บุญสิทธิ์ รัตนจารีต
NCG Photography
ผลลัพธ์ที่ไม่เคยเท่ากับความธรรมดา
หากใครเคยมีโอกาสไปลงคลาสกับ Nikon School อาจคุ้นหน้าค่าตาวิทยากรหนุ่มผู้นี้ ภายใต้กรอบแว่นในบางเวลา หลายคนสัมผัสได้ถึงความธรรมดาของชายเจ้าของนิคเนม NCG Photography เป็นความธรรมดา เรียบง่าย ทั้งบุคลิก จังหวะจะโคนยามสนทนา
ทว่า สิ่งเดียวที่ “ไปร์ท – บุญสิทธิ์” ไม่เคยส่งผ่านความธรรมดาไปสู่ลูกค้าและ Followers ของเขา คือ ผลงานการถ่ายภาพอันมีเอกลักษณ์บนหนทางของ Still Life ทั้งสาย Commercial, Product, Interior และ Food
“ผมเป็นคนจังหวัดระยองครับ พอโตก็มีโอกาสเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เรียนจบทางด้านมาร์เก็ตติ้งจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระและวิทยากรสอนการถ่ายภาพให้กับบริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด”
ชายหนุ่มเริ่มบทสนทนาด้วยประวัติอย่างรวบรัดของเขา ก่อนที่จะถูกรุกเร้าเพื่อควานหาจุดตั้งต้นอันอาจส่งผลมาถึงสถานะความเป็นช่างภาพอาชีพในปัจจุบัน
“ที่บ้านผมมีลูกชายสองคน ตอนนั้นพี่ชายจบด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ส่วนตัวผมเองจริง ๆ ก็ชอบทางด้านดีไซน์และการออกแบบเหมือนกัน เคยคิดอยากทำงานด้านโปรดักส์ดีไซน์หรืออินทีเรีย แต่ช่วงก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยทางบ้านทักท้วงว่าพี่ชายก็ไปทางด้านออกแบบคนหนึ่งแล้ว จะตามไปทางนั้นอีกคนหรือ.. เขาคงกลัวว่าเราจะตกงานเลยอยากให้เรียนทางด้าน Business”
แม้ต้องเบี่ยงไปศึกษาในสายที่อาจต่างจากความตั้งใจ แต่ ไปร์ท – บุญสิทธิ์ บอกว่าความชื่นชอบทางด้านศิลปะยังคงอยู่ในใจเขาตลอด เพียงแต่ตอนนั้นไม่รู้จะแสดงออกมาอย่างไร มีเพียงในช่วงปีสุดท้ายที่เขาคิดว่าควรจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างที่ตัวเองชอบมันจริง ๆ
“ก็ชวนเพื่อน ๆ ในกลุ่มไปคุยกับอาจารย์เพื่อขออนุญาตตั้งชมรมขึ้นมาชมรมหนึ่งชื่อว่า “HAC Club” ที่ย่อมาจาก Handcraft Art and Creation พูดง่าย ๆ คือเป็นชมรมที่เกี่ยวกับศิลปะ การทำของแฮนด์เมด หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผมรับเป็นประธานชมรมในช่วงปีแรกที่ก่อตั้ง”
คุณพาตัวเองย่างกรายเข้ามาสู่โลกของการถ่ายภาพได้อย่างไร
“หลังจากเรียนจบ ผมมีโอกาสเดินทางไปเตรียมตัวเพื่อศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งในระหว่างการเตรียมตัวเป็นช่วงที่ต้องอยู่คนเดียว เมืองที่ผมไปอยู่เป็นเมืองเล็ก ๆ ชื่อ “ซาลส์บูรี” (Salisbury) ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของลอนดอน ช่วงนั้นมีเวลาว่างเยอะทำให้มีโอกาสได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น และเป็นจังหวะเดียวกับที่ผมเอากล้องดิจิทัลคอมแพ็คตัวเล็ก ๆ ที่คุณพ่อแลกมาจากบัตรเครดิตติดตัวไปด้วย (หัวเราะ) ก็เลยได้ใช้ถ่ายภาพเล่นไปเรื่อยเปื่อย ตอนนั้นจำได้ว่าเป็นยุคที่เวบ Hi5 กำลังดัง ก็เอาภาพที่ถ่าย ๆ ไว้มาโพสต์เล่น ก็มีคนเข้ามาชมบ้างอะไรบ้าง เริ่มรู้สึกว่าตัวเองชักจะชอบการถ่ายภาพขึ้นมา”
แม้จะได้ไปเตรียมตัวเพื่อรอเข้าศึกษาต่อถึงประเทศอังกฤษแล้ว ทว่า โชคชะตากลับส่งชายผู้นี้กลับมาสู่แผ่นดินแม่อีกครั้ง เพื่อรอเวลานับหนึ่งบนเส้นทางสายที่เขาไม่เคยแม้แต่จะคิด
“พอดีมันมีปัญหาขึ้นมาในช่วงจังหวะนั้น เลยมีอันต้องกลับเมืองไทยก่อน ก็เริ่มลองสมัครงานดูซึ่งส่วนใหญ่ในใบสมัครมันมักจะมีช่องให้กรอกว่าความสามารถพิเศษของเราคืออะไร ก็นึกอยู่นานว่าตัวเองมีความสามารถอะไรที่พิเศษ ไอ้โน่นก็ไม่ได้เก่ง ไอ้นี่ก็ธรรมดา มันเป็นความคิดที่ว่าเรายังไม่มีอะไรที่พูดแล้วรู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีเลยสักอย่าง ก็มาคิดว่าเอ๊ะหรือจะลองมาเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพอย่างจริง ๆ จัง ๆ เลยปรึกษาคุณพ่อว่าอยากจะได้กล้องสักตัว และกล้องถ่ายภาพตัวแรกในชีวิตของผมก็คือ Nikon D90 กับเลนส์ซูมช่วง 18-200 มม.”
ไปเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพจากที่ไหน อย่างไร
“สมัยนั้นยังไม่ได้มีคอร์สสอนการถ่ายภาพมากมายเท่าปัจจุบัน ผมก็เริ่มต้นจากการอ่านหนังสือ – นิตยสารที่มีอยู่ในท้องตลาด หรือไม่ก็ค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตบ้าง แต่ที่ชอบที่สุดคือการไปนั่งแอบดูหนังสือภาพตามร้านที่ขายหนังสือต่างประเทศเยอะ ๆ อย่าง Asia Books หรือ Kinokuniya ซึ่งเรานั่งดูได้ทั้งวัน”
ตอนนั้นมีเป้าหมายหรือแนวทางการถ่ายภาพที่รู้สึกว่าตัวเองชอบเป็นพิเศษบ้างไหม
“ถ้าเป็นอย่างที่ผมเข้าใจ คนซื้อกล้องในยุคนั้นกับยุคนี้มีความแตกต่างกันอยู่ เดี๋ยวนี้พอคนได้เห็นได้สัมผัสช่างภาพ เขาก็อยากจะเป็นช่างภาพ อยากออกมาทำงานอย่างช่างภาพบ้าง แต่ในยุคนั้นคนส่วนใหญ่ซื้อกล้องมาเพราะเขาอยากถ่ายวิวทิวทัศน์ ไม่ใช่ซื้ออุปกรณ์มาเพราะอยากเป็นช่างภาพ ซึ่งก็อาจจะมีบ้างแต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่รวมทั้งผมอยากได้กล้องสักตัวเพราะต้องการเอาไปบันทึกภาพเวลาไปเที่ยวเท่านั้นเอง ตอนที่ได้กล้องตัวแรกมาผมก็อยากจะเอาไปถ่ายวิวทิวทัศน์ เพราะแลนด์สเคปมันอยู่ในใจของเราอยู่แล้ว อยากไปเที่ยวแล้วก็ถ่ายภาพให้ออกมาสวย ๆ แค่นั้น หลังจากถ่ายวิวทิวทัศน์ได้สักระยะก็เริ่มขยับมาลองถ่ายคนกับเขาดูบ้าง”
และช่วงนั้นเองเป็นจังหวะที่กระแสการเล่น facebook เริ่มได้รับความนิยมในบ้านเรา จากภาพที่ทดลองถ่ายเล่นและถ่ายเพื่อพัฒนาฝีมือ จึงเริ่มมีคนเห็นแววของว่าที่ช่างภาพหน้าใหม่ผู้นี้
“มีคนเห็นภาพผลงานและเห็นว่าเราถ่ายคนได้ น่าจะลองรับงานถ่ายรับปริญญา ผมก็เลยลองดู.. พอได้ทำบ่อยขึ้นก็เริ่มมีพอร์ต (Portfolio) มากขึ้นตามลำดับ แต่ในช่วงแรกที่รับงานดูเหมือนคุณพ่อยังไม่ค่อยยอมรับสักเท่าไหร่ว่าการถ่ายภาพมันจะมั่นคงเป็นอาชีพได้เหรอ ผมก็เลยต้องทำงานประจำไปด้วย แต่ก็ทำอยู่ได้แค่สามปี รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยจะกระตือรือล้นกับงานประจำสักเท่าไหร่ มานั่งทบทวนดูว่าเราควรจะทำอะไร และจริง ๆ แล้วเราชอบอะไร คือมันคิดอยู่ในหัวหลายอย่างเหมือนคนคิดไม่ตก แต่พอดีว่าเป็นจังหวะที่งานถ่ายภาพก็มีเข้ามาเรื่อย ๆ เพราะยังแอบที่บ้านรับงานอยู่ตลอด (หัวเราะ) ซึ่งก็พอมีรายได้เข้ามาบ้าง จนเมื่อเวลาผ่านไป ทางบ้านเขาเห็นว่าเราอยู่ได้ก็เลยปล่อยให้เราได้ลองทำในสิ่งที่ชอบจริงๆ ดู”
ไปร์ท – บุญสิทธิ์ ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ถ่ายงานประเภทนี้อยู่เกือบสองปี ในขณะที่บางคนมองว่าเป็นงานซํ้าซากน่าเบื่อ แต่เขากลับสนุกในการมองหาลูกเล่นต่าง ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มสีสันให้กับผลงานของตัวเองอยู่เสมอ
“สมมุติเดือนหนึ่งผมมีงานถ่ายรับปริญญา 8-9 คน หากต้องถ่ายในสถานที่เดิมๆ ที่เดียว ผมก็จะพยายามหามุมมองใหม่ๆ ท่าโพสต์ใหม่ๆ หรือว่าแนวภาพใหม่ๆ เข้ามาช่วยเติมเต็ม ซึ่งอันนี้มันอยู่ที่ตัวช่างภาพว่าจะทำอย่างไรให้งานออกมาดูไม่จืดชืด ในส่วนของผมเสียงที่คนอื่นสะท้อนกลับมาช่วงเวลานั้นน่าจะเป็นเรื่องของเทคนิคแฟลชต่าง ๆ ที่นำมาใช้บ่อยจนกลายเป็นสไตล์อย่างที่หลายคนจดจำได้ และก็น่าจะเป็นจุดนี้ด้วยเหมือนกันที่ส่งผลสืบเนื่องมาถึงงานบางส่วนที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน”
มีโอกาสได้เข้ามาร่วมงานกับทาง Nikon School ในส่วนไหน อย่างไร
“ช่วงแรกที่เข้ามาก็ยังไม่ได้สอนนะครับ เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยวิทยากรก่อน หลังจากช่วยงานไปสักระยะทางผู้ที่รับผิดชอบก็เห็นว่าเราน่าจะทำได้ เลยมีโอกาสได้รับผิดชอบในส่วนของการสอนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ โดยในปัจจุบันจะแบ่งการอบรมออกเป็นคลาส ส่วนที่ผมรับหน้าที่วิทยากรเป็นประจำ อาทิ คลาสฟู้ด คลาสแพ็คช็อต คลาสแฟชั่น คลาสแลนด์สเคป และคลาสเบสิค ซึ่งหากมีคนมาถามว่าจริง ๆ แล้วผมชอบการถ่ายภาพประเภทไหน ก็ต้องตอบว่าชอบเกือบทุกประเภท ผมว่าภาพถ่ายแต่ละประเภทมีเสน่ห์ของมันอยู่ เวลาที่ถ่ายภาพในแต่ละประเภทเสร็จหรือจบงานนั้น ๆ ผมรู้สึกว่ามันได้เลเวลอัพ (Level up) เหมือนเราได้สกิล (Skill) เพิ่มขึ้นมา และขีดความสามารถบางอย่างมันสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานอีกอย่างได้เสมอ”
คุณมีวิธีหาองค์ความรู้หรือประสบการณ์ในเรื่องพวกนี้อย่างไร
“จากจุดเริ่มต้นที่ถ่ายงานรับปริญญา ค่อย ๆ ก้าวมาสู่งานเวดดิ้ง เมื่อได้ลองทำอยู่พักหนึ่งก็เริ่มมีความคิดว่าเดี๋ยวนี้คนหันมาถ่ายงานประเภทนี้กันเยอะขึ้น ทีนี้เราจะทำอย่างไรถึงจะแตกไลน์ของตัวเองเพื่อเพิ่มโอกาสในการรับงานให้หลากหลายขึ้น ก็เลยมองมาที่การถ่ายภาพแนวโปรดักส์ที่เราเห็นตามหนังสือว่าไอ้ที่สวยๆ เท่ๆ เขาถ่ายกันอย่างไร เมื่อเกิดความชอบเลยทำให้ตัวเองต้องศึกษาหาความรู้แล้วก็ทดลองฝึกฝนด้วยตัวเอง พอได้ทำบ่อยๆ จนเกิดทักษะ ก็เริ่มมีผลงานปรากฏออกมา สุดท้ายก็นำไปสู่การว่าจ้างให้ทำงานกัน”
กระบวนการทำงานของคุณเป็นอย่างไรสำหรับการถ่ายภาพ Still Life ที่เป็นสินค้าหรือวัตถุขึ้นมาสักชิ้น
“ขอย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 18 หรือก่อนหน้านั้น Still Life เริ่มมาจากการวาดภาพเหมือนของสิ่งที่เรามองเห็นตรงหน้า ยกตัวอย่างเอาแอปเปิ้ลมาวางบนโต๊ะลูกหนึ่ง แล้วก็ลองวาดมันขึ้นมา คือผู้วาดจะเห็นในสิ่งที่กำลังจะวาดได้ชัดเจนกว่า แต่ในงานของเรามันเป็นสิ่งที่ต้องครีเอทซีน (Scene) ขึ้นมา เราครีเอทจากสิ่งที่คิดว่าอยากจะถ่ายหรือครีเอทจากความต้องการของลูกค้า ฉะนั้นหากให้พูดถึงกระบวนการของการถ่ายภาพแนวนี้ก็ต้องเริ่มจากการสร้างภาพขึ้นมาในใจก่อนว่าเราอยากจะได้ภาพประมาณนี้ จริงแล้วการถ่าย Still Life ก็คือการถ่ายวัตถุสิ่งของที่อยู่บนโต๊ะ จัดฉากขึ้นมา จัดแสงขึ้นมา แล้วก็หาแมสเซส (Message) ที่เราอยากจะสื่อสาร”
คุณมีวิธีการดึงสิ่งที่อยากจะสื่อสารนั้นออกมาอย่างไร
“ในเชิงคอมเมอเชียล (Commercial) ที่เป็นงานประเภทโปรดักส์หรือแพ็คช็อต อันดับแรกต้องเข้าใจในเรื่องฟีเจอร์ (Feature) หรือฟังก์ชั่น (Function) บางอย่างที่เกี่ยวกับตัวสินค้าก่อน ด้วยความที่จบมาทางด้านมาร์เก็ตติ้งก็พอจะทำให้ผมเข้าใจอยู่บ้าง อาทิ ลูกค้าอยากจะเอาภาพไปใช้เกี่ยวกับอะไร ภาพนี้ใครจะเป็นคนเห็นบ้าง ช่วงอายุเท่าไหร่ รายได้แค่ไหน มันเป็นเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่ลูกค้าเขาอยากจะนำภาพของเราไปใช้ในการสื่อสาร นั่นคือในเรื่องการตลาด พอเราเข้าใจก็ต้องมานั่งคิดว่าภาพอะไรที่มันจะอิมแพ็ค (Impact) กับคนดูกลุ่มนั้น จริงๆ แล้วมันเหมือนเป็นการคาดเดาว่าเขาจะชอบอย่างไร แต่เป็นการคาดเดาที่เราได้ทำการบ้านมาในระดับหนึ่งแล้ว สรุปก็คือเริ่มต้นจากความต้องการของลูกค้า จากนั้นก็ครีเอทซีนที่เราคิดว่าเหมาะสมขึ้นมา”
กล้องถ่ายภาพที่เลือกใช้ในปัจจุบัน
“ผมเลือกใช้ Nilkon D850 นอกจากการจับถือที่ถนัดมือและฟังก์ชั่นต่าง ๆ ที่ตอบสนองทุกสภาพการใช้งานแล้ว ผมว่ามันเป็นบอดี้ที่ใช้ได้ทั้งแนวบู๊และบุ๊น หมายถึงถ้าเป็นงานระดับจริงจังในสไตล์คอมเมอเชียลหรืองานในสตูดิโอ ตัวนี้ทำงานได้สบายเลย หรือหากเป็นงานประเภทอีเวนต์ เวดดิ้ง หรืองานถ่ายที่ค่อนข้างเน้นจำนวนมันก็สามารถทำได้ดี ฟังก์ชั่นและเมนูต่าง ๆ ปรับตามรูปแบบการใช้งานได้หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องไฟล์ RAW ที่สามารถปรับเป็น RAW ได้ทั้งขนาด L, M และ S ให้เหมาะกับรูปแบบงานที่ต้องการ ข้อดีของ D850 ที่เหมาะสำหรับงาน Still Life คือขนาดไฟล์ที่ค่อนข้างใหญ่ RAW L ทำได้ถึงขนาด 45.7 ล้านพิกเซล ซึ่งแน่นอนว่าบางงานอาจไม่จำเป็นต้องใช้ความละเอียดถึงระดับนี้ แต่หากเป็นงานที่ต้องใช้ขึ้นมาต้องบอกเลยว่ามันคือจำเป็นมาก ๆ อีกจุดที่โดดเด่นคือเป็นกล้องที่มีค่า DR (Dynamic Range) ที่สูงมาก ทุกวันนี้ที่ถ่ายจะมีงานบางประเภทที่ค่อนข้างซีเรียส หากกล้องมีสเปคไม่สูงพออาจส่งผลทำให้เก็บค่า DR หรือ Color bits มาได้ไม่ครบ”
เลนส์ที่เลือกใช้สำหรับการถ่ายงานแนว Still Life
“ที่ผมเลือกใช้งานบ่อย ๆ เลยคือ AF-S NIKKOR 24-70mm f/2.8E ED VR กับ AF-S VR MICRO-NIKKOR 105mm f/2.8G IF-ED ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่ในแต่ละงานว่าเราเลือกใช้วิธีการถ่ายภาพแบบไหน คอมโพสต์ มุมมอง หรือคอนเซ็ปเป็นอย่างไร หากงานชิ้นไหนต้องการระยะที่เป็นเทเลฯสักหน่อย ผมจะนึกถึง 105mm เป็นตัวแรก แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องการความคล่องตัวสามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้ ก็จะเป็นตัว 24-70mm ผมว่ามันเป็นเลนส์ซูมที่ให้ความคมชัดสูงมาก เรียกได้ว่าคมพอ ๆ กับเลนส์ฟิกซ์เลยทีเดียว”
คุณดีเวลอป (Develop) หรือโปรเซส (Process) ไฟล์งานด้วยตัวเองหรือเปล่า
“โดยส่วนตัวผมคิดว่าคนที่ถ่ายกับคนที่โปรเซสน่าจะเป็นคนๆ เดียวกัน การที่เราถ่ายภาพมาสักภาพหนึ่ง บางครั้งมันอาจจะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องไฟนัลอิมเมจ (Final Image) ที่ต้องการมากนัก เราเองจะรู้ว่าการถ่ายมาแบบนี้จะต้องมาทำต่ออย่างไร”
โดยส่วนใหญ่คุณทำอะไรกับไฟล์งานของตัวเองบ้าง
“อันดับแรกที่ทำคือในส่วนของการปรับแสง-สีให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ต่อมาคือเรื่องของมู้ดแอนด์โทน (Mood and Tone) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการปรับสีของภาพเพียงอย่างเดียว จริง ๆ มู้ดแอนด์โทนมันมาตั้งแต่ตอนที่เราครีเอทขึ้นตอนแรก ถ้าพูดถึงความสำคัญในการคิดซีนขึ้นมาสักซีน ผมจะมองในเรื่องของมู้ดแอนด์โทนเป็นหลัก ผมเป็นคนที่ชอบถ่ายภาพแนว Still Life ให้ออกมาดูเรียบง่าย หรือที่บางคนเข้าใจว่าเป็นแนวมินิมอล (Minimal) ผมชอบความเรียบง่าย เน้นสีสัน เน้นมู้ดแอนด์โทนของแสงเงา”
มีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นกับการถ่ายภาพแขนงนี้อย่างไรบ้าง
“งานในแขนง Still Life จริง ๆ แล้วมันมีค่อนข้างหลายประเภทนะครับ อย่าง Found Still Life ก็เป็น Still Life เหมือนกัน แต่เป็นการถ่ายวัตถุหรือออบเจ็ค (Object) ทั่วๆ ไป ที่เราอาจพบเห็นตามข้างทาง อาทิ จักรยานคันหนึ่งจอดอยู่ริมถนน ก็ถือเป็นงานแนวนั้นได้เหมือนกัน แต่ถ้าเป็น Created Still Life จะเป็นงานที่เราปั้นซีนหรือสร้างมันขึ้นมา ขึ้นอยู่กับเราว่าชอบงานแบบไหน ผมมองว่าการถ่ายภาพแนว Still Life เป็นโจทย์ในการฝึกตัวเองที่ดีสำหรับผู้ที่เริ่มต้นการถ่ายภาพ ไม่ได้หมายความว่าถ่ายง่ายหรือถ่ายยากจนเกินไป จากประสบการณ์ที่ได้สอนในคลาสผมก็แนะนำว่าลองมาฝึกถ่ายภาพแนว Still Life ดูไหม ถ่ายของนิ่ง ๆ บนโต๊ะ ไม่ต้องไปสนใจหรือกังวลเรื่องการสื่อสารอะไร มีเวลาที่จะอยู่กับมันทั้งวัน ค่อย ๆ เรียนรู้เรื่องการจัดแสง ลองสังเกตมุมมองแบบต่าง ๆ ก้ม เงย นั่ง ยืน ลองดูหลาย ๆ ลักษณะที่ต่างระนาบกัน จะช่วยให้เราเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ไปได้เรื่อย ๆ”
ระหว่างการเป็นวิทยากรสอนถ่ายภาพกับการเป็นช่างภาพ คุณชอบสถานะไหนของตัวเองมากกว่ากัน
“เมื่อก่อนเราก็เป็นนักถ่ายภาพ พอวันหนึ่งขยับมาเป็นอาจารย์สอนคนอื่นบ้าง บทบาทมันก็เปลี่ยนไป เหมือนได้มองย้อนตัวเองว่าหากต้องการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งนี้ เราอยากจะรู้เรื่องอะไรบ้าง เราต้องการอะไร มันก็เลยทำให้พอที่จะเข้าใจว่านักเรียนเขาอยากจะรู้เรื่องอะไรบ้างจากเรา และอะไรที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับนักเรียน พอเปลี่ยนบทบาทจากคนที่เคยนั่งฟังมาเป็นคนพูดก็ต้องทำการบ้านเยอะขึ้น ข้อมูลเทคนิคอะไรต่างๆ ก็ต้องแน่นขึ้น กลายเป็นว่าเราเองก็ได้ฝึกฝนตัวเองไปด้วยในตัว”
วางแผนบนเส้นทางสายนี้ของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง
“ถ้าเป็นในเรื่องของการทำงาน จริงๆ อยากจะเรียนต่อ หรือศึกษาสิ่งต่างๆ ในแขนงที่เราสนใจให้มันลึกมากขึ้นไปอีก ทุกวันนี้หากมีงานบรรยายหรือมีการสอนที่ไหนที่น่าสนใจก็อยากจะไปเก็บเกี่ยวความรู้ อีกอย่างผมเป็นคนชอบเดินทาง หากมีโอกาสก็อยากจะทำงานที่ทำให้เราได้มีโอกาสเดินทางไปด้วย ได้เจออะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ผมเชื่อว่าประสบการที่ได้จากการเดินทางมันสามารถนำกลับมาใช้ในการทำงานและสร้างอะไรให้กับตัวเราได้อีกเยอะเชียวครับ”
บทสนทนาเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างเรา FOTOINFO PLUS กับเขา ไปร์ท – บุญสิทธิ์ รัตนจารีต อาจยังไม่ได้ดิ่งลึกลงไปถึงตะกอนแห่งจินตนาการและกระบวนคิด – วิธีทำงาน แต่ที่พอจะทำให้หลายคนคลายข้องใจใน “ผลลัพธ์ที่ไม่เคยเท่ากับความธรรมดา” ของชายนักถ่ายภาพผู้นี้ คือบทสรุปรวบยอดอันควรเชื่อได้ว่า..
“ในโลกของการถ่ายภาพ พรแสวงมีค่ายิ่งกว่าพรสวรรค์”
โดย ชวลิต แสงอินทร์
อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^
หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)
? ขอบคุณครับ
ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus
หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่