ในโฟโต้อินโฟฉบับที่ผ่านมา เราได้นำรายละเอียดของ SONY A7R III ซึ่งเป็นกล้องฟูลเฟรมความละเอียดสูงรุ่นล่าสุดจากโซนี่มานำเสนอ โดย แนะนำจุดเด่นของกล้องรุ่นนี้ในทุกๆ ด้าน SONY A7R III เป็นกล้องที่มีประสิทธิภาพสูงในทุกๆ ด้านและรองรับการทำงานของช่างภาพได้ทุกรูปแบบการถ่ายภาพ ทำให้เป็นกล้องที่โดดเด่นมากที่สุดรุ่นหนึ่งในขณะนี้ แต่นั่นเป็นเพียงสเปค ฉบับนี้ผมจึงได้นำ SONY A7R III มาทดสอบดูว่า คุณภาพไฟล์จะดีขนาดไหน ความเร็วโฟกัส ความเร็วในการทำงาน ความเร็วในการบันทึก จะทำได้ดีเพียงใด
ผลการใช้งาน
ในการทดสอบกล้องรุ่นนี้ ผมใช้ร่วมกับเลนส์หลายรุ่นด้วยกันคือ SONY FE 12-24mm. f/4 G ,FE 24-240mm. f/3.5-6.3 OSS , FE 70-200mm.f/2.8 GM OSS ,FE 100-400mm. f/4.5-5.6 GM OSS และ FE 85mm. f/1.8 โดยบันทึกด้วยไฟล์ RAW+JPEG (Extra Fine) แทบทั้งหมด และใช้ SD CARD ของโซนี่ U3 ความเร็ว 94 Mbps ในการบันทึก ลองมาดูผลที่ได้ทีละเรื่องเลยครับ
ความคล่องตัวในการใช้งาน เมื่อเทียบกับ SONY A7R II ต้องบอกว่า SONY A7R III ใช้งานคล่องตัวกว่ามาก และใช้สนุกกว่าอย่างชัดเจน เพราะการควบคุมหลักๆ ที่ต้องใช้บ่อยที่สุดคือ การย้ายจุดโฟกัสนั้น SONY 7R III ทำได้สะดวกกว่าโดยไม่ต้องกดปุ่มแล้วใช้แป้นสี่ทิศทางย้ายจุดโฟกัสเหมือนเดิม แต่สามารถใช้ระบบทัชสกรีนแตะหน้าจอเพื่อเลือกจุดโฟกัสได้ทันที หรือแม้จะใช้ช่องมอง EVF ก็สามารถแตะหน้าจอเพื่อย้ายจุดโฟกัสได้ ทำให้การเปลี่ยนตำแหน่งจุดโฟกัสทำได้รวดเร็วมาก การแสดงจุดโฟกัสที่ใช้งานเมื่อแตะหน้าจอนั้นจะแสดงในช่องมองด้วยกรอบสีส้มเห็นได้ชัดเจนกว่าจอ LCD ด้านหลังตัวกล้อง แต่ที่ผมเชื่อว่าน่าจะถูกใจมืออาชีพและช่างภาพระดับจริงจัง คือ จอยสติ๊ก ด้านหลังตัวกล้อง ที่ออกแบบให้สามารถย้ายจุดโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะใช้ช่องมองภาพ EVF หรือใช้จอ LCD ด้านหลังตัวกล้อง การย้ายจุดโฟกัสทำได้ละเอียด เมื่อต้องการขยับเพียงเล็กน้อยกับพื้นที่โฟกัสแบบ Flexible Spot ทำให้ไม่เสียจังหวะเมื่อต้องการย้ายจุดโฟกัสและลดความผิดพลาดจากการโฟกัสได้ดีมาก
ปุ่ม AF-ON ด้านหลังตัวกล้องใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างมาก ผมจะเซ็ทให้เป็นปุ่ม Focus Hold เมื่อใช้โหมดโฟกัสแบบ AF-C จะสามารถล็อกโฟกัสได้ด้วยปุ่มนี้ทำให้การโฟกัสสะดวกคล่องตัว ปุ่ม Custom สามารถปรับตั้งได้หลากหลาย รวมทั้งแป้นสี่ทิศทางก็สามารถเซ็ทฟังก์ชั่นที่ต้องการไว้ได้ ทำให้สามารถเลือกได้ว่าต้องการให้ปุ่มใดทำหน้าที่อะไรโดยมีปุ่มและแป้นให้ปรับตั้งได้หลายจุดมาก ปรับให้เหมาะกับการใช้งานของเราแล้วใช้ให้คุ้นจะพบว่าช่วยให้การควบคุมกล้องคล่องตัวมาก
ช่องมองภาพ ช่องมองภาพที่ดีจะช่วยให้การถ่ายภาพหวังผลได้มากขึ้น ซึ่งจากการทดลองนำไปใช้งานในหลากหลายรูปแบบ พบว่าช่องมองภาพของ A7R III มีคุณภาพดีมาก เมื่อปรับตั้ง Quality ของช่องมอง EVF ที่ตำแหน่ง High ภาพในช่องมองมีรายละเอียดดีมาก โดยเฉพาะเมื่อซูมขยายภาพขึ้นมา ยังสามารถแสดงรายละเอียดได้ดี ทำให้สามารถตรวจสอบความคมชัดได้ดีกว่าเดิม และมองภาพได้สบายตา และเมื่อตั้ง Frame Rate ของช่องมองที่ High จะทำให้การมองภาพนุ่มนวลสบายตายิ่งขึ้น เมื่อแพนกล้องหรือวัตถุเคลื่อนไหวรวดเร็ว ภาพที่ปรากฏในช่องมองยังคงดูนุ่มนวล ที่แตกต่างจาก A7RII มากก็คือเมื่อถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง ช่วงเวลาการหายไปของภาพในช่องมองน้อยกว่า ทำให้การเคลื่อนกล้องติดตามภาพทำได้ง่ายกว่า ช่องมอง EVF ให้สีสดใส คอนทราสต์สูง สีดำ ดำสนิท ความอิ่มสีดี แต่ไม่บูสท์สีจนจัดจ้าน ยังคงแสดงสีได้ใกล้เคียงไฟล์จริง สดกว่าเพียงเล็กน้อย ทำความคุ้นเคยเพียงชั่วครู่ คุณจะไม่รู้สึกถึงความเป็นช่องมองอิเล็กทรอนิกส์เลย เพราะให้ความรู้สึกใกล้เคียงช่องมองออพติคัลมาก แต่โดดเด่นกว่าตรงที่สามารถแสดงค่าแสงสีสันและเอฟเฟกต์จากการปรับพารามิเตอร์ได้ตรงกับไฟล์จริง ในส่วนของช่องมองภาพนี่ผมให้คะแนน 9.5 (เต็ม10) เลยครับ ใช้แล้วประทับใจมาก
ระบบออโตโฟกัส ในกล้อง A7RII นั้น แม้เป็นกล้องที่ออกแบบระบบออโตโฟกัสให้สามารถถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนไหวได้ดี โดยใช้ระบบ Fast Hybrid AF ผสานการทำงานระหว่างระบบเฟส ดีเทคชั่น กับระบบตรวจจับคอนทราสต์ ซึ่งในการใช้ถ่ายภาพแอคชั่นพบว่าระบบแทรคกิ้งทำงานได้ดีพอควร แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับภาพกีฬาและภาพเคลื่อนไหวรวดเร็วในงานระดับอาชีพ แต่กับ A7RIII ผลที่ได้แตกต่างชัดเจน ผมนำ A7RIII ไปถ่ายภาพเวคบอร์ค โดยลองถ่ายภาพการเคลื่อนไหวในหลายทิศทาง มีทังซับเจกต์เคลื่อนเข้าหากล้องแนวตรง แนวทแยง แบบไม่มีทิศทางแน่นอน และแนวขนาน โดยใช้ร่วมกับเลนส์ FE 100-400mm. f/4.5-5.6GM OSS ตั้งระบบออโตโฟกัสที่ AF-C ตั้งแต่ AF Track Sens ที่ 3 (และ 4 เป็นบางครั้ง) ใช้พื้นที่โฟกัสแบบ Zone ปิดระบบทัชสกรีนเพื่อกันนิ้วไปโดนหน้าจอซึ่งทำให้กล้องย้ายจุดโฟกัส และปิดระบบ Auto Review ตั้งระบบถ่ายต่อเนื่องที่ Hi ( 10 ภาพ/วินาที)
ภาพแอคชันแบบนี้เป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับระบบออโตโฟกัสของกล้องรุ่นนี้ กล้อง Sony A7R III เลนส์ Sony FE 100-400mm f/4.5-5.6 GM OSS ; 1/2500 Sec f/5.6, Mode : M, WB : Auto , ISO 500
ในกรณีซับเจคต์เคลื่อนเข้าหากล้อง พบว่าการแทรคกิ้งทำได้ดีมาก ประสิทธิภาพอาจจะเป็นรอง 9 เล็กน้อย แต่บอกได้เลยครับว่าดีเพียงพอสำหรับภาพกีฬาและภาพแอคชั่นทุกรูปแบบ ผมรัวด้วยความเร็ว 10 เฟรม/วินาที ต่อเนื่องประมาณ 2 วินาทีเศษ ได้ภาพมากว่ายี่สิบภาพ ทุกภาพอยู่ในโฟกัส ภาพคมกริบสถานการณ์ต่อไปยากขึ้นครับ เป็นมุมหน้าตรง ซับเจกต์โดดเนินแล้วตีลังกา หมุนรอบตัว ทิศทางเปลี่ยนตลอด แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในโซนของพื้นที่โฟกัส มีหลุดออกนอกโซนบ้าง ปรากฏว่าภาพที่ได้โฟกัสเข้าประมาณ 70-80% มีหลุดโฟกัสบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าทำได้ขนาดนี้ก็น่าประทับใจมากแล้วครับ เพราะกล้องระดับโปรที่เน้นความเร็วยังทำได้ไม่ถึง 90% เลยครับ
4 ภาพด้านบนแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของระบบออโตโฟกัสเมื่อเคลื่อนกล้องเข้าหาซับเจกต์แบบฉับพลัน ความเร็ว 10 ภาพต่อวินาทีแสดงให้เห็นถึงสเตปที่ละเอียดในการจับจังหวะที่ดีที่สุด กล้อง Sony A7R III เลนส์ Sony FE 100-400mm f/4.5-5.6GM OSS ; 1/2500 Sec f/5.6, Mode : M, WB : Auto , ISO 400
จุดที่สามซับเจกค์เคลื่อนเข้าหากล้องแนวทแยง แล้วเปลี่ยนทิศทางเป็นแนวขนาน จากนั้นกระโดดลอยตัว กล้องยังแทรคตามได้แม่นยำตลอด โฟกัสเข้าเกือบ 100% ผลที่ได้น่าประทับใจมากไม่ต้องเทียบกับ A7RII ครับ ทำได้เหนือชั้นกว่าชัดเจนทั้งความเร็วและความแม่นยำ ดีเพียงพอสำหรับช่างภาพกีฬามืออาชีพการโฟกัสในโหมด AF-S ทำได้เร็วและแม่นยำมาก ในการใช้งานผมมักจะใช้พื้นที่โฟกัสแบบ Flexible Spot ขนาด M และ L โดยใช้ร่วมกับจอยสติ๊ก โฟกัสตอบสนองเร็ว และล็อกที่จุดชัดได้เร็วมากโดยไม่มีการ Refocus แต่อย่างใด กับซับเจกต์ที่มีคอนทราสต์ตํ่า การโฟกัสก็ยังทำได้ดี เพียงแต่ควรปรับใช้ที่ขนาด L (หากเป็น M หรือ S จะมีอาการวืดวาดบ้าง)ในสภาพแสงน้อยมาก การโฟกัสยังทำได้ดี ความแม่นยำยังดีมาก เพียงแต่ความเร็วในการโฟกัสจะลดลงส่วนในสภาพย้อนแสงแรงๆ ความแม่นยำของระบบโฟกัสอยู่ในระดับดี โฟกัสอาจวืดวาดบ้างแต่นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกล้องระดับเดียวกัน สรุปประสิทธิภาพโดยรวมของระบบออโตโฟกัสคือ น่าประทับใจครับ รองรับการถ่ายภาพได้ทุกรูปแบบ แม้กระทั่งภาพกีฬา มอเตอร์สปอร์ตและภาพ Wildlife
ภาพด้านบนชุดนี้ผมลองระบบโฟกัสของกล้องโดยเคลื่อนกล้องตามซับเจกต์มาตั้งแต่ระยะไกล ใช้พื้นที่โฟกัสแบบโซน ตั้งระบบถ่ายภาพต่อเนื่องที่ความเร็ว 10 ภาพต่อวินาที จากนั้นก็ลั่นชัตเตอร์รัวเป็นชุดประมาณ 4 วินาที ได้ภาพมา 42 ภาพ เกือบทุกช็อตอยู่ในโฟกัส โฟกัสหลุดเพียง 2-3 ภาพในช่วงท้ายที่ซับเจกต์เข้าใกล้มากผมพอใจผลที่ได้อย่างมาก กล้อง Sony A7R III เลนส์ Sony FE 100-400mm f/4.5-5.6GM OSS ; 1/1600 Sec f/5.6, Mode : M, WB : Auto , ISO 400
ความเร็ว นี่คือจุดเด่นที่สุดของการพัฒนากล้องรุ่นนี้จากรุ่นเดิม ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องที่ปรับจาก 5 ภาพ/วินาที มาเป็น 10 ภาพ/วินาที จะเก็บทุกสเตปของการเคลื่อนไหวได้ จังหวะดีๆ ไม่ถูกข้ามไปเหมือนเดิม ทำให้โอกาสได้ภาพแอคชั่นดีๆ มีมากมากกว่าและด้วยบัฟเฟอร์มีความจุมากขึ้น ทำให้สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้มากกว่า และการเขียนข้อมูลลงการ์ดก็ทำได้เร็วขึ้น เคลียร์บัฟเฟอร์ได้เร็วขึ้น (ต้องใช้กับการ์ด SD ความเร็วสูงด้วย) Blackout Time ที่น้อยกว่าเดิมทำให้การเคลื่อนกล้องตามซับเจกต์ทำได้ดีกว่าเดิม ซึ่งจะเห็นผลอย่างมากกับซับเจกต์ที่มีทิศทางไม่แน่นอน ในกล้องรุ่นเดิมการติดตามภาพจะค่อนข้างยากมาก แต่ใน A7R III การติดตามซับเจกต์ทำได้ค่อนข้างง่าย สิ่งที่น่าประทับใจอีกเรื่องคือ ความเร็วในการเปิดเครื่องจนพร้อมถ่ายเร็วกว่ารุ่น A7R II เกินเท่าตัว มันใช้เวลาประมาณ 1 วินาทีก็พร้อมลั่นชัตเตอร์ ทำให้เมื่อต้องรีบบันทึกภาพ กล้องรุ่นนี้จะตอบสนองได้เร็วกว่า โอกาสได้ภาพจึงมีมากกว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมาก
ชัตเตอร์แมคคานิคทำความเร็วได้ถึง 10 ภาพต่อวินาที ทำให้การใช้กับแฟลชสามารถรัวต่อเนื่องเพื่อเก็บแอคชันได้ทุกสเตป กล้อง Sony A7R III เลนส์ Sony FE 85mm. f/1.8 ; 1/160 Sec f/5.6, Mode : M, WB : 5500K , ISO 200
ความคมชัด แม้จะใช้เซ็นเซอร์รับภาพตัวเดิม แต่การพัฒนา LSI และหน่วยประมวลผลใหม่ทำให้ภาพที่ได้จาก A7R III มีความคมชัดสูงขึ้นทั้งไฟล์ JPEG และไฟล์ RAW โดยเฉพาะไฟล์ JPEG นั้น รายละเอียดดีกว่าเดิมชัดเจนมาก ความคมชัดเปิดเผยให้เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างชัดเจน ที่อัตราขยาย100% ภาพที่เห็นจากจอมอนิเตอร์ยังแสดงรายละเอียดได้ดี และที่น่าพอใจมากคือ แม้ใช้ที่ ISO 800-1600 รายละเอียดยังดีมาก ดีกว่าเดิมราวๆ 1 สตอปเลยครับ ที่ ISO 3200 ความคมชัดของภาพยังอยู่ในระดับดี สามารถนำไปขยายเป็นภาพขนาด 30×40 นิ้วที่มีคุณภาพดีได้ และหาก Resize จาก 42.4 ล้าน พิกเซลให้เหลือ 24 ล้านพิกเซล มันจะให้ความคมชัด รายละเอียด เหนือกว่ากล้องฟูลเฟรม 24 ล้านพิกเซลทุกรุ่น (ที่บันทึกด้วย ISO เดียวกัน) ความคมชัดของไฟล์ RAW ดีกว่าไฟล์ JPEG เล็กน้อย ให้รายละเอียดในระดับ Inner Detail ที่ดีขึ้น โดยจะให้ความคมชัดในส่วนมืดที่ดีกว่าชัดเจน
แม้กับไฟล์ JPEG ความคมชัดยังเยี่ยมยอดอย่างไม่น่าเชื่อ คมกริบแม้ที่อัตราขยาย 100% บนจอมอนิเตอร์ กล้อง Sony A7RIII เลนส์ Sony FE 12-24mm f/4 G ; 1/250 Sec f/8 , Mode : M , WB : Auto , ISO 64
เก็บรายละเอียดได้เยี่ยมยอดมาก กล้อง Sony A7R III เลนส์ Sony FE 70-200mm. f/2.8 GM OSS ; 1/400 Sec f/3.5, Mode : M, WB : Auto , ISO 200
การถ่ายทอดสีและคอนทราสต์ การให้สีแตกต่างจาก A7R II อยู่บ้าง โดย A7R III จะให้ภาพไฟล์ JPEG ที่มีสีสดใสกว่า ภาพใสกว่า และให้สีผิวของคนที่สวยขึ้น ซึ่งน่าจะถูกใจผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่จะคาดหวังกับเรื่อง skin tone เป็นพิเศษ จากการลองกับเลนส์ FE 85mm.f/1.8 และ FE 70-200mm.f/2.8 GM OSS พบว่าภาพที่ได้มีสีผิวที่ดีกว่าเดิม การไล่เฉดบนใบหน้าตัวแบบลดหลั่นเป็นธรรมชาติมากขึ้น ส่วนที่เบิร์นเป็นจุดสว่างน้อยลง ภาพบุคคลจึงดูดีกว่าเดิมชัดเจน กับภาพแลนด์สเคป ภาพที่ได้ใสเคลียร์ ความอิ่มสีดี คอนทราสต์ค่อนข้างสูง กับไฟล์ RAW การไล่เฉดสีเป็นธรรมชาติมากๆ ด้วยความลึกสี 14 บิต และไดนามิคเรนจ์ที่กว้างมาก ทำให้การถ่ายทอดโทนสีละเอียดมาก
สกินโทนที่ได้จากไฟล์ JPEG ของกล้องรุ่นนี้น่าพอใจมาก ให้ภาพใส ความอิ่มสีดี กล้อง Sony A7RIII เลนส์ Sony FE 100-400mm f/4.5-5.6 GM OSS ; 1/250 Sec f/6.3, Mode : M, WB : Auto , ISO 400
กล้อง Sony A7RIII เลนส์ Sony FE 85mm f/1.8; 1/200 Sec f/2.8, Mode : M, WB : Auto , ISO 400
สัญญาณรบกวน กล้องความละเอียดสูงมักจะมีจุดอ่อนเรื่องสัญญาณรบกวน (NOISE) เพราะขนาดพิกเซลเล็กกว่า แต่นี่คือกล้องที่ต้องยกเว้น เพราะแม้จะมีความละเอียดสูงถึง 42.4 ล้านพิกเซล แต่กลับมีสัญญาณรบกวนตํ่าอย่างน่าประทับใจ ที่ ISO 100-400 ภาพที่ได้ใสเคลียร์ แทบไม่ปรากฏสัญญาณรบกวน แม้ในส่วนมืดของภาพหรือรอยต่อของส่วนมืดกับส่วนสว่าง ที่ ISO 800 สัญญาณรบกวนยังน้อยมาก ผมใช้ได้แบบสบายใจ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องคุณภาพ เพราะรายละเอียดและสีสันยังมาเต็มๆ ที่ ISO 1600 จะปรากฏสัญญาณรบกวน แต่นับว่าน้อยกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจนทั้งไฟล์ RAW และ JPEG โดยเฉพาะกับไฟล์ JPEG การจัดการกับสัญญาณรบกวนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สัญญาณรบกวนน้อย แต่ภาพยังมีรายละเอียดดี นี่คือสิ่งที่ช่างภาพต้องการ ที่ ISO 3200 ผมยังพอใจกับสัญญาณของกล้องรุ่นนี้ ภาพยังใสเคลียร์ รายละเอียดค่อนข้างดี สามารถใช้งานในระดับที่มืออาชีพต้องการได้ ส่วนที่ ISO 6400 ภาพจะปรากฎสัญญาณรบกวนชัดเจน รายละเอียดจะลดลง แต่ก็ยังให้คุณภาพในระดับใช้งานได้ สรุปในเรื่องการจัดการกับสัญญาณรบกวนคือ ดีมาก สำหรับกล้องความละเอียดสูงและดีเยี่ยมหากลดขนาดภาพให้เหลือ 24 ล้านพิกเซล
กับความไวแสงที่สูงระดับ ISO 3200 ภาพยังมีคุณภาพดีน่าพอใจ ทำให้มันเป็นกล้องที่ใช้งานได้ทุกสถานการณ์อย่างแท้จริง กล้อง Sony A7R III เลนส์ Sony FE 24-240mm. f/3.5-6.3 OSS ; 1/160 Sec f/4, Mode : M, WB : Auto , ISO 3200
ไดนามิคเรนจ์ A7R III เคลมว่าให้ไดนามิคเรนจ์กว้างถึง 15 สตอป เมื่อบันทึกด้วยไฟล์ RAW แบบไม่มีบีบอัดข้อมูล ซึ่งจากการทดลองพบว่า การดึงรายละเอียดจากไฟล์ที่อันเดอร์ 5-6 สตอปนั้น 7 RIII ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยภาพยังมีคุณภาพค่อนข้างดี หากเป็นการดึงส่วนที่อันเดอร์ 2-3 สตอป รายละเอียดจะปรากฏโดยไม่มีปัญหาเรื่อง Noise ในส่วนที่ดึงขึ้นมา ให้ผลน่าพอใจมาก แต่ในการทดสอบยังไม่ได้ลองดึงรายละเอียดระดับ 7-8 EV ครับ แต่เท่าที่ลองพบว่าผลที่ได้น่าพอใจมากแล้ว เป็นจุดเด่นที่ช่างภาพแลนด์สเคป ช่างภาพสถาปัตยกรรม และช่างภาพแนวคอมเมอเชียลต้องการ
ระบบป้องกันภาพสั่นไหว ในการทดสอบผมลองกับเลนส์ 3 รุ่นด้วยกัน คือ FE 85mm.f/1.8 , FE 100-400mm.f/4.5-5.6 GM OSS และ FE 24-240mm.f/3.5-6.3 OSS พบว่า กับเลนส์ที่ช่วงมุมกว้างจนถึง 50มม. ประสิทธิภาพในการลดการสั่นไหวทำได้น่าประทับใจถึง 4 สตอป เช่นกับเลนส์ 24 มม. สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/2 วินาที แบบหวังผลได้ ที่ช่วง 50 มม. สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/4 และ 1/8 วินาที แบบหวังผลได้ ที่น่าประทับใจคือกับเลนส์ 100-400 มม. ( ที่ช่วง400 มม.) ผมสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/25 วินาที แบบหวังผลได้ทุกช็อต และที่ความเร็วชัตเตอร์ 1/15 วินาที ภาพคมชัดถึง 80% ซึ่งน่าพอใจมากครับ ผลที่ได้ดีกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน 1-1.5 สตอป
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบ 5 แกนของ 7RIII ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ช่วยให้ถือกล้องได้นิ่งแม้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่า กล้อง Sony A7RIII เลนส์ Sony FE 24-240mm f/3.5-6.3 OSS ; 1/15 Sec f/7.1 , Mode : M , WB : Auto , ISO 200
Pixel Shift Shooting เทคโนโลยีการบันทึกภาพ 4 ครั้ง โดยขยับตำแหน่งเซ็นเซอร์ครั้งละ 1 พิกเซล เพื่อให้แต่ละพิกเซลรับแสงได้ครบทุกสี (RGB) ทำให้ไม่ต้องจำลองข้อมูลสีจากพิกเซลข้างเคียง ภาพจึงมีรายละเอียดสูง ความผิดเพี้ยนของสีตํ่ามาก สัญญาณรบกวนตํ่าลงและไดนามิคเรนจ์กว้างขึ้นจากการทดสอบผมใช้เลนส์ FE 12-24 mm.f/4 G ตั้งกล้องกับขาตั้งขนาดใหญ่ เลือกใช้รูรับแสงที่ f/6.3 และ f/7.1 ซึ่งเป็นรูรับแสงที่ให้ความคมชัดสูงของเลนส์รุ่นนี้ ในการบันทึกกล้องจะใช้ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์บันทึกภาพ โดยเว้นช่วงเวลาอย่างน้อย 1 วินาที (ปรับเลือกได้) ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาบันทึกมากกว่า 4 วินาทีต่อช็อต ภาพจะบันทึกด้วยไฟล์ RAW ต้องนำไปโพรเซสในซอฟแวร์ Viewer ของโซนี่แล้วสั่งรวมภาพ Pixel Shift โดยสามารถบันทึกไฟล์ RAW , TIFF (8 บิตหรือ16บิต) และ JPEG ผมลองบันทึกไฟล์ TIFF 16 บิต พบว่าภาพที่ได้คมกริบ (กล้องจะ Resize ไฟล์ 169 ล้าน ให้เหลือ 42.4 ล้านพิกเซล) รายละเอียดระยิบระยับอย่างที่จะไม่ได้เห็นจากการบันทึกปกติ รายละเอียดที่คุณเห็นว่าดีเยี่ยมอยู่แล้ว จะดีขึ้นไปอีกระดับ คมแบบขุดคุ้ยระดับ Micro Detail เลยทีเดียว ดังนั้นจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพแลนด์สเคป สถาปัตยกรรม และภาพแนวคอมเมอเชียล แต่โหมดนี้ไม่เหมาะกับภาพพอร์เทรต เพราะซับเจกต์จะต้องไม่เคลื่อนไหวเท่านั้น
รายละเอียดน่าประทับใจมากเมื่อใช้ระบบ Pixel Shift Shooting ในการบันทึก กล้อง Sony A7RIII เลนส์ Sony FE 24-240mm f/3.5-6.3 OSS ; 6 Sec f/8 , Mode : M , WB : Auto , ISO 50
Movie ประสิทธิภาพภาพของระบบวิดีโอทำได้น่าประทับใจกว่าเดิม มันทำให้รายละเอียดที่ยอดเยี่ยมบนไฟล์ 4K ภาพมีสัญญาณรบกวนตํ่ากว่าเดิม สีสันอิ่มตัวสดใสกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ที่ดีมากคือ ระบบป้องกันภาพสั่นไหวที่ทำงานได้ดีขึ้น ทำให้การถือกล้องด้วยมือให้ผลที่ดีกว่า ภาพดูนิ่งกว่า และด้วยประสิทธิภาพของระบบออโตโฟกัสที่ดีขึ้น ทำให้การโฟกัสติดตามวัตถุเมื่อบันทึกวิดีโอ ดีกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน และด้วยฟีเจอร์ใหม่ HLG ช่วยให้สามารถเก็บไดนามิคเรนจ์ได้กว้าง สามารถนำไฟล์ไปใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้อง Grading ซึ่งภาพที่ได้ยังคงมีสีสันอิ่มตัว การไล่โทนดีและเก็บรายละเอียดส่วนมืดและส่วนสว่างได้มากกว่าการบันทึกปกติ และที่ผมชอบเป็นพิเศษคือสามารถบันทึกภาพ slow motion ได้ถึง 5 เท่า และทำภาพเร่งสปีดได้ถึง 60 เท่า ให้ความยืดหยุ่นในการใช้งานได้ดีมาก ระบบวิดีโอยังเป็นจุดแข็งของ A7R III ทำให้มันเป็นกล้องที่รองรับการบันทึกวิดีโอในระดับอาชีพได้อย่างเยี่ยมยอด
แบตเตอรี่ ด้วยการใช้แบตเตอรี่ใหม่ที่มีความจุสูงขึ้น 2.3 เท่าทำให้ A7R III ใช้งานต่อเนื่องได้นานกว่าเดิมมาก ไม่ต้องพะวงกับการถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยเฉพาะเมื่อบันทึกวิดีโอ ส่วนภาพนิ่งนั้นจากการทดสอบผมใช้ได้มากกว่า 700 ภาพ โดยแบตเตอรี่ยังเหลือกว่า 40%
ความเห็น
กล้อง Sony A7RIII เลนส์ Sony FE 12-24mm f/4G; 1/30 Sec f/4, Mode : M, WB : Auto , ISO 400
ผมตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า นี่คือกล้องที่ยอดเยี่ยม สมบูรณ์แบบ ใช้แล้วมีความสุขและสนุกที่สุดรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว มันแตกต่างจากเดิมตั้งแต่เสียงชัตเตอร์ที่เร้าใจ หนักแน่น ฟิลลิ่งในการทำงานที่ดีเยี่ยม คุณภาพไฟล์ที่ดีเลิศ ระบบโฟกัสที่ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ในกล้อง 42.4 ล้านพิกเซล ความเร็วที่ไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับกล้อง 42.4 ล้านพิกเซล และฟิเจอร์ใหม่ๆ อีกมากมายกว่า 60 อย่าง แทบไม่น่าเชื่อว่าโซนี่บรรจุสิ่งเหล่านี้ลงไปได้อย่างไรในกล้องขนาดกะทัดรัดเท่าฝ่ามือ มันจึงเป็นกล้องดิจิตอลที่น่าสนใจมากที่สุดรุ่นหนึ่งในขณะนี้ ต้องใช้คำว่า “แนะนำเป็นพิเศษอย่างยิ่ง” ครับ
เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์
ขอบคุณ บริษัท โซนี่ไทย จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องและเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.sony.co.th
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)
หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews