็กชั่นต่างๆ, เล็งกล้องตามนกจนกระทั่งล็อกโฟกัสได้ก่อนกดชัตเตอร์ และเรียนรู้ที่จะคาดการพฤติกรรมของนกล่วงหน้าจากการสังเกตและหาข้อมูลเกี่ยวกับนก
พฤติกรรมหนึ่งของนกคือมักจะไม่สนใจสิ่งอื่นในขณะที่หิวจึงทำให้ถ่ายภาพในขณะที่กำลังทำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้นช่วงเวลานี้ แต่สิ่งสำคัญคือระวังที่จะไม่ไปรบกวนพวกมันโดยควรอยู่ในระยะห่างที่เหมาะสม การถ่ายภาพนกที่กำลังทำสิ่งต่างๆ ยากกว่าช่วงอื่นเพราะปกติแล้วนกมักจะระแวงเมื่อสังเกตเห็นคน และเมื่อหวาดระแวงแล้วก็จะบินจากไป ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงควรสังเกตพฤติกรรมของนกในขณะที่มันรู้สึกสบายเป็นปกติไม่มีความหวาดระแวงซึ่งมีบางวิธีที่ช่วยได้อย่างการใช้สิ่งที่อยู่ในธรรมชาติพรางตัวไม่ว่าจะเป็นพุ่มไม้ ต้นไม้ หรือสิ่งที่สามารถบังได้, รออย่างอดทนจนกระทั่งนกไม่สนใจว่านักถ่ายภาพอยู่ตรงนั้น และหากเป็นสถานที่ที่ใกล้หรืออยู่ใกล้บ้านการไปสถานที่นั้นบ่อยๆ จะทำให้นกรู้สึกลดความตื่นตัวและหวาดระแวงลง ซึ่งจะทำให้เพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพมากขึ้น
สิ่งสำคัญหนึ่งคือควรสำรวจและเรียนรู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับนกที่ถ่ายภาพ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถถ่ายภาพนกได้ดีขึ้น
เล่าเรื่องราว
การเล่าเรื่องราวเมื่อถ่ายภาพนกคือวิธีที่ใช้เพื่อแสดงถึงช่วงเวลาของวัน อารมณ์ สถานที่ หรือพฤติกรรมของนกในภาพเดียว ซึ่งทำให้ผู้ดูภาพสามารถรับรู้สิ่งเหล่านี้ได้ในภาพ โดยหนึ่งในวิธีง่ายๆ เพื่อเล่าเรื่องราวของภาพนกคือการถ่ายภาพนกพร้อมกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบซึ่งจะสามารถบอกสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่าภาพนกที่เต็มเฟรม และต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเมื่อถ่ายภาพนกในถิ่นที่อยู่อาศัย
- ทำให้นกเป็นส่วนที่เพิ่มความสมบูรณ์ในภาพโดยการรวมธรรมชาติที่นกอยู่เข้ามา
- พยายามบันทึกภาพพฤติกรรมหรือสิ่งที่นกทำต่อกันหากมีนกมากกว่าหนึ่งตัว
- หากเป็นไปได้ควรแสดงให้เห็นสภาพอากาศในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นฝนหรือหมอกเอาไว้ด้วยหากมี
- ถ่ายภาพในช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตก
- ใช้ใบไม้ ต้นไม้ หรือฝนเพื่อบ่งบอกถึงฤดูกาล
บันทึกภาพนกขณะบิน
ความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งในการถ่ายภาพนกคือการถ่ายภาพในขณะที่นกกำลังบิน และมักจะสร้างความน่าสนใจให้แก่ผู้ดูภาพได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภาพนกบินจะทำได้อย่างนั้นทุกภาพ
ความสำเร็จในการถ่ายภาพนกส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับนกรวมทั้งเทคนิคที่ใช้ โดยทั่วไปแล้วนกขนาดเล็กไม่มีลักษณะการบินที่ไม่แน่นอนและยากที่จะติดตามจากขนาดที่เล็กของนกในเฟรม ในขณะที่นกขนาดใหญ่กว่าจะบินในลักษณะเปลี่ยนแปลงฉับพลันน้อยกว่าทำให้ไม่ยากนักที่จะเล็งกล้องตาม ดังนั้นหากประสบความเร็วในการถ่ายภาพนกสำหรับผู้เริ่มต้นควรเริ่มต้นกับนกที่มีขนาดใหญ่ เคลื่อนที่ไม่เร็วมาก พร้อมกับเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ที่จะใช้เพื่อจับภาพนกในขณะบิน
ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสำหรับช่วยผู้เริ่มต้นถ่ายภาพนกเพื่อจะถ่ายภาพนกในขณะบิน
- เรียนรู้รูปแบบการบินของนก
- รู้จักรูปแบบการลงเกาะและออกบิน
- หากมีนกมากกว่าหนึ่งตัว มักจะมีสถานการณ์ที่ถ้าตัวหนึ่งบินจากนั้นตัวอื่นจะบินตาม
- เล็งกล้องตามสักระยะและปล่อยให้กล้องโฟกัสจนจึงกดชัตเตอร์
- การใช้โหมดบันทึกภาพปรับรูรับแสงล่วงหน้าจะช่วยให้ไม่ต้องกังวลนักเมื่อสภาพแสงเปลี่ยน
นำผู้ดูภาพไปสู่โลกของนก
เพื่อที่จะนำผู้ดูภาพเข้าไปสู่โลกของนก นักถ่ายภาพควรที่จะทำให้ผู้ดูภาพเห็นนกในระดับเดียวกับการมองของนกหรือพยายามถ่ายภาพนกในระดับสายตาของนกให้ได้มากที่สุดยกเว้นถ่ายภาพนกในช่วงที่กำลังบิน ซึ่งบางครั้งอาจหมายถึงการถ่ายภาพนกในมุมตํ่าหากนกที่ถูกภ่ายภาพเกาะอยู่ในระดับตํ่าหรือที่พื้น โดยข้อดีที่ได้จากการพยายามถ่ายภาพในระดับสายตาของนกเช่น สามารถทำให้รู้สึกใกล้ชิดได้มากขึ้นจากการที่มีโอกาสมี Eye Contact มากขึ้น จะสามารถทำให้ได้ฉากหลังที่เบลอได้มากกว่าการถ่ายภาพนกจากมุมสูงเมื่อนกเกาะอยู่ในระดับตํ่ากว่าหรือเกาะอยู่ที่พื้น, สร้างความหวาดระแวงให้นกน้อยกว่าเนื่องจากเมื่อถ่ายภาพในมุมตํ่าโดยอาจนอนลงที่พื้นจะทำให้นักถ่ายภาพไม่ค่อนขยับตัว และที่สำคัญคือการเห็นนกในระดับเดียวกันหรือเป็นการนำผู้ดูภาพเข้าไปสู่โลกของนก
ฝึกถ่ายภาพกับนกทั่วไป
ก่อนที่จะออกไปถ่ายภาพนกในธรรมชาติไกลๆ ซึ่งต้องมีทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ผู้ที่เริ่มต้นถ่ายภาพนก ควรฝึกถ่ายภาพกับนกทั่วไปที่สามารถหาพบได้ง่ายๆ โดยอาจเป็นพื้นที่ในบริเวณบ้านหรือที่ไม่ไกลจากบ้านที่มีนกให้ถ่ายภาพ เพื่อที่จะมีโอกาสฝึกฝนการถ่ายภาพในสถานการณ์จริงได้มากโดยไม่ต้องเดินทางไกล รวมทั้งยังสามารถฝึกใช้เทคนิคต่างๆ ในการถ่ายภาพได้ พร้อมกับเพิ่มทักษะไปในตัว
ใช้ฉากหลังช่วย
หากไม่ใช่การถ่ายภาพนกในระยะใกล้จนเต็มเฟรม โดยทั่วไปแล้วภาพนกส่วนใหญ่มักจะดูดีเมื่อฉากหลังสะอาดเรียบและมีสีที่เสริมความเด่นของนก โดยมีสิ่งสำคัญที่ควรคิดไว้เสมอเกี่ยวกับฉากหลังเมื่อถ่ายภาพนกอย่างสิ่งต่อไปนี้
- พยายามเลี่ยงฉากหลังที่รก ในขณะเดียวกันหากเป็นไปได้ก็ควรเลี่ยงฉากหลังที่ขาวโล่งเกินไป
- รอจนกระทั่งนกอยู่ในตำแหน่งที่ดีหรือหากเป็นไปได้ควรเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อให้ได้ฉากหลังที่ดี
- เลือกใช้รูรับแสงกว้างสุดเพื่อที่จะให้ฉากหลังเบลอพ้นจากระยะโฟกัส
เพิ่มคุณภาพเมื่อนกกำลังบิน
ภาพนกกำลังบินมักสร้างความน่าสนใจแก่ผู้ดูภาพอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับนักถ่ายภาพด้วยซึ่งไม่เพียงแค่การเล็งกล้องและโฟกัสตามนกที่กำลังบินอยู่เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่จะทำให้ภาพนกกำลังบินออกมาได้น่าสนใจยิ่งขึ้น
ระวังองค์ประกอบภาพ
องค์ประกอบภาพที่ดีสำหรับวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่คือนักถ่ายภาพควรทิ้งพื้นที่ว่างพอสมควรในด้านที่นกกำลังบินไป เพราะด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้ดูภาพเกิดความสับสนว่าส่วนใดคือด้านหน้าของนกและสามารถให้ความสนใจไปยังวัตถุในภาพได้
ระดับความสูงในการถ่ายภาพ
ภาพนกบินที่ดูดีและน่าสนใจมักเป็นภาพที่นักถ่ายภาพอยู่ในความสูงระดับเดียวกับนกหรือใกล้เคียง แน่นอนว่าปกติแล้วเป็นเรื่องยากเมื่อนกกำลังบินอยู่สูง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ในการถ่ายภาพนกที่กำลังบินในระดับสายตา เพราะนักถ่ายภาพสามารถรอจังหวะถ่ายภาพในจังหวะที่นกกำลังบินลงมาได้ รวมไปถึงถ่ายภาพจากพื้นที่สูงอย่างบนภูเขาในธรรมชาติ
เลี่ยงภาพย้อนแสง
แน่นอนว่าภาพนกที่เป็นเงาดำหรือแม้จะถูกชดเชยแสงจนมีความสว่างย่อมดูไม่ไดีเหมือนกับภาพนกที่แสงเข้าด้านหน้า ดังนั้นการเลือกจุดหรือทิศทางที่จะถ่ายภาพที่เหมาะสมจึงสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพของภาพได้
ใช้โหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง
การใช้โหมดถ่ายภาพต่อเนื่องจะเป็นการเพิ่มโอกาสได้ภาพคมชัดมากยิ่งขึ้น โดยหากโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องของกล้องที่ใช้มีสองระดับความเร็วให้เลือก ควรเลือกที่ระดับความเร็วตํ่าเพื่อที่บัฟเฟอร์ของกล้องจะไม่เต็มเร็ว หรือไม่เช่นนั้นก็ควรกดเพื่อถ่ายภาพต่อเนื่องครั้งละ 2-3 ภาพเพื่อเลี่ยงปัญหาบัฟเฟอร์ของกล้องเต็ม
อย่าลืมการทำงานลดการสั่นไหวของภาพ
หากอุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายภาพมีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพ อย่าลืมที่จะใช้การทำงานนี้ไม่ว่าจะที่กล้องหรือเลนส์ เพราะจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเบลอของภาพจากการสั่นไหวที่ตัวนักถ่ายภาพได้
ถ่ายภาพโดยเปิดตาทั้งสองข้าง
อาจไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยนักสำหรับนักถ่ายภาพจำนวนมาก แต่นี่คือเทคนิคที่นักถ่ายภาพแอ็คชั่นทำเมื่อถ่ายภาพ เพราะจะทำให้สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่นอกเฟรมและเตรียมตัวได้ เช่นเมื่อนกกำลังโฉบไปที่บางจุด
เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
ขอบคุณครับ
ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่