รูรับแสงเป็นหนึ่งในสามสิ่งที่ใช้ในการควบคุมค่าแสงของภาพ ซึ่งอีก 2 สิ่งคือ ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed) และความไวแสง (ISO) รูรับแสงจึงมีความสำคัญอย่างมากในการถ่ายภาพ เพราะนอกจากจะใช้ควบคุมปริมาณแสงแล้ว การปรับเปลี่ยนขนาดรูรับแสงยังมีผลต่อภาพในอีกหลายเรื่องด้วยกัน
เลนส์แทบทุกตัวจะมีรูรับแสงอยู่ภายในตัวเลนส์ โดยมักจะวางไว้ใกล้ตำแหน่งชิ้นเลนส์ที่เล็กที่สุดในเลนส์ เพื่อให้ออกแบบให้ชุดกลไกของไดอะแฟรมให้เล็กได้ ไดอะแฟรมเป็นกลีบโลหะเรียงซ้อนกัน 7-9 ใบ สามารถปรับให้ขนาดรูจากกลีบไดอะแฟรมเปิดกว้างหรือหรี่เล็กลงได้ เราเรียกรูที่ปล่อยแสงผ่านจากเลนส์นี้ว่า รูรับแสง โดยเราสามารถปรับขนาดรูรับแสงที่ต้องการได้จากที่กล้อง(หรือที่เลนส์) ระบบที่ควบคุมการทำงานของรูรับแสงก็จะสั่งให้ไดอะแฟรมหรี่ตามขนาดเอฟสตอปที่เราปรับตั้ง
รูรับแสงใช้ในการควบคุมปริมาณแสงที่จะผ่านจากเลนส์ไปยังเซ็นเซอร์รับภาพ โดยจะแสดงค่าด้วยตัวเลขที่เราเรียกกันว่า F Number เช่น f/1.4, f/2, f/2.8, f/4, f/5.6, f/8, f/11, f/16, f/22 ตัวเลขน้อยกว่าหมายความว่าขนาดรูรับแสงจะใหญ่กว่า แสงจะผ่านเข้าไปได้มากกว่า ภาพจะมีความชัดลึกน้อยหรือที่เราเรียกกันว่า ชัดตื้น ตัวเลขมากคือรูรับแสงแคบ ขนาดรูของไดอะแฟรมจะเล็ก ความชัดลึกจะสูง เราเรียกกันว่า ชัดลึก เช่น f/2.8 รูรับแสงจะกว้างกว่า f/4, f/5.6 รูรับแสงจะกว้างกว่า f/8 เป็นต้น โดยแต่ละค่าที่แสดงข้างต้น ความแตกต่างของแสงจะเป็นขั้นละ 1 สตอป(stop) f/1.4 แสงจะผ่านเข้าไปที่เซ็นเซอร์รับภาพมากกว่า f/4 อยู่ 3 สตอป
F Number คือรูรับแสงสัมพัทธ์ สิ่งที่น่ารู้ก็คือหากเป็น F Number เดียวกัน แสงจะผ่านจากเลนส์ไปยังเซ็นเซอร์รับภาพเท่ากันเสมอ เช่น f/2.8 จากเลนส์ 400mm f/2.8 ที่มีขนาดเลนส์ใหญ่มาก ชิ้นเลนส์ด้านหน้ากว้างถึง 15 ซม. แสงก็ผ่านได้เท่ากับเลนส์ 35mm f/2.8 ที่มีขนาดเลนส์ชิ้นหน้าเพียง 1.0 ซม. และไม่ว่าจะเป็นกล้องฟอร์แมตใด ค่าแสงจาก F Number เดียวกัน จะมีความเข้มแสงที่ตกบนเซ็นเซอร์รับภาพเท่ากันเสมอ
ความชัดลึกคืออะไร
ความชัดลึกคือช่วงความชัดของภาพที่นับจากจุดโฟกัสออกมาด้านหน้าของจุดโฟกัสและด้านหลังของจุดโฟกัส เช่น คุณถ่ายภาพคนเต็มตัว เมื่อเปิด f/2.8 ความชัดลึกครอบคลุมมาด้านหน้าจุดที่โฟกัส 10 ซม. ด้านหลังจุดโฟกัส 20 ซม. นั่นคือที่ f/2.8 ความชัดลึกครอบคลุมระยะที่ 30 ซม. ส่วนของวัตถุที่อยู่ในช่วงความชัดลึกจะคมชัด แต่ถ้าคุณเปิด f/5.6 ความชัดลึกที่ครอบคลุมมาด้านหน้าและด้านหลังของจุดโฟกัสจะมากกว่าเดิม การเปิดรูรับแสงกว้างความชัดลึกจะน้อย การเปิดรูรับแสงแคบความชัดลึกจะมาก
ตัวอย่างการใช้รูรับแสงขนาดต่างๆ
เพราะการใช้รูรับแสงขนาดต่างกันจะมีผลต่อความชัดลึกที่แตกต่างกัน รูรับแสงขนาดต่างๆ จึงถูกใช้งานแตกต่างกันในรูแบบภาพที่ต่างกัน และนี่คือตัวอย่างการใช้รูรับแสงกับภาพประเภทต่างๆ (แต่ไม่มีกฏตายตัวว่าจะต้องใช้ตามนี้นะครับ เป็นเพียงสิ่งที่ช่างภาพนิยมใช้กัน)
f/0.95-f/1.4 :
จัดเป็นขนาดรูรับแสงกว้างมาก มีในเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียว และมักจะเป็นเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสไม่เกิน 85mm ราคาเลนส์จะสูงถึงสูงมาก เป็นรูรับแสงที่ออกแบบมาให้ใช้งานในสภาพแสงน้อยมากๆ ในสถานการณ์ที่ไม่ต้องการใช้แฟลช และไม่ต้องการดัน ISO สูงๆ เราจะสามารถถือกล้องด้วยมือได้โดยยังได้ภาพคมชัด และอีกเรื่องคือเมื่อต้องการความชัดลึกน้อย เบลอฉากหลังได้มากเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่น ภาพท้องฟ้ากลางคืน ภาพเวดดิ้ง ภาพพอร์เทรต ภาพบุคคลในเวลากลางคืน สิ่งที่ควรรู้คือ ความชัดลึกจะบางมาก โดยเฉพาะภาพบุคคลระยะใกล้ ภาพอาจหลุดโฟกัสได้ง่าย และคุณจะยังไม่ได้คุณภาพที่ดีที่สุดของเลนส์ตัวนั้นจากรูรับแสงนี้
f/1.7-f/2 :
จัดเป็นขนาดรูรับแสงกว้าง มีความสว่างปานกลาง มีในเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียว(เลนส์ซูมที่สว่างระดับนี้มีไม่กี่รุ่น สำหรับเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวช่วงตั้งแต่ 20mm จนถึง 100mm เป็นเลนส์ในระดับใช้งานจริงจังที่ยังไม่สว่างระดับเลนส์เกรดโปร(มักจะเป็น f/1.4) แต่ถ้าเป็นเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 135mm ขึ้นไป f/1.8-f/2 จัดเป็นเลนส์สว่างและเป็นเลนส์ระดับโปร รูรับแสงนี้มักจะใช้กับภาพพอร์เทรตที่เบลอฉากหลังละลาย ให้โบเก้สวย ภาพพอร์เทรตในสภาพแสงน้อย,ในห้อง ภาพท้องฟ้ากลางคืน ทางช้างเผือก ความชัดลึกของภาพน้อยมาก
f/2.8 :
จัดเป็นขนาดรูรับแสงกว้าง เป็นรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ซูมระดับโปร เช่น 16-35mm , 24-70mm , 70-200mm ใช้กับภาพหลากหลายรูปแบบทั้ง ภาพพอร์เทรตที่ต้องการละลายฉากหลัง แยกตัวแบบให้ลอยออกจากฉากหลัง ภาพพอร์เทรตในสภาพแสงน้อยที่ไม่ต้องการใช้แฟลช เป็นรูรับแสงที่ให้ความชัดลึกน้อยแต่ยังเพียงพอที่จะให้ส่วนสำคัญของใบหน้า เช่น ตา จมูก ปาก ชัดทั้งหมดเมื่อบันทึกครึ่งตัวและไม่เอียงหน้า และยังให้โบเก้สวยงาม เหมาะกับการถ่ายภาพสัตว์ ภาพแอคชันและภาพทั่วๆ ไป โดยเลนส์ระดับโปรมักจะให้ความคมชัดที่ดีมากเมื่อเปิด f/2.8
f/4-f/5.6 :
จัดเป็นขนาดรูรับแสงขนาดปานกลาง มักจะเป็นรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ซูมทั่วๆ ไป เหมาะกับการใช้งานทั่วไป กับภาพพอร์เทรต การเบลอฉากหลังจะน้อยกว่าเลนส์ f/2.8 จึงต้องอาศัยระยะถ่ายที่ใกล้มาช่วยหากต้องการฉากหลังละลายมากๆ ในสภาพแสงน้อยมักจะได้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำจนยากจะถือกล้องด้วยมือ ทำให้ต้องดัน ISO สูงขึ้น แต่ก็ทดแทนด้วยขนาดเลนส์ที่เล็กกว่า ราคาถูกกว่า ที่ f/4-f/5.6 ยังใช้ในการถ่ายภาพกีฬา ภาพนก ภาพสัตว์ป่า เพราะได้ความชัดลึกเพียงพอที่จะครอบคลุมส่วนสำคัญของซับเจกต์ และ f/4-f/5.6 มักจะเป็นรูรับแสงที่ให้คุณภาพสูงมากของเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวรวมทั้งเลนส์ซูมระดับโปรที่มีรูรับแสงกว้างสุด f/2.8
f/8 :
จัดเป็นขนาดรูรับแสงขนาดปานกลางที่ให้ความชัดลึกค่อนข้างสูงโดยยังได้คุณภาพเต็มที่จากเลนส์แทบทุกรุ่น ดังนั้นจึงเหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์(ที่ไม่มีฉากหน้าระยะใกล้มาก) ภาพคนกับทิวทัศน์ ภาพบุคคลหมู่ที่ยืนต่างระนาบกัน ภาพสถาปัตยกรรม ภาพมาโคร ภาพบันทึกทั่วไป เพราะจะได้คุณภาพสูง ความเร็วชัตเตอร์ก็ไม่ลดต่ำมากเกินไป
f/11-f/16 :
จัดเป็นขนาดรูรับแสงแคบ ให้ความชัดลึกสูง เหมาะกับภาพที่ต้องการความชัดลึกสูงเช่น ภาพมาโคร ภาพทิวทัศน์ที่มีฉากหน้า ภาพคนกับทิวทัศน์ ภาพสถาปัตยกรรมที่มีวัตถุอยู่ในระยะใกล้ ภาพที่ต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เช่น การแพนกล้อง ภาพน้ำตก ภาพที่เห็นการ เคลื่อนไหวของซับเจกต์จากความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แต่ที่รูรับแสงนี้ความคมชัดจะลดลงบ้างจากเรื่อง Diffraction ของเลนส์
f/22 :
จัดเป็นขนาดรูรับแสงแคบมาก ให้ความชัดลึกสูงมาก เหมาะกับภาพทิวทัศน์ที่มีฉากหน้าระยะใกล้และต้องการความชัดลึกครอบคลุมตั้งแต่ฉากหน้าจนถึงระยะอินฟินิตี้ ภาพมาโครอัตราขยายสูง ภาพที่ต้องการลาก Shutter Speed เช่น การถ่ายภาพ Sea Scape , ภาพแสงไฟถนน ภาพน้ำตกที่ต้องการสายน้ำพลิ้ว แต่การใช้รูรับแสง f/22 จะทำให้ความคมชัดของภาพลดลงอย่างชัดเจนจากปัญหาเรื่อง Diffraction ของเลนส์
เรื่อง : อิสระ เสมือนโพธิ์