Knowledge Photography

โหมดแฟลช ทำงานอย่างไร

ถึงแม้ว่ากล้องใหม่ๆ ในปัจจุบัน จะมีระบบจัดการ Noise ที่ดีเยี่ยม จนทำให้ดัน ISO ได้สูงพอที่จะถือกล้องถ่ายรูปในสภาพแสงน้อยๆ ได้อย่างสบายๆ จนทำให้หลายๆ คนมองข้ามการใช้แฟลชเสริมไปเลย แต่ประโยชน์ของแฟลชเสริม ยังมีอยู่มากมายทีเดียว ช่วยให้เราสร้างสรรค์รูปภาพแบบต่างๆ ได้อีกเยอะแยะ ในแบบที่ ถ้าไม่มีแฟลชก็ทำไม่ได้เลยก็มี
.
หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่าโหมดแฟลชทำงานยังไงบ้าง สำหรับแฟลชรุ่นใหม่ๆ หลายๆ แบรนด์ จะมีฟังก์ชั่นการทำงานเยอะแยะมากมาย แต่โหมดใช้งานหลักๆ นั้น จะมีอยู่ 2 โหมด คือโหมด TTL ที่แต่ละ แบรนด์ จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น E-TTL, iTTL หรือ ADL เป็นต้น แต่ทั้งหมดจะมีรูปแบบการทำงานที่เหมือนๆ กัน และอีกโหมดหนึ่งคือ โหมด M

.
โหมด TTL จะช่วยให้สะดวกกับการใช้งานประเภท ถ่ายงานอีเวนต์ หรืองานพิธี เพราะไม่ต้องมาคอยพะวงกับการเปลี่ยนกำลังแฟลช เมื่อต้องเปลี่ยนมุม หรือเปลี่ยนระยะถ่ายภาพ เนื่องจากกล้องจะคำนวณแสงแฟลชจาก pre flash กับระยะห่างของกล้องกับตัวแบบ ใหม่ตลอดเวลาที่แตะปุ่มชัตเตอร์
.
แต่ TTL ก็อาจจะมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง คล้ายๆ กับการวัดแสง ambient นั่นแหละ เพราะถ้าตัวแบบมีโทนสว่าง หรือใส่ชุดสีขาวๆ หรือมีโทนเข้มๆ หรือใส่ชุดดำๆ การสะท้อนของที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ก็ทำให้กล้องคำนวณผิด ซึ่งอาจจะได้ภาพที่มืดเกินไป หรือสว่างเกินไปได้เช่นกัน ต้องแก้ไขโดยการปรับชดเชยแสงแฟลช ย้ำว่า!!! ชดเชยแสงแฟลชเท่านั้นนะครับ ไม่ต้องไปยุ่งกับค่าแสง ambient เลย ยกเว้น ต้องการเปลี่ยนแสงของบรรยากาศด้วย
.
โหมด M เหมาะสำหรับถ่ายภาพตัวแบบที่อยู่กับที่ หรือระยะของแฟลชกับตัวแบบคงที่ตลอดเวลา อย่างงานในสตูดิโอ ที่ไม่มีการเปลี่ยนระยะห่างของแฟลชกับตัวแบบเลย หรือถ่ายรูปซุ้มหน้างานแต่ง ที่ไม่ได้ขยับตำแหน่งของแฟลช ซึ่งช่างภาพสามารถถ่ายรูปไปได้ตลอดงาน
.
ข้อดีของโหมด M คือ แฟลชจะถูกยิงแสงออกไปอย่างสม่ำเสมอตามค่าที่ตั้งไว้ ช่างภาพไม่ต้องคอยปรับชดเชยค่าแสงแฟลช ถึงแม้ว่าตัวแบบจะมีโทนที่แตกต่างกันก็ตาม ตราบใดที่ยังรักษาระยะห่างระหว่างตัวแบบกับแฟลชอยู่เท่าเดิม

แต่ถ้าระยะห่างของแฟลชเปลี่ยนไป เช่นขยับเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้น ช่างภาพจะต้องลดกำลังแฟลชลงจากเดิม หรือปรับรูรับแสงให้แคบลง หรือลดความไวแสงให้ต่ำลง ในทางกลับกัน ถ้าระยะห่างมากขึ้น ก็ต้องปรับเพิ่มกำลังของแฟลชให้สูงขึ้น หรือปรับรูรับแสงให้กว้างขึ้น หรือปรับเพิ่มความไวแสงให้สูงขึ้นครับ และอย่าลืมว่าการปรับ ISO จะมีผลกับแสง ambient ด้วย ดังนั้นควรเลือกปรับให้เหมาะสมครับ
.
ถ้ากำลังแฟลชเบาสุดแล้ว ปรับ ISO ต่ำสุดแล้ว แต่ภาพยังสว่างอยู่ และไม่ต้องการหรี่รูรับแสงให้เล็กลง เพื่อรักษาความเบลอของฉากหลัง ก็ต้องขยับแฟลชให้ห่างจากตัวแบบ ซึ่งมีความยุ่งยากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเสียบแฟลชไว้ที่หัวกล้อง และช่างภาพต้องเปลี่ยนมุมถ่ายรูปตลอดครับ
.
และถ้ากำลังแฟลชสูงสุดแล้ว ภาพยังอันเดอร์อยู่ ปรับรูรับแสงกว้างอีกไม่ได้ ปรับเพิ่ม ISO ไม่ได้ เพราะมีผลกับแสง ambient ก็ต้องแก้ไขโดยการขยับแฟลชให้ใกล้ตัวแบบมากขึ้น

การปรับแก้ไชความผิดพลาดจากแสงแฟลช จะปรับได้ทั้งจากการชดเชยแสงแฟลช, ปรับเปลี่ยนรูรับแสง ตามรูปแบบภาพที่โอเวอร์ หรืออันเดอร์เท่านั้น ส่วนการปรับความเร็วชัตเตอร์จะไม่มีผลกับแสงแฟลชนะครับ ความเร็วชัตเตอร์จะมีผลกับแสง ambient เท่านั้น เมื่อถ่ายภาพโดยใช้แฟลช (แต่การใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงเกินกว่าความเร็วชัตเตอร์ที่สัมพันธ์กับแฟลช จะทำให้ได้ภาพมืดไปบางส่วน หรือทั้งหมด ซึ่งต้องแก้ไขโดยการเปิดฟังก์ชั่น Hi-Speed Sync นั่นเองครับ)
^^แอดมิน พีร