Basic Photo Techniques

6 เทคนิค ถ่ายภาพอาหารให้น่ากิน

การถ่ายภาพอาหาร ที่เห็นกันจนชินทุกวัน ทั้งจากช่างภาพจำเป็น ไปจนถึงโปรหลายคนที่ผันตัวมาเป็นเชฟ ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีทริคง่ายๆถ่ายภาพอาหารด้วยกล้องดิจิตอล กล้องมือถือ ให้ดูน่ากิน ยอดไลค์ปังๆ

.

การถ่ายภาพอาหาร ปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มโซเชี่ยลต่างๆที่หลากหลาย รวมถึงความสะดวกในการถ่ายภาพและแชร์ด้วยสมาร์ทโฟน

.

การถ่ายภาพประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์เฉพาะ หรืออุปกรณ์ที่มีราคาแพง สามารถใช้กล้อง เลนส์ และอุปกรณ์ที่มีอยู่ แต่ลองปรับเปลี่ยนมุมมอง หรือเพิ่มองค์ประกอบอื่นๆเข้าไป ก็สามารถทำให้ภาพถ่ายดูสวยงามเป็นธรรมาติได้ไม่ยาก

.
นอกจากนั้น การถ่ายภาพอาหารยังไม่มีความซับซ้อน ไม่ต้องอาศัยเทคนิคที่ยุ่งยาก ลองมาดูทริคง่ายๆ 6 ข้อที่จะช่วยปรับปรุงภาพถ่ายอาหารจานโปรดให้กลายเป็นภาพถ่ายแบบโปร ด้วยการถ่ายร่วมกับแสงธรรมชาติกันครับ

 

1. ถ่ายด้วยมุม 45° (45-Degree Angle Shot)
การถ่ายภาพอาหารในมุม 45° นี้ ถือเป็นมุมพื้นฐานที่ได้รับความนิยมกับการถ่ายภาพอาหารทุกประเภท เป็นมุมมองจากช่างภาพ/ผู้ถ่ายภาพที่นั่งร่วมโต๊ะอาหาร ทำให้ได้ภาพอาหารจานโปรดที่มีรายละเอียดครบถ้วน ชัดเจน แต่ด้วยความที่เป็นมุมมหาชน อาจจะต้องทำใจบ้างถ้ามุมภาพจะไปซ้ำกับภาพอื่นๆ

 

2. ภาพถ่ายจากมุมสูง (Top-Down-Shot)
เป็นการถ่ายภาพอาหารจากมุมมองด้านบน เป็นมุมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน การถ่ายภาพในมุมนี้สามารถทำได้ทั้งการเก็บภาพอาหารหลากหลายบนโต๊ะ หรือจะถ่ายเฉพาะเจาะจงเป็นจานแยกแต่ละเมนูก็ได้ โดยการตั้งกล้องด้านบนให้ขนานเป็นระนาบเดียวกับจานอาหาร ข้อจำกัดของการถ่ายภาพในมุมนี้นอกจากต้องยกกล้องขึ้นสูงเหนือโต๊ะแล้ว หากต้องการภาพกว้างเพื่อเก็บภาพอาหารบนโต๊ะ อาจจะต้องใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่ายภาพ
การถ่ายภาพด้วยมุมนี้ส่วนใหญ่ต้องการที่จะเก็บภาพอาหารหลากหลายเมนูที่วางอยู่บนโต๊ะ แต่จะไม่เหมาะกับอาหารบางประเภท เช่น แซนด์วิช หรือ เบอร์เกอร์ หากถ่ายในมุมสูงก็จะเห็นเป็นเพียงก้อนขนมปังที่ไม่น่าสนใจเท่านั้น

 

3. ถ่ายภาพระยะใกล้ (Macro Shot)
การถ่ายภาพมาโคร เป็นการถ่ายภาพระดับสูงที่ช่างภาพต้องมีความชำนาญหรือคุ้นเคยพอสมควร เป็นการถ่ายภาพระยะใกล้ที่จะถ่ายทอดรายละเอียดของอาหารในส่วนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตาปรกติ ซึ่งจะต้องใช้เลนส์มาโคร หรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่นฟิลเตอร์โคลสอัพ, ท่อต่อมาโคร หรือแหวนกลับเลนส์ ช่วยเพิ่มระยะให้สามารถเข้าใกล้วัตถุที่ต้องการถ่ายได้มากกว่าปรกติ ลองใช้โหมดนี้ในการถ่ายภาพอาหารในมุมมองใหม่ๆหรือเลือกถ่ายส่วนประกอบขนาดเล็กที่แตกต่างจากการถ่ายเดิมๆ
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันกล้องรุ่นใหม่ๆหรือแม้แต่กล้องสมาร์ทโฟน จะมีโหมด Macro มาให้ใช้งาน ซึ่งโหมดนี้สามารถนำมาถ่ายภาพอาหารได้เช่นกัน

 

4. ถ่ายร่วมกับอาหารจานอื่นๆ (With Another Dish)
ลองเปลี่ยนมุมมองโดยวางอาหารจานอื่นเข้ามาเป็นองค์ประกอบในภาพ โดยจัดวางอาหารจานหลักที่ต้องการถ่ายให้เป็นวัตถุหลักของภาพ อาหารจานอื่นๆอาจจะจัดวางไว้ด้านหลังหรือตำแหน่งอื่นๆ หรืออาจจะใช้รูรับแสงกว้างเพื่อเน้นความชัดที่อาหารจานหลัก และเบลอส่วนอื่นๆ หรืออาจจะมีอาหารอื่นๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นองค์ประกอบเสริมเรื่องราวให้ภาพ เช่น ถ่ายภาพเบอร์เกอร์ มีองค์ประกอบเพิ่มเติมคือมันฝรั่งทอด, สลัด หรืออื่นๆเป็นต้น

 

5. เก็บภาพอาหารร่วมกับบรรยากาศในร้าน (Incorporate Restaurant Interior)
นอกจากจะเน้นไปที่ภาพอาหารแล้ว ร้านอาหารยุคใหม่มักจะนิยมตกแต่งร้านให้มีมุมสำหรับถ่ายภาพได้ ทั้งบรรยากาศภายในร้าน การตกแต่งร้าน ก็เป็นอีกองค์ประกอบที่น่าสนใจ ที่สามารถนำมาใช้ในภาพถ่ายได้ โดยอาจใช้บรรยากาศภายในร้าน เลือกเจาะมุมที่เก๋ๆใช้เป็นฉากหลังของภาพ ก็จะได้ภาพถ่ายอาหารที่สวยงามและไม่จำเจกับการถ่ายแค่อาหารเพียงอย่างเดียว

 

6. ใช้มือ เป็นส่วนประกอบในภาพ (Use Your Hands)
การถ่ายภาพอาหารบางประเภทที่วางอยู่ในจานหรือชามอาจได้ภาพที่ยังดูไม่สวยงาม อาหารยังดูไม่น่ากินตามที่ช่างภาพต้องการ ในสถานการณ์นี้ อาจจะต้องใส่องค์ประกอบอื่นๆเพิ่มเข้าไปในภาพ เช่น มือคนกำลังหยิบจับอาหาร หรือ ถือภาชนะอื่นๆในมือและกำลังจัดการกับอาหารจานนั้น
ยกตัวอย่างการถ่ายอาหารประเภทเส้น เช่น พาสต้า ก๋วยเตี๋ยว หากถ่ายภาพอาหารทั้งสองชนิดนี้วางนอนอยู่ในชาม ก็จะได้เพียงภาพเส้นพาสต้า หรือก๋วยเตี๋ยวที่วางอยู่ในชาม โดยมีส่วนประกอบอื่นๆวางปะหน้าไว้ด้านบนเท่านั้น แต่หากเปลี่ยนมาใช้ส้อมหรือตะเกียบคีบอาหารนั้นขึ้นมาจากในชาม ก็จะเป็นการถ่ายภาพในอีกมุมมองหนึ่ง เรื่องราวของภาพก็จะแตกต่างจากการถ่ายภาพเดิมๆ หรือการหั่นเบอร์เกอร์ออกครึ่งหนึ่งให้เห็นส่วนประกอบที่ซ้อนกันข้างใน เป็นภาพที่น่าชวนให้หิวและดูดีกว่าการถ่ายเบอร์เกอร์เต็มชิ้นที่มองเห็นเพียงก้อนขนมปังกลมๆแน่นอน

ดังที่ได้กล่าวไปตั้งแต่แรกแล้วว่า การถ่ายภาพอาหาร ไม่จําเป็นต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะที่มีราคาแพง ไม่ต้องอาศัยการจัดแสงไฟหลายดวงที่ซับซ้อนยุ่งยาก แต่คุณสามารถสร้างภาพถ่ายอาหารที่สวยงาม และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ เพิ่มองค์ประกอบ อื่นๆที่เกี่ยวข้อง และใช้หลักการจัดองค์ประกอบภาพ เพียงเท่านี้ก็สามารถถ่ายภาพอาหารออกมาดูเป็นธรรมชาติ สวยงาม และดูน่ากินได้แล้วครับ

ต้นฉบับ : 6 Tips for Improving Your Food Photography Instagram Game
ผู้เขียน : Suzi Pratt
ที่มา : https://digital-photography-school.com/6-tips-improving-food-photography-instagram/
.
19 สิงหาคม 63