Lenses Reviews

Reviews : Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR

เลนส์เทเลโฟโต้ซูมรุ่นใหม่สำหรับกล้องนิคอน ที่ใช้เซ็นเซอร์แบบฟูลเฟรม แต่สามารถใช้งานกับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ครอบคลุมการใช้งานตั้งแต่ช่วงเทเลโฟโต้ระยะกลาง ที่ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งการถ่ายภาพบุคคล หรือถ่ายภาพดอกไม้ที่ต้องการความโดดเด่นด้วยระยะชัดตื้น รวมทั้งใช้ถ่ายภาพในระยะไกลอย่างภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติ และถ่ายภาพซับเจคต์ที่ไม่สามารถเดินเข้าไปถ่ายในระยะใกล้ได้ ตัวเลนส์มาพร้อมระบบป้องกันการสั่นไหว VR (Vibration Reduction) ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับเลนส์เทเลโฟโต้ เพราะทำให้สามารถถือกล้องถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติได้อย่างสะดวกนั่นเอง

จุดเด่นของ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR

  • เลนส์เทเลโฟโต้ซูมขนาดกะทัดรัด
  • มีระบบป้องกันการสั่นไหว VR ในตัว
  • ระบบปรับรูรับแสงอิเลกทรอนิกส์
  • ใช้ระบโฟกัสแบบ Internal Focus
  • ได้รับการซีลตามรอยต่อ ป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า
  • ใช้งานได้ทั้งกล้องฟูลเฟรม และกล้องตัวคูณ
  • ตัวเลนส์มีขนาดกะทัดรัด พกพาได้สะดวก

ประสิทธิภาพและการออกแบบ

เลนส์ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR เป็นเลนส์เทเลโฟโต้ซูมอเนกประสงค์ที่ออกแบบสำหรับกล้องฟูลเฟรม หรือ ฟอร์แมท FX ของนิคอนนั่นเอง แต่ก็ยังสามารถใช้งานกับกล้องที่ใช้ฟอร์แมท DX หรือกล้องตัวคูณได้ โดยจะได้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่า ระยะ 105-450 มม. ซึ่งก็เหมาะสำหรับการถ่ายภาพในระยะไกลๆ อย่างภาพสัตว์ป่าที่ไม่สามารถเข้าไปถ่ายใกล้ๆ ได้ หรือภาพนักกีฬากลางสนาม เป็นต้น กระบอกเลนส์ออกแบบเรียวยาวและดูสมส่วน ด้านหน้าเป็นเกลียวฟิลเตอร์ขนาด 67 มม. และเขี้ยวล็อกสำหรับฮูดกันแสง ถัดมาเป็นวงแหวนปรับซูมที่มีขนาดใหญ่ หุ้มด้วยยางเซาะร่องให้จับได้ถนัดมือ พร้อมตัวเลขบอกระยะซูมจาก 70, 100, 135, 200 และ 300 มม. ถัดมาด้านในเล็กน้อยเป็นวงแหวนปรับโฟกัส ข้างๆ กระบอกเลนส์เป็นสวิทช์ปรับการทำงาน อาทิ สวิทช์ระบบ A/M, M/A และ M ถัดลงไปเป็นสวิทช์เลือกเปิด-ปิดระบบ VR โดยเลือกได้ที่ตำแหน่ง OFF, Normal และ Sport ท้ายเลนส์เป็นเม้าท์โลหะ ให้ความแข็งแรงต่อการใช้งาน พร้อมขั้วไฟเชื่อมต่อการทำงานกับตัวกล้อง รอบๆ เม้าท์ มียางรองป้องกันฝุ่นและละอองนํ้าเข้าไปทำอันตรายกับชิ้นส่วนที่อยู่ข้างใน เมื่อติดเลนส์เข้ากับตัวกล้องโครงสร้างของตัวเลนส์ประกอบด้วยชิ้นเลนส์ 18 ชิ้น จัดเป็น 14 กลุ่ม มีชิ้นเลนส์พิเศษ อย่าง ชิ้นเลนส์ ED หรือ Extra Low Dispersion 1 ชิ้น ช่วยให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งเฟรมภาพ และลดการบิดเบี้ยวต่างๆ รวมทั้งให้คอนทราสต์ของภาพที่ดีเยี่ยม ชิ้นเลนส์ได้รับการเคลือบผิวแบบ Super Integrated Coating ช่วยลดแสงฟุ้งและอาการแฟลร์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ตามรอยต่อต่างๆ ยังได้รับการซีลป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า ช่วยให้ใช้งานในสภาพอากาศที่เลวร้ายอย่างในวันฝนพรำๆ ได้อย่างไร้กังวลอีกด้วย

ซ้าย : สวิทช์ปรับเลือกระบบโฟกัส และระบบป้องกันการสั่นไหวอยู่ด้านข้างตัวเลนส์
ขวา : เม้าท์เลนส์แบบโลหะ พร้อมขั้วเชื่อมไฟฟ้ากับตัวกล้อง และขอบยางป้องกันฝุ่นและละอองน้ำ เมื่อติดเลนส์กับตัวกล้อง

Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR มีระบบป้องกันการสั่นไหว VR หรือ Vibration Reduction ในตัว ช่วยให้ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ โดยการถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือได้อย่างคมชัด ถึงแม้ว่าจะซูมเลนส์ระยะไกลๆ หรือต้องถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องทุกๆ ครั้ง หรือไม่จำเป็นที่จะต้องใช้แฟลชที่อาจจะรบกวนแสงตามธรรมชาติที่ต้องการบันทึกในขณะนั้นอีกด้วย Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR ตอบสนองการโฟกัสได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำดีทีเดียว จากมอเตอร์โฟกัสแบบ Pulse Stepping Motor AF รวมทั้งยังมีการปรับโฟกัสที่เงียบเชียบอีกด้วย ซึ่งเหมาะสำหรับการบันทึกวิดีโอด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีเสียงมอเตอร์โฟกัสรบกวนขณะที่ทำการบันทึกนั่นเอง นอกจากนี้ ระบบโฟกัสเป็นแบบ Internal Focus ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ของชิ้นเลนส์ในกระบอกเลนส์ ทำให้ขนาดของตัวเลนส์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะปรับโฟกัสที่ระยะใด รวมทั้งหน้าเลนส์ไม่หมุนตามเมื่อปรับโฟกัส ช่วยให้ใช้งานฟิลเตอร์ผลพิเศษต่างๆ อาทิ ฟิลเตอร์ C-PL หรือฟิลเตอร์ Graduate ND ได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องคอยปรับหมุนเอฟเฟคต์ของฟิลเตอร์ใหม่ทุกครั้งหลังการโฟกัส แต่สำหรับการปรับซูมเลนส์นั้น กระบอกเลนส์ส่วนหน้าจะยื่นยาวออกไปพอสมควร

เปรียบเทียบตัวเลนส์ที่ช่วงซูม 300 มม. และ 70 มม.


การใช้งาน

ทางยาวโฟกัสสูงๆ ช่วยให้ถ่ายภาพแนว Wide Life ได้เป็นอย่างดี กล้อง Nikon D810 เลนส์ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR โหมด M ชัตเตอร์ 1/800 วินาที f/5.6, ISO400, WB: Auto (ซูมเลนส์ 300 มม.) ภาพ : สุริโย ตาไธสง

ผมมีโอกาสได้สัมผัสกับเลนส์ของนิคอนอยู่บ่อยครั้ง จากงานอบรมสัมมนาทางด้านการถ่ายภาพ ซึ่งทุกๆ ครั้ง มักจะมีอุปกรณ์เดโม ทั้งกล้องทั้งเลนส์และอุปกรณ์เสริม อย่างแฟลชต่างๆ ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีที่ทำให้ลูกค้าได้สัมผ้สกับของจริง ได้ลองเล่นแบบจริงๆ จัง ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง แต่นั่นก็ทำให้ลูกค้ามีโอกาสได้สัมผัสกับกล้อง หรือเลนส์ที่ตนชื่นชอบ และเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี สำหรับเลนส์ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR ผมได้ลองจับลองนำไปถ่ายภาพเล่นบ้างในช่วงงานสัมมนาที่ลูกค้าไม่ได้หยิบยืมไป ก่อนจะยืมมาทดลองใช้งานจริงๆ จังๆ ในครั้งนี้ โดยตัวเลนส์มาพร้อมกับบอดี้กล้อง Nikon D810 ซึ่งเป็นกล้องระดับโปร มีความละเอียดสูง ซึ่งก็จะเป็นตัวชี้วัดว่าตัวเลนส์สามารถถ่ายทอดรายละเอียดได้มากน้อยแค่ไหน และตอบสนองการใช้งานได้ดีแค่ไหนด้วย จุดเด่นที่แตกต่างจากเลนส์รุ่นเดิมคือ เป็นเลนส์ที่มีรหัสต่อท้ายชื่อด้วยตัว E ซึ่งเป็นเลนส์ที่เปลี่ยนมาใช้ไดอะแฟรม หรือกลีบรูรับแสงแบบปรับไฟฟ้า ต่างจากเลนส์ G ที่เป็นแบบกลไก ซึ่งจะให้การปรับรูรับแสงที่แม่นยำมากขึ้น ตอบสนองต่อการถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงๆ หรือการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงได้เป็นอย่างดี

สีสัน คอนทราสต์ และการถ่ายทอดรายละเอียดดีเยี่ยมทีเดียว กล้อง Nikon D810 เลนส์ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR โหมด M ชัตเตอร์ 1/1000 วินาที f/10, ISO400, WB: Auto (ซูมเลนส์ 240 มม.) ภาพ : สุริโย ตาไธสง

สำหรับตัวเลนส์นั้น มีขนาดที่ค่อนข้างกะทัดรัด เมื่อเทียบกับช่วงซูมที่ซูมได้ถึงระยะ 300 มม. ตัวกระบอกเลนส์ออกแบบได้ เรียบง่าย แต่ก็มีส่วนโค้งเว้าให้จับถือได้ถนัดมือดีครับวงแหวนปรับซูมออกแบบให้มีขนาดใหญ่ จับได้ถนัดมือดีมาก และผมชอบการออกแบบที่วางตำแหน่งของวงแหวนปรับโฟกัสไว้ด้านใน ส่วนตัวแล้วผมว่าใช้งานง่ายดีครับ เพราะผมเองถนัดที่จะใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง สำหรับปรับซูมเลนส์ ซึ่งวงแหวนจะมีความหนืดมากกว่าวงแหวนปรับซูมอยู่แล้ว จึงต้องใช้แรงเยอะมากกว่า ส่วนถ้าหากต้องการปรับโฟกัส ผมก็สามารถใช้นิ้วนางหมุนวงแหวนโฟกัสได้เลย เนื่องจากมีความหนืดน้อยกว่านั่นเองครับ หรือย้ายนิ้วโป้งมาช่วยปรับก็ได้ ซึ่งวิธีนี้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนนะครับ เพียงแค่เล่าสู่กันฟังว่าผมชอบการวางตำแหน่งวงแหวนซูม และวงแหวนโฟกัสแบบนี้มากกว่าที่จะให้วงแหวนโฟกัสอยู่ด้านหน้าเลนส์ครับ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR เป็นเลนส์เทเลโฟโต้ซูมเอนกประสงค์ตัวหนึ่งที่ตอบสนองการใช้งานได้ค่อนข้างกว้าง เนื่องจากครอบคลุมระยะเลนส์ตั้งแต่เทเลโฟโต้ต้นๆ นั่นคือ 70 มม. ที่เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลด้วย ไปจนถึงระยะซูปเปอร์เทเล ต้นๆ นั่นคือ 300 มม.สำหรับการถ่ายภาพในระยะไกล ซึ่งด้วยขนาดและนํ้าหนัก ก็ถือว่าไม่ได้เป็นภาระต่อการพกพาไปใช้งานเท่าไหร่นัก ซึ่งถ้าหากผมต้องการระยะเพิ่มมากขึ้นหน่อย ผมก็สามารถเลือกใช้งานกับบอดี้กล้องตัวคูณ หรือเลือกฟังก์ชั่นครอปเซ็นเซอร์ ก็จะทำให้ได้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าระยะ 450 มม. ล่ะครับ

เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ สามารถถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ได้ดีเช่นกัน กล้อง Nikon D810 เลนส์ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR โหมด M ชัตเตอร์ 1/100 วินาที f/11, ISO500, WB: Auto (ซูมเลนส์ 270 มม.) ภาพ : สุริโย ตาไธสง

การปรับซูมเลนส์จากช่วง 70 มม. ไปที่ระยะ 300 มม. ชุดเลนส์ด้านหน้าจะยืดยาวออกไปพอสมควร ยิ่งเมื่อติดฮูดด้วยจะรู้สึกว่าตัวเลนส์มีความยาวมากขึ้นพอสมควรทีเดียว สำหรับคุณภาพและความคมชัดนั้น ถือว่าทำได้ดีเยี่ยมทีเดียว ตั้งแต่ระยะ 70 มม. ไปจนถึง ระยะ 300 มม. ภาพทีความคมชัดดีตั้งแต่กลางไปจนถึงขอบภาพ ถึงแม้ว่าจะใช้รูรับแสงกว้างสุด ส่วนที่รูรับแสงแคบสุดจะออกอาการฟุ้งๆ ตามขอบภาพอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผมจะใช้ตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุด ไปจนถึงประมาณ f/11 ซึ่งก็ให้ความคมชัดที่ดีเยี่ยมครับ จุดเด่นอย่างหนึ่งของเลนส์ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR นั่นคือมีระบบป้องกันการสั่นไหวในตัว VR ซึ่งผมเอง ได้ประโยชน์จากระบบนี้เป็นอย่างมาก เพราะหลายๆ ครั้งต้องซูมเลนส์ที่ระยะไกลที่สุด 300 มม. และบางครั้ง หรือหลายๆ ครั้ง สภาพแสง ก็ไม่ได้เอื้ออำนวยอยู่ตลอด และก็ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ตํ่าเกินกว่าปกติ เมื่อยึดตามเกณฑ์ ความเร็วชัตเตอร์ = 1/ ทางยาวโฟกัส นั่นคือ เมื่อซูมเลนส์ที่ระยะ 300 มม. ความเร็วชัตเตอร์จะต้องเท่ากับ 1/300 วินาที จึงจะได้ภาพที่คมชัด ดังนั้นระบบ VR จะช่วยให้ถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่า 1/300 วินาทีได้ โดยระบบ VR ของเลนส์ตัวนี้ ช่วยชดเชยความเร็วชัตเตอร์ได้สูงสุด 4 สตอป แต่ปกติผมจะใช้อยู่ประมาณไม่เกิน 3 สตอป เพื่อความชัวร์ครับ

ถือกล้องถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าปกติ 2 สตอป แต่ก็ยังคงได้ภาพที่คมชัดจากการเปิดใช้ระบบ VR กล้อง Nikon D810 เลนส์ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR โหมด M ชัตเตอร์ 1/50 วินาที f/8, ISO200, WB: Auto (ซูมเลนส์ 170 มม.)

ระบบ VR ของเลนส์ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR มีให้เลือกใช้งานได้ 2 โหมดคือ Normal และ Sport ครับ สำหรับการถ่ายภาพปกติ ผมจะเลือกเป็น Normal ซึ่งระบบจะคำนวณการสั่นทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ส่วนโหมด Sport เหมาะสำหรับ การถ่ายภาพที่ตัวกล้องหรือผู้ถ่ายภาพมีการเคลื่อนที่ อย่างเช่น ถ่ายภาพจากบนรถที่กำลังวิ่งอยู่ เป็นต้นครับ ระบบจะชดเชยการสั่นไหวในแนวตั้งให้อัตโนมัติครับอีกจุดเด่นหนึ่งที่ผมชอบคือระยะโฟกัสใกล้สุดเพียงแค่ 1.2 เมตร ซึ่งค่อนข้างใกล้มากทีเดียว โดยเฉพาะที่ช่วงซูมยาวสุด 300 มม. ทำให้สามารถถ่ายภาพแบบ Close up ได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ สามารถถ่ายภาพแบบเน้นซับเจคต์ให้โดดเด่น แล้วมีฉากหลังเบลอๆ ได้ง่ายๆ เลยล่ะครับ

ระยะโฟกัสใกล้สุดมี่ใกล้ถึง 1.2 เมตร ช่วยดึงซับเจคต์ให้โดดเด่นออกจากฉากหลังได้ง่ายๆ กล้อง Nikon D810 เลนส์ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR โหมด M ชัตเตอร์ 1/1000 วินาที f/5.6, ISO400, WB: Auto (ซูมเลนส์ 300 มม.) ภาพ : สุริโย ตาไธสง


สรุปผลการใช้งาน

กล้อง Nikon D810 เลนส์ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR โหมด M ชัตเตอร์ 1/30 วินาที f/5.6, ISO3200, WB: Auto (ซูมเลนส์ 155 มม.)

ผมค่อนข้างถูกใจเลนส์ตัวนี้ เพราะมีการใช้งานที่เอนกประสงค์ดีทีเดียว จับมาต่อช่วงกับเลนส์คิทได้อย่างพอเหมาะ มีขนาดและ นํ้าหนักที่ไม่มากจนเกินไปนัก ถ้าต้องการระยะที่ยาวมากขึ้น ก็เลือกใช้งานกับกล้องตัวคูณ หรือจะใช้ฟังก์ชั่นครอปเซ็นเซอร์ในตัวกล้องก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะได้ทางยาวโฟกัสเพิ่มเป็น 450 มม. เพียงพอกับการถ่ายภาพกีฬาในระยะไกลๆ หรือภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติได้เป็นอย่างดีทีเดียว ระบบป้องกันการสั่นไหวในตัวเลนส์ก็ช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น สำหรับบางครั้งที่อาจจะไม่สะดวกกับการกางขาตั้งกล้อง หรือการใช้แฟลช ซึ่งสำหรับผู้กำลังมองหาช่วงทางยาวโฟกัสในระยะเทเลโฟโต้ เพื่อเติมเต็มการใช้งานให้ครอบคลุมการถ่ายภาพในทุกระยะ จากช่วงเลนส์คิท หรือเลนส์มาตรฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว เลนส์ Nikon AF-P 70-300mm F4.5-5.6E ED VR ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ

ขอบคุณ บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัดด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องและเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.nikon.co.th

 

เรื่อง : พีร วงษ์ปัญญา / ภาพ : กองบรรณาธิการ

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^

(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews