BASIC

How to Shoot High Quality Video with Camera

แม้จุดประสงค์หลักในการซื้อกล้องของนักถ่ายภาพก็คือการถ่ายภาพ แต่จากความสามารถในการถ่ายวิดีโอที่มีอยู่ในกล้องถ่ายภาพเกือบทุกรุ่นในปัจจุบันก็อาจทำให้นักถ่ายภาพจำนวนเริ่มหันมาสนใจการถ่ายภาพเคลื่อนไหวกันบ้าง รวมถึงบางคนอาจรู้สึกว่าในเมื่อมีการทำงานเพื่อถ่ายวิดีโอมาให้ในกล้องแล้วก็ควรเพิ่มความท้าทายใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ด้วยการถ่ายวิดีโอดูบ้าง สำหรับผู้ที่ถ่ายภาพนิ่งมาตลอดโดยไม่เคยถ่ายวิดีโอเลยเมื่อเริ่มถ่ายจะรู้สึกว่านี่เป็นเหมือนโลกใหม่ เนื่องจากการถ่ายวิดีโอมีความยุ่งยากมากขึ้นกว่าการถ่ายภาพ แต่ก็มีคำแนะนำเบื้องต้นบางอย่างที่จะช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถทำตามเพื่อเป็นพื้นฐานในการถ่ายวิดีโอได้เพื่อที่จะเรียนรู้และเพิ่มทักษะให้มากขึ้นเช่นเดียวกับการถ่ายภาพ โดยต่อไปนี้เป็นทั้งสิ่งที่นักถ่ายภาพควรรู้เกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอคำ รวมไปถึงแนะนำในการปรับตั้งกล้องเพื่อถ่ายวิดีโอ

ข้อจำกัดของกล้องถ่ายภาพเมื่อถ่ายวิดีโอ

สิ่งหนึ่งที่นักถ่ายภาพควรรู้เมื่อจะใช้กล้องถ่ายภาพถ่ายวิดีโอ โดยเฉพาะหากคิดจะถ่ายเพื่อนำไปใช้งานบางอย่างคือข้อจำกัดของกล้อง ซึ่งข้อจำกัดหนึ่งในการถ่ายวิดีโอโดยเฉพาะกับกล้องถ่ายภาพที่ไม่ใช่รุ่นใหม่ๆ คือระบบออโตโฟกัสของกล้องจะช้าจึงทำให้อาจไม่เหมาะนักสำหรับการใช้ถ่ายภาพสิ่งที่เคลื่อนที่รวดเร็วโดยเฉพาะหากเป็นการเคลื่อนที่เข้าหรือออกจากกล้องอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงบางครั้งอาจมีการโฟกัสเข้าออกซํ้าเนื่องจากหาโฟกัสไม่ได้ นอกจากนี้เสียงจากการทำงานของระบบออโตโฟกัสซึ่งแม้ว่าจะเบามากแต่ก็จะถูกบันทึกเข้าไปในวิดีโอด้วย ทางออกที่ดีของปัญหาเหล่านี้คือการโฟกัสแมนนวล ดังนั้นหากปกติแล้วพึ่งพาแต่ระบบออโตโฟกัส นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะฝึกทักษะการโฟกัสแมนนวล โดยทั่วไปลักษณะของการถ่ายวิดีโอที่เหมาะสำหรับกล้องถ่ายภาพนิ่งเปลี่ยนเลนส์ได้สำหรับผู้เริ่มต้นมักเป็นภาพในลักษณะที่ต้องการแยกวัตถุจากฉากหลังอย่างชัดเจน เมื่อถ่ายภาพวัตถุที่มีความนิ่ง หรือระนาบวัตถุไม่เปลี่ยนแปลงมาก

การปรับตั้งกล้อง

การถ่ายวิดีโอแตกต่างจากภาพนิ่งที่มีภาพ RAW ให้เลือกถ่าย แต่พื้นฐานของฟุตเทจวิดีโอภาพ JPEG ที่เป็นชุดนำมาเรียงต่อกัน จึงทำให้มีความท้าทายมากกว่าในการปรับตั้งเพื่อถ่ายภาพนิ่ง เพราะมีข้อมูลดิจิตอลให้ทำงานด้วยน้อยกว่าที่เคยใช้ในไฟล์ RAW ของภาพนิ่ง ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงควรทำให้ฟุตเทจมีความถูกต้องที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งหมายถึงการถ่ายภาพให้เป็นธรรมชาติที่สุดโดยลด Shapening
หรือความชัด และคอนทราสต์ลงในระดับตํ่าที่สุด รวมไปถึงเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น

นักถ่ายภาพก็อาจจะลดความอิ่มของสีหรือ Saturation ลงด้วย ซึ่งด้วยการปรับตั้งค่าเหล่านี้จะทำให้มี Latitude เพื่อปรับฟุตเทจภายหลังมากขึ้น รวมไปถึงการลด Sharpenimg ลงยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Moire ในวิดีโอลงด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่นักถ่ายภาพที่เริ่มถ่ายวิดีโอควรรู้คือต้องใช้โหมดบันทึกภาพแมนนวลและเลี่ยงการปรับตั้งค่าอัตโนมัติต่างๆ ในกล้อง เพราะปัญหาใหญ่ที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อใช้การทำงานอัตโนมัติเพื่อถ่ายวิดีโอคือค่าบันทึกภาพสามารถเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างถ่ายวิดีโอ หากมีบางสิ่งในภาพเปลี่ยนอย่างเช่นแสง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะสังเกตเห็นได้ในฟุตเทจ

Camera recording a video for a DIY blogger

เลือกขนาดเฟรมและเฟรมเรต

ในโหมดถ่ายวิดีโอของกล้องถ่ายภาพจะมีช่วงของขนาดเฟรมและเฟรมเรตให้เลือก ซึ่งในปัจจุบันกับกล้องหลายรุ่นจะมีความละเอียดสูงสุดถึง 3840 x 2160 ที่ 24 หรือ 30 เฟรม/วินาทีซึ่งเป็นความละเอียดระดับ 4K แต่หากไม่ต้องการความละเอียดสูงขนาดนั้น ความละเอียดในระดับ Full HD 1920 x 1080 ที่ 24 หรือ 30 เฟรม/วินาที ก็ให้รายละเอียดที่สูงเพียงพอสำหรับการดูบนจอขนาดใหญ่ สำหรับการเลือกจำนวน
เฟรมเรต จำนวนเฟรมเรตที่สูงจะช่วยให้กล้องสามารถสร้างความราบลื่นในภาพได้มากกว่าขึ้น ดังนั้นหากถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนกล้องแล้วมี 1920 x 1080 60 เฟรม/วินาทีให้เลือกก็จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพียงแต่ว่าจะต้องใช้พื้นที่ในการ์ดบันทึกภาพมากขึ้น รวมทั้งเวลามากขึ้นในขั้นตอนตัดต่อภายหลัง

เลือกความเร็วชัตเตอร์ให้เข้ากับเฟรมเรต

เพื่อให้มีฟุตเทตวิดีโอที่ดูดีและมีความราบลื่นโดยที่ทุกการเคลื่อนที่ในภาพดูเป็นธรรมชาติ จำเป็นที่จะต้องเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมกับเฟรมเรต อย่างการใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/50 วินาทีหากใช้ฟรมเรต 24 เฟรม/วินาที หรือ 1/60 วินาทีกับเฟรมเรต 30 เฟรม/วินาที และ 1/125 วินาทีกับ 60 เฟรม/วินาที อย่างไรก็ตามนักถ่ายภาพอาจใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่แตกต่างจากนี้เพื่อเอฟเฟกต์ในภาพได้ เช่นการใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้ากว่าจะเป็นการเพิ่มความเบลอเข้าไปในฟุตเทจซึ่งทำให้ภาพดูเหมือนความฝัน ขณะที่การใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงกว่าจะทำให้เหมือนมีการเคลื่อนที่เร็วขึ้น โกยการแพนหรือเคลื่อนกล้องในขณะที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าหรือเร็วกว่าที่ควรก็จะยิ่งเป็นการเน้นเอฟเฟกต์ในฟุตเทจมากขึ้น

Rolling Shutter และ Jello Effect

ปัญหาเรื่อง Jello Effect หรือภาพฟุตเทจมีลักษณะสั่นเป็นคลื่นซึ่งเกิดจาก Time Lag ของ Rolling Shutter เมื่อแพนกล้องเร็วเกินไป เพื่อรับมือกับปัญหานี้นักถ่ายภาพต้องลดความเร็วในการแพนกล้องลง แต่หากไม่สามารถทำได้ก็อาจใช้การแก้ไขฟุตเทจขั้นตอนในภายหลังการถ่าย

Taking Video Shoots Using DSLR Digital Camera Installed on the Pro Gimbal. Motion Picture Equipment and Work.

Moire และการจัดการ

Moire มีลักษณะเป็นลายคลื่นที่เกิดขึ้นได้ทั้งในภาพถ่ายและวิดีโอเมื่อถ่ายภาพที่มีรายละเอียดในลักษณะรูปแบบซํ้าๆ ซึ่งในภาพถ่ายอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะกล้องถ่ายภาพมีฟิลเตอร์ Optical Low Pass ที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดปัญหานี้ หรือแม้ว่ากับกล้องบางรุ่นที่ไม่มีฟิลเตอร์นี้หน้าเซ็นเซอร์เพื่อให้มีความคมชัดของภาพสูงขึ้นก็ยังไม่มีปัญหากับ Moire มากนัก แต่กับวิดีโอจะต่างออกไป Moire ซึ่งนักถ่ายภาพจะไม่อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในวิดีโอ เช่นเดียวกับภาพนิ่งที่ Moire มักจะเกิดเมื่อถ่ายสิ่งที่มีรูปแบบซํ้าๆ อย่างกำแพงอิฐ ตระแกรงโลหะอย่างกระจังหน้ารถ รั้ว หรือรูปแบบซํ้าบนเครื่องแต่งกาย และมักจะแสดงมากขึ้นเมื่อถ่ายวิดีโอเหล่านี้โดยใช้เลนส์มุมกว้าง

หากไม่สามารถแก้ไข Moire ได้ในขั้นตอนหลังถ่ายภาพ วิธีที่ดีที่สุดคือถ่ายใหม่โดยพยายามลดสิ่งนี้ในขณะถ่าย ซึ่งนักถ่ายภาพสามารถทำได้โดยการจัดเฟรมภาพใหม่ด้วยการขยับมุมกล้องเล็กน้อย นอกจากนี้บางครั้งการขยับกล้องเข้าใกล้ขึ้นหรือออกห่างเล็กน้อยจะช่วยลด Moire ได้ หากเกิด Moire ขึ้นที่บางส่วนของฉากหลังนักถ่ายภาพสามารถเปลี่ยนรูรับแสงเพื่อลดระยะชัดให้น้อยลงให้วัตถุเบลอเล็กน้อยเพื่อลดปัญหาเรื่อง Moire ได้ นอกจากนี้การเกิด Diffraction ในฟุตเทจซึ่งทำให้ภาพซอฟต์ลงจากการใช้รูรับแสงแคบก็ยังสามารถเป็นอีกวิธีในการแก้ไข

แมนนวลโฟกัส

สิ่งหนึ่งที่ผู้ถ่ายวิดีโออยากให้มีคือความสมํ่าเสมอในคลิป ซึ่งหากใช้ระบบออโตโฟกัสกล้องอาจโฟกัสใหม่ในขณะถ่ายได้แม่ว่าผู้ถ่ายจะไม่ต้องการ ดังนั้นเมื่อถ่ายวิดีโอจึงควรโฟกัสแมนนวลเสมอ รวมไปถึงหากต้องการใช้เทคนิคการโฟกัสเพื่อเพิ่มความน่าสนใจอย่างภาพวัตถุที่เบลอแล้วถูกปรับโฟกัสจนชัด หรือเปลี่ยนจุดโฟกัสที่ฉากหน้าและฉากหลังก็ยังต้องโฟกัสแมนนวลด้วยเพื่อให้เกิดเอฟเฟกต์เหล่านี้ในวิดีโอ อย่างไรก็ตามเพื่อช่วยให้ใช้เทคนิคเปลี่ยนจุดโฟกัสระหว่างฉากหน้าและฉากหลังที่เรียกว่า Rack Focus รวมทั้งการปรับโฟกัสจากเบลอจนชัดที่เรียกว่า Pulling Focus ง่ายขึ้น นักถ่ายภาพอาจต้องใช้อุปกรณ์เสริมซึ่งเป็นชุด Follow-Focus ร่วมด้วย เพราะอุปกรณ์นี้จะช่วยลดการสั่นที่อาจเกิดกับกล้องเนื่องจากช่วยให้นักถ่ายภาพไม่ต้องสัมผัสกับวงแหวนโฟกัสโดยตรง โดยอุปกรณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะติดส่วนวงแหวนของอุปกรณ์เข้ากับเลนส์

เลนส์ซูม

สิ่งสำคัญที่ควรจำไว้เสมอเมื่อใช้เลนส์ซูมที่ค่ารูรับแสงเปลี่ยนเมื่อมีการซูมกับการถ่ายวิดีโอคือค่าบันทึกภาพวิดีโอสามารถเปลี่ยนได้เมื่อมีการซูมในขณะถ่าย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อฟุตเทจที่ออกมา ดังนั้นเมื่อซูมเลนส์จึงไม่ควรทำเกินระยะที่จะเกิดการเปลี่ยนรูรับแสงของเลนส์ หรือไม่เช่นนั้นเลนส์ที่มีรูรับแสงคงที่ตลอดช่วงซูมจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเพราะไม่ต้องกังวลกับการเปลี่ยนรูรับแสงและค่าบันทึกภาพ

ISO และแสง

ไม่ต่างกับการถ่ายภาพที่สัญญาณรบกวนหรือ Noise เป็นปัญหาหนึ่งในการถ่ายวิดีโอ และเนื่องจากนักถ่ายภาพจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่เจาะจงซึ่งเหมาะกับเฟรมเรตจึงทำให้มีไม่กี่สิ่งที่สามารถปรับได้เพื่อให้ฟุตเทจมีค่าบันทึกแสงที่ถูกต้อง ดังนั้นการทำให้ค่าบันทึกภาพวิดีโอถูกต้องจึงยากกว่าการถ่ายภาพที่สามารถลดความเร็วชัตเตอร์ลงได้พร้อมกับใช้ขาตั้งกล้องในสภาพแสงน้อย ในขณะที่การถ่ายวิดีโออาจต้องคิดถึงการเพิ่มแสงเข้าไปในภาพ

ในทางตรงกันข้ามเมื่อถ่ายวิดีโอกลางแจ้งภายนอกในสภาพแสงที่มากก็เป็นความท้าทายไม่แพ้กันในเมื่อยังต้องจำกัดการใช้ความเร็วชัตเตอร์อยู่ ทำให้ไม่สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงได้ นักถ่ายภาพจึงอาจพบสถานการณ์ที่แม้จะปรับความไวแสงที่ ISO ตํ่าสุดแล้วภาพก็ยังโอเวอร์อยู่ ซึ่งนี่คือเหตุผลที่เมื่อถ่ายวิดีโอควรมีฟิลเตอร์ Variable ND หรือฟิลเตอร์ ND ที่ปรับระดับความเข้มได้เป็นตัวช่วยในการลดแสงเพื่อให้ยังคงใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะกับเฟรมเรตได้

ส่วนใหญ่แล้วสัญญาณรบกวนมักจะเกิดขึ้นในส่วนมืดซึ่งจะดูคล้ายกลุ่มของจุดที่ขยับ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถปรากฏในไฮไลต์ได้ด้วยโดยมีลักษณะจุดกระพริบเล็กๆ แม้ในขั้นตอนหลังถ่ายวิดีโอจะสามารถลดระดับของสัญญาณรบกวนลงได้ แต่ก็เช่นเดียวกับภาพนิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงการเกิดเท่าที่จะเป็นไปได้ตั้งแต่ขั้นตอนการถ่ายไม่แตกต่างกับการถ่ายภาพนิ่งที่กล้องที่มีเซ็นเซอร์ภาพขนาดใหญ่ขึ้น รุ่นสูงขึ้นจะสามารถใช้ความไวแสงเมื่อถ่ายวิดีโอได้สูงกว่ากล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาดเล็กกว่าหรือรุ่นตํ่ากว่า

สร้างภาพแบบภาพยนตร์

หนึ่งในจุดเด่นหลักของการใช้กล้อง DSLR หรือกล้อง Mirrorless เปลี่ยนเลนส์ได้ถ่ายวิดีโอก็คือ การทำให้เกิดระยะชัดที่น้อยมากในภาพได้กับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ฟูลเฟรม โดยที่กล้องซึ่งใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาดเล็กลงอย่าง APS-C หรือ FourThirds ก็จะให้ระยะชัดในภาพที่มากขึ้นตามลำดับ โดยระยะชัดที่น้อยไม่เพียงทำให้มีฉากหลังที่เบลอนุ่มนวล มีโบเก้ที่สวย หรือแยกวัตถุหลักจากฉากหลังเท่านั้น แต่จากระยะชัด
ที่น้อยนักถ่ายภาพยังสามารถใช้เพื่อเป็นสิ่งที่ดึงสายตาผู้ดูภาพเข้าไปสู่บางสิ่งหรือนำสายตาออกจากบางสิ่งผ่านการควบคุมการโฟกัสด้วย ซึ่งนี่คือเหตุผลหลักที่นักถ่ายวิดีโอชอบใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวเมื่อใช้กล้องถ่ายภาพเปลี่ยนเลนส์ได้

นอกจากนี้นักถ่ายภาพยังสามารถเรียนรู้เทคนิคเรื่องภาพวิดีโอจากภาพยนตร์ได้ ดังนั้นครั้งต่อไปที่ดูภาพยนตร์ไม่ว่าจะที่โรงภาพยนตร์หรือที่บ้านจึงควรให้ความสนใจเป็นพิเศษถึงวิธีที่ภาพแต่ละภาพถูกถ่ายและการตัดต่อคลิปแต่ละคลิปเข้าด้วยกัน ซึ่งนักถ่ายภาพจะพบว่าภาพในภาพยนตร์ประกอบด้วยคลิปสั้นๆ จำนวนมากที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วโดยมีความกลมกลืนไม่รู้สึกสะดุด รวมทั้งการกระทำของตัวละครมักเป็นการรวมคลิปสั้นๆ ของตัวละครที่นิ่งจำนวนมากซึ่งถูกถ่ายในมุมมองต่างๆ ที่นำมาตัดต่อเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเป็นภาพที่มีการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ในขณะที่การขยับของกล้องมักจะช้าและแน่นอน การซูมและการแพนจะมีการควบคุมอย่างดี ซึ่งเทคนิคเหล่านี้สามารถช่วยให้ภาพวิดีโอที่ถ่ายดูเป็นมืออาชีพและน่าดูขึ้นได้ โดยสิ่งหนึ่งที่ควรจำไว้ก็คือคลิปวิดีโอที่ยาวจากมุมมองเพียงมุมเดียวไม่เพียงทำให้ผู้ดูรู้สึกเบื่อเท่านั้น แต่ยังทำให้ต้องใช้เวลาในการตัดต่อภายหลังมากขึ้นด้วยหากต้องเข้าไปค้นหาภาพบางช่วงที่ต้องการตัดออก

ควรเผื่อพื้นที่ทั้งหน้าและหลังคลิป

นักถ่ายภาพควรถ่ายวิดีโอโดยเผื่อเวลาทั้งก่อนหน้าและหลังคลิปนั้นมากกว่าที่ต้องการ 2-3 วินาที เพราะจะช่วยให้สามารถตัดต่อด้วยซอฟต์แวร์ภายหลังได้ง่ายขึ้น

ระวังเรื่องเสียง

เมื่อมีการบันทึกเสียงด้วยการติดไมโครโฟน Shotgun ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมบนตัวกล้อง สิ่งที่ควรคิดไว้เสมอคือ ไมโครโฟนจะเก็บทุกเสียงที่อยู่ด้านหน้ากล้อง จึงทำให้เมื่อยู่ภายนอกหรือในสถานที่ที่มีเสียงดังอาจมีสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนในฉากหลังของวัตถุได้ ซึ่งไมโครโฟนจะรับเอาเสียงเหล่านี้เข้ามาในวิดีโอด้วย วิธีแก้ปัญหาที่มืออาชีพใช้คือการติดไมโครโฟนกับ Boom โดยเชื่อมต่อกล้องกับไมโครโฟนแล้วถือ Boom เพื่อให้อยู่ในมุมสูงโดยเฉียงทำมุม 70 องศากับวัตถุ ซึ่งจะช่วยลดเสียงรบกวนได้เกือบสมบูรณ์

ทำความสะอาดอุปกรณ์

การทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้คือสิ่งสำคัญไม่แพ้เมื่อถ่ายภาพหรือจริงๆ แล้วอาจจะสำคัญกว่า เพราะกับภาพนิ่ง เพราะการลบฝุ่นหรือคราบที่ปรากฏในภาพนิ่งอาจใช้การคลิกเม้าส์เพียงไม่กี่ครั้งในซอฟต์แวร์ แต่จุดที่ไม่ต้องการในภาพจะปรากฏในวิดีโอโดยไม่สามารถลบได้ และจะทำให้คลิปที่ถ่ายนั้นไม่สามารถนำไปใช้ได้

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic