OTHER REVIEWS

Reviews : Laowa 15 mm f2 FE Zero-D

เลนส์มุมกว้างพิเศษอีกหนึ่งรุ่นจาก Laowa นอกจากจะโดดเด่นที่ขนาดรูรับแสงกว้างถึง f/2 แล้ว ยังมีความพิเศษต่างจากเลนส์มุมกว้างทั่วๆ ไป นั่นคือการออกแบบชิ้นเลนส์พิเศษที่ช่วยปรับแก้ไขอาการ Distortion หรืออาการภาพเบี้ยวบวมได้จนแทบจะหมดสิ้น จนเป็นที่มาของชื่อรุ่นที่ห้อยท้ายด้วย Zero-D หรือเป็นเลนส์มุมกว้างพิเศษที่ปราศจากอาการเบี้ยวๆ บวมๆ นั่นเอง

จุดเด่นของ Laowa 15mm F2 FE Zero-D

  • รูรับแสงกว้างสุด F2
  • ออกแบบให้ปรับแก้ Distortion ได้เป็นอย่างดี
  • เมาท์เลนส์ FE-mount สำหรับกล้องโซนี่
  • มุมมอง 110 องศา สำหรับกล้อง Full Frame
  • ระยะโฟกัสใกล้สุด 15 ซ.ม.
  • ออกแบบกระบอกเลนส์ได้สวยงาม
  • มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก

ประสิทธิภาพและการออกแบบ

Laowa 15mm F2 FE Zero-D ถือเป็นเลนส์ที่ออกแบบได้สวยงามมากทีเดียว ตัวเลนส์เป็นระบบแมนนวลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปรับโฟกัส และการปรับเลือกรูรับแสง ด้านหน้าสุดเป็นชื่อเลนส์ พร้อมเกลียวฟิลเตอร์ขนาด 72 มม. และเขี้ยวล็อคเมื่อต้องการใส่ฮูดบังแสง ซึ่งตัวฮูดเองก็ออกแบบให้เป็นโลหะ ให้ความแข้งแรง โดยนอกจากจะช่วยกันไม่ให้แสงส่องจากด้านข้างเข้ามากระทบกับเลนส์แล้ว ยังช่วยป้องกันการกระแทกโดยไม่ตั้งใจในขณะสะพายกล้องด้วย ถัดเข้ามาเล็กน้อย เป็นแถบสีนํ้าเงิน เสริมเสน่ห์ให้เลนส์ดูหรูหรามากขึ้นด้วย ใกล้ๆ กันนั้น เป็นจุดสีแดงซึ่งแสดงตำแหน่งแนวแกนกลางที่แสงจะผ่านเข้าไปในเลนส์ ถัดออกไปเป็นวงแหวนปรับโฟกัส พร้อมสเกลระยะโฟกัสจากใกล้สุด 0.15 เมตร หรือ 15 เซ็นติเมตรไปจนถึง ระยะอินฟินิตี้ ซึ่งเป็นการปรับหมุนที่ค่อนข้างสั้นเกิน 1/4 ของเส้นรอบวงไปนิดเดียว ช่วยให้ปรับโฟกัสได้รวดเร็วมากขึ้น โดยวงแหวนทำด้วยวัสดุโลหะเช่นเดียวกับกระบอกเลนส์และฮูด พร้อมเซาะร่องให้จับได้ถนัดมือดี

ซ้าย : เมาท์เลนส์เป็นโลหะ ให้ความแข็งแรงทนทาน แต่ไม่มีขั้วเชื่อมต่อไฟฟ้าสำหรับควบคุมการทำงานระหว่างตัวกล้องและเลนส์
ขวา : ชื่อเลนส์ด้านหน้าสุด และใช้ฟิลเตอร์ขนาด 72 มม.

ซ้าย : ตัวเลนส์เป็นแบบแมนนวลโฟกัส พร้อมสเกลระยะโฟกัสแบบ Hyperfocal สำหรับการคำนวณระยะชัดลึก
ขวา : สวิทช์ปรับเลือกรูปแบบในการปรับรูรับแสงแบบคลิ๊ก หรือเป็นแบบนุ่มลื่นไม่มีเสียงคลิ๊ก

ถัดไปเล็กน้อย เป็นกระบอกเลนส์ พร้อมสเกลระยะชัดลึก เมื่อต้องใช้การปรับโฟกัสแบบ Hyperfocal เพื่อควบคุมระยะชัดลึกตามที่ต้องการนั่นเอง ติดๆ กันเป็นวงแหวนปรับรูรับแสงจาก f/2 – f/22 เลือกปรับแบบให้มีเสียงคลิ๊กเหมือนเลนส์มือหมุนในอดีตได้ หรือจะปรับหมุนแบบนุ่มลื่น ไม่มีเสียงคลิ๊กก็ได้ เมื่อต้องการบันทึกวิดีโอ และไม่ต้องการเสียงรบกวนในขณะปรับควบคุมค่าแสง ซึ่งเลือกปรับใช้งานแบบคลิ๊ก และ ไม่คลิ๊ก ได้จากสวิทช์สีเงินที่อยู่ข้างๆ กระบอกเลนส์นั่นเอง ท้ายสุดเป็นแปลนเม้าท์เลนส์ FE-mount ซึ่งใช้งานได้กับกล้องโซนี่ A7-series และ A9 ได้โดยไม่ต้องผ่านอแดปเตอร์ และยังสามารถใช้งานกับกล้อง E-mount ที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C ได้เช่นกัน โดยทางยาวโฟกัสจะเทียบเท่าระยะ 22.5 มม. ซึ่งก็ยังคงได้มุมมองกว้างๆ อยู่พอสมควร เพียงแต่ไม่เท่ากับระยะที่แท้จริงของเลนส์นั่นเอง

โครงสร้างตัวเลนส์ประกอบไปด้วยชิ้นเลนส์ 12 ชิ้น จัดเป็น 9 กลุ่ม มีชิ้นเลนส์พิเศษแบบ Aspherical 2 ชิ้น และชิ้นเลนส์ ED หรือ Extra Low Dispersion อีก 3 ชิ้น ช่วยให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ แม้จะเปิดรูรับแสงกว้างๆ ก็ตาม และจากการออกแบบชิ้นเลนส์พิเศษนี้ ช่วยปรับลดความบิดเบือนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดสูงสุด และสมจริงตามธรรมชาติ นอกจากนี้ เลนส์ชิ้นหน้ายังได้รับการเคลือบผิวแบบ FEC (Frog Eye Coating) ช่วยป้องกันการเกาะของหยอดนํ้า รวมทั้งการเกิดรอยนิ้วมือที่อาจจะไปโดนโดยไม่ตั้งใจด้วย ตัวเลนส์ใช้การโฟกัสแบบ Internal Focus ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ของชิ้นเลนส์ชุดสุดท้ายภายในกระบอก ทำให้หน้าเลนส์จะไม่ยื่นยาว ออกมาตลอดช่วงโฟกัส และไม่หมุนตามด้วย ดังนั้น จึงสะดวกกับการใช้งานฟิลเตอร์ที่ให้ผลพิเศษอย่าง ฟิลเตอร์ C-PL หรือฟิลเตอร์ ND ที่ต้อง ปรับหมุน เพื่อปรับเอฟเฟคต์ตามที่ต้องการ


การใช้งาน

Sony A7 II เลนส์ Laowa 15mm F2 FE Zero-D โหมด M ชัตเตอร์ 1/800 วินาที, f/11, ISO200, WB: Auto

ผมเองใช้งานกล้อง Sony A7 II อยู่แล้วเป็นปกติ ดังนั้นจึงใช้งานกับเลนส์ Laowa 15mm F2 FE Zero-D ตัวนี้ได้เลย โดยไม่ต้องใช้อแดปเตอร์เพิ่ม ตัวเลนส์ออกแบบได้สวยงาม เมื่อติดเข้ากับตัวกล้องแล้วดูลงตัวดี ไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป จุดที่อาจจะเป็นข้อด้อยอยู่บ้างก็คือ ไม่มีขั้วเชื่อมต่อไฟฟ้าสำหรับส่งข้อมูลต่างๆ อาทิ ทางยาวโฟกัส และขนาดรูรับแสงที่ใช้ ดังนั้น เมื่อเปิดดู Exif file จึงไม่สามารถเช็กได้ว่าภาพนั้นๆ ใช้รูรับแสงเท่าไหร่ จะต้องจำเอาเองครับตัวเลนส์ออกแบบได้แน่นหนาดีมาก ดูแข็งแรงบึกบึน การประกอบเนี๊ยบมากทีเดียว วัสดุที่ใช้ทำกระบอกเลนส์รวมทั้งฮูดด้วย ทำจากโลหะให้ความแข็งแรง แต่ก็มีนํ้าหนักที่ค่อนข้างเบาทีเดียว วงแหวนปรับโฟกัสมีความหนืดกำลังดี ไม่ฝืดจนต้องใช้พลังในการหมุนเยอะ แต่ก็ไม่ได้ลื่นจนปรับโฟกัสยาก นอกจากนี้ยังมีสเกลสำหรับควบคุมระยะชัดลึก ซึ่งเหมาะช่างภาพ Landscape ที่ต้องการปรับควบคุมระยะชัดลึกให้ได้ ตามที่ต้องการ

Sony A7 II เลนส์ Laowa 15mm F2 FE Zero-D โหมด M ชัตเตอร์ 1/100 วินาที, f/5.6, ISO250, WB: Auto

Sony A7 II เลนส์ Laowa 15mm F2 FE Zero-D โหมด M ชัตเตอร์ 1/500 วินาที, f/8, ISO250, WB: Auto

คุณภาพ ความคมชัด และคอนทราสต์ของเลนส์ ทำได้ดีเยี่ยมทีเดียวครับ ภาพมีความคมชัดตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุด ทั้งกลางและขอบภาพ ทำให้การถ่ายภาพบางสถานการณ์ที่ซับเจคต์ในเฟรมภาพมีระนาบที่ไม่แตกต่างกันมาก สามารถใช้รูรับแสงเพียง f/5.6 ก็ควบคุมระยะชัดได้ทั้งหมด ซึ่งนั่นคือการที่เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้สูงขึ้นในกรณีที่ต้องใช้มือถือกล้องถ่ายภาพอีกด้วย ส่วนรูรับแสงที่ให้คุณภาพและความคมชัดสูงสุด และผมเองก็มักจะปรับไว้ประมาณนี้ คือ f/8-f/11 ซึ่งนอกจากจะให้ความคมชัดที่ดี เยี่ยมแล้ว ที่ f/11 เมื่อปรับโฟกัสไว้ที่ประมาณ 70 เซ็นติเมตร สามารถยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ถ่ายภาพซับเจคต์ที่อยู่ในระยะตั้งแต่ 40 เซ็นติเมตร ไปจนถึงอินฟินิตี้ได้ชัดทั้งหมดครับ ผมลองถ่ายภาพ โดยตั้งกล้องให้ไดระนาบที่สุด และถ่ายภาพกำแพงที่มีเส้นสายลวดลาย ทั้งแนวระนาบ และแนวตั้ง เส้นกลางภาพยังคงเป็นแนวตรงตามจริง ไม่มีอาการบวมออก หรือเป็นเส้นโค้งๆ แต่อย่างใด ซึ่งก็เหมาะสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่มีเส้นสายต่างๆ มากครับ เพราะจะได้ภาพที่สมจริง ไม่ผิดเพี้ยนนั่นเองครับ

ผมเองไม่ได้ถ่ายภาพตึกอาคาร หรือถ่ายภาพตกแต่งภายในแบบจริงๆ จังๆ แค่ยกกล้องมาลองถ่ายเพื่อดูข้อผิดพลาดของเลนส์เท่านั้น ซึ่งจากที่ได้สัมผัส ก็ชื่นชอบกับการออกแบบที่ปรับแก้ไขข้อผิดพลาดไปได้เป็นอย่างดีทีเดียว นอกจากนี้ อาการฟุ้ง แฟลร์ หรือภาพหลอนก็ไม่มีให้เห็น อาการ CA มีให้เห็นบ้างที่ f/2 และ f/2.8 แต่พอปรับรูรับแสงให้แคบลงกว่านั้น ไม่มีให้เห็นครับ

แฉกไฟ 14 แฉกจากไดอแฟรม 7 กลีบ ถือเป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของเลนส์ตัวนี้ นอกจากนี้ ยังเคลือบผิวเลนส์ลดอาการแสงฟุ้ง และแฟลร์ได้เป็นอย่างดี  Sony A7 II เลนส์ Laowa 15mm F2 FE Zero-D โหมด M ชัตเตอร์ 1/5 วินาที, f/16, ISO1600, WB: Auto

สำหรับแฉกไฟนั้น น่าจะถูกใจกับคนที่ชอบแฉกไฟพุ่งกระจายคมชัดอย่างแน่นอน โดย Laowa 15mm F2 FE Zero-D ใช้ไดอแฟรม 7 กลีบ ซึ่งจะให้แฉกไฟคูณสอง นั่นหมายถึงจะได้แฉกไฟทั้งหมด 14 แฉกนั่นเอง โดยแฉกไฟจะเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ที่ f/4 แต่ถ้าหากต้องการ แฉกคมๆ และพุ่งกระจายมากๆ ก็ต้องที่ f/11-f/16 ครับ

Laowa 15mm F2 FE Zero-D ออกแบบวงแหวนปรับรูรับแสงให้เลือกปรับแบบมีคลิ๊กได้ ซึ่งก็ให้อารมณ์แบบเลนส์มือหมุนหลายๆ ตัว ที่ผมมีอยู่ นอกจากนี้ยังเลือกปรับแบบไม่มีคลิ๊ก หรือหมุนได้ฟรี เหมาะสำหรับเมื่อต้องใช้บันทึกวิดีโอ เพราะแบบคลิ๊กจะทำให้มีเสียงรบกวนขณะบันทึก ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องปรับรูรับแสงเพื่อคุมปริมาณของแสงบ่อยๆ การเลือกแบบคลิ๊กหรือไม่มีเสียงคลิ๊ก ทำได้ง่ายๆ โดยเลื่อนสวิทช์ควบคุมที่ข้างๆ กระบอกเลนส์นั่นเอง จุดที่อยากจะได้เพิ่มเติมจากเลนส์ตัวนี้ก็คือ น่าจะออกแบบรูรับแสง ให้ปรับได้ละเอียดมากขึ้น คลิ๊กละ 1/3 สตอป เหมือนๆ กับเลนส์รุ่นใหม่ที่สามารถปรับได้ละเอียดมากขึ้น ถึงแม้จะเป็นเลนส์แมนนวลโฟกัสเหมือนกันครับ

ส่วนจุดที่ชื่นชอบอย่างหนึ่งของ Laowa 15mm F2 FE Zero-D คือสามารถใช้ฟิลเตอร์ขนาด 72 มม. ซึ่งเป็นฟิลเตอร์ที่หาซื้อได้ง่าย และมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไปครับ โดยเฉพาะฟิลเตอร์ผลพิเศษอย่าง ND ความเข้มสูงๆ หรือฟิลเอต์ C-PL เพราะถ้าหากว่าต้องใช้ฟิลเตอร์หน้าใหญ่ๆ จะมีราคาสูงขึ้นไปอีกมากทีเดียวครับ ผมลองใช้ฟิลเตอร์แบบบาง 82 มม. ที่มีอยู่แล้วต่อผ่าน Step-up Ring 72>77 และ 77>82 เนื่องจากไม่มีขนาด 72>82 ตรงๆ ภาพที่ได้ติดขอบดำที่มุมทั้งสี่มุมอยู่เล็กน้อยครับ เพราะขอบขอบฟิลเตอร์เมื่อซ้อนหลายๆ ชั้น จะหนามากขึ้นจนทำให้ ติดขอบดำนั่นเองครับ


สรุปผลการใช้งาน

Sony A7 II เลนส์ Laowa 15mm F2 FE Zero-D โหมด M ชัตเตอร์ 1/80 วินาที, f/2, ISO200, WB: Auto

ผมเองค่อนข้างถูกใจกับเลนส์ Laowa 15mm F2 FE Zero-D อยู่พอสมควรทีเดียว ทั้งจากคุณภาพที่ได้ และการออกแบบที่สวยงาม ลงตัว ความแข็งแรงในการประกอบ และนํ้าหนักที่ไม่มากจนเกินไปนัก อีกทั้งมีขนาดที่ไม่ได้ใหญ่โต พกพาได้ง่าย ส่วนคุณภาพที่ได้จากเลนส์ตัวนี้นั้น ถือว่าดีเยี่ยมทีเดียว ถึงแม้ว่าจะเป็นเลนส์มุมกว้างพิเศษ แต่ก็ได้รับการแก้ไขอาการบิดเบือนต่างๆ ทำให้ได้ภาพที่สมจริงตามความเป็นจริง ส่วนข้อตินั้นก็มีอยู่บ้างตามที่ได้เขียนถึงไปแล้ว แต่โดยรวมก็ถือว่าตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ ถ้าหากว่าเป็นช่างภาพสาย Landscape หรือชอบถ่ายภาพสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว หรือเป็นช่างภาพสาย Interier และกำลังมองหาเลนส์มุมกว้างๆ ที่ช่วยลดปัญหาในการทำงาน อย่างการปรับแก้ไขตกแต่งความบิดเบือนของเลนส์จากโปรแกรมตกแต่งภาพในภายหลัง น่าจะต้องถูกใจกับเลนส์ Zero Distorsion ที่มี ชื่อว่า Laowa 15mm F2 FE Zero-D ตัวนี้ Higly Recommened ครับ

ขอบคุณ บริษัท คาเมร่า เมคเกอร์ จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์เลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.cameramaker.co.th

เรื่อง : พีร วงษ์ปัญญา
ภาพ : กองบรรณาธิการ

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews