Shooting Destination

ท่องเที่ยวเมืองรอง : ล่องใต้ไปแช่น้ำแร่ ณ เมืองแร่นอง ระนอง

ระนอง เป็นเมืองเล็กๆ ริมฝั่งตะวันตกของประเทศไทย เป็นเมืองที่ได้รับฉายาว่า “ฝนแปด แดดสี่” ซึ่งบ่งบอกถึงความชุ่มฉํ่าของภูมิประเทศที่มีฝนตกมากถึง 8 เดือน และมีช่วงฤดูอื่นที่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ หรือมีแดดจ้าอยู่เพียง 4 เดือนนั่นเอง และนอกจากแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติแล้ว จุดเด่นของเมืองระนองอีกอย่างหนึ่งคือ มีบ่อนํ้าพุร้อน และเป็นแหล่งนํ้าแร่ชั้นดีอีกด้วย

ผมและทีมงานเดินทางไปยังเมืองระนองด้วยรถยนต์ Toyota New Sienta 2019 รถครอบครัวเอนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ที่ได้รับการปรับปรุงโฉม และเพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยมาแบบจัดเต็มทีเดียวครับ เริ่มจากเส้นคาดบนกระจังหน้าเป็นเส้นโค้งไปรับกับแนวไฟหน้า ดูสปอร์ตปราดเรียวขึ้น แต่จุดที่ดูโดดเด่นเกินใคร นั่นก็คือ มีกล้องรอบคันครับ สามารถดูวิวรอบๆ ตัวรถได้ทั้งจากด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้างตัวรถทั้งสองข้างเลยล่ะครับ จะเลี้ยวซ้าย หรือจะเลี้ยวขวา รถก็จะโชว์มุมภาพจากกล้องด้านหน้า และด้านข้างที่ติดอยู่ใต้ก้านกระจกมองข้างทั้งสองข้าง ให้เห็นสภาพถนนก่อนที่จะเลี้ยวได้แบบเรียลไทม์ครับ สำหรับใครที่มีปัญหาการจอดชิดฟุตบาท แล้วยังชิดไม่ได้ดั่งใจ เพราะมองไม่เห็นขอบฟุตบาท ก็จะหมดปัญหาไปเลยล่ะครับ มีกล้องช่วยส่องให้ จะเอาชิดขนาดไหน ก็ได้ตามสั่งล่ะครับ..ฮ่า..ฮ่า

เรื่องของกล้องยังไม่หมดแค่นั้นครับ Toyota New Sienta 2019 ยังมีกล้องบันทึกภาพขณะขับขี่ให้มาอีกสองกล้องด้วยครับ สำหรับบันทึกภาพในขณะขับขี่ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ซึ่งเป็นกล้องคนละชุดกับกล้องที่ใช้มองทัศนวิสัยรอบตัวรถนะครับ กล้องบันทึกภาพจะติดอยู่ที่กระจกหน้า และกระจกท้าย สามารถเปิดชมภาพจากจอมอนิเตอร์ของชุดกล้องด้านหน้าตัวรถได้ครับ

Toyota New Sienta 2019 ยังคงใช้ขุมพลังเครื่องยนต์เบนซินรหัส 2NR-FE DUAL VVT-i 1500 ซีซี 4 สูบ 16 วาล์ว ให้แรงม้าสูงสุด 108 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 140 นิวตัน-เมตร ที่ 4,200 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ i-CVT พร้อมระบบ Sport Sequential Shift 7 สปีด ที่ผมสามารถควบคุมการเปลี่ยนเกียร์สูงหรือตํ่าได้ตามที่ต้องการ สำหรับสภาพถนนที่อาจจะเป็นเนินเขาสูง หรือเมื่อต้องการแรงบิดของเครื่องยนต์ที่มากกว่าปกติครับ

ผมและทีมงานเดินทางไปเพียง 3 คน ดังนั้นจึงไม่ได้ใช้เบาะแถวที่ 3 ซึ่งผมชอบการออกแบบการพับเก็บเบาะแถว 3 ของ Toyota New Sienta 2019 เนื่องจากออกแบบได้ดีเยี่ยม และง่ายต่อการใช้งาน โดยสามารถพับเก็บให้หลบลงไปอยู่ใต้เบาะนั่งแถวที่ 2 ได้อย่างลงตัว ทำให้ไม่เสียพื้นที่เก็บของด้านหลังเลยแม้แต่น้อย การดึงออกมาใช้งานก็ไม่ได้ลำบากแต่อย่างใดครับ เพียงดึงก้านพับเบาะแถวที่ 2 ขึ้น เบาะจะพับและยกเก็บไปด้านหน้าอัตโนมัติ จากนั้น ก็ดึงเบาะแถวที่ 3 ขึ้นมาและยกพนักขึ้น ตัวล๊อกใต้ที่นั่งก็จะล็อกกับก้านยึดอย่างแน่นหนาโดยอัตโนมัติ เท่านี้ก็พร้อมใช้งานแล้วล่ะครับ ซึ่งหลังจากที่พับเบาะแถวที่ 3 เก็บไปแล้ว พื้นที่ด้านหลังก็จะโล่งเหลือเฟือ สำหรับกระเป๋าสัมภาระมากมาย ทั้งกระเป๋าเสื้อผ้าสำหรับการเดินทาง 7 วัน, กระเป๋ากล้อง, ขาตั้งกล้อง รวมทั้งสัมภาระที่จำเป็นอื่นๆ อีกหลายใบด้วย

ทัศนวิสัยในการมองจากที่นั่งคนขับดีเยี่ยมทีเดียวครับ ซึ่งดูโล่งโปร่ง มองสภาพโดยรอบได้อย่างสบายๆ และ กว้างขวาง กระจกมองข้างทั้งสองบานก็มีขนาดใหญ่ มองรถที่ตามมาได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีกล้องมองหลัง และกล้องที่กระจกมองข้าง เมื่อใช้เกียร์ถอย ช่วยให้มองทัศนวิสัยได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ ซึ่งผมค่อนข้างชอบห้องโดยสารที่ดูโล่ง เมื่อนั่งประจำที่นั่งคนขับ ยังมีพื้นที่เหนือศรีษะเหลืออีกมากทีเดียว สำหรับชายหนุ่มที่มีความสูงตามมาตรฐานชายไทย 170 เซนติเมตรอย่างผม นั่งได้อย่างสบายๆ ไม่อึดอัด เวลาขับทางไกลๆ ก็ไม่รู้สึกเครียดด้วยครับ

จุดเด่นหนึ่งที่ผมและทีมงานชื่นชอบกัน นั่นคือประตูข้างแบบสไลด์อัตโนมัติ โดยที่คันที่ผมใช้งานเป็นรุ่นท๊อปสุด รุ่น 1.5V ซึ่งประตูข้างจะเป็นแบบสไลด์เปิดและปิดอัตโนมัติทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เปิดใช้งานได้ทั้งจากสวิทช์ที่ฝั่งคนขับ หรือจะเปิดจากรีโมทก็ได้เช่นกันครับ “แล้วมันจะเผลอหนีบเรามั๊ย” น้องทีมงานที่ต้องนั่งประจำที่ด้านหลังถามขึ้นมา “ไม่ต้องห่วงจ้าาา” ผมตอบกลับไป “ประตูจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับ ถ้ามีอะไรกีดขวางตอนกำลังจะปิด ประตูจะหยุดโดยอัตโนมัติจ้าาา”

จุดหนึ่งที่ผมชื่นชอบเลยคือการปรับเซ็ตช่วงล่าง ซึ่งรู้สึกได้เลยในขณะขับขี่ว่าตัวรถมีการยึดเกาะถนนที่ดีเยี่ยมทีเดียว สำหรับรถครอบครัว 7 ที่นั่ง เนื่องจากเส้นทางจากชุมพรไประนองนั้น มีทั้งทางบนเขาที่โค้งคดเคี้ยวไปมา แต่ตัวรถก็เกาะถนนได้หนึบทีเดียว ไม่มีอาการโคลงให้เห็น บางโค้งที่กว้างๆ หน่อย ก็สามารถใช้ความเร็วสูงขึ้นได้อีก แต่ตัวรถก็ยังคงนิ่งเช่นเดิม ก็มั่นใจได้กับช่วงล่างที่เซ็ตมาเป็นอย่างดีครับ

จังหวัดระนองมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทีเดียว ทั้งบนฝั่งและในทะเล แต่ครั้งนี้ เราเลือกเที่ยวกันบนฝั่ง เพราะสามารถขับรถไปได้ง่ายๆ หนทางก็สะดวกดีทีเดียวครับ จุดแรก เราเลือกไปแช่นํ้าแร่ ที่ถือเป็นจุดเด่นหนึ่งของเมืองระนองกันเลย ซึ่งมีบ่อนํ้าร้อนให้บริการอยู่หลายบ่อ ทั้งที่เป็นบ่อแช่ฟรีๆ ของกรมอุทยานฯ และบ่อของเอกชน ผมและทีมงานเดินทางไปที่บ่อนํ้าพุร้อนพรรั้ง ซึ่งอยู่นอกๆ ตัวเมือง ไม่ห่างจากนํ้าตกหงาว และภูเขาหญ้ามากนัก

บ่อนํ้าพุร้อนพรรั้ง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาตินํ้าตกหงาว ซึ่งทางอุทยานฯ ได้สร้างเป็นบ่อแช่ตัว 4 บ่อ และบ่อสำหรับตักอาบอีก 2 บ่อ อุณหภูมิของแต่ละบ่อจะแตกต่างกันไปตามแต่ละวัน แต่จะอยู่ประมาณ 39-41 องศาเซลเซียส การเข้าไปใช้บริการนั้น นักท่องเที่ยวจ่ายค่าเข้าอุทยานคนละ 30 บาท ค่ารถยนต์คันละ 40 บาทเท่านั้นครับ หลังจากนั้นก็เข้าไปแช่นํ้าร้อนได้ฟรีๆ ก่อนจะลงแช่ ก็ต้องล้างชำระเนื้อตัวให้สะอาดสะอ้านกันก่อน และสำหรับมือใหม่อย่างเรา เจ้าหน้าที่แนะนำให้แช่บ่อที่มีอุณหภูมิตํ่าที่สุดก่อน พอปีกกล้าขาแข็งแล้ว ค่อยขยับไปบ่อที่มีอุณหภูมิสูงมากขึ้น และต่อรอบนั้น ก็ไม่ควรแช่นานเกิน 10 นาทีครับ

แต่ละบ่อจะบอกอุณหภูมิของน้ำร้อนในแต่ละวัน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่มาคอยเช็กตลอด การแช่ตัวควรเริ่มจากบ่อที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดก่อน และแช่ต่อเนื่องไม่เกิน 10 นาที

บ่อ 2 เป็นบ่อที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในวันที่ไปเยือน มีอุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาบ่อนี้ ส่วนมากจะแช่ขาเพียงอย่างเดียว เพราะร้อนเกินไปนั่นเอง

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของบ่อนํ้าพุร้อนพรรั้งคือ มีธารนํ้าไหลผ่าน แล้วทางอุทยานฯ ทำเป็นเขื่อนกั้นนํ้า ทำให้เกิดเป็นแอ่งนํ้าให้นักท่องเที่ยวลงไปแหวกว่าย ระหว่างพักแช่นํ้าร้อนได้ด้วย นํ้าในลำธารนั้น ไม่ใช่นํ้าร้อนนะครับ แต่เป็นนํ้าที่มีแร่ธาตุผสมอยู่ด้วยเหมือนกัน แถมมีปลาพลวงมาคอยแทะเล็มเนื้อตายๆ เป็นสปาปลาไปด้วยในตัว แต่..ไม่แนะนำสำหรับคนที่ขี้จั๊กจี้นะครับ เพราะเจ้าปลาพลวงที่ว่า ตัวไม่ได้น้อยเลยล่ะครับ ตอดที..มีสะดุ้งกันเลยล่ะ..!!

ลำธารที่ทอดผ่านลงมาระหว่างบ่อน้ำพุร้อนพรรั้ง ถูกกั้นให้เป็นฝายน้ำล้น สำหรับเล่นน้ำและแช่ตัว สลับกับการแช่น้ำร้อนในบ่อน้ำร้อนได้

หลังจากแช่ตัวกันพักใหญ่ๆ เราก็ขยับต่อไปยังวัดบ้านหงาว จุดประสงค์ก็คืออยากจะไปเดินขึ้นเนินเขาที่มีบันไดกว่า 300 ขั้น ให้เรียกเหงื่อกันเล็กน้อย ก่อนขึ้นเขา เราเข้าไปสักการะหลวงพ่อดีบุก พระประธานที่สร้างด้วยดีบุกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดหน้าตักกว้าง 9 ฟุต หรือเกือบๆ 3 เมตร และสูงจากฐานถึงพระเกตุ 4 เมตร ใช้แร่ดีบุกในการสร้างประมาณ 3 ตันเลยทีเดียว ที่ต้องใช้ดีบุกก็เพราะเมืองระนองในอดีตนั้น มีเหมืองแร่ดีบุกมากมายนั่นเอง

ไหว้ขอพรหลวงพ่อดีบุกกันแล้ว เราเดินผ่านบ่อนํ้าขนาดใหญ่ที่มีปลาตัวเขื่องมากมาย ทั้งปลาบึก ปลาจะระเม็ดนํ้าจืด และปลาดุกยักษ์ มีบริการให้อาหารปลาด้วย ติดบ่อนํ้าด้านหลังวัด เป็นบันไดขึ้นเนินเขาขนาดย่อมๆ ที่เรียกขานกันว่า “ภูหงาวดาวดึงส์” ดูแล้วไม่ได้สูงมากนัก บันไดแค่ 343 ขั้นเอ๊งงงงง!! และมีช่วงจากต้นทางถึงกลางๆ ทางที่มีความชันมากทีเดียว ทำเอาผมต้องหยุดถ่ายภาพวิวอยู่หลายรอบเหมือนกัน วิวสวยครับ ไม่ได้พักเหนื่อยหรอกกก..แฮ่กๆๆ จากยอดเนินสามารถชมวิวได้กว้าง 360 องศาเลยทีเดียว และมองเห็นภูเขาหญ้าที่อยู่ข้างๆ และทะเลอันดามันอยู่ไกลลิบๆ ออกไปด้วยครับ

มุมมองจากเนินภูหงาวดาวดึงส์ ที่อยุ่ด้านหลังวัดบ้านหงาว ซึ่งสามารถชมวิวได้ 360 องศาเลยทีเดียว แต่ต้องแลกด้วยการเดินขึ้นบันได 343 ขั้น

ภูเขาหญ้า จุดเช็กอินยอดฮิตของเมืองระนอง มองจากยอดภูหงาวดาวดึงส์

ถึงจะเป็นช่วงฝนชุกเกินแปด แต่ก็ยังคงมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนกันมาเช็กอินที่นี่ไม่ได้ขาด

ออกจากวัดบ้านหงาว เราเดินทางต่อมาที่ ภูเขาหญ้า ซึ่งเป็นทุ่งโล่งๆ ที่มีเนินเขาขนาดย่อมๆ อยู่หลายลูก แต่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นมาเลย เป็นจุดเช็กอินยอดนิยมเมื่อมาเที่ยวระนองล่ะครับ ถ้ามาในฤดูแล้งๆ ก็จะได้ภูเข้าหญ้าสีนํ้าตาล ส่วนช่วงที่ผมมานั้น ชุ่มฉํ่าไปด้วยนํ้าฝน จึงได้เนินเขาที่เขียวขจี รวมทั้งฝั่งตรงข้ามที่เป็นนํ้าตกหงาว ก็เต็มไปด้วยสายนํ้าเช่นเดียวกันครับ

ผมและทีมงานถ่ายภาพที่นี่ไม่นานนัก ก็ย้ายโลเคชั่นไปที่บ้านเทียนสือ บ้านเก่าแก่ของเมืองระนองที่มีอายุกว่า 150 ปี และเป็นที่มาของตระกูล ณ ระนองด้วย โดยความเป็นมาของบ้านเทียนสือนั้น เราได้รับความรู้จาก “ลุงใหญ่” นักเล่าเรื่องประจำบ้าน ที่แนะนำถึงรายละเอียดต่างๆ ของบ้าน รวมทั้งกลเม็ดเคล็ดลับ หรือฮวงจุ้ยในการสร้างบ้านที่ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่นั้น มีความเจริญรุ่งเรือง และสงบร่มเย็น

เจ้าของบ้านเทียนสือเดิมนั้นคือ ท่านเทียนสือ เป็นหลานเขยของพระยาดำรงคสุจริตมหิศรภักดี หรือ คอซู้เจียง ณ ระนอง เจ้าเมืองระนองคนแรก และเป็นต้นตระกูล ณ ระนอง กับพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หรือ คอซิมบี๊ ณ ระนอง เจ้าเมืองตรัง

ในอดีต ท่านเทียนสือเป็นชาวซัวเถา แต่เป็นคนทำงานเก่งและมีความสามารถในการอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี จนกลายเป็นทั้งหลานเขย และมือขวาของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีนั่นเอง

บ้านเทียนสือ แหล่งเรียนรู้มีชีวิต กับบ้านเก่าอายุกว่า 150 ปี

บ้านเทียนสือ เป็นศูนย์เรียนรู้ประวิต์ศาสตร์เมืองระนอง และความเป็นมาของตระกูล ณ ระนอง มีทั้งภาพถ่ายเก่าแก่ และของใช้ต่างๆ มากมาย ตัวบ้านมี 2 หลัง ก่อสร้างขึ้นอย่างมั่นคงแข็งแรง มี 2 ชั้น ครึ่งปูน ครึ่งไม้ ตัวบ้านสร้างตามหลักฮวงจุ้ยทุกประการ ตั้งแต่กรอบเหนือประตูที่เป็นรูปหมวกทหาร มีพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนทีเปรียบเสมือนเงินทอง และกำแพงที่มีความหนามากกว่าหนึ่งฟุต เนื่องจากที่นี่เป็นบ้านที่เก็บรวบรวมอากรที่เตรียมส่งให้กับทางการ ซึ่งการจ่ายภาษีเข้าหลวงด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสิ่งที่ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากทางการจนได้รับพระราชทานยศฐาบันดาศักดิ์ต่างๆ ที่เป็นความภาคภูมิใจของลูกหลานรุ่นหลังๆ ครับ

ห้องที่จำลองมาจากห้องทำงานของท่านคอซู้เจียง ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปถ่ายภาพได้

ของประดับตกแต่งยังคงเป็นของเก่าแก่ดั้งเดิมของเจ้าของบ้าน

ลุงใหญ่เล่าให้ฟังว่า ก่อนนี้ ชั้นสองเปิดให้ขึ้นไปชมด้วย แต่ด้วยความที่ชั้นบนเป็นไม้ และมีอายุกว่าร้อยปี จึงทำให้เริ่มผุพังไปตามธรรมชาติ จึงปิดชั้นบน เปิดให้เข้าชมได้เฉพาะชั้นล่างครับ บริเวณบ้านมีมุมให้ถ่ายภาพมากมายครับ แถมลุงใหญ่ก็จะช่วยไกด์มุมให้ด้วย ว่าถ่ายภาพยังไงให้เสริมเรื่องโหงวเฮ้งได้ ซึ่งบ้านเทียนสือไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชมครับ แต่จะมีกล่องรับบริจาคสมทบทุนสำหรับการดูแลบูรณะตัวบ้านครับ

บ้านหลังที่สอง ที่อยู่ด้านหลัง ยังคงออกแบบตามหลักฮวงจุ้ยเช่นเดิม ผู้ที่อยู่อาศัย ล้วนอยู่กับความเป็นมงคลต่างๆ และเงินทองด้วย

ความรู้สึกของผม ยังไม่จุใจกับเมืองแร่นองครับ แต่กับภารกิจที่มี จำต้องลาจากกันไปในครานี้ คงต้องหาโอกาสกลับมาใช้ชีวิตแบบ Slow Life อยู่ที่นี่อีกแน่นอน ฝนแปด (ที่ตอนนี้ผมว่าเกินแปดไปเยอะมาก) กำลังโปรยปรายลงมา และหนักขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเพิ่มระดับของใบปัดนํ้าฝน และกับทัศนวิสัยในการมอง รวมทั้งกล้องรอบคันที่ผมเปิดใช้งาน ก็ช่วยให้ผมหมดกังวลกับการเดินทางต่อไปยังอีกหนึ่งจุดหมายของเรา “จังหวัดชุมพร” ที่ผมจะเดินทางแบบลัดเลาะเลียบริมหาดที่ยาวรวมๆ กันกว่า 222 กิโลเมตรทีเดียวครับ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า ..สวัสดีครับ…


การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ผ่านมหาชัยและแม่กลองไปจนถึงวังมะนาว จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4 แล้วขับตามเส้นทางนี้ ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบฯ ไปจนถึงแยกปฐมพร จังหวัดชุมพร จากนั้นขึ้นสะพานวนขวา เพื่อใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ตามเดิม ไปจนถึงจังหวัดระนอง

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/