Knowledge

BALANCE WITH Reflection

เมื่อต้องถ่ายภาพในสถานที่จำกัด หรือในสถานที่ที่ค่อนข้างแคบหรือมีขนาดเล็ก เชื่อว่าเลนส์มุมกว้างจะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่างภาพจะนึกถึง เพราะนอกจากจะช่วยให้ความสะดวกในเรื่องพื้นที่ของการทำงานแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการสร้างมุมมองที่แปลกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสถานที่นั้นสวยงามด้วยแล้ว เราก็สามารถที่จะใช้เลนส์มุมกว้างดึงความโดดเด่นของสถานที่มาส่งเสริมให้ภาพดูเด่นขึ้น แต่การใช้เลนส์มุมกว้างมากๆ หากใครที่ไม่มีความคุ้นเคยหรือความเข้าใจในการใช้ก็มักจะได้ยินเสียงบ่นตามมาว่า “เลนส์มุมกว้างใช้ยาก ถ่ายยาก กว้างไปดูโหรงเหรง” โดยเฉพาะคนที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างมากๆ ครั้งแรกผมเชื่อว่าคงจะมีอารมณ์ประมาณนี้กันอยู่ไม่มากก็น้อย

จริงๆ แล้วหากเรารู้หลักการและใช้บ่อยๆ เราก็จะจับเทคนิคในการใช้ได้เองละครับ อย่างเช่นการนำฉากหน้าหรือโฟกราวน์เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้ภาพดูมีมิติ ไม่โหรงเหรงจนเกินไป หรือการนำเรื่องของเส้นสายในภาพมาใช้ให้เกิดประโยชน์  ซึ่งข้อนี้หากเราวางตำแหน่งได้ดีจะยิ่งเห็นประโยชน์ได้ชัดจากการใช้เลนส์มุมกว้าง

การดึงฉากหน้าเข้ามามีส่วนร่วมในภาพนั้นนอกจากช่วยให้ภาพดูมีมิติแล้ว ยังช่วยให้ภาพไม่หลวมจนเกินไป เป็นการสร้างความสมดุลให้กับภาพไปในตัว  แต่ในบางสถานที่เราก็ไม่สามารถที่จะหาฉากหน้ามาเข้าในภาพได้ เพราะฉนั้นเราก็อาจต้องใช้วิธีอื่นเข้ามาทดแทนในจุดนี้

จากสถานที่นี้ที่เห็นในภาพผมตั้งใจใช้ความแตกต่างกันของโทนสีของชุดเจ้าสาวคือสีฟ้ากับโทนสีเหลืองของห้องมาใช้ให้เป็นประโยชน์ สภาพแสงในห้องนั้นติดไปทางเหลืองของหลอดทังสเตนเมื่อตัดกับชุดสีฟ้าของเจ้าสาวจึงทำให้คู่เจ้าบ่าวเจ้าสาวเด่นโดยปริยาย แต่ภาพนี้ผมไม่ได้ใช้แฟลชในการการถ่าย ผมจึงขยับตัวแบบให้มาอยู่ตรงหน้าต่างให้ได้รับแสงแดดจากข้างนอกเพื่อไม่ให้ผิวของตัวแบบติดสีเหลืองจากแสงทังสเตนในห้องมากไป

จากนั้นจึงวัดแสงแล้วก็ถ่าย ซึ่งก็จะได้ภาพตามที่ต้องการคือภาพที่โชว์ความสวยงามของห้องที่มีฉากหลังโทนเหลืองตัดกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวในชุดสีฟ้าที่โดดเด่นอยู่ตรงกลางภาพ แต่เมื่อมองดีๆ ก็จะเจอกับปัญหาที่บอกข้างต้นละครับว่าภาพมันดูไม่สมดุล เพราะน้ำหนักของภาพจะหนักไปทางขวาบริเวณเพดานห้องซะด้วยซ้ำ ครั้นจะหาฉากหน้ามาใส่เพื่อสร้างสมดุลในภาพก็ไม่มี เพราะฉนั้นสิ่งที่ผมต้องการก็คือการหาอะไรมาบาลานซ์น้ำหนักภาพให้จุดสนใจหันมาอยู่ที่ตัวแบบ

ในสถาณการณ์นี้ผมมองหาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ก็หันไปเจอกับพื้นมันวาวของแผ่นกระเบื้องตรงฐานเสาในมุมล่างซ้ายของภาพ ผมจึงนอนลงเพื่อวางกล้องในมุมต่ำแล้วจัดองค์ประกอบภาพใหม่เพื่อเก็บภาพเงาสะท้อนของชุดเจ้าสาวในพื้นกระเบื้องมันวาวอันนั้นเข้ามาในภาพ ซึ่งก็ได้ภาพมาอย่างภาพที่เห็น ความสมดุลของภาพไม่หนักไปทางขวาหรือเพดานของห้องมากนักเหมือนอย่างตอนแรก เพราะมีเงาสะท้อนของชุดเจ้าสาวในแผ่นกระเบื้องด้านซ้ายล่างของภาพมาถ่วงอยู่ ทำให้น้ำหนักของภาพจุดเด่นกลับมาอยู่ที่ตัวแบบ

ความผิดเพี้ยนของเปอร์สเปคทีฟจากการใช้เลนส์มุมกว้างทำให้ได้ภาพที่สวยแปลกตาก็จริงอยู่ แต่ก็ใช่ว่ายิ่งเพี้ยนมากยิ่งสวยมากนะครับ ข้อควรระวังในการใช้เลนส์มุมกว้างเมื่อนำมาถ่ายภาพคนในระยะใกล้ก็คือต้องระวังไม่ให้รูปร่างของตัวแบบดูผิดเพี้ยนมากจนเกินไปด้วย Canon EOS 5D Mark II ; EF17-40mm f/4L USM  Mode M at 1/50 sec, f/4  ISO 800

เรื่อง/ภาพ : พิษณุ พวงแก้ว