Photo Techniques

สร้างฉากหลังดำ เพื่อให้ซับเจคต์เด่นขึ้น

การถ่ายภาพที่ส่งให้ซับเจคต์ของภาพดูโดดเด่นขึ้นนั้น องค์ประกอบอย่างหนึ่งคือ ฉากหลัง ซับเจคต์ที่มีฉากหลังฉากหลังดูรกรุงรัง ทำให้แย่งความโดดเด่นไปทั้งหมด หรือบางครั้งฉากหลังก็มีมีสันที่สดใสมากกว่า ก็ทำให้ซับเจคต์ดูหม่นหมองไปด้วยนั่นเอง หลายๆ ครั้ง ช่างภาพที่มีประสบการณ์ หรือช่างภาพมืออาชีพ จึงมักจะให้ความสำคัญกับฉากหลังไม่แพ้ซับเจคต์หลักด้วยเช่นกัน ช่างภาพหลายๆ คนจึงมักเลือกให้ฉากหลังทึบ หรือออกโทนเข้มดำ เพื่อไม่ให้รบกวนซับเจคต์หลักนั่นเอง ช่างภาพมือใหม่ๆ หลายๆ คน อาจจะมองไม่ออกว่าทำยังไง จึงจะถ่ายภาพให้ฉากหลังดำได้ นี่คือ เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้ได้ฉากหลังเข้ม หรือดำตามที่ต้องการครับ

การถ่ายภาพให้ฉากหลังดำนั้น จะแยกวิธีการถ่ายภาพออกเป็น 2 รูปแบบนะครับ วิธีแรกเป็นการถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติที่มีในขณะนั้นนั่นแหละครับ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอื่นใด ส่วนอีกวิธีคือการใช้แฟลชในการควบคุมให้ฉากหลังดำตามที่ต้องการครับ

ฉากหลังดำตามแสงธรรมชาติ

การเลือกฉากหลังแบบนี้ จะต้องคำนึงไว้เสมอว่า แสงที่ตกลงบนซับเจคต์หลักของเรา กับแสงที่ฉากหลัง จะต้องแตกต่างกันอย่างน้อย 3 สตอป โดย “ฉากหลังจะต้องได้รับแสงน้อยกว่าซับเจคต์เสมอ” และถ้าหากว่าเมนูของกล้องเปิดใช้ฟังก์ชั่นขยายไดนามิกเรนจ์ไว้ด้วย ก็ควรจะปิดฟังก์ชั่นนั้นด้วยครับ

โดยชื่อเรียกฟังก์ชั่นปรับขยายไดนามิกเรนจ์นี้ จะแตกต่างกันไปตามยี่ห้อของกล้อง อาทิ DRO (Dynamic Range Optimizer) หรือ Active D-Lighting เป็นต้น เพราะฟังก์ชั่นนี้ จะช่วยเปิดรายละเอียดของส่วนที่เป็นเงามืด ดังนั้นกล้องจะทำการเพิ่มแสงในส่วนของฉากหลัง ทำให้ไม่มืดดำอย่างที่ต้องการนั่นเอง เมื่อวัดแสงที่ซับเจคต์ให้พอดี ฉากหลังที่ได้รับแสงน้อยกว่า ก็จะมืดลงโดยอัตโนมัติ หรือฉากหลังจะอันเดอร์นั่นแหละครับ และจะอันเดอร์ลงตามความแตกต่างของแสงที่วัดได้ครับ

วิธีการเลือกดูว่าแสงที่ซับเจคต์กับแสงฉากหลังแตกต่างกันอย่างไร เอาง่ายๆ คือ ในวันที่มีแดด ถ่ายภาพดอกไม้ที่อยู่กลางสวน กลางแจ้ง ดอกไม้ได้รับแสงที่ตกลงมาตรงๆ เมื่อเล็งกล้องเพื่อถ่ายภาพดอกไม้ ก็มองเลยไปด้านหลังด้วยว่า ข้างหลังดอกไม้นั้น ได้รับแสงสว่างเหมือนกันหรือไม่ ถ้าสว่างพอๆ กัน ก็ต้องขยับมุมให้ฉากหลังนั้นอยู่ในส่วนของร่มเงาไม้ที่ได้รับแสงน้อยกว่า ซึ่งการใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีมุมรับภาพที่แคบ จะช่วยให้ขยับเลือกฉากหลังตามที่ต้องการได้ง่ายขึ้นครับ

เลนส์ที่ใช้ควรเลือกช่วงเทเลโฟโต้ ที่มีมุมรับภาพที่แคบ ตั้งแต่ระยะ 70 มม. ขึ้นไป เพราะจะช่วยให้สามารถควบคุมฉากหลังตามที่ต้องการได้ง่ายขึ้น หรือสามารถขยับมุมมองเพียงเล็กน้อย เพื่อหลบฉากหลังที่ไม่ต้องการได้ง่ายขึ้นด้วย

 


ฉากหลังดำแบบใช้แฟลช

สำหรับบางกรณีที่ซับเจคต์อยู่ในสภาพแสงที่เหมือนๆ กันกับฉากหลัง หรือในวันที่อากาศทึมๆ ครึ้มๆ ไม่มีแดดนั่นแหละครับ แสงฉากหลัง กับแสงที่ซับเจคต์เท่าๆ กัน หรือแตกต่างกันเล็กน้อย ยังไงก็ไม่สามารถถ่ายภาพให้ซับเจคต์สว่างพอดี แล้วให้ฉากหลังดำทึบแน่ๆ ดังนั้นต้องใช้แฟลชช่วยครับ

วิธีการก็คือ ตั้งแฟลชให้ส่องไปที่ซับเจคต์ที่ต้องการ และหลีกเลี่ยงแสงที่จะไปตกที่ฉากหลังด้วย ดังนั้นการแยกแฟลชออกจากตัวกล้องและควบคุมด้วยสายพ่วงแฟลช หรือควบคุมด้วยระบบ Wireless จะสะดวกที่สุด และตั้งแฟลชให้ส่งไปที่ซับเจคต์เพียงอย่างเดียวครับ

การใช้แฟลชให้ฉากหลังดำนั้น แฟลชควรจะรองรับกับระบบ Hi-Speed Sync หรือแฟลชสัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์สูง ซึ่งโดยปกติแล้ว ความเร็วชัตเตอร์ของแฟลชที่ใช้กับกล้องรุ่นหนึ่งๆ จะถูกตั้งค่ามาจกโรงงานผู้ผลิต แตกต่างกันไปตามรุ่นหรือยี่ห้อกล้อง เช่น แคนนอนบางรุ่น ความเร็วชัตเตอร์สัมพันธ์กับแฟลชที่ 1/200 วินาที นิคอนบางรุ่น ความเร็วที่สัมพันธ์กับแฟลชที่ 1/250 วินาที เป็นต้น ซึ่งเราสามารถใช้ต่ำกว่าค่านั้นๆ ได้ แต่ช้สูงเกินไม่ได้ กล้องจะล็อกค่าความเร็วชัตเตอร์ไว้สูงสุดแค่นั้น เมื่อเปิดใช้แฟลช

การถ่ายภาพกลางแจ้งที่ต้องการฉากหลังดำ โดยการใช้แฟลช อาจจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงกว่าค่าความเร็วชัตเตอร์ที่สัมพันธ์กับแฟลช เพื่อให้ภาพที่ได้ติดอันเดอร์ หรือมืดกว่าปกติ เมื่อปิดแฟลช เช่น วัดแสงปกติ ได้ ชัตเตอร์ 1/125 วินาที f/16 ซึ่งถ้าหากว่าถ่ายภาพมาตามค่าที่วัดได้นี้ ทั้งซับเจคต์และฉากหลัง จะได้ค่าแสงที่เท่ากัน ทำให้ซับเจคต์ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

ดังนั้นจึงต้องวัดแสงให้อันเดอร์ลงไปอีก สมมุติว่าต้องการ 3 สตอป นั่นคือสามารถปรับลดรูรับแสงได้อีก 1 สตอป และปรับเพิ่มความเร็วชัตเตอร์อีก 2 สตอป ค่าที่ได้จะเป็นชัตเตอร์ 1/500 วินาที f/22 รวมค่าการวัดแสงอันเดอร์ไป 3 สตอป ซึ่งเมื่อกดชัตเตอร์ถ่ายภาพนั้นออกมา จะได้ภาพที่ดำมืด เพราะว่าวัดแสงอันเดอร์นั่นเอง จากนั้นให้เปิดแฟลช ที่วางมุมให้แสงแฟลชตกลงที่ซับเจคต์พอดี และแสงแฟลชไม่ไปรบกวนฉากหลังด้วย

เมื่อกดชัตเตอร์ถ่ายภาพออกมา แสงแฟลชจะทำให้ซับเจคต์ สว่างพอดี ส่วนฉากหลังจะมืดดำ เพราะค่าแสงอันเดอร์ลงไป ช่วยให้ซับเจคต์ โดดเด่นขึ้นมาได้ครับ ถ้าหากว่าต้องการซับเจคต์ที่สว่างมากขึ้น หรือลดความสว่างลง ก็เพียงแค่ปรับชดเชยแสงแฟลชเท่านั้นเอง โดยไม่ต้องไปยุ่งกับค่าความเร็วชัตเตอร์ หรือรูรับแสงแต่อย่างใดครับ

Tips : สำหรับวิธีการถ่ายภาพแบบนี้ เลือกใช้โหมดถ่ายภาพแบบแมนนวล หรือโหมด M จะทำให้การปรับตั้งต่างๆ สะดวกมากกว่าโหมดอื่นๆ และได้ค่าแสงที่คงที่มากกว่า

..ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ….

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

 


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/photo-techniques/