ADVANCE PHOTO TECHNIQUES

3 ข้อผิดพลาดการใช้กล้อง ที่มีผลต่อคุณภาพของภาพถ่าย และวิธีหลีกเลี่ยง

สิ่งที่ช่างภาพทุกคนต้องการคือคุณภาพของภาพถ่ายที่ดีที่สุดเท่าที่กล้อง เลนส์ อุปกรณ์ และประสบการณ์จะเอื้ออำนวยให้ทำได้ แต่บ่อยครั้งเกิดความผิดพลาดที่ส่งผลให้คุณภาพของภาพลดลง ทั้งๆที่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ไปดูกันว่าข้อผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีวิธีหลีกเลี่ยงอย่างไรได้บ้าง

 

1. เปิดรูรับแสงกว้างสุดทุกครั้ง 

เลนส์รุ่นใหม่หลายรุ่นทั้งเลนส์ซูมและเลนส์เดี่ยว จะใช้เทคโนโลยีในการออกแบบผลิตชิ้นเลนส์ใหม่ๆ มีค่ารูรับแสงที่กว้างมาก น่าหาซื้อมาใช้งาน มีจำนวนไม่น้อยที่ระบุว่าให้ความคมชัดสูงตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุด หรือช่างภาพจำนวนไม่น้อยที่ซื้อมาใช้งานเพราะความต้องการรูรับแสงกว้างๆ เช่น เลนส์  F/1.4, F/1.8 และมักจะเลือกใช้เฉพาะรูรับแสงที่กว้างที่สุดเพียงค่าเดียวในการการถ่ายภาพทุกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าโบเก้ที่ได้จากรูรับแสงกว้างสุดนี้มักจะมีขนาดใหญ่  ดูนุ่มนวล สวยงาม แต่ภาพที่ได้จากรูรับแสงกว้างสุดมักจะมีข้อเสียที่ปรากฎให้เห็นทั้งด้าน ความคมชัดที่ขอบภาพด้อยกว่า, มีความคลาดสี, ภาพมี vignette เป็นต้น

ข้อแนะนำ
       ให้ใช้รูรับแสงที่แคบลงหนึ่งหรือสองสตอป แม้จะสูญเสียแสงไปบ้าง แต่จะทำให้ความคมชัด และคุณภาพโดยรวมของทั้งภาพดีขึ้น  หากต้องหรี่รูรับแสงลง แต่กังวลเรื่องขนาด และความสวยงามของโบเก้ แนะนำให้ลองขยับระยะห่างระหว่างกล้องกับวัตถุครับ

 

2. ถือกล้องผิดท่า หรือถือกล้องไม่นิ่งพอ

การถือกล้องด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง หรือตั้งกล้องไม่นิ่งพอ หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไปล้วนเป็นสาเหตุให้ภาพขาดความคมชัด เป็นการลดคุณภาพของภาพที่เห็นได้ชัดเจนโดยตรง เกิดขึ้นได้กับทั้งกล้องรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ที่มีระบบกันสั่น
       นอกจากการจับถือในท่าทางที่ถูกต้องแล้ว อุปกรณ์เสริม เช่น  grip ที่ใส่แล้วช่วยให้จับกล้องได้ถนัดมากขึ้น (แต่ต้องยอมรับเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย) หรือแม้แต่ระบบกันสั่นในกล้อง ในเลนส์ ก็มีส่วนช่วยให้ภาพคมชัดมากขึ้นได้ แต่อุปกรณ์เหมาะสมที่สุดคือการใช้ขาตั้งกล้อง
.
     กล้องคอมแพค มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา การถือกล้องถ่ายด้วยมือเดียวทำได้สะดวกจริง แต่อาจจะทำให้กล้องสั่น ภาพไม่คมชัดได้

ท่านั่งถ่ายภาพที่ถูกต้อง นั่งให้มั่นคง ถือกล้องด้วยสองมือ แขนแนบลำตัว อาจวางข้อศอกข้างใดข้างหนึ่งลงบนหน้าขาเพื่อช่วยให้ถือกล้องได้นิ่งมากขึ้นก็ได้

ข้อแนะนำ
       เมื่อไหร่ก็ตามที่ถือกล้องและถ่ายภาพโดยใช้มือเปล่า ไม่ว่าจะติด grip หรือไม่ ให้จับกล้องให้มั่นคง  ยืนเหยียดขาตรง กางขาเล็กน้อย แขนทั้งสองข้างแนบลำตัวให้นิ่งที่สุด และกดปุ่มชัตเตอร์ ในจังหวะที่กดลงสุดเพื่อถ่ายภาพ ให้มั่นใจว่าใช้แค่แรงนิ้วชี้เท่านั้น ไม่เผลอไปกดน้ำหนักข้อมือลงไปที่ตัวกล้อง ซึ่งจะทำให้กล้องสั่นและภาพเบลอได้
.
       หรืออาจจะใช้กฎ “Reciprocal Rule” หรือสูตร 1/ทางยาวโฟกัส  ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมในการใช้มือเปล่าถือกล้องถ่ายภาพจะต้องไม่ต่ำกว่าทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น ใช้เลนส์ 50มม. ควรเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/50 วินาที, เลนส์ 100 มม. ก็ควรใช้ที่ไม่ต่ำกว่า 1/100 วินาที เป็นต้น

ถือกล้องไม่นิ่ง หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไป ก็ได้ภาพที่ไม่คมชัดตามไปด้วย

 

3. ไม่ใส่ใจการตั้งค่ากล้อง

การตั้งค่ากล้อง เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดอีกหนึ่งสิ่งที่ช่างภาพหลายคนมักละเลย หรือลืม  จำไว้เสมอว่าก่อนใช้งานกล้องทุกครั้งต้องตรวจการตั้งค่าต่างๆของกล้องให้เรียบร้อย และต้องมั่นใจว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงค่าต่างๆทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะกับกล้องที่ไม่ได้มีผู้ใช้งานคนเดียว

ข้อแนะนำ
       การตรวจเช็คการตั้งค่ากล้อง ควรทำทุกครั้งก่อนการนำกล้องออกไปใช้งาน แม้จะเป็นกล้องที่ใช้งานอยู่เป็นประจำด้วยตัวคุณเพียงคนเดียวก็ตาม เพราะอาจมีการปรับหรือเปลี่ยนการตั้งค่าหนึ่งค่าใดโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งเป็นการตั้งค่าหลักๆของตัวกล้อง เช่น ความละเอียดของภาพ, ความละเอียดของวีดีโอ, การเลือกใช้ระบบโฟกัส การตั้งค่าความไวแสง การเลือกใช้ white balance และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้หากมีการตั้งค่าผิดจากที่เราคุ้นเคยหรือใช้งานเป็นประจำ ล้วนส่งผลถึงคุณภาพของภาพได้อย่างแน่นอน

ตรวจเช็คการตั้งค่ากล้อง ใช้รูรับแสงที่เหมาะสม เลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ถูกต้อง ตั้งกล้องบนขาตั้ง สภาพแสงแบบไหน ถ่ายรูปอะไรก็สวยครับ