Shooting Destination

อุ่นไอสายหมอก กับป่าของพ่อ “ปางตอง ปางอุ๋ง”

ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง

ผมเดินทางจากโครงการหลวงแม่ลาน้อย มายังศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ โดยแวะรับทีมงานที่เดินทางตามมาสบทบที่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ก่อนที่จะใช้เส้นทางเลี่ยงเมืองไปยังศูนย์ฯ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่ไปบ้านรักไทยด้วยเช่นกันครับ ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ เป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริ และโครงการหลวงที่มีกว่า 4000 โครงการ ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของราษฎรที่ในพื้นที่สูง ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยมาตลอด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก และประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยชนเผ่ามากมายเชื้อชาติ มีวัฒธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังมีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย และรับจ้างขนยาเสพติด ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของประเทศด้วย โดยพระองค์ทรงมุ่งหวังที่จะให้ความรู้ และสร้างอาชีพที่มั่นคงแก่ราษฎรอย่างยั่งยืนนั่นเอง

ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหมอกจำแป๋ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่กว่า 5,483 ไร่ แบ่งพื้นที่งานออกเป็นส่วนๆ คือ โครงการพระราชดำริปางตอง 1 (ห้วยมะเขือส้ม), โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปาง อุ๋ง), โครงการพระราชดำริปางตอง 3 (แม่สะงา-หมอกจำแป๋) และโครงการพระราชดำริปางตอง 4 (พระตำหนักปางตอง) โดยศูนย์ฯ ปางตองทั้งหมดนั้น เป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาชุมชน คน และป่าไม้ ในพื้นที่เป้าหมายให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยประกอบไปด้วยศูนย์พัฒนาและส่งเสริมอาชีพบนพื้นที่สูงหลายแขนงวิชาชีพ, สถานีวิจัยเพาะเลี้ยงและขยายพันธ์ุสัตว์ป่า, ศูนย์อนุรักษณ์และจัดการพื้นที่ป่า รวมทั้งการพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังนํ้า เป็นต้นครับ ซึ่งผมและทีมงาน จะพาไปเที่ยวชมสองส่วนคือ ปางตอง 2 และปางตอง 4 ครับ

พาหนะในการเดินทางนั้นยังคงเป็น Toyota Yaris Ativ Sedan 4 ประตู คันเก่งคันเดิมนั่นเอง แต่คราวนี้ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นเล็กน้อยกับนํ้าหนักบรรทุกที่เพิ่มขึ้น การวิ่งบนเส้นทางราบก่อนขึ้นเขานั้น ยังคงตอบสนองได้เป็นอย่างดีทีเดียว การยึดเกาะเส้นทางโค้งคดเคี้ยวยังคงนุ่มหนึบ และนิ่งสนิท ไม่ออกอาการแกว่งแต่อย่างใดครับ พละกำลังได้มาจากเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ Dual VVT-i 1.2 ลิตร 86 แรงม้า ที่ 6000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 108 นิวตัน-เมตร ที่ 4000 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT-i ซึ่งก็ตอบสนองอัตราขับเคลื่อนและการเร่งแซงได้เป็นอย่างดี จนไม่ได้รู้สึกเลยว่าเป็นเครื่องยนต์ 1.2 ลิตรเท่านั้น การตอบสนองของพวงมาลัยในการเข้าโค้งต่างๆ ทั้งกว้างและแคบๆ รวมทั้งโค้งหักศอกด้วย โดยพวงมาลัยเป็นแบบปรับไฟฟ้า EPS ปรับความหน่วงตามความเร็วของรถ มีนํ้าหนักหน่วงมือ เมื่อความเร็วรถสูงขึ้น แต่ค่อนข้างหมุนลื่น เมื่อใช้งานในเมืองที่ความเร็วตํ่า ให้ความคล่องตัวในยามขับขี่ นอกจากนี้ยังมีปุ่มปรับควบคุมเครื่องเสียง และรับโทรศัพท์จากพวงมาลัยได้อีกด้วย เป็นรถยนต์ที่ขับสนุกทั้งในเมืองและเส้นทางโค้งเยอะแยะมากมายแบบนี้ด้วยเช่นกันครับ

Toyota Yaris Ativ ออกแบบตัวรถได้สวยงาม โดยใช้คอนเซปต์จากการรวมกันของสองบุคลิกคือ Smart และ Active ที่สะท้อนถึงความลํ้าสมัยและความปราดเปรียวคล่องแคล่วที่เป็นจุดขายนั่นเอง ตัวรถมาพร้อมกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยอย่างครบครัน โดยเฉพาะถุงลมนิรภัยที่ให้มามากถึง 7 ตำแหน่ง และเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่มีมาให้มาครบในทุกรุ่นย่อยอีกด้วย ระบบเกียร์ของ Toyota Yaris Ativ นั้นออกแบบให้เลือกใช้ได้ ทั้งที่ตำแหน่ง D หรือการขับขี่ปกติ, S สำหรับการขับขี่ที่ต้องการลดความเร็วรถแบบ Engine Breake และ B สำหรับความต้องการ Engine Breake ที่มากขึ้น สำหรับการขับขี่ลงเนินเขาสูงชัน นอกจากนี้ ตำแหน่ง S และ B ยังสามารถใช้ในการขึ้นเขา หรือการเร่งแซงที่ต้องการพลังของเครื่องยนต์ในรอบที่สูงขึ้น ซึ่งผมได้ใช้งานอยู่เกือบจะตลอด เพราะเส้นทางส่วนมากเป็นภูเขาสูง ซึ่งจะต้องขับขึ้นเขา-ลงเขาอยู่ตลอด รวมทั้งมีทางโค้งอยู่มากมายอีกด้วยครับ

นอกจากนี้ ตำแหน่งเกียร์ ทั้ง S และ B มีส่วนช่วยให้การควบคุมรถมั่นคงมากขึ้น และทำให้การขับขี่ปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วยครับ โดยหลายๆ เนินเขา มีความสูงชันถึง 8% และบางช่วงก็ค่อนข้างยาวอีกด้วย ซึ่งในการขับขี่นั้น ผมจะต้องปรับใช้เกียร์ S และ B อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรถจะปรับรอบเครื่องยนต์ให้สูงขึ้น และจะได้แรงบิดที่มากขึ้นด้วย การขับขี่ก็เพียงแตะคันเร่งรักษารอบให้คงที่ ให้เครื่องยนต์และระบบเกียร์ค่อยๆ ปรับแรงบิดที่เหมาะสม และพาตัวรถไต่ขึ้นเนินสูงไปได้ครับ ปกติผมจะใช้ที่ตำแหน่ง S ก่อน ซึ่งรอบเครื่องจะอยู่ที่ประมาณ 3500 รอบต่อนาที และถ้าหากเป็นเนินเขาที่สูงขันมากๆ จึงจะปรับชิฟท์มาที่ตำแหน่ง B ครับ ซึ่งรอบเครื่องจะปรับเป็น 4500-5000 รอบต่อนาที และจากการใช้งานที่ผ่านๆ มา เป็นการตอบสนองที่ยอดเยี่ยมทีเดียว และให้ความมั่นใจในการขับขี่ในสภาพเส้นทางภูเขาสูงแบบนี้ได้เป็นอย่างดีครับ ส่วนการตอบสนองของช่วงล่างรู้สึกถึงความนุ่มหนึบดีทีเดียว การซับแรงสั่นสะเทือนเมื่อต้องวิ่งผ่านเส้นทางขรุขระทำได้ดีครับ ถือว่าเป็นการปรับเซ็ตมาได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน

จากเส้นทางเลี่ยงเมือง ผมวกกลับเข้ามายังเส้นทางหมายเลข 1095 ซึ่งไปอำเภอปางมะผ้า และอำเภอปายได้ แต่นั่นไม่ใช่จุดหมายของเรา ผมขับจากแยกเลี่ยงเมืองมาประมาณ 4 กิโลเมตร จากนั้นก็เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางที่จะไปภูโคลน เพื่อแวะถ่ายภาพที่สะพานซูตองเป้กันก่อน โดยสะพานซูตองเป้ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านกุงไม้สัก มีที่จอดรถสะดวกสบายทีเดียวครับ ถ้าหากว่ามาใชช่วงเช้าๆ จะมีพระเดินบิณฑบาต แต่เรามาถึงกันตอนสายมากแล้ว จึงได้แค่เก็บบรรยากาศทั่วๆ ไปครับ สำหรับคุณผู้หญิง บริเวณเชิงสะพานจะมีบริการเช่าผ้านุ่งพื้นเมือง พร้อมร่มกระดาษเป็นพร๊อพให้ไปใส่ไปเดินเฉิดฉายถ่ายภาพเป็นที่ระลึกบนสะพานไม้ได้เป็นอย่างดีครับ

ทางขึ้นสะพานไม้ที่ต้องรับนักท่องเที่ยวที่ถูกตกแต่งด้วยตัวหนังสือที่สวยงาม

กิจกรรมการดำเนินชีวิตของที่นี่ยังคงสบายๆ เรียบง่ายครับ

บรรยากาศนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมความงามที่สะพานแห่งนี้

สะพานซูตองเป้ สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของชาวบ้าน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสะพานไม้ไผ่ระยะทางกว่า 500 เมตร จากบ้านกุงไม้สักทอดยาวข้ามที่นาของชาวบ้านและแม่นํ้าสะงา ไปยังสวนธรรมภูสมะที่อยู่บนเนินเขาอีกฝั่งฟากหนึ่ง โดยไม้และเสาที่นำมาสร้างสะพานนั้น เป็นไม้ที่ชาวบ้านต่างนำมาบริจาคจากเสาบ้านและไม้เก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเสาแต่ละต้นจะมีความสูงที่แตกต่างกัน ถือเป็นพลังศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อพระพุทธศาสนานั่นเองครับ

จากสะพานซูตองเป้ เราเดินทางต่อไปยังศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ โดยยังคงใช้เส้นทางเดิม ซึ่งเป็นถนนลาดยางราบเรียบ แต่คดเคี้ยวมากมายทีเดียว สภาพโดยทั่วไปยังไม่ได้สูงชันมากนัก แต่พอผ่านบ้านหมอกจำแป๋มาสักพัก เส้นทางเริ่มสูงชันและคดเคี้ยวมากขึ้น ผมต้องชิฟท์เกียร์จากตำแหน่ง D มาเป็น S และ B เกือบจะตลอดทั้งเส้นทางครับ ซึ่งข้อดีอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากแรงบิดที่เพิ่มขึ้นคือ ในช่วงลงเนินเขาสูง ยังช่วยลดการทำงานของเบรกไม่ให้ถูกใช้งานหนักจนเกินไปอีกด้วย

ผมเลี้ยวซ้ายอีกครั้งเข้าสูงเส้นทางไปยังศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของพระตำหนักปางตองด้วย เส้นทางเข้าไปยังศูนย์ฯ ไม่ไกลนัก แต่มีความสูงชันมากกว่าเส้นทางที่ผ่านมา โดยเฉพาะเนินสุดท้ายก่อนถึงศูนย์ฯ มีความลาดชันมาก ซึ่งทำให้ผมต้องกดคันเร่งลงหนักมากกว่าปกติ

ผมจอดที่อาคารศูนย์บริการ เพื่อเข้าไปสอบถามข้อมูลเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งเส้นทางข้างหน้าอีกด้วย “ยังมีเส้นทางชันๆ อีกมั๊ยครับ” ผมถามไป “คุณผ่านตรงทางเข้าด้านหน้ามาได้ คุณก็ไม่ต้องกังวลเส้นทางอื่นแล้วครับ ไปได้สบายมาก” เจ้าหน้าที่ตอบกลับมา ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเส้นทางที่เพิ่งจะผ่านมาหมาดๆ นั้น สูงชันมากกว่าปกติจริงๆ แต่ถึงกระนั้น Toyota Yaris Ativ ก็ผ่านมาได้ด้วยดีครับ

ผมขยับรถมาจอดตรงใกล้ๆ สะพานข้ามลำธารเล็กๆ จากจุดนี้ สามารถเดินเที่ยวได้เป็นวงกว้างทีเดียวครับ ริมบ่อนํ้า มีปลาพลวงแหวกว่ายกันอยู่มากมายทีเดียว นํ้าเย็นเจี๊ยบ จนอยากจะลงไปนอนแช่ให้ชื่นใจ เพราะถึงแม้ว่าจะเดินทางมาในช่วงเดือนที่น่าจะเป็นฤดูหนาวแล้ว แต่อากาศก็ไม่ได้เย็นมากมายนัก แถมช่วงกลางวันแบบนี้ติดจะร้อนอบอ้าวซะด้วยซํ้า แต่ได้แค่วักขึ้นมาลูบหน้า แขนขา เท่านั้นก็เย็นชื่นใจแล้วละครับ “เอาใบลำโพงให้กินสิ ปลาพวกนี้เค้าชอบกินใบลำโพง” เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ที่เดินมาสมทบบอกกับเรา พร้อมทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ฝูงปลาโผเข้าฮุบกินใบลำโพงจนนํ้ากระจายทีเดียว น้องๆ ทีมงานนึกสนุก เด็ดมาให้กินกันใหญ่ สนุกสนานกันไปครับ ถัดไปด้านข้างเป็นโรงเรือนเพาะขยายพันธ์ุเขียดแลว เราก็ไม่พลาดที่จะเดินเข้าไปชม เพราะเขียดแลวก็คือกบที่อาศัยอยู่ตามแหล่งนํ้าบนภูเขาละครับ เรียกเป็นเขียด จะรู้สึกเหมือนตัวเล็กๆ แต่จริงๆ เค้าก็มีขนาดตัวที่ใหญ่พอสมควร

ภายในโรงเรือน มีสะพานที่ทอดยาวไปตามแหล่งนํ้าที่แซมไปด้วยหญ้า และไม้นํ้าหลายชนิด เราก็พยายามสอดสายตามองหาเผื่อว่าจะเจอเขียดแลวหลบซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ก็คว้านํ้าเหลวครับ ไม่เจอเลยสักตัว แถมไม่มีกระโดดลงนํ้าเหมือนเขียดหรือกบทั่วๆ ไปที่มักจะขึ้นมาผึ่งผิวอยู่บนบกอีกด้วย เอ๊ะ!! หรือว่าอายุเยอะแล้ว สายตาจะฝ้าฟางลงนะ..

เขียดแลว หรือกบภูเขา หรือกบทูด ถือเป็นกบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก กบตัวโตเต็มวัยจะมีความยาวถึง 28 เซนติเมตรเลยทีเดียว โดยกรมประมงได้ค้นคว้าวิจัยและเพาะขยายพันธ์ุเขียดแลวที่สถานีประมงนํ้าจืด จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาตั้งแต่ปี 2530 โดยปัจจุบันสามารถเพาะพันธ์ุเขียดแลวได้ถึง 50,000 ตัวต่อปี และนำไปปล่อยลงในแหล่งธรรมชาติเพื่ออนุรักษ์พันธ์ุตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานให้แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2534 ความว่า “ให้กรมประมงดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ปลาในแม่นํ้าปาย และพันธุ์เขียดแลว เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติและศึกษาทดลองเพื่อขยายผลไปสู่ราษฎรต่อไป”

นักท่องเที่ยวให้ความสนใจกับความสวยงามของกล้วยไม้ที่มีมากมายภายในศูนย์

ป้ายให้ความรู้ภายในโรงเรือนเฟิน

เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมแปลงปลูกพืชนานาชนิดที่กำลังปลูกเพื่อรับฤดูหนาว

ผ่านจากโรงเพาะขยายพันธุ์เขียดแลว ผมเดินทะลุไปด้านหลัง ซึ่งเป็นบ่อปลาขนาดใหญ่สองบ่ออยู่ติดกัน เป็นบ่อเพาะพันธุ์ปลา “สเตอร์เจี้ยน” เพื่อส่งเสริมให้เป็นอาชีพสำหรับชาวบ้านอีกด้วย ผมเดินวกอ้อมกลับมาด้านข้างโรงเรือนเพาะพันธุ์เขียดแลวอีกครั้ง ก่อนที่จะเดินผ่านประตูเข้าไปในโรงเรือนเฟินและกล้วยไม้ ซึ่งเป็นโรงเรือนที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ภายในมีเฟินหลากสายพันธ์ุ ทั้งเป็นแบบอยู่ติดกับพื้น ไปจนถึงเฟินที่มีต้นสูงใหญ่ ในขณะที่ผมกำลังถ่ายภาพอยู่นั้น มีเจ้าหน้าที่ 6-7 คนเข้ามาในโรงเรือนเฟินและกล้วยไม้ แล้วก็ไปจับกลุ่มกันอยู่ที่แปลงเพาะกล้วยไม้ จากการสอบถามได้ความว่า มารับกล้วยไม้ที่เพาะหน่อเตรียมไว้แล้ว ให้เจ้าหน้าที่กลุ่มนั้นนำไปขยายพันธุ์ในธรรมชาติต่อไปครับ

ออกจากโรงเรือนเฟิน ผมข้ามฝั่งถนนมาอีกด้าน มีเจ้าหน้าที่หลายๆ คนกำลังเตรียมดินสำหรับเพาะพันธุ์ไม้หลายๆ ชนิด ฝั่งด้านนี้ มีทั้งแปลงองุ่น, แปลงเพาะเลี้ยงหญ้าแฝกสายพันธ์ุจากหลายๆ พื้นที่ แปลงอโวคาโดที่ออกลูกเต็มต้น และแปลงสตรอว์เบอร์รีที่เพิ่งจะแตกยอดเติบโต โดยโซนฝั่งนี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์ดินและนํ้าบนพื้นที่สูงนั่นเองครับ

ฝายขนาดเล็กที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูน้ำน้อย

ผมเดินย้อนกลับมาใกล้ๆ ลำธารอีกครั้ง ฝั่งด้านนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ในเรื่องการจัดการนํ้าบนพื้นสูง ซึ่งแน่นอนว่าหลายๆ คน รวมทั้งผมด้วย ได้รับความรู้มาตั้งแต่เด็กว่า นํ้าเป็นของเหลว และจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ตํ่าเสมอ นั่นเป็นที่มาของการสร้างฝายนํ้าล้น หรือฝายต้นนํ้า สำหรับกักเก็บนํ้าไม่ให้ไหลลงไปในพื้นที่ที่ตํ่ากว่าจนหมดนั่นเอง โดยจะมีคำอธิบายถึงวิธีการในการเลือกพื้นที่ที่จะสร้างฝายต้นนํ้า และสำรวจพื้นที่โดยรอบด้วยนั่นเอง ซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจตามปกติเท่านั้น แต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเก็บเกี่ยวความรู้กลับไปได้เต็มหัวเลยทีเดียวครับ

เรากลับมาที่รถ พร้อมเดินทางต่อไปยังโซนด้านในอีกหน่อย พ้นจากลำธารมาหน่อยก็จะเป็นทางลาดชันขึ้นเนินอีกรอบ แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหากับ Toyota Yaris Ativ แต่อย่างใด ใช้เพียงเกียร์ D ปกติ ก็สามารถไต่ขึ้นเนินมาได้อย่างสบายๆ ผมจอดตรงจุดที่ทำไว้สำหรับจอดรถ เพราะตอนขึ้นเนินมานั้น สังเกตเห็นด้านซ้ายมือ ซึ่งมีรั้วถี่ๆ ล้อมรอบพื้นที่ค่อนข้างกว้าง มีตัวละมั่งเดินเล็มหญ้าหาอาหารอยู่ใกล้ๆ รั้ว โซนด้านนี้ เป็นโซนสัตว์ป่าที่ถึงแม้จะมีรั้วล้อมรอบ แต่ทั่วทั้งบริเวณก็เป็นป่าตามธรรมชาติที่สัตว์ป่าสามารถอยู่อาศัยได้เสมือนอยู่ในธรรมชาติปกติของเค้านั่นเอง หลังจากจอดรถแล้ว ผมค่อยๆ ย่องกลับไปยังจุดที่เห็นละมั่งเล็มหญ้าอยู่ เค้ายกคอขึ้นมา พร้อมขยับๆ ใบหู ซึ่งเป็นการระแวดระวังภัยอันตรายของเค้านั่นเอง แช๊ะ!! เสียงชัตเตอร์ดังขึ้นเบาๆ แต่เจ้าละมั่งที่ระวังภัยอยู่แล้ว ก้าวกระโดดสองครั้ง ก็หายวับเข้าไปในป่าทึบแล้วก็หลบเงียบไม่ยอมโผล่ออกมาอีกเป็นนานสองนาน

กวางที่ยังมีพฤติกรรมสัตว์ป่ากำลังตื่นคน เพราะสัตว์ที่นี่ถูกปล่อยตามป่าจริงๆ ครับ

ผมนั่งรอพักใหญ่ๆ ก็เปลี่ยนใจ เดินเลยลึกเข้าไปตามถนนอีก ด้านขวามือเป็นพื้นที่ของกวางดาว ที่นอนเคี้ยวเอื้องอยู่อย่างสบายใจ แต่ก็มีท่าทีระวังภัยอยู่ตามสัญชาตญาณสัตว์ป่านั่นเอง แสงที่ตกลงมาบนเขากวางกำลังสวย ทำให้ผมลั่นชัตเตอร์ไปชุดใหญ่เหมือนกัน แต่มุมมมองยังไม่ดีนัก เพราะเค้านอนอยู่ และต้นหญ้ากับต้นไม้พุ่มเล็กๆ บดตัวลำตัว เห็นเพียงหัวโผล่ขึ้นมาเท่านั้นเอง

ด้านหน้าที่ติดริมถนนเป็นกรงที่ตาไม่ถี่นัก สามารถใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ส่องทะลุไปได้ไม่ยาก ทำให้มองไม่เห็นกรง ให้ความรู้สึกเหมือนกับถ่ายภาพอยู่ในป่าแบบธรรมชาติจริงๆ ไม่เหมือนอยู่ในกรง การไปถ่ายภาพที่สวนสัตว์ก็เช่นเดียวกันครับ ถ้าหากใช้เลนส์เทเลโฟโต้ยาวๆ ประมาณ 200 มม. ขึ้นไป จะช่วยให้กรงด้านหน้าเบลอๆ ไป รวมทั้งมุมรับภาพที่แคบๆ ก็ช่วยให้เลือกฉากหลังที่ดูแล้วเป็นธรรมชาติได้ง่ายขึ้นด้วยครับ

ออกจากกวางดาว เราขับรถเข้าไปด้านในพื้นที่ศูนย์ฯ อีก ถนนเป็นราดยางราบเรียบทั้งหมด แต่ก็มีคดเคี้ยวและขึ้น-ลงเนินอยู่บ้าง ซึ่งไม่ได้สูงชันมากมาย ผมขับแบบสบายๆ ชมวิวทิวทัศน์สองข้างทางไปด้วย ด้านหน้าเป็นฟาร์มแกะ และคอกม้า ที่กำลังเดินเล็มหญ้าอยู่อย่างสบายใจ แกะที่เลี้ยงอยู่ในบริเวณนี้ เป็นแกะที่นำมาเลี้ยงปรับปรุงสายพันธ์ุ ก่อนที่จะนำไปให้เกษตรกรได้นำไปเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพต่อไป โดยการปรับปรุงสายพันธ์นั้น ก็เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และทำให้ได้คุณภาพของเนื้อและขนที่ดีขึ้นด้วย ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์ พระบรมราชิชีนาถนั่นเอง

การจัดพื้นที่ส่วนที่เป็นสัตว์ของศูนย์ฯ ทำได้อย่างเรียบง่าย และอิงไปกับธรรมชาติ เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวพักผ่อนและเก็บความรู้เป็นอย่างดีเลยละครับ ถ้าหากว่าจะมาเที่ยวชมเพียงอย่างเดียว ผมว่าใช้เวลาไม่นานก็เข้าไปชมได้หมดทุกพื้นที่ แต่ถ้าต้องการชมเพื่อเป็นการพักผ่อนด้วย และเก็บความรู้ไปด้วย อาจจะต้องเผื่อเวลาไว้ทั้งวันละครับ เพราะนี่คือแหล่งความรู้นอกห้องเรียนอย่างแท้จริง

ออกจากศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ ผมและทีมงานเดินทางต่อไปยังโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปาง อุ๋ง) หรือที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในชื่อ “ปางอุ๋ง” นั่นเอง โดยผมและทีมงานจะต้องลุยเส้นทางคดเคี้ยวและขึ้นเนินสูงชันกันอีกรอบ แต่หลังจากที่ผ่านเนินสูงชันมาหลายๆ เนิน ผมมั่นใจกับน้องบลู Toyota Yaris Ativ สีนํ้าเงินเข้มคันนี้มากขึ้นเป็นเท่าตัวครับ เส้นทางหลายๆ ช่วง เป็นทางขึ้นเขาแบบโค้งหักศอก การส่งกำลังก็ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ด้วย เพราะถ้าเร่งความเร็วมากๆ ก็อาจจะหลุดโค้งได้ แต่ถ้ามาเบาๆ ก็จะไม่มีแรงส่งขึ้นเนินด้วย ดังนั้น เกียร์ S และ B จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับผมมากทีเดียว เพราะนอกจากจะช่วยให้ควบคุมตัวรถได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังให้แรงบิดที่ทันอกทันใจ พาน้องบลู ผม และทีมงานไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัยหายห่วงเลยละครับ

“ปางอุ๋ง” เป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดแนวชายแดนพม่า ซึ่งมีกองกำลังต่างๆ หลายฝ่าย และมีการปลูกพืชเสพติด รวมทั้งมีการบุกรุกพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าอยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงมีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรกลุ่มน้อยที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น และพัฒนาความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บนํ้า เพื่อสร้างความมั่นคงแนวชายแดน และพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น โดยปางอุ๋ง มีลักษณะเป็นพื้นที่เป็นอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่ บริเวณริมอ่างเก็บนํ้าเป็นทิวสนที่ปลูกเรียงรายกันมากมาย ในยามเช้าๆ จะมีไอหมอกลอยระเรื่อเหนือผิวนํ้าทั่วทั้งอ่างเก็บนํ้า จนยามสาย แสงแดดสาดส่องไปยังแนวสน กระทบกับไอหมอกสวยงามจนเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนอยู่ไม่ขาด

ปากอุ๋งในฤดูปลายฝนต้นหนาวก็ยังเป็นที่สนใจในการเข้ามาใช้พื้นที่พักผ่อนสำหรับหลายๆ ครอบครัว หลายๆ กรุ๊ปแก๊งค์

ปางอุ๋งในยามเช้า คือมุมมหาชนของที่นี่ครับ ซึ่งในฤดูหนาวนักท่องเที่ยวก็จะได้ชมภาพอันสวยงามเช่นนี้ครับ

บรรยากาศในยามเช้า ถือเป็นช่วงที่เหมาะกับการถ่ายภาพมากที่สุด เพราะนอกจากไอหมอกจะลอยระเรื่อเหนือผิวนํ้าแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวล่องแพไม้ไผ่สัมผัสกับไอหมอกภายในอ่างเก็บนํ้าด้วย ซึ่งเลนส์ที่ใช้ก็ได้ทั้งมุมกว้างๆ เพื่อเก็บบรรยากาศของทะเลสาบและแนวสน ไปจนถึงเทเลโฟโต้เพื่อเก็บภาพนักท่องเที่ยวนั่งแพลอยล่องอยู่กลางบึงนั่นละครับ ส่วนในยามที่แสงแดดสาดส่องลงมาในแนวสน ถ้าใช้เลนส์มุมกว้างแล้วปรับรูรับแสงแคบๆ ก็จะได้ดวงอาทิตย์เป็นประกายแฉก หรือถ้าเป็นช่วงกลางวันที่แดดสาดส่องลงมาบนแนวสน จะได้เงาสะท้องจากผิวนํ้าที่ราบเรียบดุจดั่งกระจกเลยทีเดียวครับ

จุดถ่ายภาพที่ดูจะเป็นไฮไลท์ของปางอุ๋งเลยคือ แนวสนบริเวณลานกางเต็นท์ ในยามเช้าที่แสงแดดกำลังสาดทอเข้ามากระทบกับไอหมอกที่ลอยระเรื่ออยู่บนผิวนํ้า โดยเดินตามทางผ่านลานกางเต็นท์และจุดบริการนักท่องเที่ยวออกไปอ้อมไปอีกด้านหนึ่งของทะเลสาบ ซึ่งเป็นทางลาดซีเมนต์ เดินได้อย่างสะดวก หรือจะขับรถเข้าไปก็ได้เช่นกันครับ

นอกจากบ้านพักของทางศูนย์แล้ว ก็ยังมีบริการที่กางเต็นท์อีกด้วยครับ

สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปพักค้างแรมที่ปางอุ๋ง มีที่พักให้เลือกมากมายทีเดียวครับ จะเลือกกางเต็นท์บริเวณแนวสนที่เป็นจุดกางเต็นท์ก็ได้ หรือจะเลือกพักบ้านพักอุทยาน ซึ่งจะต้องจองล่วงหน้าก่อนที่จะมา หรือโฮมสเตย์, เกสต์เฮาส์ในหมู่บ้านรวมไทยมีให้เลือกมากมายเช่นกันครับ แต่ช่วงฤดูท่องเที่ยว ธันวาคม มกราคม อาจจะต้องจองล่วงหน้าเช่นเดียวกัน เพราะปางอุ๋งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากครับ

กลับออกจากปางอุ๋ง เรายังคงใช้เส้นทางเดิมย้อนกลับมาทางแมฮ่องสอน แน่นอนว่า ยังคงเส้นทางคดเคี้ยวอยู่เช่นเดิม แต่ความสูงชันจะลดลงอยู่บ้าง มีแต่ไม่ได้เยอะเหมือนตอนขาขึ้นเท่านั้นเองครับ แต่ระยะทางที่ผ่านมาทั้งหมดก็ได้พิสูจน์แล้วว่า Toyota Yaris Ativ สามารถพาเราไปได้ทุกๆ ที่ ไม่ว่าจะใกล้ หรือไกล ไม่ว่าจะเป็นเนินเขาสูงชันขนาดไหน สมรรถนะ ช่วงล่าง ระบบขับเคลื่อน และเทคโนโลยีความปลอดภัยที่อัดแน่นอยู่ใน Toyota Yaris Ativ คันนี้ ก็พร้อมที่จะโลดแล่นไปกับคุณทุกๆ ที่ครับ แล้วพบกันใหม่
……………………
..สวัสดีครับ

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทางไป :   ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ

 

เส้นทางสู่ปางตองและปางอุ๋ง มาได้ทั้งจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ โดยจากเชียงใหม่ใช้เส้นทางหมายเลข 107 แม่ริม-แม่แตง และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1095 ผ่านห้วยนํ้าดัง อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า และก่อนถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 13 กิโลเมตร จะมีทางเลี้ยวขวาเข้าสู่บ้านหมอกจำแป๋ ขับลัดเลาะตามทางไปเรื่อยๆ จะมีป้ายบอกทางตลอด ก็จะถึงพระตำหนักปางตองและศูนย์ฯ ปางตอง จากนั้นขับต่อไปจนถึงบ้านนาป่าแปก จะมีแยกซ้ายมือไปยังบ้านรวมไทยและปางอุ๋งส่วนการเดินทางจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ใช้เส้นทางหมายเลข 1095 จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางไปยังภูโคลนและขับตามเส้นทางมาเรื่อยๆ จนผ่านบ้านหมอกจำแป๋ หรือจะขับเลยมาตามเส้นทางหมายเลข 1095 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่บ้านหมอกจำแป๋โดยตรงก็ได้เช่นเดียวกัน


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^

(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)


ติดตามบทความ ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/