Shooting Destination

สืบสานงานวิจัยของพ่อ สานต่อความสุขปวงประชา

ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง

ผมและทีมงานนิตยสารโฟโต้อินโฟ ยังคงตระเวณอยู่บนดอยสูง สำหรับครั้งนี้ เราไปเยือนศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ในพื้นที่ดอยอินทนนท์ หลังจากที่เดินทางกลับมาจากดอยอ่างขาง โดยภารกิจหลักของเราในปีนี้ ยังคงเป็นการเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการหลวงที่มีอยู่กว่า 4000 โครงการทั่วประเทศ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนของพระองค์ได้มีชีวิตที่อยู่ดีกินดี และมีความสุขกันทั่วหล้า

โดย สำหรับศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) และโครงการหลวงขุนวางแห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านขุนวาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 ภายหลังจากที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านขุนวาง และทอดพระเนตรเห็นว่า รอบๆ พื้นที่บริเวณนี้ยังคงปลูกฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก และทรงมีพระราชดำริว่าควรจะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่สร้างรายได้เท่าเทียมหรือมากกว่าการปลูกฝิ่น จึงรับสั่งให้กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ใช้พื้นที่แห่งนี้ในการทดลอง ปรับปรุง และขยายพันธ์ุพืชบนพื้นที่สูง ก่อนที่จะนำไปให้ชาวบ้านปลูกเป็นอาชีพทดแทนการปลูกฝิ่นต่อไปนั่นเอง

พาหนะในการเดินทางยังคงเป็นรถยนต์ Toyota SIENTA 1.5V AT รถยนต์เอนกประสงค์สำหรับครอบครัวยุคใหม่ 7 ที่นั่ง คันเก่งคันเดิม ซึ่งมาพร้อมเครื่องยนต์แบบ 2NR-FE DUAL VVT-i 1500 ซีซี 4 สูบ 16 วาล์ว ให้แรงม้าสูงสุด 108 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 140 นิวตัน-เมตร ที่ 4,200 รอบต่อนาที ซึ่งทริปที่ผ่านมาจากดอยอ่างขางก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีพละกำลังเพียงพอที่จะไปปีนดอยสูงได้เป็นอย่างดีละครับ

รูปลักษณ์ของ Toyota SIENTA 1.5V AT ถูกออกแบบเส้นสายให้แลดูโฉบเฉี่ยว และมีสเน่ห์จากเส้นแถบสีดำที่ลากจากกระจังด้านหน้าโค้งขึ้นไปรับกับไฟหน้าอย่างลงตัว ส่วนด้านหลังก็เช่นเดียวกัน เส้นแถบสีดำลากจากกันชนหลังขึ้นไปจรดไฟท้ายทั้งสองข้าง และรับกับร่องสไลด์ประตูอย่างเหมาะเจาะ โดยถึงแม้จะออกแบบให้เป็นรถครอบครัว แต่ก็มีเส้นสายทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังตัวรถส่งรับกันอย่างลงตัว แลดูทันสมัยและมีความสปอร์ตเร้าใจอยู่มากทีเดียว

Toyota SIENTA 1.5V AT ออกแบบให้มี 7 ที่นั่ง ซึ่งปกติที่นั่งแถวที่ 3 จะถูกพับเก็บไว้ ซึ่งผมเองชอบการออกแบบที่นั่งแถวที่ 3 ที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม โดยสามารถพับเก็บเมื่อไม่ได้ใช้งานให้หลบลงไปอยู่ใต้เบาะนั่งแถวที่ 2 ได้อย่างลงตัว ทำให้ไม่เสียพื้นที่เก็บของด้านหลังเลยแม้แต่น้อย และเมื่อต้องการใช้งานก็ไม่ได้ลำบากแต่อย่างใดครับ เพียงดึงก้านพับเบาะแถวที่ 2 ขึ้น เบาะจะพับและยกเก็บไป ด้านหน้าอัตโนมัติ จากนั้นก็ดึงเบาะแถวที่ 3 ขึ้นมา และยกพนักขึ้น ตัวล็อกใต้ที่นั่งก็จะล็อกกับก้านยึดอย่างแน่นหนาโดยอัตโนมัติ เท่านี้ก็พร้อมใช้งานแล้วละครับ

สำหรับการขับขี่ในเส้นทางปกติที่ไม่ใช่แนวเขาสูง ผมเลือกใช้การขับเคลื่อนด้วยเกียร์อัตโนมัติในตำแหน่ง D ปกติ ซึ่ง Toyota SIENTA 1.5V AT ก็มีการเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างนุ่มนวล ไม่มีอาการสะดุดหรือกระตุกให้เห็น ซึ่งบางครั้งแม้จะเจอกับสภาพการจราจรที่หนาแน่นในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ระบบขับเคลื่อน การเปลี่ยนเกียร์ และขนาดตัวรถที่ไม่ได้ใหญ่โตเทอะทะ ก็ช่วยให้ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยได้อย่างสบายๆ

ส่วนการขับขี่บนเขาสูงหรือตามเนินต่างๆ ที่มีความสูงชัน ผมจะเลือกการปรับชิฟท์เกียร์เองแบบแมนนวล โดยการปรับตำแหน่งของเกียร์มาที่ M และดันคันเกียร์ไปด้านหน้า เพื่อปรับใช้เกียร์สูงขึ้น หรือดึงคันเกียร์มาด้านหลัง เพื่อลดเกียร์ให้ตํ่าลง หรือใช้การปรับชิฟท์ช่วยให้เลือกใช้เกียร์ที่สัมพันธ์กับสภาพเส้นทางได้อย่างสะดวก และกว่า 80% ของการขับขี่บนดอยสูงนี้ ผมเลือกใช้การปรับชิฟท์เกียร์เองแบบแมนนวลครับ นอกจากจะมั่นใจในการตอบสนองของเกียร์แล้ว ยังให้ความปลอดภัยในการขับขี่อีกด้วยครับ เพราะช่วยลดการใช้เบรกหนักๆ ในขณะลงเขาได้เป็นอย่างดีทีเดียว

เราใช้เส้นทางหมายเลข 108 จากจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่อำเภอจอมทอง โดยก่อนจะถึงตัวอำเภอนั้น จะมีแยกขวามือมุ่งไปยังดอยอินทนนท์ ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้น ยังคงเป็นเส้นทางลาดยางราบเรียบ ผมเลือกใช้เกียร์ในตำแหน่ง D ให้ระบบของรถเปลี่ยนเกียร์เองตามความเหมาะสม ซึ่งให้ความนุ่มนวลและเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างราบเรียบดีทีเดียวครับ แต่หลังจากที่เลี้ยวขวาเพื่อเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1090 ไปสักพัก ก็จะเป็นเส้นทางขึ้นเขา ซึ่งมีรถค่อนข้างหนาแน่น ผมปรับเกียร์มาที่ตำแหน่ง M และ ปรับชิฟท์เกียร์เองตามจังหวะของรถที่มีทั้งวิ่งเอื่อยๆ สลับหยุดนิ่งในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งดอยอินทนนท์ในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็มีนักท่องเที่ยวเยอะเป็นปกติอยู่แล้วครับ

จุดเด่นอย่างหนึ่งของ Toyota SIENTA 1.5V AT คือมีระบบช่วยออกตัวในเส้นทางลาดชัน นั่นคือระบบ HAC หรือ Hill-start Assist Control โดยเมื่อรถหยุดนิ่งอยู่บนทางลาดชัน ปกติเราก็มักจะดึงเบรกมือหรือเหยียบเบรกค้างไว้ และช่วงจังหวะ ที่เปลี่ยนเท้าจากแป้นเบรกมายังคันเร่งเพื่อออกตัว ความกลัวว่ารถไหลลงอาจจะทำให้กดคันเร่งมากเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้ล้อหมุนฟรี หรืออาจจะทำให้รถเสียการทรงตัวได้ แต่ระบบ HAC จะช่วยส่งแรงดันนํ้ามันเบรกไปยังล้อที่ทำการขับเคลื่อน และหน่วงเวลาไว้ 3 วินาทีโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็เพียงพอที่จะเปลี่ยนเท้าจากแป้นเบรกมายังคันเร่ง โดยที่ตัวรถยังคงหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่ไหลตามความลาดเอียงของถนน ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยได้เป็นอย่างมาก สำหรับการจราจรที่หนาแน่นบนเขาสูงแบบนี้ รวมทั้งตามคอสะพาน หรือตามทางเข้าลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าที่มีหลายๆ ชั้นครับ

เราเดินทางมาจนถึงแยกเส้นทางหมายเลข 1284 ซึ่งอยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เล็กน้อย เราเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางนั้น ซึ่งมุ่งตรงสู่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และเส้นทางนี้ยังสามารถไปยังตัวอำเภอแม่วางได้ ซึ่งอาจจะใช้เส้นทางจากแม่วางขึ้นมายังศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ก็ได้เช่นกันครับ

เส้นทางค่อนข้างคับแคบ และเป็นแบบวิ่งสวนทางกัน มีหลายๆ ช่วงที่โค้งชันไปตามสันเขา แต่ตลอดทั้งสายเป็นเส้นทางลาดยาง ก็ช่วยให้วิ่งได้สะดวกมากขึ้น ตลอดเส้นทางนี้ ผมยังคงใช้ระบบปรับชิฟท์เกียร์เองแบบแมนนวล ซึ่งนอกจากให้ ความมั่นใจในการขับขี่แล้ว ยังให้อารมณ์การขับขี่แบบสปอร์ตด้วยการเปลี่ยนเกียร์เองอีกด้วย สนุกจนบางครั้งก็ลืมไปว่า เค้าถูกออกแบบมาให้เป็นรถครอบครัวนะ ไม่ใช่รถสปอร์ตซะหน่อย

“รู้สึกเมารถมั๊ย” ผมเอ่ยถามน้องทีมงานที่นั่งอยู่ห้องโดยสารด้านหลัง หลังจากที่ผ่านโค้งมาหลายสิบโค้ง “ไม่นะ ตัวรถไม่ค่อยโคลง” น้องทีมงานตอบกลับมา พร้อมอธิบายว่าในการเข้าโค้งแต่ละครั้ง ตัวรถค่อนข้างนิ่ง ไม่เหวี่ยงไปมา ถึงแม้ว่ารูปทรงของตัวรถจะดูค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นการออกแบบห้องโดยสารให้โล่งโปร่ง ทำให้ไม่อึดอัดด้วยส่วนหนึ่ง และช่วงล่างที่เป็นแบบเดียวกับรถเก๋ง ช่วยให้เกาะถนนและไม่โคลงมากนักครับ

เราเดินทางผ่านศูนย์อนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีมาสักพักก็ถึงสวนดอกท้อ ในยามเย็นๆ ที่นี่เป็นร้านอาการและที่พักด้วย แต่บ้านพักมีเพียง 2 หลัง นอกนั้นจะเป็นเต็นท์ ซึ่งกางเรียงรายไปตามต้นท้อที่กำลังออกดอกสวยงาม ที่นี่มีผ้าห่มนวมให้เช่าสำหรับผู้ที่นำเต็นท์มาเองด้วย ราคาผืนละ 150 บาท ค่ากางเต็นท์ 80 บาท เราตกลงพักค้างคืนที่นี่ก่อนที่จะเข้าไปยังศูนย์วิจัยฯ ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงแค่ 7 กิโลเมตร แต่เกรงว่าการติดต่อเรื่องที่พักจะไม่สะดวกเพราะเย็นมากแล้วครับ

อากาศเริ่มเย็นลงอย่างรวดเร็ว สวนท้อนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่ด้านหลังเขาสูง และมีลมพัดโกรกอยู่ตลอดเวลา ทำให้รู้สึกเย็นมากกว่าปกติ “มีอะไรที่จะเป็นมื้อเย็นของผมมั่งครับ” ผมถามเจ้าของพื้นที่ในระหว่างที่แจ้งความประสงค์เข้าพัก พร้อมๆ กับ จองผ้าห่มนวม เสริมจากเต็นท์และถุงนอนที่ผมนำมาเอง “มีหมูกระทะอย่างเดียวคะ ชุดละ 399 กับ 599 บาท” ไม่มีสิทธิ์เลือกละครับ ก็ต้องตามนั้น หมูกระทะร้อนๆ ท่ามกลางอากาศหนาวๆ นี่ก็ไม่เลวเหมือนกันนะ…

เช้าวันใหม่ อากาศค่อนข้างใส ผมเดินถ่ายภาพตามแปลงต้นท้อที่กำลังออกดอกสะพรั่ง บางส่วนก็เป็นลูกแล้ว “ห่อไม่ทันครับ” เจ้าของพื้นที่แจ้งมา เมื่อผมถามถึงหลายๆ ลูกที่โดนแมลงกัดแทะ ก็น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน การถ่ายภาพดอกไม้แบบนี้ บางคนอยากจะให้สีสันจัดจ้าน ก็ปรับพารามิเตอร์กล้องให้เป็นแบบ Vivid ซึ่งกล้องจะเร่งสีสันของภาพให้จัดขึ้น สีสดใสมากขึ้น แต่ข้อเสียคือ การไล่โทนที่เป็นธรรมชาติจะหายไป สีของดอกไม้จะดูเป็นปื้นๆ เละๆ ครับ ทางที่ดีปรับเป็น Neutral ที่ให้สีสันที่เป็นธรรมชาติจะดีกว่า ถ่าอยากให้สีสดขึ้นก็ค่อยมาปรับเองจากโปรแกรมตกแต่งภาพทีหลัง เพราะถ้าหากว่าปรับจากตัวกล้อง และถ่ายภาพเป็น JPEG แล้ว ถ้าต้องการแก้ไขทีหลัง ทำได้ยากมากครับ ซึ่งถ้าหากว่าต้องการปรับแก้ไขในภายหลัง ก็ปรับตั้งฟอร์แมทภาพเป็น RAW จะสะดวกกว่าครับ แต่ถ้าหากว่าเป็นการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ทั่วๆ ไป ตั้งพารามิเตอร์กล้องเป็น Vivid หรือ Landscape ก็ได้ครับ ไม่ว่ากัน

ที่กางเต๊นท์ในไร่บ๊วยที่กำลังผลิดอกออกผล

ผมข้ามถนนมายังอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นแปลงสตรอว์เบอร์รี แต่ไม่ค่อยมีลูกแดงๆ นัก เพราะว่าถูกเก็บไปแล้วนั่นเอง โดยส่วนมากแล้วก็มักจะเก็บวันเว้นวันเช่นเดียวกับที่อ่างขาง และเราก็มาตรงวันที่เค้าเก็บกันไปแล้วเหมือนเดิมครับ ..ฮาาาาาา แปลงสตรอว์เบอร์รียังคงเป็นเงาจากแนวเขาที่บดบังดวงอาทิตย์ในยามเช้าๆ อยู่ คาดว่าน่าจะประมาณ 10 โมงจึงจะมีแสงลงมา แต่ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะความต้องการของผมคืออยากจะถ่ายภาพลูกสตรอว์เบอร์รีแดงๆ ที่อยู่กับต้นนั่นเอง ส่วนลูกเล็กๆ เขียวๆ นั้น ไม่อร่อย ..เอ๊ย!! ไม่ใช่เป้าหมายครับ

ผมข้ามถนนกลับมายังแปลงที่เค้าปลูกเอาไว้ให้ถ่ายภาพกันโดยตรง ยกระดับขึ้นเป็น 3 ชั้น ที่นี่มีลูกแดงๆ ให้ถ่ายภาพกันด้วย เพียงแต่มีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก เวลาถ่ายภาพก็ต้องหลบมุมฉากหลังที่ดูแล้วไม่เป็นสวนธรรมชาติ การใช้เลนส์มุมกว้าง เข้าไปถ่ายให้ใกล้ที่สุด เพื่อบีบฉากหลังให้แคบลงหน่อย หรือใช้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้เน้นภาพชัดตื้นจะดูเหมาะสมมากกว่า เราอ้อยอิ่งถ่ายภาพกันอยู่จนสาย จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรอกนะครับ แต่ถ่ายภาพฆ่าเวลารอให้เต็นท์แห้งหน่อย เท่านั้นเอง เพราะนํ้าค้างจากเมื่อคืนก็เล่นเอาเต็นท์ฉ่ำละอองนํ้าอยู่พอสมควรทีเดียว

สตอเบอรี่ที่ถูกปลูกประดับอย่างสวยงาม

ชาวบ้านกําลังคัดแยกขนาดของสตอเบอรี่เพื่อส่งขายโดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่

ไร่สตอเบอรี่ในยามเช้า

เราเดินทางต่อมายังศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) หลังจากที่ติดต่อเรื่องกางเต็นท์แล้ว เราก็จัดการหาทำเลแล้วก็ปักสมอกันเลยทันที ในหัวก็คิดไปด้วยว่าคืนนี้จะพักนอนยังไงกันดี เพราะมีเด็กนักเรียนมาเข้าแคมป์กัน ดังนั้นเครื่องนอน ทั้งหมดของศูนย์ฯ ถูกนำไปให้เด็กๆ กันหมดแล้ว นอกจากเต็นท์ 2 หลัง ผมกับทีมงานทั้งหมดมีเพียงถุงนอนกันคนละใบเท่านั้นเอง และจะต้องผจญกับอุณหภูมิเลขตัวเดียวไปทั้งคืนเลย บรื๊ออออออ!! กึ๊กๆๆๆๆ…

เช้าวันใหม่ ผมและน้องๆ ทีมงาน ตื่นกันแต่เช้า ไม่สิ!! หลับๆ ตื่นๆ กันทั้งคืนมากกว่า ยังดีที่อากาศไม่เย็นมากเท่ากับเมื่อคืนนี้ หลังจากที่ปฏิบัติภารกิจส่วนตัวกันเรียบร้อยแล้ว เราไปเดินถ่ายภาพในมุมต่างๆ ของศูนย์ และโฉบไปดูร้านกาแฟที่สโมสร ยังไม่เปิด น่าจะเช้าอยู่ เราเลยเดินเลยลงไปที่ร้านอาหารสวัสดิการ ที่นี่เปิดแล้ว เพราะต้องทำครัวเลี้ยงเด็กๆ ที่มาเข้าค่ายด้วยนั่นเอง เราได้กาแฟทรีอินวัน และข้าวต้มหมูร้อนๆ รองท้องกันก่อน จากนั้นก็ไปเดินถ่ายภาพตามโรงเรือนต่างๆ ที่ทำการวิจัยและทดลองพืชพรรณของศูนย์ ก่อนที่จะนำไปให้เกษตรกรชาวเขาปลูกเป็นอาชีพเลี้ยงตัวนั่นเอง

สวนที่ถูกจัดอย่างสวยงามภายในศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)

ผมเห็นเจ้าหน้าที่กำลังง่วนอยู่กับกิจกรรมบางอย่างในโรงเรือนหลังหนึ่ง “ผมขอเข้าไปได้มั๊ยครับ” ผมถามออกไป เพราะไม่แน่ใจว่าในโรงเรือนเป็นพื้นที่ควบคุมอะไรด้วยหรือเปล่านั่นเอง “ได้คะ” เจ้าหน้าที่ตอบมา ผมก็เปิดประตูเข้าไปพร้อม สอบถามถึงภารกิจที่กำลังทำอยู่ “กำลังคัดเลือกพันธ์ุถั่วลันเตาหวานไปทดลองปลูกคะ” โรงเรือนนี้เป็นแปลงเพาะพันธุ์ถั่วลันเตาหวาน ซึ่งเป็นการค้นคว้าและวิจัยสายพันธ์ุให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ โรค และแมลงต่างๆ เมื่อได้สายพันธ์ุที่เหมาะสมแล้ว ก็แจกจ่ายให้กับเกษตรกรนำไปเพาะปลูกเป็นอาชีพต่อไปนั่นเองครับ ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริที่ให้ชาวเขาเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกฝิ่น มาปลูกพืชจากโครงการหลวงที่สามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลูกฝิ่น จนฝิ่นค่อยๆ หายไปเอง และถือเป็นชัยชนะจากการสู้รบกับฝิ่นที่ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อแต่อย่างใดเลยละครับ

เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยฯ กำลังคัดเลือกพันธ์กล้าถั่วลันเตาหวาน เพื่อนำไปทดลองปลูก

เม็ดกาแฟที่กำลังตากภายในศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)

เรากลับออกมาเก็บเต็นท์ และขับรถหามุมถ่ายภาพ พร้อมทั้งตระเวณไปยังพื้นที่อื่นๆ ภายในศูนย์วิจัยฯ ซึ่งมีพื้นที่ กว่า 450 ไร่ โดยแบ่งเป็นแปลงเพาะปลูกพืชต่างๆ เช่น แปลงไม้ผลเมืองหนาว แปลงกาแฟ หรือแปลงแมคคาเดเมีย เป็นต้น เสียดายที่เราเดินทางเร็วไปหน่อย ดอกพญาเสือโคร่งยังไม่ค่อยบาน โดยจะบานเต็มสองข้างทางประมาณช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งช่วงนั้นถือเป็นช่วงพีคของขุนวางเลยก็ว่าได้ครับ

ขุนวางช่วงเดือนมากราคม-กุมภาพันธ์ ดอกพญาเสือโคร่งบานเต็มต้น ภาพโดย พีรพล เพชรรักษรากุล

เรากลับออกมายังโครงการหลวงขุนวาง ซึ่งอยู่ในหมู่บ้าน และมีแปลงปลูกเบญจมาศอยู่มากมายทีเดียว เราเดินถ่ายภาพกันไปเรื่อยๆ ส่วนมากแปลงที่เห็นยังเป็นเพียงต้นกล้าต้นเล็กๆ เท่านั้น แต่บางแปลงก็เป็นต้นกล้าที่ปลูกอยู่อย่างเป็น ระเบียบ เห็นคุณป้าชาวบ้านแม่วางกำลังก้มๆ เงยๆ อยู่ที่แปลงเบญจมาศแปลงหนึ่ง เลยเดินเข้าไปทักทาย พร้อมสอบถามว่า กำลังทำอะไรอยู่ “@$#%&*$%@#” คุณป้าตอบกลับมา เอาละสิ…ตอบเป็นภาษาม๊งละมั๊งครับ เพราะบ้านขุนวางนั้นเป็นชุมชน ชาวม๊ง ..มึนวนไปครับ งานนี้ต้องใช้ภาษามือช่วย สรุปได้ว่าคุณป้ากำลังคัดเลือกต้นกล้าเบญจมาศเพื่อนำไปลงแปลงปลูก แปลงที่มีต้นเต็มๆ นั้น เป็นแปลงเพาะต้นกล้า แปลงที่ดูเป็นระเบียบๆ นั่นคือแปลงที่ปลูกแล้วครับ เฮ้อ!! นึกว่าจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ซะแล้วววว.. เราเดินถ่ายภาพกันอยู่อีกสักพักก็กลับลงมายังตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นอันจบทริปแรกของปีนี้

ที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) มีดอกไม่นานาพันธุ์ให้ได้ชมและเก็บบันทึกภาพเป็นที่ระลึกครับ

ดอกไม้ที่สวยงามที่มีมากมายที่นี่

เส้นทางขากลับเป็นทางลงเขา ซึ่งผมยังคงใช้เกียร์แบบปรับชิฟท์เองอยู่เช่นเดิม ต้องขอบอกว่าสำหรับ Toyota SIENTA 1.5V AT คันนี้ ยิ่งใช้ยิ่งชอบครับ ในครั้งแรกนั้น ผมยอมรับตรงๆ ว่าไม่ค่อยมั่นใจนักกับการขับรถเครื่องยนต์เล็กๆ ขึ้นเขาสูง ตอนไปอ่างขางนั้น ผมหาข้อมูลเยอะมากเกี่ยวกับเส้นทางและความลาดชัน เพราะยังไม่เคยไป แล้วอีกอย่างก็คงจะเคยชิ้นกับการใช้รถยนต์ซีซีเยอะๆ แรงบิดสูงๆ นั่นเอง แต่พอได้สัมผัสกับ SIENTA คันนี้ หายห่วงครับ ไปไหนไปกันได้แน่นอน และอีกอย่างหนึ่งที่ผมสัมผัสได้คือ เบาะนั่งที่รองรับกับสรีระได้เป็นอย่างดี รูปร่างที่เริ่มจะอวบกับความสูง 170 เซ็นติเมตร ของผม นั่งขับทั้งวันในเส้นทางขึ้นเขาและคดเคี้ยว ยังรู้สึกสบายๆ เลยละครับ


……………………..
สำหรับทริปหน้า เราจะไปเยือนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง จังหวัดเชียงราย และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า จังหวัดพะเยา จะมีอะไรที่น่าสนใจ และจะเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นไหนนั้น รอติดตามฉบับหน้าครับ ..สวัสดีครับ…

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทาง : การเดินทางไปสถานีเกษตรหลวงเชียงใหม่

เราใช้เส้นทางหมายเลข 108 จากจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่อำเภอจอมทอง โดยก่อนจะถึงตัวอำเภอนั้น จะมีแยกเลี่ยวขวามุ่งไปยังดอยอินทนนท์ หลังจากที่เลี้ยวขวาเพื่อเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1090 มาจนถึงแยกเส้นทางหมายเลข 1284 ซึ่งอยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เล็กน้อย ให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางนั้นเรื่อยๆ ซึ่งเส้นทางจะมุ่งสู่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ครับ..