Basic Photography

White Balance รู้เพื่อใช้ให้เป็น

White Balance คืออะไร

      ผมเชื่อว่าปัญหาที่ช่างภาพทุกคนต้องเจอกันอยู่เสมอคือ ถ่ายมาแล้วภาพมีสีเพี้ยน อมฟ้า อมเหลือง ทั้งนี้เป็นเพราะแสงในธรรมชาติช่วงเวลาต่างกัน เช่น แสงแดดช่วงกลางวัน แสงแดดช่วงเย็น แสงที่กระเจิงจากเมฆครึ้ม แสงที่ผ่านชายคาบ้าน จะให้อุณหภูมิสีที่แตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อภาพถ่าย ส่วนแสงประดิษฐ์ทั้งหลายเช่น หลอดไฟทังสเตน หลอดฟลูออเรสเซนต์ แฟลช  แสงเหล่านี้ก็ให้อุณหภูมิสีที่แตกต่างเช่นกัน การเลือกใช้ไวท์บาลานซ์ที่ไม่เหมาะสมกับแสงนั้นๆ จึงอาจทำให้สีของภาพผิดเพี้ยนได้

ในการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม ช่างภาพจึงมีความยุ่งยากอย่างมากในการจัดการกับอุณหภูมิสีที่แตกต่าง เช่น หากใช้ฟิล์ม Daylight แล้วใช้กับแสงทังสเตน สีของภาพก็จะอมเหลืองอย่างมาก ต้องใส่ฟิลเตอร์สีฟ้าเพื่อแก้สีให้ถูกต้อง ถ่ายกับแสงใต้ชายคาบ้านก็ต้องใช้ฟิลเตอร์สีชา ถ้าใช้กับแสงฟลูออเรสเซนต์ก็ต้องใช้ฟิลเตอร์อีกโทนสีนึง เป็นต้น

White Balance หรือสมดุลแสงสีขาวเป็นฟังก์ชันการทำงานหนึ่งของกล้องดิจิตอลที่จะช่วยทำให้ภาพมีสีสันถูกต้องไม่อมฟ้า ไม่อมเหลือง หรือจะใช้เพื่อให้ภาพมีโทนสีอย่างที่ช่างภาพต้องการก็ได้(โดยไม่สนใจความถูกต้องของสีสัน) โดยสามารถปรับอุณหภูมิสีให้เหมาะสมกับสภาพแสง เพื่อทำให้สีขาวในภาพเป็นสีขาวบริสุทธิ์ ไม่อมฟ้า ไม่อมเหลือง  เมื่อสีขาวไม่เพี้ยน สีอื่นๆ ในภาพก็จะไม่เพี้ยนเช่นกัน

White Balance (WB) แบ่งการใช้งานเป็น 4 รูปแบบด้วยกันเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะภาพที่ถ่าย หรือเหมาะกับงานแต่ละประเภท และเหมาะกับความถนัดของช่างภาพแต่ละคนที่อาจมี Skill ต่างกัน  คือ ระบบปรับสมดุลสีขาวอัตโนมัติ Auto White Balance (AWB) , ระบบเลือกอุณหภูมิสีตามชนิดแสง (Preset WB) , ระบบตั้งค่าอุณหภูมิสีเอง (Kelvin) และระบบปรับสมดุลสีขาวด้วยตนเอง (Custom WB / Manual WB)

4 ระบบนี้ต่างกันอย่างไร มาดูกันครับ

1. ระบบปรับสมดุลสีขาวอัตโนมัติ Auto White Balance (AWB) 

หลักการทำงานก็คือระบบนี้คือจะตรวจวัดอุณหภูมิสีของแสงในภาพนั้นๆ โดยวิเคราะห์จากสีขาวในภาพ (เช่น สีขาวอมฟ้า อมเหลือง) จากนั้นก็จะปรับแก้ด้วยการปรับอุณหภูมิสีของการประมวลผลภาพให้เหมาะกับอุณหภูมิสีของแสงที่เราใช้ถ่ายภาพ สีขาวที่อมฟ้า อมเหลือง ก็จะกลับมาเป็นสีขาวบริสุทธิ์ ระบบ AWB สามารถใช้งานกับสภาพแสงได้หลากหลาย และด้วยการพัฒนาของกล้องดิจิตอลในปัจจุบันที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้ระบบนี้มีความเที่ยงตรงดีขึ้น คุณสามารถใช้งานเป็นระบบ White Balance หลักได้เลย

ข้อดีของระบบ AWB :สะดวก รวดเร็ว คล่องตัว เพราะไม่ต้องเสียเวลาปรับเปลี่ยน White Balance ตามแหล่งกำเนิดแสงที่เปลี่ยนไป

ข้อเสียของระบบ AWB : ยังมีข้อจำกัดกับแสงจากหลอดไฟแบบทังสเตน สียังอมเหลืองอยู่เพราะระบบจะไม่สามารถปรับอุณหภูมิสีในการทำงานลงต่ำกว่า 3200 Kelvin  และอาจมีปัญหากับวัตถุที่มีโทนสีแตกต่างกัน บางครั้งในสภาพแสงเดียวกัน ถ่ายจากจุดเดียวกัน แค่เปลี่ยนวัตถุที่มีสีต่างกัน ระบบอาจเปลี่ยนอุณหภูมิสีในการประมวลผลให้เลย ซึ่งจะทำให้โทนสีต่างจากภาพก่อนหน้าที่ถ่ายจากจุดเดียวกัน ที่เรียกกันว่า สีดิ้น

 

2. ระบบเลือกอุณหภูมิสีตามชนิดแสง (Preset WB)

ระบบนี้จะแสดงสัญญลักษณ์ด้วยกราฟฟิครูปภาพเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย เช่น รูปดวงอาทิตย์ ก้อนเมฆ ชายคาบ้าน หลอดไฟ หลอดฟลูออเรสเซนต์ สายฟ้า(แฟลช) เป็นต้น  หลักการง่ายๆ ของระบบนี้คือ กล้องจะปรับอุณหภูมิสีในการประมวลผลของกล้องให้ตรงกับแหล่งกำเนิดแสงนั้นๆ แบบใช้ค่าตายตัว เพื่อให้ภาพมีสีสันถูกต้อง ผู้ใช้ก็เพียงแค่เลือกรูปภาพให้ตรงกับแสงที่คุณใช้งานในขณะนั้น

แสงกลางวัน(Daylight) เมื่อถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติในเวลากลางวันให้ตั้งไว้ที่รูปดวงอาทิตย์ กล้องจะปรับอุณหภูมิสีไว้ที่ประมาณ 5500 เคลวิน ซึ่งเป็นอุณหภูมิสีของแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวัน

 

เมฆครึ้ม (Cloudy) แสดงด้วยรูปก้อนเมฆ ซึ่งแสงในวันที่มีเมฆมากนั้นมักจะทำให้ภาพมีสีอมฟ้า การปรับไว้ที่รูปก้อนเมฆภาพจะมีสีอุ่นขึ้น จึงไม่อมฟ้า สีสันโดยรวมจึงดูสดใสขึ้น กล้องจะปรับอุณหภูมิสีไว้ที่ประมาณ 6000 เคลวิน

 

ชายคาบ้าน (Shade) แสดงด้วยรูปชายคาบ้าน เหมาะกับแสงที่อยู่ในเงาร่มจากชายคาบ้าน หลังคา ซึ่งจะให้ภาพสีอมฟ้าเสมอเมื่อใช้ระบบ Auto White Balance การปรับไว้ที่รูปชายคาบ้านภาพจะมีสีอุ่นขึ้น ถูกต้องกว่า ให้สีสดใสขึ้น โดยกล้องจะปรับอุณหภูมิสีไว้ที่ประมาณ 7000-8000 เคลวิน

 

หลอดทังสเตน (Tungsten / Incandescent) แสดงด้วยรูปหลอดไฟ ออกแบบให้ใช้กับแสงจากหลอดไส้แบบทังสเตนเพื่อให้ได้สีที่ถูกต้อง ไม่อมเหลือง โดยกล้องจะปรับอุณหภูมิสีไว้ที่ประมาณ 3200-3400 เคลวิน

 

หลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent) แสดงด้วยรูปหลอดแนวยาว ออกแบบให้ใช้กับแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์(ที่เราชอบเรียกกันว่าหลอดนีออน) เพื่อให้ภาพไม่อมเขียว แต่กล้องในปัจจุบันจะปรับเลือกชนิดหลอดได้ 2-3 แบบ คือ หลอดแบบสีอุ่น(Warm White) และสีเย็น(Cool White) โดยกล้องจะปรับอุณหภูมิสีไว้ที่ประมาณ 4200-4500 เคลวินสำหรับหลอดแบบสีอุ่น(Warm White) และ 6500-7000 เคลวินสำหรับหลอดแบบสีเย็น(Cool White)

 

แฟลช (Flash) ออกแบบให้ใช้งานกับแฟลชโดยกล้องจะปรับอุณหภูมิสีไว้ที่ประมาณ 5500 เคลวิน

ข้อดีของระบบ Preset :  สะดวก ใช้ง่าย เหมาะกับสภาพแสงที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ไม่ใช่แสงผสม

ข้อเสียของระบบ Preset : ค่าอุณหภูมิสีตายตัวตามที่กล้องเซ็ทมา ดังนั้นสีของภาพก็อาจไม่เที่ยงตรงมากนัก เช่น แบบทังสเตนจะตั้งไว้ประมาณ 3200K แต่หลอดทังสเตนมีหลายสีมากตั้งแต่อุณหภูมิสีที่ 2500K จนถึง 3300K สีของภาพจึงยังอมเหลืองได้

 

3.ระบบตั้งค่าอุณหภูมิสีเอง (Kelvin หรือตัวย่อ K)

ระบบนี้คุณจะต้องเลือกค่าอุณหภูมิสีด้วยตัวเองโดยมีหน่วยเป็น Kelvin หรือ K สามารถปรับค่าได้ตั้งแต่ 2500-10000 เคลวิน  โดยค่าแสงเดย์ไลท์จะอยู่ที่ 5500K หากปรับต่ำลงภาพก็จะอมฟ้ามากขึ้น หากปรับสูงขึ้นภาพก็จะอุ่นมากขึ้น อมเหลืองมากขึ้นตามลำดับ เป็นระบบที่มืออาชีพใช้กันมากทั้งการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอเพราะปรับได้ละเอียด จึงได้สีที่แม่นยำตามที่ช่างภาพต้องการ และหากไม่เปลี่ยนสภาพแสง ภาพที่บันทึกทั้งหมดจะมีสีเหมือนกัน จึงสะดวกต่อการทำไฟล์  สำหรับมือใหม่แนะนำให้เปิด Live View(หากเป็นกล้อง DSLR) แล้วดูสีจากหน้าจอเลย ส่วนกล้อง Mirrorless แนะนำให้ปรับแล้วดูผลจากช่องมองภาพ EVF จะแน่นอนกว่า การใช้งานไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่มือใหม่กลัว คุณไม่จำเป็นต้องรู้ว่าแสงแบบใดมีอุณหภูมิสีเท่าใด เพียงดูจากหน้าจอให้ได้สีอย่างที่ต้องการก็พอ

ข้อดีของระบบ Kelvin :  ละเอียด แม่นยำ เลือกโทนสีภาพได้ดังใจ

ข้อเสียของระบบ Kelvin : ช้าและยุ่งยากกว่าบ้าง ไม่เหมาะกับสภาพแสงที่เปลี่ยนบ่อยๆ

 

4. ระบบปรับสมดุลสีขาวด้วยตนเอง (Custom WB / Manual WB)

เป็นระบบที่คุณจะต้องคาลิเบตสีขาวด้วยตัวเอง ระบบนี้ให้ความเที่ยงตรงสูงสุด เหมาะกับงานที่เน้นความถูกต้องของสีมากๆ เช่น การถ่ายสินค้า โดยคุณจะต้องปรับระบบ White Balance ไปที่ไอคอนของระบบนี้ จากนั้นนำกระดาษขาวไปวางด้านหน้าวัตถุที่คุณต้องการถ่าย ให้กระดาษขาวอยู่เต็มเฟรมที่แสดงไว้บนหน้าจอ จากนั้นกล้องจะแจ้งให้คุณกดปุ่มลั่นชัตเตอร์(หรือบางรุ่นใช้เป็นกด ปุ่ม Set) เพื่อให้ระบบคาลิเบทกระดาษสีขาวที่อาจจะอมฟ้า อมเหลือง ให้กลับมาเป็นสีขาวบริสุทธิ์  คุณก็สามารถใช้ค่านั้นถ่ายภาพในสภาพแสงตรงนั้นได้เลย แต่ถ้าเปลี่ยนจุดถ่าย เปลี่ยนแสงคุณจะต้องคาลิเบทใหม่ทุกครั้ง

ข้อดีของระบบ Custom WB :  แม่นยำที่สุด

ข้อเสียของระบบ Custom WB : ช้าและยุ่งยาก หากเปลี่ยนแสงต้องคาลิเบทใหม่

 

ในการใช้งานสำหรับมือใหม่แนะนำว่า ..ชีวิตไม่ควรลำบาก ใช้เป็นระบบ Auto White Balance (AWB) เป็นหลักได้เลย จนกว่าคุณจะพบปัญหาเรื่องสีเพี้ยน อมฟ้า อมเหลืองจึงค่อยแก้ไขปรับเปลี่ยน หรือเมื่อต้องการภาพที่มีโทนสีอุ่น สีเย็น มากกว่าที่กล้องเลือกให้จึงค่อยปรับครับ

Writer : อิสระ เสมือนโพธิ์