Shooting Destination

ตามรอยเท้าพ่อ ไปดูงานประมงชายฝั่ง

ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง

งานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวกับด้านการประมงนั้น มีอยู่มากมายและต่อเนื่องมาอย่างยาวนานทีเดียว เชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะเคยรับประทานปลานิล หรือถ้าหากไม่ทานปลา อย่างน้อยก็น่าจะต้องรู้จักกับปลานิลอยู่บ้าง โดยเดิมทีนั้น ปลานิลไม่ใช่ปลาพื้นถิ่นของบ้านเรา ปลานิลมีพื้นเพอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และเข้ามาแพร่หลายอยู่ตามลำคลองหนองนํ้าในบ้านเราทั่วทุกภุมิภาค จากพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ที่ทรงวางรากฐานการส่งเสริมทางด้านการประมงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 โดยให้กรมประมงส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อให้กับประชาชน

สำหรับการโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาของกรมประมงนั้น เริ่มจากเมื่อกรมประมงแห่งเมืองปีนัง ได้ส่งปลาหมอเทศให้กรมประมงไทยทดลองเพาะเลี้ยงเมื่อปี พ.ศ. 2492 ปรากฎว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนต่อโรคและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เมื่อทราบถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้บ่อนํ้าในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นบ่อทดลองเพาะขยายพันธุ์ปลาหมอเทศ จากนั้นพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานปลาหมอเทศที่เพาะเลี้ยงได้ ให้แก่กำนันและผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ เพื่อนำไปเลี้ยงแพร่ขยายพันธุ์ในหมู่บ้านของตนต่อไป

ส่วนพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลานิลนั้น เริ่มจากเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาทิลาเปีย นิโลติกา (Tilapia Nilotica) จำนวน 50 ตัว แด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยปลาทั้งหมดลงเลี้ยงในบ่อบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อเลี้ยงปลาเพิ่มขึ้นอีก 6 บ่อ จากนั้นได้ทรงย้ายปลาจากบ่อเดิมไปเลี้ยงในบ่อใหม่ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2508 และได้พระราชทานชื่อปลานี้ว่า “ปลานิล”

พระองค์ได้พระราชทานลูกปลานิล 10,000 ตัว ให้กรมประมง เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน และที่สถานีประมงต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการขยายพันธุ์ปลานิลได้เป็นจำนวนมาก และได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามพระราชประสงค์ จวบจนถึงปัจจุบัน เป็นจำนวนหลายล้านตัวต่อปี นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำพันธุ์ปลานิลที่เพาะเลี้ยงไว้ในบ่อบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต แจกจ่ายให้แก่ราษฎร ตามความต้องการอีกเป็นประจำ

ในปัจจุบัน สถานีประมงและเอกชนสามารถผลิตพันธุ์ปลานิลได้เป็นจำนวนมาก และได้มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างกว้างขวางในทุกภูมิภาค นอกจากการแจกจ่ายให้กับประชาชนแล้ว ยังได้มีการปล่อยปลานิลลงแหล่งนํ้าต่างๆ ทำให้ปลานิลกลายเป็นปลานํ้าจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยชนิดหนึ่ง และถือเป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้แก่ราษฎรทั่วไปในทุกภูมิภาค รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพสำหรับราษฎรในท้องถิ่นอีกด้วย นับว่าพระอัจฉริยภาพของพระองค์ สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนของพระองค์ทั่วทั้งราชอาณาจักรเลยทีเดียว

ผมและทีมงานเดินทางต่อจากลุ่มนํ้าปากพนัง มุ่งหน้าไปยังอีกฝั่งทะเลไทยด้านอันดามัน จังหวัดกระบี่ โดยมีจุดหมายอยู่ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กระบี่ หนึ่งในศูนย์วิจัยทางด้านการประมงที่สนองต่อปณิธานของพ่อ เอื้อประโยชน์ให้กับชาวประมง และผู้ที่สนใจทางด้านการประมง รวมถึงส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวไปด้วยในตัว

แน่นอนว่าพาหนะในการเดินทางยังคงเป็นรถยนต์ รถยนต์ Toyota SIENTA 1.5V AT รถยนต์เอนกประสงค์สำหรับครอบครัวยุคใหม่ 7 ที่นั่ง ที่มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซินแบบ 2NR-FE DUAL VVT-i ความจุ 1500 ซีซี 4 สูบ 16 วาล์ว ให้แรงม้าสูงสุด 108 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 140 นิวตัน-เมตร ที่ 4,200 รอบต่อนาที ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางโค้ง หรือเส้นทางบนเขา พละกำลังขนาดนี้ก็พาผมและทีมงานเดินทางสู่จุดหมายได้อย่างสบายๆ ล่ะครับ

ผมเองประทับใจกับทัศนวิสัยในการขับขี่ ตั้งแต่เคยใช้งานครั้งก่อนนี้ ซึ่งจากที่นั่งคนขับทัศนวิสัยในการมองโปร่งโล่งดีทีเดียว ช่วยให้การขับขี่สะดวกและง่ายขึ้น กระจกมองข้างทั้งสองบานก็มีขนาดใหญ่ และปรับมุมมองด้วยไฟฟ้า ช่วยให้มองด้านข้าง เมื่อต้องการเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลนได้สะดวกเช่นกัน อีกทั้งด้านหลังยังมีกล้องมองหลัง เมื่อใช้เกียร์ถอย  ช่วยให้มองพื้นที่โดยรอบเมื่อต้องถอยรถเข้าจอดได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกันครับ นอกจากนี้พื้นที่เหนือศีรษะยังมีเหลืออีกมาก โดยผมเอง สูง 170 เซ็นติเมตร มีน้องทีมงานที่เป็นผู้โดยสารด้านหลัง และมีความสูง 174 เซ็นติเมตร ยังสามารถนั่งได้อย่างสบายๆ ไม่อึดอัด และยังมีพื้นที่เหนือศีรษะเหลืออีกพอสมควร

จุดเด่นอย่างหนึ่งของ Toyota SIENTA 1.5V AT นั่นคือประตูข้างแบบสไลด์เปิด-ปิด ซึ่งในรุ่นท๊อปสุด 1.5V ที่ผมได้รับมานั้น เป็นประตูแบบสไลด์เปิดและปิดอัตโนมัติทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งก็เป็นที่ถูกอกถูกใจน้องๆ ทีมงานอย่างมากทีเดียว เพราะเหตุผลที่ว่าเข้าออกตัวรถรวมทั้งหยิบข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ สะดวกสบายมากครับ

การตอบสนองการขับขี่ของ Toyota SIENTA ทำได้ดีเยี่ยมทีเดียว ซึ่งผมเองก็ได้สัมผัสมาตั้งแต่ครั้งเดินทางในทริปก่อนหน้านี้ ซึ่งเส้นทางไปยังจังหวัดกระบี่ ถึงแม้จะไม่ได้เขาสูงชันเหมือนทางภาคเหนือ แต่เป็นเส้นทางคดเคี้ยวไปมามากมายอยู่พอสมควร การตอบสนองของเครื่องยนต์ในการเร่งแซงยังทำได้ดีเมื่อใช้เกียร์ออโต้ปกติ แต่หลายๆ ครั้ง ก็ต้องการการเร่งแซงที่รวดเร็ว ฉับไว ซึ่งกรณีแบบนี้ ผมจะจะปรับรูปแบบการเปลี่ยนเกียร์เป็นแบบปรับชิฟท์เองครับ ซึ่งการใช้งานก็เพียงโยกคันเกียร์จากตำแหน่ง D มาด้านขวา จากนั้นโยกคันเกียร์มาด้านหลัง จะเป็นการปรับชิฟท์เกียร์ให้ตํ่าลง และดันคันเกียร์ไปด้านหน้า เมื่อต้องการปรับปรับเพิ่มเกียร์ให้สูงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนเกียร์เองแบบนี้ ไม่เพียงช่วยให้เร่งแซงได้อย่างฉับไวและปลอดภัยแล้ว แต่ยังเพิ่มความรู้สึกในการขับขี่ให้สนุกขึ้นอีกด้วย ซึ่งผมเองใช้งานอยู่บ่อยๆ เช่นกันครับ

เส้นทางจากตัวเมืองกระบี่ ไปยังหาดนพรัตน์ธารานั้น เป็นเส้นทางโค้งมากมายหลายจุด ซึ่งก็ถือเป็นการทดสอบช่วงล่างของ Toyota SIENTA ไปด้วยในตัว ซึ่งก็มีการยึดเกาะถนนที่ดีเยี่ยม การเข้าโค้งต่างๆ นั้น ช่วงล่างเกาะหนึบดีทีเดียว และไม่มีอาการโคลงหรือโยนตัวให้เห็น  บางโค้งที่กว้างๆ ยาวๆ หน่อย ก็สามารถใช้ความเร็วสูงขึ้นได้ แต่การยึดเกาะก็ยังคงหนึบและนิ่งเช่นเดิมครับ

สุสานหอย 75 ล้านปี ที่มีป้ายให้ความรู้เป็นอย่างดีครับ

ผมมีโปรแกรมที่จะไปถ่ายภาพที่สุสานหอย 75 ล้านปี ซึ่งอยู่เลยจากศูนย์วิจัยฯ ไปไม่ไกลนัก ก่อนที่จะไปยังจุดหมายหลัก นั่นคือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง ในวันรุ่งขึ้น โดยความเป็นมาของสุสานหอย 75 ล้านปีนั้น เป็นซากฟอสซิลขนาดใหญ่ มีความกว้างกว่า 50 เมตร และยาวกว่า 1 กิโลเมตร เกิดจากการทับถมของซากหอยขมขนาดประมาณ 2 เซ็นติเมตร ซึ่งเป็นหอยนํ้าจืดหลายล้านตัว อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะมีขมวดคิ้วกันบ้างล่ะครับ …ที่นี่เป็นทะเล ไม่ใช่รึ ?? แล้วทำไมจึงมีหอยนํ้าจืดได้ล่ะ..??…

ครับ จากข้อมูลที่ค้นหามาได้นั้น ว่ากันว่าพื้นที่ตรงนี้เมื่อประมาณ 75 ล้านปีก่อนนั้น น่าจะเป็นบึงนํ้าจืดขนาดใหญ่ และมีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งมีสัตว์นํ้าชนิดต่างๆ โดยเฉพาะหอยขมแพร่ขยายพันธ์นับล้านๆ ตัว ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ทำให้บึงนํ้าจืดขนาดใหญ่นั้นมีระดับตํ่ากว่านํ้าทะเล ทำให้นํ้าทะเลไหลเข้ามาในบึงนํ้าจืด จนสัตว์นํ้าต่างๆ ตายลง  และธาตุปูนจากนํ้าทะเลได้ประสานซากหอยเหล่านี้ประสานกันจนเป็นแผ่นหินแข็ง ภายหลังเปลือกโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ทำให้แผ่นหินฟอสซิลเหล่านั้นโผล่พ้นนํ้าทะเลขึ้นมาบางส่วนอย่างที่เห็นในปัจจุบันนั่นเองครับ

รอยแตกของแผ่นหิน จะเห็นตัวหอยถูกฝังอยู่ในแผ่นหินนั้นอย่างชัดเจน

ผมเข้าไปส่องใกล้ๆ กับรอยแตกของแผ่นหิน จะเห็นตัวหอยถูกฝังอยู่ในแผ่นหินนั้นอย่างชัดเจน สำหรับพื้นที่ของสุสานหอยนั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน เมื่อเดินตามทางเข้าสุสานหอยฯ ไปจนถึงริมทะเล จะมีป้ายแนะนำส่วนต่างๆ ให้กับนักท่องเที่ยว นั่นคือ ส่วนแรก อยู่บริเวณด้านขวาห่างออกไปประมาณ 300 เมตร ส่วนที่สอง คือส่วนที่อยู่ด้านหน้าทางเดินลงมานั่นเอง ถือเป็นจุดหลักที่รู้จักกันในนามสุสานหอยนั่นเอง และส่วนที่สาม ห่างออกไปทางด้านซ้ายประมาณ 1 กิโลเมตร ด้านนี้จะเป็นหอยที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าจุดอื่นๆ โดย มีความยาวประมาณ 4-5 เซ็นติเมตร

สำหรับสุสานหอย 75 ล้านปีนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี ในเขตบ้านแหลมโพธิ์ โดยสุสานหอยในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วโลกมีอยู่เพียง 3 แห่งเท่านั้น คือที่ประเทศสหรัฐอเมริกา, ประเทศญี่ปุ่น และที่ประเทศไทยของเรานั่นเองครับ สำหรับการเข้าชมนั้น เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7:30-17:30 ค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท ส่วนชาวต่างชาติ  เด็ก 100 บาท ผู้ใหญ่ 200 บาทครับ

สุสานหอย 75 ล้านปี ยังมีร้านขายของที่ระลึก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์จากชาวบ้าน และเป็นสินค้าที่ทำจากหอยเป็นส่วนมากครับ

เช้าวันใหม่ ผมเดินทางจากที่พักไปยังจุดหมายหลักของเรา ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่  ซึ่งอยู่ก่อนที่จะถึงสุสานหอย 75 ล้านปี ประมาณหนึ่งกิโลเมตรเท่านั้นเอง ที่นี่มีความโดดเด่นจากการวิจัยและเพาะพันธ์ปลาการ์ตูนกว่า 13 สายพันธุ์ เป็นแห่งแรกของเมืองไทย โดยความเป็นมาของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กระบี่นั้น ชื่อเดิมคือสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าชายฝั่งจังหวัดกระบี่ สังกัดกองเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าชายฝั่ง กรมประมง ซึ่งได้รับการก่อสร้างตามโครงการเพาะเลี้ยงกุ้งนํ้ากร่อยของกรมประมง เมื่อปี พ.ศ.2528 -2529 โดยมีผลงานวิจัยที่โดดเด่น อาทิ การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการเพาะและอนุบาลกุ้งเหลือง, การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการเพาะและ อนุบาลปลาหูช้าง  การเลี้ยงปลากะรังแดงจุดฟ้าจากธรรมชาติในกระชัง และผลของความถี่การให้อาหารต่อการเจริญเติบโตของปลากะรังเหลืองจุดฟ้า เป็นต้น

หลังจากที่ขับรถผ่านประตูทางเข้าศูนย์มาแล้ว จะมีทางแยกขวามือ ตรงไปยังบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งแบกออกเป็นสองฝั่ง  ด้านซ้ายมือเป็นทั้งสำนักงานและบ่อเลี้ยงขนาดใหญ่  ที่สร้างสะพานทางเดินพร้อมหลังคาให้นักท่องเที่ยวเดินชมสัตว์นํ้าชนิดต่างๆ ทั้งปลาตัวโตๆ หลากหลายชนิด และเต่าทะเลที่หากินอยู่ริมตลิ่ง ให้ผมและทีมงานได้ลั่นชัตเตอร์กันชุดใหญ่ทีเดียว สำหรับเลนส์ที่ใช้ต้องเป็นช่วงเทเลโฟโต้ครับ สะดวกที่สุดก็เลนส์เทเลซูม เพราะสามารถปรับเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้อย่างสะดวก ทั้งที่ถ่ายได้ในระยะใกล้ๆ หรืออยู่ในระยะไกลก็ตาม อุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องมีเลย นั่นคือฟิลเตอร์โพลาไรซ์ครับ สำหรับตัดแสงสะท้อนที่ผิวนํ้า ทำให้มองเห็นตัวปลาที่อยู่ในระดับนํ้าที่ตํ่าลงไปด้วย ซึ่งนํ้าก็ค่อนข้างใสทีเดียวครับ

ทางเดินสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินชมปลาภายในศูนย์ฯ ซึ่งมีหลังคากันแดด-ฝนอย่างดี

เส้นทางเดินชมบ่อนั้นมีอยู่สองระยะ คือเส้นทางรอบนอก กินพื้นที่ค่อนข้างกว้าง เกือบๆ จะวนรอบบ่อทั้งหมด แถมมีหลังคากันฝนกันแดดได้เป็นอย่างดีทีเดียว ริมๆ ขอบบ่อ นํ้าค่อนข้างตื้น จะมีปลานกแก้วว่ายเข้ามาหาอาหารกันอยู่ไม่ขาด กลางๆ นํ้าจะมีปลาเสือ ลอยตัวนิ่งๆ รอพ่นนํ้าจับแมลงที่บินมาเกาะกิ่งไม้ ใบหญ้าริมตลิ่งเป็นอาหาร ซึ่งระหว่างที่ผมกำลังยืนถ่ายภาพอยู่บนสะพานทางเดินนั้น ..แผละ.. มีนํ้ามากระทบกับขากางเกงเลยตาตุ่มขึ้นมาหน่อย ก็เปียกๆ ล่ะครับ แต่ไม่ถึงกับแฉะๆ ผมก้มมองอย่างงงๆ ว่านํ้ามาจากไหน มาได้อย่างไร รึจะเจอดีจากผู้ไม่ประสงค์จะออกนามซะแล้ว มองซ้าย ไม่มีใคร มองขวาก็ไม่มีใคร พอมองลงไปบนผิวนํ้า เจ้าปลาเสือตอ ตัวขนาดประมาณฝ่ามือ ลอยตัวอยู่ริมๆ ผิวนํ้านิ่งๆ …นั่นล่ะครับ ผลงานของเค้าล่ะ ไม่รู้ว่ามีตัวอะไรมาเกาะที่ขากางเกงผมหรือเปล่า หรือเรียกร้องความสนใจ หรือแค่หมั่นไส้ผมเฉยๆ เพราะยืนถ่ายภาพอยู่นานสองนาน โดยไม่หันกล้องไปถ่ายเค้าน่ะครับ ..ฮ่า ฮ่า ฮ่า…

ปลาเสือตอที่สามารถพ่นนํ้าจับเหยื่อได้ สีสวยดีทีเดียวครับ

เต่าทะเลที่ถือได้ว่าเป็นจุดสนใจของเด็กๆ และครอบครัวอย่างดีครับ

เต่าทะเลที่สามารถยืนชมที่ริมฝั่งได้อย่างใกล้ชิดครับ

ผมสังเกตเห็นนํ้ากระเพื่อมๆ อยู่ริมตลิ่ง เลยเดินเข้าไปดูใกล้ๆ เต่าทะเลตัวใหญ่พอสมควร กำลังดำผุดดำว่ายหาอาหารอยู่ริมตลิ่งครับ เค้าไม่ค่อยโผล่หัวขึ้นมา ก็เลยถ่ายภาพยากสักหน่อย เห็นแต่กระดองที่โผล่พ้นผืวนํ้าขยับๆ ไปมา ยืนดูอยู่สักพัก เค้าก็ว่ายออกมากลางนํ้า ลอดใต้สะพานไปอีกด้านของหนองนํ้า ผมเลยรอจังหวะที่เค้าว่ายอยู่กลางนํ้าแล้วยกหัวขึ้นมา แต่ก็ถ่ายได้ไม่กี่ภาพเค้าก็ลอยห่างออกไปอย่างรวดเร็ว ผมเดินไปจนสุดสะพานอีกด้าน ที่นี่มีบ่ออนุบาลเต่าทะเลขนาดย่อมๆ อยู่หลายตัวครับ กดชัตเตอร์ไปหลายๆ ภาพ ช่วงใกล้เที่ยงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมกันค่อนข้างเยอะ เด็กๆ เห็นเต่าทะเลก็วิ่งกรูกันเข้ามา พร้อมเรียกพ่อแม่ให้เข้ามาดูด้วย เป็นกิจกรรมที่เสริมความรักความอบอุ่นในครอบครัวได้เป็นอย่างดีทีเดียว

บ่อที่เตรียมไว้สำหรับอนุบาลปลาการ์ตูน

ฝั่งตรงข้ามกับบ่อ ผมเห็นเจ้าหน้าทีกำลังเตรียมอ่างปลา เอาไว้หลายๆ อ่างด้วยกัน เข้าไปสอบถามได้ความว่า เตรียมไว้สำหรับเป็นบ่ออนุบาลปลาการ์ตูนที่เพาะเลี้ยงไว้ และแยกออกมาจากบ่ออนุบาลรวมอีกที เสียดายที่ยังไม่เอาออกมาในวันนี้ เลยอดถ่ายภาพปลาการ์ตูนน่ารักๆ ในพื้นที่ตรงนี้ แต่ต้องเข้าไปถ่ายภาพในโรงเรือนบ่ออนุบาลที่ค่อนข้างมืดแทน ซึ่งแน่นอนว่าต้องปรับเพิ่ม ISO ให้สูงขึ้นกว่า บ่อด้านนอกอีกหลายสตอปแน่นอน

ระหว่างนั้น เห็นน้องทีมงานกำลังก้มหน้าก้มตาถ่ายภาพไปยังผิวนํ้าด้านล่างอย่างตั้งใจ จึงเดินไปดูแล้วก็ถึงบางอ้อ ..ครับ ปลาหมอทะเลตัวโต เทียบๆ กันแล้วตัวใหญ่โตกว่าน้องทีมงานที่กำลังถ่ายภาพอยู่ซะอีก สำหรับปลาหมอทะเลหรือ Giant Grouper นั้น มีชื่อ ทางวิทยาศาสตร์ว่า Epinephelus lanceolatus เป็นปลาในวงศ์ปลากะรัง ที่เป็นหนึ่งในส่วนของงานวิจัยของที่นี่ด้วยนั่นเอง และเป็นปลาใน วงศ์ปลากะรังที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อโตเต็มที่ อาจจะมีความยาวถึง 2.5 เมตร และมีนํ้าหนักถึง 400 กิโลกรัมเลยทีเดียวล่ะครับ

ปลาหมอทะเลตัวโต เมื่อเทียบขนาดกับคน ซึ่งนับว่าใหญ่มากๆ ครับ

ปลาหมอทะเลตัวโตเมื่อถ่ายภาพจากด้านหน้าครับ

อีกด้านของทางเดินชมรอบใน เป็นกระชังปลาการ์ตูนหลากหลายสี ที่เจ้าหน้าที่กำลังให้อาหารอยู่ ส่วนมากยังคงเป็นตัวเล็กๆ อยู่ และมีตาข่ายคลุมด้านบน ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า เอาไว้ป้องกันนกที่จะมาจิกกินลูกปลาเหล่านั้นครับ มีหนึ่งบ่อที่เป็นลูกปลาสีส้มสดใส ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ ผมเลยถามเจ้าหน้าที่ว่า ให้อาหารบ่อนี้ด้วยได้มั๊ย เพราะอยากได้ภาพตอนที่ลูกปลารุมเข้ามากินอาหารนั่นเอง แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า บ่อนั้นให้อาหารไปแล้ว ซึ่งก็คือหนึ่งในขั้นตอนการวิจัยเกี่ยวกับผลของความถี่ในการให้อาหารปลานั่นเองครับ

จากทางเดินรอบบ่อ ผมเข้าไปถ่ายภาพภายในบ่ออนุบาลปลาการ์ตูนหลากสายพันธุ์ รวมทั้งมีบ่อม้านํ้าอยู่หลายบ่อเช่นกัน ภายในอาคารมีแสงค่อนข้างน้อย จำเป็นต้องปรับเพิ่มความไวแสงให้สูงมากกว่าที่ถ่ายด้านนอกพอสมควร เพราะนอกจากแสงจะน้อยเกินไปแล้ว ยังต้องการความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น เพื่อจับจังหวะของปลาการ์ตูนที่ว่ายไปมาอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ลูกปลาการ์ตูนที่กำลังโตและสวยงามครับ

ฟ้าด้านนอกเต็มไปด้วยเมฆฝนดำทะมืนที่เคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมเมืองอย่างรวดเร็ว ลมพัดแรงขึ้นทุกขณะ เป็นสัญญาณว่าอีกไม่นานจะมีฝนตกลงมาอย่างแน่นอน ผมกลับมาที่รถ สตาร์ทเครื่องก่อนที่จะเคลื่อนออกไปจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กระบี่ พร้อมๆ กับสายฝนที่โปรยปรายลงมา และเพิ่มปริมาณหนักขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มีนํ้าเอ่อขังอยู่ตามขอบทาง ซึ่งถ้าหากว่าขับมาอย่างรวดเร็วอาจจะทำให้รถเสียการทรงตัวได้ง่ายๆ แต่สำหรับระบบความปลอดภัยในการขับขี่ของ Toyota SIENTA นั้น มีระบบช่วยการทรงตัว VSC หรือ Vehicle Stability Control ซึ่งจะทำงานทันที เมื่อตรวจจับได้ว่าล้อที่กำลังขับเคลื่อนเกิดการลื่นไถลหรือหมุนฟรี โดยมีไฟแสดงสถานะ การทำงานโชว์ขึ้นที่แผงหน้าปัด  ซึ่งผมสังเกตได้ว่าไฟสภานะการทำงานนั้นโชว์ขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ก่อนที่จะดับลง เมื่อการทรงตัวของรถอยู่ในสภาวะปกติ นั่นแสดงให้เห็นว่า ระบบความปลอดภัยทำงานอย่างรวดเร็วในชั่วพริบตา เมื่อตรวจจับอาการผิดปกติของรถได้นั่นเอง  ซึ่งก็ทำให้ผมมีความมั่นใจในการขับขี่มากขึ้นด้วยเช่นกันครับ

สำหรับทริปต่อไปนั้น ผมมีแพลนไปเยือนโครงการหลวงในฝั่งภาคอีสานกันบ้าง โดยจะไปยังโครงการชลประทาน อ่างเก็บนํ้าบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ บ้านกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร ส่วนจะเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นไหนนั้น ติดตามกันได้ใน ฉบับหน้านะครับ ..สวัสดีครับ…

 

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทางไป :  “ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กระบี่”

จากถนนเพชรเกษมตัวเมืองกระบี่ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 4200 จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 2034 มุ่งตรงไปยังหาดนพรัตน์ธารา ระยะทางประมาณ 5.2 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายตามเส้นทางหมายเลข 4204 ตรงไปยังอ่าวนํ้าเมา ระยะทางจากสามแยกประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงวงเวียน  ให้ใช้ทางออกซ้ายมือ ตรงไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่  ระยะทางจากวงเวียน ประมาณ 2 กิโลเมตร และไปยังสุสานหอย 75 ล้านปีประมาณ 3 กิโลเมตร

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตามบทความ ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/