นิคอนผลิตเลนส์เทเลโฟโต้ระยะสั้นออกสู่ตลาด 2 ทางยาวโฟกัส คือ 85 มม. และ 105 มม. เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้ที่มีความชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบเลนส์ 85 มม. เพราะได้ความสว่างสูงในขนาดกะทัดรัด มีระยะถ่ายไม่ห่างจากซับเจกต์มากนัก จึงใช้ถ่ายภาพบุคคลในสถานที่ได้ดี แต่ก็มีช่างภาพจำนวนไม่น้อย(รวมถึงผมด้วย) ที่ชอบทางยาวโฟกัสช่วง 105 มม. มากกว่า 85มม. เพราะมีมุมรับภาพแคบกว่า จึงเลือกฉากหลังแบบเจาะจงพื้นที่ที่ต้องการได้ง่ายกว่า มีระยะห่างระหว่างกล้องกับซับเจกต์มากกว่า
ในอดีตยุคฟิล์ม นิคอนมีเลนส์ 105มม. ที่โด่งดังมากคือ 105mm. f/2.5 (ปรับโฉมหลายเวอร์ชั่นจนถึงล่าสุด คือ AIS 105mm.f/2.5) เป็นเลนส์ที่มืออาชีพยอมรับในเรื่องคุณภาพอย่างมาก หลังจากนั้นนิคอนก็ปล่อยเลนส์ไวแสงตามออกมาคือ AIS 105mm.f/1.8 ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่สว่างกว่า 1 สตอป และมีเลนส์มาโครช่วงนี้ออกมาด้วยคือ AIS 105mm. f/2.8 MACRO
พอเข้าสู่ยุคเลนส์ออโตโฟกัส นิคอนไม่ได้ทำเลนส์ 105มม. ทั่วไปออกสู่ตลาด แต่ผลิตออกมาเป็นเลนส์ AF 105mm. f/2 DC (Defocus Image Control) ซึ่งเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ที่สามารถปรับเบลอฉากหน้าหรือฉากหลังเพิ่มได้ เลนส์รุ่นนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะราคาขายค่อนข้างสูง นักถ่ายภาพจึงมักจะหันไปหาเลนส์ 85mm. f/1.4 หรือ 85mm. f/1.8 มากกว่า หรือไม่ก็เลือกเป็น AF-S 105mm. f/2.8 MACRO แทน ครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความประหลาดใจครั้งยิ่งใหญ่และนับว่าเป็นการเปิดตัวเลนส์ที่ดึงดูดความสนใจของช่างภาพได้อย่างมาก แน่นอนครับว่าสำหรับผม ผมตื่นเต้นที่ได้เห็นเลนส์ 105 มม. ถูกขยายความสว่างขึ้นไปถึงระดับ F1.4 ซึ่งเป็นรุ่นแรกของโลก
ทำไมมันจึงน่าสนใจ กับราคาขาย 72,900 บาท (ราคาในอเมริกา 2,200 เหรียญสหรัฐ) หลายคนอาจบ่นว่าแพง โดยเฉพาะผู้ที่นำไปเปรียบเทียบกับเลนส์ 85มม. f/1.4 แต่จริงๆ แล้วแม้จะเป็น f/1.4 เท่ากัน ทว่าทางยาวโฟกัสแตกต่างกันถึง 20 มม. ดังนั้นความสว่าง / ทางยาวโฟกัส จึงแตกต่างกัน โดยเลนส์ AF-S Nikkor 105mm. F1.4 E ED จะมีความสว่างสูงกว่าเลนส์ 85 มม. f/1.2 ด้วยซั้า เมื่อพิจารณาจาก เอฟสตอป/ทางยาวโฟกัส นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมขนาดชิ้นเลนส์ด้านหน้าของเลนส์ 105 มม. f/1.4 ตัวนี้จึงใหญ่มาก ด้วยเส้นผ่าศูนย์กลางของเลนส์ชิ้นหน้าประมาณ 75มม. (ใหญ่กว่าเลนส์ 85มม.f/1.2)
ดังนั้นกับราคาขาย 72,900 บาทที่หลายคนบ่นว่าแพงนั้น สำหรับผมๆ ไม่คิดเช่นนั้น ผมเห็นว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลมากกว่า AF-S Nikkor 85mm. F1.4G และ AF-S Nikkor 58mm. F1.4G ด้วยซั้า และแน่นอนครับว่าเลนส์รุ่นนี้ผมสนใจมันมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวช่วง 100-105มม. ตัวเดียวในโลกที่มีความสว่างระดับ F1.4
การออกแบบ
การออกแบบภายนอกไม่ได้แตกต่างจากเลนส์นิคอนรุ่นใหม่ๆทั้งหลายแต่อย่างใด ขนาดของเลนส์ใหญ่และอวบอ้วนกว่า AF-S 85mm. F1.4G อย่างมาก ด้วยขนาดฟิลเตอร์ 82 มม. นํ้าหนัก 985 กรัม ติดกับบอดี้ NIKON D810 แล้วทำเอากล้องดูเล็กลงไปถนัดตา แต่ก็ยังให้ความสมดุลในการจับถือและควบคุมดี
โครงสร้างภายนอกผลิตจากพลาสติกโพลีคาร์บอเนตทุกจุด ตั้งแต่กระบอกเลนส์ส่วนหน้า กระบอกเลนส์ส่วนกลางและส่วนท้าย แต่แปลนเมาท์เลนส์ทำจากโลหะ ยึดด้วยสกรู 4 จุด กระบอกเลนส์มีความแข็งแรงแน่นหนาดีมาก เขย่าแรงๆ ไม่มีอาการคลอนของโครงสร้างภายใน ภายนอกให้รู้สึกเลย
วงแหวนโฟกัสมีขนาดใหญ่ กว้าง 33มม. โดยส่วนที่หุ้มยางกว้าง 28 มม. นิคอนใช้ยางหุ้มลายเส้นนูนเล็กๆ รอบวง จับได้ถนัดและเกาะนิ้วดีมาก การปรับโฟกัสแบบแมนนวล สามารถทำได้ตลอดเวลาแม้จะใช้ระบบออโตโฟกัสอยู่ การปรับโฟกัสแมนนวลทำได้ราบเรียบและนุ่มนวลอย่างน่าประทับใจมาก ไม่มีอาการคลอกแคล่ก เมื่อยํ้าตำแหน่งโฟกัสไปมาเหมือนเลนส์ออโตโฟกัสส่วนใหญ่ มีรอบหมุนประมาณ 120 องศา จึงปรับโฟกัสแมนนวลได้ไม่ยาก โดยแสดงระยะโฟกัสในช่องพลาสติกใส ปรับโฟกัสสุดได้ 1 เมตร ส่วนในระบบออโตโฟกัสขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ Silent Wave การโฟกัสจึงเร็วและเงียบ
โครงสร้างระบบออพติคออกแบบด้วยเทคโนโลยีลํ้าหน้าที่นิคอนเคลมว่า รองรับกล้อง DSLR ความละเอียดสูงได้เต็มที่ ทั้งความคมชัดที่กลางภาพและขอบภาพ โดยใช้โครงสร้างชิ้นเลนส์ 14 ชิ้น จัดเป็น 9 กลุ่ม มีการใช้ชิ้นเลนส์พิเศษแบบ ED 3 ชิ้น ที่ตำแหน่งชิ้นที่ 2,3 และ 10 เพื่อลดความคลาดสี ทำให้ได้ความคมชัดสูงตั้งแต่กลางภาพถึงขอบภาพแม้เปิดรูรับแสงกว้างสุดก็ตาม ชิ้นเลนส์ด้านหน้ามีขนาดใหญ่มาก เกือบเต็มกรอบเลนส์ ชิ้นเลนส์ด้านท้ายก็มีขนาดใหญ่สุดกรอบขอบเมาท์เช่นกัน ทำให้เลนส์รุ่นนี้ดูดุดัน น่าเกรงขามอย่างยิ่ง เมื่อติดเข้ากับบอดี้อย่าง D5 หรือ D810 รูรับแสงแคบสุดของเลนส์คือ f/16 ใช้ใดอะแฟรมระบบ Electromagnetic ควบคุมการทำงานด้วยไฟฟ้า มีใดอะแฟรม 9 ใบให้โบเก้สวยงาม ขับเคลื่อนระบบออโตโฟกัสด้วยมอเตอร์ Silent Wave ระบบโฟกัสเป็นแบบภายใน โฟกัสใกล้สุด 1.0 เมตร ระบบเคลือบผิวเลนส์แบบ Nano และเคลือบผิวชิ้นหน้าและท้ายด้วย Fluorine Coat ป้องกันคราบหยดนํ้า และรอยนิ้วมือ ขนาดเลนส์ 94.5×106มม. นํ้าหนัก 985 กรัม ตัวเลนส์มาพร้อมฮูดทรงกลม ระบบเขี้ยวล็อก
ผลการใช้งาน
ให้ภาพคมกริบอย่างเยี่ยมยอดแม้เปิดรูรับแสงกว้างสุดโดยภาพยังมีคอนทราสต์สูง กล้อง Nikon D810 เลนส์ AF-S Nikkor 105mm f/1.4E ED ; 1/200Sec f/1.4, Mode : M, WB : 3000K, ISO100
ผมได้รับเลนส์รุ่นนี้มาพร้อม Nikon D810 เพื่อต้องการดูคุณภาพของเลนส์ด้วยความละเอียด 36 ล้านพิกเซลจากไฟล์ RAW ของกล้อง ในส่วนของการใช้งานนั้น เลนส์รุ่นนี้มีขนาดใหญ่และหนัก แต่ก็ให้สมดุลดีมากเมื่อใช้ร่วมกับ D810 กระบอกเลนส์ที่อวบอ้วนอย่างมากไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการจับถือและควบคุมกล้องแต่อย่างใด เพราะนิคอนทำสโลปช่วงกระบอกเลนส์ส่วนท้ายได้ลงตัว จึงจับถือได้ถนัด นํ้าหนัก 985 กรัมของเลนส์รุ่นนี้จึงไม่ใช่อุปสรรคในการใช้งาน
ระบบออโตโฟกัสขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ SWM กำลังสูง ความเร็วในการโฟกัสอยู่ในระดับปานกลาง ยังช้ากว่า AF-S Nikkor 85mm. F1.4G เล็กน้อย แต่ทำงานได้ราบเรียบ นุ่มนวลและเงียบดีมาก ความแม่นยำของระบบออโตโฟกัสทำได้ดีมาก ไม่มีปัญหาเรื่อง Back Focus หรือ Front Focus ระบบกลไกในการควบคุมชุดโฟกัสดีมาก ทำให้การหยุดหรือออกตัวของชุดเลนส์ที่ใช้ในการโฟกัสไม่กระตุก ภาพจึงนิ่งเมื่อเลนส์โฟกัส ส่วนการปรับโฟกัสแบบแมนนวลทำได้ดีมาก นุ่มนวลและมีความหนืดกำลังดีปรับยํ้าตำแหน่งโฟกัสได้มั่นคง ไม่มีอาการคลอนของชุดโฟกัส จึงปรับโฟกัสแบบแมนนวลได้ง่ายและสามารถปรับโฟกัสแมนนวลได้ตลอดเวลา
ไดอะแฟรมของเลนส์รุ่นนี้เป็นแบบควบคุมด้วยไฟฟ้า ซึ่งช่วยให้การควบคุมค่าแสงแม่นยำเที่ยงตรงกว่า โดยเฉพาะเมื่อบันทึกวิดีโอจะควบคุมแสงได้แน่นอนกว่า และราบเรียบต่อเนื่องกว่า
ให้ภาพคมกริบอย่างเยี่ยมยอดแม้เปิดรูรับแสงกว้างสุดโดยภาพยังมีคอนทราสต์สูง กล้อง Nikon D810 เลนส์ AF-S Nikkor 105mm f/1.4E ED ; 1/125Sec f/1.4, Mode : M, WB : 3000K, ISO200
ในส่วนของคุณภาพนั้น AF-S Nikkor 105mm. F1.4G ED คือความสำเร็จของทีมออกแบบเลนส์ยุคใหม่อย่างแท้จริง เป็นเลนส์ที่ให้คุณภาพยอดเยี่ยม รองรับกล้องความละเอียดสูงรุ่นใหม่ๆ และรุ่นที่จะออกตามมาในอนาคตได้เป็นอย่างดี มันให้ความคมชัดสูงมากตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุด ผมนึกถึงคำกล่าวของ Ken Rockwell ซึ่งเป็นช่างภาพและมือทดสอบที่ลองเลนส์นิคอนมาแล้วแทบทุกรุ่น ตั้งแต่เลนส์ยุค 30-40 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน เขากล่าวว่า “The only reason to pay more for a faster lens is to be able to use the faster f/stop” เหตุผลเดียวที่จะต้องจ่ายเพิ่มเพื่อเลนส์ที่สว่างขึ้นก็คือ การใช้รูรับแสงกว้างที่ใช้งานได้จริง ในอดีตเลนส์ไวแสงเช่น F1.4 หรือ F1.8 นั้นมักจะให้ภาพที่ซอฟท์ คอนทราสต์ต่ำ กว่าคุณภาพจะอยู่ในระดับดีก็ต้องหรี่รูรับแสงลงไปถึง f/2.8 หรือ f/4 แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรที่ต้องจ่ายแพง ต้องแบกเลนส์หนักๆ และในปัจจุบันแม้ว่าผู้ผลิตเลนส์จะพัฒนาเทคโนโลยีสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้ภาพจากรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ยุคใหม่มีคุณภาพดีขึ้นมาก แต่ที่เอฟกว้างสุดคุณภาพก็ยังทำได้เพียง 70-75% จากคุณภาพที่ดีที่สุดของเลนส์ตัวนั้น แต่ AF-S Nikkor 105mm. F1.4 E ED คือเลนส์ที่ออกแบบมาเพื่อให้คุณหวังผลกับ f/1.4 ได้เลย ที่ f/1.4 คุณจะได้ความคมชัดประมาณ 85% ของคุณภาพที่ดีที่สุดจากเลนส์รุ่นนี้ ให้ภาพที่มีความคมชัดสูงมากที่กลางภาพ และทำได้ดีที่ขอบภาพ ที่สำคัญคือคอนทราสต์ของภาพไม่ดรอปลงเลย สีสันที่ได้จึงมาเต็มที่ ที่ f/1.4 ภาพใสกระจ่าง คมชัด ความอิ่มสีสูง เป็นเลนส์ที่เหมาะสำหรับการใช้งานในสภาพแสงน้อยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะเปิดมิติใหม่ของแสงตามสภาพกับความคมชัดลึกที่น้อยมาก ทำให้ซับเจกต์ดูเด่นและมีรายละเอียดเยี่ยมยอด ที่ f/2 คุณภาพจะขยับขึ้นอีกเล็กน้อย แต่จะทำได้ยอดเยี่ยมที่ f/2.8 และ f/4 ภาพคมกริบจากขอบถึงขอบ ที่ f/5.6 ความคมชัดจะลดลงเล็กน้อยแต่ก็ยังอยู่ในระดับดีเยี่ยม ที่ f/8 ความคมชัดลดลงจากเรื่อง Diffraction
ละลายฉากหลังได้สะใจแม้ว่าฉากหลังจะอยู่ใกล้ตัวแบบ ให้โบเก้สวยงาม ภาพใสดีมาก กล้อง Nikon D810 เลนส์ AF-S Nikkor 105mm f/1.4E ED ; 1/800Sec f/1.8, Mode : M, WB : Auto, ISO100
อาการขอบภาพมืดปรากฏให้เห็นชัดเจนที่ f/1.4 แต่ก็นับว่าน้อยกว่าเลนส์ไวแสงทั่วไป โดยขอบภาพจะมืดกว่ากลางภาพประมาณ 1.3 สตอป และจะลดลงอย่างมากที่ f/2 และแทบไม่ปรากฏที่ f/2.8 ภาพที่ได้ใสเคลียร์ทั่วทั้งเฟรม
เลนส์รุ่นนี้มีดิสทอร์ชั่นแบบโค้งเข้า (Pincusshion) เล็กน้อย ซึ่งจะเห็นได้เฉพาะกับฉากที่มีเส้นตรงใกล้ๆ ขอบภาพเท่านั้น ในการใช้งานทั่วไปไม่มีปัญหา
การควบคุมแฟลร์และภาพหลอนทำได้ดี เมื่อเทียบกับเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ด้วยกัน เมื่อถ่ายภาพย้อนแสงตรงๆ แบบมีดวงอาทิตย์หรือแหล่งกำเนิดแสงจ้าๆ ใกล้ขอบภาพจะมีแสงฟุ้งบ้าง แต่ไม่ทำให้ภาพโดยรวมสูญเสียรายละเอียดและคอนทราสต์เท่าใดนัก ความคลาดสีอยู่ในระดับที่กล่าวได้ว่าน้อยมาก ภาพจึงดูสะอาดตา คมชัด ส่วนความคลาดสีแบบ Longitudinal chromatic aberration (LoCA) หรือที่ชอบเรียกกันว่า Bokeh Fringing หรือ Bokeh CA ซึ่งจะทำให้ส่วนที่อยู่นอกระยะชัดมีสีเหลื่อม โดยจะเหลื่อมม่วงที่ฉากหน้าและเหลื่อมเขียวที่ฉากหลัง เป็นผลให้ภาพพอร์เทรตดูไม่สะอาดตา เพราะมีสีเขียวอยู่ที่ผมของตัวแบบเมื่อถ่ายภาพในระยะใกล้ นี่คือข้อบกพร่องของเลนส์ไวแสงส่วนใหญ่ที่ผมไม่ชอบเลย แต่กับเลนส์รุ่นนี้ก็ยังมีปัญหานี้นะครับ แต่ค่อนข้างน้อยจนไม่เป็นผลเสียต่อภาพบุคคล
ละลายฉากหลังได้สะใจแม้ว่าฉากหลังจะอยู่ใกล้ตัวแบบ ให้โบเก้สวยงาม ภาพใสดีมาก กล้อง Nikon D810 เลนส์ AF-S Nikkor 105mm f/1.4E ED ; 1/800Sec f/1.8, Mode : M, WB : Auto, ISO100
โบเก้ของเลนส์สวยครับ ให้ฉากหลังที่ดูสะอาดตา และโบเก้ที่ไม่ขึ้นเส้นขอบมากนัก f/1.4 ทำให้มันละลายฉากหลังได้อย่างเยี่ยมยอด แม้ถ่ายภาพบุคคลเต็มตัว ที่ f/2 โบเก้ก็ยังดูกลม แต่จะเห็นเหลี่ยมชัดที่ f/4
กล้อง Nikon D750 เลนส์ AF-S Nikkor 105mm f/1.4E ED ; 1/1600Sec f/1.4, Mode : M, WB : Auto, ISO 200 (ภาพโดย : วิศาล พงศ์วิลาส)
กล้อง Nikon D750 เลนส์ AF-S Nikkor 105mm f/1.4E ED ; 1/1600Sec f/1.4, Mode : M, WB : Auto, ISO 200 (ภาพโดย : วิศาล พงศ์วิลาส)
ในการใช้งานภาคสนาม นี่คือเลนส์ที่ใช้สนุก ด้วยระบบออโตโฟกัสที่ทำงานได้ดี แม่นยำ ไม่ต้องพะวงกับเรื่อง Back Focus (กับกล้อง D810 ที่ใช้ทดสอบ) ทำให้สามารถใช้รูรับแสงกว้างสุดได้อย่างมั่นใจ
ความเห็น
กล้อง Nikon D810 เลนส์ AF-S Nikkor 105mm f/1.4E ED ; 1/200Sec f/2, Mode : M, WB : Auto, ISO 800
เลนส์ของนิคอนทั้งรุ่น AF-S Nikkor 85mm. F1.4G และ AF-S Nikkor 58mm. F1.4G ไม่เคยทำให้ผมสนใจ แต่ AF-S Nikkor 105mm. F1.4E ED ไม่ใช่ มันเป็นเลนส์ที่ดึงดูดความสนใจอย่างมาก เป็นเลนส์สำหรับการถ่ายภาพพอร์เทรตนอกสถานที่ชั้นยอด เป็นเลนส์สำหรับการใช้ในสภาพแสง Low Light ชั้นเยี่ยม ออกแบบได้ดี ไม่มีที่ติ หากจะขาดไปบ้างก็น่าจะเป็นเพียงระบบ VR ที่ช่างภาพหลายคนอยากให้มี แต่สำหรับผม ผมไม่แคร์ เพราะสิ่งที่มันให้กลับมาจากเงิน 72,900 บาท นั้น ดีเพียงพออยู่แล้ว ความคมชัดที่ f/1.4 นั้นอยู่ในระดับสุดยอดซึ่งหาได้ยากมากในเลนส์ไวแสง สามารถใช้งานได้อย่างสบายใจ คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ที่จ่าย และเป็นเลนส์พอร์เทรตชั้นดี ที่ไม่ควรมองข้ามหากมีงบพอ
Highly Reccommended ครับ
ขอบคุณ : บริษัท นิคอน เซลส์ ประเทศไทย จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องและเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.nikon.co.th
เรื่อง : อิสระ เสมือนโพธิ์ ภาพ : พิษณุ พวงแก้ว