พีรกิตติ์ จิรเชษฐากุล
Cityscape Photographer
ช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ
ชื่อป๊อปครับ ถ้ารู้จักกันแต่ก่อน ก็คือ ป๊อป City ชื่อจริง พีรกิตติ์ จิรเชษฐากุล
ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่ครับ
ปัจจุบันทำงานธนาคาร ถ่ายภาพเป็นอดิเรกและงานเสริมด้วย
เริ่มถ่ายภาพตั้งแต่เมื่อไหร่
ตั้งแต่เรียนปริญญาโทที่อังกฤษครับ จริงๆ แล้วเริ่มซื้อกล้องตัวแรกที่เป็น DSLR คือ Nikon D70 ก่อนหน้านี้ซื้อกล้องคอมแพคมาแล้วเรารู้สึกว่าพอไปถ่ายรูปกลางคืนทำไมกล้องมัน Noise เยอะ เราก็เลยเริ่มมาศึกษาว่า จริงๆ แล้วกล้อง DSLR คุณภาพมันดีกว่า หลังจากนั้นก็เลยเริ่มซื้อกล้อง Nikon D70 มา แล้วก็ใช้ Nikon มาตลอด น่าจะสิบกว่าปีละ
อะไรเป็นแรงจูงใจให้มาสนใจถ่ายภาพ
พอไปอยู่ในเมืองลอนดอน สถาปัตยกรรมต่างๆ วิวต่างๆ มันก็สวย แล้วเราจะมีช่วงเวลาว่างที่เดินทางไปประเทศใกล้เคียง ไปอิตาลี ไปฝรั่งเศส เราก็อยากจะเก็บภาพประทับใจ เก็บโมเมนต์ที่เดินทางไป
ช่วงแรกคุณป๊อปชอบถ่ายภาพแนวไหน
แรกๆ ก็จะถ่ายตึก ถ่าย Landscape มาโครก็ถ่ายครับ ภาพบุคคลก็ถ่ายบ้างนิดหน่อย หลังจากเรียนจบ กลับมาทำงานที่เมืองไทย ก็ยังคงถ่ายภาพต่อ ในช่วงนั้นก็จะเป็น Landscape แต่จะเป็น Landscape ผสม Cityscape เพราะว่าปกติเราเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ เราอาจจะต้องไปที่เมืองก่อน เช่น ไปฝรั่งเศสเราจะลงที่ปารีสเป็นลักษณะเมืองก็จะไม่ลืมที่จะเก็บภาพสถาปัตยกรรมต่างๆ หรือว่าภาพเมืองต่างๆเก็บเข้ามาด้วย ในขณะเดียวกัน หลังจากที่ออกนอกเมืองไปแล้ว เราก็จะเก็บเป็นภาพลักษณะ Landscape มากกว่า
ในช่วงแรกจริงจังหรือยัง
ถ้าถามว่าจริงจังไหม ก็ถือว่าจริงจังล่ะ เพราะกลับมาเปลี่ยนกล้องจาก D70 เป็น D300 สมัยก่อนใช้เลนส์ 18-200 มม. ง่ายๆ ไปไหนก็ใช้ พอกลับมาก็เริ่มซื้อเลนส์ครบช่วง ก็จะเป็นเลนส์ 14-24 มม. 24-70 มม. 70-200 มม.ตอนนั้นที่ฮิตๆ จะเป็นเว็บมัลติพลาย เราก็จะชอบลงรูป แล้วก็เป็นช่วงเริ่มที่เข้าเว็บบอร์ด Pixpros จริงๆ ก็ไม่รู้หรอกว่า Pixpros คืออะไร ก็ดูจากคนมัลติพลาย เขาบอกว่าถ้าเข้า Pixpros แล้วไปลงห้องนี้ได้ น่าจะดี ก็อยากรู้ว่า เราก็ไม่คิดว่าเราถ่ายรูปโอเคไหม เราก็เลยลองดู
ตอนนั้นก็ยังเป็นงานอดิเรกอยู่
ใช่ครับ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้รับงานถ่ายรูปครับ ก็ยังเป็นงานอดิเรกอยู่
เวลาออกไปถ่ายรูปไปคนเดียวหรือแบบมีกลุ่ม มีก๊วน
โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้าถ่ายแนว Cityscape มักจะไปเป็นกลุ่ม แล้วแต่บางโอกาส อาจจะไปคนเดียวถ้าสถานที่ไม่อำนวย การถ่ายจากบนตึกจะต้องมีการขอนิติบุคคล หรือไปรบกวนเพื่อนที่เป็นเจ้าของคอนโด เราจะไม่ค่อยพาไปเป็นกลุ่ม แต่ข้อดีในการไปเป็นกลุ่มคือจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้มากกว่า เราอาจจะคิดว่ามุมนี้ต้องถ่ายแบบนี้ แต่อาจจะมีประเด็นอะไรบางอย่างที่เราไปด้วยกันแล้วสามารถจุดประกาย เปลี่ยนมุมมอง หรือใช้เทคนิคอะไรมากกว่า ข้อแนะนำสำหรับมือใหม่ คือว่า ถ้าเราไปกับคนที่เป็นมากกว่าหรือเก่งกว่า เราจะได้ความรู้จากเขา ทุกวันนี้ที่ผมไป ผมก็ยังชอบไปลักษณะกลุ่มก๊วนมากกว่า คือ เราก็ถ่ายมานานแล้ว แต่อาจจะมีเด็กใหม่ๆ เข้ามา มีการแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น
คุณป๊อปหาสถานที่ถ่ายภาพ Cityscape ยังไงครับ
การหาสถานที่ หลักๆ เลยคือใช้ google map ต้องดูว่าเราอยากจะถ่ายอะไร ยกตัวอย่างเช่น หัวลำโพง ตรงหัวลำโพง เดี๋ยวนี้ค่อนข้างสะดวก มี google map เราก็ปักตรงหัวลำโพง เรากดดู google street view ดูรอบๆ ว่าตรงหัวลำโพงมีตึกอะไรข้างเคียงบ้าง แล้วตึกอะไรที่เป็นโรงแรม ตึกที่สามารถเปิดให้คนทั่วไปเข้าได้ หรือว่าจะตึกที่เป็นออฟฟิศเฉพาะ เราสามารถดูได้ว่า ตึกนี้ถ้าไปยืนตรงนั้น เราต้องใช้จินตนาการนิดนึงว่า ถ้าเราขึ้นไปอยู่ตรงนั้นแล้วอยู่สูงประมาณนี้ จะได้มุมเป็นลักษณะไหน มีอะไรบังไหม เห็นอะไรบ้าง ต้องจิตนาการไปก่อน ถ้าเป็นตึกโรงแรมก็สอบถามโรงแรมได้ โทรไปถามว่า ข้างบนมีบาร์ไหม มีระเบียงไหม เราสามารถขอไปถ่ายรูปได้ไหม ใช้ขาตั้งกล้องได้ไหม อันนี้คือข้อสำคัญในการถ่าย Cityscape เวลาที่เราขึ้นไปตึกต่างๆ พวกนี้ เราต้องเคารพสถานที่นะครับ แล้วก็ขออนุญาตเขา ที่นี้ถ้าไม่ใช่โรงแรม อาจจะเป็นตึกอื่นๆ เช่น ตึกออฟฟิศ ก็แนะนำให้ไปติดต่อนิติบุคคล ที่ผ่านมาก็ขอได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็แล้วแต่ อย่างแรกที่อยากให้ทำ คือ ดูศึกษาก่อนว่าที่เราจะถ่ายมันอยู่ตรงไหน และตรงนั้นสามารถถ่ายจากมุมไหนได้บ้าง เราอาจมองว่า จะถ่ายรูป Cityscape ต้องอยู่สูงเท่านั้น จริงๆ มันไม่จำเป็น สมมุติถ่ายที่ที่นึงให้มีองค์ประกอบครบทุกอย่าง ก็จะมีตั้งแต่บนพื้นดินบ้าง สูงบ้าง แล้วก็อาจจะมีตัวบุคคล มีคนเข้าไปอยู่ในภาพของ Cityscape บ้าง เพื่อให้มันมีเรื่องราว
คุณป๊อปลองให้คำจำกัดความของ Cityscape ว่า ขอบเขตของภาพ Cityscape
เป็นยังไง มันแตกต่างจาก Architecture ยังไง นิยามของผมเอง City มันก็ตรงตัวนะ เมือง นะครับ scape ก็คือถ่ายอะไรก็ได้ที่เป็นเมือง ทีนี้การถ่าย Cityscape จริงๆ อยากจะให้มองว่า สมมุติถ้าเราเป็นคนต่างชาติมาถ่ายกรุงเทพ แล้วเราอยากจะบันทึกภาพให้คนดูต้องดูออกว่า ภาพนี้มันคือกรุงเทพ ไม่ใช่ถ่ายไปแล้วไม่รู้มันคืออะไร คนต้องมานั่งเดาว่าที่ไหน เพราะฉะนั้นภาพ Cityscape ต้องมีเอกลักษณ์ หรือว่ามีจุดสนใจ สถานที่สำคัญที่จะบอกได้ว่าคือกรุงเทพ องค์ประกอบของภาพควรจะบอกได้ว่าคุณถ่าย Cityscape ว่าเมืองอะไร มองปุ๊ปว่าคือกรุงเทพ หรือ สมมุติไปไต้หวัน เราถ่าย ตึก101 คนเห็น ตึก101 ปุ๊ป อันนี้ไต้หวัน ไทเป Cityscape คือต้องเก็บองค์ประกอบหลักๆ นั้นมา แต่จริงๆ ไม่ได้จำกัดว่า จะต้องไปเก็บตึกใหญ่ๆ เด่นๆ ก่อนเสมอ เพราะว่าบางที Cityscape มันจะมีข้อเสียตรงที่ว่า มุมที่ถ่ายมันจะซํ้าๆ กัน จะทำยังไงให้มันไม่เหมือนคนอื่น ทีนี้ Cityscape กับ Architecture จริงๆ ผมมองว่ามันเป็น 2 วงกลม แต่มีเส้นทับกัน ส่วน Architecture ผมมองว่าจะผสมผสานกับ Cityscape นิดนึงคือ Architecture มันจะมีเรื่องของการออกแบบตึก สมมุติตึกนี้ อาคารนี้ มีการออกแบบมาพิเศษ เวลาเราถ่ายเราจะเน้นตึกนั้น แล้วเราจะถ่ายหลายๆมุมในของตึกนั้น Architecture จะมีเรื่องของอินทีเรีย Cityscape มันไม่ได้ผสมไปถึงอินทีเรีย Architecture ต้องตึกตรงๆ เพราะว่าสิ่งที่ต้องการคือ ถ้าเป็นงานจ้าง เราต้องเวิร์คกับเจ้าของงานจ้าง แล้วก็ต้องเวิร์คกับคนที่เป็นสถาปนิก เขาก็จะชอบภาพตรงๆ เขาจะไม่ชอบภาพอะไรที่มันเบี้ยวๆ โค้งๆ เพราะว่า มันไม่ได้รีเฟล็กของจริงในลักษณะของเขา
การเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์ก่อนออกไปถ่าย Cityscape เป็นยังไง
ต้องย้อนกลับไปนิดนึง Cityscape ที่พูดไป เรารู้ว่าสถานที่นี้ เราอยากจะถ่ายตรงนี้ ก็ต้องรู้ว่าเราจะไปขึ้นตึกไหน จะไปจุดตรงไหน ถ่ายรูปอะไร ต้องทำการบ้านนิดนึง แล้วก็ต้องเตรียมตัวว่าที่นี่จะต้องไปถ่ายเช้าหรือจะไปถ่ายเย็น Cityscape มันจะค่อนข้างชัดเจนว่า ถ้าถ่ายจันทร์ถึงศุกร์ ไฟบนตึกจะเปิดเยอะ แต่ถ้าไปเสาร์อาทิตย์มันก็ไม่ค่อยมีไฟ หรือว่ามุมนี้ข้างหลังเป็นแสงเช้า พระอาทิตย์ขึ้น คุณไปถ่ายตอนเย็นก็จะได้ฟ้าบลู โอกาสที่ฟ้าจะมีสีสันก็จะค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวเรื่องว่า ควรจะไปเวลาไหน เช้าหรือเย็น แล้วก็ควรไปอยู่ที่ตำแหน่งนี้ให้ถูกที่ถูกเวลา อันนี้ค่อนข้างสำคัญ อย่างที่สองคือ Cityscape นั้นส่วนใหญ่แล้วจะถ่ายช่วงทไวไลท์ ก็ขาดไม่ได้ก็ต้องมีขาตั้งกล้อง ถ้าเป็นยุคเก่าหน่อยจะมีสายลั่นชัตเตอร์ แต่ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้อาจจะมีรีโมตหรือต่อแอพแล้วก็สามารถกดถ่ายได้เลย การเตรียมตัวควรจะดูด้วยว่า ฤดูนี้เป็นหน้าหนาว พระอาทิตย์จะตกเร็ว จะต้องดูว่า เวลานี้พระอาทิตย์ตกเมื่อไหร่ ทไวไลท์จริงๆ เมื่อไหร่ ควรไปก่อนเวลา เพราะเวลาขึ้นไป บางสถานที่ เราอยากจะไปถ่ายตรงนี้ แต่วันนั้นเราอาจจะทำการบ้านมาไม่ดี มีงาน ยืนตรงนั้นไม่ได้ หรือว่าเราไม่เคยขึ้นตึกนี้ กำแพงค่อนข้างสูง ขาตั้งกล้องวางไม่ได้ อาจจะต้องมีการทำการบ้านว่า ของที่เอาไปเราสามารถเอาไปวางได้ไหม ถ่ายได้ไหม จะได้มีเวลาดูว่า นอกจากมุมที่เราคิดมาแล้ว เราสามารถเขยื้อนซ้ายขวาหรือขยับเดินไปดูรอบๆ บริเวณนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงมุมมองบ้างได้ไหม นอกจากมุมหลักที่ถ่ายแล้ว มันมีมุมรองถ่ายไหม มันน่าสนใจไหม เพราะว่าหลายๆที่ ที่ขึ้นไป ตัวอาคารอาจจะมีมุมหลักอยู่ แต่ในขณะเดียวกันมันอาจจะมีมุมรองที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะต้องใช้เทเลในการถ่าย มันก็ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวของเราว่าไปจุดนี้ ถ่ายไรได้บ้าง
แล้วเวลาออกไปถ่ายภาพ Cityscape ใช้กล้องตัวเดียวหรือมากกว่านั้น มีถ่าย Time Lapse พ่วงไปด้วยไหม
มีครับ ปกติผมจะมีกล้องฟูลเฟรม 2 ตัว Nikon D850 กับ Nikon Z7 ตัวนึงก็จะถ่าย Time Lapse ตัวนึงจะถ่ายเป็นภาพนิ่งปกติ ในขณะเดียวกัน ก็จะใช้ขาตั้งกล้อง 2 ขาเหมือนกัน
ภาพ Cityscape ที่ดีในความเห็นของคุณป๊อป คิดว่าควรจะมีอะไรบ้าง
ภาพจะต้องคมชัดแบบที่มันควรจะเป็น หรือถ้ามันไม่ชัดคุณจงใจให้เป็นศิลปะก็ได้ แต่มันก็ควรจะเป็นอย่างที่เราตั้งใจ องค์ประกอบภาพมันต้องได้ แสงอาจจะแล้วแต่ว่า ณ ตอนนั้น ถ่าย Cityscape อาจจะไม่ต้องเป็นทไวไลท์ก็ได้ ใครจะไปรู้ว่า เป็นตอนกลางวันแต่เนื่องจากฟ้ามีเมฆค่อนข้างเยอะอาจจะมีแสงลอด คุณถ่าย Cityscape ตอน 11 โมงก็ได้ ซึ่งผมก็มีบางภาพแสงเป็นเส้นๆ ลำๆ เพราะว่าเราไม่รู้ว่า บางที บางเหตุการณ์ จะเกิดลักษณะนั้น
พอไปทำงานจริงๆ อาจจะเจอปัญหาว่า สภาพแสงไม่เอื้ออำนวยเท่าไหร่ จะแก้ไขยังไง
ถ้าเป็นงานจ้าง แล้วลูกค้าเจาะจงว่าเค้าต้องได้แสงแบบนี้ อันนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องมาทำซํ้าจนได้ แต่ถ้าเป็นงานอดิเรก แล้วจุดนี้ไปค่อนข้างยาก แล้วเราอาจจะไม่มีโอกาสมาอีก จริงๆ ฟ้าไม่เป็นใจ เราอาจจะไม่ได้ฟ้าพระอาทิตย์ตก ไม่ได้ฟ้าสวยๆ แต่ฟ้าบลูใน Cityscape ก็ไม่ได้แย่ ถ้าฟ้าสวย เก็บฟ้าเข้ามาเยอะหน่อย แล้วดูองค์ประกอบว่ามันได้ไหม แต่ถ้าฟ้าไม่สวยก็เก็บให้มันแน่นเข้ามานิดนึง ทิ้งฟ้าให้มันน้อยหน่อย หรือบางทีเราอาจไม่จำเป็นต้องเก็บฟ้าเลยก็ได้ อาจจะเก็บตึก ถ้าตึกมีเอกลักษณ์ ถ่ายเจาะเข้าไป ตึกซ้อนๆ มันก็สวยงามได้เหมือนกัน
เทคนิคที่คุณป๊อปใช้ในการถ่ายภาพ Cityscape
เทคนิคในการถ่าย Cityscape นอกจากขาตั้งกล้อง สายลั่นหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ต้องมี เพื่อให้ภาพมันคมชัด ทีนี้ต้องย้อนกลับไปว่า แต่ก่อน Dynamic Range ของกล้องมันไม่ได้กว้างเท่าปัจจุบัน สมมุติฟ้าระเบิดแล้วมีป้ายไฟ ป้ายไฟมักจะหลุดไฮไลท์ เพราะว่ามันจะสว่างเกิน ถ้าเราอยากจะเก็บป้ายไฟแล้วมีรายละเอียดก็ต้องถ่ายคร่อมแล้วเราก็มารวม ถามว่าปัจจุบัน Dynamic Range ช่วยได้ไหม ก็ช่วยได้้ เราต้องดูว่าในภาพภาพนึง มันมีจุดที่หลุดไฮไลท์เยอะไหม ถ้ามันเป็นแค่ไฟเม็ดเล็กๆ เต็มไปหมด อันนี้ยังพอรับได้ คุณไม่ต้องไปถ่ายแบบว่า ลบ 5 สต็อป เพื่อที่จะมานั่งดึงเม็ดไฟกลับเข้ามาซ้อน ปัจจุบันกล้อง D850 หรือ Z7 ไดนามิคเรนจ์จะดีมาก คุณถ่ายมาอันเดอร์ จะเปิด shadow คุณก็ทำได้ แต่ส่วนตัวผมยังถ่ายคร่อมอยู่ไหม ในบางเหตุการณ์ผมก็ยังถ่ายคร่อม เพราะว่าในบางลักษณะ คือ ฟ้ามันระเบิดมากๆ แล้วแสงมันต่างค่อนข้างเยอะ ผมก็กันเหนียว จริงๆ เราเชื่อมั่นกล้อง แต่ว่าเราถ่ายให้ตึกมันพอดี ไม่ให้ตึกมันมืดเกินไปมาอีกสักใบนึง แต่ในหลายๆ เหตุการณ์บางทีเราถ่ายมาก็ไม่ได้เอามาซ้อนเอามาทำเผื่อนะ ผมทำใบเดียวได้ก็ทำ เพิ่มเติมอีกนิดนึง คือบางมุมสถานที่ค่อนข้างแคบมาก บางทีเราอาจจะใช้เลนส์ 14-24 mm มันจะเก็บไม่หมด มันก็จะต้องมีการถ่ายพาโนรามา ถ้าให้แนะนำในแนว Cityscape พูดเรื่องว่าตึกตรงได้ก็จะดี เราจะต้องถ่ายเผื่อมามากกว่าที่เราถ่ายไว้ พอเวลาเราปรับตึก จะมีการสูญเสียภาพออกไป แล้วเราจะต้อง crop ออกมา เพราะฉะนั้นจะมีเทคนิคว่า บางสถานที่แคบมาก อาจจะต้องถ่ายพาโนรามามาเผื่อ แล้วเราต้องรู้คาแรคเตอร์ของเลนส์เรา พอเวลาเราถ่ายพาโนรามาเผื่อ แล้วเราปรับ Perspective มันจะเหลือเท่าไหร่ แต่สำหรับมือใหม่ ข้อแนะนำง่ายๆ เลยก็คือว่า ถ่ายมาเผื่อเยอะๆ เถอะ แล้วมาต่อ มาปรับกันดีกว่า ปัจจุบันซอฟต์แวร์ในการปรับ Perspective ของ Photoshop มันค่อนข้างดีมาก ในการโยนไฟล์ RAW เข้าไป คุณรวมพาโนรามา จะ HDR รวมมาเสร็จปุ๊ป คุณกดแค่ perspective อย่างน้อยกด auto โดยส่วนใหญ่มันโอเค แต่ถ้าไม่ปรับ auto คุณจะปรับรวมเองก็ไม่ได้ยากอะไร
รบกวนแนะนำสถานที่ถ่ายภาพ Cityscape ในกรุงเทพให้ผู้ที่สนใจครับ
แสงเช้า สวนเบญจกิติ ตรงศูนย์สิริกิตต์ ข้างๆก็จะมีสวนและจะมีนํ้า ตรงนั้นจะเป็นมุมที่เป็นตึกสะท้อนนํ้า ตอนแสงเช้าพระอาทิตย์จะขึ้นข้างหลังพอดี ก็ค่อนข้างสวยงาม ไปได้ไม่มีปัญหา อีกที่ ตัวโรงแรมเปิดให้ช่างภาพไปถ่ายรูปได้ ก็คือ โรงแรมไพร์ม ตรงนั้นจะเป็นมุมที่ถ่ายหัวลำโพงได้เป็นแสงเช้าเหมือนกัน แนะนำให้ไปถึงสักตี 5 ครึ่งนะครับ โรงแรมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เดินไปแจ้งล็อบบี้ได้เลย หลักๆ ก็จะเป็น 2 ที่นี้ ถ้าเป็นสถานทื่อื่น ก็จะมีหลายๆโรงแรมที่มี rooftop แต่จะมีข้อจำกัดในการวางขาตั้งกล้อง และอีกที่นึงง่ายมาก อันนี้ผมว่ายอดฮิตเลยตอนนี้ คือ ตึกมหานคร แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายในการขึ้นไป ตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนราคาอาจจะสูงขึ้นมาหน่อย ตึกมหานครค่อนข้างดี ถ่ายได้ทั้งหมด 4 มุมของตึกเลย ตึกมันสูง แล้วปัจจุบันก็ใช้ขาตั้งกล้องได้นะ เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรนะครับ แล้วตึกมหานครจะมีความหลากหลาย คุณพกเลนส์ไปได้ทั้งหมดเลย คุณจะถ่ายกว้าง ธรรมดา เทเลหรือซุปเปอร์เทเลก็ยังได้
กล้องและเลนส์ที่คุณป๊อปใช้ในการถ่ายภาพ Cityscape
กล้องใช้ Nikon D850 กับ Nikon Z7 ครับ ทำไมต้อง Nikon D850 กับ Nikon Z7 ในการถ่าย Cityscape สองรุ่นนี้จะเป็นรุ่นที่มีจำนวนพิกเซลเยอะ ถามว่าจำเป็นไหม ก็แล้วแต่สถานการณ์ คือบางทีเราอาจจะไม่ได้เอาเทเลไป การที่มีพิกเซลจำนวนเยอะๆ เราจะสามารถครอปภาพได้แล้วภาพยังมีไซส์ในขนาดที่ค่อนข้างสูง ยังสามารถจะเอาไปขายได้ ถามว่าจำเป็นจะต้องใช้กล้องไซส์พิกเซลใหญ่ๆ ไหม ..ไม่จำเป็น จริงๆ จะใช้กล้อง Nikon D4 อาจจะใช้แค่ 16 ล้านมันก็เพียงพออยู่แล้ว จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวไซส์ของพิกเซลหรือตัวกล้องอย่างเดียว เลนส์ก็สำคัญ ถ้าใช้ในการถ่าย Cityscape ใช้เลนส์ที่ค่อนข้างคอนทราสต์ดี มีความคมชัด ภาพที่ได้ค่อนข้างแตกต่าง ไม่ได้แนะนำบอกว่าให้ทุกคนต้องไปจ่ายเงินเยอะๆ เพื่อที่จะซื้อเลนส์แพงๆ แต่เลนส์แพงกับเลนส์ถูก ตัวที่เป็นเลนส์เกรดโปร ภาพจะเห็นค่อนข้างชัดเจน เวลาคุณปรับ F8 หรือ F11 ปุ๊ป มันคมมากๆ แล้วก็ตัว Nikon Z7 ผมอยากลองตัวเลนส์ไวด์ รุ่นใหม่ (NIKKOR Z 14-30mm f/4 S) มาก เพราะว่าเลนส์ของ Nikon Z7 เลนส์ NIKKOR Z 24-70mm f/4 S รุ่นใหม่มันคมมาก และค่อนข้างเหมาะกับ Cityscape เลนส์อื่นก็มี AF-S NIKKOR 14-24mm f/2.8G ED , AF-S NIKKOR 24-70mm f/2.8E ED VR , AF-S NIKKOR 70-200mm f/2.8E FL ED VR แล้วก็มี fisheye ด้วย ถามว่า fisheye เราถ่าย Cityscape ได้ไหม ได้… หลายๆ ภาพ หลายๆ มุมเลนส์ fisheye อาจจะตอบโจทย์ในบางสถานการณ์ แน่นอน fisheye ตึกมันไม่ตรง
แน่นอน ถ้าพยายามปรับภาพจาก fisheye เป็นตึกตรง ขอบภาพมันจะเบลอหมด แต่ในบางสถานการณ์ คุณก็จะสามารถสร้างภาพแบบว่าเป็นแนวกึ่งศิลปะ ขอบๆ ให้มันเบลอๆ ได้ ก็ใช้ได้เหมือนกัน ก่อนหน้านี้เคยใช้เลนส์ Tilt-Shift เหมือนกัน Nikon 24mm PC-E Tilt/Shift ก็ดี ปกติถ้าเราใช้เลนส์ไวด์ทั่วไปจะต้องเอาภาพมาปรับตึกให้ตรง ถ้าเราไปถ่ายในระนาบของตึก มุมกล้องมันไม่เงยหรือไม่ก้ม มันก็จะพอดี ตึกเราก็ไม่ต้องปรับมาก แต่ถ้าในบางสถานการณ์คุณต้องปรับมุมกด ใช้เลนส์ Tilt-Shift เลื่อนลงมา จะได้ถ่ายปุ๊ปจบปั๊ปพอดี แล้วข้อดีของเลนส์ Tilt-Shift ในการถ่าย Cityscape ก็คือมันสามารถเลื่อนไปพาโนโดยที่เราไม่ต้องขยับกล้อง โดยใช้เลนส์ในการขยับ มันจะเป็นการต่อภาพที่ค่อนข้างเนียนกว่า แล้วก็เลนส์ Tilt-Shift คุณภาพสูง ไฟล์คุณภาพก็ค่อนข้างที่จะดีกว่า
อุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่างภาพแนวนี้จำเป็นต้องมี
แน่นอนเลยก็ต้องมีขาตั้งกล้อง จะมีสายลั่นหรือรีโมตก็แล้วแต่ต้องมี ฟิลเตอร์อาจจะแล้วแต่เลย เพราะว่าเดี๋ยวนี้ไดนามิคเรนจ์ของกล้องค่อนข้างสูง คุณจะถ่ายคร่อม คุณอาจไม่จำเป็นต้องใช้ฟิลเตอร์ก็ได้ ไม่จบในภาพเดียว หรืออาจจะมีบางสถานการณ์ที่จะส่งเข้าประกวดแล้วต้องจบทีเดียว ก็อาจะใช้ Graduated Filter กดแสงท้องฟ้าลงมานิดนึงเพื่อให้ภาพครบสมบูรณ์ภายในทีเดียว
ช่วยแนะนำผู้ที่สนใจในการถ่ายภาพ Cityscape ว่าควรจะเริ่มต้นยังไง เรียนรู้ยังไง
ง่ายๆ เลยครับ พยายามเอาตัวออกไปถ่ายรูปเยอะๆ ถ้าเรานั่งอยู่แต่หน้าคอม เรานั่งดูภาพไป เราคงจะไม่มีภาพ ต้องลากตัวของเราออกไป เราต้องมีการฝึกฝน เราอาจจะดูว่าคนอื่นถ่ายอะไร แรกๆ อาจจะตามไปถ่ายก่อน แล้วค่อยสร้างมุมมองของเรา จะถ่ายยังไงให้แตกต่าง ผมขอยกตัวอย่างว่าที่เดียวกัน นอกจากฟ้าฝนอากาศแต่ละวันไม่เหมือนกัน ที่เดียวกันถ่ายไม่เหมือนกันก็ได้ ใครจะไปรู้ว่า เราอาจจะโชคดีมีรุ้ง คุณก็จะได้ภาพ Cityscape ที่มีความแปลก มีรุ้ง วันนี้มีฟ้าผ่า หรือว่าวันนี้ฟ้าระเบิด เป็นเมฆที่แปลก เมฆเป็นสีรุ้ง คุณก็จะได้เอกลักษณ์ของมัน ก็อยากจะแนะนำว่าคนที่ถ่าย Cityscape หนึ่งให้ศึกษามุม แล้วก็ศึกษาว่าเราเข้าไปได้ไหม เราควรทำให้มันถูกต้องแล้วก็ออกไปถ่ายบ่อยๆ และกลับมาทำภาพบ่อยๆ แล้วเราจะพัฒนา และสุดท้ายอย่างที่บอกไปทำยังไงให้แตกต่าง อยากได้ดีกว่าแล้วเราต้องทำยังไง เราก็ต้องมานั่งตั้งโจทย์ว่า สถานที่เดียวกันถ้าเรากลับมาใหม่ เราจะมีโอกาสไหมที่จะมีอะไรเปลี่ยนไป หรือเรากลับมาใหม่ สถานที่ตรงนี้มันอาจจะมีอีเว้นท์พิเศษไหม เช่น มีการจุดพลุ ก็จะได้ภาพที่แตกต่าง
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
ขอบคุณครับ
ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/