BASIC PHOTO TECHNIQUES

ทำความเข้าใจกับ ISO

 

ISO เป็นการปรับตั้งพื้นฐานที่ใช้ในการถ่ายภาพเพื่อให้ภาพสว่างหรือมืด หรือเพื่อให้สามารถถ่ายภาพในสภาพแสงนั้นๆ ได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องภาพเบลอจากการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกิน การใช้ ISO ค่าต่ำๆ ความไวในการรับแสงจะน้อยลง  การใช้ ISO สูงๆ ความไวในการรับแสงจะสูงขึ้น

ISO ของการถ่ายภาพย่อมาจาก “International Organisation for Standardisation” ซึ่งหมายถึง องค์กรที่กำหนดมาตรฐานสากล เป็นศัพท์ด้านการถ่ายภาพที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในกล้องฟิล์ม ความไวแสง ISO จะใช้ในการกำหนดความไวต่อแสงของฟิล์มถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้ใช้ตั้งค่าการวัดแสงของกล้องให้ตรงกับความไวแสงของฟิล์มซึ่งจะมีผลต่อความสว่างของภาพที่เหมาะสม 

ในการถ่ายภาพดิจิตอล ความไวแสง (ISO) จะใช้ในการกำหนดความไวต่อแสงของเซนเซอร์รับภาพ โดยเซนเซอร์รับภาพในกล้องแต่ละรุ่นจะมีค่าความไวแสงเฉพาะตัวที่เรียกกันว่า Base ISO  ซึ่งจะเป็นความไวแสงที่ไม่มีการบูสท์สัญญาณ โดยในเซนเซอร์รับภาพจะมีภาคขยายสัญญาณเพื่อใช้ขยายสัญญาณที่อ่อนลงจากการปรับ ISO ที่สูงกว่า Base ISO  ซึ่งการปรับความไวแสงสูงมากเท่าใด แสงที่ตกบนเซนเซอร์รับภาพก็จะน้อยลงเท่านั้น จึงต้องมีการขยายสัญญาณมากขึ้นๆ ตามลำดับ

ISO ที่สูงขึ้นบอกถึงความไวต่อแสงที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์เมื่อคุณถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย เพราะช่วยให้สามารถเก็บบรรยากาศและสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวแบบได้เหมือนที่เห็นด้วยสายตาโดยไม่ต้องใช้แฟลช และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับหลายสถานการณ์ เช่น การถ่ายภาพในสถานที่  การถ่ายภาพกีฬาที่ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงในสภาพแสงน้อย การถ่ายภาพการแสดงบนเวที  ภาพคอนเสิร์ต เป็นต้น

ภาพตุ๊กตาชุดนี้บันทึกด้วยกล้อง Full Frame 26 ล้านพิกเซลด้วยความไวแสงตั้งแต่ ISO100-40000  แล้วนำมาครอป 100% ให้เห็นคุณภาพทั้งเรื่อง Noise และรายละเอียด

ISO100 (crop 100%)

ISO200 (crop 100%)

ISO400 (crop 100%)

ISO800 (crop 100%)

ISO1600 (crop 100%)

ISO3200 (crop 100%)

ISO6400 (crop 100%)

ISO12800 (crop 100%)

ISO25600 (crop 100%)

ISO40000 (crop 100%)

แต่การปรับ ISO จะมีผลต่อคุณภาพของภาพด้วย โดยภาพจะมีคุณภาพสูงเต็มที่เมื่อคุณใช้ความไวแสงที่ Base ISO ซึ่งไม่มีการขยายสัญญาณ (Base ISO มักจะอยู่ที่ ISO 100-200)  แต่เมื่อคุณใช้ ISO สูงขึ้นภาพจะหยาบมากขึ้น เราเรียกสิ่งที่ว่า Noise (สัญญาณรบกวน) ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อใช้ความไวแสง ISO 800 ขึ้นไป และจะเห็นได้ชัดในส่วนของเงามืดในภาพ หรือส่วนที่มีสีเข้ม  Noise จะทำให้ความคมชัดของภาพลดลง รายละเอียดลดลง การแยกแยะโทนสีลดลง คุณภาพโดยรวมจึงลดลง

ดังนั้นการเลือกใช้ความไวแสงที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญในการถ่ายภาพ หากต้องการคุณภาพสูงในทุกๆ ด้านควรใช้ความไวแสงต่ำ แต่เมื่อต้องการความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นโดยไม่สามารถปรับตั้งได้จากความไวแสงต่ำจึงต้องเพิ่ม ISO ให้สูงขึ้น ภาพจะมี Noise มากขึ้นแต่จะได้ภาพอย่างที่ต้องการ ความไวแสงที่เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไปจะอยู่ที่ ISO 200-800 เพราะยังได้คุณภาพสูงและถ่ายภาพได้สะดวกโดยความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำเกินเมื่อต้องถ่ายในสภาพแสงน้อย

 

ISO 50  

เป็นความไวแสงต่ำ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ Landscape, Seascape, Cityscape ที่ต้องการคุณภาพสูงสุดทั้งรายละเอียด การเก็บไฮไลต์และชาโดว์ ให้ไดนามิคเรนจ์กว้างสุด และยังเหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เพื่อผลพิเศษบนภาพ แต่ ISO 50 ไม่เหมาะกับการใช้งานทั่วไปเพราะไม่เห็นความแตกต่างเรื่องคุณภาพ แต่จะถ่ายภาพลำบากเมื่อแสงน้อย และไม่สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวได้

 

ISO 100-200 

เป็นความไวแสงค่อนข้างต่ำ เหมาะกับการใช้งานทั่วไปทั้งภาพ Landscape  ภาพบุคคล ภาพบันทึกในชีวิตประจำวัน เพราะมักเป็น Base ISO ของเซนเซอร์รับภาพ จึงให้คุณภาพสูงเต็มที่ทั้งการถ่ายทอดรายละเอียดและสีสันของภาพ  ภาพจะไม่มีสัญญาณรบกวน จึงใสเคลียร์สะอาดตา ในการใช้งานทั่วไปแนะนำให้ใช้ที่ ISO 200 เพราะมักจะเป็น Base ISO ของกล้องส่วนใหญ่ ที่ความไวแสง ISO 200 คุณจะถ่ายภาพได้สะดวก ยืดหยุ่น ได้ความเร็วชัตเตอร์สูงกว่า ISO 100 หนึ่งสตอป จึงมีโอกาสได้ภาพคมชัดมากกว่า

 

ISO 400

จัดเป็นความไวแสงปานกลาง เหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการความเร็วชัตเตอร์สูง เช่น การถ่ายภาพกีฬา ภาพบุคคลในสภาพแสงค่อนข้างน้อย  ภาพสัตว์ป่า ภาพนก ภาพแอคชั่นต่างๆ รวมทั้งภาพที่ถ่ายในสถานที่ซึ่งต้องใช้แสงจากไฟฟลูออเรสเซนต์  ไฟทังสเตน  ที่ความไวแสงนี้ภาพยังมีรายละเอียดดีมาก การไล่โทนสีดี  Noise ปรากฏแต่น้อยมากโดยเฉพาะกับกล้อง Full Frame

 

ISO 800 

เป็นความไวแสงปานกลางที่เหมาะกับการใช้ในสภาพแสงน้อยโดยยังต้องการคุณภาพสูง เช่น การถ่ายภาพบุคคลในตอนกลางคืนด้วยเลนส์ไวแสง  การถ่ายภาพกีฬา ภาพกีฬาในร่ม ภาพนก ภาพสัตว์ป่า ภาพงานพิธีแต่งงานที่ต้องการเก็บภาพด้วยแสงตามสภาพ  ภาพจากความไวแสงนี้จะปรากฏ Noise แต่ไม่มาก รายละเอียดของภาพยังดีมาก การเก็บรายละเอียดในส่วนสว่างและมืดจะลดลงจาก ISO 100-200 พอควร จึงไม่เหมาะกับภาพที่ต้องการขุดรายละเอียดจากไฟล์ RAW

 

ISO 1600 

จัดเป็นความไวแสงสูง โดยถ้าเป็นกล้องเซนเซอร์รับภาพขนาด Micro Four Thirds จะมี Noise ชัดเจนมาก  กล้องขนาด APS-C จะเห็น Noise ได้ชัด (เป็นค่าสุดท้ายที่หวังผลด้านคุณภาพ)  ส่วนกล้อง Full Frame จะปรากฏ Noise ชัดเช่นกัน แต่รายละเอียดยังดี  ISO 1600 เหมาะกับการถ่ายภาพกีฬาในร่มที่ต้องการความเร็วชัตเตอร์สูง  ภาพนกในร่มเงาของต้นไม้  ภาพท้องฟ้ากลางคืน ทางช้างเผือก  แสงเหนือ  ภาพงานแต่งงานที่ต้องการเก็บแสงแอมเบียนซ์  ภาพการแสดงบนเวที ภาพคอนเสิร์ต

 

ISO 3200 

เป็นความไวแสงสูง คุณภาพจะลดลงอย่างชัดเจนในทุกด้าน  Noise ปรากฏชัดในทุกบริเวณของภาพ ส่วนมืดของภาพจะมีเม็ดหยาบขนาดค่อนข้างใหญ่  ความคมชัดลดลงมาก  การไล่เฉดสีด้อยลง  ไดนามิคเรนจ์ลดลงกว่า 4-5 สตอป ในกล้องหลายรุ่นจะใช้วงจรลดสัญญาณรบกวนที่แรงทำให้ความหยาบไม่มากแต่ภาพดูเป็นวุ้น  ขาดรายละเอียด  ISO 3200 เหมาะสำหรับการใช้ในสภาพแสงน้อยมากเพื่อให้ได้ภาพคมชัด(แต่หยาบ)  เช่น ภาพการแสดงบนเวทีที่ถ่ายด้วยเลนส์ไม่ไวแสง  ภาพกีฬาในสภาพแสงน้อยที่ต้องหยุดแอคชัน  ภาพทางช้างเผือกของเลนส์ไม่ไวแสง  ภาพแสงเหนือ ภาพบุคคลในสภาพแสงน้อยจากเลนส์ซูม

 

ISO 6400 

จัดเป็นความไวแสงสูง เกินลิมิตของกล้องเซนเซอร์ Micro Four Thirds และเกือบเกินลิมิตของกล้อง APS-C ภาพจะหยาบ ขาดรายละเอียด ไม่สามารถพิมพ์ภาพขนาดใหญ่ระดับ A2 ที่มีคุณภาพได้ แต่ไม่มีปัญหากับการใช้งานบนโซเชียลอย่าง Facebook หรือ Instagram  ส่วนกล้อง Full Frame ที่ความไวแสงนี้ภาพยังมีคุณภาพรับได้   ISO 6400 ใช้สำหรับการถ่ายภาพกีฬาในสภาพแสงน้อยเช่น ฟุตบอล  ปิงปอง  ยิมนาสติก แบดมินตัน โดยยังมีความจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง  หรือกับภาพข่าว  ภาพสารคดีที่ต้องเก็บภาพในสภาพแสงน้อยมากๆ

 

ISO 12800

ความไวแสงระดับสูงมาก ควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้นเพราะคุณภาพจะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะกับกล้องที่ใช้เซนเซอร์รับภาพขนาด APS-C  ภาพจะขาดรายละเอียด ไฟล์ JPEG ขึ้นวุ้น  ส่วนกล้อง Full Frame รายละเอียดก็อยู่ในระดับแคพอใช้งานได้ถ้าไม่ขยายใหญ่  ยกเว้นกล้องระดับโปรรุ่นใหม่ที่มีความละเอียด 20-24 ล้านพิกเซลที่ยังให้คุณภาพดีพอควร  ISO 12800 ใช้สำหรับการถ่ายภาพกีฬาในสภาพแสงน้อยที่ต้องการความเร็วชัตเตอร์สูง  ภาพข่าว ภาพสารคดีที่ต้องการเก็บแสงให้ได้ดังตาเห็น

 

ปรับ ISO สูง เราเสียอะไรไปบ้าง

1. สัญญาณรบกวนมากขึ้น ยิ่ง ISO สูงภาพยิ่งหยาบ

2. รายละเอียด ความคมชัดของภาพลดลงตามลำดับเมื่อปรับ ISO สูงขึ้น

3. Dynamic Range ลดลง  ยิ่งปรับ ISO สูงความกว้างของช่วงการรับแสงจะยิ่งลดลง การดึงส่วนมืด การลดส่วนสว่างจากไฟล์ RAW จะทำได้น้อยกว่า

4. การไล่เฉดสีไม่ละเอียดและเนียนเหมือนการใช้ ISO ต่ำๆ

5. คอนทราสต์สูงขึ้น