Lenses Reviews

Review : Sony FE 70-300mm F4.5-5.6G OSS

sony70-300_01

เลนส์เทเลโฟโต้ซูม ที่ออกแบบสำหรับกล้องโซนี่ Mirrorless ฟูลเฟรม E-mount แต่สามารถใช้งานกับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ตัวเลนส์ครอบคลุมการใช้งานตั้งแต่ช่วงเทเลโฟโต้ระยะกลาง ซึ่งเหมาะสำหรับถ่ายภาพบุคคลด้วยเช่นกัน รวมทั้งใช้ถ่ายภาพทั่วๆ ไป และสำหรับถ่ายภาพในระยะไกลอย่างภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติ หรือถ่ายภาพบางอย่างที่ไม่สามารถเข้าไปใกล้ๆ ได้ ตัวเลนส์โดดเด่นด้วยระบบป้องกันการสั่นไหว OSS (Optical SteadyShot) ซึ่งให้สามารถถือกล้องถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ ได้อย่างสะดวก และยังคงได้ภาพที่คมชัดเช่นเดิม

จุดเด่นของ Sony FE 70-300mm F4.5-5.6G OSS

  • เลนส์เทเลโฟโต้ซูมขนาดกะทัดรัด
  • มีระบบป้องกันการสั่นไหวในตัว OSS
  • ระบบโฟกัส Linear motor Drive ตอบสนองการโฟกัสได้รวดเร็ว
  • ใช้ระบโฟกัสแบบ Internal Focus
  • ใช้งานได้ทั้งกล้องฟูลเฟรม และกล้องตัวคูณ
  • ได้รับการซีลตามรอยต่อ ป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า
  • ตัวเลนส์มีขนาดกะทัดรัด พกพาได้สะดวก

โครงสร้างและประสิทธิภาพ

sony70-300_04

เปรียบเทียบตัวเลนส์ที่ช่วงซูม 300 มม. และ 70 มม.

เลนส์ Sony FE 70-300 มม. F4.5-5.6G OSS เป็นเลนส์เทเลโฟโต้ซูมอเนกประสงค์ FE-Series ที่ออกแบบสำหรับกล้อง Mirrorless ของโซนี่ที่ใช้เม้าท์เลนส์แบบ FE-mount สำหรับกล้องฟูลเฟรม และยังสามารถใช้งานกับเมาท์เลนส์แบบ E-mount ซึ่งเป็นกล้อง Mirrorless ที่ใช้เซ็นเซอร์แบบตัวคูณด้วยเช่นเดียวกัน โดยจะได้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าระยะ 105-450 มม. และมีมุมรับภาพประมาณ 34-8.1 องศา เมื่อใช้งานกล้องดิจิตอลฟูลเฟรม และมุมรับภาพ 23-5.2 องศา เมื่อใช้งานกับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C

sony70-300_05

โครงสร้างของตัวเลนส์

โครงสร้างของตัวเลนส์ประกอบด้วยชิ้นเลนส์ 16 ชิ้น จัดเป็น 13 กลุ่ม มีชิ้นเลนส์พิเศษ Aspherical 4 ชิ้น และชิ้นเลนส์ ED อีก 2 ชิ้น ช่วยให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งเฟรมภาพ รวมทั้งให้คอนทราสต์ของภาพที่ดีเยี่ยม และช่วยลดความบิดเบือนต่างๆ ของภาพอีกด้วย นอกจากนี้ โครงสร้างกระบอกเลนส์ และตามรอยต่อต่างๆ ยังได้รับการซีลป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า ช่วยให้ใช้งานในสภาพอากาศที่เลวร้ายได้ อย่างไร้กังวลอีกด้วย

Sony FE 70-300 มม. F4.5-5.6G OSS มาพร้อมกับระบบป้องกันการสั่นไหว OSS หรือ Optical SteadyShot ช่วยให้ถ่ายภาพ โดยการถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือได้คมชัดด้วยความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ รวมทั้งการซูมเลนส์ที่ระยะเทเลสุด ดังนั้นจึงช่วยให้สะดวกกับการใช้งานมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้องทุกๆ ครั้ง หรือไม่จำเป็นที่จะต้องใช้แฟลช เพื่อบันทึกสภาพแสงตามธรรมชาติในขณะนั้นอีกด้วย

sony70-300_03

(ซ้าย) สวิทช์ล็อกป้องกันเลนส์ไหลยืดยาวออกมาในขณะสะพายระหว่างที่ไม่ได้ใช้งาน
(กลาง) สวิทช์ปรับตั้งการทำงานหลักๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สะดวกกับการใช้งานทีเดียว
(ขวา) เม้าท์เลนส์เป็นโลหะ ให้ความแข็งแรงในขณะใช้งาน

Sony FE 70-300 มม. F4.5-5.6G OSS ตอบสนองการโฟกัสได้รวดเร็วและแม่นยำดีทีเดียว จากมอเตอร์โฟกัสแบบ Linear Autofocus Motor ซึ่งตอบสนองการโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และเงียบเชียบอีกด้วย โดยระบบโฟกัสเป็นแบบ Internal Focus ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ของชิ้นเลนส์ในกระบอกเลนส์ ทำให้ขนาดของตัวเลนส์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะปรับโฟกัสที่ระยะใด รวมทั้งหน้าเลนส์ไม่มี การเคลื่อนไหว หรือไม่หมุนตามเมื่อปรับโฟกัส ช่วยให้ใช้งานฟิลเตอร์ผลพิเศษต่างๆ อาทิ ฟิลเตอร์ C-PL หรือฟิลเตอร์ ND Graduate ได้สะดวก โดยไม่ต้องคอยปรับหมุนเอฟเฟคต์ของฟิลเตอร์ใหม่ทุกครั้งหลังการโฟกัส ส่วนการปรับซูมเลนส์ กระบอกเลนส์ส่วนหน้าจะยื่นยาวออกไปพอสมควร

ด้านข้างกระบอกเลนส์มีปุ่ม Hold สำหรับล็อกไม่ให้กล้องโฟกัสใหม่ เมื่อปล่อยปุ่มชัตเตอร์เพื่อวัดแสงใหม่ หรือเมื่อใช้ระบบโฟกัสแบบต่อเนื่อง และต้องการหยุดการโฟกัสชั่วขณะวงแหวนซูมและวงแหวนโฟกัสมีขนาดใหญ่ จับปรับใช้งานได้อย่างสะดวก ใกล้ๆ กับเม้าท์เลนส์มีสวิทช์เลือกระบบโฟกัส, สวิทช์เลือกช่วงของการโฟกัส และสวิทช์เลือกระบบป้องกันการสั่นไหว


การใช้งาน

sony70-300_09

กล้อง Sony A7 II เลนส์ Sony FE 70-300mm F4.5-5.6 OSS โหมด M ชัตเตอร์ 1/640 วินาที f/5.6, ISO 400, WB: Auto

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบกับการถ่ายภาพแล้ว การมีเลนส์ที่ครอบคลุมการถ่ายภาพได้ทั้งหมด หรือเกือบจะทั้งหมดนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยให้สามารถถ่ายภาพตามความต้องการได้เป็นอย่างดี เพราะภาพบางอย่างก็จำเป็นที่จะต้องใช้คุณสมบัติพิเศษของเลนส์ ซึ่งเมื่อ ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานเฉพาะอย่างแล้ว ก็ย่อมที่จะให้คุณภาพของไฟล์ภาพที่ดีกว่าการใช้เลนส์ที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจจะต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาอย่างอื่น เพื่อให้ได้ลักษณะภาพที่ใกล้เคียงกัน เช่น ครอปตัดส่วน เป็นต้น

แต่การเลือกเลนส์มาใช้งานให้ครบทุกช่วงนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่อยู่พอสมควร เพราะนอกจากจะต้องไม่เดือดร้อนทางการเงินแล้ว ยังต้องมีพละกำลังเพียงพอที่จะแบกขนอุปกรณ์ทั้งหมดที่มี สำหรับการนำไปใช้งานในแต่ละครั้ง หรือถ้าหากเป็นไปได้ และรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องถ่ายภาพอะไรบ้าง ก็สามารถเลือกเลนส์นำเลนส์ไปใช้งานได้อย่างถูกต้องครับ แต่ถ้าจะบอกว่าต้องขนไปก่อน พอถึงเวลาก็สามารถนำออกมาใช้งานได้อย่างทันท่วงที แบบนี้จะต้องรับภาระที่หนักอยู่พอสมควร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่มีอีกด้วย

ดังนั้นเลนส์ซูมจึงเป็นทางเลือกที่ดี สำหรับการเดินทางท่องเที่ยว และถ่ายภาพไปด้วย เพราะช่วยลดภาระในการพกพาเลนส์แต่ละช่วงไปได้ทั้งหมด บางรุ่นเลนส์ตัวเดียวครอบคลุมการใช้งานได้ทั้งหมด เช่น Sony FE 24-240 มม. หรือ Nikon 28-300 มม. บางรุ่น ก็เลือกเพียงสองช่วงเท่านั้น คือช่วงซูมมุมกว้าง และช่วงซูมเทเล ซึ่งแน่นอนว่า ก็ต้องแลกมาด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ขนาดรูรับแสงที่ แคบกว่าเลนส์ prime หรือเลนสืทางยาวโฟกัสเดี่ยว เป็นต้น

Sony FE 70-300 มม. F4.5-5.6G OSS ถือเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ซูมเอนกประสงค์ตัวหนึ่งที่ตอบโจทย์การใช้งานได้เป็นอย่างดี เนื่องจากครอบคลุมระยะเลนส์ตั้งแต่เทเลโฟโต้ต้นๆ นั่นคือ 70 มม. ที่เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลด้วย ไปจนถึงระยะซูปเปอร์เทเลต้นๆ นั่นคือ 300 มม.สำหรับการถ่ายภาพในระยะไกล รวมทั้งถ่ายภาพที่ไม่สามารถเข้าไปใกล้ๆ ซับเจคต์ได้ อย่างภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติ หรือภาพดอกไม้ที่ขึ้นอยู่ตามหน้าผา หรือขึ้นอยู่ตามโขดหินริมนํ้าตก เป็นต้น

sony70-300_06

(ซ้าย) หนูน้อยบีวาไม่ค่อยอยู่นิ่งๆ ตามประสาวัยเด็ก แต่ระบบโฟกัสก็ยังตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ กล้อง Sony A7 II เลนส์ Sony FE 70-300mm F4.5-5.6 OSS โหมด M ชัตเตอร์ 1/125 วินาที f/5.6, ISO 400, WB: Auto
(ขวา) สีสัน คอนทราสต์ และการถ่ายทอดรายละเอียดดีทีเดียวกล้อง Sony A7 II เลนส์ Sony FE 70-300mm F4.5-5.6 OSS โหมด M ชัตเตอร์ 1/125 วินาที f/5.6, ISO 200, WB: Auto

Sony FE 70-300 มม. F4.5-5.6G OSS ออกแบบให้ใช้งานสำหรับกล้อง Sony A7 series ที่ใช้เม้าท์เลนส์แบบ FE-mount หรือ เป็นเม้าท์เลนส์ของกล้องฟูลเฟรมนั่นเอง แต่ก็สามารถใช้งานกับกล้อง E-mount อื่นๆ ที่เป็นกล้องตัวคูณ หรือกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C ซึ่งจะได้ทางยาวโฟกัสเพิ่มขึ้นเป็น 105-450 มม.

ตัวเลนส์มีขนาดค่อนข้างอวบอ้วน ซึ่งอาจจะมองว่าตัวเลนส์ดูใหญ่ เมื่อบอกว่าเป็นเลนส์สำหรับกล้อง Mirrorless แต่กล้องตระกูล A7 เป็นกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาดฟูลเฟรม ดังนั้น เมื่อเซ็นเซอร์มีขนาดใหญ่ ตัวเลนส์จึงต้องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเจอกับปัญหาขอบภาพมืดได้

ถึงแม้ว่าจะมีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ แต่ก็ไม่ถึงขนาดเทอะทะ ยังคงจับถือ และใช้งานได้อย่างสะดวก การปรับซูมเลนส์จากช่วง 70 มม. ไปที่ระยะ 300 มม. ตัวเลนส์ยืดยาวออกไปพอสมควร แต่หน้าเลนส์ไม่หมุนตาม ทั้งการปรับซูมเลนส์และการโฟกัส ดังนั้น จึงทำให้ผมใช้งานกับฟิลเตอร์ C-PL รวมทั้งฟิลเตอร์ ND Adjustable ที่จะต้องหมุนหน้าฟิลเตอร์ เพื่อให้ได้ผลของภาพที่ต้องการได้อย่างสะดวก และไม่ต้องคอยหมุนใหม่ทุกครั้งที่ปรับซูมหรือปรับโฟกัสครับ

คุณภาพและความคมชัดนั้น ถือว่าทำได้ดีเยี่ยมทีเดียว ตั้งแต่ระยะ 70 มม. ไปจนถึงระยะ 300 มม. ภาพทีความคมชัดตั้งแต่กลางไปจนถึงขอบภาพ ถึงแม้ว่าจะใช้รูรับแสงกว้างสุด ส่วนที่รูรับแสงแคบสุดจะออกอาการซอฟท์อยู่เล็กน้อย เฉพาะขอบๆ ภาพเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผมจะใช้อยู่ที่รูรับแสงกว้างสุดไปจนถึง f/11 ซึ่งก็ให้ความคมชัดที่ดีเยี่ยม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของการใช้งานของแต่ละบุคคลด้วยครับ

การควบคุมแฟลร์และอาการฟุ้งในกระบอกเลนส์ทำได้ดีเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเคลือบผิวเลนส์แบบ Nano AR Coating รวมทั้งอาการ CA หรืออาการสีเหลื่อม ซึ่งก็ไม่มีให้เห็นจากการใช้งานอยู่กว่าสองสัปดาห์ครับ ถึงแม้ว่าหลายๆ ครั้งผมจะถ่ายแบบย้อนแสง ตรงๆ ก็ตาม

sony70-300_08

กล้อง Sony A7 II เลนส์ Sony FE 70-300mm F4.5-5.6 OSS โหมด M ชัตเตอร์ 1/100 วินาที f/5.6, ISO 1000, WB: Auto

จุดเด่นอย่างหนึ่งของเลนส์ Sony FE 70-300 มม. F4.5-5.6G OSS นั่นคือมีระบบป้องกันการสั่นไหวในตัว OSS หรือ Optical SteadyShot ซึ่งมีประโยชน์มากทีเดียวกับเลนส์ที่มีช่วงทางยาวโฟกัสสูงๆ แบบนี้ และผมเองได้ประโยชน์จากระบบนี้เป็นอย่างมาก เมื่อต้องซูมเลนส์ที่ระยะไกลที่สุด 300 มม. ซึ่งบางครั้ง หรือหลายๆ ครั้งสภาพแสงในการถ่ายภาพก็ไม่ได้เอื้ออำนวยอยู่ตลอด รวมทั้งรูรับแสงกว้าง สุดก็จะกลายเป็น f/6.3 อีกด้วย แน่นอนว่าความเร็วชัตเตอร์ก็จะลดตํ่าลงด้วยเช่นกัน ผมลองปรับใช้งานโดยยึดจากการจับถือของผมเอง ได้ความเร็วตํ่ากว่าปกติแบบหวังผลเรื่องความคมชัดได้ประมาณ 3 สตอปครับ ส่วนที่ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่านี้ มีภาพที่คมชัดอยู่บ้างในบางจังหวะ แต่ส่วนใหญ่จะมีการสั่นเบลอครับ

จุดที่ผมชอบอย่างหนึ่งของเลนส์ตัวนี้คือ มีระยะโฟกัสใกล้สุดที่ค่อนข้างใกล้ทีเดียว โดยเฉพาะที่ช่วงซูมยาวสุด 300 มม. ซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ใกล้ถึง 90 เซ็นติเมตรเลยทีเดียว ทำให้สามารถถ่ายภาพแบบ Close up ได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียวครับ นอกจากนี้ การออกแบบตัวเลนส์ยังช่วยให้ใช้งานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเลือกช่วงระยะโฟกัสในการใช้งาน เมื่อต้องถ่ายภาพไกลๆ มากกว่า 3 เมตร ก็สามารถเลือกช่วงโฟกัส 3 เมตรถึงอินฟินิตี้เพื่อความรวดเร็วในการ refocus นั่นเองนอกจากนี้ ปุ่ม Hold ที่ช่วยล็อกจังหวะการโฟกัส ให้หยุดนิ่ง ทำให้สามารถจัดองค์ประกอบและวัดแสงใหม่ได้อย่างสะดวกครับ


สรุปผลการใช้งาน

sony70-300_07

ความคมชัดและการถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ดีเยี่ยมทีเดียว กล้อง Sony A7 II เลนส์ Sony FE 70-300mm F4.5-5.6 OSS โหมด M ชัตเตอร์ 1/320 วินาที f/5.6, ISO 800, WB: Auto

จากการใช้งานแบบจริงจังอยู่กว่าหนึ่งสัปดาห์ ผมค่อนข้างถูกใจเลนส์ตัวนี้ เพราะมีสามารถซูมได้ไกลถึงระยะ 300 มม. ซึ่งปกติแล้วผมใช้งานกับกล้อง Sony A7 II แต่บางครั้งเมื่อต้องการทางยาวโฟกัสที่มากขึ้น ผมจะสลับไปใช้งานกับกล้อง Sony NEX-7 ที่เป็น กล้องตัวคูณ ซึ่งจะได้ทางยาวโฟกัสเพิ่มเป็น 450 มม. เพียงพอกับการถ่ายภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติได้เป็นอย่างดีทีเดียว และยังคงตอบสนองการใช้งานทั่วๆ ไป อย่างการถ่ายภาพบุคคลได้อีกด้วย ประสิทธิภาพของตัวเลนส์ อย่างชิ้นเลนส์พิเศษ ต่างๆ หรือการเคลือบผิวเลนส์ รวมทั้งระบบป้องกันการสั่นไหว ก็ช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น สำหรับบางครั้งที่อาจจะไม่สะดวกกับการกางขาตั้งกล้อง หรือการใช้แฟลช ซึ่งสำหรับผู้กำลังมองหาช่วงทางยาวโฟกัสในระยะเทเลโฟโต้ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้ครอบคลุมต่อจาก ช่วงเลนส์คิทที่มีอยู่แล้ว เลนส์ Sony FE 70-300 มม. F4.5-5.6G OSS ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ

ขอขอบคุณ : บริษัท โซนี่ ไทย จำกัดสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ
ขอมูลเพิ่มเติมที่ : www.sony.co.th

เรื่อง/ภาพ : พีร วงษ์ปัญญา