Knowledge

เริ่มต้นถ่ายภาพขายออนไลน์ # 02 BY JOHNSTOCKER

ในฉบับที่แล้วผมได้เขียนวิธีสมัครเว็บ shutterstock ให้แล้วนะครับ ในฉบับนี้เรามาว่ากันด้วยเรื่องแนวทางและทิศทางของการถ่ายภาพขายออนไลน์ การถ่ายภาพขายออนไลน์ ผมขอเรียกสั้นๆ ว่าถ่ายภาพสต๊อกนะครับ เป็นอันเข้าใจกัน

ในการถ่ายภาพขายเราก็ต้องทราบก่อนว่าใครจะซื้อภาพของเรา เพิ่มเติมจากฉบับที่แล้ว

1. เว็บไซต์ และ โซเชี่ยลมีเดีย

ลูกค้าหลักและมีกำลังซื้อมากพอสมควร โดยเฉพาะเว็บวาไรตี้ หรือเว็บที่มีบทความประจำวัน รวมไปถึงสื่อโซเชี่ยลต่าง ๆ ก็นิยมซื้อภาพจากเว็บไมโครสต๊อกต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบงานตามภาพตัวอย่าง

2. สื่อสิ่งพิมพ์

หลังจากที่เราทราบว่าใครซื้อภาพเราแล้ว หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ไม่ทราบว่าจะถ่ายแนวไหนขาย แนวไหนขายได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นมือใหม่กับการขายภาพออนไลน์ งั้นเรามาวางแผนการถ่ายภาพขายออนไลน์ดีกว่า ว่าเราจะเริ่มถ่ายอะไรกันดี

ในส่วนของผู้ซื้อภาพยังมีอีกมากมาย ผู้เขียนขอยกตัวอย่างหลักๆ สองประเภทแล้วกันนะครับ ลูกค้ามีหลากหลายทั่วโลก อาจจะระบุการใช้งานไม่หมด แต่ความต้องการซื้อภาพยังมีอีกมากมายแน่นอน


1. ถ่ายภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ก่อนที่เราจะถ่ายภาพขายออนไลน์ได้ เราต้องเรียนรู้การถ่ายภาพ การควบคุมกล้อง ให้ได้แสงที่เหมาะสม องค์ประกอบที่สวยงาม การฝึกถ่ายภาพหลากหลายแนวจะทำให้เรามีทักษะในการถ่ายภาพและสามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายตามที่เราต้องการได้ เราก็จะได้งานคุณภาพไปส่งขายออนไลน์ต่อไป

ซ้าย : ภาพนี้ใช้ขาตั้งกล้อง ใช้สปีดชัตเตอร์ 1 วินาที่ รูรับแสง F.3.5 ISO.100 ให้นายแบบยืนนิ่งที่สุด ใช้เทคนิค long exposure เพื่อให้ได้ ความเคลื่อนไหวของวัตถุรอบข้าง
ขวา : ส่วนภาพนี้ใช้แฟลชติด softbox ขนาด 60×60 ยิงลงมาใส่ตัวแบบประมาณ 45 องศา ใช้สปีดชัตเตอร์ที่ 200 รูรับแสงใช้ F.10 ISO. 100

 

2. เริ่มต้นถ่ายภาพขายออนไลน์กับสิ่งรอบตัว

การถ่ายภาพสต๊อก เริ่มต้นง่ายๆ จากสิ่งรอบตัวที่อยู่ภายในบ้าน หรือแม้แต่ในที่ทำงาน สามารถนำมาถ่ายได้ โดยเราอาจจะยังไม่ต้องลงทุนเรื่องพร็อพ ( พร็อพ คืออุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ ) ฉะนั้นแล้วเรามาดูกันว่าในบ้านเราเอาอะไรมาถ่ายได้บ้าง มาดูกันคัรบ

ซ้าย : ลองเดินรอบบ้านว่ามีสิงห์ สา รา สัตว์ ตัวใหนใกล้เราบ้าง ถ่ายตั้งแต่จิ้งจกยันตุ๊กแก ไปเลย ไก่นี้ ผู้เขียนไม่ได้เลี้ยงนะคัรบ ไปแอบถ่ายไก่บ้านคนอื่นเค้า ฮ่า ๆ ไม่ลงทุนอีกแล้วเรา ยังไงเดินสำรวจกันดูนะครับ
ขวา : สมุด ปากกา ดินสอ แก้วกาแฟ โน๊ตบุ๊ค น่าจะใกล้ตัวเราที่สุดละคัรบ ลองเอามาวางกับ โต๊ะสวย ๆ ถ้าได้เป็นโต๊ะไม้จะดีมากเลยนะครับ แค่นี้เราก็ได้มาหลายภาพแล้วครับ

อีกหนึ่งอย่างที่ทุกคนน่าจะมีกันคือยานพาหนะครับ จับมันมาถ่ายครับ ใครมี UFO ก็เอามาถ่ายได้นะครับ ฮ่า ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ

3. การจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

การจำลองสถานการณ์การใช้ชีวิตประจำวัน เราก็สามารถนำมาถ่ายภาพขายได้นะครับ ไม่ว่าจะเป็น กิน นอน ดื่ม ทำงาน เที่ยว ฯลฯ ได้เยอะแยะคัรบ แต่ที่สำคัญ เราควรเน้นไปที่ชีวิตประจำวันของฝรั่งนะครับจะดีมาก เพราะส่วนมากลูกค้าหลัก ๆ จะอยู่ทางนั้น ครับ

การใช้มือถือถือว่าเป็นกิจกรรมหลักของหลาย ๆ คนในสมัยนี้ ทุกคนต้องมีนะครับ เราก็เอาส่วนนี้แหละมาทำไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมส์ การแชท การคุยงาน การช้อปปิ้ง ฯลฯ ที่มือถือสามารถทำได้นะครับ

การออกกำลังกายก็เป็นอีกแนว ที่เป็นที่นิยมนะครับ

ในชีวิตประจำวันยังมีอีกมากมายนะครับ แต่ละวันเราทำอะไรบ้าง เอาตั้งแต่ตื่นนอน แต้องเซ็ตถ่ายนะครับ  จัดฉากถ่ายดีกว่าเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ ยังไงทดลองถ่ายกันดู นะครับ

4. จับคนใกล้ตัว มาเป็นนายแบบ นางแบบ

ภาพนี้คือน้องอิ๊คคิว เป็นเด็กข้างบ้านที่วิ่งเล่นหน้าบ้านผม เป็นลูกเจ้าของตึกที่ผมเช่าอยู่ ผมก็เลยจับมาถ่ายซะเลย แต่กว่าจะถ่ายได้ เลือดตาแทบกระเด็น ฮ่า ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ

ภาพเด็กทารกแรกเกิด ยังเป็นที่ต้องการของตลาดมากพอสมควร ถ่ายมาหลาย ๆ แบบ ถ่ายมือ ถ่ายเท้าด้วยนะครับ

5. การท่องเที่ยวถ่ายภาพขาย

ในการท่องเที่ยวแต่ละที่ก็จะมีสถานที่ต่าง ๆ ให้เราถ่ายรวมไปถึงวัตถุต่าง ๆ นะครับ บางอย่างเค้าจดเตรียมให้เรา เราก็แค่กดชัตเตอร์ บางอย่างเราก็จัดแจงนำไปเอง หรือหาเพื่อนร่วมทางเป็นนายแบบนางแบบให้ แค่นี้เราก็ท่องเที่ยวไปด้วย ได้ภาพมาขายด้วยสบายใจจุงเบย เผลอ ๆ มาขายแล้วเหมือนได้เที่ยวฟรี นะครับ จะบอกให้ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา นํ้าตก ทะเล วิวพวกนี้ยังขายได้เสมอ หรือเราสามาถนำบุคคลมาเล่าเรื่องเพิ่มเติมได้นะครับ เวลาไปเที่ยวอย่าลืมเก็บวิวพวกนี้ไว้ด้วย

ทั้งนี้ยังรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ภายในสถานที่ท่องเที่ยว ที่เราสามารถเก็บภาพมาขายได้ พยายามดูภาพสต๊อกเยอะ ๆ นะครับ จะได้เสพมุมมองสต๊อกได้หลากหลายเวลาไปเที่ยวเราจะมองแว้บเดียว แล้วรู้เลยว่ามันคือภาพที่มีมูลค่า และจะเอามันออกมาถ่ายทุกครั้งที่ผมพักโรงแรมต่าง ๆ และหาคนดำเนินเรื่องด้วย ดังตัวอย่างภาพนี้ สื่อถึงการตื่นนอนตอนเช้า แต่ไม่อยากตื่น มันก็เป็นภาพคอนเซ็ปได้อีกอย่างหนึ่งนะครับ พกพร็อพเยอะ จะได้มีภาพเยอะ ๆ ฮ่า ๆ

สำหรับทุกข้อที่กล่าวมา เป็นเพียงแนวทางส่วนหนึ่ง ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมาให้ดู เพื่อที่จะเป็นแนวทางสำหรับมือใหม่ ภาพยังมีอีกหลากหลาย อีกมากมาย เราควรมีการวางแผนตั้งแต่เริ่มต้น จะได้สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับทุกท่าน

ในแต่ละในแต่ละครั้งที่ผมไปตามจังหวัดต่าง ๆ ผมจะพกนาฬิกาสีแดงตัวนี้ไว้


Stock Photography Technical

การเตรียมภาพเพื่อส่งขาย
เทคนิควันนี้คือการทำความสะอาดภาพ การรีทัชภาพเบื้องต้นเพื่อนำไปขายนะครับ การจะให้ได้ภาพที่มีคุณภาพนอกจากความคมชัดของภาพ องค์ประกอบภาพ การเช็คจุดบกพร่องของภาพ ลบเครื่องหมายการค้าต่าง ๆ ก็สำคัญและจำเป็นไม่แพ้กันนะครับ

1. นำภาพที่จะตกแต่งมาเข้าใน Photoshop

2. เลือกเครื่องมือ Spot Healing brush tool หรือ กดตัว J ในแป้นคีย์บอร์ด
3. กดตัวอักษร [ หรือ ตัว บ เพื่อลดขนาดหัว brush และกดตัวอักษร ] หรือ ตัว ล เพื่อเพิ่มขนาดหัว brush กดเพิ่มและลดให้ขนาดของหัว brushครอบคลุมจุดที่เราจะลบ จากนั้นก็ลบ

อะไรที่เราต้องลบบ้าง คือ ฝุ่น  ไม่ว่าจะจากวัตถุที่เราถ่าย ฝุ่นจากตัวกล้อง ก็ต้องลบนะครับ รวมไปถึง สิว จุดด่างดำบนใบหน้า รวมไปถึงเครื่องหมายการค้าต่าง ๆ นะครับ อย่าลืมทำความสะอาดภาพกันก่อนส่งนะครับ


เทคนิคการทำภาพให้คมชัดด้วย Photoshop

ในกรณีที่ถ่ายภาพมาแล้ว ภาพเบลอนิด ๆ หน่อย หรือความคมชัดไม่พอ เราสามารถเพิ่มความคมชัดได้ดังนี้นะครับ


1. เปิดภาพที่จะทำให้คมชัดด้วย Photoshop หลังจากกด Ctrl (command) + J เพื่อก็อปปี้ Layer ขึ้นมาใหม่
2. ไปที่เมนู Filter > highpass
3. ปรับค่า radius ทีละนิดนะคัรบ ถ้าปรับเยอะจะตก ข้อหาปรับแต่งภาพมากเกินไปนะครับ เทคนิคการปรับคือดูขอบของภาพ ให้ขึ้นมาซักหน่อยก็โอเคแล้วครับ

4. ปรับ blending จาก normal เป็น Overlay
5. เลือก layer ทั้งหมด แล้วกด Ctrl (command) + E เพื่อทำการ merge layer เสร็จแล้วก็เซฟครับ ส่งขายเลย

หวังว่าคงเป็นแนวทางให้มือใหม่ไม่มากก็น้อยนะครับ ส่วนฉบับหน้าเรามาวางแผนการถ่ายภาพกันดีกว่า ว่าวางแผนยังไงให้มั่นคงและยั่งยืน นะคัรบ สำหรับฉบับนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ

เรื่อง / ภาพ : JOHNSTOCKER

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic