Knowledge

ARCHITECTURE PHOTOGRAPHERS Interview #01 : วีรวุฒิ นนทเวชช์

 

เชื่อกันว่า “สถาปัตยกรรม” เป็นหลักปรากฏของเครื่องมือสื่อสารทางความคิดและสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย

สถาปัตยกรรม ถือเป็นรูปธรรมอันชัดแจ้งแห่งจินตนาการที่กลุ่มมนุษย์วาดขึ้นด้วยศาสตร์และเชิงชั้นทางด้านศิลปะ ผ่านหลักการจัดวางที่ว่าง ทัศนศิลป์ และโดยเฉพาะหลักทางวิศวกรรมการก่อสร้าง เพื่อมุ่งประโยชน์ใช้สอย ภาพชัดของสถาปัตยกรรมจึงหมายได้ถึงอาคาร สิ่งก่อสร้าง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสิ่งปลูกสร้างนั้น

บทความด้านสถาปัตยกรรมเก่าแก่อันทรงคุณค่าชื่อ De Architectura โดย Vitruvius บุรุษผู้ถูกยกย่องว่าเป็นสถาปนิกและวิศวกรแห่งอาณาจักรโรมัน กล่าวไว้ว่า.. สถาปัตยกรรมคือสิ่งที่ต้องผสมผสานกันอย่างลงตัวและสมดุลด้วยองค์ประกอบหลักสามส่วน คือ

“ความงาม” (Venustas) อันหมายถึงสัดส่วนและองค์กระกอบการจัดวางที่ว่าง สี วัสดุ พื้นผิวของอาคาร ที่ผสานกันอย่างลงตัว สามารถยกระดับจิตใจของผู้ยล-เยี่ยมสถานที่นั้น ๆ ได้
“ความมั่นคงแข็งแรง” (Firmitas)
“ประโยชน์ใช้สอย” (Utilitas) หรือการสนองประโยชน์ และการบรรลุประโยชน์แห่งเจตนา ซึ่งหมายรวมถึงปรัชญาของสถานที่แห่งนั้น

Architecture Photography หรือการถ่ายภาพเชิงสถาปัตยกรรม จึงถือเป็นผลสำฤทธิ์หรือสิ่งซึ่งใช้อธิบายและสะท้อนนิยามความเป็น Architecture ในมุมมองของนักถ่ายภาพตามประสบการณ์แห่งตน

FOTOINFO Plus ฉบับที่ท่านกำลังแล่นสายตาผ่านอยู่นี้ รวบรวมเรื่องราว เทคนิค และทัศนะอันน่าสนใจมากมายจากนักถ่ายภาพสาย Architecture Photography หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้คุณผู้อ่านหลาย ๆ ท่านได้ ไม่มากก็น้อย


วีรวุฒิ นนทเวชช์
ช่างภาพสถาปัตยกรรมที่บอกว่า “เราเป็น Photographer ไม่ใช่ Retoucher”

ช่วยเล่าประวัติส่วนตัวหน่อยครับ ปัจจุบันคุณเก่งทำงานอะไร
ปัจจุบันอาชีพหลักคือ Design director และ Interior architect ที่ workspace architecture studio และทำงานถ่ายภาพสถาปัตยกรรมไปด้วย โดยมีทั้งถ่ายผลงานของบริษัทตัวเองและถ่ายให้กับโครงการอื่นๆ

คุณเริ่มต้นถ่ายภาพตั้งแต่เมื่อไร อะไรคือแรงจูงใจในการหันมาสนใจการถ่ายภาพ
เริ่มถ่ายภาพเพราะว่าเห็นคุณพ่อเล่นกล้องตั้งแต่ยังเด็ก จับกล้อง SLR ตั้งแต่ราวๆ ม.4 และถ่ายจริงจังมาตั้งแต่ปี 2004 เริ่มถ่ายสถาปัตยกรรมครั้งแรกเมือราวๆ ปี 2008

เส้นทางการเป็นนักถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมของคุณเริ่มต้นจากตรงไหน
เริ่มจากอยากถ่ายงานตัวเอง โดยพื้นฐานแล้วเป็นคนเขียน perspective ในคอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งการเขียน perspective นี้เปรียบได้กับการถ่ายภาพเสมือนในคอมพิวเตอร์ มีตั้งกล้อง กำหนดแสง พอผลงานออกมาจริงๆ ก็เลยมีความอยากที่จะถ่ายของจริงมาเก็บไว้ ถ้ายิ่งถ่ายออกมาเหมือนกับที่เราเขียนในคอมพิวเตอร์ยิ่งรู้สึกภูมิใจ

การเป็นสถาปนิกทำให้คุณได้เปรียบหรือไม่ ในเรื่องมุมมอง แนวคิด และการนำเสนอ รสนิยมในเชิงสถาปัตยกรรมมีความสำคัญเพียงใดสำหรับการทำงานแนวนี้ ช่างภาพต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสถาปัตยกรรมเพียงใดจึงจะทำงานได้ดี
ได้เปรียบมาก เปรียบได้กับพูดภาษาเดียวกัน คนที่ออกแบบและทำงานด้านนี้จะมีพื้นฐานด้านศิลปะค่อนข้างมากอยู่แล้ว แต่ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นสถาปนิกแล้วถึงจะถ่ายภาพแนวนี้ได้ แต่ต้องมีความชื่นชอบในงานสถาปัตยกรรม และมีมุมมองที่ละเอียด บางครั้งคนที่ไม่ได้เป็นสถาปนิกอาจจะมีมุมมองที่แปลกใหม่กว่าก็ได้

ในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมของคุณแต่ละงาน คุณเริ่มต้นจากสิ่งใดก่อน คุณวางแผนอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร เตรียมอุปกรณ์อย่างไร
การวางแผน เริ่มจากการประสานงาน ส่ง checklist ให้กับทางโครงการหรือลูกค้าว่าเราต้องการอะไรบ้าง เช่น ช่างซ่อมแอร์ไม่ควรเข้าทำงานในวันถ่ายภาพ แม่บ้านควรทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนวันถ่าย วันถ่ายให้ standby ไว้ก็พอ ยามต้องเปิดไฟรอไว้ก่อนในเวลาไหนบ้าง หน้าอาคารห้ามมีรถจอดขวาง เป็นต้น ลำดับต่อมาเป็นการสำรวจสถานที่จริง [scout] ดูความพร้อม ความเรียบร้อย เพราะความพร้อมของเรากับลูกค้าจะไม่เท่ากัน เช่น พลาสติกห่อเฟอร์นิเจอร์ยังไม่ได้แกะออก สังเกตมุม ดูว่าต้องใช้อุปกรณ์พิเศษอื่นๆ เช่น ขาตั้งสูงหรือไม่ หรือต้องถ่ายจากตึกใกล้เคียง สังเกตทิศทางแสงในช่วงเวลาคร่าวๆ เป็นต้น แต่หลายๆ ครั้งเวลาอาจไม่อำนวยให้มีการสำรวจก่อนก็ต้องลุยหน้างาน การเตรียมอุปกรณ์ ทุกอย่างจะมี BACKUP อย่างน้อย 2 ชุดที่ใช้แทนกันได้ รวมถึงขาตั้ง ระดับนํ้า แบตเตอรี่ ฯลฯ

มีวิธีในการเลือกมุมถ่ายภาพอย่างไร ต้องถ่ายกว้าง ถ่ายแคบแค่ไหนดูจากอะไร
พื้นที่ว่างจะบอกเราเองว่าควรถ่ายแบบไหน ยืนจากจุดไหน ต้องถอยแค่ไหน เดินเข้าออกแค่ไหน ขยับเข้าออกหนึ่งฟุตภาพก็เปลี่ยนไปมากแล้ว ที่สำคัญอีกจุดคือการเลือกระดับความสูงในการตั้งขา ความกว้างแคบ ช่างภาพมีหน้าที่ “ตัด” องค์ประกอบที่ไม่จำเป็นออกจากภาพ ค่อยๆ ดูว่าในเฟรมมีอะไรที่ตัดได้บ้าง จนเหลือเฉพาะของที่เราต้องการจะสื่อสาร แต่อย่างไรเสียก็ต้องถ่ายกว้างพอสมควรใว้ก่อน ไม่ใช่กว้างจนโหรงเหรง ต้องระวังการจัดองค์ประกอบภาพที่”พอดี”เกินไป จนไม่เหลือพื้นที่ให้ขยับ อย่าลืมว่าจะต้องเผื่อการ CROP เพื่อใช้ในสื่อต่างๆ ด้วย สมัยที่เริ่มถ่ายภาพใหม่ๆ เคยมีลูกค้าถามว่ามีรูปแนวตั้งหรือไม่ เพื่อจะใช้ลงปกหนังสือ แต่ขณะนั้นถ่ายใว้เป็นฟิล์มจตุรัสขนาด 6X6 ซม.

ในงานสถาปัตยกรรม คุณจะต้องถ่ายอะไรบ้าง อะไรคือภาพที่ต้องมี ต้องใช้ อะไรคือองค์ประกอบของอาคารที่ควรค่าแก่การบันทึก
นอกจากถ่ายให้ครบตามโจทย์ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมุมกว้างแล้ว ควรจะหาเสน่ห์ของอาคารให้เจอ ส่วนมากจะไม่ใช่มุมบังคับ อาจจะเป็นดีเทลที่เล็กๆ น้อยๆ ลายหิน พื้นผิววัสดุ นอกจากนั้น รูปที่แสดงถึงผู้ใช้งาน ความสัมพันธ์ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับ space มุมมองที่คาดไม่ถึง อาจจะเกิดจากความบังเอิญก็ได้

ภาพสถาปัตยกรรมที่ดีในความเห็นของคุณต้องเป็นอย่างไร ต้องเป็นภาพที่สวยงามเพอร์เฟคทั้งองค์ประกอบศิลป์และแสงด้วยหรือไม่
ภาพที่ดีต้องเห็นแล้วประทับใจ แสดงคาแรกเตอร์ของอาคารนั้นๆ ได้ เช่นอาคารที่นิ่งๆ ภาพก็ควรจะสงบ เส้นสายเรียบร้อย เห็นความลื่นไหลของ space เห็นสเกลอาคาร แต่ภาพที่สมบูรณ์แบบเกินไป ทุกอย่างตรงเป๊ะ สมมาตร บางครั้งก็น่าเบื่อเกินไป ดูเหมือนรูป Computer rendering

การเล่าเรื่องด้วยภาพ ใช้กับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมได้หรือไม่
ได้ และน่าจะเป็นสิ่งจำเป็น ช่างภาพสถาปัตยกรรมระดับโลก ยกตัวอย่างเช่น iwan baan งานจะเป็นลักษณะเล่าเรื่อง มีคน มีกิจกรรม บรรยากาศมาประกอบด้วย

ฟังก์ชันของตัวอาคารที่ควรหรือต้องถ่ายภาพ คุณดูอย่างไร ต้องคุยกับสถาปนิกที่ออกแบบอาคารก่อนมั๊ย
รับโจทย์คร่าวๆ ก่อนว่าต้องการจุดไหน ขอแปลนอาคารมาก่อน ขอภาพ perspective ที่เคยออกแบบใว้ พวกนี้เป็นโจทย์หลัก นอกเหนือจากนั้นเราต้องนำเสนอมุมเองด้วย ดีที่สุดคือผู้ออกแบบอาคารมาสังเกตการณ์ด้วยตอนถ่าย แต่บางทีเราก็เห็นจุด เห็นมุมที่ผู้ออกแบบคาดไม่ถึงเช่นกัน

แสงสำคัญเพียงใด คุณมีเทคนิคการเลือกแสง เลือกเวลาที่เหมาะสมอย่างไร คุณชอบช่วงเวลาใดเป็นพิเศษ
มีคำกล่าวหนึ่งว่า ..ไม่มีแสง ไม่มีเงา ย่อมไม่มีสถาปัตยกรรม ฉะนั้นแสงสำคัญมาก ต้องสำรวจก่อน บางอาคารในบางฤดูด้านที่ต้องการอาจจะไม่โดนแดดเลยก็ได้ เพราะดวงอาทิตย์เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ เทคนิคในการเลือกแสงคือต้องรอและถ่ายเก็บไปเรื่อยๆ เพราะเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของแสงที่กระทบอาคารได้เร็วมาก เวลาที่ชอบที่สุดคือเวลาเช้ามืดถึงแสงเช้าเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด ตอนเช้าลมสงบ ไม่มีคนรบกวน โดยเฉพาะในอาคารที่เปิดใช้แล้ว

ในการทำงานต้องพึ่งโชคมากหรือไม่ ถ้าแสงไม่เป็นใจคุณแก้ปัญหาอย่างไร
ถึงจะไม่ต้องพึ่งโชคเท่ากับช่างภาพทิวทัศน์ แต่ก็ต้องการแสงและแดดเหมือนกัน ในวันที่เมฆเต็มวันอย่างน้อยจะถ่ายได้สองเวลาคือช่วงเช้ามืดและหัวคํ่า ภาพตอนมีเมฆว่ากันจริงๆ ก็ให้คาแรคเตอร์ที่ต่างจากภาพมีแดด งานบางอย่างกลับจะเป็นข้อดีเช่นงานถ่ายภูมิสถาปัตยกรรม บางครั้งถ้ามีแดดแรงภาพก็ดูแข็งเกิน ถ้ามีฝนก็ถ่ายช็อตฝนตกผสมๆ ไปด้วย ถ้าถ่ายได้ แต่ส่วนใหญ่จะนัดวันอื่น ที่จะไม่ทำเลยคือรีทัชแสงแดดปลอม ทำไม่ได้ ไม่เหมือน เป็นไปไม่ได้

การรีทัชมีความจำเป็นแค่ไหน การลบหรือตัดต่อภาพทำได้มากน้อยเพียงใด
ความคาดหวังแรกของผู้ว่าจ้างจะติดตาจากภาพ perspective ขาย ซึ่งจะเป็นภาพที่สมบูรณ์เกินจริงอยู่แล้ว เราอาจจะต้องลบสิ่งที่ไม่ต้องการออกจากภาพบ้าง โดยเฉพาะพวกสายไฟ ซึ่งก็คือการ”ตัด” ส่วนการ “ต่อ” เช่น การเติมต้นไม้ เติมฟ้า ส่วนใหญ่จะไม่ทำกัน ถ้าต้องทำเยอะมากๆ ก็น่าจะเป็นงานของ retoucher มากกว่า

ที่หลายคนบอกว่าการถ่ายภาพแนวนี้ขอให้ถ่ายชัด และมุมโอเค ที่เหลือทำในคอมได้แทบทุกอย่าง จริงหรือไม่
ต้องเก็บรายละเอียดมาให้ครบ แสงต้องได้ เราเปลี่ยนทิศทางแสงภายหลังไม่ได้ ส่วนการทำต่อในคอมพิวเตอร์มองว่าเป็นการแก้ไขความไม่สมบูรณ์มากกว่าเช่น การลบสายไฟ ลบเครน ลบป้าย การแก้ไขเยอะเกินงานจะออกมาดูผิดธรรมชาติ บางงานถูกวาดทับจนอาจจะไม่นับเป็นรูปถ่าย

ตั้งกล้องให้ตรง ตั้งเส้นให้ตรง แล้วบรรจงถ่ายให้ชัด เป็นหัวใจของการถ่ายสถาปัตยกรรมใช่หรือไม่ เส้นอาคารเอียงลู่เป็นสิ่งเสียหายหรือไม่
การตั้งให้ตรง ตั้งเส้นให้ขนาน ถ่ายให้ชัดลึกคลุมทั้งภาพตั้งแต่หน้าสุดถึงหลังสุด ถือเป็นหลักข้อแรกๆ อยู่แล้ว เส้นตั้งตรงเพื่อเป็น reference เส้นของอาคารว่าจุดไหนตรง จุดไหนของอาคารจงใจเอียง ส่วนการถ่ายให้ลู่ เสย ไม่ใช่สิ่งที่เสียหายหากเป็นสิ่งที่จงใจ โดยส่วนตัวแล้วจะมีหลักง่ายๆ คือ อะไรที่ต้อง “แหงนคอตั้งบ่า” เพื่อมอง เมื่อนั้นการเสยกล้องให้อาคารลู่ไปเลยจะดีกว่า หลายๆ ครั้งรูปที่เสยเยอะๆ แล้วฝืนดัดให้ตรง รูปจะออกมาแปลก ดูหัวโต ผิดธรรมชาติ

แนะนำสถานที่ถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจต่อการฝึกทักษะการถ่ายภาพแนวนี้ในกรุงเทพให้หน่อยครับ ว่าโซนไหน อาคารไหนดี
กรุงเทพเป็นเมืองที่ถ่ายรูปแนวนี้ค่อนข้างยาก ตึกสวยๆ ที่ถ่ายรูปได้ มุมก็มีจำกัด ถ้าไปถ่ายมันก็เหมือนไปลอกมุมซึ่งไม่ได้ช่วยฝึกฝนอะไรเท่าไหร่ ไม่จำเป็นต้องถ่ายอาคารใหม่ๆ สวยๆ แบบในหนังสือตลอดก็ได้ หัดถ่ายรอบๆ บ้าน รอบๆ ตัว หรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัยอาจจะดีกว่าเพราะอยู่กับมันได้นาน มีเวลาเดินดูมุม ดูแสงในเวลาต่างๆ เอาเป็นว่าถ่ายจุดไหนก็ได้ที่ยามไม่ไล่

หนังสือและเว็บไซต์แนวสถาปัตยกรรมที่ช่างภาพแนวนี้ควรดู ช่วยแนะนำให้หน่อยครับ
เวปที่รวมงานจากทั่วโลกมากที่สุดก็คือ Archdaily , Dezeen และ search หาใน Pinterest ส่วนหนังสือรวมรูปสถาปัตยกรรมที่พิมพ์ในไทยก็จะเป็นของสำนักพิมพ์ Li-Zenn จริงๆ แนะนำให้ดูงานช่างภาพในยุคฟิล์มด้วย เพราะว่ายุคนั้นใช้กล้อง Large format เป็นหลักและงานประณีตมาก

กล้องสำคัญเพียงใดในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม คุณสมบัติที่กล้องควรมีคืออะไร กล้องความละเอียดสูงๆ จำเป็นหรือไม่
สำคัญที่สุดคือควรจะมี Dynamic range ที่กว้างมาก เนื่องจากความเปรียบต่างของแสงแต่ละจุดมีมาก โดยเฉพาะภาพถ่ายภายในที่เห็นหน้าต่างภายนอก และใช้กล้องความละเอียดที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่าบางครั้งต้องครอปภายหลัง และลูกค้าอาจจะขอไฟล์ขนาดใหญ่พิเศษเพื่อพิมพ์เป็น billboard ก็ได้ อีกอย่างในกรณีที่ต้องเอามาแก้ perspective ภายหลัง ถ้าใช้กล้องที่ความละเอียดตํ่า เวลาแก้ perspective ความลู่ของอาคารแล้วจะเสียดีเทลมาก โดยส่วนตัวแล้วคิดว่ากล้อง
Mirrorless เหมาะกับงานประเภทนี้มากที่สุดเพราะใช้ Live view ในการ compose ตลอด

คุณใช้กล้องรุ่นไหนในการทำงาน
SONY A7RM3 , A7RM2 , A7R ซึ่งเป็นกล้อง Full Frame Mirrorless ที่มี resolution และ Dynamic range สูงที่สุดในตลาด ณ ขณะนั้น

คุณประทับใจในเรื่องอะไรของกล้องรุ่นนี้มากที่สุด
Dynamic range ดีเทลภาพ ขนาดที่เล็ก จอพับได้ ใช้อแดปเตอร์เลนส์ได้หลากหลายที่สำคัญเลยคือ Live view ของโซนี่เวลาใช้ในที่แสงน้อยจะสว่างกว่าที่ตาเห็น ทำให้ compose ในเวลาแสงน้อยได้ดีมาก

แล้วเลนส์ล่ะครับ สำคัญเพียงใด เลนส์ดีๆ คุณภาพสูงๆ มันให้ผลที่แตกต่างอย่างไรกับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม
ช่างภาพสถาปัตยกรรมจะต้องใช้เลนส์ชิฟท์เป็นหลัก เพราะมีผลกับวิธีคิดและการคอมโพสภาพมาก ส่วนคุณภาพของเลนส์ที่สำคัญที่สุดคือ Distortion ต้องน้อยมาก การแก้ภายหลังทำได้ยาก อีกอย่างหนึ่งคือช่างภาพสถาปัตยกรรมจะไม่ชอบแฉกเยอะๆ อันนี้จะต่างกับช่างภาพแลนด์สเคป เพราะดวงไฟในรูปจะค่อนข้างกลายเป็นแฉกๆ รบกวน

คุณใช้เลนส์อะไรบ้างในการทำงาน เลนส์ตัวโปรดของคุณคือรุ่นใด
SONY FE 16-35mm F 2.8GM / ZEISS FE 55mm F1.8 / SONY FE 24-70mm F 2.8 GM / SONY FE 70-200mm F4 G , เลนส์ 12mm F2.8 และ เลนส์ประเภท TSE แต่ถ้าจะให้เลือกสามตัวที่ใช้หลักๆ คือ 12 mm F2.8, 17mm TSE และ 24-70mm GM เลนส์มุมกว้าง 12mm เป็นเลนส์ที่ระยะหลังจำเป็นขึ้นเรื่อยๆ เพราะพื้นที่อาคารเล็กลงทุกทีๆ ระยะถอยมีค่อนข้างน้อย ต้องใช้เลนส์กว้างพิเศษช่วย 17 TSE ถือเป็นเลนส์เปลี่ยนโลกของวงการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเลยก็ว่าได้ ก่อนหน้านี้การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ช่างภาพจะใช้ Technical camera กับเลนส์ Schneider / Rodenstock และ Digital back เป็นหลัก หลังจากที่มีเลนส์ตัวนี้ออกมา ช่างภาพก็ทยอยเปลี่ยนมาเป็นกล้องขนาดเล็กลงเพราะว่ามุมรับภาพที่กว้าง distortion ตํ่า คุณภาพความคมสูง SONY FE 24-70mm F 2.8 GM เป็นเลนส์ช่วง Normal zoom ที่ดีมากตัวหนึ่ง ความคมสูง Distortion ตํ่า สารพัดประโยชน์ใช้ได้หลากหลาย ความคล่องตัวสูง

เลนส์แต่ละช่วงใช้งานแตกต่างกันอย่างไร
แบ่งการใช้งานออกเป็นลักษณะใหญ่ๆ คือเลนส์ที่แก้ perspective ได้ และเลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพ snapshot และเลนส์ที่ใช้เก็บรายละเอียดอาคาร ส่วนใหญ่จะใช้เลนส์ที่แก้ perspective ได้เป็นหลัก ถ้าต้องการมุมกว้างพิเศษก็จะใช้เลนส์ Hyperwide ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเห็นข้อผิดพลาดได้ง่าย ถ่ายยาก ช่วง Normal zoom ไว้ถ่าย Shot บรรยากาศและ Detail ต่างๆ Telephoto ไว้เจาะดีเทลหรือ pattern แน่นๆ จะเป็นเลนส์ที่ใช้น้อยที่สุด แต่ขาดไม่ได้เช่นกัน และมีเลนส์ไวแสงสำหรับถ่ายมุม Handheld ในกรณีที่ตั้งขาไม่ได้

อุปกรณ์ที่ต้องมีคืออะไรบ้างครับ
นอกเหนือจากกล้อง เลนส์ และอุปกรณ์พื้นฐานแล้ว ควรใช้ขาตั้งที่ดีที่สุด ตั้งได้สูงที่สุด ขาตั้งที่ตั้งได้เตี้ยที่สุด หัวเกียร์ที่ปรับแยกแกนได้ละเอียด ระดับนํ้าแยกติดบน Hotshoe เพราะระดับนํ้า electronic ที่ติดมากับกล้องหลายๆ รุ่นความละเอียดไม่พอ ผ้าดำบังเงาสะท้อน ไฟ LED พกพาเผื่อกรณีไฟบางจุดเสีย ผ้าเช็ดฝุ่นเผื่อไว้เช็ดกระจก บันไดพับเตี้ยๆ ตลับเมตรเล็กๆ ไว้วัดระยะห่างเฟอร์นิเจอร์ให้เท่ากัน หลายๆ คนถึงขั้นพก prop ประกอบไปเอง บางคนเอาเตารีดไปด้วยเพื่อรีดผ้าปูเตียง พกหลอดไฟไปเผื่อเปลี่ยน ก็มี เราจะไม่นิยมพ่วงคอมพิวเตอร์ตอนถ่าย[tethering]เพราะจะเป็นอุปสรรคมากกว่าประโยชน์ สำหรับไฟสตูดิโอ ช่างภาพแนวสถาปัตยกรรมจะไม่ใช้กัน เราต้องเคารพแสงในงานที่ถูกออกแบบไว้แล้ว ยกเว้นช่างภาพถ่ายห้องพักโรงแรม ในส่วนของโดรนจะใช้ทีมแยกต่างหากเนื่องจากในช่วงที่แสงดีที่สุดเราต้องถ่ายอย่างอื่นด้วย แต่ต้องบินสำรวจก่อนและจะกำหนดมุมไว้ให้เลย

ในการทำงานแต่ละครั้ง คุณนำกล้อง เลนส์ และอุปกรณ์ไปมากน้อยแค่ไหนครับ
กล้อง 3-4 บอดี้ เลนส์ 7-8 ตัว ขาตั้ง 3-4 ขา รวมเผื่อผู้ช่วย และเป็น backup ด้วย ในกรณีที่ต้องถ่ายในช่วงแสงเย็นหรือแสงเช้าอาจจะต้องตั้งขาตั้งกล้องไว้หลายๆ จุดและปล่อยให้ถ่าย Time lapse ไปเรื่อยๆ ความจริงแล้วการแบกอุปกรณ์ที่เยอะเกินส่งผลลบกับการทำงานมากกว่า เพราะจะล้าและคอยแต่จะลองเปลี่ยนเลนส์ ที่น้อยที่สุดที่เคยนำไปถ่ายงานคือ กล้อง Mirrorless 1 ตัว เลนส์สามตัว ขาตั้งแบบพับได้ ใส่กระเป๋าเล็กสะพายข้างไป เพราะต้องถ่ายด้วยความรวดเร็วและทำตัวเหมือนนักท่องเที่ยวเพราะเจ้าของงานไม่อยากให้รบกวนแขก เป็นต้น

ปัญหาที่มักพบในการทำงานคืออะไร แล้วคุณแก้ปัญหาอย่างไร
ปัญหาระหว่างทำงานจะมีเรื่องการประสานงานล่วงหน้าซึ่งก็ต้องแก้หน้างานกันไป แต่ปัญหาที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดคือความคาดหวังที่เกินความเป็นจริงของลูกค้า เช่น อยากให้ดูกว้างแต่ไม่ใช่เลนส์มุมกว้าง ถ่ายมุมจากลอยบนอากาศ หรือมุมที่โดนตึกบังแต่เอาตึกออก เป็นต้น เราเป็น Photographer ไม่ใช่ Retoucher ถึงแม้ว่าสองอย่างนี้จะเริ่มกลืนๆ กันเข้ามาแล้วก็ตาม

การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมต้องมีผู้ช่วยหรือไม่ ทำงานคนเดียวได้มั๊ย
ควรจะต้องมี นอกจากจะช่วยแบกกล้อง ยกของ จัดเฟอร์นิเจอร์ เก็บขยะ กวาดใบไม้ ปัดฝุ่น เช็ดกระจก เปิดไฟ ปิดไฟ ซื้อข้าว คุยกับยาม แล้ว ผู้ช่วยที่ดีจะต้องตาไว เห็นสิ่งส่วนเกินที่อาจจะติดมาในภาพ หรือเห็นความไม่เรียบร้อยขององค์ประกอบต่างๆ ในภาพด้วย ในหลายๆ ครั้งก็ต้องใช้ผู้ช่วยในการกดมุมรองๆ ในจังหวะแสงที่สวยที่สุดหลังจากที่เราได้หามุมเตรียมไว้แล้ว [blockshot] การมีผู้ช่วยทำให้เราโฟกัสกับการถ่ายภาพได้เยอะขึ้นมาก แต่ครั้งหนึ่งได้ฟังบรรยายช่างภาพสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศท่านหนึ่ง ทำงานคนเดียวโดยลากกระเป๋าเอง ถ่ายเอง ทั้งโครงการ ซึ่งถือเป็นความสามารถพิเศษ

คุณสมบัติพิเศษที่ช่างภาพสถาปัตยกรรมต้องมีคืออะไร
ชอบงานสถาปัตยกรรม ใจเย็น ขยันเดินหามุม ก้มๆ เงยๆ ได้ ทนแดดทนร้อน ทนฝน ทนยุง แบกของหนักได้ ช่างสังเกต ตาไว ตื่นก่อน นอนทีหลัง

ภาพที่คุณถ่าย ลูกค้าเอาไปใช้งานในส่วนไหนครับ และคุณจบงานกับลูกค้าอย่างไร
สำหรับลูกค้าที่เป็นบริษัทออกแบบ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะนำไปตีพิมพ์ลงหนังสือและลงใน Facebook page ส่วนลูกค้าที่เป็นงานด้านอสังหาก็จะนำไปลงโฆษณาในสื่อต่างๆ ตั้งแต่ Facebook เว็บไซต์ จนถึง Billboard ภาพจะจบที่การ process และ retouch เบื้องต้น ลบสิ่งรบกวนต่างๆ ออกให้บ้าง ยกเว้นสายไฟที่บังอาคารต้องดูเป็นกรณีๆ ไป ระยะเวลา process ภาพก็จะตกลงกันให้ชัดเจนก่อน แต่ช่วงหลังๆ นี้เวลาหดสั้นขึ้นเรื่อยๆ เคยเจอเร่งสุดสองวันก็มี

อยากเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมต้องเริ่มต้นอย่างไร
หัดมอง มุมมองสำคัญกว่าเทคนิคมากๆ ฝึกชื่นชมสถาปัตยกรรม ดูงานสถาปัตยกรรม ดูภาพบ่อยๆ update trend งานดีไซน์ และหาโอกาสเป็นผู้ช่วย

โดย ชวลิต แสงอินทร์


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/