OTHER REVIEWS

Reviews : SIGMA 56mm F1.4 DC DN Contemporary

เลนส์ Sigma DC เป็นเลนส์ที่ออกแบบสำหรับกล้องตัวคูณ ทั้งแบบ APS-C และ Micro Four-Thirds และรหัส DN นั้นเป็นเลนส์ที่ออกแบบสำหรับกล้อง Mirrorless โดยเฉพาะ ดังนั้น เลนส์ที่พ่วงด้วยรหัส DC DN ก็คือเลนส์ที่ออกแบบสำหรับกล้อง Mirrorless ที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพตัวคูณนั่นเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ Sigma มีเลนส์ DN ออกมาแล้วหลายๆ รุ่น อาทิ Sigma 30mm F/2.8 DN และ Sigma 19mm F2.8 DN ก่อนที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมทั้งรูปลักษณ์ใหม่ทั้งหมด และมาพร้อมความโดดเด่นที่รูรับแสง F1.4 โดยรุ่นใหม่มาด้วยกัน 3 ระยะ คือ 30mm, 16mm และล่าสุด 56mm ที่นิตยสารโฟโต้อินโฟนำมาทดลองใช้งานในครั้งนี้ครับ

จุดเด่น SIGMA 56mm F1.4 DC DN Contemporary

  • รูรับแสงกว้างสุด F1.4
  • ออกแบบสำหรับกล้อง APS-C และ Micro Four-Thirds
  • มีชิ้นเลนส์พิเศษ SLD และ Aspherical
  • เคลือบผิวเลนส์ด้วยเทคโนโลยี Super Multi-Layer Coating
  • มอเตอร์โฟกัสแบบ Stepping Moter
  • กระบอกเลนส์ซีลตามรอยต่อป้องกันฝุ่นและละอองน้ำ
  • ออกแบบตัวเลนส์ได้สวยงาม แข็งแรง

เม้าท์เลนส์โลหะ ให้ความแข็งแรงทนทาน พร้อมขั้วเชื่อมต่อไฟฟ้าสำหรับปรับควบคุมการทำงานจากตัวกล้อง

ผมได้รับเลนส์ Sigma 56mm F1.4 DC DN Contempolary ที่ออกแบบสำหรับกล้อง Micro Four-Thirds ติดมาพร้อมกับบอดี้กล้อง Panasonic Lumix GX-7 ตัวเลนส์มีขนาดเล็กกะทัดรัดทีเดียว เมื่อติดเข้ากับตัวกล้อง ดูสมดุลลงตัว แต่ทางยาวโฟกัสจะถูกคูณ 2 ซึ่งจะเทียบเท่าระยะ 112 มม. ดังนั้นถ้าหากจะต้องถ่ายภาพในระยะเดียวกับรุ่นที่ออกแบบสำหรับกล้อง APS-C จะต้องถอยห่างจากตัวแบบมากกว่านั่นหมายถึงว่า เมื่อจะต้องถ่ายภาพในห้องอย่างห้องทั่วๆ ไปในห้องพัก หรือห้องของโรงแรม หรือต้องถ่ายภาพในพื้นที่ค่อนข้างจำกัด อาจจะดูอึดอัดไปหน่อย ถ่ายภาพคนแนวตั้ง อาจจะตํ่าลงได้เพียงแค่สะโพก และตัดช่วงบนชิดหัวเท่านั้นเองครับ

เลนส์ Sigma 56mm F1.4 DC DN Contempolary ออกแบบได้สวยงามทีเดียว กระบอกเลนส์เรียวคอดลงไปจากหน้าเลนส์ไปยังแปลนเม้าท์ มาพร้อมฮูดบังแสงแบบทรงกลม ช่วยป้องกันแสงตกลงไปยังหน้าเลนส์ได้เป็นอย่างดี โดยใช้การล็อกแบบเขี้ยวล็อกสะดวกกับการใช้งานมากครับ หน้าเลนส์ใช้ฟิลเตอร์ขนาด 55 มม. หาซื้อได้ง่าย และมีราคาที่ไม่สูงมากนัก

ถัดจากหน้าเลนส์เข้าไปเป็นวงแหวนโฟกัส ซึ่งมีขนาดใหญ่พอสมควรช่วยให้จับมือปรับหมุนใช้งานได้ง่ายเมื่อต้องปรับแบบแมนนวล แต่ตัวเลนส์ก็มีการตอบสนองต่อการโฟกัสที่รวดเร็วฉับไว และแม่นยำมากอยู่แล้ว จนผมไม่ต้องมาปรับหมุนโฟกัสเองให้ยุ่งยากครับ จะยุ่งกับระบบโฟกัสก็เพียงปรับให้เป็นแมนนวลโฟกัส เมื่อถ่ายภาพโดยไม่ต้องให้กล้องโฟกัสใหม่ทุกๆ ครั้ง อย่างการถ่ายภาพกลางคืน หรือถ่ายภาพพลุนั่นแหละครับ

ท้ายสุดเป็นแปลนเม้าท์ ซึ่งออกแบบเป็นโลหะให้ความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน พร้อมขั้วเชื่อมไฟฟ้าสำหรับการปรับคุมการทำงานจากตัวกล้องได้ทั้งหมด รอบๆ ฐานเม้าท์เลนส์หุ้มด้วยยางป้องกันฝุ่นและละอองนํ้าเมื่อติดเลนส์เข้ากับตัวกล้อง เมื่อต้องนำออกไปใช้งานในสภาพอากาศที่เลวร้ายได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อใช้งานในสภาพที่เป็นฝุ่นละออง ก่อนที่จะถอดเปลี่ยนเลนส์ ควรจะเป่าฝุ่นที่อาจจะเกาะอยู่รอบๆ ก่อนจะดีที่สุดครับ

รอบๆ แปลนเม้าท์มียางรองป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า ช่วยให้นำไปใช้งานกลางแจ้งในสภาพอากาศที่เลวร้ายได้ดีในระดับหนึ่ง

เลนส์ Sigma 56mm F1.4 DC DN Contempolary ให้ความคมชัดดีเยี่ยมทีเดียวครับ หลายๆ ภาพที่ผมใช้รูรับแสงกว้างสุด f/1.4 เมื่อต้องถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ ยังคงได้ภาพที่คมชัดตามที่ต้องการ ถึงแม้ว่าขอบภาพจะดูฟุ้งอยู่เล็กน้อย แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหา นอกจากนี้ ยังให้เอฟเฟคต์ที่ชัดตื้น และเบลอฉากหลังได้ตามที่ต้องการ การถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ทั้งส่วนมืดและส่วนสว่าง ยังคงให้รายละเอียดที่ครบถ้วนตามจริงครับ

โครงสร้างและชิ้นเลนส์ของเลนส์ Sigma 56mm F1.4 DC DN Contempolary มีชิ้นเลนส์พิเศษอย่าง Aspherical 2 ชิ้น และชิ้นเลนส์ SLD 1 ชิ้น ซึ่งช่วยแก้ปัญหาต่างๆ อย่างความคมชัดทั่วทั้งเฟรมภาพที่รูรับแสงกว้างๆ ซึ่งทำได้ดีเยี่ยมทีเดียว รวมทั้งความคลาดต่างๆ เช่น Distortion หรือ Vignette ต่างๆ ไม่มีมารบกวนตลอดการใช้งานของผมล่ะครับ นอกจากนี้การเคลือบผิวเลนส์ด้วยเทคโนโลยี Super Multi-Layer Coating ช่วยลดทั้งการเกิด CA ซึ่งมักจะมีให้เห็นเมื่อถ่ายภาพย้อนแสง หรือภาพที่มีฉากหลังสว่างๆ ด้วยรูรับแสงกว้างๆ แต่ตลอดการใช้งานของผมกว่าสองสัปดาห์ ไม่มี CA มารบกวนแต่อย่างใดครับ รวมไปถึงอาการแฟลร์ด้วย ผมลองถ่ายภาพย้อนแสงสอร์ตไลท์ส่องสว่างในงานอุ่นไอรัก เพื่อดูว่าจะมีแสงแฟลร์หรือไม่ ซึ่งเลนส์ตัวนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับ ไม่มีอาการแฟลร์หรืออาการภาพหลอนมารบกวนภาพแต่อย่างใด

ระยะโฟกัสใกล้สุด 50 เซ็นติเมตร ช่วยทิ้งฉากหลังให้เบลอได้ดีทีเดียว Panasonic Lumix GX-7 เลนส์ Sigma 56mm F1.4 DC DN C โหมด M ชัตเตอร์ 1/640 วินาที f/2.8, ISO125, WB:Daylight

จุดเด่นหนึ่งของเลนส์ที่ผมชื่นชอบคือ มีระยะโฟกัสใกล้สุด 50 เซ็นติเมตร ซึ่งอาจจะมองว่าไม่ได้ใกล้นัก เมื่อเทียบกับเลนส์ระยะมาตรฐาน แต่เมื่อใช้กับกล้อง Micro four-thirds ที่ทำให้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าเลนส์ระยะ 112 มม. ก็ช่วยให้ทิ้งฉากหลังให้เบลอได้มากขึ้น ช่วยให้เลือกมุมมองของฉากหลังเพื่อไม่ให้รบกวนซับเจคต์ได้ง่ายขึ้นด้วยนั่นเองครับ

ตัวเลนส์มียางรองตรงแปลนเม้าท์ ช่วยป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า ซึ่งมีประโยชน์มากทีเดียว เมื่อต้องนำไปใช้งานในสถานการณ์ที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ซึ่งบางครั้ง หรือหลายๆ ครั้ง เราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และจำเป็นที่จะต้องเก็บภาพ การซีลป้องกันตัวเลนส์ก็ช่วยให้ใช้งานในสภาพฝนปรอยๆ ได้อย่าง มั่นใจมากขึ้นครับ แต่ก็ต้องใช้งานร่วมกับบอดี้ที่ออกแบบให้ใช้งานในสภาพอากาศแบบนี้ด้วยเช่นกัน

ให้ความคมชัดและถ่ายทอดรายละเอียดได้ดีเยี่ยม Panasonic Lumix GX-7 เลนส์ Sigma 56mm F1.4 DC DN C โหมด M ชัตเตอร์ 1/60 วินาที f/2, ISO200, WB:Auto

ความคมชัด และการถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ หวังผลได้ที่ f/1.4 Panasonic Lumix GX-7 เลนส์ Sigma 56mm F1.4 DC DN C โหมด M ชัตเตอร์ 1/200 วินาที f/1.4, ISO200, WB: Auto

ถึงแม้ว่าเลนส์ Sigma 56mm F1.4 DC DN Contempolary จะเป็นเลนส์ที่ออกแบบสำหรับถ่ายภาพบุคคล แต่ก็สามารถใช้งานอื่นๆ ได้หลากหลายมากขึ้น สำหรับกล้อง APS-C ที่ได้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าระยะ 84 มม. ก็ถือเป็นช่วงที่ถ่ายภาพบุคคลได้สวย ไม่ต้องถอยห่างมากนัก และสัดส่วนของซับเจคต์ในภาพไม่ได้ผิดเพี้ยนจนเกินไปเป็นอีกหนึ่งในตัว เลือกสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพบุคคลในสภาพแสงธรรมชาติ จากขนาดรูรับแสงกว้างๆ เพื่อทิ้งฉากหลังที่เบลอสวยงามอย่างเป็นธรรมชาติ

ฉากหลังที่เบลอสวยงามอย่างเป็นธรรมชาติ Panasonic Lumix GX-7 เลนส์ Sigma 56mm F1.4 DC DN C โหมด M ชัตเตอร์ 1/200 วินาที f/2, ISO800, WB: Auto

การเคลือบผิวเลนส์ที่ดี ช่วยลดการเกิดอาการแฟลร์และภาพหลอนได้เป็นอย่างดีเช่นกัน Panasonic Lumix GX-7 เลนส์ Sigma 56mm F1.4 DC DN C โหมด M ชัตเตอร์ 1/200 วินาที f/2, ISO800, WB:Auto

ส่วนเลนส์ที่ออกแบบสำหรับกล้อง Micro four-thirds ที่ได้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าระยะ 112 มม. ซึ่งยังคงเป็นระยะที่ถ่ายภาพบุคคลได้สวยงาม เลือกบีบฉากหลังจากมุมมองที่แคบกว่าได้ดีกว่า และเมื่อนำไปใช้ถ่ายภาพอย่างอื่น เช่น ถ่ายภาพแมลง ถ่ายภาพดอกไม้ ก็สามารถถ่ายภาพห่างจากซับเจคต์ได้มากกว่า ซึ่งก็โดดเด่นไปคนละอย่าง แต่กับคุณภาพของเลนส์ ยังคงดีเยี่ยมในทุกๆ ด้านเหมือนกันครับ ถือเป็นเลนส์ที่ช่างภาพสาย Portrait ที่ยังคงใช้กล้องตัวคูณ น่ามีไว้ประจำกระเป๋ากล้องเป็นอย่างยิ่ง Highly Recommended ครับ

ขอบคุณ บริษัท ชีร์โร่ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์เลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.shriromarketing.co.th

เรื่อง / ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews