Basic

“Higher is The Best” 10 เหตุผล ที่กล้องรุ่นสูงกว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

แม้คำพูดว่า “นักถ่ายภาพเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายภาพ ไม่ใช่กล้อง” จะเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งจะพบว่ากล้องถ่ายภาพที่มีราคาแพงขึ้นจะสามารถช่วยให้ได้ภาพที่น่าพอใจมากขึ้นได้เนื่องจากกล้องรุ่นที่มีราคาแพงกว่าไม่ได้มีเฉพาะขนาดเซ็นเซอร์ภาพหรือจำนวนพิกเซลในเซ็นเซอร์มากกว่าเท่านั้น แต่ยังมีการทำงานมากขึ้นซึ่งสามารถช่วยให้ถ่ายภาพในบางสถานการณ์ที่กล้องระดับ Entry-level ไม่สามารถทำได้ และแน่นอนว่ากล้องถ่ายภาพที่ดีกว่าจะช่วยให้ได้ภาพที่ดีได้ง่ายกว่าและมีความสนุกกว่าในการใช้ ดังนั้นหากนักถ่ายภาพมีงบเพียงพอที่จะสามารถขยับไปเลือกซื้อกล้อง DSLR รวมไปถึง Mirrorless รุ่นสูงกว่าได้โดยไม่ทำให้ชีวิตลำบากนัก จึงเป็นทางเลือกที่น่าพิจารณา ไม่เฉพาะผู้ที่คิดจะซื้อกล้องตัวแรกเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ที่กำลังคิดจะเปลี่ยนกล้องใหม่ด้วย

นักถ่ายภาพหรือผู้ที่สนใจการถ่ายภาพและคิดจะซื้อกล้องทุกคนรู้ว่ากล้องรุ่นสูงกว่า ราคาแพงกว่าย่อมดีกว่ากล้องรุ่นตํ่ากว่า ราคาถูกกว่า แต่อย่างไรก็ตามบางคนอาจไม่ได้มองถึงคุณสมบัติด้านอื่นของกล้องนอกเหนือไปจากขนาดและความละเอียดของเซ็นเซอร์ภาพ จึงทำให้ไม่เข้าใจว่ากล้องรุ่นสูงกว่าดีกว่าอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อการถ่ายภาพ รวมถึงบางคนอาจคิดว่าสิ่งที่มีมากขึ้นในกล้องรุ่นสูงกว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับตน แต่หากลองดูดีๆ จะพบว่าสิ่งที่มากขึ้นในกล้องรุ่นสูงกว่าล้วนแต่ส่งผลโดยตรงต่อการถ่ายภาพทั้งสิ้น โดยมี 10 เหตุผลที่แสดงให้เห็นว่ากล้องรุ่นสูงกว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเมื่อจะซื้อกล้อง

การปรับควบคุม

กล้องถ่ายภาพที่มีราคาแพงขึ้นมักจะมีปุ่ม, แป้นปรับ หรือสวิตช์เฉพาะสำหรับเข้าสู่การปรับตั้งการทำงานโดยตรงมากขึ้น รวมถึงมีทางเลือกในการปรับคัสตอมการตั้งค่าต่างๆ รวมถึงการทำงานของกล้องให้เข้ากับความถนัดหรือรูปแบบการถ่ายภาพของนักถ่ายภาพได้มากขึ้น กล้อง DSLR และ Mirrorless ระดับกลางถึงระดับที่สูงกว่าบางรุ่นจะมีแป้นปรับในลักษณะ JoyStick มาให้ใช้เพื่อช่วยให้เลือกพื้นที่โฟกัสได้เร็วขึ้นนอกเหนือไปจากแป้นควบคุมแบบคู่ที่ช่วยให้สามารถปรับค่าบันทึกภาพแมนนวลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นที่มีอยู่ในกล้องระดับกลางขึ้นไปอยู่แล้ว นอกจากนี้กล้องรุ่นสูงๆ ยังมีช่องต่อแบบใหม่กว่ามาให้ใช้เช่น USB 3.0 หรือแม้แต่ช่องต่อ Ethernet ในกล้อง DSLR ราคาแพงการทำงานต่างๆ ในกล้องยังสามารถทำได้มากขึ้นในกล้องรุ่นสูงขึ้นด้วย เช่นกล้องรุ่นสูงๆ ล้วนแต่มีช่วงการปรับชดเชยแสงที่กว้างขึ้นโดยนักถ่ายภาพสามารถปรับชดเชยแสงด้านบวกหรือลบได้สูงสุดถึง 5 EV จาก 3 EV ในกล้องระดับ Entry-level นอกจากนี้กล้องถ่ายภาพรุ่นที่มีราคาสูงกว่ายังสามารถถ่ายภาพจำนวนมากกว่าเมื่อใช้การทำงานถ่ายคร่อมอัตโนมัติ และกับกล้องโปรบางรุ่นยังถ่ายภาพซ้อนได้จำนวนภาพมากถึง 10 ภาพ ขณะที่กล้องรุ่นตํ่ากว่าจะสามารถถ่ายภาพซ้อนได้แค่ 2 ภาพหากมีการทำงานนี้มาให้

การมองเห็นภาพ

ไม่ว่ากล้องที่ใช้จะมีช่องมองภาพแบบออฟติคัลหรือช่องมองภาพอีเล็กทรอนิก (Mirrorless) นักถ่ายภาพจะได้รับความเที่ยงตรงและอัตราขยายที่มากขึ้นเมื่อเลือกกล้องรุ่นสูงขึ้น ช่องมองภาพของกล้อง DSLR ระดับ Entry-level ส่วนใหญ่จะแสดงภาพ 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่านักถ่ายภาพสามารถมองเห็นภาพได้ 95 เปอร์เซ็นต์ในขณะกำลังบันทึกภาพจากภาพที่ถูกบันทึกจริง ซึ่งจะทำให้การจัดเฟรมภาพที่เที่ยงตรงยากขึ้น ขณะที่ช่องมองภาพอีเล็กทรอนิกไม่มีปัญหานี้เพราะแสดงภาพ 100 เปอร์เซ็นต์อัตราขยายหมายถึงความใหญ่ของภาพที่เห็นเมื่อเทียบกับการดูภาพจริงด้วยตาเปล่า ซึ่งอัตราขยายที่น้อยกว่าจะให้ความรู้สึกเหมือนมองเข้าไปในช่องมองภาพที่ลึกกว่า กล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด APS-C ส่วนใหญ่รวมถึงกล้อง DSLR ระดับ Entry-level จะมีคุณสมบัติตรงนี้ค่อนข้างดีด้วยอัตราขยาย 0.8x หรือสูกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ฟูลเฟรมรุ่นประหยัดซึ่งมีอัตราขยายน้อยกว่าเล็กน้อยที่ 0.7x โดยหากนักถ่ายภาพสามารถเลือกใช้กล้องที่ช่องมองภาพมีอัตราขยาย 1.0x ได้จะช่วยให้สามารถถ่ายภาพได้โดยลืมตาทั้ง 2 ข้างได้สบายขึ้น ซึ่งจะมีประโยชน์เมื่อต้องการรู้ว่ามีสิ่งใดอยู่นอกเฟรมภาพในส่วนของช่องมองภาพอีเล็กทรอนิกของกล้อง Mirrorless แม้จะมีการแสดงภาพ 100 เปอร์เซ็นต์แต่จะมีอัตราขยายที่แตกต่างกันในแต่ละรุ่นซึ่งแน่นอนว่าการขยับไปรุ่นที่สูงกว่าจะได้อัตราขยายของช่องมองภาพที่มากขึ้นหากนักถ่ายภาพชอบช่องมองภาพแบบเรนจ์ไฟน์เดอร์ของจริงมากกว่าระบบปริซึมหรือช่องมองภาพอีเล็กทรอนิก มีทางเลือกเดียวคือ Leica ขณะที่กล้องรุ่นท็อปสุดของ Fujifilm อย่าง X-Pro2 จะมีช่องมองภาพไฮบริดที่ใกล้เคียงกับช่องมองภาพเรนจ์ไฟน์เดอร์ที่สุดซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นช่องมองภาพอีเล็กทรอนิกมาให้ใช้

ความทนทาน

สิ่งที่อยู่ภายในโครงของตัวกล้องระดับ Entry-level บางรุ่นมาจากพลาสติกและมีการซีลป้องกันอากาศน้อยกว่า ขณะที่กล้องระดับกลางและรุ่นสูงขึ้นไปมักจะมีโครงของตัวกล้องเป็นแมกนีเซียมอัลลอยที่มีความทนทานและนํ้าหนักเบา พร้อมด้วยการซีลป้องกันอากาศที่แน่นหนาเพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้ในสภาพแวดล้อมที่ต้องการความทนทาน อย่างไรก็ตามบางผู้ผลิตกล้องอย่าง Pentax จะค่อนข้างให้ความสำคัญกับการซีลป้องกันอากาศรอบตัวกล้อง DSLR ของตน โดยแม้กับกล้อง DSLR รุ่นเล็กอย่าง K-S2 ยังมีการซีลตัวกล้องมากกว่า 100 จุด

การใช้งานแบตเตอรี่

ไม่มีช่วงเวลาใดที่เสียเปล่าสำหรับนักถ่ายภาพเมื่อออกไปถ่ายภาพเท่ากับช่วงที่พลังงานของแบตเตอรี่หมดและไม่มีแบตเตอรี่สำรองอีกแล้ว ในกล้อง DSLR พลังงานของแบตเตอรี่จะสูงขึ้นอย่างชัดเจนในรุ่นที่สูงขึ้นอย่างเช่นในกล้อง Canon รุ่น 100D จะใช้แบตเตอรี่เล็กกว่ากล้อง DSLR รุ่นอื่นของ Canon โดยจะสามารถถ่ายภาพได้จำนวน 380 ภาพ เช่นเดียวกับ Pentax K-S2 ซึ่งเป็นกล้องรุ่นเล็กเหมือนกันที่ถ่ายได้ 410 ภาพสำหรับแบตเตอรี่ที่ชาร์จพลังงานจนเต็ม แต่หากขยับขึ้นไปที่รุ่น K-3 II ของ Pentax จะโดดไปถึง 720 ภาพ ส่วน Canon EOS 5D Mk III สามารถถ่ายภาพได้ 950 ภาพก่อนที่แบตเตอรี่จะหมดพลังงานขณะที่ Nikon D750 สามารถถ่ายภาพได้ 1,230 ภาพ เมื่อดูในกล้องระดับท็อปอย่าง Canon EOS 1D X Mk II พบว่าสามารถถ่ายภาพได้ 1,210 ภาพในขณะที่ D5 ของ Nikon สามารถถ่ายภาพได้จำนวนมากอย่างน่าอัศจรรย์ถึง 3,780 ภาพพลังงานแบตเตอรี่ถึงจะหมดเกลี้ยงทางฝั่งของกล้อง Mirrorless ซึ่งสูญเสียพลังงานจำนวนมากไปกับช่องมองภาพอีเล็กทรอนิกกลบไม่เหมือนกล้อง DSLR เพราะแบตเตอรี่ไม่ได้ใช้งานได้นานขึ้นในรุ่นกล้องที่สูงขึ้น โดยในช่องมองภาพแบบไฮบริดของ Fujifilm เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้แบตเตอรี่จำนวนมากไปกับช่องมองภาพ เพราะเมื่อใช้ช่องมองออฟติคัลซึ่งมีการแสดงเฟรมภาพในช่องมอง X-Pro2 จะสามารถถ่ายภาพได้ 350 ภาพ แต่จำนวนภาพที่ถ่ายได้ลดลงเหลือ 250 ภาพเมื่อใช้ช่องมองอีเล็กทรอนิก แม้แต่กล้องฟูลเฟรมอย่าง Sony 7R II ก็ยังมีจุดอ่อนในเรื่องแบตเตอรี่เช่นเดียวกันเพราะสามารถถ่ายภาพได้ 290 ภาพต่อการชาร์จพลังงานจนเต็มหนึ่งครั้ง

สามารถถ่ายภาพได้ต่อเนื่อง

แม้ว่ากล้องระดับ Entry-level บางรุ่นจะสามารถถ่ายภาพแบบ JPEG ได้ต่อเนื่องจนกว่าจะเต็มความจุของการ์ดบันทึกภาพ ด้วยเหตุผลมาจากความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องที่ช้ากว่าและจำนวนพิกเซลบนเซ็นเซอร์น้อยกว่ากล้องรุ่นที่สูงกว่า แต่เมื่อนักถ่ายภาพอยากถ่ายภาพแบบ RAW แทน JPEG กล้องราคาสูงกว่าจะให้บัฟเฟอร์ที่มากกว่าซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ควรเลือกกล้องรุ่นสูงกว่า เช่น Canon EOS 1300D สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงสุด 5 ภาพ/วินาทีได้ไม่จำกัดจำนวนจนกระทั่งการ์ดบันทึกภาพเต็มความจุ แต่เมื่อเปลี่ยนมาบันทึกภาพแบบ RAW นักถ่ายภาพจะสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ 8 ภาพก่อนที่จะต้องหยุดถ่ายภาพ เมื่อขยับมาที่รุ่น EOS 80D จะสามารถถ่ายภาพแบบ RAW ได้ต่อเนื่องสูงสุด 25 ภาพที่ความเร็ว 7 ภาพ/วินาทีก่อนที่บัฟเฟอร์จะเต็ม ส่วนกล้องฟูลเฟรม 5D Mk III ถ่ายภาพแบบ RAW ได้ 18 ภาพด้วยความเร็ว 6 ภาพ/วินาที

ออโตโฟกัสที่แม่นยำ

ในกล้อง DSLR ระบบออโตโฟกัส Phase-detection ของกล้องแต่ละรุ่นจะมีพื้นที่โฟกัสตั้งแต่ 9 จุดไปจนถึงกว่า 100 จุด แต่อย่างไรก็ตามจำนวนจุดโฟกัสยังไม่ได้บอกทั้งหมดเกี่ยวกับการโฟกัสของกล้องโดยระบบออโตโฟกัสที่มี 9 จุดอาจมีเซ็นเซอร์โฟกัสแบบ Cross-type เพียงจุดเดียวตรงกลางที่ทำงานร่วมกับเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุด F5.6 หรือกว้างกว่า แต่เมื่อมองไปที่ส่วนยอดสุดของกล้อง DSLR อย่าง Nikon D5 มี 153 จุดโฟกัส ทั้งหมดไวต่อเลนส์รูรับแสง F5.6 หรือกว้างกว่า มี 99 จุดโฟกัสเป็นแบบ Cross-type โดยที่มี 15 จุดสามารถรองรับเลนส์รูรับแสงแคบถึง F8 ได้ ซึ่งจะมีประโยชน์เมื่อใช้เลนส์เทเลโฟโตพร้อมกับเทเลคอนเวอร์เตอร์ที่มักจะทำให้กลายเป็นมีรูรับแสงกว้างสุดเทียบเท่ากับ F8 ดังนั้นกล้องที่ดีกว่าจึงหมายถึงความแตกต่างระหว่างการใช้ระบบออโตโฟกัสได้หรือไม่ได้ในบางสถานการณ์ด้วยจำนวนของจุดโฟกัสมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพยายามโฟกัสติดตามวัตถุ Nikon D500 ใช้ระบบออโตโฟกัสของกล้องฟูลเฟรมในกล้องที่เป็นฟอร์แมต APS-C จึงส่งผลให้จุดโฟกัสกระจายไปทั่วไปทั้งด้านข้างรวมทั้งด้านบนและล่างของเฟรมซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับโฟกัสติดตามวัตถุในเฟรมให้มากขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้ไม่ต้องล็อกโฟกัสแล้วจัดองค์ประกอบภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อถ่ายภาพด้วยรูรับแสงกว้างของเลนส์ไวแสงในส่วนของกล้อง Mirrorless จะมีความแตกต่างกันน้อยมากด้านประสิทธิภาพ แต่จะพบระบบออโตโฟกัสสองแบบที่ทำงานร่วมกันในกล้องรุ่นที่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งระบบออโตโฟกัสแบบไฮบริดทั้ง Contrast และ Phase-detection นี้มีบางสิ่งที่เหนือกว่าไม่ว่าจะเป็นมีจุดโฟกัสแบบ Phase-detection เพิ่มขึ้นหรือสามารถเลือกจุดโฟกัสได้มากขึ้น รวมทั้งยังมีผลให้ความเร็วของกระบวนการทำงานออโตโฟกัสดีขึ้นด้วย

บันทึกภาพได้มากขึ้น

เมื่อนักถ่ายภาพคิดถึงการ์ดบันทึกภาพจะคิดถึงการ์ด SD หรือ CF แต่หากต้องการบันทึกภาพมากขึ้นต่อการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง 1 ครั้งหรือถ่ายวิดีโอ 4K หรือวิดีโอที่มีเฟรมเรตสูง นักถ่ายภาพจะต้องใช้การ์ดบันทึกภาพที่มีความทันสมัยกว่าการ์ด SD หรือ CF มาตรฐานทั่วไป กล้อง DSLR ระดับท็อปของ Canon และ Nikon เริ่มลดความสำคัญของการ์ด CF ลง โดย Nikon เป็นรายแรกที่เปิดรับการ์ดบันทึกภาพแบบใหม่ด้วยการมีช่องใส่การ์ด XQD ควบคู่กับการ์ด CF ในรุ่น D4s ขณะที่ Canon ตามมาด้วยการช่องรองรับการ์ด CFast 2.0 ข้างๆ ช่องใส่การ์ด CF และล่าสุดใน Nikon D5 มาพร้อมกับ 2 ช่องใส่การ์ด CF และ 2 ช่องใส่การ์ด XQD นอกจากนี้การ์ด SD UHS-I และ UHS-II ยังมีความเร็วในการเขียนข้อมูลมากขึ้นกว่าในอดีต กล้องในระดับกลางและสูงบางรุ่นมีช่องใส่การ์ดบันทึกภาพมาให้ 2 ช่องขณะที่กล้อง Entry-level ยังจำกัดอยู่ที่ช่องเดียว ซึ่งกับกล้องที่มี 2 ช่องใส่การ์ดบันทึกภาพ นักถ่ายภาพจะสามารถตั้งให้กล้องเปลี่ยนใช้การ์ดบันทึกภาพในช่องที่ 2 ได้อัตโนมัติเมื่อการ์ดบันทึกภาพในช่องแรกเต็มความจุ หรือนักถ่ายภาพจะตั้งให้กล้องบันทึกภาพแบบ RAW ลงในการ์ดใบหนึ่งและบันทึกภาพแบบ JPEG ลงในการ์ดอีกใบหนึ่งก็ได้ ซึ่งการ์ดบันทึกภาพใบที่ 2 จะช่วยให้นักถ่ายภาพอุ่นใจขึ้นในการบันทึกภาพ

ความใสของภาพ

กล้อง DSLR รวมไปถึง Mirrorless รุ่นที่มีราคาไม่สูงนักมักจะใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C ซึ่งมีพื้นที่ของเซ็นเซอร์ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม ซึ่งด้วยพื้นที่ของเซ็นเซอร์ที่น้อยกว่าจึงทำให้กล้องฟอร์แมต APS-C ต้องใช้พิกเซลขนาดเล็กกว่ากล้องฟูลเฟรมเพื่อให้มีจำนวนพิกเซลบนเซ็นเซอร์เท่ากัน และหากทุกสิ่งเหมือนกันโดยทั่วไปพิกเซลขนาดเล็กกว่าจะทำให้เกิดสัญญาณรบกวนมากกว่า ดังนั้นการเลือกกล้องที่มีจำนวนพิกเซลเท่ากันบนเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่กว่าจึงให้ภาพที่ใสกว่าเมื่อใช้ความไวแสงสูงขึ้น และแน่นอนว่าความจริงเรื่องขนาดเซ็นเซอร์กับจำนวนพิกเซลก็ยังรวมไปถึงเซ็นเซอร์ขนาดอื่นนอกจาก APS-C ไม่ว่าจะเป็น FourThirds และขนาด 1 นิ้วที่ใช้กันในกล้อง Mirrorless จากบางผู้ผลิตด้วยอย่างไรก็ตามแม้ว่าประสิทธิภาพในการจัดการสัญญาณรบกวนที่ดีกว่าจะเป็นที่ปราถนาของนักถ่ายภาพ แต่บางครั้งสิ่งที่ต้องการคือทุกรายละเอียดที่แต่ละพิกเซลสามารถให้ได้ซึ่งกล้องใช้เซ็นเซอร์ฟูลเฟรมความละเอียดสูงอย่าง Canon EOS 5Ds ที่มีความละเอียดของเซ็นเซอร์สูงสุดในกล้องฟูลเฟรม 35 มม. ที่ 50.6 ล้านพิกเซลหรือ Sony A7R II ที่ตามมาติดๆ ด้วยความละเอียด 42.4 ล้านพิกเซลเป็นคำตอบเพราะสามารถให้รายละเอียดมหาศาลในภาพ แต่กล้องเหล่านี้ก็จะไม่สามารถให้ภาพที่ใสจากความไวแสงสูงๆ ได้เหมือนกับกล้องรุ่นสูงกว่าอย่าง Canon EOS 1DX Mk II และ Nikon D5 ดังนั้นการเลือกใช้กล้องรุ่นสูงขึ้นซึ่งเป็นการช่วยให้ได้ภาพที่ใสขึ้นก็จริง แต่บางครั้งอาจจะขึ้นอยู่กับว่าความใสของภาพระดับใดที่ยอมรับได้ และให้ความสำคัญกับเรื่อสัญญาณรบกวนหรือรายละเอียดของภาพมากกว่ากัน

ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง

ในโลกของกล้อง DSLR การจ่ายเงินมากขึ้นหมายถึงการที่นักถ่ายภาพสามารถถ่ายภาพได้มากขึ้นต่อการกดชัตเตอร์ลงไปหนึ่งครั้งด้วย โดยทั่วไปกล้องระดับ Enry-level จะสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องประมาณ 5 ภาพ/วินาที ส่วนกล้องระดับกลางจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7 ภาพ/วินาที ขณะที่กล้อง DSLR รุ่นท็อปสุดจะทำได้ที่ประมาณ 14 ภาพ/วินาทีพร้อมด้วยการวัดแสงและโฟกัสต่อเนื่องในแต่ละภาพที่บันทึก หรือ 16 ภาพ/วินาทีเมื่อล็อกกระจกสะท้อนภาพซึ่งมีการจำกัดการทำงานของระบบออโตโฟกัสในโหมด LiveView กฏนี้อาจใช้ไม่ได้กับกล้อง Mirrorless ซึ่งมักจะมีการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง แต่กล้องมักจะล็อกโฟกัสและค่าแสงก่อนที่จะเริ่มการบันทึกภาพต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เมื่อแพนกล้องตามวัตถุโดยที่ระยะทางจากกล้องถึงวัตถุเปลี่ยนหรือสภาพแสงเปลี่ยน นักถ่ายภาพจะต้องเลือกใช้การถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วที่ช้าลงแทน

การถ่ายวิดีโอ

ส่วนใหญ่สิ่งนี้จะอยู่ในกล้องระดับท็อป แต่ว่ากล้องที่มีราคาถูกกว่าบางรุ่นก็ทำได้มากกว่าที่นักถ่ายภาพคาดคิด อย่าง Nikon D3300 ซึ่งเป็นกล้องระดับ Entry-level สามารถถ่ายวิดีโอ Full HD 1080p ได้ถึง 60 ภาพ/วินาที ซึ่งจะทำให้ได้ภาพวิดีโอที่ราบลื่นดูเป็นธรรมชาติ หรือช่วยให้ถ่ายภาพความเร็วครึ่งหนึ่งของภาพ Slow Motion ได้ อย่างไรก็ตามในราคาเดียวกับกล้อง DSLR ระดับกลางนักถ่ายภาพจะพบว่า Panasonic Lumix GH4 สามารถถ่ายวิดีโอ 4K ที่ 24 ภาพ/วินาทีหรือ 1080p ที่ 60 ภาพ/วินาทีได้ ขณะที่กล้อง DSLR ระดับท็อปอย่าง Nikon D5 สามารถถ่ายวิดีโอ 4K 30 ภาพ/วินาทีหรือ 1080p ที่ 60 ภาพ/วินาที และ Canon EOS 1DX II ที่ถ่ายวิดีโอ 4K 60 ภาพ/วินาที หรือ 1080p ที่ 120 ภาพ/วินาที

แปล / เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic