Lenses Reviews

Reviews : Sigma S 60-600mm f/4.5-6.3 DG OS HSM

ปัจจุบันเลนส์เทเลซูมกำลังสูง ช่วง 150-600 มม. ได้รับความนิยมมากพอควรโดยเฉพาะกับกลุ่มที่ชื่นชอบการถ่ายภาพนกและ Wildlife เพราะเลนส์ซูมช่วงนี้มีทางยาวโฟกัสสูงพอสำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้ และมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป นํ้าหนักอยู่ระหว่าง 2,000-2,900 กรัม ไม่เป็นภาระในการพกพาและในการเดินทางมากนัก ให้ความคล่องตัวในการใช้งานดี และคุณภาพก็อยู่ในระดับดี ที่สำคัญคือ ราคาขายไม่สูงเหมือนเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ทั้งหลาย จึงเป็นทางเลือกให้ผู้ที่มีงบไม่มากพอสำหรับเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้

SIGMA ผลิตเลนส์ 150-600 มม. ออกสู่ตลาด 2 รุ่น คือ 150-600 mm f/5-6.3 DG OS HSM Contemporary(C) และ 150-600mm f/5-6.3 DG OS HSM Sport (S) โดยเลนส์สองรุ่นนี้จะเหมือนกันในเรื่องทางยาวโฟกัสและขนาดรูรับแสงกว้างสุด แต่รุ่น C จะมีราคาถูกกว่า นํ้าหนักเบากว่า (1,930 กรัม) ส่วนรุ่น S จะมีโครงสร้างแข็งแกร่งขึ้น ซีลป้องกันฝุ่นและความชื้นรอบตัว ระบบออฟติคออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้ได้คุณภาพเยี่ยมแม้ซูมออกไปถึง 600 มม. และที่เน้นเป็นพิเศษ คือความเร็วของระบบออโตโฟกัสที่สูงขึ้น รองรับการถ่ายภาพแอคชั่นได้ดีกว่า นํ้าหนักเลนส์ 2,860 กรัม

โดยส่วนตัวผมคิดว่าซิกม่าน่าจะหยุดที่เลนส์ 2 รุ่นนี้ เพราะรองรับนักถ่ายภาพ Wildlife ได้พอแล้ว งบน้อยก็เลือกรุ่น C งบมากหน่อยก็เลือกรุ่น S แต่ SIGMA ไม่หยุดการพัฒนาด้วยการปล่อยเลนส์ซูมกำลังสูงขนาด 10X รุ่น 60-600mm f/4.5-6.3 DG OS HSM Sport ตามออกมา โดยออกแบบให้รองรับการใช้งานได้กว้างยิ่งขึ้น ตั้งแต่ช่วงเลนส์มาตรฐาน 60 มม. จนถึงซุปเปอร์เทเลโฟโต้ 600 มม. ยังเป็น f/6.3 ดังนั้นนี่จึงเป็นเลนส์ถ่ายภาพนกและภาพ Wildlife ที่น่าสนใจมากๆ รุ่นหนึ่ง

นี่ไม่ใช่เลนส์เทเลซูม 10X รุ่นแรกจากซิกม่า เพราะซิกม่าเคยผลิตเลนส์ f/4.5-6.3 DG OS APO HSM ออกมาแล้ว แต่ 60-600mm f/4.5-6.3 DG OS HSM sport คือ การปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้ได้เลนส์ซูมกำลังสูงระดับโปรอย่างแท้จริง ด้วยการปรับปรุงพัฒนาระบบออฟติคใหม่ที่ระบุว่าให้คุณภาพสูงตลอดช่วงซูม ไม่ดรอปที่ช่วง 600 มม. ได้ทางยาวโฟกัสช่วงท้ายสูงขึ้นจาก 500 มม. เป็น 600 มม. ปรับปรุงระบบออโตโฟกัส วัสดุ ปรับแก้ความคลาด และปรับระยะโฟกัสใกล้สุดให้ใกล้ยิ่งขึ้น

โดยส่วนตัวผมไม่เคยมองเลนส์ซูมที่มีช่วงซูมถึง 10X เลย เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา มักจะพบว่าสิ่งที่ได้จากเลนส์เหล่านี้คือ ความสะดวก คล่องตัวในการเปลี่ยนมุมรับภาพเท่านั้น แต่คุณภาพไม่เคยไปถึงจุดที่ผมต้องการ โดยมักจะแผ่วปลาย คือเมื่อซูมออกไปที่ช่วงเทเลโฟโต้คุณภาพมักจะลดลงๆ เรื่อยๆ จนอยู่ในระดับที่รับไม่ได้ แต่ผมเห็นรีวิวของเลนส์รุ่นนี้ในเว็บที่ติดตามประจำ ผู้ทดสอบบอกว่ามันเป็นเลนส์ที่ให้ภาพคมที่สุดในบรรดาเลนส์เทเลซูมที่มีช่วงซูมท้าย 500-600 มม. นั่นเองทำให้ผมเกิดความสนใจขึ้นมาทันทีและอยากลองทดสอบด้วยตัวเองดูว่า มันทำได้อย่างที่ว่าหรือไม่ มีอะไรน่าสนใจในเลนส์รุ่นนี้บ้าง มาดูการออกแบบกันเลยครับ

โครงสร้างภายนอกภายใน SIGMA 60-600 mm f/4.5-6.3 DG OS HSM Sport ออกแบบโครงสร้างใหม่ด้วยการใช้แต่ละส่วนด้วยวัสดุที่แตกต่างกัน เพื่อลดนํ้าหนักของเลนส์ให้ได้มากที่สุด แต่ยังต้องมีความแข็งแรงของโครงสร้างในระดับที่มืออาชีพต้องการ ซิกม่าจึงออกแบบโดยใช้วัสดุ 3 ประเภท คือ แมกนีเซียมอัลลอยที่เบาแต่แข็งแกร่งใช้กับโครงสร้างส่วนท้าย (สีนํ้าเงินในภาพ) รวมทั้งคอลลาร์และเพลท ถัดมาส่วนกลาง (สีเหลือง) ซึ่งจะเป็นส่วนของกระบอกและเฮลิคอยด์ควบคุมการซูมและโฟกัส ใช้วัสดุที่เรียกว่า TSC (Thermally Stable Composite) ซึ่งจะขยายตัวเมื่อใช้ในสภาพอากาศร้อนจัดน้อยกว่าอลูมิเนียม และมีความยืดหยุ่นตัวกว่าโพลีคาร์บอเนต และชุดวงแหวนซูม วงแหวนโฟกัส กระบอกเลนส์ส่วนหน้าและฮูด (สีแดงในภาพ) ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ ทั้งหมดนี้ช่วยให้เลนส์รุ่นนี้มีนํ้าหนักลดลงมาเหลือ 2,700 กรัม การออกแบบภายนอกนั้นเน้นให้จับถือถนัดและควบคุมได้ง่าย โดยวงแหวนซูมไว้ส่วนหน้า วงแหวนซูมทำเป็นสโลปเล็กน้อย หุ้มด้วยยางลายเส้นนูน จับได้ถนัดและปรับได้สะดวก การปรับทำได้ราบเรียบไม่มีสะดุด แต่ค่อนข้างหนืดสักหน่อยเพราะชุดเลนส์ใหญ่ เลนส์ซูมทางยาวโฟกัสนี้ระบบซูมจะไม่ได้เป็นแบบเลื่อนชุดเลนส์ภายใน (Internal Zoom) เมื่อปรับซูมกระบอกเลนส์ส่วนหน้าจะยืดออก 10.2 ซม. ผู้ใช้สามารถล็อกซูมกันกระบอกเลนส์เลื่อนไหลได้เมื่อซูมไว้ที่ 60 มม. แล้วดันสวิทซ์ล็อก วงแหวนโฟกัสวางค่อนมาทางส่วนท้ายของกระบก กว้าง 3.7 ซม. หุ้มด้วยยางลายเส้นนูนที่จับได้ถนัด ระบบโฟกัสเป็นแบบเลื่อนกลุ่มเลนส์ภายใน สามารถปรับโฟกัสแบบแมนนวลได้ตลอดเวลา โดยการปรับทำได้ราบเรียบ นุ่มนวลดีมาก แต่ค่อนข้างหนืด ส่วนระบบออโตโฟกัสทำงานด้วยมอเตอร์ HSM ขนาดใหญ่ กำลังสูง เพื่อให้โฟกัสได้เร็ว การตอบสนองฉับไวตามมาตรฐานเลนส์ซีรีส์ S (Sport) ของซิกม่า บนกระบอกเลนส์มีช่องหน้าต่างใส แสดงระยะโฟกัสให้เห็น และใกล้ๆ กันเป็นสวิทซ์ที่ปรับระบบการทำงานของเลนส์ 4 จุด คือ สวิทซ์เลือกระบบโฟกัส สวิทซ์ล็อกช่วงโฟกัส สวิทซ์เปิดระบบป้องกันภาพสั่นไหว และสวิทซ์ CUSTOM

คอลลาร์ของเลนส์วางอยู่ส่วนท้าย มีขนาดใหญ่ แข็งแรง ทำจากแมกนีเซียมอัลลอยทั้งชุด ด้านบนมีสวิทซ์ล็อกแบบบิดหมุนขนาดใหญ่ ปลดล็อกแล้วสามารถพลิกเลนส์ไปซ้าย-ขวา ได้ การปรับหมุนนุ่มนวลดีมาก และที่ดีคือมีเสียงคลิ๊ก เมื่อหมุนไปทุกๆ 90 องศา จึงมั่นใจได้ว่าการปรับแนวนอน แนวตั้งภาพจะไม่เอียง สะดวกและรวดเร็ว เพลทของคอลลาร์มีขนาดใหญ่ ออกแบบมาดีมาก สามารถใส่เข้ากับบอลเฮดที่เป็นระบบฐานเพลทได้เลย Arca Swiss ได้เลย ไม่ต้องใช้เพลทจากบอลเฮด จึงสะดวกและใช้งานได้เร็ว ด้านล่างมีเกลียวยึดกับสกรูเพลทขนาดมาตรฐานและขนาดใหญ่ (3/8นิ้ว) เพลทของเลนส์รุ่นนี้สามารถถอดออกได้ แต่ต้องใช้ประแจ L หกเหลี่ยมขันสกรู 4 ตัว ออก อาจจะช้าหน่อย แต่เน้นความแข็งแรง แน่นหนา และด้วยนํ้าหนักเลนส์ 2,700 กรัม บนคอลลาร์จึงมีช่องใส่สายสะพายกล้องเพื่อความสมดุลและลดความเสี่ยงต่อการเสียหายของเมาท์เลนส์และเมาท์กล้อง เมื่อต้องสะพายกล้องเดินไปมา เลนส์ที่ผมได้มาเป็นเมาท์นิคอน ใช้ระบบไดอะแฟรมแบบ Electromagnetic ปรับรูรับแสงด้วยระบบไฟฟ้าเช่นเดียวกับเลนส์เมาท์แคนนอน ฮูดมีขนาดใหญ่แต่ไม่ยาวมากเพราะต้องออกแบบมาสำหรับช่วงซูม 6 มม. ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ล็อกด้วยสวิทซ์หมุน ปลายฮูดหุ้มด้วยยางเพื่อกันการกระทบกระแทก ออกแบบได้ลงตัว กลมกลืนกับเลนส์

ระบบออพติค การออกแบบระบบออพติคของเลนส์ซูม 10X ที่มีช่วงซูมตั้งแต่เลนส์นอร์มอลถึงซุปเปอร์เทเลโฟโต้ให้ได้คุณภาพตลอดช่วงซูมเป็นเรื่องยากมาก ซิกม่ามีประสบการณ์กับการออกแบบเลนส์ 50-500 มม. มาก่อน พอเปลี่ยนเป็น 60-600 มม. จึงออกแบบระบออพติคใหม่ด้วยการใช้ชิ้นเลนส์พิเศษทั้ง FLD และ SLD เพื่อลดความคลาดสี โดยใช้ชิ้นเลนส์ทั้งหมด 25 ชิ้น จัดเป็น 19 กลุ่ม ใช้ชิ้นเลนส์ SLD 1 ชิ้น ที่ด้านหน้า (ชิ้นที่ 2 ) และใช้ชิ้นเลนส์ FLD 3 ชิ้น โดยเป็นชิ้นเลนส์ด้านหน้าขนาดใหญ่ 1 ชิ้น ชุดเลนส์กลาง 1 ชิ้น และท้าย 1 ชิ้น ขนาดชิ้นเลนส์ชุดกลางทั้งหมดจะมีขนาดใหญ่กว่าที่ใช้ในเลนส์ 150-600 มม. นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมช่วงซูมกว้างกว่ามาก แต่ความสว่างของเลนส์ไม่ลดลง ระบบโค้ทผิวเลนส์เป็นแบบหลายชั้น ชิ้นเลนส์ดูใสมาก งานการผลิต การประกอบชิ้นเลนส์ การเคลือบภายในกระบอกทำได้ดีมาก ระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์จะเปลี่ยนไปตามช่วงซูม เพื่อลดข้อจำกัดเมื่อใช้ที่ช่วงซูม 60-600 มม. เลนส์จะโฟกัสได้ถึง 0.6 เมตร ที่ช่วง 60 มม. และ 2.6 เมตรที่ช่วง 600 มม. ระยะโฟกัสใกล้สุดจะค่อยๆปรับห่างมากขึ้นตามทางยาวโฟกัสที่สูงขึ้น โดยอัตราขยายสูงสุดของเลนส์รุ่นนี้ทำได้ถึง 1: 3.3 (ที่ช่วงซูม 200 มม.) เลนส์รุ่นนี้ใช้ไดอะแฟรม 9 ใบ แบบทรงกลม ควบคุมการทำงานด้วยไฟฟ้า รูรับแสงแคบสุด f/22-32 ใช้ฟิลเตอร์ขนาด 105 มม. ขนาดเลนส์ 120.4 มม. X 268.9 มม.

ออกแบบให้ใช้งานทุกสภาพอากาศ เพราะเป็นเลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับการถ่ายภาพ wildlife สำหรับช่างภาพมืออาชีพและระดับจริงจัง เลนส์จึงต้องมีโครงสร้างดีและรองรับการใช้งานในทุกสภาวะ ทุกสภาพอากาศ เลนส์รุ่นนี้จึงมีการซีลป้องกันฝุ่นและละอองนํ้ารอบตัว นกจากนั้นยังเคลือบผิวเลนส์ชิ้นหน้าด้วยฟลูออรีน เพื่อป้องกันคราบหยดนํ้า และรอยนิ้วมือ สามารถทำความสะอาดได้ง่าย

SIGMA 60-600mm f/4.5-6.3 DG OS HSM เหมาะใช้งานอะไร ทางยาวโฟกัสที่ไปถึง 600 มม. ทำให้เลนส์รุ่นนี้เหมาะกับการถ่ายภาพ wildfile และภาพนก แม้ f/6.3 จะยังไม่สว่างเท่าเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ระดับโปรทั้งหลาย แต่ก็กว้างเพียงพอในการใช้งานและเหนือกว่าด้วยความคล่องตัวในการปนับซูมได้ โดยเฉพาะกับกล้อง APS-C ชั้นดีอย่าง Nikon D500 จะได้ทางยาวโฟกัสเป็น 90-900 มม. ที่มีระบบออโตโฟกัสชั้นยอดสำหรับจับทุกแอคชั่น เลนส์รุ่นนี้ยังเหมาะกับการถ่ายกีฬากลางแจ้ง เช่น มอเตอร์สปอร์ต การแข่งกรีฑา เป็นต้น เพราะด้วยช่วงซูมที่กว้างมาก จึงสามารถเก็บภาพได้หลายมุมมอง โดยไม่ต้องขยับตำแหน่งกล้อง หรือเปลี่ยนเลนส์ ช่วงซูม 60-135 มม. ที่เพิ่มขึ้นจากเลนส์ 150-600 มม. จะช่วยให้การถ่ายภาพกีฬาคล่องตัวกว่ามาก

กล้อง Nikon D800 เลนส์ SIGMA 60-600mm f/4.5-6.3 DG OS HSM Sport(@600mm) ; 1/250Sec f/6.3, Mode : M, ISO 640

ผลการใช้งาน โดยส่วนตัวแล้วผมเป็นคนที่ชอบใช้เลนส์ช่วง 100-400 มม. มาก เพราะใช้งานคล่องตัวและใช้ได้หลากหลาย แต่บ่อยครั้งพบว่า เลนส์ 100-400 มม. ยังไมพอเท่าที่อยากได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องถ่ายภาพนก ภาพสัตว์ในระยะไกล ครั้นจะใช้ 150-600 มม. ก็รู้สึกว่าช่วงซูมตันที่ 150 มม. ทำให้มีข้อจำกัดกับการถ่ายภาพบางอย่าง ไม่ใช่ภาพ wildlife แต่เป็นการถ่ายภาพกีฬากลางแจ้งหรือภาพเหตุการณ์ต่างๆ ดังนั้น 60-600 มม. ของซิกม่าตัวนี้จึงเป็นเลนส์ที่ผมต้องการซื้อไว้ใช้ส่วนตัวเลย เพียงแต่อยากลองก่อนว่าจะดีจริงอย่างที่เขาว่าหรือไม่

ผมลองเลนส์รุ่นนี้กับ Nikon D800 และได้ลองกับ Sony A7R III ผ่านอแดปเตอร์ บันทึกด้วยไฟล์ RAW+JPEG แล้วตรวจสอบผลจากจอคอมพิวเตอร์บนจอ BenQ SW 271 นํ้าหนัก 2,700 กรัม ของเลนส์รุ่นนี้ ไม่ใช่เบาๆ ครับ แต่เมื่อต้องการช่วงซูมกว้าง ความสว่างโอเค และโครงสร้างแข็งแรง นํ้าหนัก 2,700 กรัม ก็สมนํ้าสมเนื้อครับ และในการใช้งานภาคสนามมันไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ผมสามารถถือเลนส์ด้วยมือเปล่าสองชั่วโมงได้สบายๆ การปรับซูมหนักมือสักหน่อยครับ แต่ดีตรงที่มันแทบไม่ลื่นไหลเมื่อเอียงกล้อง บาลานซ์ค่อนข้างดี เมื่อหมุนเพลทขึ้นด้านบน แล้วถือมือเปล่าในการใช้งานที่ช่วงซูม 600 มม. ผมสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/125 วินาที แบบหวังผลได้ทุกภาพ หากเป็น 1/60 วินาที จะชัดประมาณ 50% ความเร็วในการโฟกัสอยู่ในระดับดีมาก เมื่อลองเปลี่ยนระยะแล้วให้เลนส์โฟกัส พบว่าการตอบสนองของเลนส์ดี แทรคเข้าหาวัตถุได้รวดเร็วและแม่นยำ การโฟกัสเงียบมาก หยุดที่ตำแหน่งชัดได้อย่างมั่นคง ส่วนการใช้ในโหมด AF-C การตอบสนองก็ยังดีมาก ที่ดีคือความเร็วในการโฟกัสที่ช่วงซูม 600 มม. ไม่ตกเหมือนเลนส์เทเลซูมช่วงนี้รุ่นอื่นๆ มันยังโฟกัสได้เร็ว ซึ่งเชื่อว่าหากเปลี่ยนบอดี้เป็น D500 หรือ D5 ความเร็วคงหายห่วง

กล้อง Nikon D800 เลนส์ SIGMA 60-600mm f/4.5-6.3 DG OS HSM Sport (@600mm) ; 1/125Sec f/6.3, Mode : M, ISO 500

ความคมชัด การถ่ายทอดความคมชัดของเลนส์รุ่นนี้ทำได้ดีมาก ที่น่าสนใจคือ แทบไม่ต้องหรี่รูรับแสงลงก็ได้ความคมชัดน่าพอใจแล้ว เมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุด ช่วงซูมตั้งแต่ 100 , 200 , 300 , 400 , 500 , จนถึง 600 ภาพมีความคมชัดดีมาก ดีแบบไม่ต้องพะวงเมื่อต้องนำไปใช้ขยายภาพขนาดใหญ่ แน่นอนครับว่าความคมชัดยังไปไม่ถึงเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ ราคา 300,000-400,000 บาท แต่มันดีพอที่มืออาชีพจะพอใจ เมื่อหรี่รูรับแสงเป็น f/8 จะได้ความคมชัดสูงสุด ยกเว้นที่ช่วง 600 มม. f/6.3 กับ f/8 ไม่แตกต่างกัน และที่ผมพอใจคือ การถ่ายที่ระยะโฟกัสใกล้สุด ความคมชัดยังดีมาก ภาพไม่ฟุ้งเหมือนเลนส์บางรุ่น

กล้อง Nikon D800 เลนส์ SIGMA 60-600mm f/4.5-6.3 DG OS HSM Sport (@600mm) ; 1/400Sec f/6.3, Mode : M, ISO 640

การถ่ายทอดสี นี่คือเลนส์ที่ให้สีสันสดใส ความอิ่มสีสูง ให้ภาพใสเคลียร์ คอนทราสต์ดี แม้จะมีการใช้ชิ้นเลนส์ถึง 25 ชิ้น การถ่ายทอดสีก็ยังมาเต็มและที่ดีมากๆ คือ มันเป็นเลนส์ที่มีความคลาดสีแบบ LoCA (Longitudinal chromatic aberration) ซึ่งเป็นความคลาดสีของพื้นที่นอกระยะชัด ซึ่งจะทำให้ด้านหลังของวัตถุมีสีเหลื่อมเขียว ด้านหน้าวัตถุที่โฟกัสเหลื่อมม่วง ทำให้ภาพดูไม่สะอาดตา แต่กับเลนส์รุ่นนี้ฉากหลังสะอาดตาดีมาก ไร้ LOCA อย่างสิ้นเชิง ซึ่งหาได้ยากมากในเลนส์ระดับนี้ ส่วนความคลาดสีของวัตถุที่อยู่ในระยะโฟกัสยังปรากฏให้เห็นบ้างแต่ไม่เป็นผลเสียต่อภาพ โบเก้อยู่ในระดับค่อนข้างดี ด้วยการไม่มี LoCA จุดสว่างนกระยะชัดจึงดูคลีนไปด้วย

การควบคุมแฟลร์ เมื่อใช้เลนส์รุ่นนี้ถ่ายภาพย้อนแสง ความใสของภาพยังดีอยู่ ยกเว้นการย้อนสงเต็มที่โดยวางแหล่งกำเนิดแสงเช่นดวงอาทิตย์ หรือหลอดไฟ ไว้ในเฟรมหรือขอบนอกเฟรมภาพจะปรากฏแสงฟุ้งและภาพหลอนบ้าง การย้อนแสงแบบฉากหลังสว่างกว่าซับเจกต์ 4-5 สตอป แสงฟุ้งจะปรากฏบนภาพบ้าง แต่อยู่ในระดับไม่มากนัก

กล้อง Nikon D800 เลนส์ SIGMA 60-600mm f/4.5-6.3 DG OS HSM Sport (@600mm) ; 1/400Sec f/6.3, Mode : M, ISO 640

กล้อง Nikon D800 เลนส์ SIGMA 60-600mm f/4.5-6.3 DG OS HSM Sport (@600mm) ; 1/400Sec f/6.3, Mode : M, ISO 400

อาการขอบภาพมืด จะมีอาการขอบภาพมืดปรากฏโดยจะเห็นได้ค่อนข้างชัดที่ช่วงซูม 400-600 มม. ขอบภาพจะมืดกว่ากลางภาพราวๆ 1.5-2 สตอป

การใช้งาน ต้องบอกว่าประทับใจมากครับ ช่วงซูม 10X ของมัน ทำให้การใช้งานคล่องตัวอย่างยิ่ง ใช้งานสนุกมากๆ ครับ กับภาพ wildlife อาจไม่เห็นประโยชน์ด้านนี้มากนักเพราะมักจะใช้กันแค่ช่วง 300-600 มม. แต่ถ้าใช้ถ่ายภาพการแสดงกลางแจ้ง กีฬากลางแจ้ง อีเวนต์ หรือภาพงานพิธีต่างๆ แล้ว คุณจะหลงรักมันเหมือนที่ผมรัก เป็นหนึ่งในเลนส์สำหรับกล้อง DSLR ที่ลํ้าหน้า และทำงานได้แบบแทบไม่มีข้อติ (นอกจากนํ้าหนักที่ต้องยอมรับเมื่อไม่ใช้ขาตั้งกล้อง)

ความเห็น

กล้อง Nikon D800 เลนส์ SIGMA 60-600mm f/4.5-6.3 DG OS HSM Sport (@600mm) ; 1/320Sec f/7.1, Mode : M, ISO 400

หากคุณชอบถ่ายภาพนก ภาพสัตว์ป่า ภาพกีฬา หรือภาพงานพิธีต่างๆ (ที่ไม่สามารถขยับตำแหน่งกล้องได้) นี่คือเลนส์ที่ควรหาโอกาสไปลองเล่นให้ได้ กับราคาขาย 69,900 บาท บอกได้เลยครับว่า คุ้มค่าอย่างยิ่งทุกบาททุกสตางค์ที่จ่ายไป แนะนำเป็นพิเศษ

เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์

ขอบคุณ : บริษัท ชีร์โร่ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์เลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.shriromarketing.co.th


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews