TRAVELS

ส่องนก “บึงบอระเพ็ด” บึงสวรรค์ของนกน้ำ

เอ่ยชื่อ “บึงบอระเพ็ด” หลายๆ ท่านน่าจะคุ้นเคยกันอยู่พอสมควร ว่านั่นคือชื่อของทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง มีเนื้อที่โดยรวม 132,737 ไร่ มีสัตว์อาศัยอยู่ประมาณ 148 ชนิด มีพืชต่างๆ กว่า 44 ชนิด รวมทั้งยังเคยพบนกหายากที่นี่อีกด้วย นั่นคือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แต่ปัจจุบันอยู่ในสถานะสูญพันธ์ุไปแล้ว

นกอีแจว ที่ได้ฉายาว่า ราชินีแห่งนกน้ำ มีให้เห็นอยู่มากมายทีเดียว

บึงบอระเพ็ดมีนกประจำถิ่นอาศัยอยู่หลายชนิดด้วยกัน อาทิ นกเป็ดน้ำ นกอีโก้ง นกอีแจว นกปากห่างซึ่งจะทำรังและวางไข่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนมีนาคม และในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม จะมีนกอพยพหนีอากาศหนาวจากพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะนกเป็ดน้ำมาอาศัยที่บึงแห่งนี้เป็นจำนวนมาก และยังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ล่องเรือชมความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ รวมทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งการล่องเรือชมบึงนั้น มีท่าเรืออยู่ 2 แห่งด้วยกันคือ บริเวณอุทยานนกน้ำ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า บึงบอระเพ็ด ด้านฝั่งท่าตะโก กับบริเวณอาคารพิพิธภัณฑ์แสดงสัตว์น้ำ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ฝั่งอำเภอเมือง

อาคารพิพิธภัณฑ์แสดงสัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มีลักษณะที่โดดเด่นคือ ตัวอาคารออกแบบเป็นรูปเรือกระแชงสีส้ม กว้าง 35 เมตร ยาว 49 เมตร ชั้นล่างเป็นส่วนจัดแสดงพันธุ์ปลาต่างๆ กว่า 100 ชนิด ทั้งพันธุ์ปลาในประเทศและต่างประเทศ เป็นตู้แสดงกว่า 30 ตู้ และอุโมงค์ปลายาว 24 เมตร เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดตั้งแต่เวลา 9.30-18.00 น. สำหรับค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 20 บาท

การถ่ายภาพในตู้แสดงพันธ์ปลาและอุโมงค์ปลาคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับเพิ่มความไวแสงให้สูงขึ้น เพราะแสงค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเลนส์คิทติดกล้องที่มีรูรับแสงไม่สว่างมากนัก และควรหลีกเลี่ยงการใช้แฟลช ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายกับปลาบางชนิดได้ รวมทั้งเกิดการสะท้อนกับกระจกด้วยเช่นกันครับ

แน่นอนครับ เมื่อต้องล่องเรือไปถ่ายภาพนกกันอย่างจริงๆ จังๆ ก็ควรจะต้องมีเลนส์เทเลโฟโต้ช่วงยาวๆ หน่อย ตั้งแต่ 300 มม. ขึ้นไป เพราะนี่คือการถ่ายภาพสัตว์ในธรรมชาติจริงๆ และส่วนใหญ่แล้วสัญชาติญาณของสัตว์ในธรรมชาติ รวมทั้งนกน้ำด้วย มักจะมีการระวังภัยมากเป็นพิเศษ เพื่อการอยู่รอด ดังนั้นจึงไม่สามารถเข้าใกล้ๆ ได้ ระยะที่สามารถถ่ายภาพได้จะอยู่ในช่วงประมาณ 10-15 เมตรขึ้นไป ซึ่งถ้าหากว่าเป็นนกที่มีขนาดใหญ่อย่างนกกระสาแดง หรือนกปากห่าง ก็จะได้นกที่ตัวใหญ่พอสมควร สามารถนำไฟล์มาครอปเพิ่มให้ขนาดใหญ่ขึ้นได้ แต่สำหรับนกขนาดเล็ก อย่างนกอีเสือหัวดำ นกเป็ดผี หรือนกแซงแซวหางปลา อาจจะยากสักหน่อยครับ เพราะนอกจากตัวเล็กแล้ว ยังเข้าใกล้ได้ยากอีกด้วย ถ้ามีเลนส์ช่วง 500-600 มม. ขึ้นไปจะช่วยได้เยอะครับ แต่ก็ต้องแลกกับขนาดเลนส์ที่ใหญ่ และน้ำหนักมากขึ้นด้วยเช่นกัน ถ้าไม่มีช่วงเลนส์ขนาดนั้น ก็ใช้วิธีต่อท่อเทเลคอนเวอร์เตอร์ เพื่อทางยาวโฟกัสออกไปก็ได้เช่นกัน รูรับแสงก็ใช้ที่กว้างสุดเลยก็ได้ เพื่อเน้นซับเจคต์หลักให้โดดเด่นขึ้น รวมทั้งจะได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น เพื่อหยุดจังหวะ หรือแอ๊คชั่นต่างๆ ของนกด้วย แต่ถ้าหากว่าได้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไป ก็ให้ปรับเพิ่มความไวแสงให้มากขึ้นครับ

ผมติดต่อเรือของลุงจร เพื่อล่องชมธรรมชาติและดูนกในบึง โดยเรือที่ใช้นั้นเป็นเรือเหล็กขนาดใหญ่พอสมควร รองรับนักท่องเทียวได้ประมาณ 12-15 คน พื้นเรือแบนราบ สามารถตั้งขาตั้งกล้องได้ ในกรณีที่ใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ที่มีน้ำหนักมาก ช่วงแรกของการล่องเรือ เป็นการล่องออกไปตามร่องน้ำระหว่างผักตบชวาและไม้น้ำต่างๆ ที่ขึ้นกันอย่างหนาแน่น ซึ่งเพียงแค่ล่องออกมาไม่ถึง 100 เมตร เราก็กดชัตเตอร์กันอย่างเมามัน เพราะรอบข้าง มีนกนานาชนิด ออกหาอาหารกันหนาตาทีเดียว นกที่มีอยู่อย่างชุกชุม มีให้ถ่ายภาพได้ตลอดเส้นทางล่องเรือคือ นกอีโก้ง ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นตรงปากและหน้าผากสีแดง ส่วนลำตัวมีขนสีเขียวอมฟ้า อีกประเภทหนึ่งคือนกกาน้ำ ขนสีดำเมี่ยม ที่ชอบกางปีกอาบแดดในตอนสายๆ ซึ่งการวัดแสงจะต้องชดเชยเผื่อไปทางบวก เนื่องจากสภาพแสงในส่วนอื่นๆ จะมารบกวนการวัดแสง ทำให้สีขนของนกกาน้ำ ดำเข้มจนขาดรายละเอียดไป หรือเลือกมุมตามแสง จะช่วยให้เก็บรายละเอียดได้ง่ายขึ้นครับ

ส่วนที่บินโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียนตามเรือไปตลอดนั่นคือนกนางแอ่นบ้าน ที่ให้ลองฝึกฝีมือถ่ายภาพแพนตามที่กว่าจะถ่ายภาพได้ เหนื่อยกันพอดู กับความเร็วในการบิน และทิศทางการบินที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด การแพนกล้องตามนกนางแอ่นนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เพราะเป็นการแพนที่ต้องใช้ความเร็วมากพอสมควร ดังนั้นสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/60 วินาที หรือ 1/125 วินาทีได้ ซึ่งความยากของการถ่ายภาพแบบนี้คือ ต้องหมุนกล้องแพนให้ทันกับการบินของนกครับ อาจจะถ่ายมากว้างหน่อย เผื่อครอปก็ได้

“ข้างหน้า ขวามือ นกกระสาแดง” ลุงจร ซึ่งมาขับเรือ และชี้เป้าให้กับเราด้วย แช๊ะๆๆๆๆ เสียงชัตเตอร์รัวระงมกันเลยทีเดียว นกกระสาแดง เป็นนกขนาดใหญ่ มีขนาดลำตัวยาวเกือบๆ หนึ่งเมตร ปลายปากแหลมคม คอและขายาวเรียว ขนบริเวณคอและลำตัวด้านล่างเป็นสีน้ำตาลแดง ขนด้านบนหลังเป็นสีเทา พอเรือขยับเข้าไปใกล้หน่อย ก็โผบินออกห่างไป แล้วยื่นคอยาวๆ ขึ้นมาดูว่าเป็นระยะปลอดภัย แล้วก็ก้มหน้า ก้มตาหาอาหารต่อไป

“ตรงโน้น นกช้อนหอย” คนขับเรือชี้เป้าอีกครั้ง นกช้อนหอยที่เห็นเป็นนกช้อนหอยดำเหลือบ ขนดำมัน เดินหาอาหารอยู่ในมุมย้อนแสง ทำให้ถ่ายภาพยากขึ้นไปด้วย แต่พอเรือเคลื่อนตัวเข้าไปใกล้ ก็บินหลบไปเกาะอยู่อีกด้านที่เป็นมุมตามแสง ทำให้ถ่ายภาพง่ายขึ้น ก่อนหน้านี้ นกช้อนหอยดำเหลือบ ถือเป็นนกอพยพ แต่ปัจจุบันมีสถานะเป็นนกประจำถิ่น สงสัยติดใจอาหารไทยจนไม่ยอมกลับบ้าน เลยตั้งรกรากอยู่ที่บึงบอระเพ็ดนี่ซะเลย และในดงบัวหลวงข้างหน้า มีนกอีแจวเดินหาอาหารอยู่ พร้อมกับมองๆ มายังเรือของเรา ผมกดชัตเตอร์ไปได้ 5-6 ภาพ ก็วิ่งลัดเลาะเข้าไปยังดงไม้น้ำหลบหายไป

นกอ้ายงั่ว ที่โผขึ้นจากน้ำ เป็นอีกหนึ่งช๊อตที่กินเมมโมรี่กล้องอยู่พอสมควร

จุดหมายต่อไปของเราคือเกาะวัด และเกาะดร.สมิธ ซึ่งเป็นเกาะใหญ่กลางน้ำที่ปกคลุมด้วยกอพืช และพันธ์ไม้น้ำต่างๆ เกาะนี้ถือเป็นที่ทำรัง วางไข่ และเลี้ยงลูกของนกนานาชนิด อาทิ นกยางควาย นกยางเปีย นกกาน้ำ และนกที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธ์อย่างนกอ้ายงั่วด้วย ซึ่งเกาะดร.สมิธ ได้ชื่อมาจาก ดร. ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ นักชีววิทยา ชาวอเมริกัน ที่เดินทางเข้ามาศึกษาพันธ์ปลาเสือพ่นน้ำในเมืองไทยในช่วงปี 2450-2453 ในสมัยนั้น ทางราชการไทยได้จัดตั้งหน่วยงานบำรุงและรักษาสัตว์น้ำ ขึ้นตรงต่อกระทรวงเกษตราธิการ หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน และแต่งตั้งให้ ดร.สมิธ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา โดยงานแรกคือสำรวจพันธุ์สัตว์น้ำในประเทศไทยว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน และถือเป็นอธิบดีกรมประมงคนแรกที่บุกเบิกงานด้านศึกษาค้นคว้าทรัพยากรทางน้ำมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

ที่เกาะดร.สมิธนี้ เราไม่ผิดหวัง เพราะได้พบกับนกอ้ายงั่ว เกาะโดดเด่นอยู่บนยอดไม้ใหญ่ แทนที่จะเดินหากินอยู่ริมๆ น้ำ ซึ่งไม่ได้มีแค่ตัวเดียว แต่อยู่กันเป็นหลักสิบ หลักร้อย เมื่อรวมๆ กับนกกาน้ำแล้ว น่าจะอยู่กันหลายร้อย หรืออาจจะเป็นหลักพันตัวเลยก็ได้ จนดูเหมือนต้นไม้ในย่านนั้น ออกดอก ออกใบเป็นนกอ้านงั่ว และนกกาน้ำกันเลยล่ะครับ นอกจากนกอ้ายงั่วแล้ว เรายังได้เจอกับนกกระสานวลด้วย ซึ่งนกกระสานวล ก็ถือเป็นนกขนาดใหญ่พอๆ กับนกกระสาแดง และอ้ายงั่วด้วยเช่นกันครับ

วิถีชีวิตของชาวบ้าน ที่จะออกมาดักลอบหาปลา เป็นอีกหนึ่งในซับเจคต์ที่น่าสนใจทีเดียว

จบทริปไปพร้อมๆ กับไฟล์ภาพที่เต็มเมมโมรี่การ์ดกว่า 80 กิ๊กกาไบต์กันเลยทีเดียว เพราะตั้งเป็นการถ่ายภาพต่อเนื่อง เพื่อต้องการจับแอ๊คชั่นของนกด้วยนั่นเอง

ช่วงฤดูนกอพยพ จะเห็นเหยี่ยวออสเปร โฉบหาเหยื่ออยู่บ่อยครั้ง แต่อาจจะต้องมีเวลาเฝ้าดู ถ้าไปแล้วได้เจอก็ถือว่าโชคดีทีเดียวครับ

นกอพยพอีกชนิดหนึ่งคือ นกคู๊ต ก็เจอตัวได้ไม่ยากในฤดูอพยพ

เรื่องและภาพ : พีร วงษ์ปัญญา