Shooting Destination

“ขึ้นดอยสูง ป่างาม ตามไปดูงานของพ่อ”

ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง

สำหรับคอนเซปต์ของคอลัมน์สะพายกล้องท่องเที่ยวกับโตโยต้าในปีนี้ จะเป็นการเดินทางไปเยือนโครงการต่างๆ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เราเรียกกันติดปากว่า “โครงการหลวง” ซึ่งมีทั้งส่วนที่ใช้ชื่อว่าโครงการหลวง และโครงการในพระราชดำริ อีกมากมาย รวมทั้งส่วนงานที่มีชื่ออื่นๆ เช่น สถานีเกษตรหลวง และศูนย์วิจัยต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างประโยชน์ให้ประชาชนของพระองค์ได้อยู่ดีกินดี จนเกิดมีคำพูดว่า ในเส้นทางที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินผ่านเส้นทางนั้น จะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และความสุข
toyota142_01

ในครั้งแรกนี้ ผมและทีมงานเดินทางไปที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยพันธ์ุไม้ต่างๆ มากมาย ทั้งที่เป็นพืชผัก ไม้ผล และไม้ประดับต่างๆ โดยมีการจัดเป็นสัดส่วนให้ประชาชนเดินทางเข้าไปเที่ยวชมได้อย่างสะดวก โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขางนั้น ตั้งอยู่บนดอยอ่างขาง ในบริเวณบ้านคุ้ม ตำบลแม่งอน ในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่กว่า 1,989 ไร่ อยู่สูงจากระดับนํ้าทะเล 1,400 เมตร มีหมู่บ้านชาวเขาที่ทางสถานีเกษตรหลวงอ่างขางให้การส่งเสริม และพัฒนาอาชีพ 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลวง, บ้านคุ้ม, บ้านนอแล, บ้านปางม้า, บ้านป่าคา, บ้านขอบด้ง, บ้านผาแดง, บ้านสินชัย และบ้านถํ้าง๊อบ โดยประชากรเป็นชาวเขารวมๆ กัน 4 เผ่า นั่นคือ ไทยใหญ่, มูเซอดำ, ปะหล่อง และจีนยูนนาน

สำหรับสถานีเกษตรหลวงอ่างขางนั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2512 จากการที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมประชาชนที่บ้านผักไผ่ อำเภอฝาง และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ซึ่งมีสภาพอากาศที่หนาวเย็น ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพป่าไม้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อระบบนิเวศน์ในอนาคตได้ ทรงมีพระราชดำริว่า ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกฝิ่นและท้อพื้นเมือง แต่ก็ยังคงมีฐานะยากจน กอปรกับพระองค์ทรงทราบว่ารายได้จากการปลูกฝิ่นนั้น พอๆ กับรายได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง จึงได้สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งเพื่อซื้อที่ดินในบริเวณดอยอ่างขาง จัดตั้งเป็นโครงการหลวงและเป็นโครงการส่วนพระองค์ โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในฐานะประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ทั้งผัก ผลไม้ และไม้ดอก เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรชาวเขาได้นำพืชผลเหล่านี้ไปปลูกเป็นอาชีพต่อไป และภายหลังได้พระราชทานนามโครงการหลวงแห่งนี้ว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”

พาหนะในการเดินทางของเราในครั้งนี้ เป็นรถยนต์ Toyota SIENTA รถยนต์เอนกประสงค์สำหรับครอบครัวยุคใหม่ ที่โดดเด่นด้วยเส้นสายที่ออกแบบได้สวยงามลงตัวในรุ่น Toyota SIENTA 1.5V AT ซึ่งมาพร้อมเครื่องยนต์แบบ 2NR-FE DUAL VVT-i 1500 ซีซี 4 สูบ 16 วาล์ว ให้แรงม้าสูงสุด 108 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 140 นิวตันเมตร ที่ 4,200 รอบต่อนาที เพียงพอที่จะไปปีนดอยสูงกับผู้โดยสาร 3 คนละครับ

ผมค่อนข้างสะดุดตากับการออกแบบตัวรถ จากเส้นสายที่ลากยาวตั้งแต่ไฟหน้ารถลงมาถึงกระจังหน้าดูสวยงาม แต่แฝงความดุดันอยู่ในตัว ตัวรถออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “Bring it All” ที่ผสมผสาน 4 ความโดดเด่น นั่นคือ Bring style to Life ดีไซน์สวยงาม เส้นสายโฉบเฉี่ยว โดดเด่นในทุกมุมมอง, Bring out feeling การออกแบบภายใน ตอบสนองการใช้งานได้ครบทุกฟังก์ชั่น มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด, Bring all happiness ตอบสนองทุกความสุขด้วยประตูสไลด์ข้างอัตโนมัติ และห้องโดยสารโอ่โถงกว้างขวาง พร้อมพื้นที่เก็บของมากมาย และ Bring it on ขับสนุกไปกับเกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อมระบบ Sport Sequential Shift 7 สปีด ควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ได้ตามที่ต้องการ

ผมวางแผนที่จะเดินทางทันที หลังจากที่รับรถเสร็จ ดังนั้นจึงมีกระเป๋าสัมภาระมากมาย ทั้งกระเป๋าเสื้อผ้าสำหรับการเดินทาง 7 วัน, กระเป๋ากล้อง, ขาตั้งกล้อง, เต็นท์นอน, ถุงนอน และแผ่นปูรองพื้นสำหรับเต็นทท์ ซึ่งหลังจากที่ยกสัมภาระทั้งหมดเก็บเข้าไปในรถแล้ว ยังมีพื้นที่เหลืออีกมากมายสำหรับเพื่อนร่วมทางของผมอีกสองคนที่คาดว่ามีสัมภาระหลายใบ ไม่แตกต่างจากผมเหมือนกันครับ

_1080084

Toyota SIENTA เป็นรถครอบครัว 7 ที่นั่ง และออกแบบที่นั่งแถวที่ 3 ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยสามารถพับเก็บเมื่อไม่ได้ใช้งานให้หลบลงไปอยู่ใต้เบาะนั่งแถวที่ 2 ได้อย่างลงตัว ทำให้ไม่เสียพื้นที่เก็บของด้านหลังเลยแม้แต่น้อย การดึงออกมาใช้งานก็ไม่ได้ลำบากแต่อย่างใดครับ เพียงดึงก้านพับเบาะแถวที่ 2 ขึ้น เบาะจะพับและยกเก็บไปด้านหน้าอัตโนมัติ จากนั้นก็ดึงเบาะแถวที่ 3 ขึ้นมา และยกพนักขึ้น ตัวล๊อกใต้ที่นั่งก็จะล็อกกับก้านยึดอย่างแน่นหนาโดยอัตโนมัติ เท่านี้ก็พร้อมใช้งานแล้วละครับ ซึ่งหลังจากน้องๆ ทีมงานเก็บของเสร็จสรรพ ผมบอกว่ารถคันนี้นั่งได้ 7 เค้าก็ทำหน้างงๆ ว่าที่นั่งอีกสองที่อยู่ตรงไหน พอผมเฉลย เค้าก็ยกนิ้วแสดงถึงความชื่นชมขึ้นมาทันที ซึ่งแน่นอนครับ ไม้ได้ยกให้ผมแน่ๆ อิ อิ อิ…

ผมชื่นชอบกับทัศนวิสัยในการมองจากที่นั่งคนขับ ซึ่งดูโปร่ง โล่ง มองสภาพโดยรอบได้อย่างสบายๆ และกว้างขวาง กระจกมองข้างทั้งสองบานก็มีขนาดใหญ่ รวมทั้งด้านหลังยังเสริมด้วยกล้องมองหลัง เมื่อใช้เกียร์ถอย ช่วยให้มองทัศนวิสัยโดย รอบทั้งคันได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ นอกจากนี้ เมื่อนั่งประจำการในที่นั่งคนขับ ยังมีพื้นที่เหนือศีรษะอีกมากทีเดียว เรียกได้ว่า ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่มีความสูงตามมาตรฐานชายไทย 170 เซ็นติเมตรอย่างผม นั่งได้อย่างสบายๆ ไม่อึดอัดเลยละครับ

จุดเด่นหนึ่งที่ผมและทีมงานชื่นชอบกัน นั่นคือประตูข้างแบบสไลด์อัตโนมัติ โดยที่คันที่ผมใช้งานเป็นรุ่นท๊อปสุด รุ่น 1.5V ซึ่งประตูข้างจะเป็นแบบสไลด์เปิดและปิดอัตโนมัติทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ส่วนรองลงมา รุ่น 1.5G จะเป็นแบบสไลด์ เฉพาะด้านซ้าย ส่วนด้านขวาจะเป็นแบบแมนนวล หรือเลื่อนเปิดและปิดเองครับ

หลังจากที่พร้อมสรรพสำหรับการเดินทาง ผมและทีมงานใช้เส้นทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ และเชื่อมต่อไปยังบางปะอิน-แจ้งวัฒนะ ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 32 ที่บางปะหัน ก่อนที่จะใช้เส้นทางหลักนี้ไปเรื่อยๆ จนเชื่อมเข้า สู่ทางหลวงหมายเลข 1 ไปจนถึงลำปาง และเลี้ยวซ้ายเข้าสูงทางหลวงหมายเลข 11 มุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่ครับ

การตอบสนองการขับขี่ของ Toyota SIENTA ถือว่าทำได้ดีทีเดียว การเร่งแซงทำได้ค่อนข้างดีเมื่อใช้เกียร์ออโต้ปกติ แต่ถ้าหากต้องการการตอบสนองที่รวดเร็วฉับไวมากขึ้น ผมจะปรับรูปแบบการเปลี่ยนเกียร์เป็นแบบปรับชิฟท์เองครับ ซึ่งการ ใช้งานก็เพียงโยกคันเกียร์จากตำแหน่ง D มาด้านขวา ซึ่งสามารถปรับชิฟท์เกียร์ให้ตํ่าลง โดยการดึงคันเกียร์มาด้านหลัง และปรับเพิ่มเกียร์ให้สูงขึ้นด้วยการดันคันเกียร์ไปด้านหน้า ซึ่งผมเองใช้งานอยู่บ่อยๆ เพราะไม่เพียงช่วยให้เร่งแซงได้อย่างฉับไวและปลอดภัยแล้ว ยังเพิ่มความรู้สึกในการขับขี่ให้สนุกขึ้นอีกด้วยครับ

การยึดเกาะถนนก็ถือว่าดีเยี่ยมเช่นกันครับ ในช่วงที่เดินทางไปยังดอยอ่างขาง ซึ่งผมใช้เส้นทางจากอำเภอเชียงดาวไปยังบ้านอรุโณทัยก่อนที่จะเลี้ยวขวา และขึ้นเขาไปยังดอยอ่างขาง เส้นทางมีทั้งโค้ง คดเคี้ยวไปมา บางช่วงก็ค่อนข้างลาดชัน การเข้าโค้งต่างๆ นั้น ช่วงล่างเกาะหนึบทีเดียว ไม่มีอาการโคลงให้เห็น บางโค้งที่กว้างๆ หน่อย ก็สามารถใช้ความเร็วสูงขึ้นได้ แต่การยึดเกาะก็ยังคงนิ่ง แต่ถึงแม้ว่าจะมีความมั่นใจกับช่วงล่างมากขึ้นในระหว่างการขับขี่ แต่ผมก็คำนึงถึงความปลอดภัยมา เป็นอันดับแรกครับ ขับขี่ตามกฎจราจร และป้ายเตือนต่างๆ Safety First ปลอดภัยไว้ก่อนครับ

ผมและทีมงานเข้าไปชมภายในบริเวณสถานีเกษตรหลวงอ่างขางกันก่อนในช่วงสายนิดๆ โดยเสียค่าธรรมเนียมเข้าชมคนละ 50 บาท และค่ารถคันละ 50 บาทเช่นกันครับ เมื่อผ่านประตูเข้าไป ฝั่งซ้ายมือเป็นแปลงกุหลาบ และแปลงกะหลํ่า หลายสายพันธ์ุพร้อมร้านกาแฟ ซึ่งเราตกลงกันว่าค่อยแวะก่อนจะออกจากที่นี่ แต่อ่าาาา..ได้มอคค่าปั่นเย็นๆ ชื่นใจตอนนี้ก็คงจะดีไม่น้อยเหมือนกันนะ…

จุดแรกที่เราแวะ เป็นสวนบอนไซและสวนหินธรรมชาติ ซึ่งมีบอนไซรูปทรงสวยงามอยู่มากมาย อากาศยามสายเริ่มอุ่นขึ้นจนถึงระดับเริ่มจะร้อนนิดๆ เราแวะลงไปถ่ายภาพกันเล็กน้อยก่อนที่จะขับรถต่อไปยังตลาดเพื่อหามื้อเที่ยงเพื่อเติมพลังสำหรับเดินทางต่อไป “ข้าวซอยนํ้าเงี๊ยวครับ” ผมบอกเมนูที่ต้องการกับคนขาย หลังจากที่ยืนดูเมนูอาหารทั้งหมดอยู่สักพัก จริงๆ แล้วก็อยากจะลิ้มรสข้าวซอยจริงๆ นั่นแหละครับ แต่ที่นี่ไม่มี แต่รสชาติของข้าวซอยนํ้าเงี้ยวก็ทำให้ผมกินจนเกลี้ยงชามละครับ เอ๊ะ!! รึว่าหิวมากนะ..

dsc06525

หลังมื้อเที่ยง เราไปแวะที่จุดบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งด้านตรงข้ามจะเป็นสวน 80 พรรษา ซึ่งมีแปลงดอกไม้สวยงามมากมายให้ถ่ายภาพ ผมใช้เลนส์ซูมเอนกประสงค์ฟอร์แมท Micro Four-thirds ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าระยะ 24-120 มม. ซึ่งสะดวกกับการใช้งานเป็นอย่างดี เพราะครอบคลุมช่วงมุมกว้างๆ ไปจนถึงระยะเทเลปานกลาง ไม่ต้องพกพาเลนส์ให้มากมาย ตัวเดียวเอาอยู่ เหมาะสำหรับคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวบันทึกภาพและเหตุการณ์ต่างๆ และไม่ต้องพกพาอุปกรณ์มากมายให้เป็นภาระครับ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายภาพได้ค่อนข้างใกล้อีกด้วย ช่วยให้เน้นดอกไม้หรือกลีบเกสรได้ ถึงแม้จะไม่ใช่ใกล้ๆ แบบเลนส์มาโครก็ตาม

_1080315

ดอกกุหลาบที่กำลังเบ่งบานรับฤดูหนาว

_1080110

ใบเมเปิ้ลที่กำลังแดงตามกาลเวลาตัดกับสีฟ้าเข้มน่าดูชม

แดดค่อนข้างแรง ทำให้คอนทราสต์ของภาพหรือความแตกต่างระหว่างส่วนมืดและส่วนสว่างจัดตามไปด้วย ผมเลือกเปิดฟังก์ชั่นปรับขยายไดนามิกเรนจ์ของกล้อง เพื่อลดความเปรียบต่างของแสงลงบ้าง และเลือกมุมที่มีฉากหลังอยู่ในเงา เพื่อเน้นดอกไม้สีสันสดใสให้มีความโดดเด่นมากขึ้น ซึ่งเป็นเทคนิคง่ายๆ ในการถ่ายภาพแบบฉากหลังดำนั่นเองครับ

หลังจากที่ถ่ายภาพกันอยู่สักพัก เราจึงขับรถเดินทางไปชมตามแปลงพันธ์ุไม้ต่างๆ ซึ่งหลายๆ แปลงมีเพียงต้นและใบ ยังไม่ออกลูกหรือออกดอก อาจจะเป็นเพราะช่วงเวลาที่เราเดินทางมายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่ออกดอกออกผลก็เป็นได้ครับ เราขับรถตามเส้นทางในสถานีเกษตรฯ ไปเรื่อยๆ เพื่อชมแปลงทดลองปลูกไม้ผลต่างๆ ก่อนจะแวะกันที่โรงเรือนแสดงพืชผักเมืองหนาว ซึ่งฝั่งตรงกันข้ามเป็นแปลงบ๊วยที่กำลังออกดอกสีขาวนวลตากันมากมาย และมีนักท่องเที่ยวกำลังถ่ายภาพกันอยู่มาก มายด้วยเช่นกันครับ

“อยากได้นํ้าสลัดจัง” ผมเปรยขึ้นมา เมื่อเห็นผักหลายสายพันธุ์ ทั้งที่คุ้นเคย และแปลกตา บางชนิดเอร็ดอร่อยเมื่อคลุกเคล้ากับนํ้าสลัด บางอย่างกรอบหวาน เมื่อจิ้มกับนํ้าพริกรสแซ่บ อ่าาาาาาา…นํ้าลายสออีกละ แปลงผักชนิดต่างๆ จัดไว้ อย่างสวยงาม พร้อมป้ายชื่อ บางแปลงออกดอกสวยงาม บางชนิดมีรูปทรงแปลกตา “ต้นนี้ชื่ออะไรครับ ดอกสวยดี” ผมถามเจ้าหน้าที่ที่กำลังฉีดนํ้าล้างพื้นอยู่ในโรงเรือน เมื่อมองหาป้ายชื่อ แล้วหาไม่เจอ “ดอกกุ้ยช่ายค่ะ” เจ้าหน้าที่ตอบกลับมา ฮ๊ะ!! ผมสตั๊นไปสามวิ.. กุ๊ยช่ายที่ใส่ผัดไทอะนะ ผมนึกในใจ พืชผักธรรมดาที่ผมมองข้ามไปเลย แต่เวลาออกดอกแล้วสวยงามน่าชมทีเดียวครับ

dsc06654

นับว่าเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญอีกจุดของอ่างขาง กับซุ้มกระโจมที่ห้อยประดับด้วยกระถางดอกไม้นานาพันธุ์

_1080213

ผักนานาพันธุ์ที่ถูกปลูกอย่างสวยงามภายในโรงเรือน

_1080212

มีดอกไม้ก็ต้องมีผีเสื้อ ที่นี่พบผีเสื้อได้หลายหลายสายพันธุ์ให้ได้ชมครับ

_1080284

จุดถ่ายภาพที่เป็นมุมมหาชนก็คงจะเป็นแปลงผักหลายสีที่อยู่ติดกับร้านกาแฟหละครับ

ผมเดินเลยเข้าไปยังแปลงผักด้านใน ซึ่งเป็นแปลงที่ปลูกจริงๆ จังๆ ไม่ได้จัดทำเป็นสวนโชว์แบบด้านหน้า มีแปลงผักที่ผมคุ้นเคยเวลาทานสลัดจนเรียกติดปากว่าเป็นผักสลัดไปแล้ว แต่ที่จริงเค้ามีชื่อที่เพราะพริ้งทีเดียว นั่นคือ ฟิลเลย์, เรด โครอล และโอ๊คลีฟแดง ทั้งหมดไม่ได้ปลูกบนดิน แต่ปลูกบนแปลงสังเคราะห์ที่ยกพื้นขึ้นสูง ปูพื้นด้วยแผ่นโฟม และเจาะรูเฉพาะต้น วางช่องไฟเท่าๆ กันในแต่ละต้นแต่ละแถวอย่างเป็นระเบียบ

เสร็จสรรพจากแปลงผัก ผมเดินข้ามถนนมายังแปลงบ๊วยที่ออกดอกขาวสะพรั่งเต็มต้น นักท่องเที่ยวหลายๆ คน เงยหน้าถ่ายภาพดอกบ๊วยกันอย่างจริงๆ จังๆ รวมทั้งผมและทีมงานด้วย หลายๆ คน selfies ทำปากจู๋ ชูสองนิ้ว ทำแก้มป่องกันอย่างตั้งใจ ดูๆ แล้วก็มีความสุขกันมากทีเดียวครับ จากผลงานของพ่อที่สร้างความสุขให้กับคนทั้งประเทศ จากงานที่สัมผัสได้จริง เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนของพระองค์ได้อย่างยั่งยืน

_1080278

ดอกบ๊วยที่กำลังเบ่งบานเย้ายวนผู้ที่ผ่านมาพบเห็นอย่างยิ่ง

เรากลับออกมาที่ร้านกาแฟโครงการหลวงที่อยู่ก่อนถึงทางออก ซึ่งมีแปลงกระหลํ่าสีสวยหลายสายพันธ์ุ และโรงเรือนกุหลาบขนาบข้าง ลมเย็นๆ พัดโชยอยู่ตลอด ก็ทำให้คลายร้อยลงไปได้บ้าง เรานั่งพักผ่อน จิบกาแฟ เคล้ากับสายลมพัดเอื่อยๆ จนเวลาล่วงไปพอสมควร จึงออกมาที่ตลาดเพื่อหาที่พักสำหรับคืนนี้ ซึ่งผมสังเกตเห็นว่าที่เชิงเขาด้านหลังมีที่พักเรียงรายอยู่มากมายทีเดียว น่าจะพอมีที่ว่างให้กับเราทั้งสามคนอยู่บ้าง

จากถนนคนเดิน มีทางเลี่ยงเข้าสู่ถนนเล็กๆ ด้านข้าง ขนาบข้างไปด้วยร้านค้า และร้านอาหาร ผมขับรถไปตามถนนเล็กๆ สายนั้น พอพ้นช่วงร้านค้าก็จะเป็นที่พักและรีสอร์ทหลายๆ ที่ด้วยกัน และมีลูกค้าจนที่จอดรถแน่นขนัด ผมมองกระจกมองหลัง มีรถขับตามเข้ามาอีกสองสามคัน “ขับตรงเข้าไปเลยครับ ไปวนกลับมาใหม่ครับ” พนักงานของรีสอร์ทเข้ามาบอกผม ก่อนที่ผมจะขับตรงเข้าไปด้านในและขึ้นเนินไปอีกเล็กน้อย “แถวนี้มีห้องว่างอยู่นะ ลองไปถามดูหน่อย” ผมบอกน้องทีมงาน และจอดรออยู่ที่เชิงเนินนั้น

“มีว่างอยู่ครับ พักที่นี่มั๊ย” น้องทีมงานบอกมา “ได้ๆ ถามดูหน่อย จอดรถตรงไหน” ผมถามกลับไป “จอดที่ลานด้านล่างเลยค่ะ” เจ้าของที่พักชี้มือไปยังลานด้านล่าง ซึ่งผมจะต้องเลี้ยวหักศอกและขับลงเนินไปเล็กน้อย ส่วนทางขึ้นละ แน่นอนครับ จะต้องขับขึ้นเนินมาด้วยเช่นเดียวกัน พรุ่งนี้เช้าเรามีแพลนที่จะไปถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่ม่อนสน ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร ส่วนวันนี้ขอออกไปเดินถนนคนเดิน หามื้อเย็นลองท้องกันก่อนที่จะกลับมาพักผ่อนเอาแรงสำหรับพรุ่งนี้เช้าครับ อากาศตอนกลางคืนเย็นลงอย่างรวดเร็ว จากสบายๆ กลายเป็นเย็นเฉียบ จนผมเองต้องสวมเสื้อกันหนาวเพิ่มไปอีกหนึ่งตัว

ตี 5 ผมเดินลงเนินไปที่รถ ก่อนที่จะขับออกไปยังจุดชมวิวม่อนสน ทางขึ้นเนินยาวประมาณ 10 เมตร และเป็นดินผสมกรวด ทำเอาลื่นอยู่เหมือนกัน แต่พอจับได้ว่าล้อหมุนฟรี ระบบควบคุมการทรงตัว VSC หรือ Vehicle Stability Control ก็จะทำงานทันที โดยมีไฟโชว์แสดงสถานะการทำงานที่แผงหน้าปัทม์เป็นเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะดับลง เมื่อรถเข้าสู่รูปแบบการขับขี่ปกติ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยให้การขับขี่มีความปลอดภัยมากขึ้นด้วยครับ

_1090252

ลานกางเต้นท์ก็เป็นอีกกิจกรรมหลักของนักเดินทางที่ต้องการบรรยากาศในฤดูหนาวอย่างเต็มที่

จุดชมวิวม่อนสน เป็นจุดกางเต็นท์ยอดนิยมจุดหนึ่งของดอยอ่างขาง ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับฐานปฏิบัติการดอยอ่างขาง และเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ซึ่งถ้าหากว่าใครที่พักกางเต็นท์ที่นี่ พอตื่นมาในตอนเช้า ก็จะได้สัมผัสกับวิวยามเช้าพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกเลย ถ้าหากว่าใครไม่มีเต็นท์ ก็ไม่ใช่ปัญหาครับ สามารถเช่าเต็นท์ พร้อมอุปกรณ์เครื่องนอนต่างๆ ของอุทยานฯ ได้เลย ส่วนใครที่นำเต็นท์มาเอง ก็จ่ายค่าธรรมเนียมเพียง 80 บาทต่อคนเท่านั้นครับ ซึ่งที่จุดชมวิวม่อนสนนี้ มีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร และเครื่องดื่มบริการ รวมทั้งมีห้องนํ้า และห้องอาบนํ้าของอุทยาน แยกชายหญิงเป็นสัดส่วนไว้บริการอีกด้วย

ผมและน้องๆ ทีมงานไปกางขาตั้งกล้องรอไว้ก่อนที่จุดชมวิวที่ยกพื้นสูงขึ้นมาให้ยืนได้อย่างสะดวก พอใกล้ๆ รุ่งสาง นักท่องเที่ยวเริ่มหนาตา แต่พระอาทิตย์ก็ยังไม่ออกมาให้ยลโฉมซักที ซึ่งก็เป็นปกติของบรรยากาศหน้าหนาว ที่กลางคืนจะยาว กว่ากลางวัน แต่น้องๆ ทีมงานก็ถ่ายภาพเก็บบรรยากาศไปเรื่อยๆ หมอกเริ่มจะคืบคลานเข้ามาห่มคลุมเมืองด้านล่างจนขาวหม่นไปทั้งเมือง

dsc01564

ทะเลหมอกในยามเช้าของจุดชมวิวลานสน

แสงสีแดงเริ่มฉายฉานแตะขอบฟ้า ผมปรับไวท์บาลานซ์เป็นแบบแสงแดด หรือ Daylight เพื่อให้กล้องเก็บแสงธรรมชาติให้ได้ครบทั้งหมด เพราะถ้าหากว่าตั้งเป็นออโต้ แสงสีบางอย่างจะถูกกล้องตัดออกไป เพราะว่ากล้องไม่รู้ว่ากำลังถ่าย ภาพอะไรอยู่นั่นเอง จึงมีการคำนวณแสงที่ผิดพลาด

แสงเริ่มสาดแรงมามากขึ้น เราเก็บอุปกรณ์และเดินทางต่อไปยังฐานปฏิบัติการบ้านนอแล ซึ่งเป็นจุดชมวิวชายแดนไทย-เมียนมาร์ เราเดินถ่ายภาพวิวทั่วๆ ไป และร้านรวงของชาวเขาที่นำของพื้นเมืองอย่างพวกเสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ และชามา จำหน่ายให้นักท่องเที่ยว ผมเองได้ยินชื่อเจียวปู้หลานอยู่บ่อยๆ จากโฆษณาทางวิทยุ ตลอดทั้งการเดินทางบนดอยสูงนี้ จึงขอชิมซะหน่อย ก่อนที่จะอุดหนุนแบบซองสำเร็จรูป แกะชงได้ทันทีน่าจะสะดวกกว่าแบบแห้งที่ผมเองเคยซื้อมาตั้งแต่ตอนที่ไปเยือนไร่ชาฉุยฟง จังหวัดเชียงราย และแกะออกมาชงเพียงแค่สองครั้งเท่านั้นเอง บอกตรงๆ เลยคือ ไม่ชอบใบชาที่โดนนํ้าแล้วดูยุ่ยๆ นะครับ เคยจิบแล้วมันไหลเข้าปากอะครับ.. ปล. เป็นความรู้สึกส่วนตัวครับ อิ อิ อิ…

_1090261

วิวชายแดนไทย เมียนมาร์ที่สวยงาม

_1090266

ตลาดชาวเขาที่มีสินค้าให้เลือกซื้อมากมาย

ก่อนที่จะกลับมายังที่พัก เราแวะไปที่สวนสตรอว์เบอร์รีบ้านขอบด้ง ซึ่งมีแปลงสตรอว์เบอร์รีเรียงราวยาวไปตามแนวเขา สตรอว์เบอร์รีีส่วนใหญ่ถูกเก็บไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวาน และจะเก็บอีกทีในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นการเก็บวันเว้นวันนั่นเองละครับ แหม.. มาได้ถูกวันจริงๆ ผมรำพึงรำพันในใจ แต่ถึงกระนั้นผมก็เดินดูตามแปลงสตรอว์เบอร์รีว่ายังมีลูกแดงๆ ให้ถ่ายภาพอยู่หรือเปล่า ..ไม่มีครับ ส่วนใหญ่จะเริ่มเหลืองๆ กับยังเขียวๆ เท่านั้นเอง ตามแปลงสตรอว์เบอร์รีมีป้ายติดไว้ว่าห้ามเก็บสตรอว์เบอร์รี ปรับลูกละ 100 บาท และมีรั้วกั้นให้เดินชมได้เพียงประมาณ 6-7 แปลงเท่านั้นเองครับ ซึ่งก็น่าจะเป็นการป้องกันความเสียหายจากนักท่องเที่ยวบางคนเท่านั้นเองครับ

_1090334

ไร่สตอเบอรี่ที่น่าเดินถ่ายภาพในยามเช้าอันสดชื่น

สตรอว์เบอร์รี เป็นพันธ์ุไม้เมืองหนาวที่โครงการหลวงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกจำหน่ายแทนฝิ่น โดย ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัยสตรอว์เบอร์รี และผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการวิจัยในระหว่างปี พ.ศ. 2517-2522 ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องทดลอง มีการคัดพันธุ์ ผสมพันธุ์และทดลองปลูกตามสถานีเกษตรต่างๆ จนได้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทานหลายสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์ 16, 50, 70, 72 และ 80

สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 80 เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งจะประสบผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2550 หลังจากที่ใช้เวลาในการวิจัยกว่า 6 ปี จนได้พันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่มีลำต้นแข็งแรง มีความต้านทานต่อโรคแมลง ให้ผลดก มีขนาดใหญ่ และมีรสชาติหวาน ส่วนชื่อพันธุ์ 80 นั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่มีพระชนพรรษา 80 พรรษานั่นเอง ถือเป็นผลไม้มหัศจรรย์ลูกเล็กๆ ที่มาทดแทนฝิ่นได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง

เรากลับมายังที่พัก อาบนํ้า เก็บของก่อนที่จะเดินทางกลับมายังตัวเมืองเชียงใหม่ โดยเส้นทางขากลับนั้น เรามุ่งหน้าลงไปยังตัวอำเภอฝาง แทนที่จะย้อนกลับทางเดิม เพราะจะได้สัมผัสกับวิวทิวทัศน์ใหม่ๆ ด้วยนั่นเอง เส้นทางจากดอยอ่างขาง ไปยังอำเภอฝาง ค่อนข้างสูงชันกว่าทางด้านบ้านอรุโณทัย ตามริมทางจะมีป้ายทางลงลาดชัน 8% และใช้เกียร์ตํ่าให้เห็นอยู่ตลอด ซึ่งการบอกความลาดชันกี่เปอร์เซ็นต์นั้น จะคำนวณจากความสูงของจุดเริ่มต้นของเนิน และความสูงของปลายเนินในระยะ 100 เมตร อย่างเช่น 8% นั่นคือความสูงของจุดเริ่มต้นของเนินกับปลายเนินต่างกัน 8 เมตร ตัวเลขมากๆ หมายถึงเป็นเนินที่มีความลาดชันมาก ควรจะต้องใช้ความระมัดระวังสูงสุดครับ

ปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่ขับรถเกียร์อัตโนมัติคือ ไม่ค่อยใช้ engine brake ในการขับรถลงเขา การชะลอความเร็วมักจะใช้เบรกเพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าเป็นช่วงลงเขายาวๆ เบรกทำงานหนักเกินไป อาจจะไหม้ และก่อให้เกิดอันตรายได้ ทางที่ดีให้ ชิฟท์เกียร์ลงมาเป็นเกียร์ตํ่า หรือลดลงจากตำแหน่ง D มาที่ตำแหน่ง 2 หรือ 1 หรือ L นั่นแหละครับ ผสมผสานไปกับการใช้เบรก จะช่วยให้ความเร็วของรถลดลง รวมทั้งเป็นการช่วยลดความร้อนที่ระบบเบรกจากการใช้งานหนักๆ ได้อีกด้วย

dsc06857

แต่สำหรับพาหนะของผม และทีมงาน Toyota SIENTA ใช้ระบบเกียร์แบบ Sport Sequential Shift 7 สปีด สามารถปรับชิฟท์เกียร์ได้แบบแมนนวล จึงช่วยให้เลือกใช้เกียร์ที่สัมพันธ์กับสภาพเส้นทางได้อย่างสะดวก และกว่า 80% ของการขับขี่ บนดอยสูงนี้ ผมเลือกใช้การปรับชิฟท์เกียร์เองแบบแมนนวลครับ เพราะนอกจากจะมั่นใจในการตอบสนองของเกียร์แล้ว ยังให้ความปลอดภัยในการขับขี่อีกด้วยครับ เพราะช่วยลดการใช้เบรกหนักๆ ในขณะลงเขาที่มีความยาวกว่า 4 กิโลเมตร ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

สำหรับทริปหน้านั้น พาหนะของเรายังคงเป็น Toyota SIENTA คันเก่ง เราจะพาไปเยือนโครงการหลวงขุนวาง และศูนย์วิจัยขุนวาง หนึ่งในผลงานของพ่อจากทั้งหมดกว่า 4000 โครงการ แล้วพบกันฉบับหน้าครับ สวัสดีครับ..

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทาง : การเดินทางไปสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
จากจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 ตรงไปยังอำเภอเชียงดาว ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 79 จากนั้นเลี้ยวซ้าย ใช้เส้นทางหมายเลข 1178 ไปยังตำบลเมืองงาย วิ่งยาวตามเส้นทางไปจนถึงบ้านนํ้าริน จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหมายเลข 1340 มุ่งหน้าไปยังบ้านอรุโณทัย และเลี้ยวขวาที่สามแยกบ้านอรุโณทัย วิ่งตามเส้นทางมาเรื่อยๆ จะเป็นเส้นทางขึ้นเขาและคดเคี้ยว จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 1249 ไปยังสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีป้ายบอกทางตลอด รวมระยะทาง ประมาณ 160 กิโลเมตร