Basic

วางเลนส์ Wide เปลี่ยนมาใช้เลนส์ Telephoto ถ่ายวิว

โดยปกติแล้ว.. เลนส์ Wide หรือเลนส์มุมกว้างนั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเลนส์มุมกว้าง ซึ่งก็เหมาะที่ใช้เก็บภาพที่ต้องการถ่ายทอดให้เห็นถึงพื้นที่อันกว้างขวางใหญ่โต อย่างเช่น ภาพวิวทิวทัศน์ ซึ่งนอกจากจะเก็บภาพได้กว้างๆ แล้ว ยังใช้สำหรับถ่ายภาพในสถานที่ที่มีพื้นที่ในการยืนถ่ายภาพค่อนข้างจำกัด ภาพไม่ห่างจากสถานที่นั้นๆ ด้วย รวมทั้งสามารถใช้งานได้ดีในพื้นที่อันจำกัด แต่ต้องการเก็บบรรยากาศโดยรอบให้ได้ทั้งหมดสำหรับคอลัมน์ Photographic Skill ในฉบับนี้ จะเป็นการหยิบเอาเลนส์เทเลโฟโต้มาใช้งานเสริมเพิ่มเติมไปกับเลนส์มุมกว้างเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งก็มีอยู่หลายเหตุผลด้วยกันสำหรับการหยิบเอาเลนส์เทเลโฟโต้มาใช้งานนั่นคือ

กรณีที่เข้าไปถ่ายใกล้ๆ ไม่ได้
แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่จำเป็นต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้ เพราะไม่สามารถเข้าไปถ่ายภาพซับเจกต์ที่ต้องการในระยะใกล้ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ่ายภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนว่าพวกเค้าต้องมีการระแวดระวังภยันตรายที่จะเกิดขึ้นกับพวกเค้าเอง ทั้งจากสัตว์นักล่าอื่นๆ และจากมนุษย์เราเองด้วย ดังนั้น เพียงแค่เราขยับตัวเข้าไปในระยะที่เรายังรู้สึกว่ายังห่างอยู่มาก แต่พวกเค้าก็บินหนีไปแล้ว หรือสัตว์ที่มีอันตรายอย่างเสือ หรือจระเข้ ใช้ช่วงเทเลนั่นแหละครับ ปลอดภัยกว่า นอกเสียจากว่าเป็นสัตว์ที่ถูกฝึกมาอย่างดี และมีผู้ฝึกอยู่ด้วย แบบนี้เลนส์ช่วงไวด์ก็ใช้ได้ครับ อีกกรณีหนึ่งคือ เป็นซับเจกต์ปกตินี่แหละ แต่มีอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเข้าไปใกล้ๆ ได้ เช่น ดอกไม้ขึ้นอยู่กลางธารนํ้าตกที่ถาโถมลงมาอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าจะต้องเข้าไปถ่ายให้ใกล้ชิด ก็คงต้องใช้กล้องกันนํ้า หรือดอกไม้หายากที่เบ่งบานอยู่บนยอดไม้อะไรแบบนี้ครับ เลนส์ช่วงนี้ใช้ได้ตั้งแต่ 200 มม. ไปจนถึง 500 หรือ 600 มม. แล้วแต่งบประมาณด้วยครับ ซึ่งจะเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ซูม หรือทางยาวโฟกัสเดี่ยวก็ได้เช่นกันครับ

ภาพอ่างเก็บนํ้าถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง 24 มม. ดูไม่มีจุดเด่นอะไรที่น่าสนใจนัก

เปลี่ยนมาใช้เลนส์เทเลซูม เลนส์ประมาณ 100 มม. ดึงจุดเด่นที่มีอยู่ออกมา แต่ยังคงรักษาบรรยากาศโดยรวมเอาไว้เหมือนเดิม

ในกรณีที่ต้องการหลบเลี่ยงฉากหลังรกๆ
เป็นความรู้พื้นฐานที่เราได้รับรู้มาตั้งตอนเริ่มต้นเรียนถ่ายภาพหรือศึกษาเรื่องถ่ายภาพ ถึงคุณสมบัติและมุมรับภาพของเลนส์แต่ละช่วง ซึ่งเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้จะมีมุมรับภาพที่แคบ ดังนั้น เราจึงใช้คุณสมบัติแบบนี้แหละ มาช่วยให้เราได้ภาพที่โดดเด่นน่าสนใจมากขึ้น ลองเปรียบเทียบดูภาพซับเจกต์เดียวกัน ระหว่างภาพที่มีฉากหลังรกรุงรัง กับภาพที่มีฉากหลังเรียบเนียน ซับเจกต์ของภาพหลังจะน่าสนใจและมีความโดดเด่นมากกว่าครับ การหลบเลี่ยงฉากหลังรกๆ ก็ไม่ได้ยากเย็นแต่อย่างใดครับ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปโค่น ดึง ทึ้ง ให้หายออกไปจากเฟรมภาพหรอกนะครับ เพียงแค่ขยับเปลี่ยนมุมมองนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง อาจจะขยับไปทางซ้ายหน่อย หรือขยับขวาสักครึ่งก้าว หรือย่อตัวนิดๆ อะไรแบบนั้นครับ ลองขยับดูว่า มากแค่ไหน ฉากหลังรกๆ จึงจะหลุดออกไปจากเฟรม แต่ถ้าไม่ได้จริง อาจจะต้องมองหาซับเจกต์ใหม่ หรือเลือกวิธีถ่ายภาพแบบใหม่ เช่น ใช้แฟลชเพื่อควบคุมฉากหลังแทนเป็นต้นครับ

ถ่ายด้วยช่วงเลนส์มุมกว้าง 24 มม.

ใช้เลนส์เทเลซูม ปรับซูมเลนส์ที่ระยะ 70 มม. เพื่อเก็บบรรยากาศบางส่วน

ปรับซูมเลนส์ที่ระยะ 100 มม. เพื่อเน้นจุดเด่นให้มากขึ้น

ปรับซูมเลนส์ที่ระยะ 200 มม. เจาะลึกลงไปในรายละเอียดให้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าเพียงจุดถ่ายภาพจุดเดียว เปลี่ยนเพียงแค่ทางยาวโฟกัสของเลนส์ ก็สามารถสร้างสรรค์รูปแบบภาพได้หลากหลายทีเดียว

ในกรณีที่ต้องการดึงฉากหลังให้ดูใกล้เข้ามามากขึ้น

หนึ่งในคุณสมบัติของเลนส์เทเลโฟโต้ที่ให้ความรู้สึกว่า สามารถดึงสิ่งที่อยู่ไกลๆ ให้ดูเหมือนอยู่ใกล้ๆ ได้ หรือให้ดูว่าสิ่งที่อยู่ห่างๆ กัน ดูเหมือนอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ดังนั้น เราจึงนำเอาคุณสมบัตินี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับภาพของเรา เวลาไปท่องเที่ยวที่ไหน หลายๆ คนคงจะเคยถ่ายภาพหมู่ แล้วเจอะเจอนักท่องเที่ยวที่คิดแบบเดียวกัน ก็เลยไปยืนออรอกันถ่ายภาพกันที่จุดนั้นจุดเดียว พาลให้หงุดหงิดได้ครับ เพราะหลายๆ คน หรือส่วนใหญ่จะถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างเพื่อที่จะเก็บบรรยายกาศตรงนั้นได้ทั้งหมด และต้องเข้าไปถ่ายใกล้ๆ เพื่อตัวคนจะได้โตๆ

นอกจากนี้เวลาใช้เลนส์มุมกว้างแล้ว ฉากหลังที่อยู่ไกลก็ยิ่งดูไกลห่างออกไปมากขึ้นอีก แต่เมื่อใช้เลนส์เทเลโฟโต้ถ่ายภาพครอบครัวหรือคนพิเศษ สามารถถ่ายจากระยะห่างออกมา ไม่ต้องเข้าไปใกล้ๆ และฉากหลังจะดูใหญ่เหมือนเดิมอีกด้วย แต่วิธีนี้จะต้องมีพื้นที่สำหรับถอยออกมายืนถ่ายภาพด้วย ถ้าหากว่าสถานที่นั้นใหญ่โตมโหฬาร แต่ถ้าไม่ใหญ่มากก็ไม่จำเป็นต้องถอยมาก และก็ขึ้นอยู่กับช่วงเลนส์ด้วยครับ ตั้งแต่ช่วง 100 มม. ขึ้นไป แล้วถ้าหากว่าต้องการฉากหลังที่ชัดมากขึ้น ก็ใช้รูรับแสงแคบลงเท่านั้นเองครับนั่นคือคุณสมบัติหลักๆ ของเลนส์เทเลโฟโต้ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ยังไงละครับ อย่างภาพวิวทิวทัศน์ที่ไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บมุมกว้างๆ เพียงอย่างเดียวเสมอไป หากแต่เจาะลึกเข้าไปในรายละเอียดบ้าง ใช้เลนส์เทเลโฟโต้ดึงเอาจุดเด่นบางส่วนออกมา อาจจะทำให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้นครับ ลองนำไปใช้ดูนะครับ ภาพจะได้มีความหลากหลายมากขึ้น..

ถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง 24 มม. เก็บบรรยากาศได้กว้างๆ ตามมุมรับภาพของเลนส์ อาจจะดูเวิ้งว้างเพราะสิ่งต่างๆ ดูห่างไกลมากนั่นเอง

เปลี่ยนใช้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ ฉากหลังที่เป็นทางรถไฟเลาะริมหน้าผาถูกดึงให้ใกล้เข้ามา แต่ระยะถ่ายภาพจะต้องถอยห่างจากซับเจกต์หลักมากขึ้น ตามภาพประกอบใช้ช่วงเลนส์ 200 มม. ถอยห่างจากระยะเดิมประมาณ 20 เมตร เพื่อให้ตัวคน มีขนาดเท่าๆ กับภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง และถ้าหากว่าต้องการฉากหลังที่ชัดมากขึ้น ก็หรี่รูรับแสงให้แคบลงครับ

เลนส์เทเลโฟโต้ทำให้สะพาน-แพ รวมทั้งฝั่งตรงข้ามแม่นํ้าที่ค่อนข้างห่างไกลกัน ดูเสมือนอยู่ใกล้ชิดกันอีกด้วย ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ 200 มม.

ถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ 300 มม. แต่ยังคงสื่อให้เห็นถึงบรรยากาศโดยรวมของภาพได้ และดึงสิ่งที่อยู่ไกลๆ ในเฟรมภาพให้ดูใกล้เข้ามามากขึ้นด้วย

…………………….
ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ…

เรื่อง / ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^

(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)

หรือสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic