Knowledge

แนวทางการผลิตผลงานภาพ Fashion Portrait

ดังที่ผมได้เกริ่นไปในฉบับที่แล้ว การถ่ายภาพเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะผสมผสานเข้าด้วยกัน นักถ่ายภาพที่ดีนั้นควรมีความเชี่ยวชาญทั้งในศาสตร์และศิลป์ของการถ่ายภาพ ศาสตร์ในที่นี้ผมต้องการสื่อความหมายถึงความรู้ความเข้าใจในการควบคุมกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพ ความเข้าใจในเรื่องของแสง ความรู้ในการใช้โปรแกรมปรับแต่งภาพและความสามารถในการใช้งานเครื่องมือต่างๆของโปรแกรมเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ส่วนศิลป์หมายถึงการสร้างสรรค์ให้ภาพถ่ายนั้นเกิดความสวยงามด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการใช้แสงเงา การจัดองค์ประกอบ การใช้สีสัน และการใช้โปรแกรมปรับแต่งภาพ เป็นต้น

ในโลกของการถ่ายภาพยุคปัจจุบันนั้นมีการแบ่งประเภทของการถ่ายภาพออกเป็นแบบต่างๆ มากมาย แต่ละแบบแต่ละแนวก็อาจมีเทคนิคและวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ตามที่ผมได้สัญญากับท่านผู้อ่านไว้ในฉบับที่แล้ว Shoot&Edit ฉบับนี้ผมจะมาเล่าถึงแนวทางการผลิตผลงานภาพแฟชั่นพอเทรตในสายความถนัดของผมและทีมงานในภาคของกระบวนการถ่ายทำเพื่อเป็นไอเดียสำหรับท่านผู้อ่านนะครับ

 

Fujifilm X-Pro2, Fujinon EBC XF90f/2RWR, ISO400 1/750Sec f/2

วางแผนเตรียมการอย่างรอบคอบ

ไม่ว่าท่านจะเป็นนักถ่ายภาพที่มีพรสวรรค์เพียงใด การทำการบ้านและการเตรียมการที่ดีเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้การทำงานของท่านนั้นผ่านไปได้อย่างราบรื่น และโดยปกติแล้ว แทบจะไม่มีนักถ่ายภาพแฟชั่นมืออาชีพท่านใดที่เข้ากองถ่ายไปโดยไม่ทำการบ้านแล้วจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพได้ นอกเสียจากท่านจะโชคดีจริงๆ

งานถ่ายแฟชั่นโดยปกติแล้วจะมีการวางคอนเซปแนวคิดไว้ล่วงหน้าก่อนเสมอ การสร้างผลงานที่มีคุณภาพนั้น ทางทีมงานต้องมีการประชุมก่อนถ่ายทำเพื่อที่จะตีโจทย์ให้ทุกคนได้กลั่นกรองเอาไอเดียทั้งหลายออกมา จากนั้นจึงจัดระเบียบไอเดีย เตรียมภาพสำหรับอ้่างอิง(Reference)เพื่อให้ทีมงานทุกคนรวมถึงตัวแบบเห็นและเข้าใจภาพโจทย์แบบเดียวกันสถานที่ถ่ายทำ(Location)  ควรมีความสอดคล้องกับคอนเซปของภาพแฟชั่นที่จะถ่ายเพื่อเสริมความโดดเด่นให้ภาพเกิดความน่าสนใจยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหากท่านมีประสบการณ์การถ่ายภาพที่เก๋าพอ ท่านก็สามารถเลือกใช้Locationที่หลากหลายได้ตราบใดที่ท่านสามารถจัดการกับอารมณ์ของภาพให้สื่อสารในสิ่งที่ท่านต้องการออกมาได้ ณ จุดนี้ นางแบบหรือนายแบบที่ท่านหรือคุณลูกค้าเลือกใช้ก็มีส่วนสำคัญในการถ่ายทอกอารมณ์และเรื่องราวด้วยเช่นกัน

Fujifilm X-Pro2, Fujinon EBC XF23f/1.4R, ISO100 1/250Sec f/1.4

ภาพที่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังชุดแรกนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นเซ็ตในนิตยสารออนไลน์ MOODGAZINE Vol.11 ชื่อเซ็ตว่า THE DUCHESS ทีมงานต้องการนำเสนอหญิงสาวยูโรเปี้ยนสูงศักดิ์ที่ถูกประดับตกแต่งด้วยชุดและเครื่องประดับย้อนยุคของMOODFACTORY STUDIO

ในส่วนของสถานที่ถ่ายทำ ทีมงานได้เลือกใช้บริการของทาง PAPA’S GARDEN STUDIO รังสิต ซึ่งสามารถตอบโจทย์ที่เราตั้งไวได้อย่างดี

ในส่วนของมุมกล้องที่เลือกใช้เป็นแบบต่ำกว่าระดับสายตาแบบ มุมกล้องที่ต่ำลงจะทำให้ตัวแบบดูสูงและสง่าขึ้น มุมกล้องนี้ไม่ได้เหมาะกับนางแบบทุกคนและทุกโอกาส แต่หากใช้งานอย่างเหมาะสม มุมภาพที่ได้จะทำให้ตัวแบบดูแข็งแรงและทรงพลัง

การแต่งหน้าทำผม ตลอดจนคอสตูมสำหรับการถ่ายภาพ ควรมีความกลมกลืนไปในทิศทางเดียวกับสิ่งที่คุณต้องการถ่ายทอดการคอนเฟิร์มงานกับช่างแต่งหน้าทำผมและสไตลลิสต์ จึงเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถละเลยไปได้

ในส่วนของการถ่ายภาพนั้น ท่านนักถ่ายภาพก็ควรที่จะเตรียมพร้อมในการถ่ายภาพอย่างละเอียดด้วยเช่นกัน นอกจากจะจัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือถ่ายภาพที่เหมาะสมแล้ว ท่านควรศึกษาและเตรียมการใช้แสงและเงามาให้เหมาะสมกับคอนเซป แสงและเงาเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของการถ่ายภาพ บุคลิกและอารมณ์ของแบบสามารถเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายใต้สภาพแสงที่แตกต่างกัน หากท่านมีความเข้าใจในเรื่องของการควบคุมทิศทาง ปริมาณและคุณภาพของแสงอย่างดีแล้ว ท่านก็จะสามารถสร้างสรรค์อารมณ์และบรรยากาศให้ตรงกับโจทย์ที่ท่านต้องการได้

NIKON DF, AF-D NIKKOR 35 f/2, ISO100, 1/500Sec, f/6.2

ภาพโฆษณาสำหรับจัดแสดงบนบิลบอร์ดของห้างสรรพสินค้าLAFORET ปรัชญาของสินค้าคือชุดว่ายนํ้าประดับด้วยดอกไม้สวยหวานสำหรับวันหยุดพักผ่อนในฤดูร้อนของเหล่าหญิงสาว

ในกรณีที่เป็นการถ่ายภาพเพื่อโฆษณาสินค้า เป้าหมายหลักของท่านคือการสร้างการสื่อสารให้สินค้าชิ้นนั้นสามารถถ่ายทอดความงามออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหมายความว่าทั้งสถานที่ถ่ายทำและอารมณ์ของภาพควรสอดคล้องกับปรัชญาของตัวสินค้า นอกจากนี้ การวางองค์ประกอบโดยรวมของภาพก็ควรส่งเสริมให้สินค้านั้นแสดงความงดงามออกมาได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

อุปกรณ์ประกอบฉาก (Prop) ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สามารถส่งเสริมให้ภาพโดยรวมทั้งหมดนั้นดูสมบูรณ์และมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ในงานถ่ายโฆษณาแฟชั่นจึงมักมีการเลือกสรรอุปกรณ์ประกอบฉากมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้พรอพนั้นควรอยู่ในปริมาณและนํ้าหนักที่เหมาะสม ต้องไม่แย่งชิงความสนใจหรือทำลายความสวยงามของชิ้นสินค้าหลักที่ท่านต้องการจะนำเสนอ

หากท่านเลือกที่จะจริงจังกับการถ่ายภาพแขนงนี้ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ท่านสามารถสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นที่ดีได้อย่างต่อเนื่องนั้น คือการทำงานเป็นทีมเวิร์คที่ดี ผลงานแฟชั่นที่ดีไม่ได้เกิดจากฝีมือหรือกวามเก่งกาจของช่างภาพแต่เพียงผู้เดียว แต่ล้วนมาจากความร่วมมือของทีมงานที่ดีเสมอไม่ว่าจะเป็นนางแบบหรือนายแบบ สไตลิสต์ ช่างแต่งหน้าทำผม ผู้ช่วยช่างภาพ หรือใครก็ตามที่มีส่วนร่วมในการผลิตงานชุดนั้น ท่านนักถ่ายภาพที่กำลังมีความสนใจหรือกำลังฝึกฝีมือในการถ่ายภาพประเภทนี้ นอกจากท่านจะพัฒนาทักษะในการถ่ายภาพแล้ว ท่านก็ควรพัฒนาทักษะในการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพด้วย

ในฉบับหน้าผมจะมาเล่าต่อถึงแนวทางและกระบวนการผลิตภาพแฟชั่นสไตล์ของทีมงานผมในภาคของการโพสต์โปรเซสนะครับ สวัสดีปีใหม่ไทย ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการถ่ายภาพครับ

เรื่อง/ภาพ : วศิน ทรงกัลยาณวัตร


ขอขอบพระคุณ CHUAN PISAMAI SWIMWEAR, นางแบบ : คุณNatalia Kuzmenko@A1 Model Management; คุณKata Jamborcsik@Fame Model Management; คุณTanya Kulik@Sumon Model Management
ขอขอบพระคุณทีมงานแฟชั่นจาก MOODFACTORY STUDIO และนิตยสารMOODGAZINE


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจเทคนิคที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/shoot-and-edit/