ช่างภาพหนุ่มอารมณ์ดีแถมพกดีกรีปริญญาเอกด้าน Service Marketing จาก University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย เริ่มบทสนทนาด้วยท่วงท่าฟังชัดทะมัดทะแมง
คุณมีความสนใจในเรื่องของการถ่ายภาพมาตั้งแต่วัยรุ่นแล้วหรืออย่างไร
“ไม่เลยครับ ผมเกิดและโตที่จังหวัดศรีษะเกษ ช่วงชีวิตทั้งวัยเด็กและวัยรุ่น ผมให้ความสนใจค่อนข้างมากกับการเตรียมตัวเพื่อที่จะให้ได้เรียนแพทย์ ผมอยากเป็นหมอเพราะคุณแม่มีความใฝ่ฝันอยากให้ลูกสักคนเป็นหมอ ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองน่าจะทำได้ ก็เลยพยายามทุ่มเทกับการเรียนสายวิทย์-คณิต เพื่อเตรียมสอบอย่างเดียว”
แต่ชีวิตมักไม่ใช่สูตรสำเร็จเฉกเช่นคณิตศาสตร์ ภูมินันท์หักหัวเรือกลับแทบ 180 องศา ในวินาทีสุดท้าย ด้วยเพราะแว่วเสียงบางอย่างที่ระงมขึ้นในหัวใจว่าเส้นทางนี้อาจไม่ใช่ อีกทั้งคะแนนสอบก็ออกมาไม่ค่อยดีนัก
“ผมตัดสินใจย้ายสายกระทันหันในช่วงเทอมสุดท้ายตอนมัธยม 6 ซึ่งมันเกือบจะสุดปลายทางแล้ว ตอนนั้นรู้สึกว่ามันไปไม่ได้แน่ ๆ สอบโควต้าแพทย์ไป 2 ที่ ไม่ติดสักที่ รู้สึกท้อใจพอสมควร หากไม่ตัดสินใจอะไรสักอย่างคงไม่พ้นต้องกลับมาเตรียมตัวเอ็นทรานซ์อีกรอบ จนได้มาค้นพบภาควิชาโฆษณา คณะวารสารศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหาร ออกแบบโฆษณาและการตลาด มีความรู้สึกว่าเออเราก็ชอบงานสร้างสรรค์ ชอบดูโปสเตอร์ ดูโฆษณา ชอบอะไรที่มันเป็นการตลาด เลยลองมุ่งมั่นมาทางนี้”
มีจังหวะไหนในขณะนั้นที่รู้สึกชื่นชอบงานด้านศิลปะหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันบ้าง
“ปรกติผมเป็นคนชอบวาดรูป ชอบ Drawing ลงสีหรืออะไรที่เกี่ยวกับพวกนี้ แต่ก็ต้องบอกว่าผมไม่ใช่คนที่มีพรสวรรค์ทางด้านนี้ เวลาเห็นเพื่อน ๆ ที่เขาจะไปเรียนต่อทางด้านศิลปะหรือสถาปัตย์ มีความรู้สึกว่าลายเส้นของพวกเขาสวยมาก พอดูของตัวเองมันไม่สวยอย่างที่ต้องการ แต่รู้ตัวว่าเรามีความชอบเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้”
ช่วงวัยรุ่นคุณเคยพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพบ้างไหม
“ที่บ้านมีกล้องถ่ายภาพครับ เป็นกล้อง Nikon FE ติดเลนส์ 35mm ก็ได้ลองเอามาเล่นดู ตอนนั้นยังเป็นยุคฟิล์มอยู่ ฟิล์มม้วนหนึ่ง 36 ภาพ ถ่ายเป็นเดือนแล้วค่อยเอาไปล้าง หลักๆ ที่ถ่ายเป็นภาพครอบครัว เรื่อง ISO Shutter Speed หรือ f-number ยังไม่รู้หรอก การตั้งค่าต่างๆ ก็ปรับให้เป็นระบบออโต้หรือดูที่เกจ์วัดแสงให้มันอยู่ตรงกลาง ถ่ายถูกบ้างผิดบ้าง พอได้รูปมาก็รู้สึกว่าถึงจะวาดภาพไม่เก่งแต่เราสร้างภาพจากแสงได้นี่”
ภูมินันท์มีโอกาสได้เรียนการถ่ายภาพอย่างเป็นเรื่องราวครั้งแรกที่คณะวารสารศาสตร์ แน่นอนว่าที่ช่างภาพ Landscape ของเราคนนี้ทุ่มเทเต็มที่
“ลงวิชาถ่ายภาพเบื้องต้นไว้ แต่ได้เกรด C ครับ (หัวเราะ) ผมชอบวิชานี้แต่คิดว่าตอนนั้นเรายังจับทางไม่ถูก เช่นโจทย์บอกให้ถ่ายภาพหัวข้อ ‘หยุด’ หรือ ‘เวลา’ มันเป็นโจทย์ที่ค่อนข้าง Abstract มาก เราก็เลยตีความตรงๆ ส่งงานไปตรงๆ ตามที่คิด ปรากฎคะแนนออกมาไม่ค่อยน่าพอใจ เทคนิคไม่ดี การตีความไม่ดี แต่เวลาที่ได้ถ่ายภาพ เรารู้สึกว่าสนุก เลยเริ่มที่จะเอากล้องมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น”
เมื่อพื้นฐานการถ่ายภาพเริ่มดี ชั่วโมงบินสะสมมากพอ เขาจึงไม่รีรอที่จะมองหาอุปกรณ์ทำลายฉากหลังอย่างเลนส์ 80-200mm f/2.8 และ 85mm มาใช้ในการถ่ายภาพพอร์เทรตแบบที่ตัวเองชื่นชอบเป็นพิเศษ
“ตอนนั้นรู้สึกหึกเหิมว่าเราถ่ายภาพพอได้ ก็เริ่มไปลองรับงานถ่ายรับปริญญา ปรากฎว่าครั้งแรกก็งานเข้าเลย.. กล้องพัง!?! คือผมไม่รู้ว่าระบบวัดแสงของกล้องมันเพี้ยนตั้งแต่ฟิล์มม้วนแรกที่ใส่เข้าไปจนกระทั่งถ่ายบัณฑิตจบ มารู้อีกทีตอนไปเอาฟิล์มที่ส่งล้าง-อัด โอ้โห.. นํ้าตาเล็ด ภาพวัดแสง Under มืดตึ๊บ!! ในใจผมนี่กรีดร้องดังมาก กลุ้มใจมาก จะทำอย่างไรกับภาพของลูกค้าดี สุดท้ายก็ต้องยอมเอ่ยปากขอโทษเขาตรงๆ แบบลูกผู้ชาย โชคดีที่บัณฑิตเข้าใจและให้โอกาสอีกครั้ง ก็ขอบคุณและรีบถ่ายซ่อมให้เขาทันที”
ดูเหมือนความสนใจในการถ่ายภาพช่วงแรกของคุณโน้มไปในทางพอร์เทรต อะไรคือจุดเปลี่ยน
“ช่วงที่มีโอกาสได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรเลีย ผมเตรียมอุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพแนวพอร์เทรตไปด้วยเพื่อที่จะเอาไปใช้รับงานถ่ายภาพที่นั่น เผื่อเป็นรายได้เสริม ไม่อยากล้างจาน อย่างน้อยก็ยังรับงานถ่ายภาพได้ แต่พอไปถึง.. ไม่มีคนให้ถ่ายเลย วัฒนธรรมในการรับปริญญาของบ้านเขาไม่เหมือนเมืองไทย คนที่นั่นใช้แค่กล้องคอมแพ็คหรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือถ่ายแค่นั้น ไอ้ที่ตั้งใจจะไปรับจ้างถ่ายรับปริญญาไม่มีเลย ตลาดจะอยู่ที่แนวเวดดิ้งเป็นหลัก มันยากมากที่จะได้งาน คนที่นั่นยังเชื่อว่าฝรั่งถ่ายภาพได้ดีกว่าแม้ราคาจะสูงกว่า ปีแรกแม้จะลงโฆษณา-ประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ที่นั่นไปพอสมควร ผมได้งานถ่ายภาพเพียง 5-6 คู่เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานของคนไทยแต่งกันเองหรือคนไทยแต่งกับฝรั่ง และที่เขาอยากเอาเราไปถ่ายให้ก็เพราะเหตุผลเดียวคือราคาถูกกว่าจ้างฝรั่งถ่าย” (หัวเราะ)
อีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ภูมินันท์พบเส้นทางใหม่จริงๆ คือ “ความเครียด” ความเครียดจากการเรียนอย่างหนักหน่วงที่สุดในชีวิต จนทำให้เขาเกิดความรู้สึกอยากออกไปนั่งนิ่งๆ ริมทะเล
“การเรียนปริญญาเอกมันเครียดมากนะครับ ทำให้เรารู้สึกว่าต้องพักแล้ว มันตึงเกินไป เรียนจันทร์ถึงจันทร์ ต้องคุยกับอาจารย์ฝรั่ง ต้องนั่งอ่านเอกสารตลอดเวลา วันๆ หนึ่งเป็นสิบชั่วโมงเสาร์-อาทิตย์ก็เลยพาครอบครัวไปนั่งที่ริมทะเล ผมรู้สึกว่าทะเลมันทำให้จิตใจสงบขึ้น จนมีโอกาสได้รู้จักพี่ชายท่านหนึ่ง ชื่อพี่ปรีชา เขาติดต่อผ่านมาทางเว็บ Multiply ที่เป็นสังคมออนไลน์ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ว่ามีใครสนใจจะไปออกทริปถ่ายภาพร่วมกัน ผมเห็นว่าพี่เขาอยู่ออสเตรเลียก็เลยไปกับเขา เพราะกำลังอยากหาเพื่อนอยู่เหมือนกัน พอเจอก็พากันออกไปถ่ายทะเล แต่วันแรกก็รู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว.. ทำไมมันถ่ายยากขนาดนี้ หลังกล้องเราดูห่วยแตกมาก แสงที่ย้อนเข้ามามันทำให้ภาพดูมืดไปหมด กลับมายังคุยกับที่บ้านว่ารอบหน้าถ้าพี่ปรีชาชวนอีก ผมไม่ไปแล้วนะ..
จากนั้นพี่เขาก็ชวนมาอีก มีทริปที่สอง และทริปที่สามก็เริ่มจับทางได้มากขึ้นว่าเขามีการเปิดแสง เขาใช้ฟิลเตอร์เข้ามาช่วย มีการหามุมมอง ซึ่งตอนนั้นเป็นสิ่งที่เรายังทำไม่ได้ ก็เลยรู้สึกว่าต้องเรียนรู้ อยากเอาชนะตนเองให้ได้ อยากเอาชนะสิ่งที่เป็นอุปสรรคตรงหน้า นั่นทำให้เราพัฒนาเรื่องของมุมมองและอุปกรณ์ ได้ความรู้ คำแนะนำจากพี่ๆ น้องๆ ที่ออกทริปด้วยกัน จากออกทริปสองคน กลุ่มก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บางทีไปถ่ายภาพร่วมกันเกือบ 10 คนเลยทีเดียว จนเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นแล้วก็กลายเป็นความชอบในที่สุด ความเครียดจากการเรียนตลอดทั้งสัปดาห์มันถูกปลดปล่อยในเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ถ่ายภาพเสร็จก็นั่งกินกาแฟคุยกัน บางคนเอาขนม เอาอาหารมาแลกเปลี่ยนกันกิน อยู่ไกลเมืองไทยแต่ความอบอุ่นที่ได้ทำให้มีความสุขมาก เหมือนเป็นการได้เรียนรู้ Culture ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน ความฝันในวัยเด็กที่เคยแว่บขึ้นมาว่าอยากมีเพื่อนสนิทที่ชอบอะไรอย่างเดียวกัน ได้ออกไปตะลุยเที่ยวต่างประเทศ มุมมองด้านศิลปะต่างๆ ที่เคยชอบเคยฝันไว้เริ่มหลั่งไหลเข้ามา จนสรุปได้ว่า.. นี่แหละคือชีวิตเรา”
ทว่า ความสำเร็จในชีวิตไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน เช้ามืดวันหนึ่ง ณ ชายหาด Tamarama Beach บททดสอบความมาดมั่นบนเส้นทางการถ่ายภาพของชายหนุ่มโหมโรงขึ้นหลังแสงแรกลามไล้ขึ้นมาถึงชายหาด
“เช้าวันนั้นผมกับนักถ่ายภาพอีก 4-5 คน ถ่ายภาพกันไปได้สักพัก จังหวะที่ฟ้าค่อยๆ สว่างขึ้น ผมรู้สึกว่าอยากจะเดินไปเอาฉากหน้า ซึ่งมันมีกฏอยู่ข้อหนึ่งสำหรับการถ่ายภาพทะเล คือ ‘ห้ามหันหลังให้ทะเล’ ในจังหวะนั้นผมหันหลังให้ทะเลนิดหนึ่งเพื่อดูมุม ก่อนที่จะสืบเท้าขยับไปข้างหน้า ปรากฎคลื่นลูกใหญ่สองสามลูกซัดเข้ามา เท้ามันเกิดลื่นและล้มลงไปทั้งตัว จริงๆ ระดับนํ้าจุดนั้นแค่หัวเข่า มีแอ่งนํ้าที่เราลื่นล้มลงไปแช่ทั้งตัว พอล้มลงไป อุปกรณ์ถ่ายภาพที่ร้อยไว้ที่เอวก็จมลงไปพร้อมกัน ชั่วเวลาไม่เกิน 3 วินาที หลังจากล้มแล้วรีบยืนขึ้น ทุกอย่างเปียกไปหมด ขึ้นมาบนฝั่งได้ก็รีบเอาอุปกรณ์ออกมาเช็ดให้แห้ง ก่อนขับรถดิ่งไปที่บ้านเพื่อนซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 10 นาที แต่ปรากฎว่าอุปกรณ์ข้างในเริ่มขึ้นเป็นเกลือแล้ว ผมส่งอุปกรณ์ทั้งหมดไปทำการถอดล้างอีกครั้งที่ซิดนีย์ หมดค่าซ่อมไปเกือบสองหมื่นบาทแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างเสียหายทั้งหมด!”
เฟลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขนาดไหน
“ช่วงนั้นก็คิดมากนะครับ เพราะอุปกรณ์ถ่ายภาพไม่ใช่ถูกๆ แต่ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งของตัวเองเหมือนกัน หลังจากอุปกรณ์ทั้งหมดพัง พอดีช่วงนั้นมีการประกวดถ่ายภาพโฆษณาอยู่แคมเปญหนึ่งซึ่งรณรงค์ให้คนไทยในซิดนีย์อ่านหนังสือมากขึ้น มีเงินรางวัลประมาณ 2,000 เหรียญ ผมสนใจแต่ก็ไม่กล้าที่จะยืมอุปกรณ์ของใคร พอพี่ปรีชาทราบแกเลยให้กล้องยืมมาใช้เผื่อว่าได้รางวัลจะได้เอาไปซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพใหม่ แล้วคนนี้ก็ให้ยืมเลนส์ คนนั้นก็ช่วยมาเป็นแบบให้ ผมส่งผลงานเข้าประกวด 3 ชิ้น ดูผลงานของคนอื่นแล้วคิดว่าเราน่าจะติด 1 ใน 3 แต่ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้เงินมาก็สั่งซื้อ Nikon D700 จากศูนย์ที่เมืองไทยแล้วส่งไปที่ซิดนีย์”
หลังได้รับอุปกรณ์ ภูมินันท์เร่งทำความคุ้นเคยกับเครื่องมือสร้างภาพชุดใหม่ของเขาให้เข้ามือ-เข้าใจในระบบกลไกต่าง ๆ ทันที
“การถ่าย Seascape เรามักจะไม่ค่อยมีเวลาในการดูอุปกรณ์มากนัก คลื่นซัดเข้ามาเราต้องรู้ก่อนแล้วว่าจะต้องปรับตั้งค่าอย่างไร ยิงอย่างไร ให้ทันกับความปลอดภัยของอุปกรณ์ ยิงเสร็จปุ๊บ-คลื่นซัด-ยกกล้องขึ้น พอจังหวะที่คลื่นไหลกลับเราต้องรีบปรับค่าของกล้องใหม่เพื่อให้ทันกับการถ่ายภาพต่อได้ทันที ตามความเข้าใจของผม Seascape แบ่งลักษณะการถ่ายออกเป็นสามรูปแบบ
จังหวะที่หนึ่ง ‘ปะทะ’ หมายถึงจังหวะที่คลื่นซัดเข้ามาเรายิงเลย ใช้ Shutter Speed ประมาณ 1/4 ถึง 1/6 s. เพื่อบันทึกริ้วของน้ำที่พุ่งเข้ามาหา
จังหวะที่สอง คือ ‘ไหลกลับ’ เราต้องการลายนํ้า พริ้วไหวสวยๆ มักใช้ Speed 1 วินาทีโดยประมาณ
จังหวะที่สาม คือ ‘ถอย’ โดยเราถอยออกห่างจากตัวคลื่นเลย คอยเก็บภาพกว้างเพื่อบอกเล่าเรื่องราว หรืออาจลากชัตเตอร์นานๆ เพื่อทำให้น้ำทะเลหยุดนิ่ง (มักใช้ Speed 30 วินาทีขึ้นไป)”
ในยุคที่กระแสโซเชี่ยลมีเดียยังไม่เกรี้ยวกราด สังคมออนไลน์อย่าง Multiply ถือเป็นแพลตฟอร์มที่แทบไม่มีนักถ่ายภาพคนไหนไม่รู้จัก เช่นเดียวกับภูมินันท์ เขาเปิดเวทีของตัวเองขึ้นมาเพื่อเป็นที่แสดงภาพ แชร์ภาพ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคการถ่ายในแง่มุมต่างๆ จนเมื่อมีความมั่นใจในผลงานของตัวเองมากขึ้น ว่าที่ Landscape Photographer ก็พาตัวเองขยับเข้าไปสู่เวทีที่มีขนาดสเกลกว้าง ลึก และสูงขึ้น
“ผมเริ่มทดลองส่งภาพถ่าย Landscape ไปที่เวบไซต์ 500px.com เพื่อโพสต์ภาพผลงานในแนวทางของตัวเอง ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเราเดินหน้าต่อไปได้คือ คำติชม ผมได้รับทั้งคำชมและคำติจากเพื่อนๆ ให้พัฒนางานเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นทำให้เรากล้าที่จะก้าวต่อไป และก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งเพราะผมใช้ชื่อ AtomicZen ในการส่งผลงาน คนมองงานเราเหมือนฝรั่งถ่าย เหมือนเป็นใครสักคนในซิดนีย์ที่ถ่ายภาพ Seascape ภาพได้รับความนิยมสูงมาก ขึ้นหน้าแรก Popular เป็นประจำ หลังจากนั้นก็มีคนติดต่อมาจากนิตยสาร N-Photo Magazine ของอังกฤษ เพื่อขอใช้ภาพขึ้นหน้าปก ตอนที่ได้รับอีเมลผมเชื่อว่าต้องมีใครมาหลอกเพื่อที่จะเอาภาพของเราไปใช้งานอะไรสักอย่างแน่ๆ (หัวเราะ) แต่ก็ติดต่อกลับไปว่าโอเคถ้าคุณต้องการนำภาพไปลงก็จะส่งไฟล์ภาพไปให้ดู ตอนนั้นเขาตอบกลับมาว่าโอกาสที่จะได้ตีพิมพ์บนหน้าปกยัง 50-50 นะ เพราะต้องมี Editor อีกหลายคนมาร่วมพิจารณา สารภาพว่าหลังจากนั้นอีกหนึ่งอาทิตย์ถัดมาผมนอนไม่หลับเลย ไปไหว้พระที่โน่นแทบทุกวัด ไปไหว้เจ้าแม่กวนอิมที่ผมนับถือ ว่าขอสักครั้งหนึ่งในชีวิต ขอให้ภาพของผมลงตีพิมพ์บนปกของนิตยสารสักเล่ม (หัวเราะ) มันเป็นสุดยอดความฝันของช่างภาพคนหนึ่งแล้ว”
แล้วฉบับแรกของภูมินันท์ก็มาจริงๆ เมื่อทาง N-Photo Magazine ส่งนิตยสารที่ใช้ภาพ Landscape ของช่างภาพไทยผู้นี้ตีพิมพ์บนหน้าปกมาให้พร้อมกับค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง
“4 ปีถัดมา หลังจากภาพแรกได้รับการตีพิมพ์บนหน้าปกนิตยสารต่างประเทศ ก็มีฉบับที่ 2 3 4.. ทั้งจากหัวเดียวกันและหัวอื่นตามออกมาเรื่อยๆ เบ็ดเสร็จภาพของผมตีพิมพ์บนหน้าปกนิตยสารไปแล้วทั้งหมด 15 ครั้ง”
คุณตัดสินใจเลือกยืนบนเส้นทางการถ่ายภาพสายนี้ตั้งแต่ช่วงไหนและทำไม
“หลังปีแรกของเริ่มต้นกับการถ่ายภาพสายนี้ ก็ประมาณ 7-8 ปีแล้วครับ มันเป็นความสุขในใจที่ได้เห็นวิวทิวทัศน์ข้างหน้า มันทำให้ภาระต่างๆ ที่อยู่ภายในตัวเราถูกทิ้งลงไปหมดยามที่อยู่ในภาคสนาม ไม่ว่าจะตอนถ่ายภาพ Seascape ตอนถ่ายอยู่บนภูเขา หรือตามลำธาร มันเป็นความสุขในแบบที่แค่เห็นเราก็มีความสุขแล้ว ความสุขในทุกวันนี้หายากนะครับ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ๆ ที่ไหนก็แล้วแต่ ผมคิดว่าตัวเองค้นพบความสุขจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ความสุขของผมมันเริ่มตั้งแต่รู้ว่าจะได้ไปไหน รู้ว่าอีกสี่เดือนจะมีวันหยุดยาวที่เราพอจะไปไหนได้ สุขถัดมาคือการหาสถานที่หาข้อมูล สุขในการหาเพื่อนร่วมทริป สุขในการได้ไปเจอปัญหาและแก้ปัญหา หรือแม้แต่ความสุกๆ ดิบๆ จากการเจอฟ้าเน่าบ้าง ฟ้าใสบ้าง หรือฟ้าระเบิดที่เราไม่ได้คาดหวังบ้าง มันเป็นความสุขในทุกๆ โมเมนต์ของการออกไปถ่ายภาพ”
มีคนเคยสะท้อนสไตล์การสร้างสรรค์ผลงานของคุณให้ฟังบ้างไหมว่ามีลักษณะอย่างไร
“ยุคแรกจะเน้นรายละเอียดเยอะ เปิดแสงเงาแบบ HDR ยุคถัดมาคือลองผิดลองถูก ทดสอบเทคนิคใหม่ ซ้อนฟ้า ซ้อนดาว ทำ Photo Composite ถัดมาผมเริ่มเน้นไปที่ความใสและความสะอาดของภาพเป็นหลัก ตั้งเป้าหมายเสมอเมื่อจะแต่งภาพสักใบ พอมาถึงในยุคหลังนี้ผมพยายามเน้นความจริงมากขึ้น เน้นแสงเงาให้ภาพมันมีมิติ ดูเป็นบรรยากาศจริง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่แต่งแต้มหรือเติมอะไรลงบนภาพให้ขัดกับความจริง”
ผลงานแนว Landscape ของคุณมีทั้งภาพนิ่งและ Time-lapse วางแผนในการทำงานอย่างไร
“ปรกติเวลาออกทริปถ่ายภาพผมจะเน้นความเบาของอุปกรณ์เป็นหลัก บางครั้งอาจต้องเดิน Trek ทีละ 10 – 15 กิโลเมตร อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเพียงหนึ่งขีด อาจหมายถึงปัจจัยที่ทำให้เราดั้นด้นไปถึงหรือไม่ถึง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจะไม่ประนีประนอมเลย คือ ต้องมีกล้องสำรอง ผมจะพกกล้องสำรองไปเสมอ อย่างทริปล่าสุดที่ไป Dolomite อิตาลี ผมพก Nikon Z7 ไปสองตัว ตัวหนึ่งประกบเลนส์ NIKKOR 14–24mm f/2.8G ED ผ่าน Adapter F-Z อีกตัวประกบ NIKKOR Z 24-70mm f/4 S ทิ้งไว้เลย พอไปถึงหน้างานจะถ่าย Time-lapse หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าตรงนั้นมีความเคลื่อนไหวไหม Time-lapse คือ “การนำเสนอความเคลื่อนไหว” หากตรงนั้นมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดูแล้วตรงนี้เจ๋งแน่ ๆ ถึงจะเล่น Time-lapse แต่หากดูแล้วสถานที่ไม่เอื้อ เช่นอยู่ตรงหน้าผา อยู่ในมุมที่ไม่สามารถตั้งกล้องได้หรือมีความเปลี่ยว ผมจะรีบถ่ายรีบไป แต่หากมีเวลาพอ สถานที่เอื้ออำนวย และมีความเคลื่อนไหว สามประเด็นนี้แหละที่จะทำให้ผมเล่นกับ Time-lapse ที่เหลือก็จะใช้กล้องอีกตัวเก็บบรรยากาศ หรือหากไม่เก็บก็อาจเอาโดรนขึ้นเพราะช่วงหลังผมหันมาเล่นโดรนด้วย ก็จะใช้โดรนในการบินไปไกล ๆ ผมไม่ได้มองว่าโดรนเป็นเครื่องเล่นในการบิน แต่ผมมองว่าโดรนคือเลนส์เทเล ในกระเป๋ากล้องของผมจะมี 14–24mm เป็น Ultra-wide 24-70mm เป็น Mid-normal (หากมีเลนส์ 24-120 mm. ในอนาคตก็จะเอามาแทนที่) และเลนส์เทเลที่ผมใช้ก็คือโดรน ผมไม่มีช่วง 70-200mm หรือ 200-400mm ถ้าไกลกว่า Mid-normal เอาโดรนขึ้นบินไปเก็บภาพมาเลย”
ทำไมเลนส์ที่ใช้งานเป็นประจำสำหรับงาน Landscape ของคุณถึงต้องเป็นสองตัวนี้
“ที่ใช้งานเป็นประจำ คือ NIKKOR 14–24mm ประกบคู่กับ F-Z adapter และ Z7 นี่คือชุดเก่งของผม เพราะความน่าสนใจของ Landscape คือการทำให้คนเห็นลึกเข้ามาในภาพ ฉะนั้น มิติของภาพ ฉากหน้า และ Texture ต้องเด่น ซึ่งเลนส์ตัวนี้ทำให้มุมมองหลุดออกจากกรอบสายตาปรกติของคนเรา อย่างเอาช่วง 14mm ไปวางที่หน้าแอ่งน้ำเล็ก ๆ มันก็อาจกลายเป็นทะเลสาบขึ้นมา หรือก้อนหินฉากหน้าเวลาเข้าไปใกล้ ๆ มันช่วยทำให้มีมิติมีองค์ประกอบเพิ่มขึ้น ช่วยสร้างสรรค์มุมมองใหม่ ๆ ได้ ส่วนอีกตัวเป็นระยะที่ผมใช้ถึงเกือบ 70% ของการออกทริป คือ NIKKOR Z 24-70mm ที่ออกมาพร้อมกับ Z7 เป็นอาวุธลับที่ผมสามารถจัดชุดอุปกรณ์ได้เบาและเพิ่มความคล่องตัวได้มากยิ่งขึ้น โดยที่คุณภาพของเลนส์ยังเท่าเดิม คมตั้งแต่ช่วง 24mm f/4 กลายเป็นเลนส์ติดตัวในการเดิน Trek โดยใช้งานร่วมกับเป้สะพายหลังที่ผมเอาออกทริปเป็นประจำรุ่น Tilopa ของ F-stop พอเอาขึ้นสะพายหลังก็จะมีตัวเกี่ยวสายกล้องยึดไว้ที่บริเวณหน้าอก เวลาเดินสามารถยกกล้องมาถ่ายภาพได้ตลอดเวลา ด้วยความที่ตัวกล้องเบา เลนส์ก็เบา ช่วยให้ไม่กระแทกหน้าอกเราอีกด้วย”
ความแตกต่างของ Z7 กับกล้องตัวที่คุณใช้งานมาก่อนหน้านี้
“ผมมีโอกาสนำ Z7 ไปใช้งานอย่างจริงจังในทริปที่ Dolomite มา 10 วัน พอกลับถึงบ้านและได้จับตัว D850 มันรู้สึก Feel Like Home คือมันเต็มมือ ผมยังรู้สึกว่าในแง่ของการเข้าถึงปุ่มปรับต่าง ๆ D850 ยังเป็นที่สุดของกล้องสำหรับถ่าย Landscape ที่เป็น DSLR ส่วน Z7 ความรู้สึกที่ได้รับคือ เข้าถึงง่ายด้วยปุ่ม i น้ำหนักเบา ประสิทธิภาพการทำงานฉับไว ไฟล์เนียน เรียกได้ว่าเป็นฝาแฝดของ D850 ทุกอย่างอยู่ในนั้นเพียงแค่ตัวมันเล็กลง ถามว่าสมบุกสมบันไหม.. สมบุกสมบันแน่นอน มี Weather Protection ที่ดีเยี่ยม ทั้งเดินป่า ปีนเขา ต้องผจญทั้งน้ำ ลม ฝุ่น และสภาพอากาศหนาวจัด ตอนที่ผมถ่ายอยู่บนยอดเขาอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ -3 องศาเซลเซียส ลมแรงและฝนตกแทบตลอดเวลา ก็ยังสามารถทำงานได้ไม่งอแง จึงไม่มีข้อสงสัยว่ามันสามารถนำไปใช้งานในสถานการณ์ลุย ๆ ได้หรือไม่”
หลังจากถ่ายภาพเสร็จกระบวนการ Process ของคุณเป็นอย่างไร
“ผมจะจัดการเอาไฟล์ภาพจากกล้องโหลดเข้าไปเก็บในคอมพิวเตอร์ก่อน ผมใช้ imac ประกบกับ HDD แบบ RAID ยี่ห้อ G-Tech สามารถ Backup ไปในตัว ปัจจุบันผมใช้ RAID 5 กับ HDD 4 ลูก รวม 24 TB ตรงนี้เป็นกระบวนการที่สำคัญ ผมเห็นไฟล์ของนักถ่ายภาพหลายคนหายไปเพราะขาดการ Backup เราลงทุนกับกล้องและเลนส์ได้ แต่มักไม่ลงทุนกับการ Backup ข้อมูล ตรงนี้ผมเห็นว่ามันเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งนะครับ
หลังจากเสร็จขั้นตอนนี้ผมก็เปิด ACR (Adobe Camera Raw) เพื่อทำการคัดภาพ ให้ 3 ดาว 5 ดาว จากนั้นภาพที่เป็นพวก 5 ดาว ก็จะถูกนำมาคัดอีกทีว่าจะใช้ภาพไหนในการนำเสนอ ในส่วนของการตกแต่งภาพหลัก ๆ คือการ Balance แสง ซึ่งผมจะ Balance แสงเสมอแต่จะยังไม่ยุ่งกับสีเลยเพราะสีจะมาหลังจากที่เรา Balance เรื่องแสงได้ ถ้าแสงมา.. สีค่อยตามมา และหากแสงเปลี่ยน.. สีจะเปลี่ยนเอง หากเราไปยุ่งกับสีตั้งแต่ต้น อาทิไปปรับ Saturation ทำโน่นนี่นั่น พอมาปรับ Contrast ปรับแสงเพิ่มมิติภาพ สีจะเปลี่ยน ผมจึงเริ่มจากบันทึกภาพ ปรับแสง ปรับในเรื่องของ Noise ต่าง ๆ แล้วค่อยมาเล่นเรื่องสีทีหลัง”
เสียงที่สะท้อนออกมาจากผู้ที่ติดตามผลงานถึงความเป็นสไตล์เฉพาะตัวของภูมินันท์คืออะไร
“น่าจะเป็นเรื่องมิติภาพและก็เรื่องราว ผมคิดว่าตัวเองยังไม่ตกตะกอนพอกับการถ่ายภาพ Landscape แม้จะถ่ายมา 6-7 ปีแล้วก็ตาม รู้สึกว่าสายงานด้านนี้ยังมีสิ่งให้เรียนรู้ให้ทดลองอีกเยอะ อยู่ในขั้นพยายามตกตะกอนในแง่ของการหาแนวทางที่เรียกว่า Signature แต่สิ่งที่ยึดมั่นมาตลอดสำหรับการถ่าย Landscape, Seascape หรือสถานที่ที่มีโอกาสไปท่องเที่ยว คือการเก็บเรื่องราวประทับใจจากเพื่อนร่วมทริป ผมมักมีภาพเพื่อนร่วมทริปที่เป็นช่างภาพปรากฎในภาพด้วยเสมอ ผมรู้สึกว่าหนึ่ง-มันคือความทรงจำ สอง-ใช้ประกอบเรื่องราว สาม-การมีคนในภาพช่วยเทียบขนาด และสี่-เป็นของขวัญให้กับเพื่อน เป็นความรู้สึกมีความสุขที่จะให้”
สำหรับนักถ่ายภาพที่มีความสนใจการถ่ายภาพทั้ง Landscape Seascape และโดยเฉพาะผู้ที่มีภูมินันท์หรือ AtomicZen เป็นแรงบันดาลใจ คุณพอจะมีวิธีพัฒนาฝีมือหรืออะไรที่เป็นแนวทางสำหรับพวกเขาบ้าง
“คุณต้องก้าวออกจากบ้าน และหากว่าจังหวะชีวิตของคุณยังไม่มีโอกาสที่จะออกไปเที่ยวไกล ๆ ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ การก้าวออกจากบ้านก็ทำให้เราได้จับกล้องแล้ว ได้เรียนรู้คำสั่ง การทำงาน ได้ฝึกจัดองค์ประกอบภาพ มุมมอง สิ่งนี้สำคัญ ต้องพาตัวเองออกจากจุดที่ยืนอยู่เพื่อไปถ่ายภาพให้ได้ก่อน เราจะถ่ายภาพเก่งขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่ออกไปถ่ายภาพ หากคุณออกจากจุดนั้นแล้ว ลองพยายามตั้งโจทย์ให้กับตัวเองดู อย่างเช่นวันนี้จะเป็นวันสีฟ้า วันนี้จะเป็นวัน 50mm ใช้เลนส์ช่วงนี้เพื่อบันทึกภาพ หรือวันนี้จะเป็นวัน Food ถ่ายภาพอาหารให้น่าทาน คือขอให้ตั้งโจทย์สำหรับตัวเอง แล้วพยายามครีเอทมุมมองใหม่ ๆ ผมเชื่อว่าทักษะ ประสบการณ์ และความเข้าใจในอุปกรณ์การถ่ายภาพต่าง ๆ จะทำให้เราสามารถนำไปพัฒนาการถ่ายภาพในแขนงใด ๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น Landscape”
อย่างไม่มีใครปฏิเสธ ผลงานภาพถ่ายเชิง Landscape และ Seascape ของ AtomicZen หรือ “พี่นันท์” ของน้อง ๆ นักถ่ายภาพรุ่นใหม่นั้น ดารดาษไปด้วยองค์ประกอบทั้งความอลังการ แสงเงา เรื่องราว ตลอดจน “พลัง” ซึ่งส่งทอดจากผู้สร้างสรรค์ไปยังผู้เสพ
ตลอดบทสนทนาอันย่นย่อ เราแทบไม่ได้ยินนักถ่ายภาพผู้นี้กล่าวถึงผลงานของเขา ดี-เด่น อย่างไร แอบเดาว่านั่นเพราะอีกมิติหนึ่ง เขาคือ ดร.ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์ หรือ “อาจารย์นันท์” ของลูกศิษย์ ผู้ซึ่งอาจถนัดกับการถ่ายทอด ชี้แนะ ด้วยวิธีเล่าที่กลั่นเอาสิ่งต่าง ๆ ออกมาจากองค์ความรู้ กรองจากข้อผิดพลาด ผ่านประสบการณ์มากมายบนเส้นทางแห่งตน ให้เราผู้ปรารถนาจะก้าวตามไป เข้าใจโดยง่าย เป็นขั้นเป็นตอน ที่สำคัญ.. แทบทุกครั้งอาจารย์นันท์ไม่วายตบท้ายด้วยทริคที่มักสร้างกำลังใจให้ผู้ฟังอยู่เสมอ
โดย ชวลิต แสงอินทร์
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
? ขอบคุณครับ
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่