ADVANCE

Milky Way Star Trail การถ่ายภาพดาว และทางช้างเผือก

หนึ่งในรูปแบบของการถ่ายภาพที่ต้องอาศัยช่วงจังหวะและเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะทางช้างเผือก ที่นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ควรจะมืดสนิทแล้ว ยังต้องเป็นช่วงฤดูที่สามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้ นั่นคือ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เรื่อยไปจนถึงปลายๆ เดือนพฤศจิกายน

ซึ่งหลังจากนั้นจะเป็นช่วงที่ทางช้างเผือกขึ้นมาในช่วงกลางวันที่พื้นที่บ้านเรามองไม่เห็นนั่นเองครับส่วนการถ่ายดาว สามารถถ่ายภาพได้ตลอด ซึ่งจะดีที่สุดในช่วงเวลาเดือนมืด และท้องฟ้าโปร่ง การถ่ายภาพในพื้นที่ที่ไม่มีแสงรบกวน ตามอุทยานหรือบนดอยสูง จะช่วยให้ได้ภาพที่ได้ภาพดวงดาวที่โดดเด่นสุกสกาวมากขึ้นนั่นเองครับการถ่ายภาพดาวและทางช้างเผือกนั้น นอกจากกล้องและเลนส์แล้ว จำเป็นที่จะต้องอาศัยอุปกรณ์เสริม เพื่อให้ได้ภาพตามที่ต้องการและมีความคมชัด ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับถ่ายภาพมีดังนี้ครับ

 

ภาพโดย Daniel Hedrich จาก Pixabay

กล้องและเลนส์

สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ ทั้งกล้อง DSLR และกล้อง Mirrorless รวมไปถึงกล้องของสมาร์ทโฟน ซึ่งหลายๆ รุ่นจะมีแอพลิเคชั่น อาทิ Star Trail หรือ Light Draw เป็นต้น ให้ใช้งานได้ง่ายๆ ส่วนเลนส์ควรจะเป็นเลนส์มุมกว้างพิเศษ ช่วง Ultra Wide เพราะจะช่วยให้เก็บใจกลางทางช้างเผือกได้ทั้งหมด ส่วนรูรับแสงของเลนส์ ถ้ามีขนาดที่กว้างมากๆ อย่าง f/1.4, f/1.8 หรือ f/2.8 จะทำให้ไม่ต้องปรับเพิ่มความไวแสงให้สูงมากนัก แต่โดยปกติ F4-5.6 จะปรับความไวแสงอยู่ที่ประมาณ ISO1600 หรือ 3200 ก็ยังพอไหว ส่วนไวท์บาลานซ์ ก็ตั้งเคลวินประมาณ 4000K ครับ

ส่วนรูปแบบของไฟล์ควรจะตั้งไฟล์ RAW+JPEG เพื่อให้สามารถนำไฟล์ RAW ไปโปรเซสเพิ่มเติมในภายหลังได้ การบันทึกเป็น RAW File จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง หลังจากที่กดชัตเตอร์ถ่ายภาพไปแล้ว ทั้งการตั้งไวท์บาลานซ์ผิด หรือถ่ายภาพมาแล้ว มืดไป หรือสว่างไป หรือเมื่อต้องการนำไฟล์นั้นๆ ไปปรับแต่งอย่างอื่นในภายหลัง โดย RAW File นั้น จะเป็นฟอร์แมทการบันทึกภาพที่ยังไม่มีการโปรเซสใดๆ หรือยังเป็นไฟล์ดิบๆ ที่สามารถปรับแต่งแก้ไขค่าของการถ่ายภาพได้หลากหลาย และที่สำคัญยังคงคุณภาพของภาพต้นฉบับไว้ได้เช่นเดิมครับ

ขาตั้งกล้อง

ถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะใช้สมาร์ทโฟนก็ตาม ซึ่งขาตั้งกล้องสำหรับการใช้งานกลางแจ้งแบบนี้ ก็ควรจะเป็นขาตั้งกล้องที่มีความแข็งแรง เนื่องจากอาจจะต้องเผชิญลมที่พัดโกรกอยู่ตลอดเวลาก็เป็นได้ ถึงแม้ว่าตอนเลือกซื้ออาจจะดูแล้วว่ารับนํ้าหนักของกล้องและเลนส์ได้เป็นอย่างดีก็ตาม ดังนั้น เมื่อต้องซื้อขาตั้งกล้องสักตัว ลงทุนเพิ่มอีกซักหน่อย เอาสเปคที่สูงขึ้น รับนํ้าหนักกล้องและเลนส์ได้หลายๆ เท่าของอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ เพราะคงจะไม่สนุกนัก ถ้าหากว่าตั้งกล้องถ่ายภาพ ไปครึ่งชั่วโมง ค่อนชั่วโมง แต่พอมาเช็กภาพดูกลายเป็นเบลอสั่นไปหมด เพราะการตั้งกล้องถ่ายภาพนานๆ นั้น การสั่นแค่เบาๆ อย่างต่อเนื่องก็ทำให้ภาพเบลอได้อย่างชัดเจนเหมือนกันครับ

แต่สำหรับผู้ที่มีขาตั้งกล้องอยู่แล้ว และยังต้องการใช้ของเดิมที่มีอยู่ ก็แก้ปัญหาด้วยการใช้กระเป๋ากล้องถ่วงเอาไว้ เพื่อเพิ่มความหนักของขาตั้งกล้อง จะช่วยลดอาการสั่นของขาตั้งกล้องได้ ซึ่งปกติแล้ว ปลายล่างสุดของแกนกลางของขาตั้งกล้องจะมีตะขอให้มาอยู่แล้ว ก็ใช้ตะขอนั่นแหละ แขวนกระเป๋ากล้องเพื่อถ่วงให้ขาตั้งกล้องมั่นคงแน่นหนามากขึ้นครับ

ไฟฉาย

อย่างที่ได้บอกไปตอนต้น ว่าสถานที่ที่เหมาะสำหรับถ่ายภาพดาวและทางช้างเผือก ควรจะเป็นสถานที่ที่มืดมิด ไม่มีแสงรบกวน ดังนั้น ไฟฉายถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเราอยู่ในสภาพที่มืดมิด การหยิบจับสิ่งของ หรือการปรับหมุนตั้งค่ากล้อง การเสียบสายลั่นชัตเตอร์ การเปลี่ยนเมมโมรี่การ์ด หรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ จำเป็นต้องมีแสงสว่างสำหรับการมอง ซึ่งไฟฉายอันเล็กๆ นํ้าหนักไม่มาก จะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำอะไรหลายๆ อย่างในความมืดได้เป็นอย่างดี อาทิ ส่องเพื่อหาของ, ส่องเพื่อปรับตั้งกล้องและเลนส์ รวมทั้งยังช่วยส่องต้นไม้ หรือซับเจคต์อื่นๆ เพื่อช่วยให้กล้องปรับโฟกัสได้ง่ายขึ้น เล็งจัดองค์ประกอบได้ง่ายขึ้น รวมทั้งใช้เปิดเงาฉากหน้าในบางกรณีด้วยเช่นกัน

สายลั่นชัตเตอร์

ถึงแม้ว่าจะตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องแล้ว แต่การกดปุ่มชัตเตอร์ตรงๆ ที่ตัวกล้อง ก็อาจจะทำให้กล้องสั่นไหวได้ ดังนั้น การใช้สายลั่นชัตเตอร์ หรือรีโมทสำหรับกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ จะช่วยให้ลดการสั่นไหวได้อย่างแน่นอน และส่วนใหญ่สายลั่นชัตเตอร์จะสามารถล็อกชัตเตอร์ B ค้างไว้ได้ ซึ่งสะดวกกับการถ่ายภาพที่ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เพราะไม่ต้องสัมผัสกับปุ่มชัตเตอร์โดยตรง และสามารถล็อกค้างไว้โดยไม่ต้องคอยกดปุ่มอยู่ตลอด ซึ่งถ้าตั้งถ่ายอย่าง 5 นาที หรือ 10 นาทีนี่ก็เมื่อยเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

ส่วนรีโมทคอนโทรล มีให้เลือกทั้งของแบรนด์กล้องเอง และของจีนที่มีขายมากมายในบ้านเรา ซึ่งก็ใช้งานได้ดี หลายๆ รุ่น สามารถล็อคใช้ชัตเตอร์ B ได้ แต่บางรุ่นก็ใช้ไม่ได้ ถ้าจะซื้อมาใช้งานก็ต้องตรวจสอบให้ดีด้วยครับ

ภาพโดย Pascal Treichler จาก Pixabay

 

การตั้งค่าถ่ายภาพ

สำหรับการถ่ายดาวและทางช้างเผือกนั้น ไม่ต้องวัดแสงครับ เพราะสเกลวัดแสงจะกะพริบที่ลบ (-) อยู่ตลอด เพราะสภาพแสงมืดมากนั่นเอง การตั้งค่ากล้องสำหรับถ่ายภาพดาวนั้นจะต้องใช้สูตรคำนวณความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสม สำหรับการถ่ายดาวให้เป็นเส้นยาวๆ โค้งๆ หรือดาวหมุน ต้องใช้ชัตเตอร์ B และเปิดชัตเตอร์ค้างไว้ตั้งแต่ 30 นาที, 45 นาทีหรือมากกว่านั้นก็ได้ สำหรับรูรับแสง จะใช้อยู่ที่ประมาณ f/4-5.6 จะได้เส้นดาวที่คมมากขึ้น ไม่ฟุ้งจนเกินไป เหมือนกับเปิดเอฟกว้างๆ แต่ถ้าใช้แคบเกินกว่านี้ จะใช้เวลาถ่ายภาพนานเกินไปนั่นเอง

อีกวิธีหนึ่งสำหรับการถ่ายภาพดวงดาวเป็นเส้นโค้งๆ โดยที่ไม่ต้องเปิดม่านชัตเตอร์ไว้นานมากๆ ซึ่งจะมีปัญหากับความร้อนของเซ็นเซอร์ ที่ทำให้เกิด Noise ด้วย นั่นคือ ถ่ายภาพด้วยช่วง

เวลาสั้นๆ เช่น 30 วินาที หรือ 1 นาที แต่ถ่ายไว้หลายๆ ภาพ (อาจจะเป็นหลักสิบ หรือร้อยภาพขึ้นไปเลยก็ได้) จากนั้นนำภาพทั้งหมดมารวมกันในโปรแกรมตกแต่งภาพ จะได้ภาพที่ดวงดาวเป็นเส้นยาวต่อๆ กันไปเช่นเดียวกัน และวิธีนี้จะทำให้เซ็นเซอร์ไม่ต้องทำงานหนักด้วยครับ แต่ช่างภาพก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการรวมภาพ หรือใช้โปรแกรมตกแต่งภาพด้วยเช่นกันครับ

การถ่ายภาพดวงดาวให้เป็นเส้นโค้งๆ เป็นวงกลม จะต้องตั้งกล้องหันไปทางทิศเหนือ ซึ่งถ้าพกเข็มทิศไปด้วย ก็จะช่วยให้หาทิศเหนือได้ง่าย หรือใช้แอพลิเคชั่น Star Chart หรือ Sky Map เพื่อตรวจสอบทิศทางของดวงดาว และเช็กเวลาขึ้น-ลง หรือระดับของทางช้างเผือกได้ด้วย และอย่าลืมเช็กวันที่พระจันทร์มืดด้วยนะครับ จะได้ดวงดาวและทางช้างเผือกที่ชัดเจนมากขึ้น

ส่วนการถ่ายภาพทางช้างเผือก จะแตกต่างจากการถ่ายภาพดาวหมุนอยู่พอสมควร เพราะจะต้องใช้รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์นั้นๆ และจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วมากกว่า เนื่องจากถ้าหากใช้ชัตเตอร์นานเกินไป ดวงดาวก็จะยืดออกเป็นเส้นๆ เหมือนการถ่ายภาพดาวหมุน ไม่เป็นจุดๆ ตามที่เห็นนั่นเอง

โดยสูตรคำนวณการถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้น สำหรับกล้องฟูลเฟรม ให้เอาทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ไปหารตัวเลข 600 เช่น ถ้าใช้เลนส์ 20 มม. นำไปหาร 600 จะได้ 30 นั่นคือ จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สำหรับถ่ายภาพที่ 30 วินาทีครับ ส่วนกล้อง APS-C ให้นำเอาทางยาวโฟกัสของเลนส์ไปหาร 400  เช่น ใช้เลนส์ 18 มม. (ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าระยะ 27 มม. ของกล้องฟิล์ม) นำไปหาร 400 จะได้ 22.22 นั่นคือต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 22 วินาทีครับ

การเลือกหาฉากหน้ามาประกอบกับภาพดาวและทางช้างเผือก จะช่วยให้ภาพนั้นๆ ดูน่าสนใจมากขึ้น แต่การตั้งค่าถ่ายภาพจะต้องระวังฉากหน้าที่มีความสว่าง เพราะจะทำให้จุดนั้นๆ สว่างมากเกินไป ในการบันทึกภาพจริง ดังนั้น เลือกฉากหน้าที่ค่อนข้างมืด และส่องไฟฉายไปเพิ่มความสว่างสักเล็กน้อย จะช่วยควบคุมความสว่างของฉากหน้าได้ดีกว่าการมีฉากหน้าที่สว่างเกินไปครับ

ภาพโดย Evgeni Tcherkasski จาก Pixabay

การโฟกัส

สำหรับเลนส์ซึ่งเป็นออโต้โฟกัส ในสภาพแสงน้อยมักจะมีปัญหากับการโฟกัสแทบจะทุกตัว ดังนั้นใช้การโฟกัสเองแบบแมนนวลก็จะสะดวกกว่า แต่สำหรับกล้องที่ไม่มีวิวไฟน์เดอร์ อาจจะลำบากซักนิด โดยเฉพาะกล้อง Mirrorless เพราะหลายๆ ครั้ง ในสภาพแสงที่มืดมิด ก็มองผ่านจอได้ลำบาก ดังนั้นการโฟกัสเองแบบแมนนวลก็ยังคงทำได้ยากอยู่ดี วิธีช่วยในการโฟกัสนั้น ก็ไม่ต้องเล็งอะไรล่ะครับ หมุนวงแหวนโฟกัสไปที่ระยะอินฟินิตี้ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของระยะโฟกัส จากนั้น หมุนวงแหวนโฟกัสกลับคืนมาเล็กน้อยครับ

ถ้าหากว่าที่ตัวเลนส์ไม่ได้ระบุสเกลโฟกัสไว้ ก็ให้เล็งกล้องไปยังจุดสว่างๆ อาจจะเป็นแสงไฟบ้าน ถนน หรือแสงไฟอะไรก็ได้ที่อยู่ในระยะไกล เพราะส่วนมากถ่ายภาพดวงดาว ก็จะต้องใช้เลนส์มุมกว้างๆ ซึ่งมักจะมีระยะโฟกัสสั้นๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น ระยะห่าง 20 หรือ 30 เมตร ก็เข้าสู่ช่วงอินฟินิตี้แล้ว หรือถ้าเป็นสถานที่ที่มืดสนิทจริง ก็ใช้ไฟฉายนั่นแหละครับ ส่องไปที่ต้นไม้ที่อยู่ห่างๆ สักต้น แล้วก็เล็งโฟกัส เมื่อกล้องโฟกัสได้แล้ว ก็เลือกรูปแบบการโฟกัสเป็นแมนนวลโฟกัส ทีนี้ เวลาแตะปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพต่อๆ ไป กล้องก็จะไม่โฟกัสใหม่อีก เราก็สามารถถ่ายภาพไปได้เลยครับ

สำหรับการเลื่อนสวิทช์โฟกัสมาเป็นแมนนวลโฟกัสแล้ว บางครั้งอาจจะจับโดนวงแหวนโฟกัสโดยไม่ตั้งใจ หรือถ่ายๆ ไปแล้ววงแหวนโฟกัสเคลื่อน ก็ให้ใช้เทปกาวแบบที่ใช้ติดตัวกล้องหรือเทปกาวแบบที่ลอกแล้วไม่ทิ้งคราบกาวยึดไว้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องวงแหวนโฟกัสเคลื่อนได้เป็นอย่างดีล่ะครับ

อีกฟังก์ชั่นหนึ่งของกล้องที่ช่วยให้เราถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น และได้ไฟล์ภาพที่เนียนสวยงาม คือ ระบบ Noise Reduction หรือระบบลดสัญญาณรบกวน ซึ่ง Noiseหรือสัญญาณรบกวนที่เกิดจากความร้อนของเซ็นเซอร์นั้น จะทำให้ไฟล์ภาพหยาบรวมทั้งไม่คมชัดเท่าที่ควร และระบบป้องกันการสั่นไหวที่จะช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือที่ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ โดยทั้งสองระบบจะเอื้อประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพทั่วๆ ไป แต่เป็นข้อยกเว้น เมื่อต้องถ่ายภาพดวงดาวและทางช้างเผือก อีกทั้งยังรวมไปถึง การตั้งกล้องถ่ายภาพในรูปแบบ Long Exposure ด้วยเช่นกัน นั่นคือจะต้องปิดฟังก์ชั่นการทำงานทั้งสองระบบนี้ครับ

ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay

ปิดระบบ Noise Reduction (NR)

เพราะหลังจากที่จบการถ่ายภาพในหนึ่งช็อตแล้ว กล้องก็จะทำการลด Noise ซึ่งใช้เวลาเท่าๆ กับเวลาที่ใช้ถ่ายภาพล่ะครับ เช่น ตั้งกล้องถ่ายภาพ 10 นาที กล้องก็จะทำการลด Noise 10 นาทีด้วย เสียเวลามากทีเดียว ในขณะที่ระบบกำลังทำงานก็จะต้องรออย่างเดียว ไม่สามารถถ่ายภาพต่อไปได้ จนกว่ากล้องจะทำการลด Noise เสร็จสิ้นไปแล้ว ถ้าหากว่าเป็นการถ่ายภาพที่ต้องต่อเนื่องอย่างถ่ายภาพดาวเป็นเส้นๆ เพื่อนำมาต่อกันในภายหลัง จะทำให้เสียเวลามาก และเส้นของดวงดาวจะไม่ต่อกันด้วย ซึ่งการจัดการ Noise  เราสามารถปรับลดได้จากโปรแกรมในภายหลังได้ครับ

ภาพโดย Madjid H Kouider จาก Pixabay

การตังกล้องถ่ายภาพดาวที่หมุนเป็นวงกลม โดยการเปิดรับแสงเป็นเวลานานมากๆ เช่น 1 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องเตรียมแบตเตอรรี่ให้พร้อมก่อนที่จะตั้งกล้องถ่ายภาพ และถ้าหากว่าไม่ต้องการตั้งถ่ายโดยใช้เวลานานขนาดนั้น ที่จะทำให้เซ็นเซอร์ร้อน และมี Noise มากขึ้น ก็สามารถเลือกถ่ายภาพด้วยช่วงเวลาสั้นๆ อาทิ ช็อตละ 30 วินาที หรือ 1 นาที และถ่ายต่อเนื่องจำนวนหลายๆ ภาพ เช่น 100 หรือ 200 ภาพ จากนั้นค่อยนำภาพทั้งหมดมารวมกันเป็นภาพเดียวในโปรแกรมตกแต่งภาพก็ได้เช่นกัน

ปิดระบบป้องกันการสั่นไหว

กล้องรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันจะมีระบบป้องกันการสั่นไหวให้มาด้วย ทั้งที่มีอยู่ในเลนส์ และอยู่ในตัวบอดี้กล้อง โดยระบบป้องกันการสั่นไหว จะช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือได้ด้วยความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ แต่สำหรับการถ่ายภาพโดยการติดกล้องเข้ากับขาตั้งกล้องจะต้องปิดระบบนี้ เพราะถึงแม้จะติดกล้องเข้ากับขาตั้งกล้อง แต่ไม่ได้ปิดระบบป้องกันการสั่นไหว ระบบก็จะยังทำงานอยู่ตลอด ซึ่งอาจจะทำให้กล้องคำนวณผิดพลาด หรือระบบทำงานผิดพลาด ทำให้ได้ภาพเบลอๆ มาแทน ดังนั้นปิดระบบป้องกันการสั่นไหวทุกครั้งที่ใช้ขาตั้งกล้องครับ

สำหรับการถ่ายภาพแต่ละรูปแบบนั้น ความชำนาญจะเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ฝึกฝนอยู่บ่อยๆ หรือใช้งานกล้องถ่ายภาพอยู่เป็นประจำ ซึ่งช่วยให้จินตนาการในการสร้างภาพ การเลือกมุมมอง และการแก้ปัญหาต่างๆ ทำได้ดียิ่งขึ้น การเรียนรู้การขอคำชี้แนะจากผู้ที่มีความชำนาญมากกว่า ก็จะช่วยให้เรามีการฝึกฝนที่ถูกวิธี มีการแก้ปัญหาที่ถูกทาง ช่วยให้การถ่ายภาพของเรามีการพัฒนาที่เป็นระบบมากขึ้น ในยุคที่เราสามารถเห็นภาพตั้งแต่ก่อนที่จะกดชัตเตอร์ ในยุคที่เมมโมรี่มีราคาที่ถูกลง ในยุคที่สามารถหาความรู้ในอินเตอร์เน็ตได้มากมาย อย่ากลัวที่จะลอง อย่ากลัวที่จะฝึกฝน และอย่ากลัวเปลืองเมมฯ ครับ ซื้อกล้องราคาแสนแพงมาแล้ว ใช้ให้คุ้มค่าดีกว่าครับ

..ขอให้มีความสุขในการถ่ายภาพนะครับ…

Writer : พีร วงษ์ปัญญา