Camera Reviews

Review : Canon EOS M5

ประสิทธิภาพระดับมืออาชีพในกล้องขนาดกะทัดรัดเท่าฝ่ามือ

m5_01

แคนนอนพัฒนากล้อง Mirrorless ตระกูล EOS M รุ่นแรกเมื่อประมาณกลางปี 2012 และพัฒนามาจนถึงรุ่นที่ 3 คือ EOS M3 ก่อนที่จะออกรุ่นรองลงมาอีกหนึ่งรุ่นนั่นคือ M10  มาวันนี้แคนนอนเปิดตัวกล้อง Mirrorless ตระกูล EOS M รุ่นใหม่ล่าสุดที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา และประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ  โดยวางตำแหน่งไว้เป็นรุ่นเรือธงของตระกูล ที่ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานให้ก้าวหน้าขึ้นมาอีกมากทีเดียว ซึ่งจุดแรกที่สัมผัสกันได้ชัดเจนคือ ระบบโฟกัสแบบ Dual Pixel CMOS AF ที่ตอบสนองได้อย่างฉับไวและแม่นยำ  ซึ่งถูกอกถูกใจแฟนๆ แคนนอนกันอย่างแน่นอนทีเดียว

m5_02

จุดเด่นของ Canon EOS M5

  •  เซ็นเซอร์ CMOS ความละเอียด 24.2 ล้านพิกเซล
  • หน่วยประมวลผลใหม่ DIGIC 7
  • ระบบโฟกัสแบบ Dual Pixel CMOS AF
  • EVF ในตัว รองการ Touch & Drag AF
  • ระบบป้องกันการสั่นไหวในตัวกล้องแบบ 5 แกนCombination IS ผสานการทำงานระหว่างกล้องกับเลนส์
  • ถ่ายภาพต่อเนื่อง 7 ภาพต่อวินาที
  • มี Wi-Fi และ NFC ในตัว
  • รองรับการควบคุมการถ่ายภาพผ่าน Bluetooth
  • จอมอนิเตอร์ 3.2 นิ้ว 1,620,000 พิกเซล ควบคุมระบบสัมผัส

รูปลักษณ์และการออกแบบ
จุดแรกที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนและแตกต่างจากรุ่นเดิมเลยคือ ตัวบอดี้ออกแบบและขึ้นรูปใหม่ทั้งหมด มีช่องมองภาพ EVF ในตัว วางตำแหน่งไว้ตรงกลางตัวกล้อง เช่นเดียวกับตำแหน่งของเลนส์ ดังนั้นจึงให้ความรู้สึกในการใช้งานไม่แตกต่างจากกล้อง DSLR  เท่าใดนัก และครอบคลุมการมองเห็นได้ 100%  ดังนั้นภาพที่ได้บนเซ็นเซอร์ จึงเป็นภาพที่มองเห็นได้จากช่องมองภาพทั้งหมด  โดยไม่มีการตัดส่วนแต่อย่างใด

m5_03

ซ้าย : แป้นควบคุมด้านหน้าและแป้น Function Dial ใช้งานได้สะดวก และปรับเปลี่ยนค่าการทำงานที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
ขวา : จอมอนิเตอร์ปรับควบคุมแบบสัมผัส พร้อมฟังก์ชั่น Touch & Drag สามารถลากนิ้วเพื่อเปลี่ยนจุดโฟกัสได้ตามความต้องการ และยังสามารถแสดงผลในช่องมองภาพอีกด้วย

ช่องมองภาพ EVF เป็นแบบ OLED มีความละเอียด 2,360,000 พิกเซล  มองได้อย่างชัดเจนและเสมือนจริง  โดยไม่มีอาการหน่วงของเฟรมเรทให้สะดุดอีกด้วย รวมทั้งมีขนาดใหญ่ สามารถมองห่างได้ถึง 22 มม. จึงไม่มีปัญหาในการใช้งาน ถึงแม้ว่าผู้ใช้ จะสวมแว่นตาก็ตาม  นอกจากนี้ยังมีเซ็นเซอร์ที่ช่องมองภาพ สำหรับสลับการทำงานระหว่างจอมอนิเตอร์กับช่องมองภาพอัตโนมัติเมื่อละสายตาหรือแนบตาเข้ากับช่องมองภาพ

m5_18

ช่องมองภาพมองห่างได้ถึง 22 มม. พร้อมเซ็นเซอร์สลับการทำงานระหว่างช่องมองภาพและจอมอนิเตอร์อัตโนมัติ

จอมอนิเตอร์มีขนาดใหญ่ 3.2 นิ้ว ความละเอียดสูงถึง 1,620,000 พิกเซล พร้อมปรับระดับก้มเงย  รวมทั้งพลิกกลับลงมาด้านล่างตัวกล้องเพื่อถ่ายภาพ Selfie ได้ด้วย และปรับควบคุมการทำงานด้วยระบบสัมผ้ส ซึ่งใช้งานได้เต็มระบบทั้งในขณะที่ถ่ายภาพ และปรับตั้งเมนูการทำงาน  ซึ่งนอกจากจะเป็นการแตะสัมผัสเพื่อควบคุมการทำงานแล้ว ยังสามารถสั่งงานสำหรับการถ่ายภาพ อาทิ Touch Shutter ได้เช่นเดียวกัน สะดวกกับการถ่ายภาพที่ต้องการความรวดเร็วและฉับไวในการบันทึกช็อตสำคัญ

m5_16

นอกจากนี้ระบบสัมผัสยังรองรับการ Drag หรือแตะลากเปลี่ยนจุด จากฟังก์ชั่นการทำงาน Touch and Drag เพื่อเลือกโฟกัสตามที่ต้องการในพื้นที่ 80% ของจอมอนิเตอร์ได้อีกด้วย รวมทั้งสามารถเลือกพื้นที่ในการใช้นิ้วลากในแต่ละส่วนของจอมอนิเตอร์ได้อีกด้วย

ความโดดเด่นของฟังก์ชั่น Touch and Drag นี้ สามารถใช้นิ้วสัมผัสที่หน้าจอด้านหลังเพื่อลากเปลี่ยนจุดโฟกัส โดยไม่ต้องละสายตาจากช่องมองภาพ  ซึ่งสะดวกกับการใช้งานและปรับใช้ได้อย่างรวดเร็วมากทีเดียว  แต่ถ้าหากว่าไม่ต้องการใช้ฟังก์ชั่นควบคุมระบบสัมผัส  สามารถปิดการทำงานได้โดยกดที่ปุ่มข้างๆ เมาท์เลนส์  ซึ่งเป็นการกดเพื่อเปิดการทำงาน  และกดซํ้าเพื่อปิดการทำงานครับ  ปุ่มนี้ถูกตั้งเป็นค่า default มาจากผู้ผลิต แต่ผู้ใช้ก็สามารถปรับตั้งให้เป็นปุ่มลัดสำหรับการทำงานอย่างอื่นก็ได้เช่นกัน

กริปมือจับยาวนูนขึ้นมาและหุ้มด้วยยางลายหยาบ  ช่วยให้จับได้ถนัดและกระชับมือดีทีเดียว เหนือขึ้นไปเป็นปุ่มชัตเตอร์  รอบปุ่มชัตเตอร์เป็นวงแหวนควบคุมการทำงานด้านหน้า  ซึ่งผสานการทำงานกับแป้นควบคุมบนตัวกล้องที่อยู่ถัดเข้าไปเล็กน้อย และเป็นตำแหน่งของปุ่มฟังก์ชั่น (Func)  ซึ่งใช้เป็นคีย์ลัดสำหรับการทำงาน หลายๆ อย่างในโหมดของการถ่ายภาพ อาทิ ปรับความไวแสง ปรับไวท์บาลานซ์ เป็นต้น โดยกล้องจะแสดงเป็นไอคอนเล็กๆ บนจอมอนิเตอร์ และไม่รบกวนการแสดงผลของ Live View  ผู้ใช้สามารถใช้แป้นควบคุมหมุนเปลี่ยนค่าที่ต้องการได้ทันที

ถัดจากแป้นควบคุมและปุ่มฟังก์ชั่นไปเล็กน้อย เป็นแป้นปรับชดเชยแสง ซึ่งออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย จากการควบคุมของนิ้วโป้ง ส่วนด้านซ้ายของตัวกล้องเป็นแป้นปรับโหมดถ่ายภาพ พร้อมปุ่มปลดล็อกตรงกลาง เมื่อต้องการเปลี่ยนโหมดก็ให้กดปุ่มนี้ค้างไว้  ส่วนตรงฐานแป้นปรับโหมดถ่ายภาพเป็นสวิทช์เปิด-ปิดการทำงาน ตรงกลางหัวกระโหลก นอกจากจะเป็นวิวไฟน์เดอร์ EVF แล้ว ยังเป็นที่อยู่ของ แฟลช ซึ่งต้องกดปุ่มเปิดเมื่อต้องการใช้งาน รวมทั้งเป็นฮอทชูสำหรับแฟลชเฉพาะกิจและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ด้วย

APS-C CMOS Sensor ความละเอียด 24.2 ล้านพิกเซล
กล้อง Canon EOS M5 ใช้เซ็นเซอร์ภาพแบบ CMOS ขนาด APS-C (22.3 x 14.9 มม.) ความละเอียด 24.2 ล้านพิกเซล ตอบสนองการใช้งานในระดับมืออาชีพมากขึ้น แต่ยังรองรับการใช้งานสำหรับมือใหม่ที่ต้องการกล้องถ่ายภาพขนาดกะทัดรัด พกพาสะดวก และให้คุณภาพของไฟล์ภาพที่ดีเยี่ยม มีการไล่โทนภาพที่สวยงามสมจริง และถ่ายทอดรายละเอียดได้ครบถ้วน

m5_11
หน่วยประมวลผลใหม่ DIGIC 7
กล้อง Canon EOS M5 ตอบสนองการใช้งานได้อย่างรวดเร็วและฉับไว จากประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลอัจฉริยะใหม่ DIGIC 7 ซึ่งช่วยให้กล้องตอบสนองการทำงานได้รวดเร็วขึ้น และยังให้ไฟล์ภาพที่ใสเคลียร์ ทั้งการถ่ายภาพนิ่ง และการบันทึกวิดีโอ รวม ไปถึงการปรับเพิ่มความไวแสงให้สูงขึ้นกว่าปกติ ในการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ เพื่อเก็บบันทึกภาพในสภาพแสงธรรมชาติ โดยมี Noise ที่ตํ่า

นอกจากนี้ยังช่วยให้ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงถึง 7 ภาพต่อวินาที ที่ความละเอียดสูงสุด และยังสามารถใช้การโฟกัสแบบอัตโนมัติ  รวมทั้งโฟกัสแบบต่อเนื่องได้ด้วย และยังสามารถปรับเพิ่มความเร็วต่อเนื่องได้สูงถึง 9 ภาพต่อวินาที โดยการล็อกค่าแสงและโฟกัสไว้ที่ช็อตแรก

และจากประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผล DIGIC 7 ก็ช่วยให้ได้ไฟล์ภาพที่ใสเคลียร์ ปราศจาก Noise แม้จะเป็นการบันทึกภาพด้วยความไวแสงสูง  โดย Canon EOS M5 สามารถปรับค่าความไวแสงปกติได้แบบ Auto และปรับตั้งค่าเองตามการใช้งานตั้งแต่ ISO 100 ถึง ISO 25600 สำหรับถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอในสภาพแสงน้อยๆ  หรือเมื่อต้องการเอฟเฟกต์ของความเร็วชัตเตอร์สูง และรูรับแสงแคบๆ

Dual Pixel CMOS AF
Canon EOS M5 ใช้ระบบโฟกัสแบบ Dual Pixel CMOS AF เช่นเดียวกับEOS 5D Mark IV กล้อง DSLR รุ่นล่าสุดของแคนนอน โดยเป็นการฝัง Photodiode สองชุดไว้ในแต่ละพิกเซล แต่ละชุดใช้ระบบโฟกัสแบบ Phase Detection ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานกว่า 80% บนจอมอนิเตอร์ ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง โดย Photodiode ทั้งสองชุดจะทำงานไปพร้อมๆ กัน  ดังนั้นจึงให้การตอบสนองการโฟกัสที่รวดเร็ว ฉับไว ทั้งในการถ่ายภาพนิ่ง และวิดีโอ  โดยทั้งในการถ่ายภาพนิ่งและขณะบันทึกวิดีโอ สามารถแตะที่จอมอนิเตอร์ และลากเปลี่ยนจุดโฟกัสตามที่ต้องการได้เลย และกล้องจะทำการปรับโฟกัสตามการลากเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีอาการหน่วงแต่อย่างใด  รวมทั้งมีการปรับโฟกัสได้อย่างนุ่มนวลไม่มีการสะดุดด้วยเช่นกัน

รูปแบบโฟกัสสามารถเลือกได้แบบจุดเดียว  แบบโซนอัตโนมัติ 9 จุด และแบบตรวจจับใบหน้าพร้อมโฟกัสติดตามอัตโนมัติ รูปแบบโฟกัสอัตโนมัติจุดเดียว สามารถเลือกกรอบโฟกัสได้ 2 ขนาด การเปลี่ยนขนาดทำได้โดยกดปุ่มเลือกพื้นที่โฟกัสที่อยู่ใกล้ๆ กับปุ่มบันทึกวิดีโอด้านหลังตัวกล้อง จากนั้นกดปุ่ม info ค้างไว้ แล้วใช้แป้นควบคุมบนตัวกล้องหมุนเปลี่ยนขนาดของกรอบโฟกัสได้เลย  และถ้าหากใช้แป้นควบคุมด้านหน้า จะเป็นการซูมขยายจุดโฟกัสเพื่อให้ตรวจเช็กความคมชัดได้อย่างสะดวก และปรับซูมขยายได้ 5 และ 10 เท่า

m5_17
ระบบป้องกันการสั่นไหว IS แบบ 5 แกน
จุดที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของ Canon EOS M5 คือ มีระบบป้องกันการสั่นไหวแบบ 5 แกน ซึ่งช่วยชดเชยการสั่นไหวได้ทั้งแนวตั้ง แนวนอน การก้ม-เงยกล้อง  การแพนกล้องซ้าย-ขวา และการหมุนเอียงกล้องด้วย ช่วยให้อิสระกับการถ่ายภาพมากขึ้น โดยสามารถใช้มือถือกล้องถ่ายภาพได้อย่างคมชัดด้วยความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ  อีกทั้งยังผสมผสานระบบป้องกันการสั่นไหวระหว่างตัวเลนส์ที่มีระบบป้องกันการสั่นไหวกับระบบป้องกันการสั่นไหวของตัวกล้องได้อย่างลงตัว ซึ่งจะเห็นผลได้อย่างชัดเจนสำหรับการบันทึกวิดีโอที่ตัวกล้องมีการเคลื่อนที่ เช่น การเดินบันทึกภาพ หรือนั่งอยู่บนยานพาหนะ เป็นต้น

Wi-Fi, NFC and Bluetooth
กล้อง Canon EOS M5 รองรับการโอนถ่ายไฟล์ภาพด้วย Wi-Fi และ NFC ไปยังอุปกรณ์อื่นๆ ได้มากมาย อาทิ กล้องดิจิตอลด้วยกัน, คอมพิวเตอร์, Connect Station, พริ้นเตอร์ หรือเปิดชมกับโทรทัศน์ เป็นต้น  รวมทั้งจัดเก็บไปยัง Cloud หรือหน่วยความจำออนไลน์ หรือโอนถ่ายไปยังสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เพื่อแบ่งปันไปยังโซเชียลเน็ทเวิร์คต่างๆ รองรับระบบปฏิบัติการทั้ง Android และ iOS ผ่านแอพลิเคชั่น Canon Camera Connect ที่ได้รับการพัฒนาใหม่เวอร์ชั่นล่าสุด ให้รองรับการควบคุมการทำงาน อาทิ การลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพ, การเลือกจุดโฟกัส, การปรับรูรับแสง, ปรับความเร็วชัตเตอร์ หรือปรับ ISO เป็นต้น  นอกเหนือไปจากการโอนถ่ายไฟล์ภาพตามปกติ โดยเมื่อเชื่อมต่อกับกล้องแล้ว ให้เข้าไปที่ Setting ที่มุมบนขวาของจอแสดงผลและแตะเลือกใช้งานปุ่ม AF  เมื่อแตะเลือกแล้ว ที่หน้าจอควบคุมจะมีปุ่ม AF เล็กๆ อยู่ถัดจากปุ่มชัตเตอร์เล็กน้อย เมื่อแตะเลือกจุดโฟกัสบนจอมอนิเตอร์แล้ว ก็ให้แตะปุ่มโฟกัสเพื่อยืนยันอีกครั้ง

สำหรับการทำงานเมื่อเชื่อมต่อกับ Wi-Fi นั้น สามารถดูภาพ พร้อมดาวน์โหลดจากกล้องไปยังสมาร์ทโฟนได้อย่างสะดวก  โดยแตะที่ไอคอนสมาร์ทโฟนแตะที่ไอคอนสมาร์ทโฟน บนจอแสดงผล จากนั้นแตะเลือกภาพที่ต้องการดาวน์โหลด แล้วเริ่ม
ดาวน์โหลดได้เลย นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเมนูพิเศษที่สามารถบันทึกพิกัดในการถ่ายภาพลงในไฟล์ภาพได้ โดยเมื่อเปิดแอพลิเคชั่นแล้ว ให้แตะที่เมนู Location Information จากนั้นแอพลิเคชั่นจะให้เริ่มบันทึกพิกัด โดยแตะที่ Begin Logging  แอพลิเคชั่นจะทำการหาพิกัดตำแหน่งในขณะนั้น และจะแจ้งเตือน End Logging เมื่อตรวจจับพิกัดได้แล้ว จากนั้นก็สามารถถ่ายภาพไปได้ตามปกติ และเมื่อต้องการบันทึกพิกัดลงในไฟล์ภาพ ก็กลับมาที่เมนูเดิม แล้วแตะที่หน้าต่าง Send Location Information แอพลิเคชั่นจะส่งข้อมูลพิกัดไปบันทึกใน exif file ของภาพที่ถ่ายในขณะนั้น สามารถเปิดดู พิกัดของภาพ
นั้นจากแผนที่ได้

ส่วน Bluetooth นั้น เป็นการเชื่อมต่อสำหรับการใช้งานสมาร์ทโฟนให้เป็นเสมือนหนึ่งรีโมทคอนโทรลนั่นเอง  แต่ไม่สามารถปรับตั้งค่าใดๆ ได้ รวมทั้งไม่แสดงผล Live View ที่สมาร์ทโฟนด้วย และสามารถเลือกถ่ายภาพนิ่งหรือบันทึกวิดีโอเท่านั้น  แต่ข้อดีของการเชื่อมต่อด้วย Bluetooth คือ ใช้พลังงานน้อย  ดังนั้นเมื่อต้องการใช้งานเพียงแค่เป็นรีโมทกดชัตเตอร์ถ่ายภาพเท่านั้น ใช้การเชื่อมต่อแบบ Bluetooth จะช่วยประหยัดพลังงานได้อีกทางหนึ่ง

การใช้งาน Bluetooth จะต้องทำการ pair ระหว่างกล้องกับสมาร์ทโฟนก่อนในครั้งแรก เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi หรือ  NFC ที่จะต้องบันทึกชื่อเครื่องและ Password ก่อนในการเชื่อมต่อครั้งแรก หลังจากนั้นก็สามารถเปิดใช้งานได้ปกติ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใส่ Password ทุกครั้ง  ส่วนการสลับไปใช้ Bluetooth ให้ปิดการทำงาน Wi-Fi จากนั้นเลือกเชื่อมต่อ Bluetooth ผ่านแอพลิเคชั่นได้เลย

บันทึกวิดีโอ Full HD 1080p
Canon EOS M5 มีโหมดบันทึกวิดีโอคุณภาพ Full HD 1080p ฟอร์แมท MPEG4 มาตรฐาน H.264 ปรับเฟรมเรทได้ 60, 30 และ 24 เฟรมต่อวินาที และยังปรับเลือกฟอร์แมท MP4 ให้เลือกใช้งานอีกด้วย รวมทั้งปรับลดขนาดไฟล์เป็น HD และ VGA สำหรับรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันอีกด้วย  นอกจากนี้ยังบันทึกเสียงด้วยระบบสเตอริโอ และเปิดชมภาพความละเอียดสูงกับโทรทัศน์ระบบ HDTV ผ่านสาย HDMI ที่ถ่ายทอดภาพและเสียงได้อย่างสมบูรณ์แบบ


การใช้งาน

m5_04

Canon EOS M5 เลนส์ EF-M 11-22mm F4-5.6 IS STM, โหมด M ชัตเตอร์ 10 วินาที f/16, ISO100, WB : Daylight

ผมได้รับกล้อง Canon EOS M5 พร้อมกับเลนส์ครบช่วง ตั้งแต่มุมกว้าง EF-M 11-22 มม., เลนส์คิท EF-M 15-45 มม. และ เลนส์คิทรุ่นใหม่ EF-M 18-150 มม., เลนส์ prime EF-M 22 มม., เลนส์เทเลซูม EF-M 55-200 มม. พร้อมทั้งเมาท์อแดปเตอร์ EF-EOS M สำหรับใช้งานกับเลนส์ตระกูล EF ของกล้อง DSLR ด้วย

แน่นอนครับ ผมลองระบบโฟกัสก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งระบบโฟกัสแบบ Dual Pixel CMOS AF ตอบสนองการโฟกัสได้อย่างยอดเยี่ยม สำหรับเลนส์ตระกูล EF-M ทุกตัว โดยไม่มีอาการวืดวาดให้รำคาญใจ จะมีเพียงเลนส์ 28 มม. มาโครเท่านั้น ที่มีอาการหน่วงเล็กน้อยเมื่อเปิดใช้งานครั้งแรก แต่หลังจากนั้นก็ตอบสนองการโฟกัสได้อย่างรวดเร็วเป็นปกติครับ ซึ่งสำหรับเลนส์ตระกูล EF-M นั้น ถือได้ว่ารองรับการใช้งานได้อย่างสมบูร์แบบ ไม่มีอาการวืดวาดให้หงุดหงิดใจ กับทุกๆ ตัวที่ได้ลองใช้งานครับ

m5_05

สิ่งที่น่าประทับใจของ Dual Pixel CMOS AF คือแม้จะใช้กับเลนส์ EF ผ่านอแดปเตอร์ ความเร็วในการโฟกัสยังคงดีมากและสามารถใช้ระบบ AI Servo โฟกัสติดตามซับเจกต์ได้ราวกับกล้อง DSLR  Canon EOS M5 เลนส์ EF300mm F4L , โหมด M ชัตเตอร์ 1/2000 วินาที f/4.5, ISO200, WB : Auto, พื้นที่โฟกัส : smooth zone AF (ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์)

ผมลองเลนส์ตระกูล EF บ้าง  โดยลองกับเลนส์ EF 50mm F1.8 STM  การตอบสนองการโฟกัสในการเปิดใช้งานครั้งแรก มีอาการหน่วงเล็กน้อยเช่นกัน หลังจากนั้นก็โฟกัสได้รวดเร็วตามปกติ แต่สำหรับซับเจกต์ที่มีระยะห่างกันมากๆ การตอบสนองช้าลงเล็กน้อย แต่ไม่ถือว่าเป็นปัญหากับการใช้งานแต่อย่างใด ส่วนเลนส์ EF 40 มม. F2.8 STM  การตอบสนองการโฟกัสรวดเร็วฉับไวไม่แพ้การใช้งานกับกล้อง DSLR หรือเลนส์ EF-M ครับ

Canon EOS M5 ใช้ระบบควบคุมการทำงานแบบสัมผัสหน้าจอมอนิเตอร์ด้วย  ดังนั้นจึงสะดวกกับการใช้งานเป้นอย่างดี  โดยเฉพาะระบบโฟกัสเอง สามารถเลือกแตะจุดโฟกัสที่ต้องการได้เลย รวมทั้งสามารถลากนิ้วเปลี่ยนจุดโฟกัสได้อีกด้วย ซึ่งเหมาะกับการ บันทึกวิดีโอมากทีเดียวครับ เพราะสามารถลากนิ้วให้กล้องเปลี่ยนจุดโฟกัสตามที่ต้องการ ซึ่งกล้องก็มีการปรับเปลี่ยนที่นุ่มนวลดีทีเดียว ส่วนหนึ่งก็มาจากระบบเลนส์ STM ที่ปรับโฟกัสได้นุ่มนวล และเงียบเชียบทีเดียวครับ

m5_06

จอมอนิเตอร์ที่ปรับมุมได้ทำให้ถ่ายภาพมุมตํ่าได้สะดวก และแม้ว่าในบางมุมจะไม่สามารถเข้าไปถ่ายภาพได้เช่นช็อตนี้ ผมก็ยังสามารถถ่ายภาพได้โดยเอากล้องไปวางบนคันคอนกรีตริมนํ้าที่มีรั้วกั้นแล้วสั่งถ่ายภาพผ่านสมาร์ทโฟนได้  Canon EOS M5 เลนส์ EF-M 11-22mm F4-5.6 IS STM , โหมด M ชัตเตอร์ 1/800 วินาที f/8, ISO250, พื้นที่โฟกัส : smooth zone AF (ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์)

การลากเปลี่ยนจุดโฟกัส  ไม่เพียงเฉพาะการใช้งานผ่านจอมอนิเตอร์เท่านั้น หากแต่ผมยังสามารถมองภาพผ่านช่องมองภาพและใช้การ drag focus หรือลากนิ้วเปลี่ยนจุดโฟกัสไปยังตำแหน่งใหม่ที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องละสายตาออกจากช่องมองภาพเลยล่ะครับ การใช้งานในครั้งแรกอาจจะติดๆ ขัดๆ อยู่บ้าง แต่พอใช้ไปสักพักจะเริ่มคุ้นเคยก็จะใช้งานได้อย่างสะดวกครับ

m5_07

ทดสอบระบบโฟกัสติดตามการเคลื่อนไหวด้วยการใช้ระบบ AI Servo เลือกพื้นที่โฟกัสแบบ Smooth zone AF แล้วบันทึกภาพต่อเนื่องเป็นชุด ภาพที่ได้มีความคมชัดทุกภาพ  Canon EOS M5 เลนส์ EF-M 55-200mm f/4.5-6.3 IS STM , โหมด M ชัตเตอร์ 1/400 วินาที f/6.3, ISO400, WB : Auto, พื้นที่โฟกัส : Face+Tracking

ผมมีโอกาสลองระบบโฟกัส Tracking ซึ่งทำงานไปพร้อมๆ กับระบบตรวจจับใบหน้า ถ่ายภาพนักปั่นจักรยานที่ปั่นออกกำลังที่สวนรถไฟ ซึ่งมีทั้งปั่นเอื่อยๆ และปั่นแบบเร็วๆ ผมเลือกทิศทางในการปั่นเข้าหากล้อง โดยเล็งเป้าหมายที่ต้องการและเลือกจังหวะที่จะลั่นโฟกัสไว้ก่อน  ปรับเป็นการถ่ายภาพต่อเนื่อง จากนั้นก็แตะที่เป้าหมายให้กล้องจับโฟกัสไว้ก่อน  เมื่อกล้องจับโฟกัสได้แล้ว (สังเกตจากกรอบโฟกัสจะขยับตามเป้าหมาย) ผมลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพไป 8 ภาพ จากความเร็วสูงสุดที่กล้องทำได้นั่นคือ 7 ภาพต่อวินาที เมื่อซูมขยายดูภาพ  ทั้งหมดมีความคมชัดทุกภาพ นั่นแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการโฟกัสที่พัฒนาได้อย่างยอดเยี่ยม ลบคำครหาที่เคยมีมาจากรุ่นเดิมไปจนหมดครับ

เมนูการทำงานต่างๆ ของกล้องนั้น ถอดแบบมาจากกล้อง DSLR ตระกูล EOS  ดังนั้นสำหรับผู้ที่ใช้กล้อง EOS อยู่แล้ว ก็สามารถใช้งานกล้อง Canon EOS M5 ได้ไม่ติดขัด  ปุ่มและแป้นปรับต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนตามความถนัดในการใช้งานได้  อย่างผมเองถนัดปรับแป้นควบคุมด้านหน้าเป็นแป้นปรับเปลี่ยนรูรับแสง ด้านหลังเป็นความเร็วชัตเตอร์ ผมก็เข้าไปเปลี่ยนจากเมนูการทำงาน Custom Function แบบที่สองในเมนูย่อย Custom Control

m5_08

การตอบสนองดี มี Time Lag น้อยทำให้จับจังหวะที่ต้องการได้ไม่ยาก  Canon EOS M5 เลนส์ EF-M 18-150mm F3.5-6.3 IS STM, โหมด M ชัตเตอร์ 1/160 วินาที, f/13, ISO200, WB : Auto, ใช้แฟลช 2 ตัว  (ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์)

ไฟล์ภาพของ Canon EOS M5 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเยี่ยมทีเดียวครับ  ไฟล์ภาพที่ได้ใสเคลียร์ และสีสันอิ่มตัว  รวมทั้งยังถ่ายทอดรายละเอียดส่วนต่างๆ ทั้งโทนมืด และโทนสว่างได้อย่างครบถ้วน การจัดการเรื่อง Noise ทำได้ดีเยี่ยมเช่นกัน โดยให้ไฟล์ภาพที่มี Noise ตํ่าตั้งแต่ ISO 6400 ลงมา โดยที่ความคมชัด สีสัน และการถ่ายทอดรายละเอียดยังคงดีเยี่ยม ที่ ISO 12800 ปรากฏ Noise ให้เห็นได้ แต่ยังคงความคมชัด และสีสันลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนที่ ISO 25600 มี Noise ให้เห้นได้ชัดเจน และความคมชัดลดลงไปพอสมควร  เหมาะสำหรับการใช้ในสภาพแสงน้อยเมื่อจำเป็นจริงๆ

การจับถือตัวกล้องให้ความถนัดมือดี  กริปมือจับออกแบบคล้ายๆ กับ EOS M3 เซาะร่องเว้าด้านในเล็กน้อย ช่วยให้เกี่ยวนิ้วในการจับถือได้อย่างกระชับ จุดเด่นภายนอกที่แตกต่างจากรุ่นเดิมนั่นคือมีช่องมองภาพในตัว วางตำแหน่งไว้ตรงกลางกล้องเหนือเมาท์เลนส์  ทำให้ความรู้สึกในการใช้งานไม่ได้แตกต่างจากกล้อง DSLR แต่อย่างใด และช่องมองภาพแบบ OLED ยังมีความละเอียดสูงถึง 2.36 ล้านพิกเซล มองได้อย่างสบายตา ไม่มีอาการ lag แม้จะแพนหรือหมุนกล้องอย่างรวดเร็ว

ผมชอบปุ่มและแป้นควบคุมของ Canon EOS M5 ที่ออกแบบให้ใช้งานได้หลากหลาย  สามารถปรับตั้งเมนูและฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะปุ่ม Q Menu ที่ช่วยให้ปรับตั้งค่าเมนูการทำงานในโหมดถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็ว จากแถบเมนูที่ด้านซ้ายและขวา และเมนูย่อยที่ด้านล่างของจอมอนิเตอร์  อีกปุ่มหนึ่งที่ผมใช้งานค่อนข้างบ่อยเช่นกันนั่นคือ ปุ่มฟังก์ชั่น ใช้สำหรับปรับไวท์บาลานซ์ หรือปรับความไวแสง ซึ่งใช้งานโดยการกดซํ้าๆ  เมนูทั้งหมดจะแสดงแบบหมุนวน และใช้แป้น Function Dial ปรับค่าที่ต้องการได้เลยครับ

ระบบป้องกันการสั่นไหวของ Canon EOS M5 ตอบสนองการใช้งานได้อย่างยอดเยี่ยม ผมลองถ่ายภาพด้วยเลนส์คิทใหม่ EF-M 18-150 มม. ซูมเลนส์ที่ระยะไกลสุด ซึ่งให้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่า ระยะ 240 มม. ของกล้อง 35 มม. ซึ่งผมใช้ความเร็วชัตเตอร์เพียง 1/15  วินาที ก็สามารถถือกล้องถ่ายภาพได้อย่างคมชัดครับ ซึ่งถ้าหากไม่มีระบบป้องกันการสั่นไหว  ความเร็วชัตเตอร์เท่านี้กับระยะเลนส์ขนาดนี้ โอกาสชัดน้อยมากครับ และสำหรับการบันทึกวิดีโอ การผสมผสานระหว่างระบบป้องกันการสั่นไหวที่ตัวกล้อง กับระบบป้องกันการสั่นไหวที่ตัวเลนส์  ช่วยให้การบันทึกวิดีโอนิ่งได้อย่างที่ต้องการ แม้ว่าผู้บันทึกภาพจะเดิน  มีการเคลื่อนที่อยู่ก็ตาม

สำหรับโหมดวิดีโอ นอกจากจะบันทึกด้วยคุณภาพ Full HD และรองรับฟอร์แมท MP4 ที่สามารถนำไปใช้งาน อาทิ โพสต์ไปยังโซเชียลต่างๆ ได้ทันที  ฟังก์ชั่นที่โดดเด่นอย่างหนึ่งในโหมดบันทึกวิดีโอคือ Timelapse ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นย่อยที่เลือกใช้งานได้อย่างสะดวก  โดยเมื่อเลือกแป้นปรับโหมดถ่ายภาพมาที่โหมดวิดีโอ จะมี 3 เมนูย่อยให้เลือก นั่นคือ Movie Auto Exposure โหมดวิดีโออัตโนมัติ, Movie Manual Exposure โหมดวิดีโอแบบปรับตั้งค่าด้วยตนเอง และ Timelapse

เมื่อเลือกใช้งานโหมด Timelapse แล้ว ให้กดปุ่ม ISO เพื่อเลือกตั้งค่า Timelapse ซึ่งจะมีเมนูย่อย อาทิ Scene 1, 2, 3 และ Custom โดย Scene 1 จะเป็นการตั้งค่าช่วงห่างของเวลาระหว่างภาพ โดยเลือกได้ 2-4 วินาที และตั้งค่าจำนวนภาพได้ 30-900 ภาพ, Scene 2 ตั้งค่าช่วงห่างระหว่างภาพได้ 5-10 วินาที และตั้งค่าจำนวนภาพได้ 30-720 ภาพ และ Scene 3 ตั้งค่าช่วงห่างระหว่างภาพได้ 11-30 วินาที และตั้งค่าจำนวนภาพได้ 30-240 ภาพ และสุดท้ายเป็นการตั้งค่าแบบ Custom ซึ่งผู้ใช้กำหนดช่วงห่างของเวลาระหว่างภาพ และจำนวนภาพ ความสะดวกของดหมด Timelapse ของ Canon EOS M5 คือ ไม่ว่าจะตั้งค่าแบบใด กล้องจะคำนวณระยะเวลาที่จะต้อง ถ่ายภาพ และระยะเวลาที่รวมเป็นไฟล์วิดีโอแล้ว ทำให้รู้ได้ง่ายๆ ว่าจะต้องตั้งกล้องนานแค่ไหน  และจะได้วิดีโอความยาวเท่าไหร่ครับ

Panning เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่ช่วยให้สนุกกับการใช้กล้องมากทีเดียว โดยเป็นฟังก์ชั่นที่ออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายจากกลุ่ม Scene Mode ซึ่งกล้องจะปรับตั้งค่าที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติ อาทิ ความเร็วชัตเตอร์, รูรับแสง, ความไวแสง และรูปแบบโฟกัส โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องปรับตั้งค่าอะไรให้ยุ่งยาก  แต่สามารถปรับชดเชยแสง เมื่อเห็นว่าภาพมืดหรือสว่างไปได้  การถ่ายภาพก็เช่นเดียวกับการถ่ายภาพแพนกล้องตามปกติ โดยหมุนกล้องให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวเท่านั้นเองครับ

m5_09

Canon EOS M5 เลนส์ EF 50mm F1.8 STM + Adapter EF-EOS M, โหมด M ชัตเตอร์ 1/200 วินาที, f/2, ISO100, WB : Auto

Canon EOS M5 ยังมีฟังก์ชั่นและลูกเล่นต่างๆ อีกมากมายให้ใช้งาน ทั้งในโหมดถ่ายภาพ และตกแต่งภาพ  ฟังก์ชั่นที่ผมชอบและใช้งานอยู่หลายครั้ง เนื่องจากบางครั้งผมถ่ายภาพเป็น RAW+JPEG บางครั้ง บางสถานการณ์ก็ถ่ายเป็น RAW เพียงอย่างเดียว และฟังก์ชั่น RAW img Processing ก็ช่วยให้ผมแปลงไฟล์ RAW เป็น JPEG และนำไปใช้งานได้ทันทีครับ

m5_12

และ Canon EOS M5 รองรับการใช้งาน Wi-Fi และ NFC ทำให้สามารถอัพโหลดภาพถ่ายมายังสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่นๆ ได้เลยทันที ผ่านแอพลิเคชั่น Canon Camera Connect ซึ่งมีเมนูที่โดดเด่นมากกว่าการโอนภาพถ่าย โดยสามารถใช้ควบคุมการถ่ายภาพ ซึ่งผมเองใช้งานอยู่เป็นประจำ เพราะใช้แทนสายลั่นชัตเตอร์นั่นเองครับ ความโดดเด่นของแอพลิเคชั่น คือ สามารถปรับตั้งค่าการรับแสงของกล้อง อาทิ ปรับความเร็วชัตเตอร์, ปรับรูรับแสง หรือปรับชดเชยแสงได้ด้วย

m5_15

การเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth สำหรับใช้งานเป็นรีโมทคอนโทรล สามารถเลือกถ่ายภาพนิ่ง บันทึกวิดีโอ และเปิดชมภาพได้เท่านั้น แต่ประหยัดพลังงานมากกว่าการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi ในกรณีต้องการใช้งานเป็นเพียงรีโมทคอนโทรลอย่างเดียว

แต่ถ้าหากว่าเป็นการใช้งานเฉพาะเป็นรีโมทเพียงอย่างเดียว ผมจะสลับการทำงานมาเป็นการเชื่อมต่อ Bluetooth แทน เ นื่องจากใช้พลังงานน้อยกว่าการเชื่อมต่อ Wi-Fi นั่นเอง และใช้สำหรับถ่ายภาพนิ่ง, บันทึกวิดีโอและเปิดชมภาพ แต่มีจุดที่แตกต่างกัน คือ การเชื่อมต่อ Bluetooth จะไม่สามารถเปิดดูภาพที่สมาร์ทโฟนได้ แต่สามารถเลือกพรีวิวภาพและวิดีโอที่จอมอนิเตอร์ของกล้อง  รวมทั้งปรับเลื่อนซ้าย-ขวา และซูมขยายภาพได้ครับ

m5_14

การควบคุมการถ่ายภาพด้วยแอพลิเคชั่น Canon Camera Connect สามารถปรับเปลี่ยนค่าการทำงานที่หน้าต่างแอพลิเคชั่นได้

นอกจากนี้ แอพลิเคชั่น Canon Camera Connect ยังเลือกบันทึกพิกัดของภาพถ่ายลงในไฟล์ภาพได้  โดยการทำงานนั้นจะต้องเชื่อมต่อกล้องและแอพลิเคชั่นเสียก่อน จากนั้นเลือกบันทึกพิกัด โดยแอพลิเคชั่นจะเริ่มทำการสแกนหาพิกัด ณ ขณะนั้น หรือพิกัดที่กำลังถ่ายภาพอยู่ จากนั้นก็ถ่ายภาพไปตามปกติ  ขั้นตอนต่อไปให้เข้าไปที่แอพลิเคชั่นอีกครั้งและเลือกส่งข้อมูลพิกัดไปยังภาพถ่าย เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอน เมื่อเปิดชมภาพ จะเห็นสัญญลักษณ์ดาวเทียมติดแนบไปกับภาพ ผมทำการอัพโหลดภาพถ่ายไปยังบัญชี google และเมื่อเปิดชมภาพ  ผมเลือกแสดงข้อมูลของภาพถ่าย ซึ่งนอกจากข้อมูลการถ่ายภาพทั้งหมดแล้ว ยังมีพิกัดในการถ่ายภาพ รวมทั้งพิกัดบนแผนที่แสดงให้เห็นด้วยครับ

m5_13

อีกหนึ่งเมนูของแอพลิเคชั่น Canon Camera Connect คือ สามารถบันทึกพิกัดของภาพถ่ายลงในข้อมูล Exif File และสามารถเช็คพิกัดของภาพได้จาก google map ได้ เมื่ออัพโหลดภาพไปยังหน่วยความจำออนไลน์ และเปิดชมภาพ ในข้อมูลของภาพถ่ายจะระบุทั้งข้อมูลการถ่ายภาพ และพิกัดที่ถ่ายภาพนั้นๆ


สรุปผลการใช้งาน

m5_10

สนุกกับเลนส์มาโครที่มีความโดดเด่นเหนือใคร โดยมีไฟ LED สำหรับส่องสว่างที่ด้านหน้าเลนส์ด้วยCanon EOS M5 เลนส์ EF-M 28mm F3.5 Macro IS STM, โหมด M ชัตเตอร์ 1/160 วินาที, f/11, ISO400, WB : Auto

กว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ได้ลองจับ ลองเล่น ลองถ่ายภาพหลายๆ รูปแบบ ความรู้สึกนั้นแตกต่างจาก EOS M-series รุ่นเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ประสิทธิภาพการทำงานตอบสนองการใช้งานได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการจับถือ การปรับตั้งปุ่มและแป้นควบคุมการทำงานต่างๆ การเลือกโฟกัสจากระบบสัมผ้สจอมอนิเตอร์ การ Touch & Drag จุดโฟกัส ตอบสนองได้ทันทีที่แตะและลากนิ้วไปยังจุดใหม่ การมองภาพผ่านช่องมองภาพ EVF ที่ตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติ  หลายๆ ครั้งที่ผมถ่ายภาพแบบแพนกล้อง ผมยังคงมองภาพผ่านจอมอนิเตอร์ได้ตามปกติ  ไม่มีอาการ lag หรือภาพล้ม หรือภาพหน่วงแต่อย่างใด ทำให้ไม่ปวดตา ถึงแม้ว่าจะถ่ายภาพเป็นเวลานานๆ  ความเร็วในการ ถ่ายภาพต่อเนื่อง การโฟกัสติดตามซับเจกต์ทำได้ดีไม่แพ้กล้อง DSLR  จนผมลืมไปชั่วขณะว่ากำลังใช้งานกล้อง Mirrorless อยู่

ในครั้งนี้ ถือได้ว่าแคนนอนตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้ตรงเป้าทีเดียว เพราะจะว่ากันตรงๆ  คุณภาพไฟล์ สีสัน และความอิ่มตัวนั้น ถือว่าทำได้ดีมาตั้งแต่รุ่นก่อนแล้ว เพียงแต่ปัญหาที่ทำให้หงุดหงิดอยู่บ้างคือการตอบสนองในเรื่องการโฟกัสเท่านั้นเอง วันนี้ปัญหานั้นถูกแก้ไขไปแล้วแบบเด็ดขาด  และวันนี้สำหรับ Canon EOS M5 ถือเป็นกล้องระดับ Highly Recommended ครับ

 

ขอบคุณ : บริษัทแคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.canon.co.th

เรื่อง/ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา