แสงแต่ละชนิด มีอุณหภูมิสีไม่เท่ากัน แสงอาทิตย์ช่วงกลางวันมีอุณหภูมิสีค่านึง แสงอาทิตย์ช่วงเย็นก็มีอุณหภูมิสีค่านึง แสงจากหลอดไฟทังสเตน หลอดฟลูเรสเซนต์ก็อีกค่านึง นั่นทำให้สีของภาพมีโทนสีอุ่น สีเย็นแตกต่างกัน White Balance หรือสมดุลแสงขาวเป็นระบบการทำงานของกล้องในการปรับอุณหภูมิสีให้เหมาะสมกับสภาพแสงที่ใช้ในการถ่ายภาพ หรือให้ได้โทนสีตามที่ช่างภาพต้องการ
การทำงานของระบบ White Balance ก็เป็นไปตามชื่อของมัน โดยในระบบปรับ White Balance แบบอัตโนมัติ ระบบจะวิเคราะห์สีขาวจากสภาพแสงนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นแสงจากหลอดทังสเตน สีขาวก็จะอมเหลือง กล้องจะปรับสีขาวให้เป็นสีขาวบริสุทธิ์ ไม่อมเหลือง และถ้าสีขาวถูกต้อง สีอื่นๆ ในภาพก็จะถูกต้องด้วย
ระบบ White Balance มีให้เลือกใช้หลายแบบ ตามความต้องการของช่างภาพ ดังนี้คือ ระบบปรับสมดุลแสงขาวอัตโนมัติ หรือ Auto White Balance (AWB) , ระบบปรับเลือกตามชนิดของแสง (Preset WB) , ระบบเลือกค่าอุณหภูมิสีเอง (Kelvin WB) , ระบบแมนนวล (Manual WB / Custom WB) แต่บนหน้าเมนูคุณจะเห็นสัญญลักษณ์รูป ดวงอาทิตย์ ก้อนเมฆ ชายคาบ้าน หลอดไฟทังสเตน หลอดฟลูเรสเซนต์ แฟลช ซึ่งกลุ่มนี้จะอยู่ในกลุ่มระบบ Preset WB ครับ ลองมาดูรายละเอียด ข้อดีและข้อจำกัดแต่ละระบบกันเลยครับ
Auto White Balance (AWB)
ระบบนี้กล้องจะปรับอุณหภูมิสีให้เหมาะกับแหล่งกำเนิดแสงโดยอัตโนมัติ ผู้ใช้ไม่ต้องปรับตั้งอะไรใหม่เมื่อเปลี่ยนมุม เปลี่ยนแสง เช่น จากกลางแจ้งแสงกลางวันมาเป็นในร่มใต้ชายคา หรือถ่ายในบ้านด้วยแสงทังสเตน กล้องจะปรับให้สีถูกต้อง ไม่อมฟ้า ไม่อมเหลือง จึงสะดวกคล่องตัวมาก ระบบนี้ในกล้องรุ่นใหม่ๆ จะมีความเที่ยงตรงดี สามารถใช้เป็นระบบหลักในการถ่ายภาพแบบจริงจังได้เลย แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างเมื่อใช้กับแสงจากหลอดทังสเตน ภาพจะยังอมเหลืองอยู่เพราะระบบจะทำงานได้ดีกับแสงที่มีอุณหภูมิแสงตั้งแต่ 3400-7500 Kelvin แต่หลอดทังสเตนมีอุณหภูมิสีต่ำกว่า 3400K ภาพจึงอมเหลืองเสมอเพราะเกินขอบเขตการทำงาน ดังนั้นถ้าคุณถ่ายภาพด้วยแสงทังสเตนแล้วต้องการสีที่ถูกต้อง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ระบบ Auto White Balance
ในกล้องรุ่นใหม่ๆ ระบบ Auto White Balance จะสามารถปรับเลือกได้ 2 แบบ คือ AWB และ AWB (White) โดยเมื่อต้องการสีที่เน้นขาวมากหน่อยเมื่อใช้กับแสงผสม หรือกับแสงทังสเตน ก็ตั้งไว้ที่ AWB (White) และในกล้องบางยี่ห้อจะมีระบบ AWB ที่ออกแบบมาสำหรับถ่ายภาพใต้น้ำโดยจะลดสีฟ้าได้มากเป็นพิเศษทำให้ภาพใต้น้ำมีสีสันสวยงามกว่า
ระบบ Preset
เป็นระบบที่กล้องจะตั้งอุณหภูมิสีให้ตรงกับแสงรูปแบบต่างที่เราพบเจอได้บ่อยๆ ในการถ่ายภาพ โดยกล้องจะปรับเป็นค่าตายตัวไว้ แล้วแสดงด้วยสัญญลักษณ์เป็นรูปภาพที่ดูเข้าใจง่าย ผู้ใช้เพียงแค่เลือกให้ตรงกับชนิดของแสงที่ใช้ถ่ายภาพนั้นอยู่ เช่น ใช้รูปดวงอาทิตย์เมื่อถ่ายภาพด้วยแสงอาทิตย์ตอนกลางวัน ใช้รูปหลอดไฟเมื่อถ่ายด้วยแสงทังสเตนเป็นต้น ภาพจะมีสีสันถูกต้องโดยการใช้งานไม่ได้ยุ่งยากอะไร
Daylight แสดงด้วยรูปดวงอาทิตย์ ใช้เมื่อคุณถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติ(แสงอาทิตย์) ในช่วงกลางวัน กล้องจะตั้งอุณหภูมิสีไว้ที่ 5500K (Kelvin) หากถ่ายด้วยแสงธรรมชาตินอกสถานที่ในวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง คุณจะได้สีที่ถูกต้อง แต่ในการใช้กับแสงใต้ชายคาภาพจะอมฟ้า และเมื่อถ่ายด้วยแสงทังสเตนภาพจะเหลืองมาก
Shade แสดงด้วยรูปบ้าน ใช้เมื่อคุณถ่ายภาพบุคคลหรือวัตถุที่อยู่ใต้ร่มเงาของชายคาบ้าน หรือจากแสงหน้าต่างในบ้าน ซึ่งแสงชนิดนี้จะมีสีอมฟ้าทำให้ภาพโดยรวมผิดเพี้ยนอมฟ้าได้แม้ใช้ Auto White Balance ถ้าพบว่าสีอมฟ้าให้เปลี่ยนมาใช้ที่ Shade ได้เลยครับ กล้องจะตั้งอุณหภูมิสีไว้ที่ประมาณ 7000-7500K
Cloudy แสดงด้วยรูปก้อนเมฆ ใช้เมื่อคุณถ่ายภาพในวันที่มีเมฆครึ้ม เพื่อให้ภาพไม่อมฟ้า มีสีสันสดใสขึ้น จริงๆ แล้วระบบ Auto White Balance จะจัดการกับแสงที่วันที่ท้องฟ้าครึ้มได้ดีโดยไม่จำเป็นต้องใช้ระบบนี้ แต่ก็มีบางสถานการณ์และบางสภาพฉากที่การทำงานของระบบ Auto White Balance อาจผิดพลาด สีอาจอมฟ้าได้ ถ้าพบว่าภาพอมฟ้าหรือดูสีตุ่นๆ ก็ปรับมาที่ Cloudy ได้เลย ระบบนี้กล้องจะตั้งอุณหภูมิสีไว้ที่ 6000-6500K
Tungsten หรือ Incandescent แสดงด้วยรูปหลอดไฟแบบกลม ใช้เมื่อคุณถ่ายภาพด้วยแสงจากหลอดทังสเตน(แสงสีเหลือง) การตั้งไว้ที่ Tungsten จะทำให้ได้สีถูกต้องกว่า Auto White Balance เสมอเมื่อถ่ายด้วยแสงชนิดนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าสีจะถูกต้องเสมอไปเพราะหลอดทังสเตนมีหลายแบบ มีอุณหภูมิสีตั้งแต่ 2500-3300K สีจึงอาจอมเหลืองได้ เพราะโดยมากระบบนี้จะตั้งอุณหภูมิสีไว้ที่ 3000-3300K
Fluorescent แสดงด้วยรูปหลอดไฟยาว ใช้เมื่อคุณถ่ายภาพด้วยแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ภาพจะมีสีสันถูกต้องแต่เนื่องจากหลอดฟลูออเรสเซนต์จะมีหลายรูปแบบ เช่น Cool Light , Warm Light ระบบนี้จึงมักจะออกแบบให้ผู้ใช้เลือกแสงขาว แสงอุ่น ได้ คุณต้องเลือกให้ตรงก่อนเพราะสีแตกต่างกันชัดเจนมาก ระบบนี้เหมาะกับการใช้กับสถานที่หลายๆ แห่งที่ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ผสมกันระหว่างหลอดขาวกับหลอดสีอุ่น เพราะการใช้ระบบ Auto White Balance สีมักจะเพี้ยน (แต่ถ้าเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ทั่วไปเพียงสีเดียวไม่ใช้ผสมจะไม่มีปัญหากับระบบ Auto White Balance แต่อย่างใด) กล้องจะตั้งอุณหภูมิสีไว้ที่ประมาณ 4000-5000K ภาพด้านบนถ่ายในสภาพแสงที่ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบ Warm กับแบบ white เรียงเป็นแนวบนเพดานทำให้การทำงานของระบบ Auto White Balance มั่วมาก ภาพเหลืองจนผมรับไม่ได้ ต้องเปลี่ยนมาใช้ที่ Fluorescent (Warm) แทน
Flash แสดงด้วยรูปสายฟ้า ใช้เมื่อคุณถ่ายภาพด้วยแฟลช กล้องจะตั้งอุณหภูมิสีไว้ที่ 5000-5500K โดยเมื่อใช้แฟลชแล้วคุณใช้ระบบ Auto White Balance ปัญหาจะเกิดเมื่อแฟลชตัวนั้นไม่ได้ออกแบบมาสำหรับกล้องยี่ห้อนั้น หรือเมื่อใช้กับแฟลชสตูดิโอ เพราะเมื่อกล้องตรวจจับแสงตามสภาพแล้วเป็นแสงจากหลอดทังสเตนมันจะลดอุณหภูมิสีให้ทั้งๆ ที่คุณจะใช้แฟลชถ่าย ภาพจึงอมฟ้าได้ แต่ถ้าใช้แฟลชเฉพาะกิจกล้องจะรู้โดยอัตโนมัติว่าจะใช้แฟลชถ่ายจึงไม่มีปัญหากับ Auto White Balance
ระบบ KELVIN
เป็นระบบที่ผู้ใช้ตั้งอุณหภูมิสีด้วยตนเองอย่างละเอียด โดยปรับขั้นละ 100K และจะปรับค่าได้ตั้งแต่ 2500K-10000K ทำให้สามารถเลือกโทนสีได้ละเอียดอย่างยิ่ง เพียงแต่ผู้ใช้จะต้องมีทักษะในการดูภาพว่าค่าที่เลือกนั้นสีตรงที่สุดหรือยัง ระบบนี้เมื่อก่อนจะใช้ค่อนข้างยากโดยเฉพาะกับมือใหม่ แต่ปัจจุบันกล้อง Mirrorless สามารถแสดงค่าแสงและสีของภาพได้เที่ยงตรงมาก การใช้ระบบเคลวินจึงไม่ยากแม้กับมือใหม่ เพียงแค่ปรับแล้วดูสีบนภาพว่าได้ตามที่ต้องการหรือยัง ถ้าได้ก็หยุดปรับแล้วใช้ค่านั้นถ่ายภาพได้เลย แต่ปัญหาที่มักพบคือแสงรบกวนจากสภาพแวดล้อมทำให้การดูสีผิดพลาดได้ ควรมองภาพจากช่องมอง EVF แล้วปรับจะดีกว่า ข้อจำกัดอีกเรื่องคือ การใช้งานค่อนข้างช้าหากคุณเปลี่ยนมุม เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนแสงบ่อยๆ จะเสียเวลาในการปรับตั้ง แต่ข้อดีของระบบ Kelvin คือปรับได้ละเอียด เลือกโทนสีอย่างที่คุณต้องการได้
ระบบ Custom
เป็นระบบที่แม่นยำที่สุดและให้สีถูกต้องที่สุดเพราะเป็นการคาลิเบตสีขาวจากตำแหน่งซับเจกต์โดยตรง การใช้งานค่อนข้างยุ่งยากสักหน่อยโดยใช้กระดาษสีขาวหรือแผ่นสีขาวที่ทำมาเพื่อการคาลิเบต WB โดยเฉพาะ เล็งกล้องไปที่กระดาษขาวโดยให้เฟรมของพื้นที่คาลิเบตเป็นกระดาษขาวทั้งหมดแล้วกดปุ่ม SET (กล้องบางรุ่นให้กดปุ่มลั่นชัตเตอร์) ระบบก็จะทำการคาลิเบตให้สีขาวเป็นสีขาวบริสุทธ์ ความโดดเด่นของระบบนี้คือ กล้องบางค่ายนอกจากจะปรับอุณหภูมิสีที่ถูกต้องให้แล้วยังปรับ WB Shift ให้อีกด้วยหากมีแสงสีอื่นๆ เข้ามาในจุดที่คาลิเบต จึงให้ความเที่ยงตรงสูง และในกล้องรุ่นสูงๆ จะสามารถบันทึกค่าการคาลิเบตกับแสงต่างๆ ไว้ได้ถึง 3 ช่อง (เมื่อใช้กับแสงเดิมจะได้ไม่ต้องคาลิเบตใหม่ทุกครั้ง)
ข้อจำกัดในการใช้งานคือ ช้าและเสียเวลา หากเปลี่ยนชนิดของแสงใหม่ก็ต้องคาลิเบตใหม่ จึงไม่เหมาะกับการใช้งานทั่วไป แต่เหมาะกับงานที่พิถีพิถันเรื่องความถูกต้องของสี เช่น การถ่ายภาพสินค้า
WB Shift
จริงๆ แล้ว WB Shift ไม่ใช่การปรับตั้ง White Balance แต่อย่างใด ระบบนี้เป็นการปรับโทนสีของภาพเพื่อแก้ไขสีสันในภาพโดยปรับชิพท์โทนสีของภาพไปตามบาร์สีที่แสดงไว้ การปรับไปทางสีใดระบบจะเพิ่มโทนสีนั้นในภาพ วิธีการใช้งานก็คือปรับไปโทนสีตรงข้ามกับสีที่เพี้ยน เช่น ถ้าภาพอมเขียวแล้วแก้จากการปรับ White Balance ปกติไม่ได้ก็ใช้ WB Shift ปรับไปทางคู่สีตรงข้ามก็คือแดง เพื่อลดสีเขียวในภาพ ระบบนี้จะใช้งานเมื่อแสงที่ตกยังซับเจกต์มีโทนสีที่ไม่สามารถแก้ด้วย White Balance ได้ เช่น คุณถ่ายตัวแบบที่อยู่ใต้สแลนกรองแสงสีเขียว ใบหน้าคนก็จะอมเขียวและแก้ด้วย White Balance ได้ไม่หมด ต้องใช้ WB Shift ช่วย แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ใช้แล้วอย่าลืมตั้งค่ากลับมาที่ตรงกลางตำแหน่ง 0 ด้วย ไม่เช่นนั้นภาพต่อๆ ไปสีจะเพี้ยน
เรื่องน่ารู้
1. ในการใช้งานที่ต้องการความคล่องตัว แนะนำให้ใช้ระบบ Auto White Balance (AWB) เลยครับ เพราะระบบนี้ในกล้องรุ่นใหม่ๆ ทำงานได้ดี น่าพอใจ ความผิดพลาดมีบ้างแต่น้อย สามารถใช้กับงานจริงจังได้ จนกว่าจะพบปัญหาเรื่องสีที่ไม่ได้ดังใจในบางสถานการณ์จึงค่อยเปลี่ยนไปใช้ White Balance แบบอื่น
2. ควรคาลิเบตแสงที่คุณใช้บ่อยๆ ด้วยระบบ Custom แล้ว Save เก็บไว้เป็นช่องๆ เพื่อให้เรียกใช้ได้สะดวกเมื่อต้องถ่ายด้วยแสงชนิดนั้นอีก มันจะช่วยให้การสับเปลี่ยนรูปแบบแสงบ่อยๆ เช่น จากกลางแจ้งไปในห้องที่เป็นแสงทังสเตนบ้าง ฟลูออเรสเซนต์บ้าง จะทำได้เร็วและได้สีสันถูกต้อง
3. White Balance ใช้ในการปรับแก้สีสันของภาพจากอุณหภูมิสีเท่านั้น (โทนเหลืองไปโทนขาวและไปโทนฟ้า) ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสด ความอิ่มตัวของสี การปรับคาแรกเตอร์ของสีต้องใช้ระบบ Picture Style (Canon) , Picture Control (Nikon) , Creative Style (Sony) , Film Simulation (Fujifilm) ของกล้อง
4. เมื่อพบปัญหาเรื่องสีเปลี่ยนไปมา อมฟ้าบ้าง ตรงบ้าง สีอุ่นบ้าง จากการเปลี่ยนมุมกล้อง เปลี่ยนขนาดภาพเมื่อใช้ Auto White Balance (AWB) ควรเปลี่ยนไปใช้ระบบอื่นแทน เช่น Kelvin
เรื่อง : อิสระ เสมือนโพธิ์