Shooting Destination

ท่องเที่ยวเมืองรอง : มหัศจรรย์แห่งหิน “ภูผาเทิบ”

ภูผาเทิบ ความมหัศจรรย์ที่เกิดจากธรรมชาติของกลุ่มหินที่มีรูปทรงแปลกตา โดยมีลักษณะเป็นแผ่นหินที่วางทับซ้อน หลายๆ รูปทรงต่างกัน ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ จังหวัดมุกดาหาร ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยาน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2531 มีพื้นที่กว่า 30,312.5 ไร่

“เทิบ” เป็นภาษาถิ่นทางอิสาน หมายถึงการวางทับซ้อนกัน ซึ่งบางก้อนนั้นมีขนาดใหญ่จนสามารถเข้าไปหลบกันแดดกันฝนได้ แท่งหินหลากรูปทรงนี้ เป็นหินทรายที่ถูกกัดเซาะจากลมและฝนมายาวนานกว่า 125 ล้านปี ซึ่งรูปทรงต่างๆ ที่เห็นนั้น ก็เกิดขึ้นจากชั้นหินที่มีความแข็งแตกต่างกัน โดยหินทรายสีนํ้าตาลที่อยู่ชั้นบน มีส่วนประกอบของซิลิก้าและเม็ดกรวด จึงมีความคงทนมากกว่า และถูกกัดกร่อนได้ช้ากว่า ส่วนชั้นล่างลงมามีสีออกโทนขาว มีส่วนประกอบของคาร์บอเนต และคงทนน้อยกว่า จึงถูกกัดกร่อนได้เร็วกว่า เมื่อเวลาล่วงมานับร้อยล้านปี จึงกลายเป็นรูปทรงตามที่เห็น อาทิ รูปเต่า รูปเห็ด รูปเก๋งจีน หรือรูปรองเท้าบูท เป็นต้น ส่วนใครจะเห็นต่างออกไป ก็ตามจินตนาการของแต่ละคนล่ะครับ

ผมและทีมงานเดินทางไปยังภูผาเทิบด้วยรถยนต์ Toyota Avanza 1.5G A/T โฉมล่าสุดที่ได้รับการปรับปรุงรูปโฉมมาใหม่ โดยครั้งแรกที่เห็นในวันรับรถ คือ รูปทรงสวยกว่าภาพในโซเชียลมากทีเดียว ตั้งแต่กระจังหน้าใหม่ที่ออกแบบให้ดูสปอร์ตและโฉบเฉี่ยว และไฟหน้า LED ที่ออกแบบเป็นสองชั้น ดูทันสมัยมากขึ้น ช่องระบายอากาศสีดำขนาดใหญ่ ดูดุดัน พร้อมไฟตัดหมอกตรงชายกันชนล่าง

กระจกมองข้างเป็นแบบปรับและพับเก็บไฟฟ้าพร้อมไฟเลี้ยว ติดสเกิร์ตด้านข้างตัวรถซ้าย-ขวา ช่วยให้ดูมีเสน่ห์มากขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนด้านท้ายก็ออกแบบใหม่ อาทิ ไฟท้ายแบบมัลติรีเฟลกซ์เตอร์ พร้อมสปอยเลอร์ ไฟเบรก และเสาอากาศครีบฉลาม สำหรับล้อ เป็นแบบอัลลอยด์ 15 นิ้ว มาพร้อมยางขนาด 185/65 R15

Toyota Avanza 1.5G A/T มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร รหัสเครื่องยนต์ 2NR-VE แบบ 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว Dual VVT-i ให้พละกำลัง 102 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 134 นิวตันเมตรที่ 4,200 รอบต่อนาที และส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ซึ่งตอบสนองการใช้งานได้ฉับไวทีเดียว รวมทั้งให้การเปลี่ยนเกียร์ที่ลื่นไหลอีกด้วยครับ

มาดูด้านในกันบ้าง คอนโซลออกแบบได้เรียบง่าย แต่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ครบครัน ตกแต่งด้วยสีดำและตัดแถบเงินที่บริเวณเกียร์ และเหนือช่องเก็บของด้านหน้า รวมทั้งพวงมาลัยด้วย มาพร้อมเครื่องเล่นวิทยุและ CD พร้อมจอแสดงผลแบบสัมผัส ขนาด 7 นิ้ว เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อเล่นเพลงผ่าน Bluetooth ได้ด้วย รวมทั้งสามารถควบคุมเครื่องเสียง และรับโทรศัพท์ได้จากปุ่มบนพวงมาลัย ช่วยให้การขับขี่ปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่น T-Link สำหรับเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน เพื่อใช้งานระบบนำทาง และฟังเพลงออนไลน์ได้ด้วยเช่นกันครับ

จุดที่ผมชอบอย่างหนึ่งของ Toyota Avanza 1.5G A/T ใหม่นี้คือ วงเลี้ยวที่แคบมาก ซึ่งช่วยให้ผมลัดเลาะตามเส้นทางตรอกซอกซอยในตัวเมืองได้ง่าย ซึ่งสัมผัสได้อย่างชัดเจนในตอนที่กำลังเดินทางไปยังที่พักในตัวเมือง ซึ่งเส้นทางที่ผมคิดไว้ในตอนแรกปิดการจราจร ไม่ให้เข้า ผมต้องวนไปยังเส้นทางอื่นซึ่งจัดเป็นถนนคนเดิน ที่ค่อนข้างคับแคบ แต่วงเลี้ยวแคบๆ ก็ทำให้ผมลัดเลาะออกมาได้อย่างสะดวกทีเดียว ไม่ต้องเดินหน้า ถอยหลังขยับตั้งลำรถหลบสิ่งกีดขวางให้ยุ่งยากครับ

ผมและทีมงานเดินทางไปถึงอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบในช่วงบ่ายนิดๆ หลังจากที่เติมพลังด้วยก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมูที่ร้านค้าสวัสดิการ พร้อมเตรียมนํ้าดื่มระหว่างทางแล้ว ก็พร้อมเดินทางครับ “เชิญด้านนี้ก่อนค่ะ” เสียงเจ้าหน้าที่เรียกขาน เมื่อเห็นเรากะลังจะเดินไปตรงทางเข้า “มีเส้นทางเดินยังไงบ้างครับ มีจุดไหนที่แนะนำเป็นพิเศษบ้างครับ” ผมถามไป เจ้าหน้าที่ผายมือ พร้อมเดินนำเราไปที่ป้ายแสดงเส้นทางเดิน “นี่เป็นเส้นทางเดินชมภายในค่ะ ตอนนี้นํ้าตกทั้งสองที่ มีนํ้าน้อยมากเลยค่ะ ไม่แนะนำ” ผมมองตามเส้นทางซึ่งสามารถเดินวนเป็นวงกลมได้ เส้นทางไปและกลับจนถึงถํ้าลอดที่เป็นจุดที่ไกลที่สุด รวมๆ แล้วประมาณ 6 กิโลเมตร กับอีกเส้นทาง ที่ไม่ต้องไปไกลถึงถํ้าลอด ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรกว่า ผมประเมินเวลาที่จะต้องเดิน และหยุดถ่ายภาพ น่าจะต้องมีเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง จึงเลือกตัดเส้นทางถํ้าลอดออกไป

ทางเดินเข้าสู่กลุ่มหินเทิบ

“อย่าลืมเตรียมนํ้าดื่มไปด้วยนะคะ” เจ้าหน้าที่กำชับมาอีกครั้ง เมื่อเห็นว่า เราประสงค์ที่จะเดินไปลึกกว่ากลุ่มหินเทิบที่อยู่ตรงทางเข้าไม่ไกลมากนัก ทางเดินเข้าไปยังกลุ่มหินเทิบ ต้องเดินขึ้นเนินหินไปหน่อยนึง เป็นการวอร์มกำลังขาไปด้วยในตัว กลุ่มหินเทิบ เป็นกลุ่มที่มีหินเทิบทับซ้อนกันอยู่มากที่สุด ขนาดและรูปทรงต่างๆ ทั้งเล็กใหญ่ รวมๆ แล้วน่าจะเกินร้อยก้อนหรือแท่งล่ะครับ แต่ละก้อนจะมีป้ายกำกับ ก็เหมือนกับชื่อหินนั่นแหละครับ ผมลองก้มๆ เงยๆ ดูรอยต่อระหว่างหินที่เป็นฐาน กับหินเทิบที่อยู่ด้านบน บางก้อนที่มีขนาดใหญ่ สามารถคุ้มแดด กันฝนได้ แต่มีส่วนที่รองรับกันเพียงแค่ไม่กี่ตารางฟุตก็มีครับ ถือเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สรรค์สร้างขึ้นมาอย่างลงตัว โดยไม่ต้องมีเครื่องมือใดๆ มาชั่งตวงวัดให้ยุ่งยาก

 

หินสีเข้มด้านบน เป็นส่วนที่มีความแข็ง ทนต่อการกัดเซาะได้มากกว่าหินโทนสว่างๆ ด้านล่างที่มีการเสื่อมสลายเร็วกว่า จึงกลายเป็นประติมากรรมที่มีรูปทรงแปลกตามากมาย

ประติมากรรมที่เกิดจากธรรมชาติที่น่าทึ่งจากการซ้อนทับกัน บางก้อนมีส่วนที่วางทับกันเพียงไม่กี่ตารางฟุตเท่านั้นเอง

หินเทิบ หมายถึงหินที่วางซ้อนทับกัน

ภาพมุมกว้างของเส้นทางการเดินเที่ยวชมภูผาเทิบที่มีหินให้ชมได้หลายหลายรูปแบบ

ผ่านกลุ่มหินเทิบมาเล็กน้อย เป็นลานหินกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา พื้นที่ตรงนี้คือลานมุจรินทร์ ซึ่งถ้าเป็นช่วงปลายฝน ต้นหนาว จะมีดอกไม้ อย่างดุสิตา, กระดุมเงิน หรือหญ้าหนวดเสือขึ้นเต็มลานหิน ถือเป็นเสน่ห์อีกช่วงฤดูที่น่ามาเยือนที่นี่เช่นกันครับ

ผมตัดเส้นทางเดินไปนํ้าตกวังเดือนห้า เพราะเจ้าหน้าที่แจ้งมาแล้วว่าไม่มีนํ้ามุ่งตรงไปยังผาอูฐ ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร ผาอูฐถือเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นภูถํ้าพระ, ผาผักหวาน และผาขี้หมูได้ชัดเจนทีเดียว ชื่อของผาอูฐนี้ มาจากประติมากรรมหินที่มีรูปร่างคล้ายอูฐ ดูโดดเด่นอยู่บนลานหินนั่นเองครับ แต่ต้องดูให้ถูกมุมนะครับ เพราะไม่ใช่จะเหมือนอูฐทุกมุม

รูปทรงคล้ายๆ อูฐทะเลทราย จึงเป็นที่มาของชื่อหินอูฐ

“แคร่กๆ แคร่กๆ” เสียงเหมือนตัวอะไรเดินอยู่ในพุ่มไม้ข้างหน้า ผมค่อยๆ ย่องๆ ไปตามลานหิน หลีกเลี่ยงการวางเท้าลงบนใบไม้แห้ง เพื่อไม่ให้เกิดเสียง “ต้องเป็นสัตว์ป่าอะไรซักอย่างแหละ” ผมนึกในใจ เสียงที่เกิดขึ้น เหมือนเค้ากำลังเดินหาอาหาร เพราะดังๆ หยุดๆ สลับกัน พุ่มไม้อยู่ข้างหน้าไม่ถึง 3 เมตร เสียงเงียบลงไปแล้ว ผมหยุดอยู่ซักพัก เสียงยังคงเงียบอยู่ ผมขยับเดินอีกก้าว “แคร่กๆๆๆๆๆๆ” เสียงเจ้าตัวนั้นวิ่งยาวววววววว แบบไม่ติดเบรก ผมมองได้แค่แว่บเดียว เห็นเป็นตัวสีออกนํ้าตาลๆ มีหางยาว

“ตัวอะไรครับ” น้องทีมงานที่เดินมาสมทบถามขึ้น
“มองไม่ชัดนะ น่าจะเป็นอีเห็นป่าว วิ่งยาวไม่ติดเบรกไปไกลล่ะ”
“ผมก็เห็นมีร่องรอยขี้สัตว์อยู่นะครับ”
น้องทีมงานเสริมขึ้นมา ก็แสดงว่า ในพื้นที่ก็ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่นั่นเองครับ

ขวามือมีป้ายบอกทางไปยังผางอย จุดไกลสุดของเรา บริเวณหน้าผาจะมีหินรูปร่างคล้ายเต่าอยู่ริมหน้าผา ซึ่งผางอยนี้ สามารถชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นได้ ซึ่งหากประสงค์ที่จะเข้ามาในเวลานั้นจริงๆ ก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ไว้ก่อนด้วยครับ เพื่อความปลอดภัยนั่นเอง ผมและน้องทีมงานถ่ายภาพกันอยู่ซักพัก ก็เดินวนตามลานหินกลับออกมา พื้นผิวบางช่วงของลานหินระหว่างทางนั้น เป็นรอยลูกคลื่นคล้ายๆ ผิวนํ้าโดนลม ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากหินลาวาที่เย็นตัวลงอย่างรวดเร็วนั่นเองครับ

แนวคันปูนที่ก่อไว้กั้นการสลายไปของผิวดิน

บางช่วงของลานหิน จะถูกก่อปูนเป็นเส้นยาว สำหรับกั้นดินที่เกิดขึ้นจากการทับถมของพืชต่างๆ มาเป็นเวลายาวนาน และเป็นที่อยู่ของพืชขนาดเล็กต่างๆ แนวคันปูนที่สร้างขึ้นนี้ ก็เป็นการป้องกันดินที่เกิดขึ้น ไม่ให้ไหลตามน้ำฝน ที่อาจจะเซาะกัด และชะล้างดินให้หายไปด้านล่างของลานหินนั่นเองครับ

ระหว่างทางเดินบนลานหิน จะมีบางช่วงที่เป็นพื้นที่สีเขียว ที่เกิดขึ้นจากนํ้าซับขังเป็นแอ่งนํ้าเล็กๆ หรือเป็นพื้นที่ชุ่มนํ้า ซึ่งริมๆ แอ่งนํ้าจะมีรอยเท้าคล้ายๆ สุนัขเดินอยู่รอบๆ คาดว่าอาจจะมาดื่มนํ้า หรือมารอจับเหยื่อที่ต้องการนํ้าเช่นเดียวกันครับ

ไม้ดอกที่ขึ้นตามลานหินที่ยังพอมีให้เห็นในฤดูเริ่มต้นสู่ฤดูฝน

หยาดน้ำค้างที่ขึ้นอยู่เต็มพื้นที่น้ำซับบนล้านหินกว้าง

“หยาดนํ้าค้างหนิ” ผมชี้มือไปที่พื้นที่ชุ่มนํ้า ที่มีดอกไม้เล็ก มีก้านที่ชุ่มไปด้วยนํ้าหวาน คอยล่อเหยื่อให้เข้ามาติดกับ แล้วงานมาโครก็มาครับ ทั้งที่ไม่มีใครติดเลนส์มาโครกันมาเลย แต่ก็ก้มๆ เงยๆ ตูดโด่งๆ ถ่ายภาพกันครึ่งค่อนชั่วโมงเลยทีเดียว และโซนลานหินฝั่งนี้ มีหยาดนํ้าค้างต้นเล็กๆ ขึ้นอยู่มากมายเต็มพื้นที่ชุ่มนํ้าเลยล่ะครับ

ฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆขาวๆ ขุ่นๆ เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นสีดำคลํ้า ลมเย็นๆ โบกโชยมากระทบผิวกาย แจ้งเตือนไว้ว่า ฝนกำลังจะมา ทำให้เราต้องเร่งฝีเท้าในช่วงเดินกลับให้เร็วขึ้น ผ่านพ้นกลุ่มหินเทิบออกมา เมฆดำเริ่มหนาตาขึ้น ก่อนที่จะเทลงแบบไม่ลืมหูลืมตา หลังจากที่ผมและน้องทีมงาน ขึ้นนั่งบนรถแล้ว ก้านปัดนํ้าฝนทำงานอย่างหนัก ต้องต่อสู้กับนํ้าฝนที่กระแทกตัวลงมาบนกระจกรถอย่างไม่มีการปราณี ส่วนเรานั่งกันอย่างสบายๆ กับเบาะที่ออกแบบได้โอบกระชับลำตัว ชื่นใจกับแอร์คอนดิชั่นเย็นฉ่ำจนอยากจะหลับเอาแรงซักงีบ แต่ยังคงมีภารกิจที่จะต้องทำต่อไป
ทริปหน้า เราจะไปชมวาฬยักษ์สามตัว ที่แหวกว่ายอยู่ท่ามกลางหมู่มวลไม้ ครับ ผมกำลังพูดถึง หินสามวาฬ จังหวัดบึงกาฬ แหล่งท่องเที่ยวที่กำลังเป็นที่นิยมของที่นี่ และแน่นอนครับ ไปกับ Toyota Avanza 1.5G A/T ใหม่คันเก่งคันเดิมล่ะครับ แล้วพบกันฉบับหน้านะครับ

..สวัสดีครับ…

การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหมายเลข 1 มุ่งหน้าไปยังสระบุรี จากนั้นใช้เส้นทางถนนมิตรภาพ หรือเส้นทางหมายเลข 2 วิ่งผ่านนครราชสีมาไปจนถึงอำเภอบ้านไผ่ เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 23 วิ่งยาวไปจนถึงจังหวัดมหาสารคาม ต่อเนื่องไปยังร้อยเอ็ด และอำเภอเสลภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 2046 วิ่งมาจนถึงเทศบาลโพนทอง แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 2136 วิ่งยาวมาจนตัดกับเส้นทางหมายเลข 212 ให้เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางหมายเลข 212 ประมาณ 45 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาไปยังเส้นทางหมายเลข 238 ต่อเนื่องกับหมายเลข 2034 ประมาณ 17 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบจะอยู่ด้านขวามือ

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/