Basic

ไปถ่ายภาพนํ้าตกกันเถอะ

ในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะเมื่อมีมรสุมพัดเข้า ทำให้สภาพบรรยากาศไม่ค่อยเอื้ออำนวยให้ออกไปถ่ายภาพกันซักเท่าไหร่ โดยเฉพาะคอ Landscape ยิ่งมีฝนปรอยๆ ลงมาด้วยแล้ว พาลจะวางอุปกรณ์ถ่ายภาพลง แล้วหาที่นอนนุ่มๆ ก่อนที่จะเล่นซ่อนหากับลูกตาฆ่าเวลาไปพลางๆ แต่บางช่วงของหน้าฝนโดยเฉพาะหลังฝน ฟ้ามักจะสดใสอยู่บ่อยๆ ซึ่งช่วงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในช่วงจังหวะที่ถ่ายภาพได้สวยงามเช่นกันครับ ได้ท้องฟ้าสีฟ้า มีปุยเมฆขาวลอยตัวอยู่เป็นหย่อมๆ พื้นเบื้องล่างเขียวสดใสชุ่มฉ่ำจากสายฝน รวมทั้งยังเล่นสนุกกับเงาสะท้อนของน้ำฝนที่ขังอยู่ตามพื้นได้อีกด้วย

สำหรับช่วงปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการออกไปถ่ายภาพเหมือนกัน โดยเฉพาะการถ่ายภาพนํ้าตก เพราะจะชุ่มฉ่ำไปด้วยสายนํ้าที่สะสมมาตั้งแต่ต้นฤดู และฝนก็เริ่มจะซาๆ ลงไป ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการถ่ายภาพมากนัก อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะได้ฟ้าใสๆ เต็มไปด้วยสีฟ้า มาแทนฟ้าหม่นๆ ของเมฆฝนด้วยเช่นกัน

โดยทั่วไปแล้ว ภาพนํ้าตกที่เห็นกันนั้นมักจะเป็นภาพที่สายนํ้าพลิ้วไหวดูนุ่มนวลสบายตา ซึ่งเกิดจากการถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ตํ่าๆ โดยสายนํ้าจะดูพลิ้วไหวและนุ่มนวลมากขึ้นจนดูฟุ้งฝันเหมือนสายหมอก ในทางกลับกันถ้าหากใช้ ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ จะหยุดสายนํ้าให้อยู่นิ่งจนดูแข็งกระด้าง ซึ่งการถ่ายภาพในลักษณะนี้ เหมาะสำหรับถ่ายภาพนํ้าตกที่มีขนาดใหญ่ หรือมีสายนํ้าตกลงมาอย่างรุนแรง เพื่อให้นํ้าตกดูยิ่งใหญ่และมีพลังก็ได้เช่นกันครับ ไม่จำเป็นว่าการถ่ายภาพนํ้าตกจะต้องพลิ้วไหวเสมอไป

สำหรับการถ่ายภาพนํ้าตกให้ดูพลิ้วไหว แลดูสวยงามนั้น ไม่ใช่ว่าเดินถือกล้องดุ่ยๆ เข้าไป แล้วจะได้ภาพที่สวยงาม กลับมาอย่างที่ต้องการ แต่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่อช่วยให้ได้ภาพที่คมชัด และพลิ้วไหว สวยงามอย่างที่ต้องการ ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ อาทิ

ขาตั้งกล้อง
ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญและมีความจำเป็นมากทีเดียว เพราะเมื่อต้องการสายนํ้าที่พลิ้วไหวจำเป็นจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ ดังนั้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะได้ภาพที่คมชัด และจัดองค์ประกอบภาพได้สะดวกตามที่ต้องการ ถึงแม้ว่าจะสามารถวางกล้องไว้บนโขดหินและใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าๆ ได้ แต่นั่นก็เป็นข้อจำกัดเป็นอย่างมาก เพราะโขดหินทั่วๆ ไป ก็ไม่ได้ราบเรียบหรือสามารถจัดวางตำแหน่งได้ตามที่ต้องการอยู่แล้วขาตั้งกล้องที่ใช้ควรเป็นขาตั้งกล้องที่แข็งแรงในการใช้งานนอกสถานที่ ซึ่งอาจจะมีสิ่งที่จะทำให้ขาตั้งสั่นได้ถ้าไม่มั่นคงแข็งแรงพอ เช่น ลมที่โบกพัดไปมาอยู่ตลอด เพราะบางครั้งเราอาจจะต้องตั้งกล้องบนสายนํ้าที่ไหลกระทบขาตั้งกล้องอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่ภาพสั่นเบลอจากการสั่นของขาตั้งกล้องจึงมีมากขึ้น ดังนั้นขาตั้งที่มั่นคงแข็งแรงจะช่วยได้มากทีเดียว และ ในกรณีที่ต้องการเพิ่มความมั่นคงของขาตั้งกล้องให้มากขึ้น ก็สามารถใช้กระเป๋ากล้องหรือก้อนหินถ่วงให้ขาตั้งกล้องมีนํ้าหนักมากขึ้นก็ได้เช่นกัน

สายลั่นชัตเตอร์หรือรีโมทคอนโทรล
ถือเป็นอุปกรณ์ที่มักใช้งานควบคู่กับขาตั้งกล้อง ซึ่งช่วยให้กดชัตเตอร์ได้นุ่มนวลมากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าเราจะตั้งกล้อง บนขาตั้งกล้อง แต่ถ้ายังใช้มือกดปุ่มชัตเตอร์ ก็มีโอกาสที่จะทำให้กล้องสั่นไหวได้จากนํ้าหนักการกดที่อาจจะแรงเกินไป หรือถ้า หากว่าไม่มีสายลั่นชัตเตอร์จะใช้วิธีตั้งเวลาถ่ายภาพ (Self Timer) แทนสายลั่นชัตเตอร์ได้ โดยตั้งเวลาเพียง 2 วินาทีก็พอ เพราะ Self Timer 2 วินาทีนั้น ถูกออกแบบให้ใช้งานแทนสายลั่นชัตเตอร์อยู่แล้ว ไม่ต้องรอถึง 10 วินาที่ก็ได้ครับ และถ้าหากว่ากล้องมีระบบล็อคกระจกสะท้อนภาพ ก็ควรจะใช้งานด้วยนะครับ เพื่อความคมชัดสูงสุดของภาพ

เลนส์
โดยปกติแล้ว เลนส์ที่ใช้มักจะเป็นเลนส์มุมกว้าง เพราะการถ่ายภาพนํ้าตกนั้น เราจะต้องดั้นด้นเข้าไปจนถึงตัวนํ้าตก เพื่อจะได้มองเห็นนํ้าตกทั้งหมด โดยไม่มีสิ่งใดมาบดบัง ดังนั้นจึงต้องอาศัยมุมรับภาพกว้างๆ ของเลนส์มุมกว้างในการเก็บรายละเอียดของตัวนํ้าตกให้ได้ทั้งหมด แต่ไม่ใช่ว่าเลนส์เทเลโฟโต้จะใช้ไม่ได้นะครับ เพราะเราสามารถใช้เลนส์เทเลโฟโต้เลือกเจาะเฉพาะบางส่วนของนํ้าตก หรือในกรณีที่ไม่สามารถเข้าถึงตัวนํ้าตกได้ หรือเมื่อต้องการมุมภาพพิเศษที่แตกต่างออกไป

ฟิลเตอร์ลดแสง
ใครที่เคยถ่ายภาพนํ้าตกมาบ้างแล้ว หลายๆ ครั้งที่มักจะมีปัญหากับแสงที่ตกลงมาที่ตัวนํ้าตก ทำให้ความเร็วชัตเตอร์สูงเกินกว่าที่จะถ่ายภาพให้นํ้าตกพลิ้วไหวได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องลดความเข้มของแสงที่จะผ่านเลนส์เข้าไปสู่ตัวเซ็นเซอร์รับภาพ โดยอุปกรณ์หลักๆ ที่เราใช้กันคือฟิลเตอร์ C-PL และฟิลเตอร์ ND โดยฟิลเตอร์ C-PL นั้น หลายๆ ท่านที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแนว Landscape ก็มักจะมีติดกระเป๋ากล้องอยู่แล้ว เพราะช่วยลดแสงสะท้อนต่างๆ ที่กระจายอยู่ในอากาศ ช่วยให้ได้ภาพที่มีสีสันอิ่มตัว ช่วยให้ท้องฟ้าที่มีสีฟ้าจางๆ ดูเข้มมากขึ้น ช่วยให้ใบไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่ได้รับแสง สะท้อนเข้ามาในกล้องจนมีสีสันที่ซีดจาง ดูเข้มและอิ่มตัวมากขึ้น โดยทั่วไป ฟิลเตอร์ C-PL จะลดแสงไปได้ประมาณ 2 สตอป

แต่ถ้าหากว่าต้องการลดแสงมากกว่า 2 สตอป ก็จะต้องเลือกใช้ฟิลเตอร์ ND ซึ่งมีความเข้มหลายขนาดให้เลือก เช่น ND 4 ลดแสงไป 2 สตอป หรือ ND 8 ลดแสง 3 สตอป เป็นต้น ถ้าต้องการลดแสงเพียง 1 หรือ 2 สตอป แนะนำให้ใช้ฟิลเตอร์ C-PL จะเหมาะกว่า เพราะช่วยตัดการสะท้อนแสงได้ด้วย ทำให้ใบไม้หรือดอกไม้ที่ขึ้นอยู่รายรอบนํ้าตกมีสีสันอิ่มตัว สดใสและเขียว ขจีมากขึ้น รวมทั้งให้สายนํ้าที่ดูใสมากกว่าที่มองเห็นได้ปกติด้วย

อุปกรณ์อื่นๆ
อุปกรณ์อื่นๆ ในกรณีนี้คืออุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก และปกป้องอุปกรณ์แสนรักจากสายฝนที่อาจจะโปรยปรายลงมาในขณะที่เดินทาง หรือกำลังถ่ายภาพ เช่น ร่มกันฝน ผ้าพลาสติกกันฝนหรือเสื้อกันฝน ผ้าแห้งๆ สำหรับเช็ดฟิลเตอร์ รวมทั้งเลนส์และกล้องถ่ายภาพที่อาจจะโดนละอองนํ้าที่ล่องลอยมากับสายลม ซึ่งบางครั้งที่จะต้องถ่ายภาพนํ้าตกที่มีขนาดใหญ่ ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก นอกจากนี้ พวกยากันแมลงต่างๆ อาทิ ยาฉีดกันยุง และยากันตัวทาก ตัวคุ่น หรือแมลงอื่นๆ ก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน เพราะป่าหน้าฝนรวมทั้งป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์มักจะมีแมลงเหล่านี้ชุกชุม ถ้าหากว่ามียาป้องกันก็จะช่วยให้ถ่ายภาพได้อย่างสบายใจมากขึ้น ไม่ต้องห่วงหรือพะวงไปกับแมลงเหล่านั้น รวมทั้งป้องกันอาการคันต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้น กับหลังจากที่โดนแมลงเหล่านั้นกัดต่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทรมานและรำคาญมากทีเดียวล่ะครับ


หลักการถ่ายภาพ  
หลังจากที่ตระเตรียมอุปกรณ์พร้อมที่จะเดินทางเข้าไปยังตัวน้ำตกแล้ว ที่นี้มาดูเรื่องการถ่ายภาพกันบ้างว่าจะต้อง ปรับตั้งกล้องและเลนส์อย่างไร

ความเร็วชัตเตอร์
อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วในตอนต้นว่า จะต้องถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ หลายๆ คนอาจจะสงสัยกันว่าแล้วจะต้องช้าขนาดไหน วิธีตั้งก็ให้ลองดูที่ตัวนํ้าตกครับ ว่ามีขนาดใหญ่หรือเล็กแค่ไหน มีความสูงขนาดไหน มีปริมาณนํ้ามากหรือน้อยแค่ไหน ถ้าหากว่ามีปริมาณนํ้ามากและไหลแรง ความเร็วชัตเตอร์เพียงแค่ครึ่งหรือหนึ่งวินาทีก็สามารถทำให้สายนํ้าดูพลิ้วไหวได้ หรือถ้าต้องการความนุ่มนวลมากกว่านั้น ก็ต้องลดความเร็วชัตเตอร์ให้ตํ่าลงไปอีกตามต้องการก็ได้เช่นกัน แต่อย่าลืมดูความไวแสงของกล้อง รวมทั้งอุปกรณ์เสริมจำพวกฟิลเตอร์ลดแสงต่างๆ ด้วยนะครับ ว่ามีพอต่อความต้องการหรือเปล่า

ไม่ใช่ว่าความไวแสงต่ำสุดของกล้องเริ่มที่ ISO 200 ถ่ายภาพในช่วงกลางวันแดดจ้า ตั้งใช้ความเร็วชัตเตอร์ 5 หรือ 10 วินาที เพื่อต้องการสายนํ้าฟุ้งแบบนุ่มนวลชวนฝัน ถึงแม้ว่าจะมีฟิลเตร์ ND ช่วยลดแสง ก็อาจจะไม่ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ตํ่าถึงขนาดนั้น อย่างนี้ก็ต้องยอมรับกับประสิทธิภาพของกล้องนะครับ

สำหรับการใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อหยุดสายนํ้า และแสดงถึงพลังความยิ่งใหญ่ของนํ้าตก ก็ต้องดูปริมาณและความแรงของสายนํ้าเช่นเดียวกัน โดยเมื่อเราต้องการแสดงพลังของสายนํ้า แน่นอนว่าจะต้องเป็นนํ้าตกที่มีขนาดใหญ่ มีปริมาณนํ้ามาก และไหลแรง ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ก็จะต้องสูงมาก เช่น 1/500 หรือ 1/1000 วินาที บางครั้งอาจจะต้องปรับเพิ่มความไว แสงให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

รูรับแสง
หลายๆ คนอาจจะเปิดรูรับแสงที่ขนาดเล็กที่สุด หรือแคบสุด เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลง ก็อย่าลืมนะครับว่า ขนาดรูรับแสงที่แคบที่สุด ไม่ได้ให้ภาพที่คมชัดที่สุด ขนาดรูรับแสงที่คมชัดที่สุดคือขนาดรูรับแสงกลางๆ ของเลนส์รุ่นนั้นๆ โดยปกติจะอยู่ที่ f/8-f/16 เมื่อเราใช้เลนส์มุมกว้าง ซึ่งให้ระยะชัดลึกมากกว่าเลนส์อื่นๆ อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้รูรับแสง แคบสุดเสมอไป ตั้งใช้รูรับแสงตั้งแต่ f/8 ไปจนถึง f/16 ก็เพียงพอที่จะควบคุมระยะชัดได้ทั้งหมด

การควบคุมระยะชัดลึกยังสามารถใช้การโฟกัสแบบไฮเปอร์โฟกัสช่วยด้วยก็ได้ โดยแทนที่จะปรับโฟกัสไปที่ระยะอินฟินิตี้ แต่ให้หมุนวงแหวนโฟกัสกลับมาที่ระยะระหว่างตัวเลขระยะโฟกัสไกลที่สุดกับระยะอินฟินิตี้ ซึ่งจะช่วยควบคุมความชัดของฉากหน้าที่อยู่ใกล้กับเลนส์ได้มากขึ้นด้วย เช่น เลนส์ที่ใช้มีตัวเลขระยะโฟกัสไกลที่สุด 3 เมตร เมื่อหมุนกัสต่อไปอีกก็จะเป็น ระยะอินฟินิตี้ การปรับโฟกัสแบบไฮเปอร์โฟกัสก็คือหมุนให้ระยะระหว่าง 3 เมตร กับอินฟินิตี้อยู่ตรงกับขีดบอกระยะโฟกัสแทน

โหมดถ่ายภาพ
โหมดถ่ายภาพที่ใช้ ควรจะต้องเป็นโหมดถ่ายภาพที่เราสามารถควบคุมค่าการปรับตั้งกล้องได้ด้วยตัวเอง นั่นคือโหมดถ่ายภาพในกลุ่ม Advance อาทิ โหมดแมนนวล (M), โหมดออโต้ความเร็วชัตเตอร์ (A, AV) และ โหมดออโต้รูรับแสง (S, TV) ไม่ควรใช้โหมดโปรแกรม เพราะถึงแม้ว่าจะสามารถปรับชิฟท์ได้ แต่ก็ไม่สะดวกเท่าที่ควร โหมดที่แนะนำคือโหมด M เพราะจะให้ค่าการวัดแสงที่คงที่ ไม่เปลี่ยนไปมาเวลาที่ต้องจัดองค์ประกอบภาพใหม่ครับ

ไวท์บาลานซ์  
สำหรับไวท์บาลานซ์จะตั้งใช้ระบบออโต้ และเดย์ไลท์หรือแสงอาทิตย์เลยก็ได้ เพราะส่วนมากแล้วนํ้าตกมักจะอยู่กลางแจ้ง ซึ่งไวท์บาลานซ์แบบออโต้และเดย์ไลท์ก็ครอบคลุมคุณภาพของสีสันได้ท้งหมด แต่ถ้าหากว่าถ่ายในวันที่แดดจัด ก็ต้องระวังเรื่องไวท์บาลานซ์ในส่วนที่เป็นเงา เช่น เงาของก้อนหิน หรือเงาต้นไม้ ซึ่งจะมีอุณหภูมิสีสูง ทำให้โทนสีของภาพ ส่วนนั้นออกโทนสีฟ้าหรืออมสีฟ้า จะต้องปรับแก้ไขให้ได้สีที่ถูกต้อง โดยถ้าหากปรับไวท์บาลานซ์แบบ Shade ซึ่งทำให้สีสันในส่วนของร่มเงาถูกต้อง แต่จะทำให้ส่วนอื่นๆ มีโทนสีแดงไปด้วย ดังนั้นการปรับแก้จึงควรเลือกปรับแต่พอเหมาะ หรือถ้าหาก ว่ากล้องสามารถปรับชิฟท์ไวท์บาลานซ์ได้ ก็ให้ปรับจนได้สีสันที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้ว ไวท์บาลานซ์แบบออโต้ของกล้องดิจิตอลในปัจจุบันมีการคำนวณที่แม่นยำมาก จนแทบจะไม่ต้องปรับแก้ไขอะไรเพิ่มเติมอีก นอกจากนี้ การเลือก ถ่ายภาพด้วยฟอร์แมท RAW ก็จะสามารถนำไฟล์ภาพกลับมาแก้สีได้อย่างสะดวกในภายหลังครับ

การวัดแสง
โดยที่ตัวนํ้าตกเป็นสายนํ้าสีขาว ดังนั้นจึงทำให้การวัดแสงยุ่งยากอยู่บ้าง โดยถ้าหากวัดแสงไปที่ตัวนํ้าตกตรงๆ จะต้องปรับชดเชยแสงไปทางบวก หรือวัดแสงให้เป็นบวก อาจจะบวกหนึ่งหรือสองสตอปเพื่อได้ภาพที่พอดี กรณีนี้จะต้องดูสภาพแสงที่สายนํ้าด้วยว่ามากหรือน้อยเพียงใด ถ้าหากว่ามีแสงตกลงไปที่สายนํ้าพอดี ทำให้มีความเปรียบต่างระหว่างนํ้าตกกับสภาพแวดล้อมมากเกินไป ก็อาจจะเลือกวัดแสงไปที่สายนํ้าตรงๆ และปรับชดเชยแสงไปทางบวก ให้สายนํ้าสว่างขึ้น ส่วนพื้นที่รอบนอกที่เป็นโทนมืดกว่า ก็ใช้ฟังก์ชั่นปรับขยายไดนามิกเรนจ์เพื่อเพิ่มความสว่างในส่วนที่เป็นเงา ให้มีรายละเอียดมากขึ้นครับ หรืออาจจะเลือกวัดแสงที่ใบไม้เขียวๆ หรือมอสสีเขียวๆ ที่ปกคลุมหินบริเวณนํ้าตก และต้องดูด้วยว่ามีแสงตกลงมาเหมือนๆ กับตัวนํ้าตก วิธีนี้ให้วัดแสงพอดีได้เลย สีเขียวของใบไม้จะมีค่าการสะท้อนแสงเป็นกลาง ใกล้เคียงกับโทนสีเทากลาง ทำให้การวัดแสงแม่นยำมากขึ้น

การจัดองค์ประกอบ
โดยส่วนมากแล้ว บริเวณนํ้าตกมักจะจัดให้มีจุดชมวิวอยู่ด้วย สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาชมและถ่ายภาพกันเป็นที่ระลึก หลายๆ นํ้าตกจะมีจุดชมวิวอยู่ที่ด้านบน หลายๆ นํ้าตกจะมีจุดชมวิวอยู่บริเวณด้านบน หรือระดับกลางๆ ของนํ้าตก ซึ่งถ้าหากว่ามายืนชม และถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเท่านั้น ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วๆ ไป แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพอย่างเราๆ ท่านต้องการมากกว่านั้น เพราะการถ่ายภาพนํ้าตกจากมุมด้านล่าง ช่วยส่งเสริมให้ตัวนํ้นตกดูยิ่งใหญ่มากขึ้นได้ รวมทั้งสามารถเลือกจัดองค์ประกอบภาพได้หลากหลายมากกว่า ทั้งจากสายนํ้าที่ ทอดยาวลงไป จากโขดหินใหญ่น้อยที่สายนํ้าไหลเลาะลงไป หรือแม้กระทั่งดอกไม้หลายสายพันธ์ที่ชอบขึ้นอยู่ตามนํ้าตกเองด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมให้ภาพนํ้าตกดูสวยงามสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้เห็นถึงสภาพแวดล้อม และภูมิประเทศในบริเวณนั้นๆ ได้เป็น อย่างดี ดังนั้นอย่าลังเล ถ้าหากว่ามีโอกาสถ่ายภาพจากด้านล่างของนํ้าตกได้

หลายๆ ครั้ง ที่ภาพนํ้าตกโดดๆ ถึงแม้ว่าจะมีสายนํ้าพลิ้วไหว แต่ก็ดูแสนจะธรรมดา ไม่มีสเน่ห์ ดังนั้น เราจึงควรหาสิ่งที่อยู่ตามนํ้าตก เช่น กอไม้ ดอกไม้ โขดหิน หรือแม้แต่บางส่วนของนํ้าตกที่อยู่ด้านล่างให้เป็นฉากหน้า เพื่อให้ภาพดูมีมิติ ซึ่ง องค์ประกอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากนัก เพียงแต่นักถ่ายภาพจะต้องขยันเลือกหามุมมากขึ้นหน่อย ไม่ใช่ปักหลักกับมุมมหาชนอยู่เพียงมุมเดียว

การเลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้เน้นเฉพาะส่วนของนํ้าตก โดยนํ้าตกที่มีขนาดใหญ่ มักจะมีส่วนประกอบที่น่าสนใจอยู่หลายจุด ก็เป็นการจัดมุมมองที่แตกต่างออกไป และให้ภาพที่น่าสนใจไปอีกแบบ นอกจากนี้ ยังเลือกเน้นจุดสนใจอื่นๆ เช่น ดอกไม้ หรือก้อนหินที่มีรูปร่างสวยงามที่แฝงตัวอยู่กับสายนํ้า ก็ช่วยให้ภาพนํ้าตกดูไม่จำเจอีกด้วย

ในการถ่ายภาพบางเวลาอาจจะได้ท้องฟ้าสีฟ้าสวยงาม แต่บางช่วงก็มักจะเจอแต่ท้องฟ้าสีขาวซีดๆ หรือเต็มไปด้วยเมฆสีหม่น กรณีนี้นักถ่ายภาพจะต้องเลือกมุมมองที่นำเอาใบไม้หรือต้นไม้มาปิดส่วนของท้องฟ้าขาวๆ เพื่อไม่ให้รบกวนสายตา และแย่งความสนใจจากจุดเด่นของภาพด้วยเช่นเดียวกัน นํ้าตกบางที่อาจจะปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ และมีหมอกปคลุมบางๆ ในตอนเช้า เมื่อยามสายที่แสงแดดแผดกล้าจนสามารถส่องทะลุใบไม้เป็นลำแสงพาดยาวลงมายังนํ้าตก ซึ่งเป็นภาพที่สวยงาม มากทีเดียว นักถ่ายภาพอาจจะต้องไปตั้งกล้องรอไว้ก่อน เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสดีๆ แบบนี้

นักถ่ายภาพควรจะหาข้อมูลเกี่ยวกับนํ้าตกที่ต้องการไปถ่ายภาพให้ดี เพื่อที่จะได้ประเมินถึงสภาพแสงทิศทางของแสงและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพ ซึ่งนํ้าตกบางที่สามารถขับรถเข้าไปถึงที่ได้เลย บางที่จะต้องเดินเท้าเข้าไป ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทาง ถ้าไปถึงแล้วตัวนํ้าตกอยู่ในเงาหรือมีเงาพุ่มไม้พาดขวางอยู่ ก็จะทำให้ภาพไม่สมบูรณ์นัก ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วยและวางแผนในการถ่ายภาพให้ดีด้วยเช่นกัน

ปิดท้าย


เมื่อเดินทางถึงตัวนํ้าตกแล้ว ควรเลือกมุมถ่ายภาพหลายๆ มุม ไม่ควรรีบร้อนถ่ายภาพโดยที่ยังไม่ได้เดินดูมุมอื่นๆ ซึ่งบางครั้งอาจจะได้ภาพที่สวยงามมากว่า มีสภาพแสงที่เหมาะสมมากกว่า โดยยังไม่จำเป็นที่จะต้องแบกกล้องไปด้วยก็ได้ เพราะเสี่ยงกับการลื่นล้ม ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์แสนรักเสียหายได้ และถ่ายภาพทั้งแนวตั้งและแนวนอน สำหรับเลือกไปใช้งานให้ หลากหลายมากขึ้น

นํ้าตกบางที่อาจจะเข้าถึงได้ลำบาก ดังนั้นควรติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานให้เป็นคนนำทาง และควรเชื่อฟังคำแนะนำต่างๆ จากทางเจ้าหน้าที่โดยเคร่งครัด อันตรายอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในฤดูฝนคือนํ้าป่า วิธีสังเกตเบื้องต้นก็คือถ้าหากว่าในขณะที่กำลังถ่ายภาพอยู่นั้น นํ้าสีขาวๆ เริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือสีโคลน ก็ให้รีบออกจากบริเวณนั้นทันที และให้ขึ้นไปยังพื้นที่ที่สูงกว่า รวมทั้งสังเกตเสียงที่ดังผิดปกติไปด้วยครับ

หลังจากที่ตะลุยถ่ายภาพจนจุใจแล้ว กลับถึงบ้านก็อย่าลืมนำอุปกรณ์แสนรักออกมาทำความสะอาด เช็ดด้วยผ้าชุบนํ้าหมาดๆ ต้องบิดให้หมาดๆ ด้วยนะครับถ้าไม่เช่นนั้นเวลาเช็ดอาจจะมีนํ้าเข้าไปสู่กล้องหรือเลนส์ได้ แล้ววางตากลมไว้สักพัก ก่อนที่จะเก็บใส่ตู้หรือกล่องกันชื้น ส่วนกระเป๋ากล้องก็หาโอกาสนำออกผึ่งแดดจัดๆ เพื่อให้ความร้อนของแสงแดดไล่ความชื้นออกจาก กระเป๋ากล้องและทำให้กล้องแห้งสนิทด้วย

ส่วนขาตั้งกล้องนั้นก็ใช้ผ้าชุบนํ้าหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดเช่นเดียวกัน และต้องเช็คให้ดีด้วยว่า เวลาที่ตั้งขาตั้งกล้องในนํ้าแล้วมีนํ้าติดขังอยู่ในท่อนขาตั้งหรือไม่ ถ้ามีควรเทนํ้าออกให้หมด ขาตั้งบางประเภทเป็นแบบขาปั้มกันกระแทก ก็ให้ใช้วิธียืดหดยืดหดท่อนขาหลายๆ ครั้ง เพื่อไล่นํ้าออกให้หมด แล้วยืดขาตั้งกล้องให้สูงสุด เพื่อตากลมไว้สักพัก อย่าเก็บโดยวิธีการหดขาตั้งทุกท่อนแล้วเก็บเลย โดยที่ยังไม่ได้ทำความสะอาด เพราะจะทำให้ขาตั้งกล้องเกิดคราบสนิม หรือคราบขี้เกลือได้ครับ

..ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ…

เรื่อง / ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic