INTERVIEWS SCOOPS

LANDSCAPE PHOTOGRAPHERS Interview#01 : เกรียงไกร ไวยกิจ

หนึ่งแขนงการถ่ายภาพที่ซึ่งอาจบัญญัติว่าได้รับความสนใจจากบรรดานักถ่ายภาพมากที่สุดนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

หลายราย.. เลือกที่จะเริ่มต้น เรียนรู้ แสวงหาประสบการณ์ ในแง่ง่ามของการถ่ายภาพเอาจากเส้นทางหลักสายนี้ ขณะที่อีกมากมาย.. หยุดวิ่ง-ไล่ โดยเลือกที่จะนำพาหัวใจของพวกเขา “ดิ่งลึกลงไปในมิติอันซับซ้อน” เพื่อค้นหาความหมาย ความพึงใจใดสักอย่างจากการถ่ายภาพแขนงนี้แก่ตนเองเช่นกัน

LANDSCAPE โดยนัยยะหนึ่ง คือ “ภูมิทัศน์” หรือภาพโดยรวมของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ที่ซึ่งมนุษย์สัมผัสรู้ผ่านทางสายตา ทั้งในด้านมิติและระยะห่าง ครอบรวมทั้งพื้นที่อันก่อเกิดขึ้นตามธรรมชาติ อาทิ รูปลักษณะของแผ่นดิน สายธาร ทิวเทือกป่า กระหนาบให้แคบและชัดได้ว่า “ภูมิทัศน์ธรรมชาติ” ตลอดทั้งสรรพสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ ในสภาพบรรยากาศหนึ่ง ณ ห้วงเวลาหนึ่ง เรียกได้เช่นกันว่า “ภูมิทัศน์เมือง”

LANDSCAPE PHOTOGRAPHY  “ไม่มีสูตรให้แทนค่า” ว่ามุมต้องกว้างเท่านั้น รูรับแสงต้องแคบขนาดนี้ หรือต้องมีองค์ประกอบเชิงศิลปะ 1-2-3-4.. ให้ครบตามตำรา – แม้ไม่มีสูตรให้แทนค่า ทว่าย่อมมีกรอบให้พิจารณา

LANDSCAPE PHOTOGRAPHER หรือ “นักถ่ายภาพภูมิทัศน์” ทั้งรุ่นบุกเบิกและรุ่นปัจจุบัน ผู้ผ่านประสบการณ์จนสัมผัสผลเชิงสัมฤทธิ์ มักมอบทรรศนะอันเป็น “กรอบ-กำหนด” เพื่อการเรียนรู้ ฝึกฝน และสั่งสมทักษะแก่นักถ่ายภาพรุ่นใหม่ผู้ปรารถนาจะก้าวเดินไปบนเส้นทางเดียวกับพวกเขาอยู่อย่างเสมอ

FOTOINFO Plus ฉบับนี้ ชวนคุณผู้อ่านค่อย ๆ กวาดสายตาไล่ตามทรรศนะจากบทสัมภาษณ์และบทความในหลากหลายมิติเกี่ยวกับ LANDSCAPE PHOTOGRAPHY ด้วยเชื่อว่าจะช่วยสร้าง “แรงบันดาลใจ” และ “ความเข้าใจ” ในวิถีทางของการถ่ายภาพแขนงนี้ให้กับทุกท่านอย่างแน่นอน


คุณเริ่มต้นถ่ายภาพตั้งแต่เมื่อไร และอะไรคือแรงจูงใจในการหันมาสนใจการถ่ายภาพ
ถ้านับจากการซื้อกล้องเป็นของตนเองไม่รวมขอยืมผู้อื่นเป็นครั้งคราว ผมเริ่มถ่ายภาพจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 สำหรับแรงจูงใจเนื่องจากผมเรียนมาทางศิลปะ กล้องถ่ายภาพสร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปะได้อย่างไร้ขอบเขตในอีกรูปแบบหนึ่ง อีกทั้งชอบเดินทางท่องเที่ยวการบันทึกเรื่องราวระหว่างทางสานต่อความทรงจำประสบการณ์สำคัญ ณ ย่างก้าวของห้วงเวลานั้นๆ

ในช่วงแรกๆ คุณสนใจการถ่ายภาพแนวใด และไปหาวัตถุดิบในการถ่ายภาพที่ไหน
ยามว่างจากงานประจำในเวลานั้นผมเลือกที่จะเดิน หรือนั่งรถเมล์ไปสถานที่ต่างๆ เป็นประจำ ผมเคยเดินถ่ายภาพตามเส้นทางรถไฟสายตะวันออกกว่า 30 กิโลเมตร หรือเดินข้ามดอยต่างอำเภอในจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย ด้วยความตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งความเป็นคนช่างสังเกตและไม่เบื่อหน่ายกับการรอคอย ทำให้ผมสนุกมากกว่าเหน็ดเหนื่อยกับการถ่ายภาพทุกประเภท เช่น ทิวทัศน์ สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตผู้คน

คุณเริ่มถ่ายภาพแลนด์สเคปจริงจังตั้งแต่เมื่อใด และในช่วงนั้นใช้อุปกรณ์อะไรในการทำงาน
วันที่มีกล้องเป็นของตนเองผมจริงจังมาก การได้เดินทางเบื้องต้นในภูมิประเทศแถบภาคเหนือของประเทศเป็นหลักในทุกๆ ปี ทำให้ผมอยากบันทึกความประทับใจเป็นลายลักษณ์อักษรควบคู่กับงานถ่ายภาพให้เก็บไว้ในความทรงจำ รวมถึงส่งผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ กล้องฟิล์มที่ใช้จึงมีทั้งขนาด 135 (35 มม.) และ 120 (มีเดียมฟอร์แมต) ซึ่งภายหลังได้ใช้ขนาด 120 เป็นกล้องหลักแต่เพียงชนิดเดียวเท่านั้น

กล้อง SONY A7R II เลนส์ FE 16-35mm f/2.8 GM ; 1/3320 Sec f/10 , Mode : M, ISO 100

ภาพแนวแลนด์สเคปในยุคระบบฟิล์มมีข้อจำกัดในการถ่ายภาพหลายอย่าง ทั้งเรื่องการวัดแสง เรื่องสี เรื่องค่าแสงที่แตกต่างกันมากๆ เช่น ระหว่างท้องฟ้ากับพื้น ทราบมาว่าคุณปราณีตในการถ่ายภาพแต่ละช็อตมาก มีเทคนิคอะไรเป็นพิเศษมั๊ย
เกือบทุกสถานการณ์กับการใช้ฟิล์มสไลด์สี ซึ่งผมเลือกเป็นหลักบันทึกภาพ ด้วยจำนวนเฟรมที่น้อยในแต่ละม้วนผมจึงพิถีพิถันแทบจะทุกขั้นตอน ฟิล์มบางชนิดที่มีความไวแสงตํ่าๆ เช่น ISO 50 มีโอกาสให้พลาดไม่มากนัก เพราะถ้าพลาดเพียงเล็กน้อยผลงานจะลดคุณภาพลงทันที คำว่าคุณภาพนั่นก็คือแสงโอเวอร์หรืออันเดอร์เกินไป สำหรับฟิล์มแล้วเรื่องราวหลังเลนส์มันจะจบทันทีที่กดชัตเตอร์ แล็ปสีที่ส่งฟิล์มล้างอาจช่วยได้บ้างเมื่อคุณตระหนักถึงความผิดพลาดหลังเสียงชัตเตอร์ลั่น…แต่ไม่ผิดจะดีกว่า ต่อคำถามความแตกต่างค่าแสงระหว่างท้องฟ้ากับพื้นด้านล่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมมักใช้ฟิลเตอร์ไล่เฉดสีเทาครึ่งซีกหรือที่เรียกว่า Graduated มาช่วยแก้ปัญหาในการเฉลี่ยแสงให้ใกล้เคียงหรือแตกต่างแต่เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ฟิลเตอร์อีกตัวที่ผมพกติดกระเป๋าประจำเพื่อแก้ปัญหาแสงสะท้อนบนวัตถุในธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ผิวนํ้า และยังเพิ่มสีท้องฟ้าให้เข้มขึ้นในมุมองศาที่ถูกต้อง นั่นก็คือฟิลเตอร์ CPL โดยสรุปแล้วผมใช้ฟิลเตอร์น้อยชิ้นมากเพื่อช่วยในการถ่ายภาพ

ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่แล้วที่คุณถ่ายภาพแลนด์สเคปมา เอาไปใช้งานอะไรบ้างครับ และภาพแนวนี้ขายได้มั๊ยในช่วงนั้น
ความสุขกับการจับกล้องมองเรื่องราวแห่งความทรงจำเมื่อยามเดินทางไปในสถานที่ต่างมิติ และได้บันทึกสิ่งเหล่านั้นไว้คือความพึงพอใจสำคัญที่สุด ฟิล์มจำนวนมากมายในครั้งนั้นมีคุณค่าเหลือเกินต่อความรู้สึก รายได้อันเกิดขึ้นล้วนเป็นผลพลอยได้ นับรวมถึงการส่งภาพเข้าประกวดในวาระต่างๆ ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อชีวิตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

กล้อง SONY A7R II เลนส์ SONY 16-35mm f/2.8 GM ; 1/10 Sec f/8 , Mode : M, ISO 400

คุณมีไอดอลในการถ่ายภาพแลนด์สเคปมั๊ยครับ
มีงานภาพถ่ายแลนด์สเคปดีๆ มากมายจากศิลปินหลากหลายสไตล์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะว่าไปแล้วในเชิงเปรียบเทียบผมคงไม่สามารถทำได้ดีเท่าแน่นอน ความงดงามดังกล่าวสร้างความอัศจรรย์ใจในความรู้สึกเป็นอย่างยิ่ง ผมเชื่อในมุมมองและความคิดต่อเจตนาเมื่อได้มองภาพข้างหน้าและกดชัตเตอร์ของช่างภาพ หรือศิลปินแต่ละท่าน และก็เชื่อว่าทุกคนต่างมีหนทางของตนเอง สำหรับผมแล้วเวลาบนเส้นทางสายนี้อาจน้อยนิดเมื่อเทียบกับหลายๆ คน แต่ก็ได้พบคำตอบในที่สุดแล้วว่า…ผมไม่มีรูปแบบสไตล์หรือจะเรียกเป็นลายเซ็นก็ได้ที่บ่งชี้ตัวตนเลยแม้แต่น้อย ทุกสรรพชีวิตรอบกายสร้างความตื่นเต้นท้าทายในมุมมองใหม่ๆ ให้ค้นหาบันทึกภาพตลอดเวลา 30 ปีที่ได้จับกล้อง ไม่มีแม้สักครั้งที่ผมคิดจะวางลงถาวร เพราะความสุขที่ได้รับยํ้าเตือนเสมอถึงเพื่อนคู่กายที่ส่งผลต่อใจเกินคำอธิบายใดๆ

พอเปลี่ยนผ่านมาเป็นยุคดิจิตอล คุณคิดว่าการถ่ายภาพแลนด์สเคปมันเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด
ขั้นตอนหลังกล้องสู่กระบวนการตกแต่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ช่วยให้ภาพงดงามขึ้น ความผิดพลาดที่เกิดจากการกดชัตเตอร์ในหลายสถานการณ์สามารถปรับแก้โดยไม่ยาก แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าวเมื่อเทียบกับฟิล์มแล้วกล้องดิจิตอลจัดการได้ดีกว่า แต่..ผมมีความเชื่อในมุมมอง ความพิถีพิถันและความรู้สึกจากประสบการณ์เบื้องหน้าขณะนั้นว่ายังคงความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดวงตาของมนุษย์อัศจรรย์เกินกว่าสิ่งประดิษฐ์ใดๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาทดแทน ภาพถ่ายบันทึกปรากฏการณ์เป็นประวัติศาสตร์เก็บไว้เนิ่นนาน แต่ความทรงจำผ่านดวงตาลึกเข้าไปข้างในถึงใจ แม้อาจมีวันลบเลื่อนตามกาลเวลาของสังขารแต่ไม่มีวันลบความรู้สึกที่ตัวอักษรใดๆบรรยายไม่ได้กับภาพข้างหน้าในเวลาของวันที่ได้บันทึก ณ ขณะนั้น

กล้อง SONY A7R III เลนส์ SONY 70-400mm f/2.8G SSM II ; 1/80 Sec f/18 , Mode : M, ISO 100

ความปราณีตในการถ่ายแต่ละช็อตของคุณลดลงจากจากเดิมบ้างมั๊ยเมื่อถ่ายได้มากขึ้น
ไม่ต้องพะวงกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อฟิล์ม ล้างฟิล์ม ถ้านับจำนวนช็อตอาจมากขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้ฟิล์มถ่าย ในยุคที่ต้องขนฟิล์มไปจำนวนมากๆ กับการเดินทางที่ไม่สามารถหาฟิล์มระหว่างทางเสริมเติม จะว่าไปแล้วเงินส่วนใหญ่มักทุ่มกองพร้อมปริมาณม้วนฟิล์มที่เพิ่มตามมา การเดินทางหลายครั้งไม่มีโอกาสกลับไปแก้ตัวใหม่ ผมยินดีจ่ายแม้จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่น้อยเมื่อสิ้นสุดทริปแล้วนำฟิล์มกลับมาล้าง เมื่อฟิล์มเปลี่ยนเป็นไฟล์ดิจิตอลบันทึกลงเมมโมรี่การ์ดขนาดเล็กนิดเดียวได้หลายร้อยหายพันหรือหลายหมื่นภาพตามขนาดไฟล์ที่เรากำหนดจากกล้องที่ใช้ ผมไม่ได้ลดความประณีตพิถีพิถันลงแม้แต่น้อย ความสุขกับกล้องคู่ใจไม่ได้เปลี่ยนผมไปกับการรอคอยสังเกต เพื่อเสียงชัตเตอร์จะดังขึ้นในหลังจากนั้น

กล้องดิจิตอลรุ่นไหนที่คุณเปลี่ยนมาใช้แล้วพอใจกับคุณภาพเมื่อใช้งานด้านนี้ (ก่อนถึง ณ ตอนนี้)
ผมใช้กล้องฟิล์มขนาด 120 ยี่ห้อ Hasselblad ต่อเนื่องเป็นเวลานานและเป็นกล้องฟิล์มรุ่นสุดท้าย ผมตัดสินใจค่อนข้างยากเมื่อจะต้องเปลี่ยนเป็นดิจิตอล เริ่มจาก เช่า ยืมพี่และเพื่อนที่ใช้กล้องแตกต่างกันตามรสนิยมความชอบมาลองสัมผัส ท้ายที่สุดในครั้งนั้นผมตัดสินใจเลือกซื้อกล้อง SONY A77 ไว้ใช้งานไม่ใช่ว่ากล้องตัวไหนจะดีหรือไม่ดีแต่การตัดสินใจเกิดจาก “จริต” ที่พึงพอใจกับกล้อง SONY มากกว่า

ระหว่างช่างภาพ Landscape กับ Travel อะไรคือความแตกต่างในความเห็นคุณ
ผมไม่ชอบที่จะต้องแบ่งงานศิลปะภาพถ่ายให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ผมรู้สึกว่ากรอบบางอย่างจากการกำหนดประเภทบดบังอิสระความคิดสร้างสรรค์ที่เราจะสร้าง และมองมุมงาน แน่นอนทุกคนต่างมีความชอบที่ไม่เหมือนกัน การเปิดใจกว้างกับทุกภาพที่เราเห็นไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตามสร้างการเรียนรู้ซึ่งประเมินค่ามิได้

กล้อง SONY A7R III เลนส์ SONY 12-24mm f/4 G ; 1/15 Sec f/9 , Mode : M, ISO 250

การเดินทางคือสิ่งแรกของการถ่ายภาพแลนด์สเคป คุณวางแผนอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร เตรียมอุปกรณ์อย่างไร
ผมให้ความสำคัญในอุปกรณ์มาก เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตจำนวนชิ้นที่ติดตัวไปแตกต่างกัน อาจด้วยช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ในครั้งนั้นผมจึงขนแทบทุกอย่างที่มีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเลนส์ ผมไม่ชอบพกกล้องไปมากกว่าหนึ่งตัวเพราะอยากทุ่มเทสมาธิทั้งหมดไปกับบอดี้เดียว ปัจจุบันถึงการเรียนรู้จะไม่มีวันสิ้นสุดแต่วัยที่เพิ่มขึ้นก็สร้างปัญหาไม่น้อยกับอุปกรณ์จำนวนมากที่จะขนไปในทีเดียว แต่เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตเลนส์ในยุคนี้ดีเยี่ยม อีกทั้งขนาดกล้องเล็กลงโดยคงคุณสมบัติที่ต้องการทุกอย่างไว้เหมือนเดิมหรือมากกว่าซะด้วยซ้ำ ทำให้ผมใช้อุปกรณ์เพื่อการเดินทางถ่ายภาพน้อยชิ้นลงโดยไม่ต้องกังวลกับคุณภาพ

กล้องสำคัญเพียงใดในการถ่ายภาพแลนด์สเคป คุณสมบัติที่กล้องควรมีคืออะไร กล้องความละเอียดสูงๆจำเป็นหรือไม่ เพราะอะไร และคุณใช้กล้องรุ่นไหนในการทำงาน
เป็นแค่อุปกรณ์ แต่คือเพื่อนคู่ใจที่พร้อมไปด้วยกันทุกที่ทุกเวลาโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ อย่างที่กล่าวเบื้องต้น ผมไม่ชอบพกบอดี้กล้องไปหลายตัว นั่นหมายความว่าตัวที่เลือกใช้ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพ คงทนกับทุกสภาพอากาศ ตอบสนองการใช้งานที่คล่องแคล่วว่องไว ไม่พลาดในทุกจังหวะเมื่อจับภาพข้างหน้า…ปัจจุบันผมใช้กล้อง SONY A7R Mark III ซึ่งให้ความละเอียด 42.3 ล้านพิกเซล เพียงพอต่อการใช้งานที่จะเกิดขึ้นตามมาไม่ว่าจะเป็นงานปริ้นท์คุณภาพสูง หรือบิลบอร์ดขนาดใหญ่ เป็นต้น

กล้อง SONY A7R II เลนส์ FE 100-400mm f/4.5-5.6 GM ; 1/15 Sec f/11 , Mode : M, ISO 100

คุณประทับใจในเรื่องอะไรของกล้องรุ่นนี้มากที่สุด
SONY A7R Mark III เป็นกล้อง Full Frame Mirrorless ขนาดเล็กที่มีนํ้าหนักเบา เหมาะมือ อีกทั้งคงทนเป็นยอด SONY A7R Mark III ให้คุณภาพไฟล์ใหญ่ถึง ๔๒.๓ ล้านพิกเซลที่มี Dynamic Range หรือช่วงการรับแสงที่กว้างเอื้อประโยชน์ในการปรับแต่งภาพที่อาจจะมีขึ้นไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมมักตั้งให้กล้องบันทึกไฟล์ RAW+JPEG ไปพร้อมๆ กัน และบ่อยครั้งที่ผมนำไฟล์ JPEG ไปใช้งานทันทีโดยแทบไม่ปรับเสริมแต่งใดๆ

แล้วเลนส์ล่ะครับ สำคัญเพียงใด เลนส์ดีๆ คุณภาพสูงๆ มันให้ผลที่แตกต่างอย่างไร กับการถ่ายภาพแลนด์สเคปคุณใช้เลนส์อะไรบ้างในการทำงาน
ผมยังเก็บเลนส์ A-Mount ไว้ใช้หลายตัว SONY A7R Mark III รองรับเลนส์แบบ E-Mount แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ ในฟอร์แมตเลนส์ที่แตกต่าง เพียงแค่หาอุปกรณ์เสริมนั่นก็คือ Mount Adapter LA-EA3 หรือ LA-EA4 ก็สามารถใช้งานได้โดยง่าย อย่างไรก็ตามสำหรับเลนส์ E-Mount ผมมีเลนส์เลือกใช้ต่างความยาวโฟกัสถึง 3 แบบ นั่นก็คือเลนส์ Carl Zeiss เลนส์ G และ GM (G Master) เลนส์ทั้ง 3 ตัว ให้คุณภาพความคมชัด ตลอดจนสีสันสมบูรณ์แบบต่อความต้องการ แต่เมื่อเทียบกันอย่างถ่องแท้จริงๆแล้วเลนส์ G Master เป็นเลนส์คุณภาพสูงที่สร้างความพึงพอใจในการถ่ายภาพของผมเป็นที่สุด เลนส์รุ่นดังกล่าวซึ่งผมนำติดตัวเดินทางไปด้วยเสมอก็คือ FE 24-70mm f/2.8 GM และ FE 85mm f/1.4 GM ขณะเดียวกันเลนส์ FE 12-24mm f/4 G ตัวโปรดก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเท่าไรเลย

เลนส์ตัวโปรดของคุณคือรุ่นใด
ตามที่ตอบข้างบนครับ FE 24-70mm f/2.8 GM และ FE 85mm f/1.4 GM

กล้อง SONY A7R III เลนส์ SONY 70-400mm f/4-5.6G SSM II ; 1/250 Sec f/8 , Mode : M, ISO 400

ในการเดินทางแต่ละครั้ง คุณนำกล้อง เลนส์ และอุปกรณ์ไปมากน้อยแค่ไหนครับ
ผมถ่ายภาพเกือบทุกวันที่บ้าน และเมื่อจะต้องเดินทางแม้ไม่เกี่ยวกับการถ่ายภาพผมจะพกกล้องติดตัวไปด้วยเสมอ ด้วยกล้องที่มีขนาดเล็กและเบาจึงไม่สร้างภาระใดๆในภารกิจที่ทำ บ่อยครั้งที่ผมได้ภาพดีๆ กับปรากฎการณ์ข้างหน้าโดยไม่คาดฝันจากการได้พกกล้องติดตัวตามลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ตามยามต้องถ่ายภาพจากโจทย์ที่กำหนดผมจะไตร่ตรองและวางแผนนำอุปกรณ์ไปเท่าที่จำเป็นแต่ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด

ภาพแลนด์สเคปของคุณมักจะไม่ได้ใช้กับทางออนไลน์เป็นหลัก เพราะมักจะนำมาใช้กับงานพิมพ์ค่อนข้างมากใช่มั๊ยครับ มีอะไรที่กล้องและเลนส์ที่ใช้อยู่แสดงความพิเศษ ความแตกต่างบนงานพิมพ์มั๊ย
ถ้าไม่ได้เป็นงานในความรับผิดชอบที่ได้มอบหมาย ผมถ่ายทุกอย่างที่สร้างความประทับใจและเห็นคุณค่าถึงเรื่องราวผ่านการสังเกตเฝ้ามอง ภาพเหล่านี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ใดๆ ชัดเจนที่จะนำไปใช้งานแต่เกิดจากความรักเป็นสำคัญ แต่เมื่อมีเหตุต้องนำไปใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ ตลอดจนปริ้นท์แสดงนิทรรศการต่างๆ คุณภาพไฟล์ผ่านเลนส์ที่บันทึกลงบนเซ็นเซอร์ของกล้องก็ไม่เคยสร้างความผิดหวัง

และกับการพิมพ์ภาพขนาดใหญ่สำหรับการแสดง Exibition ล่ะครับ กล้องความละเอียดสูงให้ผลดีกว่าชัดเจนมั๊ย
ทั้งหมดได้กล่าวชัดเจนข้างต้นแล้วครับ อย่างไรก็ตามงานปริ้นท์หรือพิมพ์ภาพเพื่อแสดงนิทรรศการบ่อยครั้งที่จำเป็นต้องใช้งานขนาดใหญ่กับการชมในระยะประชิด คุณภาพความละเอียดขนาด 42.3 ล้านพิกเซลวางใจได้เลยครับ

อะไรคือหัวใจหลักของภาพแลนด์สเคปในความเห็นคุณ อะไรควรมีในภาพที่ดี
“หัวใจและความรัก” ครับที่ควรมีให้กับภาพที่เราถ่าย ทฤษฎีและกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการถ่ายภาพมีไว้เพื่อการศึกษาเรียนรู้ แต่หลังจากนั้นต้องเลือกแบบแผนจากความพึงพอใจด้วยตนเอง และรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากงานที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม

กล้อง SONY A7R III เลนส์ FE 24-70mm f/2.8 GM ; 1/50 Sec f/9 , Mode : M, ISO 200

ที่หลายคนบอกว่าภาพแลนด์สเคปที่สวยเพราะสถานที่มันสวยอยู่แล้ว ใครไปก็ถ่ายได้ คุณมีความเห็นอย่างไร
ภาพที่เห็นและสัมผัสในฉับพลันทันทีกับมุมมองอันประทับใจเบื้องหน้ามักเก็บไว้ข้างในเราได้เนิ่นนาน ยากที่จะถูกลบเลือนตราบลมหายใจสุดท้าย โลกของการถ่ายภาพปัจจุบันขอบเขตลดน้อยลงมีอุปกรณ์หลากหลายรูปแบบเพื่อการบันทึกเตือนแทนการจดจำ คำกล่าวที่ว่า “ใครๆ ก็ถ่ายได้” เป็นความจริงอยู่ไม่น้อย แต่ผมเชื่อว่าในภาพที่ “ใครๆ ก็ถ่ายได้” มันมีบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ในนั้นที่อาจบ่งชี้ถึงความรู้สึกจริงๆ ของผู้ถ่ายว่าใครรู้สึกอย่างไร ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญและสร้างความแตกต่าง

ช่วยฝากคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจถ่ายภาพแลนด์สเคปด้วยครับ
ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นคนช่างสังเกตต่อทุกสรรพสิ่ง พร้อมที่จะรอคอยโดยไม่เบื่อหน่าย ไม่คาดหวังในผลงานจนเลยเถิดเป็นความเครียด และที่สำคัญอย่างยิ่งต้อง “รัก” กับสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่ด้วยความมุ่งมั่น

โดย ชวลิต แสงอินทร์


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/