Camera Reviews

Review : Panasonic Lumix GX85

gx85__01

Panasonic Lumix GX85 เป็นกล้อง GX-Series รุ่นล่าสุดของพานาโซนิค ออกแบบได้สวยงาม และเล็กกะทัดรัดมากกว่า Lumix GX8 ซึ่งเป็นรุ่นท๊อปสุด แต่มาพร้อมโดดเด่นมากมาย อาทิ เซ็นเซอร์แบบ Live MOS Sensor w/o Low Pass Filter ซึ่งช่วยให้เก็บรายละเอียดในส่วนเล็กๆ น้อยๆ หรือรายละเอียดที่ยิบย่อยได้ดียิ่งขึ้น  นอกจากนี้ยังมาพร้อมฟังก์ชั่นในการทำงานที่โดดเด่นมากมาย รวมทั้งสามารถบันทึกวิดีโอ คุณภาพระดับ 4K เช่นเดียวกับล้องพานาโซนิคหลายๆ รุ่นอีกด้วย

gx85_02

จุดเด่นของ Panasonic Lumix GX85

  • เซ็นเซอร์ Live MOS 16 ล้านพิกเซล แบบไม่มี Low Pass Filter
  • ระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบ Dual I.S.
  • บันทึกวิดีโอคุณภาพ 4K
  • บันทึกภาพนิ่งต่อเนื่องความเร็วสูงด้วยโหมด 4K Photo
  • ฟังก์ชั่น Post Focus ถ่ายก่อน โฟกัสทีหลัง
  • สนุกกับโหมดวิดีโอ 4K Live Cropping New
  • ช่องมองภาพ LVF 2,760,000 พิกเซล
  • จอมอนิเตอร์ 3 นิ้ว ควบคุมด้วยระบบสัมผัส ปรับระดับได้
  • Creative Control สร้างสรรค์ภาพได้หลากหลาย
  • โหมดบันทึกวิดีโอแบบมือาชีพ
  • มีฟังก์ชั่น Wi-Fi ในตัว

gx85_05

แป้นหมุนปรับควบคุมการทำงานทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ช่วยให้ปรับตั้งค่าต่างๆ ในการถ่ายภาพสะดวกและรวดเร็ว

gx85_03

ตัวกล้องมาพร้อมช่องมองภาพอิเลกทรอนิกส์ ความละเอียดสูงถึง 2.76 ล้านพิกเซล ตอบสนองการมองได้อย่างเป็นธรรมชาติ รวมทั้งสามารถปรับระดับของจอมอนิเตอร์ได้ สะดวกกับการถ่ายภาพ รวมทั้งการบันทึกวิดีโอในมุมสูงหรือมุมตํ่าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังควบคุมการทำงานผ่านจอมอนิเตอร์ด้วยระบบ Touch Screen  ซึ่งโดดเด่นที่ฟังก์ชั่น Touch Panel ที่สามารถแตะลากเพื่อเปลี่ยนจุดโฟกัสได้เลย  แม้จะมองภาพจากช่องมองอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องละสายตาออกจากช่องมองภาพอีกด้วย


ประสิทธิภาพและการทำงาน

gx85_04

Panasonic Lumix GX85 ใช้เซ็นเซอร์ภาพแบบ Live MOS ฟอร์แมท 4:3 มีความละเอียด 16 ล้านพิกเซลเช่นเดิม แต่ปรับปรุงใหม่  โดยตัดเอา Low Pass Filter ที่อยู่หน้าเซ็นเซอร์ออกไป  ซึ่ง Low Pass Filter นี้จะช่วยเกลี่ยภาพให้ดูเนียนขึ้น  ช่วยให้ดูภาพได้อย่างสบายตา  ปราศจากอาการ Moire’ หรือรอยหยักๆ เวลาที่มองภาพที่ซับเจกต์มีลวดลายของพื้นผิวที่เล็กละเอียดมากๆ อย่าง เส้นผม, เปลือกไม้ ลวดลายของเสื้อผ้า เป็นต้น  แต่พอตัดเอา Low Pass Filter ออกไป อาจจะทำให้การมองภาพเกิดมีอาการ Moire’ บ้าง แต่จะได้ภาพที่คมชัดสูง เก็บรายละเอียดต่างๆ ได้มากขึ้นนั่นเอง

Lumix GX85 มาพร้อมหน่วยประมวลผลใหม่ Venus Engine ซึ่งตอบสนองการทำงานที่รวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งให้ไฟล์ภาพคุณภาพสูง คมชัด สีสันอิ่มตัว และมีการไล่โทนภาพที่นุ่มนวลเป็นธรรมชาติมากขึ้น  นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดการ Noise ที่ยอดเยี่ยม ให้ไฟล์ภาพที่ใสเคลียร์ คมชัด และถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แม้จะถ่ายภาพด้วยความไวแสงสูงๆ ก็ตาม

gx85__07

จุดเด่นของ Lumix GX85 มีอยู่หลายฟังก์ชั่นการทำงานทีเดียว อาทิ บันทึกวิดีโอด้วยคุณภาพระดับ 4K ด้วยเฟรมเรท 30 fps, 25 fps และ 24 fps  ในฟอร์แมท AVCHD สามารถเลือกโหมดบันทึกได้ทั้งแบบออโต้ ซึ่งเป็นการบันทึกแบบง่ายๆ ใช้งานได้อย่างสะดวก แต่ถ้าหากว่าต้องการควบคุมคุณภาพของไฟล์วิดีโอให้มากขึ้น ก็สามารถเลือกใช้โหมด P, A, S หรือ M ได้ตามรูปแบบของภาพที่ต้องการ  ซึ่งจุดเด่นของโหมดต่างๆ เหล่านี้คือ สามารถควบคุมความเร็วชัตเตอร์, รูรับแสง, ปรับชดเชยแสง หรือปรับไวท์บาลานซ์ได้ เช่นเดียวกับภาพนิ่ง รวมทั้งสามารถสร้างสรรค์เอฟเฟกต์ภาพแบบต่างๆ ได้เช่นเดียวกับภาพนิ่งด้วยเช่นกัน

ระบบโฟกัสของ Panasonic Lumix GX85 ถือเป็นอีกหนึ่งในจุดเด่นเช่นกัน โดยตอบสนองการโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น  และได้รับการปรับปรุงระบบโฟกัสให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีจุดโฟกัสทั้งหมด 49 จุด ครอบคลุมการวางองค์ประกอบบนเฟรมภาพ ได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน มีโหมดโฟกัสให้เลือกได้ทั้งแบบตรวจจับใบหน้าอัตโนมัติ, โฟกัสติดตามซับเจกต์อัตโนมัติ, โฟกัสอัตโนมัติ 49 จุด, โฟกัสแบบเลือกเองทีละจุด และโฟกัสแบบ Pin Point ที่กล้องจะขยายจุดโฟกัสที่เลือกให้ใหญ่ขึ้น ช่วยให้ตรวจสอบความคมชัดของจุดโฟกัสได้อย่างสะดวกขึ้นนั่นเอง  รวมทั้งระบบ Eye AF ที่ช่วยให้การโฟกัสเมื่อถ่ายภาพบุคคลทำได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ฟังก์ชั่นที่ถือเป็นลูกเล่นของ Panasonic Lumix GX85 และโดดเด่นเหนือกล้องถ่ายภาพอื่นๆ นั่นคือ 4K Photo ซึ่งกล้องจะบันทึกภาพด้วยความเร็วสูงถึง 30 ภาพต่อวินาที ช่วยให้เก็บแอคชั่นต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไปทันตามที่ต้องการ  ผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบในการบันทึกได้ 3 รูปแบบตามความถนัดหรือการใช้งาน  อีกฟังก์ชั่นหนึ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กัน นั่นคือ Post Focus ซึ่งพานาโซนิคให้คำนิยามของฟังก์ชั่นนี้ว่า Shoot Now, Focus Later  ฟังก์ชั่นนี้กล้องจะใช้ระบบโฟกัสแบบอัตโนมัติ 49 จุดวิเคราะห์ตำแหน่ง และจะบันทึกภาพต่อเนื่องแบบ 4K ด้วยความเร็ว 30 ภาพต่อวินาที  โดยปรับโฟกัสหลายๆ ระยะจากใกล้ถึงไกลตามที่ระบบโฟกัสตรวจจับ และเก็บภาพไว้เป็นไฟล์ MP4   ผู้ใช้สามารถเลือกบันทึกภาพนิ่งตามจุดโฟกัสที่ต้องการได้ในภายหลัง  โดยไม่ต้องกังวลในตอนถ่ายภาพว่า จุดโฟกัสที่ต้องการนั้น จะชัดหรือไม่ รวมทั้งเลือกบันทึกได้หลายๆ ภาพตามที่ต้องการอีกด้วย

gx85__12

นอกจากฟังก์ชั่นพิเศษแบบต่างๆ แล้ว Lumix GX85 โหมดบันทึกภาพมีให้ใช้งานได้ครบครัน อย่างโหมดอัตโนมัติ iA, Creative Control, P, A, S, M และวิดีโอแล้ว ยังมีรูปแบบของฟังก์ชั่น Creative Control ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นสำหรับสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่แตกต่างไปจากการถ่ายภาพปกติ  อาทิ Expressive ปรับเพิ่มความอิ่มตัวของสีสันของภาพ, Retro ให้ภาพแนวย้อนยุค, Cross Process ให้ภาพที่มีสีสันผิดเพี้ยนจากสีจริง, Toy Effect ให้ภาพที่มีขอบภาพเป็นเงาดำ และคอนทราสต์จัดขึ้น, Star Filter สร้างประกายแฉกให้กับ จุดสว่าง เช่น หลอดไฟ ให้เป็นประกายดาว หรือ Sunshine ให้ภาพที่ดูเหมือนมีแสงแฟลร์เข้ามาในเลนส์ ซึ่งแต่ละแบบยังสามารถปรับเพิ่มความอิ่มสี หรือเพิ่มคอนทราสต์ หรือเพิ่มสีสันจากค่ามาตรฐานได้ ซึ่งจุดเด่นใหม่ของฟังก์ชั่น Creative Control นี้ สามารถเลือกถ่ายภาพ ได้จากรูปแบบของ Creative Control เอง หรือเพิ่มเข้าไปในโหมดถ่ายภาพตามปกติได้ และเลือกใช้งานได้ทั้งการถ่ายภาพนิ่ง และโหมดบันทึกวิดีโออีกด้วย

Lumix GX85 มีฟังก์ชั่น Bracket ใหม่ที่นอกจากจะถ่ายคร่อมค่าแสงได้แล้วยังสามารถถ่ายคร่อมไวท์บาลานซ์  ถ่ายคร่อมรูรับแสง และถ่ายคร่อมโฟกัสได้ด้วยโดยสามารถเลือกจำนวนภาพในการบันทึกและเลือกระดับความชิดหรือห่างของโฟกัสได้

gx85_08

ซ้าย : กล้อง Panasonic Lumix GX85  เลนส์ Leica DG Vario-Elmar 100-400mm F4-6.3 ASPH. Power O.I.S. ; 1/80 วินาที f/4.6, Mode : M, WB: Auto, ISO500
ขวา : กล้อง Panasonic Lumix GX85  เลนส์ Leica DG Vario-Elmar 100-400mm F4-6.3 ASPH. Power O.I.S. ; 1/125 วินาที f/5.0, Mode : M, WB: Auto, ISO800

Lumix GX85 ใช้จอมอนิเตอร์ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียดสูงถึง 1,044,000 พิกเซล ควบคุมด้วยระบบระบบสัมผัส สามารถปรับระดับเพื่อให้ถ่ายภาพในมุมมองต่างๆ ทั้งมุมสูงเหนือหัว หรือมุมตํ่าติดพื้นได้อย่างสะดวก ส่วนช่องมองภาพแบบ LVF (Live View Finder) นั้นมีความละเอียดสูงถึง 2,760,000 พิกเซล  เลือกสลับการใช้งานระหว่างจอมอนิเตอร์กับช่องมองภาพแบบบอัตโนมัติ  โดยมีเซ็นเซอร์ตรวจจับอยู่ที่ข้างล่างของช่องมอง เมื่อแนบตาเข้ากับช่องมองภาพ กล้องจะตัดการทำงานจากจอมอนิเตอร์มาเป็นการแสดงผลที่ช่องมอง และเมื่อละสายตาออก กล้องจะตัดการแสดงผลมาที่จอมอนิเตอร์โดยอัตโนมัติ

gx85_09

ระบบ DFD ทำงานได้ดีมากในการโฟกัสติดตามวัตถุ  กล้อง Panasonic Lumix GX85  เลนส์ Leica DG Vario-Elmar 100-400mmF4-6.3 ASPH. Power O.I.S. ; 1/800 วินาที f/5.6, Mode : M, WB : Auto, ISO400

จุดเด่นของ Lumix GX85 คือ มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับ โดยยังคงใช้ชื่อเรียกว่า Dual I.S. แต่การปรับปรุงคือ เปลี่ยนเป็นระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบ 5 แกนที่ทำงานร่วมกับระบบป้องกันภาพสั่นไหวในเลนส์  ทำให้ประสิทธิภาพในการลดการสั่นไหวดีขึ้น ไม่ว่าจะใช้กับเลนส์ช่วงมุมกว้างหรือเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ หรือแม้จะใช้กับเลนส์มือหมุนก็ยังมีประสิทธิภาพดี และยังสามารถทำงานร่วมกับการบันทึกวิดีโอได้ด้วย

ชัตเตอร์ของ Lumix GX85 ออกแบบใหม่ ลดการสั่นสะเทือนได้ดีกว่าเดิมอย่างมาก ไม่เกิดปัญหาเรื่องภาพเบลอจากความสั่นสะเทือนของชัตเตอร์เมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่า

และเช่นเดียวกับกล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน Lumix GX85 มีฟังก์ชั่น Wi-Fi ในตัว ให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เพื่อส่งไฟล์ภาพและอัพโหลดไปยังโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คต่างๆ  หรือเพื่อแบ่งปันภาพถ่ายสุดแสนประทับใจให้กับเพื่อนๆ ได้เชยชม โดยใช้งานผ่านแอพลิเคชั่น Panasonic Image App ซึ่งรองรับการใช้งานทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android โดยการทำงานแอปพลิเคชั่น Panasonic Image App นี้ ไม่เพียงเฉพาะดาวน์โหลดไฟล์ภาพจากกล้องเท่านั้น แต่ยังสามารถควบคุมตัวกล้องในการถ่ายภาพ อาทิ การเลือกจุดโฟกัส การลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพ การปรับความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง หรือปรับชดเชยแสง และปรับฟังก์ชั่นต่างๆ ได้อีกหลายอย่าง รวมทั้งการสั่งบันทึกวิดีโอ

gx85_11

กล้อง Panasonic Lumix GX85  เลนส์ Leica DG Vario-Elmar 100-400mmF4-6.3 ASPH. Power O.I.S. ; 1/1300 วินาที f/6.3, Mode : M, WB : Auto, ISO400

gx85_13

กล้อง Panasonic Lumix GX85  เลนส์ Lumix G Vario 14-42mm. f/3.5-5.6 II ; 1/2000 วินาที f/5.6, Mode : M, 4K PHOTO (Start / Stop), WB : Auto, ISO 800


การใช้งาน

gx85_15

gx85_16

โหมด HDR ของ Panasonic Lumix GX85 มีการไล่โทนภาพที่ดีทีเดียว  กล้อง Panasonic Lumix GX85, เลนส์ Leica DG Vario-Elmarit 45mm F2.8 Macro ; 1/160 วินาที f/2.8, Mode : M,  ISO400

gx85_14

สีสันและความคมชัดยังคงดีเยี่ยม แม้จะถ่ายภาพด้วยความไวแสงสูง  กล้อง Panasonic Lumix GX85 เลนส์ Lumix G Vario 7-14mm f/4 ASPH. ; 1/60 วินาที f/4, Mode : M, WB : Auto, ISO1600

ผมได้สัมผัสกับกล้อง Lumix GX85 มาซักระยะหนึ่งแล้ว  จากการอบรมการใช้งานและแนะนำฟังก์ชั่นการทำงาน ต่างๆ ให้กับผู้ที่ใช้กล้องดิจิตอลพานาโซนิค Lumix ทั้งผู้ที่ใช้ GF Series และ GX-Series ซึ่งต้องยอมรับว่า Lumix GX85 มี เมนูและฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ที่ก้าวหน้า และมีให้ใช้งานกันอย่างครบครันเลยทีเดียว

ฟังก์ชั่นที่ผมเองได้ใช้งานอยู่บ่อยครั้งนั่นคือ ฟังก์ชั่น Post Focus ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่ผมชื่นชอบ และได้นำไปใช้งานจริงๆ จังๆ ด้วยเช่นเดียวกัน โดยฟังก์ชั่นนี้ กล้องจะทำการบันทึกภาพนิ่งหลายๆ ภาพ ด้วยระยะโฟกัสที่แตกต่างกัน จากนั้นจะจัดเก็บในรูปแบบไฟล์วิดีโอ MP4  ซึ่งผมเองใช้ถ่ายภาพมาโครที่ระยะค่อนข้างใกล้ และหลายๆ ครั้งที่โฟกัสหลุดจากจุดที่ต้องการไปอย่างน่าเสียดายจากการที่ไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง รวมทั้งซับเจกต์ที่โยกไหวจากแรงลมด้วย  โดยในโหมดนี้กล้องจะปรับรูปแบบการโฟกัสเป็นแบบอัตโนมัติทุกจุด และเปิดใช้งานฟังก์ชั่น Post Focus ได้จากปุ่ม Fn. บนตัวกล้องได้เลย

หลังจากถ่ายภาพไปแล้ว  ให้เปิดชมภาพจากเมนูพรีวิวภาพ และแตะเลือกไฟล์ MP4 ที่ต้องการ  กดปุ่มควบคุมแบบ 4 ทิศทาง ด้านบน หรือแตะเลือกจากสัญญลักษณ์ของไฟล์ภาพบนจอมอนิเตอร์ได้เลย กล้องจะทำการประมวลผลชั่วครู่ จากนั้นก็จะโชว์ภาพบนจอมอนิเตอร์ เมื่อต้องการโฟกัสตรงจุดไหนก็ให้แตะนิ้วไปยังจุดนั้นๆ  ซึ่งกล้องจะทำการปรับโฟกัสให้อัตโนมัติ และสามารถเลือกจุดโฟกัสได้ทั่วทั้งเฟรมภาพ เมื่อได้ภาพที่ต้องการก็กดปุ่ม Set เพื่อบันทึกภาพนั้นๆ ลงบนเมมโมรี่การ์ด  ไฟล์ MP4 หนึ่งๆ
นั้น สามารถบันทึกภาพได้อย่างไม่จำกัด สามารถบันทึกซํ้าๆ ได้ตามความต้องการ

อีกฟังก์ชั่นหนึ่งที่ใช้งานอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ 4K Photo สำหรับการถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และผมต้องการเก็บภาพในจังหวะนั้นให้ได้ทันท่วงที โดยฟังก์ชั่น 4K Photo นี้ เป็นการบันทึกภาพต่อเนื่องด้วยความเร็ว 30 เฟรมต่อวินาที เพียงพอที่จะเก็บแอคชั่นต่างๆ ได้อย่างละเอียดครบถ้วนเลยล่ะครับ โดยหลังจากที่บันทึกไปแล้ว ก็มาเลือกดูจังหวะที่สวยงามและลงตัวตามที่ต้องการในภายหลังครับ และฟังก์ชั่น 4K Photo สามารถเลือกรูปแบบการบันทึกได้ 3 รูปแบบ นั่นคือ 4K Burst ต่อเนื่องปกติ กล้องจะถ่ายภาพต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังกดปุ่มลั่นชัตเตอร์อยู่ และปล่อยปุ่มลั่นชัตเตอร์เมื่อต้องการหยุดบันทึก  รูปแบบ 4K Burst (Start / Stop) โดยกดชัตเตอร์ครั้งแรกจะเป็นการบันทึกภาพและกดชัตเตอร์ซํ้าอีกครั้งเพื่อหยุดบันทึก  ส่วนรูปแบบที่สามคือ 4K Pre Burst สำหรับกรณีที่รู้ว่าแอคชั่นที่ดีที่สุดอยู่จังหวะใด แต่ไม่แน่ใจว่าจะกดชัตเตอร์ในจังหวะสำคัญได้ทันหรือไม่  ในโหมดนี้กล้องจะบันทึกภาพทั้งหมด 60 ภาพ โดยเป็นการบันทึกภาพล่วงหน้า 30 ภาพก่อนการกดชัตเตอร์ และบันทึกอีก 30 ภาพหลังจากกดชัตเตอร์ไปแล้ว ซึ่งก็สะดวกกับการใช้งานไปคนละแบบครับ

ผมเองใช้แบบแรกอยู่บ่อยครั้ง แต่ต้องเลือกใช้เมมโมรี่การ์ดที่มีความจุมากๆ หน่อย เพราะถึงแม้ว่าจะบันทึกด้วยความละเอียด 8 ล้านพิกเซล แต่แค่กดค้างไว้ 3-4 วินาที ก็ปาเข้าไปเป็นร้อยภาพแล้วครับ การบันทึกก็ลื่นไหลต่อเนื่องดีทีเดียว ทั้งการบันทึกวิดีโอ 4K และภาพนิ่ง 4K รวมทั้งระบบโฟกัสอัตโนมัติก็ทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำครับ

นอกจาก Post Focus และ 4K Photo แล้ว Lumix GX85 ยังมีฟังก์ชั่นที่ช่วยให้สร้างสรรค์ภาพได้อย่างสนุกสนาน ซึ่งผมเองก็ได้ใช้งานอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ 4K Live Cropping ซึ่งเป็นการบันทึกวิดีโอในรูปแบบพิเศษ นั่นคือ สามารถเลือกระยะเวลาในการบันทึกได้ 20 และ 40 วินาที และสามารถปรับตั้งให้กล้องแพนภาพไปซ้าย-ขวาได้ตามที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องขยับกล้องแม้แต่น้อย กล้องจะแพนภาพได้ราบเรียบนุ่มนวลราวกับใช้ดอลลี่ระดับมืออาชีพ  รวมทั้งยังสามารถปรับซูมภาพเข้าออกได้ตามที่ต้องการอีกด้วยโดยไม่ต้องปรับซูมที่เลนส์แต่อย่างใด ช่วยให้การบันทึกวิดีโอดูมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยจะได้คุณภาพในระดับ Full HD

การปรับใช้งานฟังก์ชั่น 4K Live Cropping ทำได้โดยหมุนแป้นปรับโหมดไปที่โหมดบันทึกวิดีโอ ซึ่งสามารถเลือกรูปแบบการบันทึกได้ทั้ P, A S และ M  เลือกความยาวได้ 20 และ 40 วินาที โดยหลังจากที่เลือกเมนู 4K Live Cropping แล้ว กล้องจะให้เลือกจุดเริ่มต้น ซึ่งสามารถเลือกได้จากกรอบภาพสีเหลือง โดยสามารถวางไว้ที่ตำแหน่งๆ ใดๆ ตามที่ต้องการได้ สามารถย่อได้เล็กสุดคือ ขนาด 1/4 ของพื้นที่จอภาพ และซูมขยายได้สูงสุดเต็มจอภาพ  หลังจากเลือกจุดเริ่มต้นแล้ว กล้องจะให้เลือกจุดสิ้นสุด ซึ่งสามารถวางไว้ที่ตำแหน่งใดๆ ของจอภาพได้เช่นกัน และสามารถเลือกทิศทางและขนาดของจุดสิ้นสุดได้อย่างอิสระด้วยเช่นกัน จากนั้นกดบันทึกด้วยปุ่มวิดีโอ กล้องจะบันทึกจากจุดเริ่มต้นที่เลือกไว้ และเลื่อนภาพไปยังจุดสิ้นสุดตามทิศทางและขนาดที่เลือกไว้จนเสร็จสิ้นตามเวลาที่เลือกไว้

อีกหนึ่งฟังก์ชั่นในการบันทึกวิดีโอด้วยเช่นกัน นั่นคือ Snap Movies ซึ่งเป็นการบันทึกคลิปวิดีโอตามเวลาที่ตั้งไว้ซึ่งเลือกได้ 2, 4, 6 หรือ 8 วินาที หลังจากนั้นสามารถนำคลิปวิดีโอทั้งหมด หรือเป็นบางคลิปมาเรียงร้อยให้เป็นคลิปเดียวกันได้ โดยสามารถเลือกเอฟเฟกต์ในการเปลี่ยนภาพ รวมทั้งเลือกเพลงประกอบได้อีกด้วย ช่วยให้สนุกสนานกับคลิปวิดีโอที่สร้างสรรค์ขึ้นเองได้ง่ายทีเดียวครับ และพร้อมแชร์สู่โซเชียลด้วยวิดีโอที่น่าสนใจกว่า

ส่วนสำหรับฟังก์ชั่นที่ใช้สร้างสรรค์ภาพนิ่ง นอกเหนือจาก 4K Photo ปกติแล้ว ยังเลือกสร้างสรรค์เป็นภาพวาดเส้นสายของแสง ไฟ หรือวาดตัวอักษรลงในภาพ นั่นคือฟังก์ชั่น Light Composition โดยต้องบันทึกเป็นไฟล์ภาพ 4K Photo เสียก่อน โดยการวาดแสงสีตามรูปแบบที่ต้องการ เช่น วาดเป็นเส้นๆ วาดเป็นตัวอักษร หรือวาดเป็นรูปทรงต่างๆ จากนั้นเข้าไปที่เมนูพรีวิวภาพ เลือกมาที่เมนู Light Composition กดปุ่ม Set เพื่อเข้าสู่การปรับตั้ง จากนั้นให้เลือกภาพ 4K Photo ที่ต้องการและกดปุ่ม Set อีกครั้ง กล้องจะโชว์เมนูปรับตั้ง 2 รูปแบบคือ Composite Merging เป็นภารรวมภาพจากตำแหน่งของแสงไฟที่เลือก โดยเลือกแถบบาร์ไปยังภาพที่ต้องการ จากนั้นกดปุ่ม Set เพื่อเลือก และกล้องจะโชว์เมนู Next เพื่อเลือกภาพถัดไป หรือ Reselect เพื่อเลือกใหม่ จากนั้นกดปุ่ม Set อีกครั้ง เพื่อเลือกภาพและทำซํ้าๆ ไปจนได้รูปแบบภาพที่ต้องการ และกด Save เพื่อบันทึกภาพนั้น

gx85_17

กล้อง Panasonic Lumix GX85 เลนส์ LUMIX G VARIO PZ 45-175mm. F4.0-5.6 ; 1/500 วินาที f/9, Mode : M, WB: Auto, ISO200

gx85_20

กล้อง Panasonic Lumix GX85 เลนส์ LUMIX G VARIO 25mm. F1.7 ; 1/100 วินาที f/2.0, Mode : M, WB : Auto, ISO 400

อีกรูปแบบหนึ่งนั่นคือ Range Merging จะเป็นการเลือกภาพจากช่วงเวลาในการบันทึก โดยสามารถเลือกจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดได้ตามที่ต้องการ เมื่อเลือกแล้วก็ให้กด Save เพื่อบันทึกภาพจากช่วงเวลาที่เลือก ซึ่งแสงไฟที่วาดขึ้นมาก็จะต่อเชื่อมกันเป็นเส้นยาวๆ ต่างจาก Composite Merging ที่สามารถเลือกช่วงของการวาดไฟได้อย่างอิสระครับ

สำหรับคุณภาพไฟล์ถือได้ว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยมครับ ผมลองถ่ายภาพด้วยความไวแสงสูงๆ อยู่บ่อยครั้ง โดยสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป การถ่ายภาพในชีวิตประจำวัน ผมสามารถเลือกใช้ความไวแสงได้ตั้งแต่ ISO200 ไปจนถึง ISO25600 ซึ่งให้คุณภาพไฟล์ที่ผมยอมรับได้ว่าเป็นไฟล์ภาพที่คมชัด และยังมีสีสันที่เที่ยงตรงสำหรับการเปิดชมจากคอมพิวเตอร์ หรืออัพโหลดไปยังโซเชียลต่างๆ  ส่วนสำหรับงานพิมพ์ หรือภาพที่เน้นคุณภาพไฟล์ที่ละเอียด คมชัดเป็นพิเศษ ผมแนะนำให้ใช้ไม่เกิน ISO6400 ซึ่งผมถือว่าเป็นความไวแสงที่ยังคงให้คุณภาพไฟล์ที่ดีครับ

ด้วยการถอดฟิลเตอร์ Low Pass ออกทำให้ภาพที่ได้จากกล้องรุ่นนี้คมชัดขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ราวๆ 10% กับเลนส์ชั้นยอดอย่าง LEICA DG SUMMILUX 12mm. F1.4 ภาพคมกริบเลยครับ

gx85_18

เป็นกล้องที่ใช้สนุกและเหมาะที่จะใช้เก็บโมเม้นท์ในชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง  กล้อง Panasonic Lumix GX85, เลนส์ LEICA DG SUMMILUX 12mm. F1.4 ; 1/20 วินาที f/2.0, WB: Auto, ISO400

gx85_19

Panasonic Lumix GX85, เลนส์ Leica DG Vario-Elmar 100-400mm F4-6.3 ASPH. Power O.I.S. โหมด M ชัตเตอร์ 1/640 วินาที f/8, ISO400, WB: Auto

อีกหนึ่งจุดเด่นของกล้อง Lumix รุ่นใหม่ๆ รวมทั้ง Lumix GX85 ที่รองรับการบันทึกวิดีโอคุณภาพระดับ 4K สำหรับ การใช้งานที่ต้องการคุณภาพและความคมชัดสูง ภาพที่ได้มีรายละเอียดดีมาก คมชัดและสีสันดีมาก นอกจากนี้สำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป และเปิดชมกับทีวีที่รองรับความละเอียดเพียง Full HD ก็ยังให้ภาพที่ดูคมชัดดี

การจับถือตัวกล้องกระชับอุ้งมือดี  ถึงแม้ว่าจะออกแบบกริปให้ยื่นยาวออกมาเล็กน้อยเท่านั้น  ปุ่มและแป้นควบคุมต่างๆ ก็ถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่ปรับได้อย่างสะดวกทีเดียว  การออกแบบที่ผมถูกใจอย่างหนึ่งคือ มีแป้นควบคุมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สะดวกกับการปรับตั้งค่าต่างๆ มากทีเดียว  โดยเฉพาะรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ เมื่อถ่ายภาพด้วยโหมดแมนนวล ตัวแป้นไม่ลื่นหรือหนืดจนเกิน ไป  สามารถปรับค่าต่างๆ ได้นุ่มนวล สำหรับโหมดอัตโนมัติ อย่างโหมด P, A และ S  การชดเชยแสงนั้นก็เพียงแค่กดแป้นควบคุมด้านหลังลงไปตรงๆ แล้วหมุนแป้นไปด้านขวาหรือซ้ายเพื่อชดเชยแสงบวกหรือลบตามที่ต้องการได้ทันทีครับ

และการออกแบบปุ่มฟังก์ชั่น ให้มีทั้งหมดถึง 9 ปุ่ม ซึ่งเป็นปุ่มบนตัวกล้อง 4 ปุ่ม และปุ่มบนจอมอนิเตอร์อีก 5 ปุ่ม  ก็ช่วยให้ผมใช้งานกล้องได้สะดวก โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปตั้งจากเมนูการทำงานบ่อยๆ  รวมทั้งปุ่ม Q Menu ที่ผมเองใช้งานบ่อยมากที่สุด  เมื่อต้องการปรับเปลี่ยนค่าการทำงานต่างๆ ก็ใช้เวลาน้อยลง  เพราะสามารถเลือกปุ่มฟังก์ชั่น 1-9 เพื่อเข้าสู่เมนูที่ต้องการปรับตั้งได้รวดเร็วมากขึ้นครับ

การปรับตั้งปุ่มฟังก์ชั่น (Fn) ทำได้โดยเข้าเมนู Custom Setting เลือกมาที่เมนู Fn Button Set ในเมนูหลัก  ซึ่งกล้องจะให้เลือกว่าจะปรับตั้งปุ่ม Fn สำหรับการใช้งานแบบไหนหรือตั้งเป็นเมนูอะไร  จากนั้นกดปุ่ม Set เมื่อต้องการปรับตั้ง เลือกการเมนูการทำงานที่ต้องการสำหรับปุ่ม Fn นั้นๆ  และกด Set อีกครั้งเพื่อยืนยันการใช้งานครับสำหรับฟังก์ชั่นการทำงานบ่อยๆ ก็ให้เลือกปรับตั้งเป็นปุ่มที่ใช้งานได้สะดวกที่สุดก่อนครับ

ระบบป้องกันภาพสั่นไหว 5 แกนทำงานได้ดีมาก โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับเลนส์ที่มีระบบกันสั่นในตัว  การทำงานในแบบ Dual IS จะเห็นประโยชน์ชัดเจนมากกับเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้อย่าง Leica DG Vario-Elmar 100-400mmF4-6.3 ASPH. Power O.I.S. สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/60 วินาทีที่ช่วง 400 มม. (เป็น 800 มม. เมื่อเทียบกับกล้อง 35 มม.)  โดยได้ภาพคมชัดแทบทุกภาพ
gx85_23

Panasonic Lumix GX85, เลนส์ Leica DG Vario-Elmar 100-400mm F4-6.3 ASPH. Power O.I.S. โหมด M ชัตเตอร์ 1/500 วินาที f/6.3 ISO400, WB: Auto


สรุปผลการใช้งาน

gx85_21

Panasonic Lumix GX85, เลนส์ Leica DG Vario-Elmar 100-400mm F4-6.3 ASPH. Power O.I.S. โหมด M ชัตเตอร์ 1/800 วินาที f/6.3 ISO400, WB: Auto

gx85_22

Panasonic Lumix GX85, เลนส์ LUMIX G VARIO 12-32/F3.5-5.6 โหมด M ชัตเตอร์ 1/60 วินาที f/5.6, ISO640, WB: Auto

จากการที่ได้มีโอกาสใช้งานกล้อง Panasonic Lumix GX85 อยู่กว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการใช้งานเป็นกล้องหลักแบบจริงจัง รูปแบบการทำงาน การตอบสนองการใช้งาน และการควบคุมการตั้งค่าต่างๆ ทำได้ค่อนข้างดีทีเดียว ผมเองแทบจะไม่มีปัญหากับการใช้งานตลอดระยะเวลาในการทดลองใช้งานกล้อง  ถึงแม้ว่าสภาพบรรยากาศที่เจอะเจอนั้น จะเต็มไปด้วยละอองหมอกสลับกับสายฝนอยู่ตลอดเวลาก็ตาม  ซึ่งผม เองเตรียมแบตเตอรี่สำรองไป 3 ก้อน เพื่อใช้งานบนยอดภูสอยดาว 3 วัน หลายๆ ครั้งที่กล้องเจอกับเม็ดฝนเกาะเต็มในระหว่างการถ่ายภาพ แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องกล้องน็อคหรือใช้งานไม่ได้แต่อย่างใด เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นกล้องในรูปแบบ Weather Seal อย่างแท้จริง แต่ก็ได้รับการซีลรอยต่อต่างๆ บางส่วนมาบ้างแล้วนั่นเองครับ

ผมมีโอกาสได้ลองใช้งานหลายๆ ฟังก์ชั่น และที่ใช้งานบ่อยที่สุดคือ 4K Photo และ Post Focus ซึ่งทั้งสองฟังก์ชั่นช่วยให้ ผมถ่ายภาพที่ถือว่า “ถ่ายยาก” ได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ผมได้ภาพที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีได้ง่ายขึ้น รวมทั้งช่วยให้ผมเลือกจุดโฟกัสได้ หลากหลายมากขึ้น จากการถ่ายภาพเพียงครั้งเดียว ซึ่งฟังก์ชั่นพิเศษเหล่านี้ ไม่ใช่ฟังก์ชั่นที่มีติดกล้องมาแบบเท่ๆ หากแต่สามารถนำไปใช้งานได้จริง  และทำให้มือใหม่หรือมือสมัครเล่นได้ภาพเฉกเช่นเดียวกับมืออาชีพที่มีประสบการณ์สูงๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วยครับ

ที่พูดมาทั้งหมดนั้น ไม่ใช่การยกยอปอปั้น แต่เป็นการพูดออกมาจากการได้สัมผัสใช้งานกล้องจริงๆ  ซึ่งผมเชื่อว่าคุณเองก็สามารถลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพยากๆ ได้ด้วยตัวคุณเองกับกล้อง Panasonic Lumix GX85 ตัวนี้ครับ

ขอขอบคุณ : บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด   สำหรับความอนุเคราะห์กล้องที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ : http://www.panasonic.com/th/

เรื่อง : พีร วงษ์ปัญญา / ภาพ : กองบรรณาธิการ