Shooting Destination

ไม่มีขุนเขาใด ที่พระองค์เสด็จไปไม่ถึง

ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง

“ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย” หนึ่งในโครงการจากพระราชดำริที่เกิดขึ้นกว่า 4000 โครงการ จากการทรงงานหนักมาตลอด 70 ปี ของการครองราชย์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนของพระองค์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และดีขึ้นแบบยั่งยืน ดั่งคำพูดที่เคยได้ยินมานานแล้วว่า “นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด” นั่นคือ การแนะนำให้ประชาชนรู้จักวิธีทำมาหากิน เลี้ยงปากท้องตนเองมากกว่าการนั่งรอนอนรอให้คนอื่นนำอาหารมาป้อนให้นั่นเอง

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ก่อกำเนิดขึ้นจากการเสด็จเยี่ยมประชาชนในพื้นที่บ้านห้วยห้อม และบ้านป่าแป๋ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้พระราชทานเงินเพื่อเป็นทุนทรัพย์ในการก่อตั้งธนาคารข้าว เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชน นับเป็นธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก เมื่อปี 2521 และถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบอีกด้วย จากนั้นจึงได้จัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย เมื่อปี 2523 โดยมีที่ตั้งของศูนย์ฯ อยู่ที่บ้านดง ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จมาทอดพระเนตรพื้นที่แห่งนี้แล้ว อีกทั้งยังอยู่ติดกับโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน ที่สมเด็จย่าฯ ทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาด้านการศึกษาให้แก่เยาวชนในท้องถิ่นนั่นเองครับ โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยนี้ มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขา ทดแทนการปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย มีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 57,368 ไร่ ครอบคลุม 6 หมู่บ้าน และ 5 หย่อมบ้าน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าลั๊วะ หรือละว้า และชาวกะเหรี่ยงครับ

พาหนะในการเดินทางครั้งนี้ เป็นรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด Toyota Yaris Ativ ตัวถังแบบ Sedan 4 ประตู สีนํ้าเงิน Dark Blue Mica Metalic ซึ่งเป็นสีใหม่ด้วย ต้องขอบอกว่าโทนสีแบบนี้ เป็นสีโปรดของผมเลยละครับ โดยมาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ Dual VVT-i 1.2 ลิตร 86 แรงม้า ที่ 6000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 108 นิวตัน-เมตร ที่ 4000 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT-i โดยชื่อของ Toyota Yaris Ativ มาจากคำว่า Smart และ Active ซึ่งเป็นการผสมผสานบุคลิกสองลักษณะนั่นคือ ความลํ้าสมัย และความคล่องแคล่ว ปราดเปรียว โดยตัวรถถูกพัฒนาขึ้นจากแนวคิด LIFE ACTIVATED ซึ่งเป็นการเริ่มต้นสู่โลกที่กว้างกว่านั่นเอง

Toyota Yaris Ativ ออกแบบตัวรถได้สวยงาม แลดูปราดเปรียว จากเส้นสายที่โค้งเรียวตั้งแต่กระจังหน้าขนาดใหญ่ โค้งรับกับชุดไฟหน้าให้เรียวลู่ไปข้างหลัง และรับกับชุดไฟท้ายเรียวยาว ทำให้ภาพลักษณ์ของ Toyota Yaris Ativ แลดูกระฉับกระเฉงและปราดเรียวมากขึ้นด้วย สำหรับรุ่นที่ผมได้รับมานั้น เป็นรุ่น E ซึ่งก็มาพร้อมกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยครบครัน โดยเฉพาะถุงลมนิรภัย ซึ่งถือเป็นความโดดเด่นของ Toyota Yaris Ativ ที่ให้มามากถึง 7 ตำแหน่ง และให้มาครบทุกรุ่นย่อยอีกด้วย การตกแต่งด้านในห้องโดยสาร ออกแบบได้ค่อนข้างกว้าง เบาะนั่งหุ้มโอบกระชับลำตัวดีทีเดียว การปรับตำแหน่งของเบาะ รวมทั้งพนักพิงหลังเป็นแบบปรับเองทั้งฝั่งคนขับและฝั่งคนนั่งครับ

พวงมาลัยเป็นแบบปรับไฟฟ้า EPS ปรับความหน่วงตามความเร็วของรถ มีนํ้าหนักหน่วงมือเมื่อความเร็วรถสูงขึ้น แต่ค่อนข้างหมุนลื่นเมื่อใช้งานในเมืองที่ความเร็วตํ่า ซึ่งก็ช่วยให้ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอย รวมทั้งในยามที่การจราจรหนาแน่นได้อย่างสะดวกดีทีเดียว นอกจากนี้ยังมีปุ่มปรับควบคุมเครื่องเสียงและรับโทรศัพท์จากพวงมาลัยได้อีกด้วยคอนโซลหน้าออกแบบได้สวยงาม โดยวางเส้นสายเป็นรูปตัว S สีเงิน และเป็นตำแหน่งของอุปกรณ์ใช้งานต่างๆ ทั้งเครื่องเสียง เครื่องปรับอากาศ และอยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้เป็นอย่างดี การเก็บเสียงภายในห้องโดยสารถือว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยม จากการออกแบบกระจกบังลมหน้าให้ลดเสียงลม และบุยางหนาตามขอบประตู ช่วยป้องกันเสียงจากภายนอกได้เป็นอย่างดีครับ

ช่วงล่างรู้สึกถึงความนุ่มหนึบดีทีเดียว การซับแรงสั่นสะเทือนเมื่อต้องวิ่งผ่านเส้นทางขรุขระทำได้ดีเช่นกันครับ ถือว่าเป็นการปรับเซ็ตมาได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน สำหรับการเร่งแซงนั้น ถือว่าตอบสนองได้เป็นอย่างดีเช่นกัน โดยเส้นทางที่ผมจะต้องไปเยือนนั้น เกือบจะทั้งหมดเป็นภูเขาสูง แน่นอนว่าจะต้องปีนไต่เนินเขาสูงชั้นมากมาย ซึ่งระบบเกียร์ของ Toyota Yaris Ativ นั้นออกแบบให้เลือกใช้ได้ ทั้งที่ตำแหน่ง D หรือการขับขี่ปกติ, S สำหรับการขับขี่ที่ต้องการลดความเร็วรถแบบ Engine Breake และ B สำหรับความต้องการ Engine Breake ที่มากขึ้น สำหรับการขับขี่ลงเนินเขาสูงชัน นอกจากนี้ ตำแหน่ง S และ B ยังสามารถใช้ในการขึ้นเขา หรือการเร่งแซงที่ต้องการพลังของเครื่องยนต์ในรอบที่สูงขึ้น ซึ่งผมเองใช้งานอยู่เกือบจะตลอด และเป็นการขับขี่รถยนต์เกียร์อัตโนมัติที่ปรับชิฟท์เกียร์อยู่บ่อยๆ เพราะเส้นทางส่วนมากเป็นภูเขาสูง ซึ่งจะต้องขับขึ้นเขา-ลงเขาอยู่ตลอด รวมทั้งมีทางโค้งอยู่มากมายอีกด้วยครับ ซึ่งเกียร์ทั้ง S และ B มีส่วนช่วยให้การควบคุมรถมั่นคงมากขึ้น และทำให้การขับขี่ปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วยครับ โดยหลายๆ เนินเขา มีความสูงชันถึง 8% และบางช่วงก็ค่อนข้างยาวอีกด้วย การขับขี่นั้น ผมจะต้องปรับใช้เกียร์ S และ B ซึ่งเครื่องจะปรับรอบให้สูงขึ้น เครื่องยนต์จะมีแรงบิดที่มากขึ้น การขับขี่ก็เพียงแตะคันเร่งรักษารอบให้คงที่ ให้เครื่องยนต์และระบบเกียร์ค่อยๆ ปรับแรงบิดที่เหมาะสม และพาตัวรถไต่ขึ้นเนินสูงไปได้ครับ ปกติผมจะใช้ที่ตำแหน่ง S ก่อน ซึ่งรอบเครื่องจะอยู่ที่ประมาณ 3500 รอบต่อนาที และถ้าหากไม่พอ จึงจะปรับชิฟท์มาที่ตำแหน่ง B ครับ ซึ่งรอบเครื่องจะปรับเป็น 4500-5000 รอบต่อนาที

ผมเดินทางไปแม่ลาน้อยโดยเริ่มต้นจากเชียงใหม่ และใช้เส้นทางหมายเลข 108 มุ่งตรงไปยังแม่สะเรียงก่อน ซึ่งเส้นทางช่วงหลังๆ นั้น เป็นเส้นทางแบบ 2 เลนวิ่งสวนทางกัน การจราจรก็ค่อนข้างคับคั่งอยู่พอสมควร เพราะเป็นเส้นทางหลัก แต่ก็พอมีช่วงให้แซงอยู่บ้าง ผมลองคิ๊กดาวน์ที่ตำแหน่งเกียร์ D เพื่อทดสอบการตอบสนองของเครื่องยนต์ ก็ถือว่าตอบสนองได้ดีครับ ไม่ได้ปรู๊ดปร๊าดเหมือนเครื่องยนต์ใหญ่ๆ แต่ก็ไม่ถือว่าอืดซะทีเดียว ซึ่งจริงๆ แล้ว ผู้ขับขี่ก็ต้องรู้สมรรถนะของรถยนต์ที่ตนเองใช้อยู่ละครับว่า มีความสามารถขนาดไหน และดึงเอาสมรรถนะที่มีอยู่มาใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา เลยจากอำเภอฮอดเข้าสู่ออบหลวง ซึ่งเป็นทางโค้งลัดเลาะไปตามไหล่เขา ได้ทดสอบการตอบสนองของพวงมาลัยและการยึดเกาะถนน ซึ่งก็ถือว่าผ่านฉลุยครับ ช่วงล่างนุ่มหนึบดี ไม่มีอาการดื้อโค้งแต่อย่างใด แน่นอนว่าผมสลับไปใช้เกียร์ S เพื่อลดความเร็วของรถลง เมื่อต้องเข้าโค้งแคบๆ หรือโค้งหักศอกต่างๆ รวมทั้งเมื่อต้องลงเนินเขาสูงด้วยครับ แต่ที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงแค่การซ้อมมือเท่านั้น เส้นทางท้าทายของจริงเป็นช่วงระหว่างบ่อหลวงไปแม่สะเรียงต่างหากละครับ กว่าครึ่งค่อนของระยะทางทั้งหมด เป็นเส้นทางโค้งคดเดี้ยว และขึ้น-ลงเขาที่ต้องใช้เกียร์ตํ่าอยู่ตลอด บางช่วงต้องขึ้นเนินสูงชัน และเป็นระยะทางที่ค่อนข้างยาว ดังนั้นผมจึงต้องใช้เกียร์ S และ B อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็มีข้อดีคือช่วยลดการทำงานของเบรกไม่ให้ถูกใช้งานหนักจนเกินไปอีกด้วย

ช่วงบ่ายๆ ผมเดินทางถึงตัวอำเภอแม่สะเรียงก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ผมแวะไปไหว้พระธาตุประจำเมืองแม่สะเรียง ทั้ง 4 พระธาตุ ซึ่งอำเภอแม่สะเรียงเองก็ได้รับการเรียกขานว่า เป็นเมืองแห่งพระธาตุ 4 จอม นั่นคือ พระธาตุจอมแจ้ง, พระธาตุจอมทอง, พระธาตุจอมกิตติ และพระธาตุจอมมอญ โดยพระธาตุทั้ง 4 นั้น ตั้งอยู่ทั้ง 4 มุมเมืองของอำเภอแม่สะเรียง พระธาตุจอมแจ้ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองแม่สะเรียง หรืออยู่ตรงทางลงเขาก่อนเข้าเมืองแม่สะเรียงนั่นเอง เป็นพระธาตุองค์เล็กๆ สององค์คู่กัน ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นศิลปะแบบล้านนาผสมผสาน ออกจากวัดพระธาตุจอมแจ้ง เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางหมายเลข 105 ประมาณ 1.2 กิโลเมตร จะเจอทางเลี้ยวซ้ายไปยังวัดพระธาตุจอมทอง ให้เลี้ยวซ้าย แล้วเลี้ยวขวา ตรงเข้าไปยังวัดพระธาตุ จอมทอง โดยเป็นพระธาตุสององค์คู่กัน ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถเช่นเดียวกับพระธาตุจอมแจ้ง จุดเด่นอย่างหนึ่งของวัดพระธาตุจอมทองคือ มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่บนยอดเขา นั่นคือ พระพุทธมณีมิ่งมงคล หรือชาวบ้านเรียกหลวงพ่อโต จากจุดนี้สามารถชมวิวเมืองแม่สะเรียง รวมทั้งท้องทุ่งนากว้างใหญ่ และเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่ดีเยี่ยมจุดหนึ่งทีเดียว

พระธาตุสี่จอมแห่งเมืองแม่สะเรียง พระธาตุจอมมอญ

พระธาตุจอมกิตติ

พระธาตุจอมแจ้ง

พระธาตุจอมมอญ

พระธาตุจอมกิตติ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจอมกิตติ มีลักษณะแบบสถูปล้านนา ตั้งอยู่บนยอดเขา ห่างจากตัวเมืองแม่สะเรียงประมาณ 2 กิโลเมตร สามารถชมวิวเมืองแม่สะเรียงได้เช่นเดียวกัน พระธาตุองค์สุดท้ายที่เราเดินทางไปสักการะ นั่นคือ พระธาตุจอมมอญมีลักษณะเป็นแบบเจดีย์ล้านนาเก่าแก่ เป็นพระธาตุที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง และในเดือนกรกฎาคมของทุกๆ ปี จะมีการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ด้วย และถือเป็นจุดชมวิวเมืองแม่สะเรียงที่สวยงามอีดจุดหนึ่งด้วย ทางขึ้นไปยังพระธาตุนั้น สามารถเดินขึ้นบันไดหรือจะขับรถขึ้นมาก็ได้ แต่ทางขึ้นค่อนข้างชันเอาเรื่องทีเดียว ซึ่งผมเองต้องใช้เกียร์ B ตลอดเส้นทางขึ้นมายังพระธาตุ รวมทั้งตอนขาลงด้วยเช่นกันครับ

ผมและทีมงานเดินทางต่อไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย โดยใช้เส้นทางหมายเลข 108 จากตัวอำเภอแม่สะเรียงมา ยังอำเภอแม่ลาน้อย ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาก่อนถึงตัวอำเภอเล็กน้อย ซึ่งระยะทางจากจุดนี้ ไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ประมาณ 30 กิโลเมตร ทั้งสองช่วงก็เป็นเส้นทางที่ต้องไต่เลาะไปตามไหล่เขา ซึ่งก็มีทั้งทางสูงชันและทางคดเคี้ยวไปตลอดเส้นทางละครับ เราเลี้ยวออกจากเส้นทางหลัก หมายเลข 1266 ก่อนจะขับลัดเลาะเข้ามายังบ้านดง แล้วเลี้ยวเข้ามายังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ซึ่งอยู่ถัดจากโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดนมาอีกเล็กน้อย โดยที่ตั้งโครงการอยู่สูงจากระดับนํ้าทะเลประมาณ 1,100 เมตร มีอากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตํ่าสุด 20 องศา และสูงสุดประมาณ 30 องศา เราเดินทางถึงในช่วงบ่ายแก่ๆ แต่อากาศครึ้มฟ้า ครึ้มฝน และเต็มไปด้วยเมฆฝนหนาทึบแบบนี้ ทำให้แสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องทะลุลงมาได้ จึงทำให้รู้สึกเหมือนช่วงใกล้คํ่ามากทีเดียวครับ

“มีที่พักว่างอยู่มั๊ยครับ” ผมเข้าไปสอบถามถึงที่พักของศูนย์ เพราะไม่ได้จองมาล่วงหน้า เนื่องจากเห็นว่าเป็นวันธรรมดา “ยังมีว่างอยู่คะ” เจ้าหน้าที่ตอบกลับมา พร้อมชี้มือไปยังหลังที่ว่าง “ด้านนี้มีนักท่องเที่ยวจองมาแล้วคะ” เหมือนจะรู้ใจว่าผมจะสอบถามถึงสองหลังคู่กันที่อยู่ด้านนอก วิวนาขั้นบันไดนั่นเองครับ “หลังนี้ยังว่างอยู่ทั้งสี่ห้อง จะเลือกห้องไหนดีคะ” “ห้องนี้ครับ” ผมตอบพร้อมเลือกห้องที่ต้องการ หลังจากที่เดินดูทุกๆ ห้องแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีการตกแต่งคล้ายๆ กัน เพียงแค่จะมีหน้าต่างที่หันออกไปคนละด้านนั่นเอง

ภายในห้องพัก มีเพียงพัดลมติดผนัง แต่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ นั่นอาจจะเป็นเพราะมีอากาศที่เย็นสบายตลอดปีนั่นเอง หลังจากที่เก็บข้าวของกันเรียบร้อยแล้ว ผมและทีมงานออกไปเดินเก็บภาพกันเล็กน้อย ก่อนที่จะกลับมาพักผ่อนที่ห้อง เนื่องจากสภาพแสงน้อยมากแล้วนั่นเองครับ ฝนที่โปรยปรายลงมาในช่วงคํ่าๆ ทำให้ผมภาวนาว่าพรุ่งนี้ขอให้มีทะเลหมอกด้วยเถอะ…

ภาพมุมกว้างๆ บางส่วนของพื้นที่เพาะปลูกภายในศูนย์

วิวนาขั้นบันได และแปลงเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ส่งให้กับโครงการหลวง

เช้ามืด ผมออกมาดูบริเวณนาขั้นบันไดรอบๆ บริเวณ ไม่มีทะเลหมอกคลุมอย่างที่หวัง มีเพียงหมอกที่คลุมตามยอดเขา ผมกลับเข้าห้อง และซุกตัวเข้าไปในผ้าห่มตามเดิม อากาศช่วงเช้าค่อนข้างเย็น จนอยากให้เมืองกรุงมีอุณหภูมิแบบนี้มั่งจังเลยครับ ช่วงสายๆ หลัง จากที่อาบนํ้าอุ่นสบายตัวแล้ว ผมออกไปรับประทานอาหารเช้า จึงได้รับรู้ว่า ห้องพักที่ว่างๆ อยู่ในช่วงหัวคํ่า ตอนนี้เต็มหมดแล้ว จากนักท่องเที่ยวที่มาถึงกันเมื่อช่วงดึกๆ และทุกคนก็มาพร้อมหน้าพร้อมตากันที่ร้านอาหาร เพื่อทานมื้อเช้า ซึ่งมีเมนูข้าวต้มหมูสับ ผัดผักเบบี้จักรพรรดิ์ และพริกหวาน กับไข่ต้ม ผมจัดข้าวต้มไปสองชาม ผัดผักจานใหญ่หนึ่งจานและไข่ต้มสองใบ ..คงไม่ต้องบอกนะครับว่าอร่อยมั๊ย อิ อิ…

แปลงปลูกที่ลงตัวพอดีกับนาขั้นบันได เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ดีมาก

หลังจากจัดการกับมื้อเช้าแล้ว ผมออกไปเดินถ่ายภาพรอบๆ บริเวณด้านหน้าตรงประตูทางเข้าศูนย์ที่ขับรถผ่านมาเมื่อวาน เป็นจุดคัดแยกผลิตภัณฑ์สำหรับส่งไปจำหน่ายยังร้านค้าของโครงการหลวง ซึ่งพืชผลที่เจ้าหน้าที่คัดแยกกันอยู่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเบบี้จักรพรรดิ์นั่นเอง ผมสังเกตเห็นอีกด้านของโรงคัดแยก มีผักคล้ายๆ พริก แต่รูปทรงจะเหมือนพริกหยวกก็ไม่เชิง พริกหวานก็ไม่ใช่ “อันนี้คือผักอะไรครับ” ผมถามเจ้าหน้าที่คัดแยก “พริกครับ” ฮ๊ะ!! ผมทำหน้าประหลาดใจ “พริกฮาลาพินโญ่ เป็นพริกจากประเทศเม็กซิโกครับ ที่เอาไว้ใส่พิซซ่านะครับ จะเอาไปผัดแบบผัดผักรวมก็ได้” เจ้าหน้าที่อธิบายต่อ ทำให้ผมต้องร้องอ่อออออ…ยาวๆ ก็เคยกินแบบที่กลายร่างเป็น อาหารแล้วนะสิ ยังไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ นะครับ แฮ่..!!

โรงคัดแยก จุดรับและคัดแยกผลผลิต

ฮาลาพินโญ่ พริกหวานเม็กซิโก

จากโรงคัดแยก ผมเดินออกมาที่ด้านหน้าโรงเรียน ก่อนจะเลี้ยวลงเนินไปตามเส้นทางที่จะไปยังโรงเรือนเพาะเลี้ยงที่กระจายตัวอยู่ตามเนินเขาต่างๆ นาขั้นบันไดหลายๆ แปลงถูกแปรสภาพให้เป็นแปลงปลูกเกรฟเบอรี่ ซึ่งกำลังติดดอกออกผล คาดว่าอีกไม่นานก็จะสามารถเก็บเกี่ยวสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ จากด้านบนเนินเขา ก่อนที่จะเดินลงมาตามทาง ผมสังเกตเห็นลุงชาวบ้านกำลังเก็บหญ้าออกจากแปลงเกรฟเบอรี่ จึงตั้งใจว่าจะเดินลงไปขอถ่ายภาพสักหน่อย แต่พอเดินลงมาถึงด้านล่าง ยังจะต้องเดินตามคันนาไปยังแปลงเกรฟเบอรี่ที่อยู่ด้านบนเล็กน้อย ระหว่างที่กำลังงุ่มง่ามคลำทางเดินไปตามคันนา เห็นลุงยังขยับๆ อยู่ที่แปลงเกรฟเบอรี่ แต่สักพักก็เห็นก้าวฉับๆ ออกไป แล้วก็หายลับไปตามทุ่งข้าว คือแบบว่า..แห้วครับ ลุงน่าจะเสร็จงานของแกแล้วนะครับ แล้วสกิลการเดินบนพื้นแบบนี้ ผมเทียบลุงไม่ติดเลยละครับ

เสาวรส หนึ่งในผลผลิตจากศูนย์ฯ

เกรฟเบอรรี่ที่กำลังออกดอกออกผล

ผมเดินลัดเลาะไปอีกเนิน มีรถของเจ้าหน้าที่วิ่งผ่านไป เมื่อผมเดินไปถึงโรงเรือน ก็เจอกับถาดต้นกล้าเบบี้จักรพรรดิ์วางอยู่ริมทางหลายๆ ถาด ก็เลยถึงบางอ้อว่า เจ้าหน้าที่ขับรถเอาต้นกล้าไปหย่อนให้กับเกษตรกรในโรงเพาะปลูกต่างๆ ตามที่เกษตรกรออร์เดอร์มานั่นเองครับ ขากลับผมเห็นเจ้าหน้าที่กำลังจิ้มๆ อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายๆ ไม้ง่าม แต่มีขนาดเล็กกว่าส้อมที่เอาไว้ทานข้าว จึงเข้าไปสอบ ถามว่าทำอะไร “กำลังเพาะเมล็ดผักคะ” ไม้ง่ามที่เห็นนั้น จะนำไปจุ่มนํ้าให้ปลายไม้เปียก แล้วจะนำไปจิ้มเมล็ดผักด้านละหนึ่งเมล็ด ก่อนที่จะวางลงไปในหลุมของถาดเพาะกล้าที่เห็นเจ้าหน้าที่เอาไปหย่อนไว้ตามโรงเรือนนั่นแหละครับ ซึ่งก็วางได้ครั้งละสองหลุม และต้องใช้ความอดทนและใจเย็นมากทีเดียว เพราะหนึ่งถาดนั้นมีประมาณ 200 หลุม ต้องค่อยๆ วางไปทีละสองหลุมต่อการแตะจิ้มเมล็ดพันธ์ุหนึ่งครั้ง …สุดยอดเลยละครับ

เจ้าหน้าที่กำลังเพาะเมล็ดพืชลงในถาดเพาะกล้า

โรงเรือนเพาะพันธ์ุกล้าไม้ ก่อนที่จะส่งให้กับเกษตรกรนำไปปลูกต่อ

“เสร็จแล้วก็เอาเข้าไปปลูกต่อในโรงเรือนเลยเหรอครับ” “ยังคะ” เจ้าหน้าที่ตอบกลับมา “ต้องเอาเข้าโรงอบก่อนคะ” และชี้มือไปยังห้องอบเมล็ดพันธ์ุ ผมขออนุญาตเข้าไปถ่ายภาพข้างในห้องอบ ซึ่งค่อนข้างร้อนอบอ้าวทีเดียว “อุณหภูมิประมาณ 37 องศาคะ” เจ้าหน้าที่อธิบายเพิ่มเติม เมื่อผ่านห้องอบแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะนำถาดเมล็ดพันธุ์ไปเพาะต่อในโรงเรือนเพาะกล้า พอโตได้ที่แล้วก็จะนำไปจำหน่ายต่อให้กับเกษตรกรในราคาถาดละประมาณ 20 บาทกว่าๆ เมื่อเกษตรกรนำไปเพาะปลูกจนเติบโตเต็มที่ ก็จะรับซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกร ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรแบบครบวงจร ทั้งการให้คำแนะนำการช่วยเหลือในการเพาะปลูก และการช่วยเหลือในช่องทางการจำหน่ายผลผลิต ตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 นั่นเองครับ

เจ้าหน้าที่กำลังคัดแยกผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานสินค้าจากโครงการหลวง

ผลผลิตที่คัดเลือกและบรรจุพร้อมส่งจำหน่าย

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และโครงการตามพระราชดำริต่างๆ ของในหลวง รัชการที่ 9 ล้วนแต่เอื้อประโยชน์ให้ชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละศูนย์ ให้มีอาชีพที่มั่นคง มีความรู้ในการพัฒนาและเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้น รวมทั้งร่วมรักษาสภาพแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลายดั่งเช่นในอดีต โดยพระองค์ได้เสด็จไปทอดพระเนตรพื้นที่จริงด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะเป็นพื้นราบ หรือขุนเขาสูง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยพาหนะหรือเดินเท้า และทรงให้ทีมวิจัยได้ทำการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาพืชพรรณที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ผลพลอยได้ก็คือ พื้นที่แห่งนั้นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรไปโดยปริยาย คนไทยทุกคนอยากไปดูผลงานของพ่อ อยากไปสัมผัสกับสิ่งที่พ่อได้ทรงสรรสร้างให้กับประชาชนของพระองค์ ไม่ว่าที่แห่งนั้นจะอยู่สูงเสียดฟ้า หรือห่างไกลแค่ไหนอีกด้วย
……………………
ในฉบับต่อไป ผมและทีมงานจะเดินทางต่อไปยังโครงการพระราชดำริปางตอง พระตำหนักในขุนเขาของทั้งสองพระองค์ เส้นทางจะสูงชันแค่ไหน Toyota Yaris Ativ จะพาเราไปถึงหรือไม่ ติดตามได้ในฉบับหน้าครับ
สวัสดีครับ..

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทางไป :  “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย”

 

เริ่มต้นจากเชียงใหม่ โดยใช้เส้นทางหมายเลข 108 มุ่งตรงไปยังอำเภอแม่สะเรียง จากอำเภอแม่สะเรียงยังคงใช้เส้นทางหมายเลข 108 ตรงไปอำเภอแม่ลาน้อย ก่อนจะเข้าสู่ตัวอำเภอแม่ลาน้อย ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1266 ขับตามเส้นทางนี้ไปประมาณ 30 กิโลเมตร ก่อนจะถึงบ้านห้วยห้อมประมาณ 5 กิโลเมตร ให้เลี้ยวขวาเข้าไปยังหมู่บ้านดง และต่อไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยได้เลย จะมีป้ายบอกทางเป็นระยะ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตามบทความ ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/